“ทำไมคนถึงยิ้มกับความตายตรงหน้า?” ประวัติศาสตร์ บาดแผล และความทรงจำช่วง 6 ตุลา

ภาพบุคคลที่กำลังนำเก้าอี้ไปฟาดชายผู้ถูกแขวนคอบนต้นมะขาม รายล้อมไปด้วยผู้คนที่ยิ้มให้กับความรุนแรง เป็นภาพเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ชายที่ถูกแขวนในภาพเป็นเพียง 1 ใน 5 ของคนที่ถูกแขวนคอ ณ สนามหลวง ภาพที่สร้างความสะเทือนใจแก่ใครหลายคน แล้วทำไมผู้คนในภาพถึงยิ้มและหัวเราะให้กับความตายตรงหน้า?

ย้อนกลับไปช่วง 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 เป็นช่วงเวลาที่อุดมการณ์สังคมนิยมเฟื่องฟู และจอมพลถนอม กิตติขจร เดินทางกลับมาไทยหลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 โดยอ้างว่ามาเยี่ยมอาการป่วยของพ่อและบวชเป็นพระภิกษุที่วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร การกลับมาของจอมพลถนอมที่ให้เกิดการต่อต้านโดยการติดโปสเตอร์ และพบศพประชาชน 2 คนที่เป็นพนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและเป็นคนติดโปสเตอร์ถูกแขวนคอที่ประตูเหล็กสีแดง นักศึกษาจึงเรียกร้องให้รัฐบาลโดย ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยนั้น จับตัวฆาตกรมาดำเนินคดี แต่กลับไร้ความคืบหน้า เหล่านักศึกษาจึงประกาศชุมชนวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2519 และการชุมชนมีการแสดงละครเล่าเรื่องที่พนักงานไฟฟ้าถูกแขวนคอ นักแสดงในวันนั้นมีใบหน้าคล้ายคลึงกับพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 10) ทำให้ ‘หนังสือพิมพ์ดาวสยาม’ สื่อมวลชนฝ่ายขวาประโคมข่าวว่า กลุ่มนักศึกษามีเจตจำนงค์ทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์และเป็นกลุ่มคอมมิวนิสต์ ต่อมาช่วงเช้ามืดวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ตำรวจตระเวนชายแดนเข้าล้อมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยิงกระสุนและระเบิดใส่นักศึษาและผู้ชุมชุนภายในมหาวิทยาลัย นอกจากนี้นักศึกษาหลายคนที่วิ่งออกมานอกมหาวิทยาลัยถูกประชาชนและกลุ่มฝ่ายขวา อาทิ กลุ่มกระทิงแดง ลูกเสือชาวบ้าน และนวพล รุมประชาทัณฑ์ด้วยความสะใจ เนื่องจากวาทกรรม “การฆ่าคอมมิวนิสต์ได้บุญมากกว่าได้บาป” ซึ่งเป็นการสรุปจากคำสัมภาษณ์ของกิตติวุฑโฒ ภิกขุ จากนิตยสารจตุรัส (ปีที่2 ฉบับที่ 51 วันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2519) กลุ่มฝ่ายขวาได้ใช้คำพูดชุดนี้เป็นวาทกรรมเพื่อโจมตีกลุ่มนักศึกษาและผู้ชุมนุมที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์

Photo credit: voicetv

นิตยสารจตุรัส: การฆ่าฝ่ายซ้ายหรือคอมมิวนิสต์บาปไหม?

กิตฺติวุฑฺโฒ ภิกขุ: อันนั้นอาตมาก็เห็นว่าควรจะทำ คนไทยแม้จะนับถือพุทธก็ควรจะทำ แต่ก็ไม่ชื่อว่าถือเป็นการฆ่าคน เพราะว่าใครก็ตามที่ทำลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ นั้นไม่ใช่คนสมบูรณ์ คือต้องตั้งใจว่า เราไม่ได้ฆ่าคนแต่ฆ่ามารซึ่งเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคน

นิตยสารจตุรัส: ผิดศีลไหม?

กิตฺติวุฑฺโฒ ภิกขุ: ผิดน่ะมันผิดแน่ แต่ว่ามันผิดน้อย ถูกมากกว่า ไอ้การฆ่าคนคนหนึ่งเพื่อรักษาชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ไว้ สิ่งที่เรารักษาปกป้องไว้มันถูกต้องมากกว่า แล้วจิตใจของทหารที่ทำหน้าที่อย่างนี้ไม่ได้มุ่งฆ่าคนหรอก เจตนาที่มุ่งไว้เดิมคือมุ่งรักษาชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ไว้ การที่เขาอุทิศชีวิตไปรักษาสิ่งดังกล่าวนี้ก็ถือว่าเป็นบุญกุศล ถึงแม้จะฆ่าคนก็บาปเล็กน้อย แต่บุญกุศลได้มากกว่าเหมือนเราฆ่าปลาแกงใส่บาตรพระ บาปมันก็มีหรอกที่ฆ่าปลา แต่เราใส่บาปพระได้บุญมากกว่า

Photo credit: ประชาไท

ทำไมการฆ่าคอมมิวนิสต์ถึงได้บุญมากกว่าบาป? วาทกรรมนี้เกิดจากการตีความศาสนาพุทธว่า การกระทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย หลักการพิจารณาว่าบาปหรือไม่จะมุ่งที่เจตนาเป็นหลัก ถ้าเจตนาไม่ดี มีจิตใจชั่วร้ายแอบแฝงหรือความโกรธแค้น การฆ่าคนจะถือว่าบาป ส่วนเจตนาดี ไม่มีความชั่วร้ายแอบแฝงและถูกสั่งมาเพื่อรักษาความยุติธรรมในสังคมจะถือว่าไม่บาป การฆ่ากลุ่มคนฝ่ายคอมมิวนิสต์ถูกสถาปนาว่าเป็นการรักษาความยุติธรรมทำให้สังคมสงบเรียบร้อย จนเกิดเป็นวาทกรรม “การฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป” ไม่ได้มองถึงความเป็นมนุษย์ แต่กลับใช้วาทกรรมนี้สถาปนาความชอบธรรมกับการกระทำที่แสนโหดร้ายของตนเอง เหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 มีผู้เสียชีวิตจำนวน 45 ราย มีผู้ถูกจับกุมที่เป็นนักศึกษาและประชาชนจำนวน 3,094 ราย ตกเป็นจำเลย 18 ราย แต่ผู้สังหารและทำร้ายนักศึกษาและประชาชนกลับไม่มีใครได้รับโทษแม้แต่คนเดียว

ภาพรอยยิ้มจากผู้คนโดยรอบที่กำลังจดจ้องไปยังชายที่ถูกแขวนคอและมีคนยกเก้าอี้ขึ้นมาฟาด เป็นภาพที่เกิดจากผลผลิตของวาทกรรม “การฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป” ผู้คนคนเพิกเฉยต่อความรุนแรงที่อยู่ตรงหน้า ไม่ได้รู้สึกผิดต่อการฆ่าใครสักคนที่มีอุดมการณ์แตกต่างจากตัวเอง รอยยิ้มในภาพสร้างบาดแผลและคอยย้ำเตือนให้ผู้คนตระหนักถึงทุกวันวันที่ 6 ตุลาคม เสมอ 

Photo credit: BBC NEWS

ตั้งแต่วาทกรรม “การฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป” จากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม จนถึงวาทกรรม “ชังชาติ” ในปัจจุบัน กี่ครั้งแล้วที่วาทกรรมเหล่านี้ถูกผลิตซ้ำ ส่งต่อความเกลียดชัง และกำจัดคนเห็นต่างออกจากสังคม เราควรตระหนักว่า วาทกรรมเป็นเพียงความคิดชุดหนึ่งที่ถูกสถาปนาเป็นความจริงแค่ช่วงเวลาหนึ่งๆ เท่านั้น ไม่ได้เป็นความจริงแท้ตลอดไป ท้ายสุดแล้วเราอาจสำรวจตัวเองว่า วาทกรรมครอบงำความคิดจนบางครั้งเราเผลอลืมความเป็นมนุษย์ไปหรือเปล่า?

อ้างอิง

https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_1701514

https://prachatai.com/journal/2013/10/49085

https://www.youtube.com/watch?v=pGa-e0lzr5E

http://www.rk.mcu.ac.th/rbAcademic/FILES/พุทธจริยศาสตร์%20ว่าด้วยปาณาติบาต-ราม คำเเหง1_2560.pdf