EQ มีโอกาสได้พูดคุยกับสมาชิกของ artn’t (อาท นอท หรือ อ๊านท์) กลุ่มที่รวมตัวกันในจังหวัดเชียงใหม่ โดยใช้ศิลปะหลากหลายแขนงสะท้อนเรื่องราวสังคม และต่อต้านอำนาจของรัฐบาล จากเรื่องราวศิลปะมากมายที่ถูกไหลผ่านบนไทม์ไลน์ของเพจ สู่การออกสู่สังเวียนบนพื้นที่จริงของการชุมนุมเพื่อออกมาเรียกร้องสิทธิจากรัฐบาลที่ประชาชนไม่เคยได้รับการดูแลแบบที่ควร
“ในเมื่อรัฐฯไม่น่าไว้ใจอีกต่อไปแล้ว เราก็หาวิธีจัดการกันเอง หาวิธีการสร้างภาษาของเราเอง หาศิลปะเพื่อสะท้อนในแบบของเรา เพื่อสะท้อนให้เห็นว่ารัฐล้มเหลว ประชาชนล้มตาย”
artn’t ศิลปะไม่มีโครงสร้าง
หากใครได้เห็นชื่อเพจนี้ผ่านตาคงจินตนาการถึงการอ่านออกเสียงในรูปแบบที่ถูกต้องไม่ออกด้วยซ้ำ และไม่รู้จะเปล่งเสียงชื่อเพจอย่างไรออกมา ด้วยคำที่ถูกพลิกแพลงให้ดูผิดแปลกไปจากเดิม ส่งผลให้โครงสร้างทางความคิดของแต่ละคนมีการเรียนรู้หรืออยากที่จะเปล่งเสียงออกไปไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับประสบกาณ์ของแต่ละบุคคล ซึ่งความแตกต่าง และการเปล่งเสียงที่ยากแบบนี้นี่แหละถือเป็นคอนเซ็ปต์หลัก และความตั้งใจของเพจด้วยซ้ำ
“มันคือการเล่นกับภาษา ซึ่งไม่ค่อยถูกหลักไวยกรณ์สักเท่าไร ปกติเราคุ้นชินกับการที่ถูกคิดกับระเบียบแบบแผนที่เราคุ้นชินที่ถูกปลูกฝังมาพอเราไปเจออะไรที่มันผิดไปจากเดิม เราไม่รู้ว่ามันออกเสียงว่าอะไร แต่เราจะเข้าใจว่ามันหมายความว่ายังไงผ่านการจัดเรียงเหตุผลใหม่ จัดเรียงเพื่อที่จะเข้าใจกับสิ่งนี้ใหม่”
เมื่อดึงความหมายทั้งสองคำมาควบรวมกันระหว่าง art + not สุดท้ายแล้วความหมายคือ ศิลปะไม่ หรือ ไม่ศิลปะ ที่แปลตามความหมายของคำไทย แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ทุกอย่างก็ถูกสะท้อนผ่านมุมมองของใจความ “ศิลปะ” อยู่ดี
Powerful of artn’t
artn’t เป็นเพจที่เสมือนกระบอกเสียงให้กับประชาชนทุกคน แต่แท้ที่จริงแล้วการที่เขาจะกลายมาเป็นเพจที่เป็นกระบอกเสียงอยู่ได้ทุกวันนี้เกิดจากที่ประชาชนทุกคนค่อยๆ เปล่งเสียงที่มีต่อระบบโครงสร้างของประเทศนี้ออกมา จากเพจเล็กๆ ก็ถูกขยายตัวให้มีพลังที่ใหญ่ขึ้น เพราะเสียงที่ทุกคนเปล่งออกมามีเจตนารมณ์ทิศทางเดียวกันกับ artn’t ดังนั้นจากเสียงเล็กเสียงน้อย เราก็จะหลายเป็นเสียงที่ใหญ่และมีพลังขึ้นมาได้
ภายในเพจของ artn’t ต่างแสดงความคิดเห็นและเจตนารมณ์ที่มีต่อระบบระเบียบของประเทศนี้ ทั้งการใช้ศิลปะแนวสุนทรียศาสตร์ (Aesthetic Art) ที่ใช้วิธีการวาด เขียนภาพเข้ามาเล่าเรื่อง รวมไปถึงศิลปะการแสดง (Performance Art) ใช้ภาษากายของมนุษย์ในการเล่าเรื่องราวแทน
“Performance Art ระบุพื้นที่กับเวลาอย่างชัดเจน มันทำงานกับผู้คน บรรยากาศ พลังงาน พื้นที่ เวลา วันที่ เสียง ทุกขณะที่ Perform อยู่มันเหมือนทุกอย่างมันมีความหมายในตัว แล้วเราก็เข้าไปเปิดเผยความหมายนั้นผ่านการกระทำ ทั้งความหมายทางด้านเวลาหรือสถานการณ์ อย่างเช่น 6 โมงเย็น หรือวันที่ 6 ตุลา ซึ่งถ้าจะพูดว่าทำไมใช้ Performance มันคือ การเล่นกับสถานการณ์”
หนึ่งในกลุ่มสมาชิกของ artn’t พูดถึงศิลปะเชิงสะท้องสังคมว่าหลายต่อหลายครั้งผู้คนมักหลบซ่อนตัวเองภายใต้งาน เหมือนกับการขังตัวเองเอาไว้ในหอศิลป์ซึ่งไม่รู้ว่าคนจะเข้ามาเปิดดูเมื่อไร หรือจ้องมองภาพของเราได้ขนาดไหน แต่ในเมื่อเรากล้าแสดงเจตนารมณ์ และจุดยืนของตัวเองที่มีต่องานแล้วเราควรที่จะออกมาทำให้ศิลปะเหล่านั้น ออกสู่สายตาประชาชน โดยไม่จำเป็นต้องรอให้คนเดินเข้าหา นี่ถือเป็นจุดยืนที่สำคัญ เพราะสุดท้ายแล้วในฐานะคนทำงานศิลปะคนหนึ่ง การกระชากตัวเองออกมาในพื้นที่สาธารณะเหมือนการถูกปลดปล่อยอารมณ์และความรู้สึกของเราออกไป ส่วนงานศิลปะชิ้นนั้นจะสามารถเข้าถึงผู้คนได้มากน้อยเพียงใดก็สุดแต่การตีความหมายของผู้รับสาร
มายาคติศิลปะสะท้อนสังคม
ศิลปะเท่าเทียม – ทุกคนสามารถสร้างผลงานศิลปะได้โดยไม่ต้องขนานนามว่าเป็นศิลปิน และเราไม่จำเป็นต้องเชิดชูใครให้เป็นศิลปินเพียงเพราะทำงานศิลปะ หนึ่งในสมาชิกของ artn’t บอกกับเราถึงมุมมองศิลปะที่มีต่อสังคมในปัจจุบันถึงการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยที่ทำให้เขาเริ่มคิดว่า เรากำลังจะละทิ้งขนบเดิมที่เคยต้องยกยอปอปั้น หรือให้ค่ากับงานใครงานหนึ่งเท่านั้น ณ ตอนนี้ศิลปะทุกชิ้นบนโลกไม่ว่ามาจากใคร หรือถูกกระบวนการคิดแบบไหน ล้วนแล้วแต่มีค่าในตัวของมันเอง
คนทำงานศิลปะหลากหลายแขนงถูกให้ค่า และมีความสำคัญต่อประเทศ ไม่ว่าจะเป็นจิตรกรรม ประติมากรรม หรือทุกแขนงของศิลปะล้วนแล้วแต่มีความหมายในรูปแบบของตัวมันเสมอ หากจะถามว่าบนประเทศนี้สนับสนุนงานศิลปะรูปแบบใด ก็อาจจะเป็นศิลปะที่มีแบบแผนที่ชัดเจน เป็นศิลปะที่ถูกวาดฝีมือลายมือด้วยปูชนียบุคคล และสามารถให้ความหมายตามแบบฉบับของรัฐบาลได้ สิ่งเหล่านั้นจะถูกยกย่องให้เป็นศิลปะที่มีคุณค่าเสมอ และยกย่องบุคคลที่เป็นเลิศทางด้านศิลปะให้อยู่เหนือชั้นกว่าคนที่ทำงานศิลปะคนอื่นๆ กล่าวคือ คนที่สร้างสรรค์งานศิลปะอื่นๆ นับว่าไม่มีค่าหรือ?
“ส่วนหนึ่งงานศิลปะที่ประชาชนเป็นคนทำ ไม่ใช่งานศิลปะที่มาจากรัฐฯ เป็นงานศิลปะที่รัฐไม่เข้าใจว่าพูดเรื่องอะไร เป็นภาษาที่รัฐฯไม่คุ้นชินที่จะทำความเข้าใจ รัฐฯไม่สามารถที่จะเข้าไปช่วงชิงความหมายตรงนั้นได้ เพราะว่า มันไม่ใช่งานศิลปะที่ถูกสั่งสอนมา”
“ไอเดียของรัฐฯเป็นการรวมศูนย์กลางของทุกอย่าง แล้วองค์ความรู้ทั้งหมดจะขึ้นอยู่กับรัฐฯ หรือความไว้ใจทั้งหลายแหล่ก็จะอยู่กับรัฐฯทั้งหมด เพราะฉะนั้นอะไรที่มันสั่นคลอน รัฐฯก็จะไม่สามารถรับรองมันได้ อะไรที่รัฐไม่ไว้ใจ หรือผิดแปลกไป มันถูกต้องในแบบของเขาแล้วที่เขาจะทำ มันเป็นอะไรที่ไม่ไว้ใจเขาก็เลือกที่จะปิด”
“ถ้าพูดในแง่ของประชาชนเราก็ได้เปรียบ เพราะว่ายิ่งปิดการรับรู้มันยิ่งเปิด ยิ่งอะไรที่รู้ว่ารัฐต้องการจะห้าม เราก็ยิ่งอยากรู้”
ติดตามและอัปเดตศิลปะที่สั่นคลอนอำนาจทั้งหมดได้ที่ artn't