‘Koisenu Futari’ (恋せぬふたり) หรือที่รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า ‘A Couple Without Falling in Love’ ซีรีส์ญี่ปุ่นจำนวน 8 ตอนจบที่นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับคนสองคนที่ไม่ฝักใฝ่ในรักเชิงโรแมนติกหรือมีความสัมพันธ์ หรือก็คือกลุ่มผู้มีเพศวิถีที่เรียกว่า Aromantic และ Asexual มาอาศัยอยู่ด้วยกัน ‘โคดามะ ซาคุโกะ’ (รับบทโดย ‘คิชิอิ ยุกิโนะ’ (岸井 ゆきの)) โดนสังคมรอบข้างกดดันเรื่องการมีแฟน มีครอบครัว จนเธออยากจะย้ายหนีออกจากบ้านเสียดื้อๆ จนกระทั่งวันหนึ่ง ซาคุโกะเจอบทความในบล็อกเกี่ยวกับ Aromantic และ Asexual เธอรู้สึกว่าตนเองก็มีความรู้สึกเช่นนั้นเหมือนกัน ยิ่งอ่านก็ยิ่งค้นพบตัวเองมากขึ้น
โชคชะตาผูกโยงเข้าด้วยกัน ทำให้ซาคุโกะได้มาพบเจอเจ้าของบทความนั้น นั่นก็คือ ‘ทาคาฮาชิ ซาโตรุ’ (รับบทโดย ‘ทาคาฮาชิ อิซเซย์’ (高橋 一生)) พนักงานหนุ่มประจำโซนขายผักของซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งหนึ่ง ผู้ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย ถึงแม้จะเหงาอยู่บ้าง แต่เขาก็มีความสุขกับชีวิตในแบบที่ไม่สุงสิงกับใคร เมื่อสังคมต่างสร้างกรอบของคำว่าครอบครัวไว้ด้วยคำว่ารักและโรแมนติก ทั้งสองคนจึงร่วมกันสร้างคำว่าครอบครัวใหม่ ในรูปแบบของพวกเขาเอง
ในฐานะคนที่อยู่ในช่วงอายุ 20 การได้เห็นตัวละครอายุไล่เลี่ยกับตัวเองต้องก้าวข้ามผ่านอารมณ์และความขัดแย้งที่นักเขียนเคยประสบมาด้วยตัวเองนั้นช่างเหลือเชื่อจริงๆ โดยส่วนตัวแล้ว หลังจากที่ดูซีรีส์เรื่องนี้จบก็รู้สึกว่าเข้าใจและได้เรียนรู้เกี่ยวกับ Aromantic และ Asexual ไปอีกขั้นหนึ่ง มันทำให้เข้าใจว่า ไม่ใช่ว่าทุกคนจะต้องการ ‘ความรัก’ เพื่อมีความสุข
ซีรีส์เรื่องนี้เน้นให้เห็นถึงปัญหาและความสุขของการค้นพบตัวตนของแต่ละตัวละคร รวมถึงการใช้ชีวิตของ Aromantic และ Asexual ซึ่งถ้าว่ากันตามจริง มันคือการใช้ชีวิตแบบปกติอย่างคนทั่วไป ไม่ได้แตกต่างอะไรกันเลย คนที่ต้องการความรักและโหยหาความโรแมนติกก็เป็นคนธรรมดาคนหนึ่ง คนที่ไม่ได้มีความรู้สึกเชิงรักใคร่กับใคร หรือไม่ชอบให้ใครสัมผัส ก็เป็นเพียงแค่คนธรรมดาคนหนึ่งเช่นกัน เพียงแต่เราจะเข้าใจกันและกันได้มากแค่ไหนเท่านั้นเอง
ตัวละคร ‘ซาคุโกะ’ เหมือนถูกเขียนให้เป็นตัวแทนผู้ชมที่กำลังสับสนกับตัวเองว่าเป็น Aromantic และ Asexual หรือเปล่า รวมไปถึงแฟนเก่าของเธอ ‘มัตสึโอกะ คาสุ’ (รับบทโดย ‘ฮามะ โชโกะ’ (濱正悟)) ก็เปรียบเสมือนคนที่ไม่เข้าใจวิถีชีวิตของ Aromantic และ Asexual ที่พยายามเข้าใจความเป็นตัวตนของเธอ และค่อยๆ เรียนรู้ไปด้วยกัน ละครเรื่องนี้ชี้ให้เห็นถึงปัญหาและความสุขในการค้นพบตัวตนของตัวเอง ท่ามกลางความกดดันใน ‘กรอบของสังคม’ ที่คิดว่าอายุเท่านี้ก็ต้องแต่งงาน มีครอบครัว มีลูก ถึงจะมีความสุขได้ จนหลงลืมไปว่าคนเราสามารถมีความสุขโดยไม่ต้องมีครอบครัวได้เหมือนกัน และคำว่าครอบครัวไม่จำเป็นต้องประกอบด้วยพ่อ แม่ ลูก แต่ยังสามารถเป็นนิยามเป็นความรู้สึกที่ได้รับการยอมรับ และสามารถเป็นตัวเองได้ โดยไม่ต้องกังวลหรือโดนบีบคั้นด้วยความรู้สึกที่ต้องเป็นไปตามสิ่งที่สังคมคิดว่าถูกต้อง
นักเขียนชอบการดำเนินเรื่องของ Koisenu Futari มาก มันเป็นไปอย่างเรียบง่าย และค่อยๆ นำเรื่องราวมารวมกันได้อย่างน่าสนใจ ดูเผินๆ แล้ว ซาคุโกะเป็นคนเปิดเผยที่เข้ากับคนง่ายและร่าเริง ส่วนทาคาฮาชิที่เป็นคนเก็บตัวและเอาแต่สนใจเรื่องอาหารกับพืชผัก ไม่น่าจะเข้ากันได้ แต่ถึงกระนั้น พวกเขาก็ยังร่วมสร้างครอบครัวด้วยกัน ผูกพันด้วยความเข้าใจและเรียนรู้ตัวตนของพวกเขา ในฐานะผู้ใหญ่ที่ร่าเริงและผู้ใหญ่ที่ชินกับความเหงา พวกเขาสร้างครอบครัวที่เป็นมิตร แม้ว่ามันจะค่อนข้างอึดอัดอยู่สักพักหนึ่ง แต่ทุกอย่างก็เป็นไปได้ตามธรรมชาติ และจบด้วยการเข้าใจตัวตนของตัวเอง
“ในเมื่อเซ็กซ์ที่ปราศจากความรักมีอยู่จริง แล้วทำไมความรักที่ปราศจากเซ็กซ์จะไม่มีอยู่จริงล่ะ”
อีกอย่างหนึ่งที่ชอบก็คือพัฒนาการของตัวละครในเรื่องนี้ อย่างซาคุโกะที่กำลังมองหาคำตอบให้กับความสบสนของตัวเองว่า ตนนั้นเป็น Aromantic และ Asexual หรือไม่ ผ่านทางสังคมออนไลน์จนนำไปสู่เรื่องราวทั้งหมด ไปจนถึงการหาคำตอบได้ว่า การเป็น Aromantic และ Asexual ไม่ได้หมายความว่าไม่ต้องการมีชีวิตร่วมกับใคร และวิธีที่ซีรีส์เรื่องนี้กล่าวถึงความเป็น Aromantic และ Asexual เป็นสเปกตรัมที่มีหลายมิติ ต้องมีการพิจารณามากมาย เพราะความรู้สึกของมนุษย์ซับซ้อนเกินกว่าจะมีคำใดคำหนึ่งมานิยามได้นั้น ถือว่าทำได้ยอดเยี่ยมมาก
ดีเทลเล็กๆ น้อยๆ ที่ซีรีส์เรื่องนี้ใส่มาเป็นอะไรที่ทัชใจนักเขียนมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ทาคาฮาชิไม่ชอบถูกสัมผัส ทุกตัวละครจึงพยายามปรับตัวเข้าหาทาคาฮาชิด้วยความระมัดระวัง และไม่ทำให้เขารู้สึกอึดอัดเลย คุณสามารถบอกได้จากวิธีที่ทุกคนในเรื่องพยายามทำความเข้าใจกับสิ่งที่พวกเขาคิดว่า ‘แตกต่างจากตัวเอง’ และยอมรับตัวตนของผู้อื่น มันสวยงามมากจริงๆ จนทำให้นักเขียนเชื่อว่า ต้องมีผู้ชมจำนวนมากที่รู้สึกเหมือนมีเพื่อนมาตบบ่า ปลอบโยน และปลดปล่อยให้เราได้ใช้ชีวิตในแบบที่ตัวเองต้องการโดยไม่ต้องสนใจคำพูดของใคร ผ่านการเฝ้าดูประสบการณ์และความรู้สึกที่ซาคุโกะและทาคาฮาชิได้เผชิญในเนื้อเรื่อง
ไม่ว่าจะเป็นบทพูด การแสดง เพลง และการเป็นตัวแทนของผู้คนที่นิยามตัวเองว่า Aromantic และ Asexual ทำเอานักเขียนน้ำตาคลอกับหลายๆ บทพูดในเรื่อง แม้ว่าจะยังไม่สามารถเข้าใจได้เต็มร้อยเกี่ยวกับ Aromantic และ Asexual ก็ตาม แต่หลังจากดูซีรีส์เรื่องนี้จบ นักเขียนเข้าใจได้อย่างถ่องแท้เกี่ยวกับการยอมรับความแตกต่างของคนอื่น การที่ผู้คนมีความชอบที่ไม่เหมือนกับเรา ไม่ได้หมายความว่าเขาแปลกแยกไปจากคนอื่น นักเขียนคิดว่านี่เป็นเรื่องราวที่จะทำให้ผู้คนจำนวนมากคิดถึงชีวิตของตนเอง และขบคิดว่าความรักมีความหมายอย่างไรสำหรับพวกเขา Koisenu Futari ถือว่าเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่นักเขียนเก็บไว้ในลิสต์ซีรีส์ที่ดีที่สุดที่ได้ดูในปี 2023 เลยทีเดียว!
ขอขอบคุณรูปภาพจาก NHK