ในปัจจุบันโลกของเราผ่านการพัฒนา และเปลี่ยนแปลงมาหลายต่อหลายครั้ง ด้วยฝีมือของกลุ่มคนที่พยายามสร้างความตระหนักรู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม หรือที่เราเรียกกันว่า “นักเคลื่อนไหว” (Activist) ซึ่งทุกยุคทุกสมัย ความพยายามของพวกเขาก็สร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคมให้เราเห็นตลอด อย่างเรื่องสิทธิ และความเท่าเทียมทางการเมืองของชายหญิง, ความเท่าเทียมของชาติพันธุ์ หรือแม้แต่เรื่องวันทำงาน และวันหยุดแบบที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ก็ล้วนเป็นสิ่งที่เกิดจากการเคลื่อนไหว และเรียกร้องทางสังคมทั้งสิ้น
ถ้าจะพูดง่ายๆ ก็ลองนึกถึงการเรียกร้องทางสังคมในอดีต ภาพที่เห็นก็คงจะเป็นการถือป้ายประท้วง ลงถนน หรือแม้แต่การหยุดงาน หยุดเรียนเพื่อต่อรองกับความไม่เป็นธรรมทางสังคม สิ่งเหล่านี้คือ “เครื่องมือ” ในการเรียกร้อง ซึ่งเครื่องมือเหล่านี้ก็ยังสามารถเห็นได้อยู่ เพียงแต่ในปัจจุบันการเรียกร้องทางสังคมสามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลา แถมยังเกิดขึ้นในพื้นที่ที่หลายๆ คนคุ้นหน้าคุ้นตากันอยู่แล้วอย่าง “โซเชียลมีเดีย” อีกด้วย
วันนี้ EQ เลยอยากพูดถึง “Generation Activist” หรือเจเนอเรชั่นแห่งนักเคลื่อนไหว พวกเขาคือใคร และจะเปลี่ยนมุมมองของการเคลื่อนไหวทางสังคมไปอย่างไรบ้าง เรามาลองทำความรู้จักไปพร้อมๆ กันได้เลย
เมื่อ ‘Gen Z’ เปลี่ยนแปลงมุมมองการเคลื่อนไหว From Streets to Tweets
เมื่อพูดถึงเหล่า Activist ในปัจจุบัน สิ่งหนึ่งที่เราเห็นได้ชัดเจนคือ ในสังคมของเรามีนักเคลื่อนไหวจาก Gen Z เยอะขึ้น พวกเขาออกมาเรียกร้อง และสื่อสารประเด็นทางสังคมกันตั้งแต่อายุยังน้อย ซึ่งเท่านี้ก็ทำให้ภาพลักษณ์ของการเคลื่อนไหวในสังคมเปลี่ยนแปลงไปมากพอสมควรแล้ว โดยข้อมูลจาก Edelman แสดงให้เห็นว่า 70% ของเหล่า Gen Z จากทั่วโลก มีส่วนร่วมในการสนับสนุนกิจกรรมทางสังคม และการเมือง แม้จะไม่ใช่ทุกคนที่เรียกตัวเองว่าเป็นนักเคลื่อนไหว แต่พวกเขาก็ยังคงมีส่วนร่วม และสนับสนุนการขับเคลื่อนสังคมอยู่ดี
ความน่าสนใจคือ นอกจากเราจะได้เห็น Activist ที่เด็กลงแล้ว เรายังสามารถพบเห็นการขับเคลื่อนสังคมบนโลกออนไลน์ได้อีกด้วย ยิ่งตอกย้ำให้เราเห็นว่า มุมมองของการเคลื่อนไหวทางสังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงไปอย่างชัดเจน
ก่อนอื่นคงต้องพูดว่า โซเชียลมีเดียเปรียบเสมือนธรรมชาติของชาว Gen Z เนื่องจากพวกเขาเกิด และเติบโตมาในโลกที่เทคโนโลยี และการสื่อสารพัฒนาจนง่ายต่อการเข้าถึง เมื่อเทียบกับกลุ่มที่อยู่ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านจากยุค Analog สู่ยุค Digital อย่างชาว Gen Y ที่ยังต้องเรียนรู้ ทำความเข้าใจ และอัพเดตเรื่องเทคโนโลยี เมื่อเทคโนโลยีคือ สภาพแวดล้อมของวัยรุ่นในปัจจุบัน จึงไม่น่าแปลกใจนักที่เราจะได้เห็นการเคลื่อนไหวทางสังคมในรูปแบบของเครือข่ายสังคมออนไลน์ ซึ่งโซเชียลมีเดียไม่ใช่แค่พื้นที่ในการแสดงออกของวัยรุ่นเท่านั้น แต่ยังเป็นพื้นที่ให้พวกเขาได้เปิดหู เปิดตา เปิดใจ ได้ทำความรู้จักกับปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม ซ้ำยังสามารถเปรียบเทียบสถานการณ์ในบ้านเกิดกับต่างประเทศได้อีกด้วย พวกเขาจึงเห็นความสำคัญของปัญหา และภาพของความพัฒนาที่เกิดขึ้นจริงในมุมต่างๆ ของโลกใบนี้ ก่อนที่จะเรียนรู้วิธีใช้เสียงของพวกเขาสื่อสารถึงปัญหาที่พบเห็นมา
Photo Credit: Workpoint today / Daily Dot
เริ่มจากมูฟเมนต์ใกล้ตัวที่น่าจะเป็นปัญหาคาใจวัยรุ่นกันมาหลายต่อหลายยุคอย่าง ‘ทรงผมนักเรียน’ ที่เราเห็นทั้งการออกมาเรียกร้องผ่านโซเชียลมีเดียต่างๆ และการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เพื่อให้ยกเลิกการตัดผมตามแบบที่ราชการกำหนด เนื่องจากไม่ได้มีความเกี่ยวข้อง หรือเกิดมรรคผลใดๆ กับการเรียนเลย ซึ่งเราก็ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้น (บ้างแล้ว) หรือ ‘Gen-Z for Change’ องค์กรไม่แสวงผลกำไรที่สนับสนุน และรวบรวมมูฟเมนต์ต่างๆ ของเหล่าวัยรุ่นเอาไว้ ซึ่งมีผู้ติดตามในแอ็กเคานต์ TikTok กว่า 1 ล้านคน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า สื่อสังคมออนไลน์เป็นพื้นที่ในการแสดงออกทางสังคมได้จริงๆ
การเคลื่อนไหวที่เป็นก้าวใหม่ให้ Activist ในอนาคต
เนื่องจากวัยรุ่น Gen Z เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เกิดมาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงมากมายของโลกทั้งสภาวะทางเศรษฐกิจ สภาพแวดล้อม และข้อมูลข่าวสารจากทั่วทุกสารทิศ ทำให้พวกเขาได้เห็นถึงปัญหาในสังคมที่พวกเขาต้องใช้ชีวิตอยู่ (ทั้งที่กำลังเกิดขึ้น และที่ต้องรับช่วงต่อจากคนรุ่นก่อน) จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกถ้าวัยรุ่นจะให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลง และพัฒนาสังคมไปในทางที่ดีขึ้น เพื่อความปลอดภัย และคุณภาพชีวิตของพวกเขาเอง
ปัญหาความเท่าเทียม และปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมคือ ประเด็นที่เราจะเห็นได้ชัดเจนจากการขับเคลื่อนสังคมของวัยรุ่น Gen Z ซึ่งแสดงให้เห็นถึงทัศนคติของเหล่าวัยรุ่น ทั้งเรื่องการยอมรับความแตกต่าง, การเชื่อในความหลากหลาย และความเท่าเทียม, การเคารพความเป็นตัวของตัวเอง และการใส่ใจสิ่งแวดล้อม
Photo Credit: New York Post / Thailand Plus
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ เช่น ‘เกรตา ธันเบิร์ก’ (Greta Thunberg) นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมที่หลายๆ คนต้องรู้จัก เพราะเธอคือ ตัวแทนของเหล่าวัยรุ่นที่ออกมาเรียกร้อง และสร้างความตระหนักรู้ถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่กำลังส่งผลกระทบกับความเป็นอยู่ของทุกๆ คน อย่างปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ นอกจากนี้เธอยังเคยเข้าร่วมการประชุมกับผู้นำระดับโลก ว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอีกด้วย หรือนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมชาวไทยอย่าง ‘ลิลลี่ – ระริน สถิตธนาสาร’ ที่ออกมาเรียกร้องให้ห้างสรรพสินค้าลดขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งในปี 2021 เนื่องจากปัญหาขยะพลาสติกที่เกิดจากวิถีชีวิตของคนเมือง
นอกจากนี้ยังมีกรณีของ ‘ตะวัน — ทานตะวัน ตัวตุลานนท์’ และ ‘แบม — อรวรรณ ภู่พงษ์’ สองนักกิจกรรมอิสระ ที่แสดงจุดยืนเรียกร้องให้ศาลปล่อยผู้ต้องขังการเมืองทุกคน โดยการอดอาหาร และน้ำ (Dry Fasting) ซึ่งเป็นการเรียกร้องที่แลกมาด้วยปัญหาสุขภาพ และความเสี่ยงอันตรายถึงชีวิต แต่พวกเธอก็เลือกที่จะใช้วิธีนี้เพื่อต่อสู้กับสิ่งที่พวกเธอมองเห็นว่าไม่ยุติธรรม
จากตรงนี้เราก็คงได้เห็นแล้วว่า วัยรุ่นในปัจจุบันกำลังเรียกร้อง และออกมาเคลื่อนไหวทางสังคม ด้วยรูปแบบ และวิธีการของพวกเขาเอง ผ่านเครื่องมือที่ตนเองถนัด ซึ่งการกระทำเหล่านี้จะเป็นการวางอนาคตให้กับเหล่านักเคลื่อนไหวรุ่นใหม่ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ว่า เมื่อเราเห็นความไม่ปกติในสังคม เราสามารถแสดงออกได้อย่างเสรี ผ่านรูปแบบ หรือวิธีการใดก็ได้ที่เราต้องการ และพึงพอใจที่จะทำ
“ที่สำคัญที่สุด อายุไม่ใช่อุปสรรคในการสร้างสังคมที่ยุติธรรมอีกต่อไปแล้ว”
เพราะวัยรุ่นยังมีเวลาให้ลองล้ม และลุกขึ้นสู้ใหม่
‘เกรี้ยวกราด’ ‘ไร้ความอดทน’ ‘หัวร้อน’ เป็นคำที่เรามั่นใจว่าเหล่าวัยรุ่น Gen Z ส่วนหนึ่งต้องเคยได้ยิน ซึ่งเรามองว่า 'ความหุนหันพลันแล่น และความกล้าบ้าบิ่น' ไม่ใช่ตัวตนของวัยรุ่น Gen Z แต่เป็นพัฒนาการของมนุษย์วัยรุ่นในทุกยุคทุกสมัย เพียงแค่กรอบของสังคม และพื้นที่ในการแสดงออกของยุคก่อน ไม่ได้เปิดกว้างเท่ากับปัจจุบัน ทำให้ภาพการเรียกร้องของวัยรุ่นทุกวันนี้ มันช่างเกรี้ยวกราด และแสดงออกแบบตะโกนสุดๆ ไปเลย
ลองนึกภาพของนักเคลื่อนไหวในยุคก่อนดูสิ ภาพที่เราเห็นคงเป็นผู้ทรงภูมิ, คนที่เรียนจบสูง, มีความรู้ถ่องแท้ ถึงจะพร้อมออกมาพูดประเด็นทางสังคมได้ (เพราะมันช่างเปราะบางเสียเหลือเกิน) แต่เราต้องรอถึงจุดนั้นจริงหรือ? ในเมื่อความเป็นจริง เราไม่จำเป็นต้องเรียนจบสูงๆ ก็สามารถส่งเสียงของเราออกมาได้ เพราะความบิดเบี้ยว ผิดเพี้ยนในสังคม มันตั้งอยู่ตรงหน้าเราตลอดเวลา ขอเพียงแค่เราเห็นมัน เราก็สามารถเรียกร้อง และต่อสู้กับความไม่ยุติธรรมได้แล้ว
คนส่วนหนึ่งอาจจะมองว่า การที่วัยรุ่นออกมาเรียกร้อง เป็นเพียงความกราดเกรี้ยว ผสมกับการไหลไปตามกระแสสังคม ของเหล่าเยาวรุ่นที่ฮอร์โมนพลุ่งพล่าน ซึ่งก็อาจจะจริง แต่ถ้ามันทำให้ปัญหาที่แฝงเร้นอยู่ในสังคมถูกเปิดเผยออกมา สร้างความตระหนักรู้ ที่อาจจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้ นั่นไม่ใช่เรื่องที่ดีหรอกหรือ?
ก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ว่าการไหลไปตามกระแสของวัยรุ่นบางคน อาจเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดของพวกเขา โดยเฉพาะหนุ่มสาวที่เคลื่อนไหวบนอินเทอร์เน็ต โดยใช้โซเชียลมีเดียในการแสดงความคิดเห็น
แต่จะมีสักกี่คนที่ไม่เคยทำเรื่องผิดพลาดในช่วงวัยรุ่น?
พูดกันตรงๆ ใครๆ ก็เคยผิดพลาดกันทั้งนั้น จะมากจะน้อยก็แล้วแต่ตัวบุคคล เพราะมันคือ สิ่งที่แสดงออกถึงพัฒนาการของวัยรุ่น ซึ่งเรามองว่า การที่วัยรุ่น Gen Z แสดงออกถึงความกล้า ไม่กลัว และพร้อมลุย ก็ไม่ใช่เรื่องผิดบาปอะไร ซ้ำยังทำให้เห็นถึงพลังของคนรุ่นใหม่ ที่ออกมาตอบโต้กับความผิดปกติ และความบิดเบี้ยวของสังคม
สิ่งที่คนส่วนหนึ่งกังวลใจกับประเด็นการไหลไปตามกระแสของเด็กๆ คงหนีไม่พ้นเรื่องของข้อมูลที่ชี้นำแบบผิดๆ เพราะ วัยรุ่นส่วนหนึ่งอาจจะยังขาดความรู้เท่าทันสื่อ ซึ่งจะทำให้การไหลไปตามกระแสของพวกเขา เป็นการไหลไปผิดทาง ด้วยข้อมูลที่ผิด ไม่เป็นความจริง จนร้ายแรงที่สุดอาจชี้นำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบที่ไม่ถูกต้อง เช่น การก่อเหตุรุนแรงทั้งต่อตนเอง และผู้อื่น ซึ่งการกระทำสิ่งใดโดยไม่ไตร่ตรองเช่นนี้คือ สิ่งที่ผู้ใหญ่บางส่วนกังวลว่า ลูกหลานที่ไหลไปกับกระแส หรือการปลุกปั่นจนเดินทางผิด จะต้องมานั่งเสียใจกับความพลั้งพลาดในภายหลัง
ถ้าวันหนึ่งการไหลไปตามกระแส จะทำให้พวกเขาต้องมานั่งเสียใจทีหลังจริงๆ พวกเขาก็ยังเด็ก และมีเวลามากพอให้ลุกขึ้นมาแก้ตัวใหม่ และเป็นบทเรียนสู่การเติบโตไปต่อสู้กับสังคมที่ผิดเพี้ยน และความไม่เป็นธรรมในอนาคตได้
“ถ้ามัวแต่กลัวล้ม เราอาจจะไม่เหลือเวลาให้เรียนรู้เลยก็ได้ ว่าเราต้องลุกขึ้นมาอย่างไร”