Identity

รองเท้าส้นสูงสีแดงที่เคยใฝ่ฝัน: เส้นทางความสำเร็จของ 'พุ่มพวง ดวงจันทร์' จากผึ้งตัวน้อยสู่ Queen Bee แห่งวงการลูกทุ่ง

“จากดินปนทราย ชีวิตสาวชาวไร่อ้อย จากเด็กหญิง ตัวน้อยๆ พี่น้องร่วมท้องสิบคน…กว่าจะเป็นดาว ชีวิตสาวต้องสู้ เมื่อดิ้นรน คนไหนรู้ มองเห็นเลิศหรูทั่วกัน”

บทเพลงสะท้อนชีวิตสมญานาม ราชินีลูกทุ่ง “แม่ผึ้ง พุ่มพวง ดวงจันทร์” แม้จะไม่คุ้นหูมากนัก แต่เป็นเพลงที่พุ่มพวงร้องครั้งใด จำต้องร่ำไห้ได้ทุกเมื่อ

พุ่มพวง ดวงจันทร์ หรือชื่อจริง ‘ผึ้ง-รำพึง จิตหาญ’ เด็กหญิงตัวเล็กๆ ที่เติบโตมาในครอบครัวใหญ่ ในจังหวัดสุพรรณบุรี เธอเป็นลูกคนที่ 5 จากพี่น้อง 12 คน ด้วยความแร้นแค้นของครอบครัว ทำให้เธอจำเป็นต้องลาออกจากโรงเรียน มาช่วยพ่อแม่ตัดอ้อย และร้องเพลงตามงาน เพื่อที่จะแลกเงินไปซื้อไข่เพียงไม่กี่ฟอง ให้ครอบครัวได้มีกิน

สาวสุพรรณบุรีที่หอบทั้งความสามารถ และความฝัน ฝันที่จะมี ‘รองเท้าส้นสูงสีแดง’ 

จากสองฝ่าเท้ากับรองเท้าซอมซ่อที่เหยียบย่ำบนผืนดินที่เต็มไปด้วยเปลือกอ้อย การเดินทางของผึ้งน้อยที่มีฤทธิ์เพียงน้อยนิด จนถึงวันที่ ‘นำ้ผึ้ง ณ ไร่อ้อย’ ที่เร่ขายเสียง จนกลายเป็นตำนาน ‘พุ่มพวง ดวงจันทร์’ ต้องฝ่าฟันอุปสรรคของชีวิต เพื่อที่จะเป็นราชินีผึ้ง นักร้องลูกทุ่งหญิงแถวหน้าตลอดกาล

พี่จ๋าพี่ สัญญาปีนี้ แล้วไม่มาแต่ง ค่าสินสอดก็ไม่แพง หรือพี่แกล้งให้แก้วรอเรื่อยไป

แม้จะยังเป็นแค่สาวแรกรุ่น ก็ถูกประเดิมเพลงแรกในชีวิตเธอให้เป็นสาวบ้านนาอกหัก ในบทเพลง “แก้วรอพี่” ซึ่งแต่งโดยไวพจน์ เพชรสุพรรณ ศิลปินลูกทุ่งและครูเพลง ผู้ที่รับพุ่มพวงมาเป็นลูกบุญธรรม แต่กว่าจะมีเพลงนี้ได้ พุ่มพวงต้องใช้เวลาหลายปีกับการเป็นหางเครื่องในวงไวพจน์

“ตอนนั้นพ่อแม่เขาเอามาฝาก หนูผึ้งตัวดำปี๋ ตอนนั้นพ่อก็ถามเขาว่า หนูถนัดร้องเพลงอะไร เขาก็ร้อง เสียงรถด่วนขบวนสุดท้าย... ครูเพลง นักดนตรีในวงได้ยิน ก็หันมามองเป็นตาเดียว” ไวพจน์เล่าถึงครั้งแรกที่ได้เจอกับพุ่มพวง

ด้วยความสามารถในการร้องเพลงที่ทำให้ทุกคนต้องหยุดชะงัก เมื่อได้ยินเสียงพุ่มพวง เธอเริ่มต้นเข้าวงไวพจน์ด้วยการร้องเพลง ‘ด่วนพิศวาส’ ของผ่องศรี วรนุช จากการเว้าวอนของพ่อ แต่เมื่อเข้ามาอยู่ในวงแล้ว พุ่มพวงก็ไม่ได้เป็นนักร้องทันที ด้วยวัยและประสบการณ์ในช่วงเวลานั้น ทำให้เธอได้เป็นเพียงหางเครื่องตัวน้อย ประจำทีมหางเครื่องรุ่นเล็กเท่านั้น

ระหว่างที่อยู่วงดนตรีของไวพจน์ พุ่มพวงได้มีโอกาสลองร้องเพลงหน้าเวทีครั้งแรก ที่ตลาดลำนารายณ์ อำเภอไชยบาดาล จังหวัดลพบุรี ต่อมาไวพจน์จึงแต่งเพลง “แก้วรอพี่” ให้พุ่มพวงร้องบันทึกเสียงเป็นครั้งแรก โดยใช้ชื่อว่า “น้ำผึ้ง เมืองสุพรรณ” น้ำผึ้งในวัยสิบปลายๆ ที่เรียนถึงแค่ชั้นป.2 ไม่สามารถอ่านและเขียนหนังสือได้ จำเป็นต้องให้ไวพจน์คอยร้องนำ และให้เธอร้องตามทีละท่อน แม้ความจนจะเล่นตลกที่พรากการศึกษาไปจากพุ่มพวง ในทางกลับกันก็ถูกแลกด้วยความสามารถในการจำที่ดีเลิศ

รูปภาพจากเพจพุ่มพวง ดวงจันทร์

ไม่เด่น ไม่ดัง จะไม่หันหลังกลับไป

ไม่นานพุ่มพวงก็ได้ลาออกจากวงไวพจน์ และมีโอกาสพบกับอีกหนึ่งครูเพลงที่สำคัญต่อชีวิตศิลปินของเธอเป็นอย่างมาก นั่นก็คือ ครูมนต์ เมืองเหนือ ผู้ที่จะเปลี่ยนชีวิตเธอไปตลอดกาล โดยครูมนต์รับเธอเป็นศิษย์ และเปลี่ยนชื่อให้ใหม่ จากน้ำผึ้ง เมืองสุพรรณ เป็นพุ่มพวง ดวงจันทร์ ที่มาของชื่อพุ่มพวงนั้น ครูมนต์กล่าวว่า

“อาทิตย์ที่แล้ว ข้าขึ้นเหนือมา ไล่แจกแผ่นมันไปทั่วกระทั่งถึงสระบุรี ข้าแวะไหว้พระที่วัดริมแม่น้ำป่าสักชื่อวัดทองพุ่มพวง รู้ไหมทันทีที่เห็นชื่อวัดข้าคิดถึงเอ็งมาก แล้ววันนี้เอ็งก็นำพานพุ่มมากราบข้า งั้นเอ็งชื่อ ‘พุ่มพวง’ ดีไหม” 
“โน่นเอ็งดูบนฟ้าสิ คืนนี้เพ็ญ 15 ค่ำ ดวงจันทร์ทรงกลดสวย แต่ไม่สว่าง เอ็งรู้ไหมทำไมมันถึงไม่สว่าง เพราะมันอยู่ในเมือง มันมีแสงอื่นมาแข่งประชันด้วย แต่ถ้าไปอยู่บ้านนอกเอ็งเอ๋ย พระจันทร์ดวงนี้แหละจะสว่างไสว เหมือนกับนักร้องลูกทุ่งนั่นแหละ มันต้องอยู่บ้านนอก”

พุ่มพวงได้ตั้งวงดนตรี ภายใต้การสนับสนุนของอดีตสามีอย่างธีรพล แสนสุข, ครูมนต์ เมืองเหนือ และคารม คมคาย นักจัดรายการวิทยุ แต่กิจการวงดนตรีไม่ประสบความสำเร็จ และต้องเลิกไปในที่สุด แต่เธอก็ไม่ยอมแพ้ และตั้งวงดนตรีอีกครั้งแต่ก็ขาดทุนจนต้องปิดกิจการ 

หลังจากยุบวงดนตรีไป พุ่มพวงได้เข้าสังกัดบริษัทเสกสรรเทป-แผ่นเสียง ผลงานของพุ่มพวง ดวงจันทร์เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น ในเวลาต่อมาหลังจากได้รับการสนับสนุนจากประจวบ จำปาทอง พิธีกรรายการวิทยุ และนายห้างทุนหนา พร้อมกับปรีชา อัศวฤกษ์นันท์ เจ้าของบริษัทแผ่นเสียง ให้ตั้งวงร่วมกับเสรี รุ่งสว่าง ในชื่อวง เสรี-พุ่มพวง 

พุ่มพวงทั้งเด่นทั้งดังสุดขีดเมื่อย้ายเข้าสังกัดอริโซนา โปรโมชั่น ทำให้พุ่มพวงเป็นที่รู้จักมากขึ้นอีก จากทั้งเพลงจะให้รอ พ.ศ. ไหน, ดาวเรืองดาวโรย, สาวนาสั่งแฟน หรือนัดพบหน้าอำเภอ

โสดใช่ไหมอยากทราบ งาบเสียดีไหมเรา วงแขนกล้ามเป็นมัด มัด อุ้ยน่าจะกัดแขนเล่นเบา เบา

หลังจากที่วงการเพลงลูกทุ่งถือว่าซบเซาจากการเข้ามาเป็นที่นิยมของแนวเพลงที่เรียกว่า 'เพลงสตริง' ที่ช่วงชิงกระแสเพลงลูกทุ่งในช่วงกลางปี 1970 แต่ในเวลาเพียงไม่นาน เพลงลูกทุ่งก็สามารถปรับตัวให้เข้ากับกระแสความนิยมใหม่ได้ โดยมี พุ่มพวง ดวงจันทร์ เป็นผู้สร้างปรากฏการณ์ นับว่าเป็นหมุดหมายอันดีของประวัติศาสตร์เพลงลูกทุ่ง 

‘อื้อฮือ…หล่อจัง’ (1985) อัลบั้มที่ทำให้พุ่มพวงโด่งดังเป็นพลุแตกจากการประพันธ์โดยครูลพ บุรีรัตน์ ทั้งกระแซะเข้ามาสิ, อื้อฮือ…หล่อจัง, สาวนาสั่งแฟน, นัดพบหน้าอำเภอ, ห่างหน่อยถอยนิด ด้วยจังหวะเพลงเร็ว ผสมดนตรีสตริง บวกกับเนื้อหาเพลงที่มีความขี้เล่น และพูดถึงเรื่องเซ็กซ์อย่างโจ่งแจ้ง 

โดยเพลง 'อื้อฮือ...หล่อจัง' นั้น มีการนำทำนองและดนตรีมาจากเพลง Talking in Your Sleep (1983) ของวง The Romantics มาดัดแปลง พุ่มพวงได้เปลี่ยนวิธีการร้องใหม่ มีตัดการเอื้อนและการใช้ลูกคอออก เพื่อให้เข้ากับจังหวะของเพลงที่เร่งเร้า ครูลพถึงกับต้องกำชับว่า “อย่าร้องเพราะ อันนี้ร้องเพราะเกินไป ให้ร้องแบบแรด ด้วยสำเนียงแรด” เพื่อให้เข้าถึงอารมณ์เพลงมากขึ้นในการขึ้นแสดงบนเวทีเธอก็จะต้องร้องและเต้นไปพร้อมกัน เพื่อให้ผู้ชมมีอารมณ์ร่วมไปกับการแสดง 

จากความสำเร็จของอัลบั้มนี้ ได้ทำให้คนในวงการเพลงลูกทุ่งหันมาสร้างผลงานเพลงในแนวลูกทุ่งผสมสตริงมากขึ้น จนกลายเป็นกระแสหลักของเพลงลูกทุ่งในช่วงปลาย 1970-1980 

แม้ว่าหลายคนชอบอัลบั้มนี้ แต่ด้วยเนื้อหาของเพลงที่ขัดกับบริบทของสังคมสมัยนั้น ทั้งเรื่องเซ็กซ์ หรือการเข้าหาผู้ชายก่อน ต่างจากศิลปินลูกทุ่งหญิงอื่นๆ ในยุคที่ไล่เลี่ยกัน ส่วนมากภาพของผู้หญิงที่ปรากฏในเพลงลูกทุ่งในช่วงปลาย 1950-1970 นั้น โดยมากแล้วเป็นภาพของผู้หญิงภายใต้ขนบในสังคมที่ผู้ชายเป็นใหญ่ ผู้หญิงจะต้องรักนวล สงวนตัว กอดความเหงา และเป็นผู้ถูกกระทำอยู่เสมอ เช่น เพลงหม้ายขันหมาก ของขวัญจิต ศรีประจันต์, กอดหมอนนอนหนาว ของผ่องศรี วรนุช หรือแม้แต่แก้วรอพี่ ของพุ่มพวงเอง

จากบทสัมภาษณ์รายการสี่ทุ่มสแควร์ วิทวัส สุนทรวิเนตร์ พิธีกรชื่อดัง ได้ตั้งคำถามกับดนตรีแนวใหม่ของพุ่มพวงว่า

“เป็นคนแรกของวงการเพลงลูกทุ่ง ที่หันมาลองเพลงแนวเซ็กซี่ ที่ผู้หญิงจีบผู้ชาย เคยถูกวิจารณ์ไหมครับ ว่าอาจจะไม่เหมาะสมกับขนบประเพณีไทย”  
“ตอนแรกหนูเชื่ออย่างนั้น ว่าตัวหนูเองก็ไม่สมควรจะทำ แต่พอทำออกมาแล้วมันดัง แสดงว่าทุกคนชอบ ทุกคนเป็นเหมือนกัน” 

อย่างไรก็ตามแม้เพลงลูกทุ่งผสมสตริงจะได้รับความนิยมอย่างมาก แต่พุ่มพวงก็ไม่ได้ทิ้งฐานผู้ฟังเดิมที่ชื่นชอบเพลงช้าและลีลาการร้องแบบการเอื้อนและการใช้ลูกคอ เช่น นอนฟังเครื่องไฟ, อายแสงนีออน ที่อยู่ในอัลบั้มเดียวกัน หรือจูบแล้วลา และร้อยลิ้นชายในอัลบั้มต่อๆ มา

นอกจากนี้การนำเพลงลูกทุ่งเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ของพุ่มพวง ดวงจันทร์ ไม่ได้ง่ายไปสักทีเดียวนัก เนื่องจากมีการจัดงานเชิงอนุรักษ์เพลงลูกทุ่งเกิดขึ้นตลอดช่วงปี 1980 จนถึงปลายปี 1990 ที่ปฏิเสธความเปลี่ยนแปลงของเพลงลูกทุ่งในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งความสำเร็จของการจัดงานเชิงอนุรักษ์เพลงลูกทุ่งส่งผลกระทบต่อผลงานเพลงในช่วง 3 ปีสุดท้ายของพุ่มพวงเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังทำให้พัฒนาการของเพลงลูกทุ่งที่กำลังเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคที่เพลงลูกทุ่งผสมสตริงได้ขึ้นมาเป็นกระแสหลักของวงการเพลงลูกทุ่ง เกิดภาวะชะงักงันเป็นเวลากว่า 1 ทศวรรษ

โอ้โห นี่หรือบางกอก ผิดกับบ้านนอกตั้งหลายศอก หลายวา

นับเป็นปรากฎการณ์ที่นักร้องลูกทุ่งอย่างพุ่มพวง ดวงจันทร์ ทำให้ช่องว่างระหว่างเพลงของคนเมือง และคนชนบทได้เข้ามาใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้น โดยการขึ้นเวทีใหญ่ร้องเพลงที่โรงแรมดุสิตธานีในชุดการแสดงชื่อ ดนตรีการกุศล 'พุ่มพวง ดวงจันทร์ อิน คอนเสิร์ต' เมื่อวันที่ 18 มกราคม 1986 จากความร่วมมือของ ไกรสร แสงอนันต์ ผู้เป็นสามี ที่ช่วยเป็นธุระในการติดต่อประสานงานกับพันเอกหญิงอัสนีย์ เสาวภาพ (ยศในขณะนั้น) นายกสมาคมภริยาแพทย์ เพื่อให้วงดนตรีของพุ่มพวงได้ไปทำการแสดง ซึ่งในสมัยนั้นเวทีโรงแรมดุสิตธานีเป็นเวทีที่มักจะจัดคอนเสิร์ตเพื่อให้เหล่าชนชั้นสูงมาดูกัน โดยครั้งนี้ได้แสดงหน้าพระที่นั่งพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรชายา และพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา (พระอิสริยยศในขณะนั้น) ได้เสด็จทอดพระเนตรการแสดงดนตรีครั้งนี้ด้วย 

อีกหนึ่งเหตุการณ์เป็นที่น่าจดจำของแฟนเพลงทั่วประเทศเกี่ยวกับการเเสดงในชุดนี้คือ เครื่องเเต่งกายชุดลายเสือดาว ที่เรียกได้ว่าเป็น Signature Look ของพุ่มพวงต่อมาอีกด้วย

รูปภาพจากเพจพุ่มพวง ดวงจันทร์

ในปี 1989 และ 1991 พุ่มพวงได้มีโอกาสเข้าร่วมแสดงในงานกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย เป็นงานที่จัดภายใต้ความร่วมมือของสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ (ภายหลังได้รับการจัดตั้งเป็นกระทรวงวัฒนธรรม) มีจุดประสงค์เพื่อเป็นการรื้อฟื้นความเป็นลูกทุ่งให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง และเป็นการประกาศเกียรติคุณให้กับนักร้องผู้มีผลงานเพลงที่โดดเด่นและได้รับความนิยม ตลอดจนผู้ประพันธ์ทำนองและคำร้อง งานนี้ถูกจัดขึ้น 2 ครั้ง ครั้งแรกงานได้มีการคัดเลือกเพลงลูกทุ่งดีเด่น 50 บทเพลง เพลงสาวนาสั่งแฟน คือหนึ่งในนั้น และในครั้งที่สองเพลงของพุ่มพวงที่ถูกคัดเลือกคือ สยามเมืองยิ้ม ทั้งยังได้มีโอกาสร้องเพลงส้มตำ บทเพลงพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (พระอิสริยยศในขณะนั้น) อีกด้วย

กลายเป็นว่าวงการเพลงลูกทุ่งไม่ได้ถูกจำกัดไว้ฟังเฉพาะกลุ่มคนในพื้นที่ชนบท เปิดวิทยุฟังตามท้องไร่ท้องนาอีกต่อไป แต่ได้แทรกแซงเข้าถึงคนเมืองที่เคยมีรสนิยมการฟังเพลงที่แตกต่าง กันมาก่อน 

ถ้าพี่ไปดู ให้หนูไปด้วย หนูจะใส่ส้นสูงนุ่งทรงสุ่ม เดินแถวแถวสวนลุม ละให้ไอ้หนุ่มงงงวย

นอกจากเนื้อหาของเพลงและแนวดนตรีของพุ่มพวงที่มีการปรับเปลี่ยน เสื้อผ้า หน้า ผม ทุกครั้งที่ขึ้นโชว์​ก็สวยสง่า สมกับเป็นราชินีผึ้ง พุ่มพวงถูกปรับภาพลักษณ์ให้ทันสมัย มีระดับ มีรสนิยม และเป็นที่ยอมรับในสังคมชั้นสูง ต่างจากศิลปินลูกทุ่งสมัยก่อนที่มักใส่เสื้อผ้าสีฉูดฉาด และปักเลื่อมลาย โดยไ้ด้รับคำแนะนำจากไกรสรที่คอยจัดหานิตยสารแฟชั่น วีดิโอการแสดงคอนเสิร์ต พุ่มพวงลงทุนกับเครื่องกายเป็นอย่างมาก โดยแต่ละชุดที่เธอสั่งตัดมีตั้งแต่ราคาหลักหมื่นจนถึงหลักแสน 

พุ่มพวงมักติดต่อกับคนตัดเย็บเสื้อผ้าด้วยตัวเอง ด้วยการบอกดีไซน์ เนื้อผ้า และการเลือกแมตช์สีที่ต้องการ หรือบางครั้งก็มีการสเกตช์ดีไซน์ด้วยตนเองไปเลย 

ทั้งนี้ไกรสรยังได้พยายามหาช่องทางที่จะทำให้พุ่มพวงได้มีโอกาสไปทำการแสดงในที่ที่วงดนตรีลูกทุ่งไม่เคยได้ไปมาก่อน โดยเริ่มจากการติดต่อบิ๊กเสือ หรือพลเอกพิจิตร กุลละวนิชย์ เพื่อไปแสดงในงานการกุศลที่สหรัฐอเมริกาในนามสมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย และไกรสรยังสนิทสนมกับเชาว์ บูรณสมบัติ หรือป๋าเชาว์ เจ้าของร้านอาหารเทพรส ในย่านฮอลลีวูด ซึ่งเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือทั้งในด้านการติดต่องาน ที่พัก และการเดินทางของพุ่มพวง ในการแสดงที่สหรัฐอเมริกา

เนื่องด้วยพุ่มพวงได้มีโอกาสแสดงคอนเสิร์ตที่ต่างประเทศอยู่บ่อยครั้ง เลยทำให้เธอได้มีโอกาสได้ชมโชว์ของต่างประเทศก่อน เธอใช้ความจำอันดีเลิศของเธอจดจำรายละเอียดของโชว์และชุดของแดนเซอร์จากอเมริกา และมาปรับใช้กับการแสดงของตน จึงทำให้เป็นที่ตื่นตาตื่นใจของแฟนๆ ในเมืองไทยที่ได้ชมการแสดงของเธอ และนั่นทำให้เสื้อผ้าของเธอโดดเด่นและไม่เหมือนใคร และแดนเซอร์ของเธอก็ราวกับว่าได้นางโชว์จากลาสเวกัสมาโชว์ด้วยตัวเอง นอกจากนี้พุ่มพวงยังได้มีโอกาสดู Like a Virgin Concert ของ Queen of Pop อย่าง Madonna ซึ่งเธอก็ได้รับอิทธิพลมามากพอสมควร

แม้ว่าพุ่มพวงมีการปรับภาพลักษณ์และรูปแบบของโชว์ให้ทันสมัย ก็ใช่ว่าแฟนเพลงทุกคนจะชอบ เพราะแฟนเพลงบางกลุ่มยังสไตล์เดิมๆ โชว์แบบเดิมที่เคยดู พุ่มพวงจึงเลือกสไตล์ลิ่งเสื้อผ้า และรูปแบบโชว์ ให้เหมาะกับกลุ่มแฟนคลับ และสถานที่ 

แฟนจ๋าไม่ต้องเป็นห่วง ถ้ารักพุ่มพวงแล้วจะสบาย

ถึงแม้พุ่มพวงจะจากไปแล้ว 30 กว่าปี จากโรค Systemic Lupus Erythematosus (SLE) หรือที่เรารู้จักกันว่า 'โรคพุ่มพวง' แต่บทเพลงของเธอยังคงตราตรึงใจแฟนคลับอยู่ไม่เสื่อมคลาย ไม่ว่าจะเป็นน้ำเสียง แนวดนตรี วิธีการร้อง หรือแม้แต่สไตล์การแต่งตัว และยังคงสร้างแรงบันดาลใจให้กับศิลปินรุ่นใหม่ทั้งในและนอกวงการดนตรีลูกทุ่ง เช่น ต่าย อรทัย, ลำไย ไหทองคำ, ปาน ธนพร, และแก้ม วิชญาณี

นักร้องรุ่นใหม่อย่าง Milli หรือ มินนี่ ดานุภา ก็เคยพูดถึงพุ่มพวงในรายการ 'สามแซ่บ' ว่า เมื่อเพลง 'พักก่อน' ของเธอกำลังจะถูกปล่อยออกมา เธอเคยตั้งจิตขอพรจากพุ่มพวงที่บ้าน เพื่อให้เพลงประสบความสำเร็จ และเธอจะเดินทางไปกราบไหว้พุ่มพวงด้วยความเคารพ นอกจากนี้ Milli ยังมองว่า บางบทเพลงของพุ่มพวงมีความทันสมัยอยู่เสมอ อย่างเช่นเพลง 'เงินน่ะมีไหม' ที่มีความเป็นฮิปฮอปในตัว

การที่ Milli ได้รับแรงบันดาลใจจากพุ่มพวง แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลและความสำคัญของพุ่มพวงในวงการเพลงไทย ไม่ว่าจะเป็นแนวเพลงลูกทุ่งหรือแนวเพลงอื่นๆ ทุกรายการประกวดเพลงลูกทุ่งยังคงใช้เพลงของเธอในการแข่งขัน เปรียบเสมือนครูเพลงคนหนึ่ง

ทุกปีเหล่าแฟนคลับยังคงแวะมาเยี่ยมเยียนพุ่มพวงอย่างไม่ขาดสายที่วัดทับกระดาน จังหวัดสุพรรณบุรี พุ่มพวงกลายเป็นที่เคารพของกลุ่มคนสายดนตรี ที่มักมาขอพรให้ประสบความสำเร็จในงานสายนี้ 

รูปภาพจากเพจพุ่มพวง ดวงจันทร์

จากความฝันถึงรองเท้าส้นสูงสีแดงของพุ่มพวงในวันนั้น ใช่เป็นเพียงแค่ความอยากได้ในสิ่งของ หากแต่คือความต้องการที่จะผ่านพ้นจากความยากจน และความแร้นแค้นของชีวิต เส้นทางชีวิตที่หนักหนา ทุกสิ่งล้วนแล้วทำให้เธอได้เติบโตและกลายมาเป็นราชินีลูกทุ่ง ผู้ที่มีเสียงร้องสัมผัสใจคนทั้งประเทศ การเดินทางของเธอไม่ได้เปลี่ยนแค่ชีวิตของตัวเอง แต่ยังคงทิ้งรอยเท้าไว้ในหน้าประวัติศาสตร์วงการเพลงลูกทุ่งไทย

พุ่มพวง ดวงจันทร์ยังคงเป็นดวงจันทร์ ในดวงใจของคนไทย เธอไม่ใช่แค่ "ราชินีผึ้ง" แห่งวงการดนตรี แต่ยังเป็นสัญลักษณ์ของความสำเร็จ และเป็นตัวแทนของผู้หญิงที่กล้าเดินตามฝัน แม้เส้นทางจะยากลำบากเพียงใดก็ตาม

อ้างอิง

ศิลปวัฒนธรรม

Vogue Thailand

Amarin TV

Isranews

รายการสามแซ่บ

รายการเจาะใจ

รายการจันทร์กะพริบ

พุ่มพวง ดวงจันทร์ กับการเปลี่ยน (ไม่) ผ่านของเพลงลูกทุ่ง (กลางทศวรรษ 2520 - กลางทศวรรษ 2540)

ปรกเกศ ใจสุวรรณ์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประเทศไทย

หนังสือดวงจันทร์ที่จากไป โดย บินหลา สันกาลาคีรี