สาวพะงันกับเพดาน Beauty Standard ที่นับวันเริ่มไร้บทบาทในชีวิตของพวกเธอ

‘บิวตี้สแตนดาร์ด’ (beauty standard) คือสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยตามยุคสมัย ซึ่งล้วนแล้วแต่ส่งผลเหมือนกันคือ เป็นตัวชี้วัดผู้หญิงแต่ละคนว่าความงามของพวกเธอได้รับการยอมรับตามมาตรฐานของสังคมในแต่ละยุคหรือไม่ สังคมไทยในปัจจุบัน แม้จะเริ่มให้การยอมรับกับความหลากหลายในด้านความงามมากขึ้น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้คนส่วนใหญ่ยังตัดสินความงามตามมาตรฐานที่ปรากฏบนสื่อ จนนำมาซึ่งความรู้สึกไม่มั่นคงภายในใจของผู้หญิงหลายๆ คนซึ่งตัดสินว่าตัวเองไม่สวยพอ จนทำให้อุตสาหกรรมด้านความงามมีมูลค่ามหาศาล ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ความงามที่การันตีผลลัพธ์ว่าแก้ปัญหาข้อบกพร่องต่างๆ ได้ หรือคลินิกศัลยกรรมที่เข้ามามีบทบาททั้งในเพศหญิงและเพศชาย ในการเสริมสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ใช้บริการว่าจะมีรูปลักษณ์ที่เข้าใกล้กับมาตรฐานความงามมากขึ้น

EQ ประจำเกาะพะงันฉบับประจำเดือนสิงหาคมนี้ จึงได้เชิญ 4 สาวพะงันผู้ทุบมาตรฐานความงามทิ้ง แล้วเปล่งประกายความงามในแบบฉบับของพวกเธอออกมา ซึ่งเส้นทางของแต่ละคนล้วนมีอุปสรรคในแบบของตัวเอง ไม่ต่างจากการแสวงหาเพื่อค้นพบตัวตนในด้านจิตวิญญาณเลยล่ะ

สำหรับสาวคนแรกที่เราจะพาทุกท่านมาทำความรู้จักวันนี้ เธอคือ หวานใจไซฯ ทรานซ์ (Psychedelic trance) สาวอีสานพลัดถิ่น ‘แก้ว – ละอองแก้ว ศรเสนา’ ปัจจุบันเป็นเจ้าของแบรนด์เครื่องประดับแฮนด์เมด ‘Bohoshakti’

อย่างที่รู้กันมานานแล้วว่า ผู้หญิงอีสานมักจะได้รับการเหยียดลักษณะทางพันธุกรรม และมุมมองจากสถานะทางเศรษฐกิจ ประสบการณ์นี้ได้มีบทบาทในชีวิตของเธอตั้งแต่เริ่มแตกเนื้อสาวและเดินทางออกจากท้องถิ่น แก้วเริ่มหาเลี้ยงตัวเองด้วยการเป็นหางเครื่องตั้งแต่อายุ 16 ปี เธอมีความภูมิใจในผิวขาวเนียนและผมสลวยของตัวเอง แต่ก็ไม่เคยมั่นใจว่าตนเป็นคนสวยตามมาตรฐานของสังคมที่ตีกรอบไว้ เช่นมีฟันขาวเรียงชิดกันเวลายิ้ม หรือรูปร่างที่ยังไม่เป็นสาวเต็มตัว แก้วเพิ่งเริ่มรู้สึกรักในเรือนร่างของตัวเองหลังจากที่มีลูกคนแรกตอนอายุ 20 ซึ่งเธอเริ่มสัมผัสถึงความเป็นผู้หญิงของตนเอง และหลังจากนั้นไม่นานก็ค้นพบว่าผมหน้าม้าเข้ากับใบหน้าของเธอมากที่สุด นำมาซึ่งการค้นพบสไตล์ในยุคแรกๆ แต่จุดเปลี่ยนคือการได้มาเยือนเกาะพะงันครั้งแรกกับแฟนหนุ่ม ที่ได้ชักพาแก้วให้ได้เข้ามาอยู่ในสังคมโยคะย่านศรีธนู แหล่งฮิปปี้ที่มาแสวงหาความหมายของชีวิต

“ตอนนั้นเรายังไม่คุ้นเคยกับสังคมแบบนี้ ก็เรียกได้ว่าค้นหาสไตล์อยู่ เพราะหลายๆ คนในย่านนั้นนุ่งขาวห่มขาวกันเลย แต่งตัวออกมาดูเป็นสไตล์เดียวกันไปหมด แต่เราจะยังขอคงความรุงรังในแบบของเราไว้บ้าง ยังสับสนอยู่ จนกระทั่งเราเลิกกับแฟนแต่ยังอยู่ที่พะงันแล้วได้ไปรู้จักสังคมภายนอกศรีธนู ถึงได้เริ่มรู้สึกว่า เฮ้ย จริงๆ แล้วเราเองก็สวยนี่หว่า แต่เราจะส่องประกายเเละเป็นตัวของตัวเองที่สุดในลุคไซฯ ทรานซ์ ทำให้กลายมาเป็นลุคที่เราแต่งเป็นประจำทุกวันค่ะ”

“ต้องยอมรับว่าแก้วสามารถเป็นตัวของตัวเองที่สุดที่พะงัน เพราะไม่ว่าเราจะแต่งอะไรออกมา เช่น โชว์สะดือ ก็จะมีแต่คนเข้ามาชื่นชมว่าเราดูดี คนไทยที่นี่ก็จะเข้ามากรี๊ดกร๊าดชื่นชมจากใจจริงๆ ซึ่งคนที่อื่นไม่ได้มองเราแบบนี้ สำหรับเราแล้ว ความสวยไม่ใช่เพียงแค่รูปลักษณ์ภายนอก แต่มันเป็นแรงขับเคลื่อนจากภายใน แก้วจึงให้ความใส่ใจกับทุกอย่างที่เป็นเรา ไม่ว่าจะเป็นคำพูดคำจาที่แสดงออกต่อผู้อื่น เราจะรู้ตัวเองอยู่ในทุกท่วงท่า เพราะเราอยากมีบุคลิกที่ดูสง่างาม แต่ก็ยังเป็นตัวของตัวเอง”

เมื่อเราถามว่ามีไอดอลไหม แก้วตอบทันที่ว่ามีคุณไพลิน (Phailin S. Baumgartner) นักดีไซน์เครื่องประดับ อาร์ติสท์ตัวแม่แห่งเกาะเป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจ 

“สำหรับแก้ว พี่ไพลินเป็นคนที่มีอิทธิพลที่สุด เพราะนางเป็นคนที่ครีเอทอยู่ตลอดเวลา เป็นผู้หญิงที่สวยงามจากการเป็นตัวของตัวเอง และเต็มไปด้วยแพชชั่นจากการทำงานที่ตัวเองรัก ตัวแก้วเองจะขับเคลื่อนชีวิตด้วยพลังเพียง 5% ของพี่ไพลินยังยาก ทำให้แก้วมีเธอเป็นแรงบันดาลใจในทุกๆ เรื่อง”

‘อั้ม – อัมพร เจียรไน’ สาวพลัสไซซ์ ผู้ไม่เคยขาดไร้ซึ่งความงาม เธอเป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนสอนศิลปะเด็ก ‘ART ISSUE’ และ พนักงานประจำเต็มเวลาตำแหน่ง Senior Designer ที่ ‘Coconuts’ 

“ช่วงมหา’ลัยได้เข้าเรียนสายออกแบบ เราเป็นเด็กต่างจังหวัดที่มาเรียนในกรุงเทพฯ จากที่บางคนชอบขำเวลาเราแต่งตัว ตอนนั้นการไปเรียนมันว้าวมากสำหรับเรา เพราะถ้าหลายๆ คนที่บ้านมาเห็นคงมองว่า “แต่งตัวอะไรกันนะ ไม่สวย ตลก แปลก” แต่ที่นี่มันเปิดกว้างยิ่งกว่า พอได้อยู่รอบๆ เพื่อนก็มีความมั่นใจ มีสไตล์ของแต่ละคนแล้วยิ่งสนุก เลยมีโอกาสได้เป็นตัวเองเต็มที่ ได้แต่ง ได้ทำอะไรที่อยากทำ”

“พอเรียนจบ เราก็ได้ทำงานสายแม็กกาซีนแฟชั่นตามใจฝัน เราทำเลย์เอาท์ในเล่ม ก็เลยได้เห็นทุกเทรนด์แฟชั่น ทุกคอลเลคชั่น ถือเป็นช่วงเปลี่ยนชีวิต เราทำตรงนั้นมา 5 ปี พี่ๆ เพื่อนๆ ในที่ทำงานทุกคนคือไอดอลในการแต่งตัว เวลามีงานแฟชั่นหรืองานเปิดตัว เขาจะเปิดโอกาสให้กราฟิกอย่างเราไปร่วมงาน เพราะเขารู้ว่าเราอินและได้อะไรจากตรงนั้นจริงๆ พอทำมา 3 เล่มก็เปลี่ยนบรรยากาศ แต่ทุกที่มันคือสถานที่ที่เราอยู่แล้วมีความสุข มันเหมือนเซฟโซน อยากตื่นไปทำงาน อยากแต่งตัวไปเจอเพื่อนๆ เพราะทุกคนหมั่นให้กำลังใจและชื่นชมกัน มีคำแนะนำในการเลือกเสื้อผ้า แบ่งปันเสื้อผ้าและเครื่องสำอางด้วย ซึ่งโลกของที่นี่เปิดกว้างด้าน beauty standard กันไปไกลมากแล้ว มันทำให้เรายิ่งชอบตัวเองเข้าไปอีก ดังนั้น เราโชคดีที่หาพื้นที่ของเราเองเจอ พาตัวเองไปเจอผู้คนเยอะๆ เปิดใจ เปิดมุมมองใหม่ๆ”

“เราเป็น Sapiosexual (ผู้ที่ตกหลุมรักคนจากความฉลาด) เราเลยไม่ค่อยอินเลิฟกับคนที่ภาพลักษณ์ภายนอกเท่ากับความเก่ง ความฉลาด ความเป็นตัวเอง หรือการมีแพชชั่นของคนๆ นั้น มากกว่า ซึ่งรู้สึกว่าเป็นมาตั้งแต่เด็ก

คำพูดที่ทำร้ายเราส่วนใหญ่มาจากผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ขอพูดในประสบการณ์ว่าทำไมถึงชอบพาตัวเองไปพื้นที่ที่มีผู้คนหลากหลายสัญชาติ ไปต่างประเทศ เพราะมันได้เห็นว่าคนเรามีหลากหลายแบบ หลากหลายสายพันธุ์ หลากหลายวัฒนธรรม เหมือนเขาอยู่อีกโลกแล้ว เพราะชาวต่างชาติส่วนใหญ่มักหาคำทักทายที่ positive เขาไม่ค่อยเอาจุดด้อยของคนอื่นมาทักกัน และที่ผ่านมา ในสายตาผู้ชายหรือผู้หญิงไทยหลายๆ คนจะมองว่า ต้องผอม ขาว ผมยาวตรง แปลว่าสวย ซึ่งจริงๆ ก็สวยนะ เขาไม่ผิด แต่สำหรับเราก็อยากให้บางคนที่เขายังไม่มีโอกาสได้เห็นอะไรที่แตกต่างจากสิ่งที่ตัวเองชอบ ให้ลองเลิกตัดสิน และการเลิกใช้คำพูดที่ทำร้ายความรู้สึกคนอื่น เพียงเพราะความชอบของคนเราไม่เหมือนกัน”

“การล้มเลิกบิวตี้สแตนดาร์ดต้องเริ่มจากตัวเรานี่ล่ะ ไม่ใช่ไปเปลี่ยนความคิดใคร เราเปลี่ยนที่ตัวเราเองก่อน ต้องกล้าข้ามผ่านความกลัว การตัดสินจากคนอื่นให้ได้ และเลิกตัดสินคนอื่นจากการแต่งตัว ความสวยมันมาจากภายใน มันมาจากความสุขในศักยภาพของเราที่จะพัฒนา มีทัศนคติที่ดี แค่นี้ก็จะสามารถเป็นอะไรก็ได้ในแบบของเรา” 

พอเห็นสไตล์สุดจี๊ดของอั้มแล้ว ต้องอยากรู้เลยว่าเธอมีใครเป็นไอดอล

“ไอดอลมี 3 คน หลักๆ เลยคือ ‘ริฮานน่า’ (Rihanna) นางเปรี้ยว นางทะเยอทะยาน ชอบความเก่งหลายด้าน ทั้งด้านเพลง การแต่งตัว การทำงาน และอีก 2 คนคือนางแบบพลัสไซซ์ ‘แอชลีย์ เกรย์แฮม’ (Ashley Graham) กับ ‘พาโลมา เอลเซสเซอร์’ (Paloma Elsesser) ชอบในความสวยทุกอย่างที่มาจากภายใน หน้าสวย ผิวสวย มีลอนแห่งความงาม และที่สำคัญที่สุด เราเชื่อว่ากว่าพวกเขาจะมาจุดนี้ได้ เขาต้องพิสูจน์ตัวเองมามากเช่นกัน เพื่อพื้นที่การยืนในสายแฟชั่น แข่งขันกับความสวยงามของบิวตี้สแตนดาร์ดในโลกที่กว้างกว่าเรา ทั้งกดดัน แข่งขัน แต่โชคดีที่ไม่มีใครโดนเปลี่ยนความเป็นตัวของตัวเองเลย”

“เรามีลูกชาย 1 คนนะ ดีใจที่เขาชอบให้เราแต่งตัว เขามีความสุขและภูมิใจในตัวเรามาก เวลาไปโรงเรียนแล้วไม่เคยอายในความเป็นตัวเองของแม่ นี่คือสิ่งที่เราพยายามปลูกฝังในเด็กยุคต่อๆ ไป เคยได้ยินเขาพูดกับเพื่อนตอนเราไปรับที่โรงเรียนว่า “คนนี้สวย คนนั้นก็สวย ทุกคนสวยหล่อหมดแต่คนละแบบ ทุกคนเก่งคนละทาง” มันทำให้เรารู้สึกคอมพลีตมาก เราอยากให้เขาเป็นสุภาพบุรุษที่เปิดใจกว้างในเรื่องรูปลักษณ์ภายนอก ให้เขามีความมั่นใจ และพูดให้กำลังใจให้คนอื่นได้ มากกว่าพูดจาทำร้ายความรู้สึกคนอื่น ซึ่งมันจะอยู่ยากในอนาคต”

จากการแสวงหาความงามภายนอก สู่การค้นหาความสมดุลภายใน สิ้นสุดที่อิสระภาพแห่งหัวใจ ของ ‘อ้อมดาว ลอยสุวรรณ’ เจ้าของแบรนด์ ‘Hom: Local Craft’ ที่มีผลิตภัณฑ์ดีๆ ฝีมือคนในชุมชน ซึ่งสินค้าที่เธอกำลังใช้เวลากับมันมากที่สุด ณ ตอนนี้คือ ‘Duemdum Craft Cola’ เครื่องดื่มสุดแนวที่หากได้ลองชิมแล้วจะรู้สึกว่า ชีวิตนี้ขาดมันไม่ได้อีกต่อไป 

สาวอ้อมดาวเกิดมาพร้อมดวงตาคมที่ส่องประกายเซ็กซี่ รอยยิ้มหวานๆ ที่ดันโหนกแก้มสูงให้เด่นชัดขึ้นไปอีก แต่เชื่อไหมว่า แม้เธอจะโชคดีเกิดมาพร้อมใบหน้าที่เครื่องหน้าแน่นขนาดนี้ อ้อมดาวก็ยังไม่พอใจกับความสวยของตัวเอง เธอเลยเดินเข้าคลินิกศัลยกรรมให้หมอผ่าจมูก หวังจะได้มีจมูกเรียวเล็กสไตล์เกาหลี

“มันคือความเชื่อของยุคนั้นที่ว่าอะไรๆ ก็ให้สวยแบบเกาหลีไว้ก่อน เราก็ไม่อยากตกเทรนด์ เลยไปทำบ้าง หวังว่ามันจะทำให้เรามีใบหน้าที่ไม่ตกยุค แต่สรุปคือหมอบอกว่าจมูกเราทำได้แค่นี้ ไม่มีทางทำให้เล็กกว่านี้ได้อีกแล้ว เพราะขืนขูดมากกว่านี้ เราคงไม่ได้มีมันไว้ใช้หายใจอีก (หัวเราะ) เรารู้ว่ามันอาจจะไม่สวยตรงตามมาตรฐานของเราและหมอ แต่ก็โอเคกับมัน เพราะมันช่วยดึงหัวตาเราที่เป็นทรงอัลมอนด์ให้จิก กลายเป็นตาหงส์ ซึ่งเรารู้สึกแฮปปี้มากๆ แต่เราจบแล้วกับการทำศัลยกรรม คงจะเป็นครั้งสุดท้ายในชีวิตแล้วล่ะ เพราะอะไรเดี๋ยวจะเล่าให้ฟัง”

อ้อมดาวเล่าว่ามีความเป็นตัวของตัวเองสูงมาแต่ไหนแต่ไร โดยเธอจะเป็นที่จดจำของเพื่อนๆ และคุณครูตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมฯ ที่จังหวัดยะลา ไม่ว่าเธอแต่งตัวอย่างไร ก็จะเป็นที่ดึงดูดสายตาเสมอ และเมื่อได้เข้าเรียนระดับมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ อ้อมดาวก็กล้าที่จะใช้พื้นที่นี้ในการแสดงความเป็นตัวเองมากยิ่งขึ้น

“มันเริ่มเกิดความย้อนแย้งในตัวเราที่เริ่มถามตัวเองว่า การที่เราเป็นแบบนี้มันเกิดจากอะไร ทำไมเราไม่เหมือนคนอื่น ในขณะเดียวกันก็ดันย้อนแย้งขึ้นมาอีกว่า แล้วเราจะเป็นตัวของตัวเองไม่ได้เลยหรือไง เราถามตัวเองย้อนไปย้อนมาแบบนี้ จนคำถามมันลึกลงไปเรื่อยๆ ว่า ตัวเราเป็นใครมาจากไหน มาที่นี่ทำไม เราก็เลยเริ่มเข้าปฏิบัติธรรมที่วัดหลวงพ่อจรัญ ซึ่งมันก็ยังไม่ใช่ตัวเรา แต่เราอยู่ตรงนั้นตั้ง 5 ปีเลยนะ หมายถึงถ้ามีเวลาสัก 3-5 วัน จนกระทั่งได้ไปรีทรีทที่สวนโมกข์ จัดโดยพี่ ‘ตั้ม – วิจักขณ์ พานิช’ ซึ่งเราก็เข้าไปร่วมด้วย แต่มันเป็นอะไรที่ลึกมาก ด้วยความที่เราเป็นคนเซนซิทีฟ ก็จะเจออะไรมาเยอะ บอกเลยว่าเราได้ทางสังฆะมาช่วยโอบอุ้มไว้ เราก็เลยปฏิบัติกับวัชรยานมาตลอดระยะเวลา 10 ปี รวมทั้งฝึกโยคะด้วย แต่ว่าฝึกหนักมากนะ แถมต้องเจอด้านร้ายๆ ของตัวเอง ซึ่งมันเจ็บปวดมาก แต่มันก็เหมาะกับเรามากกว่า แล้วก็ไม่ต้องแต่งชุดขาว”

“เราเจอทุกรสของตัวเอง ซึ่งมันคือความเจ็บปวดที่ค่อยๆ เรียนรู้กันไป แถมยังต้องฝึกควบคู่ไปกับการใช้ชีวิต ทั้งด้านการเรียนและด้านการทำงานที่เราต้องทำออกมาให้ดีที่สุด ซึ่งเราก็อดทนทำจนเรียนจบ ถึงย้ายมาอยู่เกาะพะงันได้ ซึ่งก่อนหน้านี้เราชอบโยคะมาตลอด ก็เลยฝึกมาเรื่อยๆ 2-3 ปีกับสตูดิโอแถวบ้าน และใช้มันเป็นเครื่องมือในการให้เราอยู่กับร่างกายและลมหายใจ ไม่ว่าจะเผชิญกับดราม่าของชีวิตยังไง เราจะเรียกตัวเองให้เดินขึ้นไปบนเสื่อทุกครั้ง จนกระทั่งได้มาเจอพี่ซันนี่ (ครูสอนโยคะ) ที่กรุงเทพฯ เรารู้สึกถูกชะตากับแกมาก ก็เลยเผลอบอกแกไปเบาๆ ว่า เราอยากเป็นครูสอนโยคะ แล้วแกดันบอกว่าเราน่าจะเป็นครูสอนโยคะที่ดีได้ ซึ่งตัวเรามีแผนจะไปเรียนที่อินเดียอยู่แล้ว หลังจากที่เรียนจบและทำงานเก็บเงินได้สักก้อนหนึ่ง แต่พอพี่ซันนี่บอกว่าเขาจะไปเปิดโรงเรียนสอนโยคะที่เกาะพะงัน แล้วก็ชวนเราให้มาช่วยสอนสัก 2-3 ปี เราคิดอยู่ 1 วัน สุดท้ายก็ตัดสินใจบอกแม่เลยว่าเราจะไปนะ ตอนนั้นมันเป็นช่วงที่ชีวิตกำลังสิ้นหวัง และเราก็เหนื่อย ไม่อยากอยู่กรุงเทพฯ อยู่แล้ว เราอยากเลิกตะโกนบอกใครต่อใครว่าเราเป็นคนยังไง ไม่อยากรู้สึกว่าจะต้องเป็นคนมีสไตล์อีกแล้ว เราอยากจะไปอยู่ป่าแบบหนังเรื่อง ‘Into the Wild’ ก็เลยจินตนาการเอาว่าเกาะพะงันน่าจะมีความเป็นป่าเหมือนในหนังเรื่องนี้ จากนั้นเราก็นั่งเรือมาเลย”

“ตอนนั้นเรายังยึดติดกับสไตล์อยู่นะ เราอยากใช้ชีวิตแบบ ‘วอลเดน’ Walden ใน ‘Into the Wild’ แต่เราก็แบกความมีสไตล์ของเรามาที่พะงันด้วย ไปสมัครงานทีนี่หอบเอกสารไปเป็นปึ๊ง กะว่าจะโชว์ความสามารถเต็มที่ แต่โลกที่นี่มันดันกว้างกว่านั้น ไม่มีที่ไหนต้องการใช้ประกาศนียบัตรเลย สุดท้ายคือเอาเก็บกลับบ้านหมด แถมต้องกลับมานั่งเรียนภาษาอังกฤษฉบับเริ่มต้นแทน (หัวเราะ) จนตอนนี้ที่เรารู้สึกว่ามาถึงจุดที่เป็นความงามของเราจริงๆ ได้แล้ว คือการที่เรายอมรับตัวเองได้ทุกอย่าง ไม่มีอะไรจะต้องพิสูจน์ว่าเราดีหรือไม่ดีพอสำหรับใคร สวยหรือไม่สวยก็ได้ มันไม่ใช่ความรับผิดชอบของเรา ใครจะตัดสินก็ให้เขาตัดสินไป เหมือนกับเวลาที่เราสอนโยคะแล้วนักเรียนด่า หาว่าเราพูดภาษาอังกฤษไม่รู้เรื่องแล้วก็เดินออกจากห้องไป เรารู้ดีว่าไม่มีทางทำให้ใครชอบหรือมองเราดีได้ตลอดเวลา ทำได้แค่ยอมรับมัน เราคิดว่าตรงนี้ล่ะ ที่เป็นความงามข้างในของเราอย่างแท้จริง”

‘ปณิศรา มีณรงค์’ นักเขียนกับสไตล์ที่ไม่เคยทอดทิ้งเด็กน้อยในหัวใจ

“สมัยเป็นเด็ก ฉันรู้ว่าสิ่งที่โดดเด่นที่สุดในตัวคือการเป็นผู้นำ ‘การเล่น’ เพราะเป็นคนที่มีไอเดียมากมายไม่เคยจบสิ้น เพื่อนๆ ที่โรงเรียนและน้องๆ ที่บ้านต้องรอว่าวันนี้ฉันจะเอาอะไรมานำเสนอ ไม่ว่าจะเป็นเกมทุกประเภท แสดงละครบทบาทสมมติ เอาโฆษณามาเล่นเป็นมีมล้อเลียน ทำหนังสือการ์ตูนและนิตยสารทำมือให้เพื่อนๆ เช่าอ่าน และด้วยความที่เป็นเด็กชอบวาดรูป จึงมักจะคอยหากิจกรรมที่ได้ใช้ทักษะนี้อยู่เรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นการประกวดนางงาม โดยใช้วิธีวาดมงกุฎและสายสะพายขึ้นมาบนกระดาษ ตัดออกมาแล้วเอาสก๊อตเทปติด ไล่จับน้องๆ ทุกคนแต่งหน้า ยืนเรียงแถว สั่งให้เดินและหมุนตัว แล้วเป็นกรรมการตัดสินเองเสร็จสรรพ เวลาว่างก็จะเอานิตยสารแฟชั่นมาเปิดดู และออกแบบตุ๊กตากระดาษแบบใหม่แบบสับ ทุกคนจะมีผมและดวงตาคนละสี ม่วง เขียว ฟ้า ชมพู แดง เหลือง สลับกันไป ทั้งๆ ที่ตอนนั้นยังไม่รู้จักโลกของพังค์ทั้งสิ้น เสื้อผ้าที่ทำให้ตุ๊กตาใส่ก็ต้องออกแนวแฟชั่นสุดจี๊ด เพราะได้แรงบันดาลใจมาจากนิตยสารที่กองอยู่ในบ้าน ไม่ใช่กระโปรงสุ่มสามชั้นสไตล์วิคตอเรียนแบบที่ขายกันทั่วไป ตุ๊กตากระดาษพวกนี้ ฉันจะทำเป็นคอลเลคชั่นเก็บไว้เป็นเซ็ตเหมือนงานสะสม สีที่ใช้คือสีน้ำ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าระบายเป็นได้ยังไง รู้แต่ว่ามันสวยกว่าสีเมจิกและสีไม้เวลาทำชุดให้ตุ๊กตา และอื่นๆ อีกมากมาย ไม่เคยรู้สึกว่าความคิดตันถ้ามีใครมาถามว่าวันนี้จะเล่นอะไรดี

Photo credit: Design Eat Repeat

แต่แล้วความเป็นเด็กก็ถูกริดรอน เมื่อสมาชิกที่เป็นใหญ่ในบ้านได้แอบล่วงรู้ความในใจว่า ฉันอยากจะเรียนศิลปะ หลังจากนั้น หนังสือเรียนที่เต็มไปด้วยภาพวาดการ์ตูนฝีมือฉัน ทั้งมังงะกับการ์ตูนไทยแทบทุกหน้า ถูกรื้อค้นและฉีกทิ้งท่ามกลางความตื่นตระหนกของเด็กน้อยผู้ซึ่งไม่รู้ว่าตัวเองทำอะไรผิด แม้เธอจะยังขยับมือวาดรูปได้โดยที่ไม่ต้องมองกระดาษ เพราะสายตาจ้องมองกระดานและฟังครูเลคเชอร์อยู่ตลอดระยะเวลาของการศึกษาเล่าเรียน แต่ความมุ่งหวังตั้งใจที่จะได้ใช้ชีวิตอยู่กับงานที่พึ่งพาความคิดสร้างสรรค์ในแต่ละวัน ได้ถูกเข้ามาแทนที่ด้วยความรู้สึกผิดลึกๆ เพราะไม่ต้องการทำให้ผู้ปกครองผิดหวัง เด็กน้อยคนนี้ถูกฉันละทิ้งไปนานแสนนาน หลังจากนั้น เมื่อเริ่มเข้าวัยสาว สารอะดรีนาลีนที่เคยหลั่งตอนได้เล่นและวาดรูปก็ถูกแทนที่ด้วยโลกของดนตรีอัลเทอร์เนทีฟร็อก คราวนี้ฉันจับตัวเองแต่งตัวเป็นแม่ตุ๊กตาเหล่านั้น เปิดเพลงพลางแต่งตัวและแต่งหน้าไปด้วยสัญชาติญาณดั้งเดิม นั่นคือ “ฉันขอมันส์ไว้ก่อน” แม้มันอาจจะใช้เวลาเป็นชั่วโมงๆ เพราะต้องหัดจำเนื้อร้องไปด้วย อาจต้องมีการหยุดเต้นเป็นระยะๆ เพื่อเช็ดมาสคาร่า หรือเปิดหาคำแปลคำศัพท์ใหม่ๆ ในพจนานุกรมเมื่อสงสัยว่าเนื้อเพลงท่อนนี้แปลว่าอะไร ก่อนจะออกไปเที่ยวบาร์หรือคอนเสิร์ตที่เปิดเพลงที่ตัวเองเพิ่งเล่นไปเมื่อกี้

Photo credit: David Bowie / YouTube Music

และแน่นอนว่าไอดอลในด้านความงามและสไตล์ของฉัน ต้องเป็นคนที่ฉีกกรอบขนบความงาม แต่โดดเด่นด้วยพลังความสร้างสรรค์อันเอกอุ อย่าง ‘เดวิด โบวี’ (David Bowie) และ ‘คาเรน โอ’ (Karen O) แห่งวง ‘Yeah Yeah Yeahs’ บางคนอาจจะงงว่า ผู้หญิงที่ไม่ได้มีรูปร่างหน้าตาตรงตามมาตรฐานความงามแม้แต่น้อยอย่างฉัน มันไปเอาความมั่นใจเกินต้านมาจากไหนกัน ถ้าคุณลองมีไอดอลเป็นแบบนี้ แถมมีวัยเด็กเป็นแบบฉัน ก็ไม่มีอะไรน่าแปลกใจใช่ไหม สำหรับฉัน การมีไอดอลที่ชอบ ไม่ได้แปลว่าเราชอบใครก็ไปดูเขาแล้วเกิดแรงบันดาลใจให้เลียนแบบตาม แต่เป็นการค้นพบคนที่มีบุคลิกภาพและสไตล์ในแบบที่ใกล้เคียงกับเรา ทำให้เราเกิดความมั่นใจในความเป็นตัวเองแบบที่เป็นอยู่ขึ้นไปอีก

จึงพูดได้ไม่ผิดว่า เวลาที่ใช้ไปกับการแต่งตัวในแต่ละวัน คือช่วงเวลาอันมีค่าที่ฉันได้ใช้กับเด็กน้อยในตัวเอง เมื่อไหร่ที่มีเวลาว่างตรงกัน ฉันจะชักชวนเพื่อนสนิทมาที่ห้อง รื้อเสื้อผ้า วิกผม รองเท้า และเครื่องประดับออกมาเล่น และแน่นอนต้องตามมาด้วยการโชว์ลีลาการโพสท่า หลังจากประโคมทุกสิ่งอย่างลงบนตัวเรียบร้อยแล้ว

Photo credit: Wallpaper Safari

ถึงแม้ทุกวันนี้ ฉันจะไม่ได้ทำงานเป็นศิลปินเหมือนดั่งที่วาดฝันไว้ในวัยเด็ก ฉันก็ใช้ร่างกายของตัวเองในแต่ละวันเป็นเหมือนหอศิลป์เคลื่อนที่ เป็นพื้นที่ให้เด็กน้อยในตัวฉันได้มีที่เล่น ส่วนจะเล่นไปอีกนานแค่ไหน ก็ไม่เห็นจำเป็นว่าจะต้องทอดทิ้งกันเลย เพราะตอนนี้ไม่มีใครมาว่าอะไรที่เราอยากจะอยู่ด้วยกันตลอดเวลาแล้วนี่เนอะ 

เส้นทางของการค้นพบความสวยที่ใช่ในแบบของตัวเอง โดยที่ไม่ต้องไปยึดติดกับมาตรฐานความงาม แม้จะแลกมาด้วยความเจ็บปวด แต่ก็คุ้มที่สุด เพราะมันคือการเยียวยาตัวเองให้เข้าสู่อิสรภาพภายใน ในโลกที่เต็มไปด้วยการล่อหลอกเอาเงินออกจากกระเป๋าผู้หญิงในทุกช่องทาง ในขณะที่กระซิบบอกเราตลอดว่า เราไม่ดีพออย่างไร เพราะคุณค่าของเราถูกวัดด้วยสิ่งภายนอกเหล่านี้”

EQ ขอเอาใจช่วยให้ผู้หญิงทุกคนที่ต้องการหลุดพ้นจากกรอบมาตรฐานความงามที่ใครก็ไม่รู้ตั้งเอาไว้ สามารถค้นพบสิ่งที่มีค่ายิ่งกว่าความงามภายนอกได้ นั่นคือ การยอมรับตัวเองในทุกเวอร์ชั่น แม้มันจะไม่ใช่เวอร์ชั่นที่เรารู้สึกว่าสวยที่สุดก็ตาม การยอมรับตัวเองนี่ล่ะ ที่จะเป็นประตูไปสู่ความรักที่เรามีให้แก่ตัวเองได้อย่างแท้จริง