Culture

5 ศิลปินระดับโลก กับการผลิตผลงานสุดขยันแบบ Mass Production

Photo credit: Curina 

ว่ากันว่าการมุ่งผลิตบางอย่างให้ได้จำนวนมาก จะทำให้สิ่งนั้นขาดความหลากหลาย และเลือนหายไปเมื่อมีสิ่งใหม่เข้ามา แต่ก็มีศิลปินหลายคนที่ทลายความจำเจนั้น และสร้างสรรค์ผลงานมากมายจนเป็นที่จดจำในปัจจุบัน วันนี้เราเลยจะพาทุกคนไปส่องจิตรกรสาย mass production ระดับโลกในแต่ละยุคกัน

Raphael (Raffaello Sanzio da Urbino)

Photo credit: Shutterstockartnet

‘ราฟาเอล’ (Raphael) เป็นหนึ่งในจิตรกรเอกชาวอิตาลีแห่งยุคเรเนสซองส์ (Renaissance) ผลงานศิลปะของเขาจะมีความโดดเด่นเรื่องความสมดุลในภาพเป็นพิเศษ ต่อให้จะมีคนกว่า 20 คนในภาพ ผู้ชมก็สามารถรู้สึกถึงความสวยงามและความเป็นระเบียบได้ นอกจากนี้ แต่ละภาพยังมีกิมมิคแสนน่ารักอย่างคิวปิด (Cupid) ที่คอยดึงดูดความสนใจอีกด้วย 

เนื่องจากราฟาเอลเป็นศิลปินอายุน้อยและเข้าสังคมเก่ง เขาจึงเป็นที่โปรดปรานในบรรดาผู้นำโบสถ์ จนได้รับเลือกให้เป็นจิตรกรหลวงโดยพระสันตะปาปาจูเลียสที่ 2 และสร้างผลงานออกมามากมาย แต่เบื้องหลังงานศิลปะจำนวน 184 ชิ้นนั้น มีลูกศิษย์ช่วยวาดเค้าโครงและลงสีน้ำมันให้ นอกจากงานหลักที่เขารับมาจากพระสันตะปาปาแล้ว ราฟาเอลทำเพียงแค่เก็บรายละเอียดภาพ และปิดท้ายด้วยการวาดคิวปิดตัวน้อยก่อนจะวางขายผลงาน  

Rembrandt Harmenszoon van Rijn

Photo credit: I amsterdam Wikiart 

ในฐานะจิตรกรเอกคนหนึ่งจากยุคทองของศิลปะดัตช์แห่งศตวรรษที่ 17 ‘แรมแบรนดท์ ฮาร์เมินส์โซน ฟัน ไรน์’ (Rembrandt Harmenszoon van Rijn) เขาประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ในช่วงแรกเขาทำอาชีพรับวาดภาพเหมือนที่อัมสเตอร์ดัม ทว่าจุดพลิกผันของชีวิตเริ่มจากการตัดสินใจซื้อคฤหาสน์หรู และสะสมของหายากต่างๆ ในราคาสูงลิบ สุดท้ายแรมแบรนดท์ก็ไม่สามารถชำระหนี้ได้หมด และถูกบีบให้เป็นบุคคลล้มละลาย ใช้ชีวิตบั้นปลายไปกับการหาเงินอย่างยากลำบาก

ถึงแม้ว่าจะตกต่ำแค่ไหน แรมแบรนดท์ก็ยังเป็นจิตรกรผู้โด่งดังและเป็นที่ต้องการ เขาไม่ได้คล้อยตามขนบธรรมเนียมของสังคมโปรเตสแตนต์ แต่เลือกวาดบุคคลในประวัติศาสตร์ และมีแบบวาดแปลกๆ เช่น ผู้หญิงอาบน้ำ ผู้ชายยืนปัสสาวะ หรือคลาสสอนผ่าศพ แทนที่จะเป็นเรื่องราวจากคัมภีร์ไบเบิล ในช่วงชีวิตของแรมแบรนดท์ เขาได้สร้างสรรค์ภาพสีน้ำมัน ภาพวาด และภาพพิมพ์กัดกรด รวมแล้วเป็นจำนวนถึง 3,000 ชิ้น

Katsushika Hokusai

Photo credit: The Guardian 

หากพูดถึงศิลปะญี่ปุ่นสมัยเอโดะแล้ว ‘คัตสึชิกะ โฮคุไซ’ (Katsushika Hokusai) นับเป็นศิลปินที่หลายคนต้องนึกถึง ในช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่นั้น ผลงานของเขาอย่างภาพพิมพ์แกะไม้ที่เรียกว่า ‘อูกิโยเอะ’ (Ukiyoe) หนังสือภาพ และภาพวาดเชิงสังวาส เป็นที่ต้องการของตลาดมาก แต่กลับขายได้ราคาไม่สูง จึงต้องเน้นขายภาพต้นทุนต่ำจำนวนมากเพื่อให้ได้กำไร 

เมื่อรวมผลงานทั้งหมดที่โฮคุไซผลิต จะได้จำนวนอยู่ราว 30,000 ชิ้น แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเขาร่ำรวยแต่อย่างใด โฮคุไซอยู่ในสถานะที่เกือบจะล้มละลายตลอดเวลา จนกระทั่งเขาสร้าง Thirty-Six Views of Mount Fuji เมื่ออายุ 69 ปี ซีรีย์ภาพพิมพ์แกะไม้นี้เองช่วยดึงราคาผลงานอื่นๆ ภายใต้ชื่อโฮคุไซให้สูงขึ้น

Claude Monet

Photo credit: iTravelWithArt 

โกลด์ โมเนต์ (Claude Monet) เป็นหัวขบถอีกคนของวงการศิลปะ ที่ปูทางให้กับจิตรกรรุ่นหลัง แม้ว่าเขาจะได้รับการฝึกฝนด้านศิลปะจากโรงเรียนเฉพาะทางซึ่งสอนให้วาดภาพเหมือนคน ก็ยังไม่อาจฝืนความชื่นชอบทิวทัศน์ธรรมชาติตามชนบทได้ จนถึงขั้นโดดเรียนกับเพื่อนไปวาดภาพในป่าอยู่บ่อยๆ นอกจากนี้โมเนต์ยังรวมตัวกับศิลปินในกลุ่มที่มีอุดมการณ์เดียวกัน เพื่อจัดนิทรรศการแสดงศิลปะอิมเพรสชันนิสม์ (Impressionism - ลัทธิประทับใจ) ขึ้นเป็นครั้งแรกที่กรุงปารีสในปี ค.ศ. 1874 

โมเนต์ไม่เคยละทิ้งสไตล์การวาดเดิมของตัวเอง ซึ่งเน้นความรวดเร็วในการปัดฝีแปรง ที่ทุกคนตราหน้าว่าเป็นผลงาน ‘ไม่สมบูรณ์’ ทำให้ต้องใช้ชีวิตกว่า 40 ปี อย่างศิลปินไส้แห้ง ในที่สุดศิลปะอิมเพรสชันนิสม์ก็กลายเป็นคลื่นลูกใหม่ในปี ค.ศ. 1890 พร้อมกับการเข้ามาของกล้องถ่ายรูป ที่ทำให้ผู้คนเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อศิลปะไป โมเนต์ประสบความสำเร็จในช่วงอายุ 50 ปลาย สร้างผลงานรวมเป็นจำนวน 1,367 ชิ้น โดยชิ้นที่มีชื่อเสียงที่สุดคือ Waterliles ซึ่งมีถึง 250 เวอร์ชั่น

Andy Warhol

Photo credit: Emptyeasel, larevolucionserapatrocinada, a day  

แอนดี้ วอร์ฮอล (Andy Warhol) ได้รับฉายาว่า ‘ราชาแห่งศิลปะประชานิยม’ (The King of Pop Art) จากการวาดภาพด้วยเทคนิคซิลก์สกรีน (Silk Screening) โดยมีต้นแบบเป็นสิ่งของใกล้ตัวที่เห็นได้ในชีวิตประจำวัน เมื่อนับดูแล้ว มีผลงานแบบนี้เกือบ 20,000 ชิ้น!

ในปีค.ศ. 1960 ที่สังคมบริโภคนิยมเป็นใหญ่ วอร์ฮอล์แสดงออกอย่างเปิดเผยว่า ตัวเองหมกมุ่นเรื่องเงิน ชื่อเสียง และความสำเร็จ เขามุ่งมั่นที่จะสร้างผลงานจนเกิดเป็นป๊อปอาร์ตมูลค่าสูงขึ้นมา ถ้ามองจากภายนอก ภาพของเขาอาจเป็นเพียงภาพที่ใช้ในเชิงพาณิชย์ แต่สำหรับวงการศิลปะแล้ว กลับกลายเป็นการเปิดโอกาสให้ศิลปินรุ่นหลังได้ลองสร้างงานศิลปะแบบที่ไม่จำเป็นต้องมีความหมาย เหมือนภาพโฆษณาของวอร์ฮอล์

อ้างอิง

Britannica

The National Gallery

Sarakadee Lite 

The Guardian 

Emptyeasel