ในหลายร้อยพันปีที่ผ่านมา หนังสือ หนึ่งในสื่อที่ทำให้หลายคนได้ค้นพบกันโลกใบกว้างได้เพียงแค่คุณอ่านมันจากห้องนอนของคุณ พอๆกับสื่ออื่นๆ ที่เมื่อนำมาประกอบกันแล้วยิ่งทำให้ผู้อ่านมีอารมณ์ร่วมยิ่งขึ้นไม่ว่าจะเป็นหนังสือภาพ หรือหลังๆ มา เริ่มมีหนังสือหลายเล่มที่มาพร้อม Playlist เพลงประกอบการอ่าน การผสมผสานของสื่อเป็นเรื่องที่มีมานาน ภาพยนตร์เองก็มีการปรับ และดึงเอาแรงบันดาลใจจากหนังสือมาตลอดตั้งแต่ยุคแรกเริ่มของภาพยนตร์หนึ่งในภาพยนตร์เรื่องแรกๆ ที่มีหลักฐานว่าสร้างมาจากหนังสือคือภาพยนตร์เรื่อง Cilderlella จากปี 1899 จากหนังสือชื่อเดียวกันของ Borther Grime และกำกับโดย Georges Méliès ชาวฝรั่งเศสเจ้าของผลงานภาพยนตร์ที่หลายคนให้ชื่อว่าเป็นไซไฟเรื่องแรกอย่าง A Trip To The Moon, 1902 ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้เองก็ได้แรงบันดาลใจจากหนังสือ "From the Earth to the Moon" โดย Jules Verne
ภาพยนตร์ที่สร้างจากหนังสือที่เรามักเห็นกันในปัจจุบันมักจะมาจากหนังสือชุด นิยาย หรือวรรณกรรมเยาวชนอย่าง Harry Potter, The Hunger Games, The Lord of the Rings และอื่นๆ ที่หลายครั้งเราจะเห็นปกหนังสือถูกเปลี่ยนให้เหมือนหนังมากขึ้น หรือบางทีตัวเนื้อหาในหนังสือเองก็ถูกปรับตามหนังอีกด้วย แต่ยังมีภาพยนตร์หลายเรื่องที่คนดูอาจจะไม่รู้ว่าภาพยนตร์เหล่านี้สร้าง หรือได้รับแรงบันดาลใจมาจากหนังสือ
1. Ripley, 2024 และ The Talented Mr. Ripley, 1999
จากหนังสือ "The Talented Mr. Ripley" โดย Patricia Highsmith
หนังสือเขย่าขวัญยอดนิยมจากปี 1955 ว่าด้วยเรื่องราวของ Tom Ripley ที่พยายามจะหาวิธีอยู่รอดในเมืองนิวยอร์กซึ่งนั่นรวมถึงการเป็นนักต้มตุ๋น และวันนึงเขาถูกจ้างให้ไปพาตัวลูกชายของผู้จ้างกลับมาจากอิตาลี แต่ในระหว่างเดินทาง Tom ก็สวมรอยเป็นลูกชายของผู้ที่จ้างเขาเพื่อทำความรู้จักกับหญิงสาวที่เขาชอบ โดย The Talented Mr. Ripley ถูกสร้างมาแล้ว 2 ครั้งนั้นคือภาพยนตร์ในชื่อเดียวกันจากปี 1999 และ มินิซีรีส์ในชื่อ Ripley จากปี 2024 ทาง Netflix
2. Clueless, 1997
จากหนังสือ "Emma" โดย Jane Austen
หนึ่งในภาพยนตร์ที่หลายคนอาจจะไม่รู้ว่าสร้างมาจากหนังสือนั้นคือ Clueless จากปี 1997 ซึ่งแม้แต่คนที่อ่านหนังสือก็อาจจะไม่รู้ว่าสร้างมาจากหนังสือสุดดังจากปี 1815 อย่าง Emma ของ Jane Austen นักเขียนที่ถูกยกย่องอย่างมากในวงการหนังสือโดยตัวภาพยนตร์ว่าด้วยเรื่องของ Cher เด็กหญิงบ้านรวยที่ชอบจับคู่ให้กับเพื่อนๆ พร้อมกับเรื่องราวมากมายที่เกิดขึ้นในชีวิตของเธอ คนที่เธอรัก และคนที่รักเธอ นอกจากนี่ Emma ยังเคยถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ในชื่อเดียวกันมาแล้ว 2 ครั้งหลักๆ นั่นคือ Emma จากปี 1996 และ 2020 โดยในเวอชั่น 2020 นั่นชุดของ Emma เป็นสีเหลืองเพราะถูกออกแบบมาให้เป็น Reference ถึงชุดสูทเหลืองสุดคลาสสิกของ Cher ใน Clueless
3. Adaptation, 2002
จากหนังสือ "The Orchid Thief" โดย Susan Orlean
จากใน List นี้ นี่น่าจะเป็นกรณีการดัดแปลงบทจากหนังสือที่แปลกที่สุดแล้วกับภาพยนตร์ Adaptation ของผู้กำกับ Spike Jonze และมือเขียนบทชั้นเซียน Charlie Kaufman ที่เป้าหมายของเขาตอนแรกคือการแปลงบนจากหนังสือชื่อ The Orchid Thief ของ Susan Orlean จากปี 1998 ซึ่งเป็นหนังสืองานเขียนจากเรื่องจริง แต่ Kaufman พยายามเขียนยังไงก็เขียนไม่ได้ทำให้เขาหันหางเสือ เขียนบทภาพยนตร์ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากการที่เขาเขียนบทดัดแปลงจากหนังสือเล่มนี้ไม่ได้แทน
4. Raise the Red Lantern, 1991
จากหนังสือ "Raise the Red Lantern" โดย Su Tong
จากหนังสือชื่อเดียวกัน Raise the Red Lantern ว่าด้วยเรื่องเด็กสาวที่ถูกขายให้เป็นภรรยาคนที่ 4 ของชายฐานะดี เธอถูกปฏิบัติต่ออย่างดี แต่เธอมารู้ทีหลังว่าคนจะดีต่อเธอก็ต่อเมื่อนายท่านจะมานอนด้วยในคืนนั้นเท่านั้น เรื่องราวและบทบาทของหญิงจีนในสังคมที่ไม่ให้ค่าพวกเขา การเมืองที่มีตั้งอยู่ทุกทีตั้งแต่ประเทศจนถึงในครัวเรือน
5. Memoir of a Murderer, 2017
จากหนังสือ "Diary Of A Murderer: And Other Stories" โดย Kim Young-ha
เล่าเรื่องราวของ Kim Byeong-soo ผู้ป่วยโรคความจำเสื่อมที่มีอดีตสุดมืดหม่น และเมื่อแฟนหนุ่มของลูกสาวของเขาเริ่มทำตัวผิดปกติ ความมืดหม่นนั้นยิ่งตามหลอกหลอนตัวเขา และคนรอบข้างไปด้วย สร้างจากหนังสือชื่อ A Murderer's Guide to Memorization ที่ตอนหนังถูกดัดแปลง และแปลเป็นภาษาอังกฤษชื่อ Diary Of A Murderer: And Other Stories
6. First They Killed My Father, 2017
จากหนังสือ "First They Killed My Father" โดย Loung Ung
เมื่อเด็กหญิงอายุ 5 ขวบต้องเชิญหน้ากับสงคราม และเรื่องราวร้ายๆ อื่นๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตเธอเริ่มจากเหตุการณ์ที่พ่อของเธอถูกฆ่าต่อหน้าต่อตา จากหนังสือชื่อเดียวกันที่ถูกเขียนจากเรื่องจริงที่นักเขียน Loung Ung ต้องเจอในวันเด็กในยุคเขมร-แดง ทั้งหนังสือ และภาพยนตร์โชว์ความน่ากลัว และความกดดันของสงครามที่ยิ่งน่ากลัวมากขึ้นผ่านสายตาของเด็กที่ถูกฝึกให้กลายเป็นทหาร
7. Never Let Me Go, 2010
จากหนังสือ "Never Let Me Go" โดย Kazuo Ishiguro
ในโลกที่อายุของมนุษย์ถูกยืดไปมากกว่า 100 ปี วัยรุ่น 3 คนโตมาในโรงเรียนประจำที่แทบจะไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอกก่อนที่วันนึงในห้องเรียน ครูสาวจะสติแตกแล้วบอกกับพวกเขาว่าพวกเขาถูกเลี้ยงมาเพื่อนำอวัยวะของพวกเขาไปใช้งาน
8. ไอ้ฟัก, 2004
จากหนังสือ "คำพิพากษา" โดย ชาติ กอบจิตติ
คนไทยหลายคนน่าจะจำหนังเรื่องนี้ได้เพราะมันเป็น talk of the town มากๆ ด้วยเต้ ปิติศักดิ์รับบท ฟัก พระหนุ่มที่ต้องสึกออกมาเพื่อดูแลพ่อของเขา ก่อนที่จะได้เจอกับ ตั๊ก บงกช ที่มารับบทบาท สมทรง หญิงสาวผู้มีปัญหาทางสติปัญญา ผู้ที่พักหลงรัก แต่เธอเป็นแฟนของพ่อของเขา ก่อนที่พ่อของเขาจะเสีย หนังเรื่องนี้ถูกพูดถึงเป็นอย่างมากด้วยเนื้อเรื่องที่แปลกใหม่ และท้าทายสังคม ตั้งคำถามกับความสัมพันธ์ของทั้งคู่ เชิญให้คนดูเข้ามาตัดสิน “คำพิพากษา” ของความสัมพันธ์นี้ อย่างที่ชื่อหนังสือเดิมตั้งไว้
9. หมานคร, 2004
จากหนังสือ "หมานคร" โดย คอยนุช
ป๊อด หนุ่มบ้านนอกที่เข้ามามาหางานทำในกรุงเทพฯ เขาผ่านกับงานมากมายจนในระหว่างที่เขาทำงานเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัย เขาพบรักกับพนักงานทำความสะอาดที่เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ เพราะเธออ่านหนังสือสีขาวที่ตกมาจากฟ้า ไหนจะเจอคนมากมายที่ทำตัวประหลาดๆ ในทุกๆ วัน ทำให้คำพูดของยายของเขาตามมาหลอกหลอนในทุกวัน "เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ ระวังจะมีหางงอกออกมาจากก้น" ดัดแปลงจากนิยายสั้นของ คอยนุช ที่ตัวภาพยนตร์นั้นขาดทุนยับแต่กลายเป็นภาพยนตร์ที่ได้รับคำชม และรางวัลมากมายทั้งใน และนอกประเทศ
10. ผีเสื้อและดอกไม้, 1985
จากหนังสือ "ผีเสื้อและดอกไม้" โดย นิพพานฯ
ผีเสื้อและดอกไม้เล่าเรื่อง ฮูยัน เป็นเด็กฐานะยากจนอายุ 13 ขวบ ที่ตัดสินใจไม่เรียนต่อในชั้น ป.5 ทั้งที่เขาได้ที่ 1 มาตลอด เพราะเขาอยากจะหาเงินเลี้ยงพ่อ และน้องทำให้เขาตัดสินใจทำในหลายๆ สิ่งที่เขาไม่คิดว่าจะได้ทำ รวมถึงการได้พบกันอีกครั้งกับ มิมปี เพื่อนร่วมห้องที่ออกจากโรงเรียนมาช่วยที่บ้านเช่นกัน หนังพาเราไปเปิดโลกที่เขาอาจจะไม่ได้เห็นมาก่อนในยุคนั้นโดยเฉพาะเรื่องวิถีชีวิตของคนใต้ “ผีเสื้อเนี่ยโชคดีนะ เกิดมาได้เจอแต่ของสวยๆ ทั้งนั้นเลย”
นอกจากนั้น เรื่องที่น่าสนใจอีกอย่างคือเทรนด์กลับกันระหว่างหนังและ หนังสือ ที่ในปัจจุบันหนังสือที่ออกมาหลังจากภาพยนตร์ฉายก็มีมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นกันทั้งเรื่องราวที่เล่าแบบในภาพยนตร์เอง หรือการออกหนังสือภาค ก่อน หรือหลังเหตุการณ์ในหนังอย่างเช่น The Shape of Water ที่ในขณะที่ภาพยนตร์เล่าผ่านงานภาพเป็นส่วนใหญ่แต่หนังสือสามารถเล่าเรื่องรายละเอียดผ่านด้วยหนังสือได้มากกว่า
เพราะฉะนั้นในปัจจุบัน หนังสือ และภาพยนตร์ยังมีการพึ่งพากันอยู่ค่อนข้างมาก จากการดัดแปลงสื่อของกัน และกัน และยังส่งเสริมกันอยู่ อย่างในปี 2024 เองก็มีภาพยนตร์ฉายโรงมากกว่า 10 เรื่อง และดูเหมือนว่าสื่อที่ดัดแปลงจากหนังสือทั้งหนัง และซีรีส์จะเจอบ้านใหม่บน Streaming Survices หลายๆ เจ้าที่ปีนี้ปีเดียวก็มีรวมกันมากกว่า 30 เรื่อง ตั้งแต่แรกเริ่มหนังสือนับว่าเป็นเครื่องที่ช่วยให้คนคิดนอกกรอบ และตั้งคำถาม ทุกวันนี้การคิดนอกกรอบ และตั้งคำถามก็ถูกดัดแปลงให้เข้าไปอยู่ในสื่ออื่นๆ เพราะอย่างนั้น หนังสือยังมีชีวิตอยู่ฉันใด สื่ออื่นๆ ก็ยังคงมีลมหายใจต่อไปฉันนั้น