บำบัดทุกข์ บำรุงสุข ด้วย "ศิลปะ" อย่าง "อิสระ"

เส้นทางชีวิตของแต่ละคน ถูกขีดเขียนด้วยลวดลายและแต่งแต้มสีสันแตกต่างกัน โดยไม่ต่างอะไรจาก "ศิลปะ" ซึ่งขึ้นอยู่กับว่า ช่วงชีวิตของคน ๆ นั้น จะมีเรื่องราวและประสบการณ์ที่ได้รับอย่างไร เพราะศิลปะไม่ได้สร้างความสุขได้เพียงอย่างเดียว แต่ศิลปะยัง บำบัดทุกข์ “บำบัดอารมณ์” ได้เป็นอย่างดี

ทราย พรไพลิน ตันเจริญ นักบำบัดอิสระ วัย 37 ปี จากสถาบัน Arcadia Academy ที่สอนศิลปะเพื่อการบำบัดแบบเน้นเรื่องอารมณ์โดยเฉพาะ และเจ้าของเพจ "ศิลปะดีต่อใจ" เพจที่จะแชร์ความรู้ มีคำถาม และช่วยหาคำตอบ พร้อมเวิร์คชอปศิลปะแบบฟรี ๆ กับแนวการสอน ศิลปะอิสระ หรือ Free Art ที่ไม่มีถูก-ผิด และไม่มีทฏษฎีที่ตายตัว

อดีตนักออกแบบที่อยากจะออกแบบชีวิตที่ดีกว่า

“อาชีพก่อนหน้านี้คือ ทำงานออกแบบ ทำงานเสร็จไปกินเหล้าสังสรรค์ ใช้ชีวิตเหมือนคนทั่วไป ทำเรื่อย ๆ จนวันหนึ่งลุกขึ้นมาจากที่นอน..แล้วล้มตึง! เลยโทรไปบอกที่ออฟฟิศว่าทำงานไม่ไหว เขาก็ตอบว่าได้ แต่ไม่กี่นาทีเขาสามารถหาคนมาทำงานแทนเราได้ นี่คือช็อคแรก ช็อคที่ 2 คือ เขาไม่สนใจด้วยซ้ำว่าเราเป็นอะไร รู้แค่ว่า เราทำงานไม่ได้และมีคนมาแทนที่อย่างรวดเร็ว ตอนนั้นนอนป่วยอยู่ที่บ้านจนหาย เลยตั้งคำถามกับศิลปะว่า เราทำงานในโหมดของศิลปะ งานออกแบบ ตกแต่งภายในของโรงแรม มันสวยนะ แต่ทำไมเรารู้สึกว่าข้างในมันไม่ถูกเยียวยาหรือเติมเต็ม เลยตัดสินใจลาออก เพื่อออกไปหาคำตอบว่า ศิลปะที่เราต้องการคืออะไร”

 เรียน "ศิลปะบำบัด" เพื่อเป็น "นักบำบัด"

“ไปเจอหลักสูตรศิลปะบำบัด แนวมนุษยปรัชญา เรียนความเป็นมนุษย์ควบคู่กับปรัชญาไปด้วย ซึ่งเรียนของประเทศเยอรมัน แต่ปรากฎว่ามีครูมาสอนที่เมืองไทย เลยตัดสินใจเรียนทันที โดยเพื่อนๆ ร่วมชั้นส่วนใหญ่มีแต่คุณหมอ บุคลากรทางการแพทย์ และเป็นคุณครูที่มีความรู้เรื่องนี้อยู่แล้ว พอเรียนจบ 3 ปี ก็ไปฝึกงานที่ประเทศเยอรมันอีก 3 เดือน แล้วจึงกลับมาเริ่มทำงานด้านศิลปะบำบัด ที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งประมาณ 2 ปี ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับศิลปะบำบัดเราแทบจะไม่มี แค่อยากให้ศิลปะทำให้ชีวิตของเราดีขึ้น ระยะเวลา 3 ปีที่เรียน เรารู้สึกมีความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นจนคนรอบข้างก็ทัก ‘ศิลปะบำบัด’ จึงอยู่ที่ตัวผู้เรียนทุกคน ขึ้นอยู่กับเราว่าเข้าใจคำนี้แค่ไหน”

ศิลปะบำบัดศาสตร์ที่ยังเข้าไม่ถึงในไทย!

"เยอรมันกับที่ไทยแตกต่างกันมาก ที่นั่นคนไข้สามารถจองผู้บำบัดติดต่อกันได้นานถึง 3 เดือน แต่ที่นี่มาเช้าเย็นกลับ เจอกัน 2 ชั่วโมงก็ถือว่ามาทำการบำบัดแล้ว ผลของการบำบัดมันเลยไม่เหมือนกัน ศิลปะบำบัดของที่เยอรมันเราทำงานควบคู่กับแพทย์ เพราะเขาเชื่อว่า การแพทย์ในวิถีที่เขาทำ ต้องรักษาทางกาย ทางใจ และทางจิตวิญญาณ ฝั่งที่เป็นอาร์ต อย่าง ดนตรีบำบัด ศิลปะบำบัด พวกมูฟเมนท์เทอราพี ก็ต้องเข้าไปทำงานกับคนไข้ในเรื่องของใจ ในขณะที่บ้านเราแบบดีขึ้นแล้วเร็วมาก..แล้วออกไปใช้ชีวิตด้วยอาการป่วยเหมือนเดิม แล้วกลับมารักษาเป็นลูปไปเรื่อย ๆ บ้านเราจึงให้เวลากับการบำบัดค่อนข้างน้อย และต้องมีปัญหาจริง ๆ ถึงมา ปัจจุบันจำนวนนักบำบัดมากขึ้น แต่ยังไม่เพียงพอกับความต้องการ และคนเจ็บป่วยทางใจก็มีมากขึ้น" 

"ศิลปะบำบัด" ให้ “ยา (ใจ)”

“บ้านเราใช้หลักการคือรักษาตามอาการ เช่น มีแผลที่เกิดจากเชื้อโรค ก็ให้ยาฆ่าเชื้อ แผลหายก็ได้สุขภาวะที่ดี ก็กลับไปใช้ชีวิต แต่ศิลปะบำบัดเชื่อว่า คนมีมากกว่าเรื่องทางกายภาพ เขายังมีเรื่องทางใจ มีจิตวิญญาณข้างใน ที่เราต้องเข้าไปดูแลรักษาเยียวยา การแพทย์แผนนี้จึงให้ยาแลยาใจ ด้วยศิลปะ ดนตรี และการเคลื่อนไหว เราจะดูว่าคนที่มาบำบัดยึดถืออะไร อยากปลดปล่อยหรืออยากเรียนรู้อะไร ซึ่งคนๆ นี้ จะกลายเป็นคนที่มีสุขภาวะที่ดีได้คือ เจ็บป่วยและแข็งแรงสลับกันไปมา นี่คือร่างกายและจิตใจที่สามารถเยียวยาตัวเองได้”

ก่อนเยียวยาผู้อื่น..ฉันก็เคยเยียวยาตัวเองมาก่อน

“เราเคยอยู่ในภาวะที่โดนผู้ชายลวนลาม ความตลกร้ายคือ ต้องไปเป็นนักบำบัดอยู่ในบ้านพักฉุกเฉินให้กับผู้หญิงและเด็กที่ถูกกระทำทางเพศ เราเลยมานั่งทำงานกับตัวเองว่า จะเอาคุณภาพแบบไหนไปสอนเขา เราต้องขุดตัวเองหนักมาก เพราะเราเจ็บปวดมาก ที่จะไปบอกเด็กที่เราบำบัดว่า ‘ไม่เป็นไรหรอก’ เพราะเราก็โดนเหมือนกัน เราจะให้อภัยคนที่ทำได้ยังไง คำตอบคือ ทำไม่ได้ ดังนั้น เวลาคนไข้บอกเราว่า ให้อภัยไม่ได้ เราก็รู้สึกแบบนั้น มันต้องผ่านความเจ็บปวด ความทรมาน และร้องไห้กับตัวเอง ในขณะที่ใครสักคนมาบอกว่า ต้องปล่อยวางและให้อภัย ซึ่งไม่ใช่คำตอบที่ผิด แต่เป็นคำตอบที่ไม่เข้าใจเขา จนในที่สุดเราก็ได้กระบวนการหนึ่งมา เพื่อที่จะเอาไปใช้กับคนๆ นั้น”

เป็น - เชื่อ - เข้าใจ

“หลักการ Salutogenesis มี 3 อย่างคือ 1.เข้าใจใช่ไหมว่าตอนนี้เป็นอะไร คนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจและมักปฏิเสธ นักบำบัดก็จะเข้าไปวินิจฉัยเพื่อสร้างความเข้าใจ และเมื่อผู้บำบัดเข้าใจ ก็จะเข้าสู่กระบวนการข้อ 2.ต้องเชื่อก่อนว่าเขาจะผ่านไปได้ และรู้ขั้นตอนที่จะผ่านมันไปได้ด้วย หมอจะมีหน้าที่อธิบายการรักษา นักบำบัดจะต้องสร้างความกล้าหาญให้กับคนไข้ ทางจิตใจและจิตวิญญาณ เพื่อส่งเสริมการรักษาด้านการแพทย์ และข้อ 3.เข้าใจความหมายที่เกิดขึ้นกับตัวเอง เราต้องหาความหมายให้เจอ ทำไมต้องเกิดขึ้น เพราะอะไร”

อิสระทางอารมณ์ นำไปสู่ การเติบโตที่เข้าใจตนเอง

“เรารู้สึกว่าคนไข้เด็กลงเรื่อยๆ จาก 65 กลายเป็น 3 ขวบ! เราเริ่มคุยกับคุณหมอ พยาบาล คุณพ่อคุณแม่ของคนไข้ และศึกษางานวิจัยของต่างประเทศ ก็ค้นพบว่า จริง ๆ การเจ็บป่วย ไม่ว่าจะเป็นทางใจหรือทางกาย ต้นเหตุมักจะเกิดขึ้นในช่วง 0 ถึง 7 ปี เป็นประสบการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วเขาจำไปแบบนั้นหรืออาจเป็นร่องรอยความเจ็บปวดที่ยังคงอยู่ แล้วเติบโตไปเรื่อย ๆ โดยไม่มีผู้ใหญ่บอกหรือแนะนำ เราจึงเข้าไปทำงานพาร์ทการศึกษา เพื่อบอกพ่อแม่ว่า ช่วยอนุญาตให้เขามีอิสระทางอารมณ์ เพื่อไม่ให้เขาเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ในภายภาคหน้าแบบนั้น”

“ถ้ามีใครสักคนไปบอกเขาว่า เราโกรธได้ ร้องไห้ได้ เขาก็จะมีทัศนคติต่อความโกรธนั้นอีกแบบหนึ่ง จริง ๆ การร้องไห้ มันคือ การซื่อตรงต่อความรู้สึกของตัวเอง ตั้งแต่เด็กจนโตเราไม่เคยถูกสอนให้ซื่อตรงกับความรู้สึกของตัวเอง”

ออกแบบความผิดพลาดให้สวยงาม

"ในห้องบำบัดไม่มียางลบ พอเกิดความผิดพลาดเราจะดูว่า เขาสามารถออกแบบความผิดพลาดให้สวยงามได้ยังไงโดยที่ไม่มียางลบ ศิลปะบำบัดมีขั้นตอนตามช่วงอายุและวัย เขาเป็นไปตามวัยที่เขาเป็นไหม ช่วงวัยนี้ควรทำรูปแบบไหนได้ ถ้าทำไม่ได้ก็มาฝึกจนได้ แล้วก็อัพเลเวลต่อไป ซึ่งเด็กแต่ละคนมีพื้นฐาน การเลี้ยงดู และพัฒนาการที่ไม่เหมือนกัน เขาเจอเรา 2-3 ครั้ง แน่นอนว่าดีขึ้นกว่าครั้งแรก ๆ ถ้าถามว่าคนไข้ดีขึ้นไหม ในทัศนคติของเราคือ ดีขึ้น พ่อแม่พูดคุยกับลูกเข้าใจขึ้น เด็กทำงานศิลปะได้ดีขึ้น มีอิสระขึ้น เข้าใจตัวเองผ่านการทำงานศิลปะของเรามากยิ่งขึ้น" 

ค้นหาความหมายของชีวิตให้เจอ

"เราไม่ได้สอนศิลปะให้คนวาดรูปเป็นหรือไม่เป็นคุณไปฝึกเองได้ แต่เรามีหน้าที่ทำยังไงให้คุณอยากวาดรูป ทำให้คุณรู้สึกว่าศิลปะคือส่วนหนึ่งที่คุณต้องการจะทำมัน เพราะคุณเข้าใจแล้วว่ามันดียังไง เชื่อแล้วว่ากระบวนการนี้มันทำให้คุณดีขึ้นได้ พอทำเสร็จคุณหาความหมายของสิ่งที่คุณทำ คุณเห็นความงามในชีวิตบ้างหรือยัง ชีวิตนี้คุณมีสุนทรียะเพียงพอที่จะอยู่บนโลกนี้โดยที่ไม่เหนื่อยมากแล้วใช่ไหม ช่วง work from home ไปไหนไม่ได้คุณหาความงามในชีวิตเจอรึเปล่า ถ้าหาเจอเราดีใจกับคุณมาก เพราะการหาข้อดีในชีวิตต้องใช้พลังงานสูง และเขาต้องทำงานกับตัวเองอย่างมากมาย" 

“การพูดดีกับคนอื่น คิดดีกับคนอื่น ทำดีกับคนอื่นต้องใช้ศิลปะอย่างมากมาย ข้างในมันต้องดีก่อน ต้องมองทุกอย่างให้เป็นศิลปะได้ สิ่งเหล่านี้จึงเป็นสุนทรียะบนโลกใบนี้ เป็นเครื่องมือที่ทำให้เราคอนเนคชั่นกับตัวเองและผู้อื่นได้”

ศิลปะกับสภาวะโควิด

"ชีวิตข้างในต้องเข้าใจสถานการณ์โควิดโรคระบาดที่เกิดขึ้น ถ้าเกิดกับคนที่เรารักควรจะทำยังไง เราก็เริ่มลิสต์สิ่งที่ต้องทำ สิ่งที่ต้องเข้าใจ และสิ่งที่ต้องปล่อยวาง มีคนบอกเราว่าออกไประวังติดเชื้อนะ แต่ชีวิตต้องใช้ต้องทำมาหากิน เราก็ต้องรู้จักป้องกันตัวเอง จัดระเบียบร่างกายตัวเอง จัดวิถีชีวิตประจำวันของตัวเองใหม่ เพื่อให้อยู่รอดในสภาวะที่ทุกคนต้องเผชิญให้ได้ และต้องพยายามหาความหมายในสิ่งที่ทำ เพราะทุก ๆ อย่างที่เกิดขึ้นล้วนมีความหมาย หาให้เจอ ให้เราได้ชื่นชมมัน ปฏิเสธมัน ถือว่าเป็นคุณค่าและความหมายในชีวิตแล้ว"

ใครที่สนใจเรื่องศิลปะบำบัด หรือ ศิลปะอิสระ (Free Art) สามารถเข้าไปดูได้ที่เพจ ศิลปะดีต่อใจ และ เพจ Arcadia Academy และถ้าใครสนใจงานศิลปะแนวใหม่ในบ้านเราที่แม้คนตาบอดก็สามารถทำงานศิลปะได้ สามารถเข้าไปดูได้ในเพจ ANIMA ได้เลยค่ะ