ถ้าพูดถึง ‘โคล่า’ มันคงเป็นหนึ่งในเครื่องดื่มที่แค่ได้ยินชื่อก็สดชื่นแล้ว แต่โคล่าที่เราอยากแนะนำให้ทุกคนได้รู้จักวันนี้ จะพิเศษขึ้นกว่าโคล่าที่เราได้เห็นตามท้องตลาดอีกสักหน่อย เนื่องจากมันคือ ‘โคล่าสด’ (Fresh Cola) ซึ่งเรามีโอกาสได้คุยกับ ‘กิฟ’ – ณัฐธิดา วงศ์มหาศิริ Cola Maker และเจ้าของ ‘aircraft’ แบรนด์โคล่าสดเจ้าแรกในกรุงเทพฯ ที่จะชวนเราเดินทางผ่านเรื่องราวของแบรนด์แบรนด์โคล่าเล็กๆ, วัฒนธรรมโคล่า, ไอเดียที่ซ่อนอยู่ และความสุขในแบบของนักปรุงโคล่าคนนี้
จากแรงบันดาลใจ และวิชาชีวิตสู่แบรนด์โคล่าที่สะท้อนตัวตนของคนทำ
เราเข้าไปเยี่ยมกิฟที่ร้าน และได้เริ่มพูดคุยถึงจุดเริ่มต้นของ aircraft ในบรรยากาศสบายๆ ของร้านโคล่าเล็กๆ แห่งนี้
“จริงๆ แล้วก็เหมือนได้รับอิมแพกมาจากคนอื่น ก็คือช่วงปี 2013 กิฟเป็นคนชอบอ่านหนังสือ แล้วได้อ่านหนังสือที่พูดประมาณว่า บางทีเราไม่รู้ว่าเราทำอะไรได้บ้าง เพราะเรายังไม่เคยลองทำอะไรหลายๆ อย่าง กิฟได้แรงบันดาลใจมากๆ เพราะในหนังสือเล่าว่าในช่วงที่เขามีเวลาว่าง เขาก็อยากจะสร้างตัวเองขึ้นมา เช่น ฝึกเขียนลายมือใหม่ ฝึกสกิลใหม่ๆ ซึ่งมันทำให้เกิดคำถามกับตัวเองว่า เราน่าจะทำอะไรในช่วงที่เราว่างบ้าง ซึ่งโคล่าเป็นหนึ่งในสิ่งที่ทำช่วงนั้นพอดี จริงๆ ก็ลองทำหลายอย่างที่ทำในช่วงนั้น ซึ่งโคล่าเป็นหนึ่งในโปรเจกต์ที่กิฟทำ ก็เริ่มมาจากตรงนั้น แล้วพอช่วงปีหลังๆ มา สามีกิฟเปิดร้านกาแฟ เราก็มีโอกาสทำขึ้นมาให้ลูกค้าชิม แล้วเขาก็บอกว่า อันนี้น่าสนใจนะ เราก็เลยลองใส่เป็นเมนูดู ปรากฏว่าฟีดแบ็กดี แล้วเราก็ไปเปิดตัวครั้งแรกที่ Bangkok Design Week ในครีเอทีฟมาร์เก็ต ก็เลยเป็นครั้งแรกที่เรามีแบรนด์เป็นตัวเป็นตน ในชื่อ ‘aircraft cola’ ค่ะ” กิฟเล่า
“เคยมีคนถามกิฟว่า ในช่วงเวลาที่ไม่มีใครนึกถึงโคล่า ทำไมกิฟทำมาร้านโคล่า ทั้งที่มันดูไม่ได้มีกระแสอะไรมาก่อน นึกอย่างไรถึงทำ? เราก็ตอบไปว่า ‘ก็เพราะมันเป็นกิฟมั้ง' เพราะว่ากิฟอาจจะไม่ได้อินกับกระแสที่คนอื่นชอบไง แต่ว่าโคล่าคือสิ่งที่กิฟสนใจ เลยไม่ได้มองขนาดนั้นว่า คนอื่นเขาทำอะไร แต่มองว่า เราอยากทำอะไรมากกว่า ตอนที่จะเปิดเป็นแบรนด์โคล่าขึ้นมา เพื่อนก็ถามว่า เฮ้ย! ทำแบรนด์โคล่าขึ้นมาเลยจริงดิ! เราก็บอกว่า ใช่ๆ ตกใจเหรอ ซึ่งกิฟไม่คิดว่าเขาจะตกใจ เขาก็คงรู้สึกว่า มันประหลาดเน๊อะคนที่ลุกขึ้นมาทำโคล่าของตัวเอง แต่เราดันไม่ได้คิดว่ามันประหลาด คิดว่ามันคงสนุกดีที่ได้เป็น Cola Maker”
เราชวนกิฟย้อนกลับไปถึงประสบการณ์ขายโคล่าในวันแรกๆ ซึ่งนั่นก็ทำให้กิฟหัวเราะออกมาทันที ก่อนจะเล่าว่า “มันตลกมากเลย ปีแรกที่เราไปขาย ด้วยความที่ Creative Market ใน Bangkok Design Week มันเป็นที่ที่คน Open-minded มากๆ เขามาเดินกัน เขามาดูงานดีไซน์ มาดูนิทรรศการใหม่ๆ ของบรรดาดีไซเนอร์ หรือคนที่เป็นผู้ประกอบการที่อยากจะโชว์เคส รู้สึกว่าคนที่เดินงานเป็นคนที่เปิดกว้างมากๆ เป็นคนสนใจอะไรใหม่ๆ เราจำได้เลยว่า มีลูกค้าที่เป็นชาวต่างชาติเดินมา แล้วก็ถามว่าเราขายอะไร เราก็พยายามอธิบาย เขาก็ยังไม่เข้าใจ แต่เขาโคตรเป็น Brave Customer เลย ว่า เออ ไม่ค่อยเข้าใจ แต่ว่าลอง นั่นคือลักษณะตอนแรกๆ ที่เราทำ ก็คือคนไม่ค่อยเข้าใจ มันเป็น Early Stage มากๆ คนไม่เคยมีประสบการณ์ของโคล่าแบบนี้มาก่อนเลย แล้วเขาก็คุ้นชินกับอะไรที่มันอยู่ในขวด เขาก็ไม่เข้าใจว่ามันเป็นอย่างนี้ได้เหรอ มันก็เป็นช่วงที่เรา Educate เขา ว่าเราทำสิ่งนี้จากส่วนผสมสดนะ เป็นสูตรของเราเองนะ มันก็เป็นช่วงที่ทำให้ลูกค้าได้รู้จักเรามากขึ้น มันเซอร์ไพรส์เราว่า เขายังไม่รู้เรื่องกับเราเลย แต่ว่าเขาก็อยากลอง”
มุมน่ารักๆ ของ ‘Fresh Cola’ และ ‘Guest Soda’
“เราก็ไม่เรียกตัวเองว่า Craft Cola ด้วย เราเรียกตัวเองว่า Fresh Cola” กิฟบอกกับเรา ก่อนอธิบายให้ฟังต่อว่า “มันเป็นคำที่กิฟคิดขึ้นมา เพื่อจะสื่อสารให้โคล่าของเรามันต่างออกไป ให้กลายเป็นจุดยืนของแบรนด์เราจริงๆ ต้องพูดว่า Craft Soda มันมีอยู่แล้วในเมืองไทย แต่ว่าคนที่ลุกขึ้นมาแล้วเรียกตัวเองว่าเป็น Cola Maker เท่าที่กิฟรู้ก็คือ ยังไม่มี ในตอนนั้นที่เราทำ เราเป็นคนแรกๆ เลย ที่วางตัวแบบนั้น เราตั้งใจเพื่อให้ตัวเราต่างไปจากคนอื่น เพื่อให้คนจดจำเราได้ ซึ่งเราวางตัวเลยว่า เราเป็น Cola Maker นะ เรา Specialize ในการทำโคล่า แล้วสิ่งที่เราขายไม่ใช่ Craft Cola แต่เป็น Fresh Cola เป็นคำของเรา เพื่อที่จะแสดงให้เห็นเลยว่าเราคือที่แรกที่ทำ ‘โคล่าสด’ ค่ะ”
“คำว่า Fresh Cola ถูกคิดขึ้นมาเพื่อที่จะอธิบายลูกค้าว่า โคล่าของเราผสมสด เสิร์ฟสด และใช้วัตถุดิบสดทำขึ้นมา คนทั่วไปคุ้นเคยว่าโคล่าก็คือของที่อยู่บนเชลฟ์ให้เราไปซื้อ แต่ Fresh Cola คือ ประสบการณ์ใหม่ที่เราอยากนำเสนอ นอกจากความคราฟต์ ความประณีต แล้ว เราตั้งใจนำเสนอประสบการณ์โคล่าทำสด เป็นแนวทางที่เราวางไว้ตั้งแต่ต้นเพื่อให้เกิดเป็นภาพจำของแบรนด์” กิฟย้ำกับเรา ก่อนจะเริ่มอธิบายถึง Fresh Cola ให้เราฟังเพิ่มเติม
“จริงๆ กิฟต้องอธิบายก่อนว่า Fresh Cola คืออะไร อาจจะด้วยความเป็น Early Stage ของวัฒนธรรมนี้ ตอนนี้คนอาจจะเริ่มรู้บ้างแล้วว่าเราทำอะไร ซึ่งถ้าย้อนกลับไปช่วงที่เราทำตอนแรกเลยก็จะยิ่งหนักกว่านี้อีก คือตอนแรกๆ คนยังไม่เข้าใจมากนักว่าเราทำอะไร มันเป็นเรื่องใหม่มากๆ เวลาเราบอกว่าเราทำโคล่า คนส่วนมากจะงงค่ะ”
“Fresh Cola มันเป็นการย้อนกลับแหละ เดิมโคล่ามันไม่ได้อยู่ดีๆ เข้าไปอยู่ในระบบอุตสาหกรรม มันก็เกิดมาแบบนี้ เกิดมาจากการใช้วัตถุดิบจริงๆ ในการปรุงมันขึ้นมา ความพิเศษของโคล่ามันคือ ความซับซ้อนของส่วนผสม และรสชาติ ซึ่งก็มีเอกลักษณ์บางอย่างที่ทำให้คนจำได้ เป็นลักษณะพิเศษมากของโคล่า มันไม่ใช่ว่าคุณกินปุ๊บคุณจะรู้ว่ามันมีอะไรในนั้น ความซับซ้อน และความที่กินเข้าไปแล้วไม่รู้นี่แหละ คือเอกลักษณ์ที่พิเศษและสำคัญของโคล่า ซึ่งเราดึงจุดนี้กลับมา เราดึงมุมที่น่ารักของโคล่ากลับมา แน่นอนว่าคนก็อาจจะมีภาพลบกับโคล่านิดหนึ่ง แต่ด้วยความที่เราเป็น Cola Maker เราก็อยากจะเป็นทูตสัมพันธไมตรีระดับหนึ่งว่า เราไม่ได้ทำอาหารสุขภาพแน่นอน เราไม่เคยบอกว่าเราทำ Healthy Cola เพราะเราเคลมไม่ได้ ถ้าจะ Healthy มันต้องน้ำผักสิ แต่ว่าเราก็จะบอกว่า โคล่าก็มีมุมที่น่ารักนะ เช่น อบเชยที่เราใส่ นอกจากมันจะให้อโรม่าที่เป็นกลิ่นอุ่นๆ หวานๆ มันก็ช่วยขับแก๊สออกมาด้วย เหมือนกินแก้กันไว้ เหมือนที่คนไทยเชื่อว่ามันมีของที่กินแก้กันให้ร่างกายมันสบาย หรือวานิลลาซึ่งมันอยู่ในโคล่า มันเป็น Mood Booster นะ มันทำให้เรารู้สึกรีแลกซ์ ทำให้เรารู้สึกดี มันทำให้เรารู้สึกแฮปปี้ เราก็เลยพูดว่า มุมนี้มันทำให้เห็นด้านที่เป็นมิตรของโคล่ามากขึ้น ก็เป็นจุดที่เราพยายามสื่อสารออกไป”
แต่ในร้าน aircraft cola ไม่ได้มีแต่เจ้าบ้านอย่างโคล่าเท่านั้น เมื่อกิฟแนะนำให้เรารู้จักเครื่องดื่มในกระป๋องที่แปะฉลากหลายสไตล์ที่เรียกว่า ‘Guest Soda’ แขกที่มาแวะเวียนสร้างความสดชื่นให้ร้านแห่งนี้
“เราจะบอกลูกค้าเลยว่า จริงๆ เราเป็นแบรนด์ที่ขายโคล่า แล้วโพสิชั่นของเราชัดเจนว่าเป็น Cola Maker ดังนั้นซิกเนเจอร์ที่มาแล้วต้องกินคือ โคล่า แต่แน่นอนว่าเราก็ไม่ใช่คนที่บังคับใคร ก็แล้วแต่ชอบ ด้วยสไตล์คนไทยของเรา ที่ชอบความหลากหลาย เราก็ออกอีกไลน์หนึ่งออกมา เรียกว่า ‘Guest Soda’ เหมือนโคล่าเป็นเจ้าของบ้าน ก็จะมีเพื่อนโซดารสชาติต่างๆ แวะมาเยี่ยมสลับไปสลับมา ซึ่งเรารู้สึกว่า Guest Soda มันเป็นความซนของเรา แบบว่าในระบบอุตสาหกรรมมันจะสปอยล์เรามากๆ เลยว่า ถ้าเราไปเราจะเจอสิ่งที่เราอยากได้ตลอดเวลา แล้วก็จะได้อย่างใจทุกอย่าง แต่ aircraft cola มีความคิดอีกแบบหนึ่ง ซึ่งอาจจะสวนกับทางนี้นิดหนึ่งว่า มันก็ตื่นเต้นดีนะถ้าเกิดว่ามาแล้วไม่เจอ เหมือนสมัยก่อนเราจะกินมะม่วง เราต้องรอหน้ามะม่วงเพื่อจะได้กินมะม่วงที่ดี เราก็เลยอยากให้ความรู้สึกนั้นมันอยู่ใน Guest Soda ก็เหมือนกับว่า ถ้ามาในช่วงที่มีแขกคนนี้ก็จะได้เจอ แต่ถ้าไม่เจอก็ไม่เป็นไรนะ มีตัวอื่นให้เจอ ซึ่งเรารู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่อาจจะไม่ได้เป็นกระแสใหญ่ของช่วงนี้ แต่เราก็รู้สึกว่ามันน่ารักดี แล้วมันทำให้เราได้กลับมาคิดว่า มันจำเป็นจะต้องสปอยล์เราขนาดนั้นไหม หรือว่าการมาในจังหวะที่ได้พบกันพอดี มันก็สร้างอีกความรู้สึกหนึ่งที่มันตื่นเต้นได้ เหมือนกลับมาที่นี่แล้วจะเจออะไรอีก จะเจอตัวนั้นไหมที่เราอยากกิน หรือมันจะหมดไปแล้ว เกสต์โซดาย้ายออกจากบ้านไปแล้วหรือเปล่านะ ก็รู้สึกว่ามันก็สร้างทางในการนำเสนอโปรดักต์ของเราเองขึ้นมา ซึ่งมันอาจจะไม่ถูกใจทุกคน แต่เราก็คิดว่าเราอยากนำเสนออะไรแบบนี้ให้กับวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นด้วยเหมือนกัน”
แต่ก็ใช่ว่ากิฟจะหวงพื้นที่แห่งความสุขนี้ไว้คนเดียว เมื่อเธอก็เปิดกว้างให้กับคนที่สนใจได้เข้ามาลองเล่นสนุกไปกับเธอด้วยเช่นกัน
“จริงๆ แล้วเหมือนเราก็เล่นสนุกอยู่ แล้วเพื่อนก็เริ่มขอร่วมวงด้วยได้ไหม อะไรอย่างนี้มันก็เกิดขึ้นบ้าง หรืออย่างโปรเจกต์ล่าสุดของน้องหูยาว ที่ทางศิลปินเองก็มากิน แล้วก็รู้สึกว่าเราทำอะไรร่วมกันได้ไหม หรือบางคนก็เป็นลูกค้าของเราอยู่แล้ว โดยมากก็มาจากทางเพื่อนๆ หรือลูกค้าแนะนำกันมา แล้วก็พอมาช่วยกันทำโปรเจกต์มันก็เหมือนมีคนช่วยคิด เหมือนกับว่ามาช่วยกิฟคิดด้วยว่าวันนี้จะเล่นอะไรดี ก็เหมือนเป็นเพื่อนเล่นกัน เพราะฉะนั้นเราก็เลยเรียกคนที่มาคอลแลบว่า ‘Playmate’ เหมือนเป็นคนที่มาเล่นในสนามเด็กเล่นของกิฟด้วยเหมือนกัน มาช่วยกันเล่น อาจจะมีบางเกมที่เราเล่นคนเดียวก็ได้ด้วย” กิฟอธิบาย
รสชาติที่สื่อสารผ่านเรื่องราว และกระบวนการคิด
แน่นอนว่า มานั่งคุยกันถึงที่ร้าน จะไม่ลองชิมเครื่องดื่มจากการรังสรรค์ของกิฟก็อย่างไรอยู่ เราจึงให้กิฟแนะนำเครื่องดื่มให้เราได้ลอง
“โคล่าก็จะเป็นพระเอก เป็นเจ้าของบ้าน เป็น A Must ที่อยากให้ชิม แล้วเป็นสูตรของเรา ซึ่งกิฟใช้เวลาพัฒนานานมาก มันเหมือนเป็นอีกวิชาหนึ่งเลย สมมุติว่าเราเรียนจบมหา’ลัยแล้วมันก็คือจบไป แต่ว่าจริงๆ แล้ว การทำโคล่ามันเหมือนเป็นอีกวิชาเรียนหนึ่งของกิฟเลย มันทำให้กิฟได้เติบโตขึ้น ก็อยากให้มาลองรสชาติที่มันเกิดจากการที่เราค่อยๆพัฒนาขึ้นมา”
“ส่วนบัตเตอร์เบียร์ (Butter Beer) ก็เป็นความซน เป็นหนึ่งใน Guest Soda แล้วดันกลายเป็นลูกรักของลูกค้าจำนวนมาก ตอนแรกก็คือคอนเซ็ปต์ของ Guset Soda มันจะต้องมาค้างที่บ้านแล้วก็ต้องออกไป แต่ว่ามีลูกค้าบอกว่าอยู่ตลอดไปเถอะ เพราะว่าอยากจะกิน เราก็เลยรู้สึกว่า มันอาจจะมีเพื่อนบางคนที่เราอยากจะให้อยู่บ้านนอนไปเลย เป็นแขกประจำมาซ้ำได้บ่อยๆ ก็รู้สึกว่าเป็นรสชาติที่ชวนให้อุ่นใจ อนุญาตให้อยู่ไปยาวๆ กิฟคิดว่ามันเป็นรสชาติที่ Comfort แล้วก็กินกับโคล่าได้ดีด้วย เป็นตัวที่หลายคนชอบ เพราะว่าเราทำรสชาติเข้มข้น และใช้วานิลลาแท้ ก็จะรู้สึกต่างไปจากที่เคยกิน”
“ส่วนน้ำมนต์ (Blessing Water) ก็จะเป็นอีกไลน์หนึ่ง เป็น Guest Soda ที่เป็น Concept Soda ที่เราทำกับ The Contextual ที่เป็นบริษัทออกแบบประสบการณ์ แล้วเขาให้โจทย์เรามาว่า จะทำโซดาอะไรดี ที่สื่อการรับรู้ประสบการณ์ที่มันต่างออกไป แล้วเขาก็โยนโจทย์มาให้ว่า กิฟทำโซดาที่มันเป็นน้ำมนต์ได้ไหม ตอนแรกได้โจทย์มาก็คืองงมาก แต่ว่าเราก็ช่วยกันเบรนสตรอม ก็ได้ทางที่เป็นโซดาน้ำมนต์ออกมาจริงๆ แล้วไปเปิดตัวที่ Creative Market ของ Bangkok Design Week ปีที่แล้ว ปรากฏว่า มันก็ทำให้เกิดประสบการณ์ที่ต่างกันออกไปจริงๆ สมมติเราบอกลูกค้าว่า นี่เป็นโซดารสน้ำมนต์ ความรู้สึกที่เขาได้มันต่อไปอีก เขาก็จะมีคำถามกลับมาว่า กินแล้วจะร้อนไหม น้ำมนตร์มันไปผูกกับความเชื่อบางอย่าง มันเป็นตัวแทนของประสบการณ์ที่ต่างออกไปจากของกิน คนก็ยังงงอยู่เลยว่า ตกลงกินได้ไหมคะ หรือเอาไว้สาด (หัวเราะ) มันก็เป็นความสนุกที่เราทำ”
“มุมหนึ่งที่ aircraft cola อยากสร้างแรงบันดาลใจให้คนอื่นคือ พอเราโตมาทำงานแล้ว ชีวิตเราก็เลยมีแต่งาน แล้วก็มีวันหยุด แต่เราไม่ได้เล่นอะไรเลย เราไม่ได้ปล่อยให้ตัวเองได้ค้นพบอะไรเหมือนตอนที่เราเป็นเด็กตัวเล็กๆ แล้ว เพราะฉะนั้น Guest Soda มันก็เลยเป็นเหมือนสนามเด็กเล่นของกิฟ เพียงแต่ตัวกลางของมันคือรสชาติ หมายถึงว่า การทำรสชาติต่างๆ ดังนั้น aircraft cola ก็เลยจะมีโซดาที่เป็นรสที่จะไม่เจอในร้านอื่น เช่น ‘Happy Sick Kid’ เป็นโซดาที่ปรุงด้วยวินิการ์ลูกเกดที่หมักเอง มันก็อาจจะเจอได้ยากในร้านอื่น แต่มันเจอที่นี่ เพราะว่ามันเป็นการทดลองของกิฟ หรือเป็นสิ่งที่กิฟสนใจ มันก็เลยมีอะไรแปลกๆ แบบนี้เกิดขึ้น อย่างบ๊วยหนึ่งปี หรือ ‘Never Too Old’ ก็มาจากเรื่องราวรอบๆ กิฟเหมือนกับ เราเกิดหน้าบ๊วยพอดีเลย เลยดองบ๊วยดู ปีแรกดองเล็กมาก มีคนมากินได้แค่ 20 คน ก็ขยายสเกลเพราะคนอยากจะกิน เราเลยดองบ๊วย 1 ปีด้วยกิมมิก และสตอรี่ว่ามันเป็นรสชาติที่โตมาพร้อมกับกิฟ 365 วันเลย แล้วก็มาเปิดไหฉลองวันเกิดกับกิฟนะคะ ลูกค้าก็จะรู้ว่า ช่วงมีนาคม - พฤษภาคม ก็จะได้กินโซดาบ๊วย 1 ปี ถ้าหมดแล้วก็คือหมดเลยมากินไม่ทัน”
ก้าวเล็กๆ ในวัฒนธรรมโคล่า
เป็นเวลาไม่น้อยเลยที่กิฟได้เปิดแบรนด์โคล่าแบรนด์นี้ขึ้นมา และวางตัวเองเป็น Cola Maker ดังนั้น เราจึงให้กิฟพาเราเดินทางผ่านวัฒนธรรมโคล่าในแบบที่ได้เจอมา
“ถ้าพูดถึงวัฒนธรรมของโคล่าคงต้องย้อนกลับไปก่อนว่า โคล่าหรือน้ำซ่าต่างๆ มันมาได้อย่างไรก็ต้องบอกว่าจริงๆ น้ำซ่ามันเป็นของที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ เดิมคนไทยไม่ได้มีวัฒนธรรมกินน้ำอัดแก๊ส แต่ว่ามันเป็นของต่างชาติที่เข้ามาช่วงสมัย ร.5 - ร.6 ถ้าจำไม่ผิดมันเป็นน้ำโซดารสมะนาวที่อัดแก๊ส แล้วนำเข้ามาจากทางสิงคโปร์ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่คนไทยมีน้ำซ่า มันเป็นของโก้เก๋มากในสมัยนั้น เป็นของราคาแพง ของแฟชั่น นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการที่มันมีวัฒนธรรมเรื่องนี้เข้ามา แล้วก็ค่อยเบลนด์อินไปกับวัฒนธรรมของเรา เหมือนเป็นของที่เข้ามาอยู่กับพวกเรา จากเดิมที่มันไม่ได้อยู่ แต่ก็รู้สึกว่ามันมีความเข้าคู่กันประมาณหนึ่ง คือแม้ว่ามันไม่ได้อยู่ในวัฒนธรรม เพราะเราไม่ได้ดื่มน้ำ Sparkling เหมือนทางยุโรป แต่ว่ามันมีความเข้ากันตรงที่เราเป็นเมืองร้อน แล้วกิฟก็จะเล่าอันนี้ให้คนฟังอยู่เรื่อยๆ ว่าจริงๆ ถ้าเราดื่มน้ำใส่น้ำแข็งมันลดความร้อนจากร่างกายเราได้แค่ระดับหนึ่งนะ แต่ว่าการที่มีคาร์บอนไดออกไซด์ หรือความซ่า มันช่วยดูดความร้อนออกจากร่างกายอีกหนึ่งระดับ เป็นระดับโมเลกุลเลย ก็เลยรู้สึกว่าถึงน้ำซ่ามันไม่ได้เกิดจากวัฒนธรรมของเรา แต่ว่ามันมีความแมทช์กันในเรื่องของดินแดน หรือสภาพอากาศประมาณหนึ่งเลย” กิฟเล่าย้อนถึงความรู้ที่เธอได้ค้นคว้ามา ก่อนจะเล่าต่อถึงวัฒนธรรมโคล่าที่เธอได้เจอ
“แล้วก็รู้สึกว่าวัฒนธรรมโคล่าในไทยตอนนี้ อาจจะเป็น Early Stage มากๆ ในการเริ่มต้น ถ้าเทียบกับวัฒนธรรมกาแฟ หรือชาที่ยิ่งใหญ่อลังการมากในบ้านเรา แล้วก็รู้สึกว่ามันอาจจะเป็นจุดที่เราทำความเข้าใจกับคนกินนะ ว่าเราทำอะไร ซึ่งบางคนอาจจะยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันมีคนทำอะไรแบบนี้ด้วย อาจจะเป็นช่วงช่วงต้นมากๆ ที่เราทำความเข้าใจกับคน แต่เราก็รู้สึกว่าหลังจากเราทำมาหลายปีประมาณหนึ่ง คนก็เริ่มเข้าใจ เราอธิบายน้อยลง เหมือนเขาก็ Educate ตัวเองมาก่อนแล้ว หรือว่าลูกค้าต่างชาติที่เห็นเราจาก IG แล้วมาเที่ยวพอดี ก็คือดั้นด้นมากิน เราก็รู้สึกว่ามันมี Brave Customer ที่เป็นคนผลักดัน หรือซัพพอร์ตไอเดียใหม่ๆ ที่เราทำ”
“กิฟคิดว่าการที่จะเกิดวัฒนธรรมดีๆ ได้มันต้องมี 2 ฝ่าย มี Creator และ Customer เหมือนครั้งแรกที่เราไปขายงาน Bangkok Design Week ก็มีคนที่ฟังแล้วไม่เข้าใจเลย แต่ว่าก็ซื้อ ซึ่งเรารู้สึกว่า นี่คือลูกค้าที่ซัพพอร์ตให้เกิดสิ่งใหม่ๆ ขึ้นในวงการต่างๆ ก็เป็นพลังสนับสนุนใหม่ๆ ให้ครีเอเตอร์” กิฟเล่า ก่อนบอกถึงภาพอนาคตของวัฒนธรรมโคล่าที่เธอเห็น “ถามว่าอยากให้วัฒนธรรมในไทยโตไปทางไหน กิฟมองว่าถ้ามันจะเกิดวัฒนธรรมโคล่าดีๆ มันก็ต้องเกิดความเติบโตของตลาด แล้วการที่ตลาดจะเติบโตได้มันก็ต้องมีผู้เล่นเจ้าอื่นๆ เข้ามา มันก็คือการขยายตัวของตลาด เป็นความก้าวหน้าพัฒนาไปของวัฒนธรรม แต่กิฟว่ามันจะต้องโตขึ้น แล้วก็แข่งขันกันบนจุดที่สำคัญมากก็คือ ความคิดสร้างสรรค์ของคนทำ มันเหมือนวัฒนธรรมการสร้างแบรนด์ของคนญี่ปุ่น ที่เขาจะขายของประเภทเดียวกันก็จริง แต่ว่าเขาจะต้องหาทางที่มันแตกต่างของตัวเองออกมาให้ได้ มันทำให้เกิดพลังงานดีๆ กับวงการที่เราอยู่ ทำให้เกิดความหลากหลายของตัวเลือก มันเสริมแรงซึ่งกันและกันนะ แล้วมันก็จะช่วยยกระดับ และผลักดันวงการให้มันขึ้นไปอีก ก็อยากให้แลนด์สเคปของโคล่าในไทยมันเป็นแบบนั้น”
ความสุขของ Cola Maker และการเป็นโคล่าที่คนคิดถึง
“ความสนุกของการได้ทำ aircraft cola คือ การที่กิฟเป็น Cola Maker มันนำเอาโอกาสที่ไม่คาดคิดมาสู่ชีวิตกิฟ” กิฟเกริ่นก่อนที่จะหยิบโพสต์การ์ด และขวดโคล่าจากนานาประเทศมาโชว์เรา “อย่างการได้เจอลูกค้า หรือแม้กระทั่งเพื่อนที่ซัพพอร์ตในเรื่องที่เราสนใจ อย่างเช่น ไม่นานมานี้เกิดเป็นแคมเปญที่เล่นกันในหมู่เพื่อนๆของกิฟ ชื่อแคมเปญตั้งกันเองว่า #หาโคล่ามาให้กิฟ เกิดมาจากว่า ใครไปเที่ยวไหนแล้วเจอโคล่าที่ต่างประเทศ หรือเขาเห็นไอเทมอะไรที่มันเป็นโคล่าก็อดไม่ได้ที่เขาจะคิดถึงกิฟ เขาก็หิ้วมาฝาก เราก็บอกว่าไม่ต้องแบกมานะ เพราะว่าเขาต้องไปหลายประเทศ แล้วมันเปลืองที่ในกระเป๋า ถ่ายรูปมาเราแฮปปี้แล้ว แต่เขาก็แบบ มันต้องมี ต้องเสริมสร้างประสบการณ์โคล่าให้กิฟ ก็ต้องแบกมาให้ ซึ่งเราก็ต้องบอกว่า ขอบคุณมากๆ เลยที่ทำให้ขนาดนี้ ความสนุกของการทำโคล่ามันเลยอาจจะไม่ได้อยู่ที่ตัวโคล่าอย่างเดียว แต่เรารู้สึกว่าประสบการณ์ที่มากกว่านั้นคือการที่ผู้คนมีปฏิสัมพันธ์กับเราในฐานะที่เราเป็น Cola Maker แล้วมันเป็นประสบการณ์ที่ดี มันเป็นเรื่องที่สร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับชีวิต เหมือนกับพอเราก้าวไปสู่สิ่งนี้มันนำหลายสิ่งที่เราไม่คาดคิดมาสู่เรา และเราได้เจอ Meaningful Stranger เรารู้สึกว่าร้านเราค่อยๆ เติบโตเพราะว่าลูกค้าที่เราไม่รู้จักไปชวน ไปแนะนำเพื่อนมากิน หรือคนที่รีวิวให้ มันเกิดขึ้นโดยที่เป็นธรรมชาติ เรารู้สึกว่า เขาเป็นใครก็ไม่รู้ที่เราไม่รู้จักเลย แต่เขาทำกับเราดีมากเหมือนว่าเราเป็นเพื่อนคนหนึ่งของเขาเลย รู้สึกว่า มันเป็นจุดที่ถ้าเราไม่ได้ทำโคล่าเราคงไม่ได้เจอคนแบบนี้ เราก็ไม่รู้ว่าเขาเป็นใคร แล้วทำไมต้องดีกับเราขนาดนี้ ก็รู้สึกว่าขอบคุณ ถ้าได้อ่านก็ขอบคุณมากนะคะ”
“แต่มันไม่ได้มีแต่พาร์ทที่สนุกนะ มันก็มีพาร์ทที่เราไม่ได้อยากทำ ทำบัญชี เช็กสต๊อก เทรนพนักงานมันไม่สนุก แต่มันก็เป็นเหมือนโรงเรียน เป็นโอกาสที่ทำให้กิฟได้โตขึ้น ถ้ากิฟไม่ตัดสินใจเป็น Cola Maker ก็คงไม่เจอประสบการณ์แบบนี้” กิฟเสริม
“ยังคงยืนยันว่าเป้าหมายในการทำ aircraft cola คือ อยากจะเป็นโคล่าที่คนกินแล้วคิดถึง เรารู้สึกว่าจริงๆ แล้วธุรกิจใดๆ ถ้ามันจะมีทิศทาง หรือเติบโตต่อไปได้ มันก็เกิดจากการที่ลูกค้าคิดถึง เราก็ต้องบอกว่าขอบคุณที่คิดถึงเรานะ เราได้เจอลูกค้าที่กินมาตั้งแต่ตอนที่เรายังไม่มีโลโก้ แล้วคิดถึงเลยแวะกลับมากินอีกเรื่อยๆ หรือลูกค้าที่ไปงานอีเว้นท์แล้วแชทมาหาเพื่อจะบอกว่าเห็นคนต่อคิวกันยาวเลย ดีใจด้วยนะคะ นี่คือ Meaningful Stranger ในชีวิตกิฟไง ก็เลยรู้สึกว่าสิ่งที่ aircraft cola อยากเป็นก็คงเป็นโคล่าที่มันอยู่ในความทรงจำ นึกถึงแล้วอยากบอกคนอื่นว่ามีอะไรแบบนี้ด้วยนะ อันนั้นเป็นเป้าหมายที่ aircraft cola อยากเป็น”
“อีกอย่างหนึ่งก็คือ กิฟคิดมาตลอดเลยว่าการทำสิ่งใหม่ มันไม่ได้ยากเลย แต่การทำสิ่งใหม่ให้ดีมันยากมาก สมัยที่เรียนอาจารย์บอกว่า โปรดักต์ใหม่ออกมา 100 ชิ้น รอด 2 ชิ้น คือมาตรฐาน อีก 98 จะตาย เพราะว่าการทำของใหม่มันไม่ได้ยาก แต่ทำของใหม่ให้ดีมันยาก ดังนั้นแบบบางทีคนจะรู้สึกว่าการทำสิ่งที่ใหม่ หรือมีความสร้างสรรค์มันจะต้องใหม่มากเลย กิฟได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่ง เขาพูดถึงเรื่องเชฟว่า เวลาเชฟทำอาหาร แล้วเขาพูดถึงความคิดสร้างสรรค์ บางทีเขาไม่ได้หมายถึงการใส่สิ่งใหม่ๆ ลงไปเสมอนะ เพราะว่าสิ่งที่มันยากกว่าจริงๆ คือการทำสิ่งเดิมให้ออกมาดีเท่าเดิม ยากมากๆ สมมติว่าเขาทำสตูแล้วแคร์รอตของวันนี้ไม่เท่ากับเมื่อวาน มันก็คือความคิดสร้างสรรค์แล้วว่าจะแก้ปัญหาอย่างไรให้มันเท่าเดิม ซึ่งมันคือสิ่งที่ aircraft cola ทำ เพราะเราทำจากวัตถุดิบสด จะทำอย่างไรให้มันคือโคล่าแก้วเดิมที่มีความสร้างสรรค์ ความพยายาม ความตั้งใจของเราอยู่ในนั้น” กิฟอธิบาย
กิฟเสริมให้เราฟังอีกด้วยว่า วัตถุดิบที่ใช้ในแต่ละวันมีความต่างกัน ด้วยสภาพอากาศ การเก็บ การขนส่ง และอีกหลายๆ ปัจจัย ดังนั้นเธอจึงใส่ใจกับรสชาติในทุกๆ วัน ตั้งแต่เปิดแบรนด์มา เพื่อให้มั่นใจได้ว่า ลูกค้าจะได้รับประสบการณ์ในแบบที่เธออยากให้เป็นจริงๆ
“เราก็จะดีใจมากทุกครั้งที่ลูกค้ามารีวิวเรา อย่างชาวต่างชาติคนหนึ่งเขาก็เขียนว่า โคล่าของเราสามารถที่จะตอบความคาดหวังที่สูงของเขาได้ เขาอุตส่าห์เดินทางมาเพื่อแวะร้านของเรา ที่มันก็ช่างเล็กและลึกลับเหลือเกิน (หัวเราะ) พอเขาก็บอกว่ามันตอบโจทย์ เรารู้สึกดีใจว่าความพยายามทั้งหมดของเรา ที่เราไม่ได้มีโอกาสไปเล่าให้เขาฟัง แต่เขากินแล้วเขารับรู้ได้ถึงความพยายามนั้นของเรา แล้วเขารู้แล้วว่าเราทำงานหนักแค่ไหนเพื่อให้เขามากินแล้วเขาแฮปปี้ เรารู้สึกว่ามันเป็นความสำเร็จของเรา แล้วมันก็เป็นความสร้างสรรค์ในอีกมุมหนึ่ง” กิฟเล่าอย่างมีความสุข
aircraft Cola
23/13-14 อาคาร YJA 13 ศาลาแดงซอย 1
แขวงสีลม เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร 10500 (Google Map)
เปิดให้บริการทุกวัน
ตั้งแต่เวลา 11.00 - 19.30 น.
ติดตาม aircraft ได้ที่
Instagram: aircraft.bkk
Website: aircraft cola / aircraft cola - openlink