เคยได้ยินคำว่า 'พรหมลิขิต' ไหม? ที่เรามักจะพูดเวลาที่เราเชื่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเพราะ 'พระพรหม' หนึ่งในตรีมูรติตามความเชื่อในศาสนาฮินดูได้กำหนดเอาไว้แล้ว ผมเชื่อว่าต่อให้ไม่เคยพูดเองก็ต้องเคยได้ยินมาจากปากตัวเอง ก็น่าจะต้องเคยได้ยินจากที่ไหนสักแห่งแน่ๆ ซึ่งพระพรหมคือ เทพแห่งการสร้างตามความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ฮินดู ดังนั้น ก็เลยไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่คนไทยจะเชื่อว่าพระพรหมองค์นี้จะสามารถกำหนดชะตาชีวิตได้ เพราะถ้าขนาดชีวิตยังสามารถสร้างได้ นับประสาอะไรกับโชคชะตา ทั้งหมดล้วนอยู่ใต้พลังอำนาจของเทพเจ้าแห่งการสร้างองค์นี้
แม้จะไม่รู้ว่าคำว่า พรหมลิขิต ใช้กันมาตั้งแต่เมื่อไร แต่ที่แน่ๆ คนไทยต้องรู้จักพระพรหมองค์นี้มานานแน่ๆ
แต่ไม่ใช่แค่ในศาสนาฮินดูเท่านั้น ศาสนาพุทธก็มีชื่อ 'พรหม' เหมือนกัน แต่เป็นพรหมเฉยๆ ไม่มีคำว่า 'พระ' ข้างหน้าแบบ 'พระพรหม' ของฮินดู
ซึ่ง พรหม ตามความเชื่อของศาสนาพุทธเป็นเทพที่อาศัยอยู่ในพรหมโลก ทิพยโลกที่อยู่เหนือเทวโลกขึ้นไปอีก แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือ รูปพรหม พรหมที่ยังมีรูปร่างรูปลักษณ์อยู่ สถิตอยู่ในพรหมโลก ซึ่งในพรหมโลกก็ยังแบ่งออกเป็น 16 ชั้น ส่วนอีกกลุ่มคือ อรูปพรหม พรหมที่ไร้รูปร่างแล้ว สถิตอยู่ในอรูปพรหมโลกซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ชั้น แต่ถึงแม้จะสถิตในพรหมโลกก็ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดเหมือนเดิม โดยพรหมตามความเชื่อของศาสนาพุทธนั้นไม่ได้มีคุณลักษณะในด้านการให้พรเหมือนอย่างในศาสนาฮินดู แต่มักจะถูกอธิบายในบริบทของความบริสุทธิ์และเป็นผู้วิเศษที่มีคุณธรรม
จะเห็นว่า ทั้งพระพรหม และพรหม มีจุดร่วมที่สำคัญอยู่แค่อย่างเดียว ก็คือ ต่างก็เป็น 'เทพ' เหมือนกัน แต่ในเรื่องอื่นๆ ต้องบอกว่าแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เพราะในขณะที่พระพรหม เป็นเทพเจ้าแห่งการสร้างที่สามารถอำนวยพรให้กับผู้ที่ร้องขอได้ แต่พรหม ไม่มีความสามารถแบบนั้น ที่สำคัญ รูปลักษณะของเทพทั้ง 2 ก็ต่างกันอย่างมากพระพรหม มีรูปลักษณ์เป็นเทพเจ้าที่มี 4 กร ถือสิ่งของที่นักบวชจะถือ เช่น คัมภีร์ หรือลูกประคำ แต่ถ้าเคยดูในซีรีส์หรือหนังอินเดีย น่าจะเคยเห็นพระพรหมแบบอินเดียในเวอร์ชั่นเป็นชายสูงวัย ในขณะที่พรหม ในศาสนาพุทธนั้นมีลักษณะไม่ต่างจากคนทั่วไปเลย เพียงแต่ไม่มีรอยต่อบริเวณไหล่ ข้อศอก แขน ขา และมีรัศมีเจิดจ้า
แต่พอมาเป็นงานศิลปกรรมพระพรหม กับพรหมกลับออกมาเหมือนกันเสียอย่างนั้น
อย่างพระพรหม แม้จะมีหลักฐานงานศิลปกรรมไม่เยอะ แต่เท่าที่ปรากฏก็จะตรงกับที่บอกไปก่อนหน้า ก็คือเป็นเทพเจ้าที่มี 4 เศียร 4 กร ส่วนของถือก็ยังคงเป็นของถือของนักบวชแบบเดิม (แต่มาเจอในเวอร์ชั่นจิตรกรรม เพราะเวอร์ชั่นประติมากรรมของในมือหายไปไหนไม่รู้) แต่อาจจะด้วยความที่บ้านเรามองว่าเทพเจ้าจะต้องมีรูปลักษณ์ที่สมบูรณ์หรือไม่ก็การทำเคราอาจจะทำให้ดูแล้วแปลกๆ ก็เลยไม่เคยเจอพระพรหมเวอร์ชั่นมีเคราในไทยเลย
แต่พรหมแบบพุทธที่เจอในศิลปะไทยก็มี 4 เศียร 4 กรเหมือนกันกับพระพรหมเป๊ะเลย ถ้าจะมีที่ไม่ค่อยเป๊ะเท่าไรก็อาจจะเป็นว่าไม่มีอะไรของนักบวชในมือเลย ซึ่งก็คงเป็นเพราะว่าทุกครั้งที่พรหมปรากฏตัวในงานศิลปะไทยถ้าไม่มาในฐานะส่วนหนึ่งของฉากเทพชุมนุม ก็จะไปปรากฏในพุทธประวัติ อย่าง ตอนเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ก็จะเสด็จลงมาพร้อมกับพระพุทธเจ้า พระอินทร์ และบรรดาพรหมและเทวดารองอื่นๆ หรือในชาดกอย่าง พรหมนารทชาดก ซึ่งพระพุทธเจ้าเสวยพระชาติเป็นพระพรหมนารทก็ไม่ได้ถือของอย่างที่พระพรหมจะถือ อาจจะเป็นเพราะว่าถ้าไม่พนมมือก็มักจะไม่ว่าง เดี๋ยวถือฉัตรบ้าง เดี๋ยวถือสาแหรกบ้าง ส่วนมือที่เหลือที่สามารถถือของได้ก็มักไม่ถืออะไรแต่แสดงท่าทางแบบนาฏลักษณ์แทน ส่วนเสื้อผ้าก็จะสวมเครื่องทรงอย่างกษัตริย์แบบเดียวกับที่เทวดาสวม
แล้วพรหมแบบหน้าเดียวที่ตรงตามในคัมภีร์ของฝ่ายพุทธล่ะ มีบ้างหรือเปล่า มีแน่นอนอยู่แล้ว มีมาตั้งแต่สมัยทวารวดีเลย หรือแม้แต่ในสมัยรัตนโกสินทร์ก็มีเหมือนกัน มี 1 เศียร 2 กร แบบเป๊ะๆ ไม่มีอะไรผิดเพี้ยนเลย ส่วนเครื่องแต่งกายอื่นๆ ก็จะเหมือนกันพรหมแบบ 4 หน้าเลย อย่างไรก็ตาม ถ้าเทียบสัดส่วนระหว่างพรหมแบบหน้าเดียวที่ตรงตามคัมภีร์ กับ พรหมแบบ 4 หน้าที่ได้แรงบันดาลใจจากพระพรหม ก็ต้องยอมรับตามตรงว่าอย่างหลังเจอเยอะกว่ามาก การจะเจอพรหมแบบหน้าเดียวในศิลปะไทยที่ถูกต้องกลับกลายเป็นของหายากไปเสียได้
แล้วอะไรที่ทำให้พรหมในศิลปะไทยไปผสมปนเปกับพระพรหมในศาสนาพราหมณ์ฮินดูได้ล่ะ ทั้งที่จะไม่มีอะไรเหมือนกันเลยแท้ๆ
ผมเชื่อว่าสาเหตุสำคัญก็คงจะมาเจอชื่อของท่านนั่นละ เพราะชื่อพรหม กับพระพรหม คล้ายกันมากเกินไป ก็เลยอาจเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ช่างที่ออกแบบเกิดความสับสนว่าอย่างไหนเรียกว่า พรหม อย่างไหนเรียกว่า พระพรหม ก็เลยกลายเป็นว่า มีการหยิบยืมรูปร่างของพระพรหมมาใช้กับพรหมเสียเลย
แต่อีกสาเหตุนึงก็อาจเป็นเพราะมาจากความกังวลของช่างก็ได้ เพราะถ้าลองดูดีๆ จะเห็นว่า ถ้าทำให้ตรงตามคัมภีร์พรหม กับเทวดาในศิลปะไทยจะมีรูปลักษณ์ที่แทบไม่ต่างกันเลย ช่างอาจเกิดความกังวลว่า ถ้าทำแบบนั้น ชาวบ้านหรือใครก็ตามที่ดูประติมากรรมหรือจิตรกรรมรูปพรหมอาจจะดูไม่ออกว่าใครเป็นใคร องค์ไหนเป็นเทวดา องค์ไหนเป็นพรหม ก็เลยต้องหยิบยืมรูปลักษณ์ของพระพรหมที่ชื่อคล้ายๆ กันมาใช้หน่อย จะได้ไม่ต้องมานั่งอธิบายว่าใครเป็นใครกันแน่
ดังนั้น จึงไม่ต้องแปลกใจว่า ทำไมท้าวมหาพรหมที่อยู่ด้านหน้าโรงแรมเอราวัณถึงมีรูปลักษณ์แบบเดียวกับพระพรหมแบบฮินดูที่ปรากฏในคัมภีร์ แต่ไม่เหมือนกันกับพรหมตามแบบพุทธทั้งที่โดยสถานะแล้ว ท้าวมหาพรหมคือ พรหมในศาสนาพุทธ ไม่ใช่พระพรหม แต่ไม่ว่าจะมีรูปลักษณ์แบบใด หรือตามในคัมภีร์แล้วท่านจะไม่มีคุณลักษณะในด้านการให้พรก็ตาม แต่ผู้คนทั้งไทย ทั้งเทศก็ยังเดินทางมายังศาลท้าวมหาพรหมแห่งนี้เพื่อขอพร เพื่อแก้บนเหมือนเดิม ซึ่งเรื่องแบบนี้ก็อยู่ในความเชื่อและวิจารณญาณของแต่ละคน