Daily Pickup

จากความเกลียดชังสู่เทรนด์ Pick Me Girl ที่ทำให้ผู้หญิงแบ๊วต้องกลายเป็นสนามอารมณ์

บนแพลตฟอร์มสื่อวิดีโออย่างติ๊กต็อก ไม่ว่าอัลกอริทึมจะแนะนำคลิปภาษาไหนให้คุณ หนึ่งในเทรนด์ที่จะต้องเคยเห็นกันก็คือ #PickMeGirl ที่มีทั้งแบบบทพูดและเนื้อร้องเพลงแรป โดยเนื้อหาจะล้อเลียน Pick Me Girl หรือก็คือผู้หญิงที่แสดงท่าทีเหยียดเพศเดียวกันเพื่อเรียกร้องความสนใจจากผู้ชาย ซึ่งก็ไม่แปลกอะไรที่จะมีกระแสต่อต้านคนกลุ่มนี้ เพราะแนวคิดเกลียดชังความเป็นหญิงนั้นมีมานานแสนนาน จนเด็กสาวหลายๆ คนเองก็คงจะเคยผ่านช่วง “ไม่ชอบสีชมพู ไม่อยากเล่นกับเพื่อนผู้หญิง” มาก่อน ทำให้คนที่มีความเป็นหญิงสูง และกลุ่มที่ถูกเรียกว่า “แอ๊บแบ๊ว” ถูกมองในแง่ร้ายอยู่เสมอ

บ่อเกิดของทุกสิ่งทุกอย่างนี้คงจะเป็นอะไรไปไม่ได้ นอกจากระบอบชายเป็นใหญ่ที่บ่มเพาะให้ผู้หญิงอ่อนหวานเรียบร้อยสมเป็นกุลสตรี เติบโตขึ้นมาตามกรอบที่วาดไว้ให้ผู้ชายเป็นช้างเท้าหน้า และสร้างบรรทัดฐานทางเพศ (gender norm) ว่าผู้ชายหรือผู้หญิงต้องเป็นแบบไหนถึงจะได้รับการยอมรับจากคนหมู่มาก ซึ่งทำร้ายคนทุกเพศ โดยเฉพาะผู้หญิงทั้งที่ตรงและไม่ตรงตามบรรทัดฐาน บางคนซึ่งปฏิเสธการเป็นผู้หญิงแบบที่สังคมคาดหวังมักจะถูกตำหนิหรือนำไปเปรียบเทียบ จึงอาจพาลเกลียดคนที่ยังคงอยู่ในกรอบ ผุดคำด่าทอมากมาย เช่น “แรดเงียบ” “แอ๊บใส” “ตอแหล” บ้างก็ถึงขั้นจำแนกตัวเองออกจากกลุ่มคนเพศเดียวกัน ด้วยความคิดที่ว่า “I’m not like other girls”

Photo credit: ThePhrase.id

กลุ่มคนที่มองตัวเองแยกออกจากหญิงอื่น หรือ Pick Me Girl คือผู้หญิงที่มีลักษณะนิสัยที่ชอบเหยียดหยามผู้หญิงคนอื่นให้ตัวเองดูดีในสายตาผู้ชาย โดยจะปลดแอกตนจากนิยามของความเป็นหญิง (femininity) ด้วยการแสดงออกอย่างชัดเจนว่าไม่ชอบสิ่งของที่ดูน่ารักหวานแหวว เป็นคนง่ายๆ สบายๆ ไม่จุกจิก ไม่ขี้นินทา พูดจาตรงไปตรงมา “แมนๆ ไม่เหมือนพวกผู้หญิง” ทำให้กลุ่มคนประเภทนี้ดูแตกต่างออกไป ถูกชมว่าเข้าอกเข้าใจผู้ชายดี และอาจจะได้รับอภิสิทธิ์บางอย่างที่เหนือกว่า อย่างน้อยก็ไม่ถูกมองว่าเป็นภัยต่อปิตาธิปไตยที่ยังคงครอบแทบทุกวงสังคมเอาไว้ พวกเธอเปรียบเสมือนเหยื่อที่ทำร้ายเหยื่อด้วยกันเอง และเข้าหาผู้กระทำ เป็นการต่อรองไม่ให้ตนถูกทุบตีหรือต้องเผชิญกับความโหดร้ายมากนัก เพราะถ้าอยู่นอกกรอบความเป็นหญิงเพียงอย่างเดียว ก็คงจะถูกหาว่าเป็นเฟมินิสต์ตัวร้ายสำหรับใครหลายๆ คน

พูดได้ว่า Pick Me Girl นั้นมีขึ้นเพราะการเกลียดชังความเป็นหญิงในหมู่ผู้หญิงด้วยกันเอง (internalised misogyny) จากการกดทับและหล่อหลอมโดยสังคมนิยมปิตาธิปไตย แน่นอนว่ามีทั้งคนที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจจะเหยียด แต่ต่อให้เจตนาหรือไม่นั้น คำพูดกับการกระทำอันทิ่มแทงก็สามารถทำร้ายใครสักคนได้เสมอ เห็นได้จากหลายๆ กระแสที่ผ่านมา

Photo credit: ไทยรัฐ

หนึ่งในตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือเมื่อ ‘ไข่มุก — วรัทยา ดีสมเลิศ‘ สมาชิกวงไอดอล BNK48 ไปออกรายการ ‘Davinci เกมถอดรหัส’ และต้องตอบคำ 3 พยางค์ตามภาพที่เห็น เธอได้รับโจทย์เป็นกบไสไม้ แต่แล้วคำตอบ “อ๊บไสไม้” ที่ออกมาจากปากก็เรียกได้ทั้งเสียงฮาและดราม่า มีคนส่วนหนึ่งที่มองว่าไข่มุกทำเป็นตอบเหมือนเด็กเพื่อให้ดูน่ารักไร้เดียงสาในสายตาแฟนคลับ ด้วยภาพลักษณ์ของไอดอลซึ่งถูกวางเอาไว้ให้เป็นเด็กสาวตัวน้อยอยู่เสมอ บ้างก็ใช้คำพูดรุนแรงบนโลกโซเชียล หาว่าเธอแกล้งใสซื่อและน่ารำคาญ ทั้งที่เจ้าตัวอาจจะแค่ตอบไปอย่างนั้นด้วยความเคยชิน หรือต่อให้ตั้งใจตอบเช่นนั้นจริงๆ ก็คงจะไม่เป็นปัญหา หากไม่มีการเกลียดชังความเป็นหญิงเข้ามาเกี่ยวข้อง

https://www.youtube.com/watch?v=DB9idEcV2eg

ล่าสุดเองก็มีเรื่องของ ‘จางวอนยอง’ (장원영) สมาชิกวงเกิร์ลกรุ๊ปเกาหลี IVE ซึ่งได้กลายเป็นที่ถกเถียงในแฟนด้อม K-pop หลังจากตอนหนึ่งของรายการ ‘The Manager’ ถูกเผยแพร่ออกไป ฉายให้เห็นภาพที่วอนยองทานสตรอว์เบอร์รี่โดยใช้สองมือจับ มีคนส่วนหนึ่งที่มองว่าน่ารัก ในขณะที่อีกฝั่งก็ลงความเห็นว่าเธอพยายามแอ๊บแบ๊วมากจนเกินพอดี แม้แต่พิธีกรในรายการก็ยังถามทันทีว่า “เธอกินอย่างนั้นเหรอ” ซึ่งวอนยองได้อธิบายว่า “สตรอว์เบอร์รี่พันธุ์ Mary Queen ใหญ่เกินไปจริงๆ” ถึงอย่างนั้นก็ยังมีคลิปวิดีโอมากมายบนติ๊กต็อกและยูทูปที่ล้อเลียนท่าทางการกินของเธอ แม้กระทั่งในหมู่คนดังหรือไอดอลจากวงการเดียวกัน นอกจากนี้ก็มีคนอีกจำนวนหนึ่งที่เรียกวอนยองว่า Pick Me Girl ทั้งที่เธอไม่เคยแสดงพฤติกรรมเหยียดผู้หญิงให้เห็นเลย

https://www.youtube.com/watch?v=AevPum1xL_o

เมื่อปี 2022 ที่ผ่านมาก็มีเทรนด์ Pick Me Girl ที่โด่งดังบนติ๊กต็อก อย่างที่ได้เอ่ยไปเมื่อตอนต้นว่าคลิปวิดีโอในเทรนด์นี้มีจุดประสงค์เพื่อล้อเลียนกลุ่มคนที่รังเกียจผู้หญิงด้วยกันเอง แต่ในภายหลังก็มีการเหมารวมผู้หญิงที่มีลักษณะแบ๊วหรือแลดูเรียกร้องความสนใจเข้าไปด้วย เรียกได้ว่าขอบข่ายความหมายของคำว่า Pick Me Girl ได้ถูกขยายออกไปในความเข้าใจของใครหลายๆ คน จนเทรนด์นี้เลยเถิด จนดูเหมือนว่าจะเป็นการทำให้ผู้หญิงหันหลังใส่กันเองมากกว่า และสุดท้าย ‘ผู้หญิงแบ๊ว’ ก็กลายเป็นสนามอารมณ์ให้กับสังคมที่ดูแคลนความเป็นหญิง แม้ว่าจะมีการผลักดันเรื่องความเท่าเทียมทางเพศมากแค่ไหนก็ตาม

ในท้ายที่สุดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงประเภทไหน จัดว่าเป็น Pick Me Girl ผู้หญิงแบ๊ว ผู้หญิงที่ต้องการชูแนวคิดเฟมินิสม์ หรือคนเพศอะไรก็ตามแต่ ศัตรูเดียวที่ทุกคนมีร่วมกันก็คือระบอบชายเป็นใหญ่ เพราะความ toxic ของมันจะทำร้ายคนทุกเพศไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง และไม่มีใครที่ได้รับสิทธิประโยชน์จากแนวคิดนี้อย่างแท้จริง เพราะฉะนั้นแล้ว มันยังควรแฝงในยุคสมัยปัจจุบันอยู่อีกหรือ?

อ้างอิง

ไทยรัฐ

KBIZoom