“เสน่ห์ของโลเคชันแต่ละที่ มันคือสตอรี่ของมันนั่นแหละ โลเคชันมันเล่าเรื่องได้”
พี่เทพบอกกับทีม EQ ก่อนจะหันไปคุยกับเจ้าของโลเคชันที่เรามาสัมภาษณ์กันวันนี้
“ตามสบายเลยนะเทพ” พี่เจ้าของบ้านวินเทจหลังใหญ่ในซอยแถวๆ สุทธิสาร ตอบกลับ
จากนั้นพี่เทพก็พาเราเดินลัดเลาะบ้านแห่งนี้ ที่เป็นโลเคชันถ่ายซีรีส์เรื่อง ‘Doctor Climax - ปุจฉาพาเสียว’ อย่างเป็นกันเอง
“เรารู้จักกับพี่เค้ามานานแล้ว ไว้ใจกันถึงขั้นทิ้งบ้านไว้ให้ใช้สัมภาษณ์เลยดูสิ”

หลังจากเดินดูรอบๆ ทึ่งจนหายทึ่งกับความอเมซิ่งของโลนี้เรียบร้อยแล้ว เราก็มีโอกาสได้เข้ามานั่งในห้องรับแขก ที่ตัวละคร ‘ตุ๊กตา’ และ ‘หมอณัฐ’ ใช้เป็นที่สนทนากันในซีรีส์ แล้วเราก็เริ่มหยิบสองสิ่ง ‘โลเคชันและงานกองถ่าย’ มาคุยกับ เทพ-ธัญญเทพ สุวรรณมงคล Location Manager มือฉมังที่สร้างความหมายใหม่ให้ตึกรามบ้านช่อง ด้วยการปักหมุดให้เป็นโลเคชันถ่ายหนังมาแล้วนับไม่ถ้วน
แถมยังเป็นแอดมินหนึ่งเดียวของเพจ Theplocation พื้นที่แชร์เรื่องราว ความทรงจำ และเรื่องสนุกๆ ของแต่ละสถานที่อีกด้วย
ตาม EQ ไปสนทนากับชายผู้หลงใหลในสตอรี่ของสถานที่ต่างๆ กัน
ก่อนจะมาเป็น ‘เทพโลเคชัน’ ตอนเด็กๆ เป็น ‘เทพ’ แบบไหน
“เราก็จบนิเทศเหมือนเด็กทั่วไป เมื่อ 20-30 ปีก่อนมันไม่มีโอกาสทางความรู้มาก เราไม่รู้ว่าจบไปจะไปเป็นอะไร เพราะเราถูกผลิตขึ้นมาเหมือนๆ กัน จากโรงเรียนที่คล้ายๆ กัน เพราะฉะนั้นมันเลยไม่ได้เรียนรู้ว่าเราชอบอะไรจริงๆ จะไปทางไหน ตอนนั้นเราก็เลยเลือกเรียนนิเทศ ทำหนัง ทำโฆษณา ช่วงปีนั้นมันนิยมมาก เด็กจบมาก็อยากเป็นผู้กำกับกัน เราชอบทำกองถ่ายนะ ตอนจบเลยหาทางไปทำหนังทำละคร
“เราอยากพิสูจน์ตัวเองว่าเราทำได้ เราหนีออกจากบ้านเลย ต้องหาเงินเลี้ยงชีพได้ เลยตะลุยทำหนังไป ปรากฏว่าสู้เค้าไม่ได้ วงการมันไม่ได้เปิดโอกาสมากเหมือนสมัยนี้ เลยกลับบ้าน วันหนึ่งมีโทรศัพท์มาจากรุ่นพี่โทรมาชวนไปทำโลเมเนเจอร์ที่บริษัทโฆษณาที่หนึ่ง เราไม่รู้ว่าหน้าที่ของมันจริงๆ คืออะไร แต่ก็ไปลองทำดู”

เล่าเรื่องตอนหาโลแรกในชีวิตให้ฟังหน่อย
“โลเรื่องแรกคือการหาบ้านหลุยส์ๆ เราไม่เคยทำ มันหายาก ไม่มีข้อมูลให้ค้นคว้าว่าบ้านแบบนี้อยู่ที่ไหน ตอนนั้นโดนหัวหน้าปล่อยโยนลงน้ำเลย ตู้มมม! ไปหาบ้านหลุยส์มาถ่ายโฆษณาให้ได้นะ เราไม่รู้หาจากไหนเลย เพราะไม่เคยทำ แต่สุดท้ายก็หาจนเจอ
“สมัยก่อนเราถ่ายฟิล์ม ออกไปหาโลที่ใช้ฟิล์มได้ 1 ม้วน ต้องบริหารให้ได้ว่าจะถ่ายอะไรบ้างใน 36 รูป มันไม่ง่ายเหมือนสมัยนี้ที่ถ่ายแล้วสร้างอัลบั้มในไลน์ได้เลย แต่วิธีการทำงานรวมๆ ก็เหมือนเดิมนะ ต้องออกไปพบปะ พูดคุย ติดต่อประสานงานกับคนเหมือนเดิม”
โลเคชันเมเนเจอร์ ต้องเป็นคนยังไง
“ต้องเป็นคนชอบยุ่งเรื่องชาวบ้าน ช่างสังเกต ว่ามันมีอะไรอยู่มั้ย ตรงนี้คืออะไร ต้องคอยอัปเดต data ตัวเองอยู่ตลอดเวลา พอเราทำมานานเราก็จะมีคลังของเรา อยากได้บ้านแบบไหนเรามีให้คุณไปเลย 20 หลัง เราจะรู้เองโดยอัตโนมัติ ว่าบ้านหลังไหนถ่ายหนังได้ หลังไหนถ่ายไม่ได้ คนทำโลมันก็จะมีสายตาแบบนี้อยู่เหมือนกัน
“ถามว่าต้องถ่ายรูปสวยมั้ย ก็ไม่จำเป็น แค่ต้องถ่ายให้มันรู้เรื่อง เราเป็นคนแรกที่เห็นโล เราต้องถ่ายรูปไปเล่าให้ผู้กำกับฟังให้ได้ งานโลมันคือ งาน made-to-order เลยแหละ ต้องตีโจทย์ให้แตก”
ความยากของการเป็นโลเคชันเมเนเจอร์
“ความยากที่สุดของการหาโลคือ การแปลง ‘นามธรรม’ ให้เป็น ‘รูปธรรม’
“การหาโลเคชันเราต้องอ่านบท ยกตัวอย่างเช่นในเรื่อง ‘บ้านเช่าบูชายัญ’ บทมันคือ พระเอกกับนางเอกนอนอยู่คนละห้อง พระเอกนอนห้องรับแขก นางเอกนอนกับลูกในห้องนอน มันเขียนมางี้เพราะพระเอกต้องออกไปทำอะไรบางอย่าง แล้วกลับมาโดยที่นางเอกไม่รู้ แล้วต้องกลับเอาของมาซ่อนในห้องน้ำ
“แสดงว่าเราต้องหาละ ถ้าพระเอกนอนห้องรับแขก นางเอกนอนห้องนอน แสดงว่าเป็นคอนโดยุคเก่า ห้องใหญ่ เนี่ยเราต้องแปลงสารละ ต้องแปลงจากบทออกมาเป็นโลเคชัน คำถามที่ตามมาบ่อยๆ คือ ‘แล้วกูจะไปหาอะไรวะ?’ แต่เราก็ต้องทำการบ้าน ละหามันให้ได้”
เจอเรื่องตื่นเต้นๆ ตอนไปหาโลบ้างไหม
“เอาที่ตื่นเต้นที่สุดเลยนะ สักสิบปีที่แล้ว ได้โจทย์งานโฆษณาว่าให้หาบ้านโมเดิร์นที่หลังใหม่ๆ หน่อย ที่ต่างจากพวกโฆษณานมเด็กที่ผู้กำกับเขาทำบ่อยๆ เราเลยถามเพื่อนเราชื่อต่ายเป็นผู้ช่วยผู้กำกับ จริงๆ เราไม่ควรไปถามเค้าแต่ก็ลองถามดู เพื่อนบอกมี เราก็เลยขับรถไปดูเลยวันรุ่งขึ้น
“พอไปถึงเจอซอยไม่ลึกมาก ซอยบ้านคนรวย บ้านหลังใหญ่กำแพงสูง เลยเปิดกระจกถามวินมอไซค์ ว่าหลังไหนที่เค้ามาถ่ายหนังกัน พี่วินดันบอกหลังนี้ไงที่ฆ่ากันตาย!
“ตอนนั้นโคตรตื่นเต้น เรากำลังจะเข้าบ้านที่มีคนยิงกันตาย แต่มันต้องเข้าไปถ่ายรูป มันก็น่ากลัวแต่ก็ผ่านมาได้นะ เวลาไปทีหนึ่งต้องได้รูปครบทุกห้องอะ ตอนเดินสำรวจเรื่องในข่าวมันก็อยู่ในหัว ยิงกันห้องนี้ ไปยิงต่อห้องนั้น น่ากลัวแต่เราก็ผ่านมันมาได้”
หนังเรื่องไหนที่สนุกกับการหาโลที่สุด
“เรื่อง Die Tomorrow ของ เต๋อ นวพล นี่เปลี่ยนชีวิตเราไปเหมือนกันนะ คอนเซ็ปต์หนังมันคือเราจะตายพรุ่งนี้ก็ได้ จำได้ว่าในเรื่องมันจะมีคอนโดที่วิโอเล็ตไปเล่น เราไปดูโลกันแถวทาวน์อินทาวน์ คอนโดยุคเก่า เต๋อมันชอบอะไรเก่าๆ ไปดูกัน 7-8 คน พอดูโลเสร็จลงลิฟต์มาแล้วมันดันค้าง ตึ้ง! ตอนแรกขำกัน เฮ้ย! Die Tomorrow ว่ะ แต่มันค้างนานมากเป็นครึ่งชั่วโมง เราโทรหาเมียเลย กลัวตายโคตรๆ จะได้เจอหน้าลูกอีกมั้ย จนในที่สุดก็มีคนมาเปิด มันตลกปนเศร้าดีอ่ะ
“บ้านเช่าบูชายัญก็สนุก หาโลหนังผีอะมันยาก เจ้าของบ้านที่ไหนจะอยากให้เราไปถ่ายหนังผีในบ้านเค้า โรงพยาบาลงี้ใครจะชอบ แต่เราต้องเอามาให้ได้ เราก็ต้องเล่าเรื่องให้เจ้าของฟัง สิ่งที่จะเกิดขึ้นในบ้านเค้าคืออะไร แล้วปล่อยให้เค้าตัดสินใจเอง แล้วก็ดูแลบ้านเค้าดีๆ”
โลไหนที่บังเอิญเจอด้วยดวงล้วนๆ
“บ้านเช่าบูชายัญ ซีนที่คนขับรถพานางเอกไปฆ่า ผู้กำกับเค้าอยากตั้งกล้องอีกฝั่งของถนน แล้วก็มีรถวิ่งมาอีกฝั่ง แต่ข้างหลังต้องโล่ง ไม่มีไฟ ในบทพูดอยู่แค่นี้ ขับรถจนหลง ขับรถจนท้อ จนไปจ๊ะเอ๋กับเฟรมนี้พอดี ได้แค่ในเฟรมเลย ซ้ายขวาไม่ได้เลย”
แนะนำหนังเรื่องที่โลเคชันดีสุดๆ ต้องไปดู
“โอปปาติกะ เป็นหนังที่บันทึกโลเคชันกรุงเทพไว้ได้ดีมากที่สุด กับ รักแห่งสยาม ที่บันทึกสยามสแควร์ไว้ หนังมันจะบันทึกสถานที่ต่างๆ ไว้ได้ตลอดไป”
วันว่างของโลเคชันเมเนเจอร์
“วันว่างคือนอน แต่คิดอีกที เราไม่มีวันว่างว่ะ ไปเจออะไรเราก็จะถ่ายรูปเก็บไว้ละค่อยกลับมาดู ถ้าว่างจริงๆ มันก็จะเหงาๆ แต่เราก็จะช่างสังเกตตลอด ขึ้นรถไฟฟ้าก็ต้องสังเกต เอ๊ะ ทำไมมีบ้านตรงนี้ ทำไมมีอะพาร์ตเมนต์เก่าตรงสาทรวะ ละว่างๆ เราก็จะขับรถมาดู
“ตอนนี้รูปในมือถือเรามี 100,000 กว่ารูป ต้องซื้อมือถือแบบ 2 เทเลไบต์ เพราะเราไปถ่ายทีเราก็ต้องไปถ่ายให้หมด เดินถ่ายทุกอย่าง เดินเหมือนเป็นโจร เพราะวันนึงมันได้ใช้จริงๆ”

อะไรคือบทเรียนที่ได้จากการเป็นโลเคชันเมเนเจอร์
“เราพลาดได้เสมอ ไม่ว่าเราจะทำงานมานานแค่ไหน คนอื่นจะคิดว่าเราเก่งแค่ไหน เราพลาดกับงานได้เสมอเลย มันอยู่ที่ว่าเราจะยอมรับมันได้มากน้อยแค่ไหน แล้วเราจะทำยังไงกับมันต่อ
“ไม่เป็นไรพี่ คนทำงานมันพลาดกันได้ เริ่มใหม่ เอาใหม่นะ คำนี้น้องฝึกงานอายุ 25 เป็นคนพูดกับเรา เราทำงานกับเค้าแล้วเราพลาด น้องให้กำลังใจเรา เราเลยรู้สึกว่า เราก็พลาดได้นี่หว่า ยิ่งแก่ ยิ่งอายุเยอะ ยิ่งต้องยอมรับตัวเองให้มากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องยากนะ คนเรามันพลาดได้
“การทำหนังมันให้บทเรียนเราทุกเรื่อง เรื่องนี้พลาดตรงนี้ เรื่องนั้นเราน่าจะฮึบนะ”
โลเคชันในไทย ทำไมกองถ่ายทั่วโลกต้องอยากมาถ่ายที่นี่
“อาจเพราะบ้านเราไม่แพง และคนไทยเก่ง มีความสามารถ และมีโลที่สามารถดัดแปลงเป็นประเทศอะไรก็ได้ที่ค่อนข้างติดเหลือง มันถ่ายทำสะดวกด้วย จริงๆ โลบ้านเรามันสวยมากนะ แต่ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องติดเหลือง
“อะไรที่ใช้เงินต่างชาติมาถ่ายในไทย ต้องผ่านฟิล์มบอร์ดขึ้นอยู่กับกระทรวงวัฒนธรรม ดังนั้นทุกอย่างที่มาถ่ายทำบ้านเราด้วยงบต่างชาติ มันผ่านการกรองโดยคนในประเทศมาแล้วหลายชั้นก่อนฉาย
“ล่าสุดมีหนังจีนที่มาถ่ายที่ไทยแล้วทำให้คนจีนไม่กล้ามาเมืองไทย เพราะกลัวไตหาย มันผ่านฟิล์มบอร์ดไปแล้ว ถามว่ามาตรฐานการพิจารณาอยู่ตรงไหน ไม่มีใครรู้
“อย่างของ Apple OOO ที่ถูกถอดออกไป โปรดักชันส์ขนาดนั้นมันไม่มีทางพลาดกับเรื่องแค่นี้แน่นอน มันแค่เป็นมุมมองของเขา เห็นเราเป็นโลกที่สาม เลยย้อมเหลืองไง”
เมืองไทยดูมีทางจะเป็น Hub Location of the World ได้ไหม
“มีแน่นอน แต่อาชีพเราเองลำพังทำกันเองไม่ได้ มันต้องมาจากรัฐบาล ต้องคิดภาพใหญ่ก่อนว่าเราจะเป็น hub ถ่ายหนังจริงๆ แล้วลงมาดูว่ามีอะไรบ้าง เริ่มจากกรุงเทพฯ ว่ามีอะไรบ้าง โซนไหน โลเคชันไหนที่ถ่ายได้บ้าง แล้วค่อยเชิญต่างชาติมาเจอผู้ผลิตชาวไทย โดยเอาโลเคชันเป็นตัวนำ เงินมันจะเข้ามาขนาดไหน มันต้องเริ่มจากแนวคิดของรัฐบาล
“เราอยู่กับมันมา 20 กว่าปี เรารู้ว่าวงการนี้ยังไม่แข็งแรง ถ้าจะทำมันต้องเริ่มตั้งแต่รากฐานของมัน ตอนนี้เราผลิตบุคลากรเข้ามาในวงการที่มันไม่แข็งแรง
“ในมหาลัยสอนแค่ว่าเราเรียนฟิล์ม จบไปจะไปเป็นตากล้องนะ เป็นผู้กำกับนะ แล้ว เสื้อผ้า โลเคชัน รีพอร์ตล่ะ ตำแหน่งพวกนี้คือตำแหน่งที่เป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนกองถ่ายไปด้วยกัน ต้องสอนพวกเค้าเรื่องตำแหน่งพวกนี้ด้วย แต่บางมหาลัยก็เริ่มแล้ว เรามีน้องๆ มาฝึกงานกับเราด้วย 4 คน ซึ่งน้องๆ เจอตัวเองเร็วมาก เค้าบอกว่าไม่อยากเป็นโลเคชัน ซึ่งเราว่ามันดีมากๆ เลยนะ การฝึกงานมันทำให้เราเจอตัวเองเร็ว แต่จริงๆ มันควรเจอเร็วกว่านี้อีก มหาลัยควรสอนให้เค้ารู้ว่ากองถ่ายมันหลากหลาย มีอีกหลายตำแหน่ง ต้องสอนเค้าเรื่องการใช้ชีวิตในกองถ่ายด้วย
“เราอยากผลักดันเรื่องพวกนี้มากๆ เลยนะ”
ฝากอะไรถึงน้องใหม่ในกอง
“อย่าไปคิดว่าโลกนี้ขาดเราไม่ได้ ตอนเด็กๆ เราคิดว่าออกกองกูต้องไม่นอน เที่ยงคืนแล้วกูตาแข็งเลยดีกว่า ออกกองตีสี่ เก้าโมงโดนแดดก็สลบแล้ว คนงานกองถ่ายมันทำน้อยได้มาก ไม่ได้ทำงานประจำทุกวัน รับเป็นจ๊อบ แต่ต้องแบกรับงานหนักไม่ได้หลับไม่ได้นอน”

เพจ Theplocation มาได้ยังไง
“10 ปีที่แล้ว เราคิดว่าอยากทำเพจเอาไว้เล่าเรื่องโลเคชัน วันหนึ่งเราพาลูกไปกินที่ร้านเค้กเก่าๆ ตรงราชดำเนิน ละเราก็โพสต์ลงเพจว่า ปิดเทอมพาลูกมากิน เจ้าของร้านโคตรติสท์ จอดรถยาก ร้านไม่ค่อยเปิด ทำน้อยแต่อร่อย แล้วรู้สึกว่าเขียนเล่าๆ แบบนี้ก็สนุกดี ไม่จำเป็นต้องเป็นคอนเทนต์เกี่ยวกับการหาโลเพื่อกองถ่าย แต่เป็นเรื่องราวสถานที่ที่ไหนก็ได้
“โพสต์ที่เรารู้สึกว่ามันเชื่อมเรากับลูกเพจที่ไม่ใช่คนทำงานกองถ่าย คือพวกโรงเรียน มหาลัย ที่เคยมีศิษย์เก่า หรือโลเคชันผีๆ ก็จะได้รับความนิยม คนจะมาคอมเมนต์กัน
“เราทำเพจโดยไม่ต้องบอกลูกเพจทุกเรื่อง ไม่ต้องรู้ทุกอย่าง ไม่ต้องเก่งอยู่คนเดียว เราเปิดพื้นที่ให้เค้ามาคอมเมนต์เพื่อถามตอบกัน”
มีลูกเพจช่วยหาโลเคชันบ้างไหม
“โลไหนที่เราอยากขอความช่วยเหลือ เราก็ขอเลย ลูกเพจเราหลากหลายอาชีพมากๆ อย่างคอนโดในบ้านเช่าบูชายัญ ก็ได้จากลูกเพจที่เป็นนิติคอนโดนั้น”
ทิศทางในอนาคตของ Theplocation
“น่าจะขยับขยายให้มันเข้าถึงง่ายขึ้นนะ เราอยากให้มันเป็นรายการ เป็นหนัง เป็นซีรีส์ที่เอาโลเคชันเป็นตัวนำ แต่ก็ยังคิดอยู่ว่าจะทำยังไงได้บ้าง เราอยากสร้างแบรนด์ Theplocation ให้คนรู้จักมากขึ้น ลูกเรารู้ว่าเราทำอาชีพอะไร เพื่อนเรารู้ว่าเราทำอาชีพอะไร ใครเจอโลสวยๆ ก็มักจะคิดถึงเรา
“เราอยากทำอะไรที่มีประโยชน์ ให้มันคุ้มค่ากับชีวิต ไม่อยากปล่อยเวลาให้เสียไปโดยเปล่าประโยชน์ เรามีไปช่วยงานกทม.บ้าง โปรเจ็กต์ One Stop Service กรุงเทพฯ มีสมบัติพัสถานเยอะมากๆ โรงเรียน ศูนย์กีฬา ห้องสมุด สวนสาธารณะ โลเคชันพวกนี้มันทำรายได้ให้กรุงเทพฯ ได้
“เราก็อยากผลักดันเรื่องแรงงานกองถ่ายแบบจริงจัง อยากทำให้มันเกิดขึ้นได้จริง บางทีมันต้องมีตำแหน่งทางการเมืองถึงจะขับเคลื่อนได้ เรื่องกองถ่ายยังไม่เคยเห็นมีคนทำจริงจัง คนกองถ่ายมันไม่มีวันหายไป มีแต่จะมีคนใหม่เข้ามา มูลนิธิคนกองถ่ายอะไรแบบนี้ เป็นคอมมูนิตี้ที่คอยดูแลกัน เรื่องสวัสดิภาพและสิทธิประโยชน์ เราจะได้ช่วยๆ กันได้
“อีกอย่างคือเราเปิดตลาดนัดคนกองถ่าย เราเป็นแอดมินเพจใน facebook ที่ตั้งขึ้นมาช่วงโควิด พอคนไม่มีงานเราก็เลยเปิดตลาดนัดให้คนมาขายของกัน แต่ไม่ใช่แค่ซื้อขายอย่างเดียว เราอยากให้คนกองถ่ายมีอาชีพที่สอง งานกองถ่ายควรมีอาชีพสำรองไว้ด้วย
“เราอยากทำอะไรให้วงการกองถ่ายมากกว่านี้”
อะไรที่ทำให้เรายังทำโลเคชันต่อ
“สิ่งที่ไดรฟ์ชีวิตเราเลยคือลูก อีกอย่างคืองานโลเคชันเมเนเจอร์นี่แหละ เราว่าสำหรับเรามันคือการทำสิ่งที่มีเป็นประโยชน์ต่อวงการที่เราอยู่ ทำงานให้เต็มที่ เราอยู่กับมันมาครึ่งชีวิต เราควรตอบแทนวงการบ้าง ถ้าทำอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อรุ่นน้องได้เราก็จะทำ เราอยากให้วงการนี้มันแข็งแรงจริงๆ
“เวลาเราไปข้างนอกแล้วมีคนมาทัก ลูกเราตื่นเต้น ภูมิใจที่เราเป็นโลเคชันเมเนเจอร์ เค้าไปคุยกับเพื่อนว่าพ่อเค้าไปทำนู่นนี่นะ แค่นั้นก็คือชีวิตเรามีความหมายแล้วล่ะ”
ตามไปหาโลเคชันลับๆ ได้เลยที่เพจ Theplocation