Identity

ชุมชน LGBTQ+ แห่งพะงัน ส่วนหนึ่งของขบวนพาเหรดแห่งความฝันสู่คืนวันอันเท่าเทียม

ท่ามกลางบรรยากาศที่ชาว LGBTQ+ ทั่วประเทศกำลังลุ้นให้กฏหมายสมรสเท่าเทียมผ่านร่างรัฐธรรมนูญ ณ เกาะพะงันเองก็มีชุมชน LGBTQ+ เล็กๆ ซึ่งถือกำเนิดขึ้นมาจากกลุ่มชาวเพศหลากหลายผู้เดินทางมาประกอบอาชีพที่นี่ และพวกเขาก็พร้อมจะเป็นเสียงอีกเสียงหนึ่งในการผลักดันให้กฏหมายเอื้อต่อบุคคลเพศเดียวกันสามารถทำการหมั้น และสมรสกันได้อย่างถูกต้องตามกฏหมาย แต่ก่อนนั้นเรามาทำความรู้จักกับพวกเธอกันหน่อยดีกว่า

สถานที่พบปะของพวกเธอคือร้านเจ๊ชา ‘Cha Cha Restaurant’ ร้านอาหารตามสั่งร้านแรกขวามือชั้นล่างของตลาดพันธ์ทิพย์ ซึ่งเป็นที่รวมตัวพบปะถามไถ่สารทุกข์สุกดิบซึ่งกันและกัน เราจึงได้ตรงเข้าไปทักทายพวกเธอแต่ละคน และขอให้เล่าเรื่องราวที่มาที่ไปของตัวเองแบบพอสังเขป คนแรกที่ได้แนะนำตัวกับเราคือพี่ ‘สรรณธาน ขาวฟอง’ หรือ ‘เจ๊เบียร์’ เจ้าของร้านเสริมสวยที่อยู่เกาะมาร่วม 18 ปี และเป็นเพื่อนสนิทของเจ๊ชา ที่ร่วมผจญชีวิตหัวหดก้นขวิดด้วยกันมาบนเกาะสวรรค์แห่งนี้ ตั้งแต่สมัยที่ฟูลมูนปาร์ตี้ยังเบ่งบานในช่วงพีคของมัน

พี่เบียร์เล่าให้เราฟังว่า “เราสองคนต่างคนต่างมา แต่ก็มาเจอกันในขณะที่เพิ่งมาถึงเกาะใหม่ๆ ด้วยกันทั้งคู่ พี่ทำร้านเสริมสวย ส่วนเขาทำร้านอาหารตรงท้องศาลานี่แหละ เขาเป็นรุ่นบุกเบิกตลาดพันธ์ทิพย์เลย ซึ่งขายดีมาก และพี่ก็เป็นหนึ่งในลูกค้าประจำที่มาทานทุกวัน ทานไปทานมาเห็นเขายุ่งมาก ก็ไปช่วยเขาวิ่งเสิร์ฟซะอย่างนั้น คือเราถูกใจนิสัยใจคอกันอยู่แล้ว ก็มาช่วยเขาทุกวัน จะได้ปิดร้านแล้วไปต่อด้วยกัน ซึ่งมันยิ่งทำให้เราสนิทกันมากขึ้น

สมัยก่อนปาร์ตี้เกาะพะงันสุดกว่านี้เยอะ คนมากันเยอะมาก แล้วไม่ใช่แค่หาดริ้นที่เดียวที่มีปาร์ตี้ ตามหาดอื่นๆ ก็มีบรรยากาศเหมือนปาร์ตี้อยู่ตลอดเวลา โหมเปิดเพลงเทคโนฯ เต้นกันทุกที่ สนุกสนานมากๆ ต้องยอมรับว่ามันเป็นการเปิดโลกของเรานะ เราได้พบเห็นเรื่องราวและพบปะเพื่อนใหม่จากทั่วทุกมุมโลกก็เพราะได้มาอยู่ที่นี่นี่แหละ และเจ๊ชาก็มักจะมีบทบาทสำคัญในเรื่องราวต่างๆ ที่เราได้ประสบมา ซึ่งเราสองคนจะอยู่เคียงข้าง คอยช่วยเหลือ และเป็นกำลังใจให้กันและกันมาโดยตลอด นับไปนับมาก็ปาเข้า 18 ปีพอดี”

เมื่อถูกเราขอให้ส่งเสียงในฐานะตัวแทนของชุมชนชาว LGBTQ+ ว่าเธออยากจะสื่ออะไรออกมา เธอกล่าวว่า “ตอนนี้พี่กำลังติดตามข่าวส.ส.ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ที่กำลังผลักดันให้กฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่านการรับรองโดยรัฐบาล คือที่เราอยากจดทะเบียนกับคนรัก ก็เพราะเราอยากอยู่ดูแลเป็นเพื่อนกันไปตลอดชีวิต ไม่ใช่อยากจะได้สมบัติเขา ลองคิดดูว่า ถ้าวันหนึ่งคู่รักเราเป็นอะไรขึ้นมา และต้องให้คนใกล้ตัวรีบทำการตัดสินใจเพื่อให้ได้รับการรักษา แต่เรากลับไม่มีอำนาจในการตัดสินใจ หรืออย่างพี่คิดจะไปกู้เงินซื้อบ้าน แต่ผ่อนคนเดียวไม่ไหว ก็ไม่สามารถให้แฟนมาช่วยผ่อนในฐานะคนในครอบครัวได้ อยากจะบอกให้รัฐบาลรู้ว่า สิ่งพวกนี้มีความสำคัญต่อการใช้ชีวิตของเรายังไงบ้าง มันถึงขั้นชี้เป็นชี้ตายได้ในเวลาฉุกเฉิน และมีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตในแต่ละวันของเราขนาดไหน ซึ่งพี่เชื่อว่า LGBTQ+ ทั่วโลกก็อยากได้สิ่งนี้เช่นกัน” 

แล้วรู้สึกภาคภูมิใจอะไรในอัตลักษณ์ของตัวเองบ้าง พี่เบียร์ยิ้มตาเป็นประกายก่อนจะบอกเราว่า “ความภูมิใจแรกเลยคือ เราก็ทราบกันดีใช่ไหมว่าโอกาสหลายๆ อย่างของ LGBTQ+ ค่อนข้างจะถูกกีดกัน แม้ว่าบ้านเราจะไม่เคยห้าม แต่เขาก็ไม่เคยแสดงท่าทีสนับสนุนเรื่องอัตลักษณ์ของเรา เราเรียนจบมาก็มาทำอาชีพเสริมสวย และนอกจากจะหาเลี้ยงตัวเองได้ เรายังซัพพอร์ตพวกเขาได้ด้วย มันอาจจะเป็นเรื่องเล็กๆ แต่เราก็รู้สึกภูมิใจนะ เพราะถึงแม้สังคมที่บ้านเราจะไม่กีดกันอะไรเรา สังคมข้างนอกมันก็ไม่ใช่นะ ทุกวันนี้ที่เราทำ มันอาจจะไม่ได้ยิ่งใหญ่อะไร แต่ถ้าถามว่าอะไรคือความภูมิใจของเรา เราก็ต้องบอกว่ามันคือตรงนี้แหละ”

เราเลยตั้งคำถามต่อไปว่า แล้วอะไรล่ะ จะเป็นสิ่งที่ทำให้สังคมเปิดใจยอมรับความหลากหลายทางเพศมากขึ้น เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสให้แก่คนกลุ่มนี้ พี่เบียร์ได้แสดงความเห็นไว้ว่า “มันคงเป็นไปไม่ได้ที่จะให้คนทั้งประเทศยอมรับเรา แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือ ครอบครัวเราล่ะ ยอมรับเราไหม แล้วเพื่อนฝูงสังคมรอบตัวเราล่ะ ยอมรับเราได้หรือเปล่า สำหรับพี่ต้องการแค่มิตรภาพจากคนรอบข้างที่มีให้แก่กัน ไม่ว่าเราจะแตกต่างกันด้วยวัยหรือสถานะต่างๆ เราเอาแค่นี้พอแล้ว ถ้าเริ่มจากจุดเล็กๆ ก็จะขยายขอบเขตการยอมรับไปสู่สังคมในวงกว้างได้ค่ะ ตามที่สังเกตจากรายชื่อประเทศที่กฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่าน มักจะเป็นประเทศที่ประชากรมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องสิทธิ จนสามารถชี้นำรัฐให้มีการร่างกฎหมายที่รับรองสิทธิเสรีภาพของทุกคนอย่างเท่าเทียมได้” 

เราขอให้พี่เบียร์ให้คะแนนสิทธิเสรีภาพในเรื่องทั่วๆ ไปที่เธอได้รับ ณ ปัจจุบันนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสิทธิและความเท่าเทียมทางกฎหมาย หรือเสรีภาพในการแสดงออกมากน้อยแค่ไหน รวมทั้งการได้รับการยอมรับจากคนรอบข้าง จากเต็ม 10 เธอจะให้เท่าไหร่ ยกป้ายเลย! 

“ให้ 9 คะแนน เพราะ ณ ปัจจุบันนี้ ประเทศไทยให้สิทธิและเสรีภาพทางการแสดงออกของ LGBTQ+ มากขึ้นเยอะ เมื่อเทียบกับที่ผ่านมา เพราะชีวิตที่เราใช้อยู่ทุกวันนี้คือฟรีมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแต่งตัว การแสดงความคิดเห็น หรือเข้าปาร์ตี้เข้าสังคม เราได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีมากๆ ในทุกที่ที่ไป แถมครอบครัวและสังคมก็ยอมรับเราได้มาตลอดอยู่แล้ว แต่ถ้ากฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่านนะ เอา 10 10 10 ไปเลยจ้า” 

แล้วเสรีภาพในการแสดงออกแบบหลุดๆ ล่ะ ให้เท่าไหร่ “เราต้องยอมรับว่าการเป็น LGBTQ+ มันจะมีกรอบมากกว่าคนอื่น เราเลยต้องระวังตัวมากกว่าหญิงแท้ชายแท้ เพราะสังคมยังมองจ้องเราอยู่ เรากินเราดื่มก็จริง แต่จะมาเมาแล้วหลุดจนทำอะไรบ้าๆ ไม่ได้ เพราะมันไม่แฟร์ต่อ LGBTQ+ คนอื่นที่อาจจะถูกเหมารวมไปด้วย เลยทำให้ไม่ว่าจะทำอะไร เราจะรู้ขอบเขตของตัวเองตลอด”

แล้วถ้าได้เสรีภาพในการดำเนินชีวิตมาแบบครบถ้วน 100% ล่ะ จะเอายังไงต่อไป? “เราก็ยังดำเนินชีวิตเหมือนเดิมทุกอย่าง แต่สิ่งที่แตกต่างคือ เมื่อกฎหมายสมรสเท่าเทียมถูกผลักดันแล้ว เราจะรู้สึกเป็นอิสระในการที่จะรักหรือชอบใครมากขึ้น มีความมั่นคงในชีวิตมากขึ้น เพราะมีกฎหมายคอยคุ้มครองเราค่ะ” ใครที่อยากทักทายหรืออุดหนุนเจ๊เบียร์ ก็ไปหาที่ร้านเสริมสวยของนางได้เลย หาไม่ยาก เพราะอยู่ตรงซุ้มทางเข้าอบต.บ้านใต้นี่เอง ทำเลเหมาะแก่การแวะทำสวยก่อนไปฟูลมูนปาร์ตี้ที่หาดริ้นมากๆ

มงฯ รายต่อมาตกเป็นของหนุ่ม ‘มอส – ชยางกูรณ์ ชุมแดน’ ผู้บริหารร้านอาหารดังแห่งหาดโฉลกหลำ ‘อุ่นใจ ซีฟู้ด’ ซึ่งผ่านมาเยี่ยมเยียนเพื่อนๆ ที่ร้านเจ๊เขาพอดี เมื่อถูกถามว่าอยากบอกอะไรแก่ชุมชน LGBTQ+ ทั่วโลกในฐานะที่เป็นตัวแทนของกลุ่มนี้จากเกาะพะงัน หนุ่มมอสตอบสั้นๆ แต่ได้ใจความว่า “WELCOME!” จนพี่เบียร์ต้องขอให้ขยายความว่าต้องการต้อนรับอะไรบ้าง มอสตอบว่า “ในฐานะที่เราเป็นตัวแทนของกลุ่มหลากสี เราไม่มีการแบ่งแยกหรือเลือกปฏิบัติ เพราะประวัติศาสตร์ของพวกเราผ่านเรื่องนี้มาเยอะมากแล้ว เราเลยอยากจะเป็นตัวแทนของความรัก ความยินดี และความภาคภูมิใจในตัวเอง เพื่อส่งพลังนี้ให้แก่ผู้อื่นต่อๆ ไป เพราะฉะนั้น everything jinglebell, welcome ครับ”

และสำหรับสิ่งที่ตัวเองรู้สึกภาคภูมิใจล่ะ? “ความที่เรารักและภูมิใจในความเป็นตัวเองมากๆ เลยรู้สึกว่าไม่ว่าจะไปไหนหรือทำอะไร เราค่อนข้างจะโดดเด่น คือเรารู้สึกว่าความรักตัวเองเป็นสิ่งสำคัญ มันทำให้ใครๆ มองเห็นและสัมผัสได้”

ถ้าพูดถึงการยอมรับจากสังคมไทย ณ ปัจจุบันล่ะ “ที่จริงสังคมไทยค่อนข้างจะเปิดกว้างมากกว่าจากเมื่อก่อนนี้เยอะ โดยประสบการณ์ส่วนตัว คิดว่าเราจบไปแล้วกับการเหยียดเพศกัน แต่ที่ยังเหลือคือการทำให้ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะรักกันอย่างเท่าเทียม โดยไม่ต้องให้ใครมาบอกว่า คนนั้นรักกับคนนี้ไม่ได้ ในขณะที่สังคมให้การยอมรับกันและกันมากขึ้นแล้ว แต่กฎหมายยังไม่รองรับเราเลย” เอาล่ะ เมื่อผ่านรอบพรีลิมเรียบร้อย ก็เข้ามาถึงรอบตอบคำถามเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพ ณ ปัจจุบันของชุมชน LGBTQ+ แห่งประเทศไทย

ข้อแรก คุณให้คะแนนสิทธิทางกฎหมายและความเท่าเทียมกันเท่าไหร่ดี จาก 1-10 “ผมให้ 7 ครับ” ซึ่งพี่เบียร์ได้ยินถึงกับพูดดังๆ ว่า “ทำไมให้น้อยจัง!” มอสยืนยันว่ามันคือความจริงของภาพรวมของสังคมในตอนนี้ที่ยังไม่ได้รับความเท่าเทียมอย่างแท้จริง จนกว่ากฎหมายสมรสเท่าเทียมจะออกมา

แล้วเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งความเป็นตัวเองล่ะ?

“ณ ตอนนี้เราค่อนข้างจะมีเสรีภาพเต็มที่ในการเป็นตัวของตัวเอง แต่มันก็มีบางเรื่องที่ยังรู้สึกน่าหงุดหงิด เช่น การบังคับเกณฑ์ทหาร ซึ่งมันยังเป็นอะไรที่ดูขัดแย้งต่อภาพของสังคมโดยรวม ที่ค่อนข้างจะมีความรู้ความเข้าใจ ให้การยอมรับอัตลักษณ์ของเพศหลากหลายแล้ว แต่ระบบราชการก็ยังบังคับให้เข้ารับการเกณฑ์ทหารอยู่ ทั้งๆ ที่บางคนสรีระและความคิดจิตใจมันไม่ได้แล้ว ซึ่งผมว่าคร่ำครึเกินไป มันควรจะเป็นงานที่ทำด้วยความสมัครใจมากกว่า”

แล้วคะแนนการยอมรับที่ตัวเองได้จากครอบครัวและผองเพื่อนล่ะ? มอสให้ 8 สำหรับคำตอบนี้ เพราะ “ต้องยอมรับว่ามอสเกิดในครอบครัวที่คนรุ่นพ่อแม่ยังไม่เปิดกับเรื่องนี้ เท่าที่เห็นเด็กรุ่นใหม่ที่เกิดทีหลังไม่ต้องเผชิญแบบที่ผมเผชิญ คือที่บ้านรับไม่ได้ โดยคุณพ่อจะพูดบ่อยๆ ว่าอายที่เราเป็นแบบนี้ เพราะคุณพ่อผมสไตล์นักเลงมาก และเคยลงมือลงไม้กับผมมาแล้ว”

ส่วนเสรีภาพที่จะหลุดอย่างเต็มที่นั้น มอสก็ให้ 8 คะแนนโดยบอกว่า ถึงแม้จะมาอยู่จุดที่ค่อนข้างจะมีอิสรภาพมากมายเมื่อเทียบกับแต่ก่อน แต่ด้วยพื้นฐานทางครอบครัวที่เป็นอนุรักษ์นิยม ก็ทำให้เขาไม่สามารถทำอะไรหลายๆ อย่างได้ รวมทั้งการสักที่ถูกสั่งห้ามเด็ดขาด

แล้วถ้าได้อิสรภาพแบบเต็มขั้นขึ้นมาล่ะ ชีวิตจะเป็นอย่างไรต่อไป? “ก็หาใครสักคนที่เข้ามาแล้วทำให้รู้สึกดี และในอนาคต หากอยากอยู่กันอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ก็มีกฎหมายคอยคุ้มครองและอำนวยความสะดวกให้ค่ะ”

และคนสุดท้ายที่เข้ามาร่วมวงสนทนากับเราคือ ‘เจ๊ชา’ หรือ ‘ปรีชา เปลี่ยนแปลก’ เจ้าของร้าน ‘เจ๊ชา ซีฟู้ด’ หรือ ‘Cha Cha Restaurant’ เจ๊ชาเล่าให้เราฟังถึงสมัยที่เธอยังเป็นสาวปาร์ตี้ในช่วงที่ฟูลมูนปาร์ตี้กำลังเป็นที่รู้จักในหมู่นักท่องเที่ยวทั่วโลก “ตอนนั้นคนมากันเยอะมาก เชื่อไหมว่า จะเข้าฟูลมูนปาร์ตี้นี่ต้องต่อคิวกันยาวมากเลยนะ แล้วทั้งปีเราจะมีเพื่อนจากประเทศโน้นประเทศนี้คอยวนมาเยี่ยมตลอด ซึ่งเวลากลับไป เขาก็จะบอกให้เพื่อนๆ ในประเทศฟังว่าร้านเราดี แล้วก็พากันตามมากิน คนก็ยิ่งเยอะ ทั้งทำงานมือผัดเป็นระวิง ทั้งต้องออกไปปาร์ตี้กับพวกเขาและเพื่อนๆ ในแก๊ง เรียกได้ว่าทำหน้าที่ครบถ้วนประหนึ่งเป็นตัวแทนจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย” เราเหลือบดูราคาที่ป้ายแล้วอึ้งนิดหน่อย เพราะราคาพวกเมนูผัดกะเพราทั่วไปเริ่มต้นที่ 60 บาท หรือเมนูอาหารทะเลก็เพียง 80 บาทเท่านั้น ราคาช่างสวนทางกับความเป็นเมืองท่องเที่ยวจริงๆ “เราขายราคา 50 บาทมาตั้งแต่เริ่มเปิดเมื่อ 18 ปีก่อนแล้วไม่เคยปรับขึ้นเลย จนเพิ่งมาปรับขึ้นเอาปีนี้ที่ทุกอย่างแพงขึ้นหมด เราขายเน้นช่วยให้คนได้มากิน เน้นจำนวนลูกค้า ซึ่งข้อดีอย่างหนึ่งที่เห็นๆ กันเลยคือ เราได้เพื่อนหลากหลายกลุ่มมาก ทั้งครอบครัว ทั้งวัยรุ่น บางคนมาหาทุกปีตั้งแต่สมัยยังวัยรุ่น จนแต่งงานมีลูก มีครอบครัวไป ก็รู้สึกโชคดีนะ ที่ได้มามีประสบการณ์ตรงนี้ มันรู้สึกอบอุ่นอย่างบอกไม่ถูก เหมือนกับความเป็นครอบครัวมันขยายออกไปน่ะ”

พอได้ฟังเรื่องราวการผจญภัยของเจ๊ชาแต่ละเรื่องบนเกาะสวาทหาดสวรรค์แห่งนี้แล้ว บอกเลยว่า แซ่บพอๆ กับฝีมือการทำอาหารที่ดึงดูดคนจากทั่วโลกเลยล่ะ เมื่อถูกขอให้เป็นอีกหนึ่งเสียงของชาว LGBTQ+ ประจำเกาะ เจ๊ชาตอบว่า “ตอนนี้ทุกคนก็หวังกันมากกับกฎหมายสมรสเท่าเทียม แต่อยากจะบอกทุกคนให้ใจเย็นๆ อย่าไปคิดว่ามันจะได้ง่ายๆ ดูอย่างญี่ปุ่น เขาต่อสู้กันมาตั้งนานแล้ว แต่ยังไม่ได้เลย ในตอนนี้ก็เห็นมีแต่ไต้หวันเท่านั้นในเอเชียที่มีแล้ว ส่วนเราที่ทำท่าว่าจะได้ๆ จนเขาฉลองกันอีกปีแล้วก็ยังไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น สูดลมหายใจเข้าออกช้าๆ กุญแจของความสำเร็จครั้งนี้ อยู่ที่เวลาเท่านั้น”

สิ่งที่รู้สึกภูมิใจที่สุดของตัวเองคืออะไรคะ “ต้องยอมรับว่าเราโชคดีที่เกิดมาในครอบครัวที่ เปิดกว้างมาก เรารู้ตัวว่าเป็นแบบนี้ตั้งแต่อายุ 7 ขวบ แต่ที่บ้านไม่เคยว่าอะไรเลย เจ๊จะมีแฟนกี่คน อยู่กินกันเป็นจริงเป็นจังกี่ปีก็ไม่เคยมีปัญหา เป็นตัวของตัวเองมาโดยตลอด เพราะถึงข้างนอกจะโหดร้ายและผลักดันให้เราต่อสู้แค่ไหน แต่พอเรากลับเข้าบ้าน การที่ทุกคนรักและเข้าใจเราก็คือที่สุดแล้ว