Culture

Roadrunner: A Film about Anthony Bourdain เมื่อการแตะขอบฟ้าไม่ได้งดงามอย่างที่วาดฝัน

ออกเดินทางไปในที่ที่คนอื่นไม่เคยไป ทำสารคดี เขียนหนังสือถึงโลกที่น้อยคนจะรู้จัก ฟังดูแล้วน่าจะเป็นงานในฝันสำหรับใครหลายๆ คน และถ้าเป็นไปได้ก็คงอยากจะขอไปแตะขอบฟ้าแบบนี้สักครั้ง มีคนจำนวนหนึ่งสามารถทำงานในฝันแบบนี้ได้สำเร็จ หนึ่งในนั้นคือแอนโทนี โบร์เดน เชฟผู้มีชื่อเสียงจากหนังสือ 'Kitchen Confidential' หรือชื่อภาษาไทยว่า 'เบื้องลึกในครัวลับ' ที่หยิบเอาเรื่องลับลวงพรางในวงการอาหารออกมาตีแผ่ให้สังคมได้รับรู้

หลังจากประสบความสำเร็จในฐานะนักเล่าเรื่อง โบร์เดนได้ออกเดินทางทั่วโลก เพื่อถ่ายทำรายการสารคดี A Cook’s Tour, No Reservation และ Parts Unknown ก่อนที่เขาจะตัดสินใจจบชีวิตลงเมื่อปี 2018 ขณะมีอายุได้ 61 ปี

Photo Credit: Rotten Tomatoes

อะไรที่ทำให้ชายผู้เป็นนักผจญภัยและนักเล่าเรื่องที่มีอารมณ์ขันอันเหลือร้ายก้าวสู่จุดจบอันน่าสลดใจ และเหตุใดอาชีพการงานในฝันจึงไม่อาจรั้งมนุษย์ผู้เป็นที่รักของทุกคนให้เดินทางต่อบนโลกนี้ได้? เรื่องราวเหล่านี้ถูกหยิบมาเล่า ผ่านปากคำของอดีตภรรยา เพื่อนสนิท และทีมงานของโบร์เดน ในภาพยนตร์สารคดี Roadrunner: A Film about Anthony Bourdain ที่ไม่ใช่แค่ชีวประวัติของโบร์เดนเท่านั้น แต่ยังสะท้อนมุมกลับของการเดินทาง ที่อาจไม่สวยงามอย่างที่หลายคนคาดคิด

การเติบโตนอกกำแพงห้องครัว

Photo Credit: NME

“ผมโทษหอยนางรมตัวแรกสำหรับทุกอย่างที่ผมทำหลังจากนั้น”

หากไม่มีหอยนางรมตัวแรกตัวนั้น โบร์เดนคงไม่นึกอยากชิมอาหารทุกชนิดทั่วโลก และโลกก็คงไม่ได้รู้จักเชฟผู้บ้าระห่ำและนักเล่าเรื่องชั้นยอดคนนี้

หลังจากกล่าวถึงความสำเร็จจากหนังสือเล่มแรกของโบร์เดน Roadrunner: A Film about Anthony Bourdain พาเราออกเดินทางพร้อมกับเชฟคนดังผู้นี้ในปี 2000

จากโลกอันเป็นระบบระเบียบภายในครัว โบร์เดนก้าวสู่โลกภายนอกที่วุ่นวาย ไร้กฎเกณฑ์ และไม่มีอะไรที่เป็นดั่งใจ เขาได้เปลี่ยนแปลงตัวตนจากคนขี้อาย พูดน้อย สู่การสร้างบุคลิกหนุ่มใหญ่เจ้าเสน่ห์ที่พร้อมพบปะแฟนคลับในทุกที่ที่เขาไป การดำเนินรายการในภาพของนักท่องเที่ยวผู้กระหายประสบการณ์ การทดลองชิมเมนูพิสดารเป็นไปเพื่อความพอใจของผู้ชม ในที่สุดมันพัฒนาไปจนกลายเป็นตัวตนของเขา ขณะเดียวกัน การเดินทางไปยังประเทศอันตรายที่แทบไม่มีใครสนใจอยากจะเหยียบย่างเข้าไป ก็เปิดตาให้เขาได้มองเห็นสิ่งที่หลายคนมักมองข้ามไป เนื่องจากภาพจำที่มักจะเห็นในข่าว และแน่นอน ผู้ชมก็ได้เปิดตาไปพร้อมกับเขาด้วย

ด้านกลับของการแตะขอบฟ้า

Photo Credit: Rolling Stone

“การเดินทางไม่ได้สวยงามเสมอไป คุณออกไป คุณเรียนรู้ คุณได้รับบาดแผล ถูกตีตราและเปลี่ยนไปในระหว่างนั้น มันทำให้คุณใจสลายด้วยซ้ำ”

หากนับตั้งแต่ A Cook’s Tour สารคดีรายการแรกของโบร์เดนในปี 2002 จนกระทั่งถึง Parts Unknown ในปี 2018 โบร์เดนเดินทางต่อเนื่องยาวนานถึง 16 ปี ในภาพยนตร์เรื่องนี้ ทีมงานที่เคยร่วมงานโบร์เดนสะท้อนภาพสไตล์การทำงานของเขา ที่ทั้งใส่ใจรายละเอียดและไม่ประนีประนอมกับประเด็นใดๆ ที่สำคัญ รายการของเขาต้องนำไปสู่บทสนทนาในสังคม อย่างไรก็ตาม ความทุกข์ยากของผู้คนที่เขาได้พบ ก็ส่งอิทธิพลต่อการมองโลกของเขา และส่งผลต่อแนวคิดของรายการยุคหลังด้วย

“คุณจะใช้เวลากับผู้คนและเห็นใจกับความเดือดร้อนของพวกเขา โดยที่มันจะไม่เปลี่ยนแปลงตัวคุณไปได้อย่างไร” ทีมงานคนหนึ่งกล่าว

แม้รายการที่เขาทำจะนำมาซึ่งชื่อเสียงและรายได้อย่างงาม แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าโบร์เดนเองก็มีราคาที่ต้องจ่ายเช่นกัน เขาสูญเสียตัวตนและชีวิตส่วนตัว ไม่เว้นแม้กระทั่งเวลาอยู่ในบ้านเกิดเมืองนอนของตัวเอง ดังที่เพื่อนคนหนึ่งของเขากล่าวว่า “กลับบ้านวันเดียวแล้วไม่เป็นแอนโทนี โบร์เดน ยังทำไม่ได้เลย”

“ไม่มีอะไรรู้สึกดีไปกว่าการได้กลับบ้าน และไม่มีอะไรรู้สึกดีไปกว่าการได้ออกจากบ้าน” ประโยคที่เพื่อนคนหนึ่งพูดกับโบร์เดน ซึ่งสามารถสะท้อน 'ความเป็นอื่น' ที่เกิดขึ้นในชีวิตของโบร์เดนได้ดี เพราะการเดินทางปีละหลายร้อยครั้ง ทำให้เขามีเวลาได้ใช้ชีวิต 'ปกติ' อยู่กับครอบครัวเพียงระยะสั้นๆ หลายครั้งเมื่อเขาอยู่บ้านระยะหนึ่ง เขาก็เริ่มอึดอัดและอยากออกเดินทางอีกครั้ง จนในที่สุดความสัมพันธ์ระหว่างเขาและภรรยาคนที่สองก็ล่มสลาย ฐานที่มั่นในจิตใจของโบร์เดนสั่นคลอน เขาโทษตัวเอง และรู้สึกว่าเป็นพ่อที่ดีไม่ได้

Photo Credit: The New Yorker

ขณะเดียวกันก็ใช่ว่าโลกภายนอกที่เขาเดินทางอยู่จะมีพื้นที่ที่มั่นคงให้กับเขาตลอดเวลา เพราะในการทำงานเขาก็ตั้งคำถามถึงการสร้างผลกำไรของสถานีโทรทัศน์บนความทุกข์ยากของผู้คน และการเดินทางไปในพื้นที่หนึ่งเพียงระยะสั้นๆ ก็ทำให้เขาไม่สามารถเป็นส่วนหนึ่งของสังคมใดๆ ได้เลย

“อะไรแย่กว่ากันระหว่างอยู่ในที่แย่ๆ คนเดียว กับอยู่ในที่ดีๆ แต่แบ่งปันกับใครไม่ได้” ประโยคหนึ่งในสารคดีเรื่องนี้ได้สะท้อนภาพความโดดเดี่ยวของโบร์เดนบนโลกกว้างที่เต็มไปด้วยผู้คนได้เป็นอย่างดี

จุดจบของอิคารัส

คงไม่ผิดนัก หากเราจะเปรียบเทียบวาระสุดท้ายของโบร์เดน เข้ากับตำนานของ 'อิคารัส' เด็กหนุ่มผู้โบยบินเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ จนขี้ผึ้งที่เชื่อมปีกนกหลอมละลาย และทำให้เขาร่วงลงสู่ทะเล เพราะในช่วงท้ายของเรื่อง โบร์เดนต้องพบนักจิตบำบัด และหลังจากนั้น เขาเริ่มมีอาการกลัวที่โล่ง กลัวการไปในที่ที่จะมีคนรู้จัก และเริ่มออกไปข้างนอกบ่อยๆ ไม่ได้ ยิ่งกว่านั้น ความพยายามอันสุดโต่งที่จะรักษาความสัมพันธ์ครั้งใหม่กับนักแสดงสาวชาวอิตาเลียน อาเชีย อาร์เจนโต ยังทำให้เขายิ่งถูกครอบงำ และสูญเสียตัวตนครั้งใหญ่

จนกระทั่งวันหนึ่ง ปาปารัซซีได้แอบถ่ายภาพของอาร์เจนโตขณะกำลังเดทอยู่กับชายคนหนึ่งลงในหนังสือพิมพ์แทบลอยด์ และภาพนั้นอาจเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้โบร์เดนตัดสินใจลาโลก

หลังจากการเสียชีวิตของโบร์เดน ร้านอาหารเลอาล ที่โบร์เดนเคยทำงานอยู่ กลายเป็นอนุสรณ์สถานที่หลายคนแวะเวียนมารำลึก น้องชายของโบร์เดนนำบทกวีที่มีผู้นำมาวางไว้ให้ทีมงานสารคดีฟังว่า

Photo Credit: theatre royal

“ทุกคนลืมไปว่าอิคารัสก็เคยบิน ผมเชื่อว่าอิคารัสไม่ได้ล้มเหลวตอนที่ตกลงมา เขาแค่มาถึงจุดจบของชัยชนะแล้ว”

และไม่ว่าผู้คนจะจดจำแอนโทนี โบร์เดน ในรูปแบบไหน สิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้จากภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ก็คือ การเดินทางเปลี่ยนแปลงตัวตนของมนุษย์คนหนึ่ง มันสร้างนักผจญภัยและนักเล่าเรื่องชั้นเลิศ ขณะเดียวกันก็พรากตัวตนของเขาไปเช่นกัน