Art

The Soundtrack of ‘อรุณใต้’ ซาวด์เสียงเสริมประสบการณ์ ‘Living Cinema’ ทิ้งท่วงทำนองจากตัวบท ให้ตกตะกอนในใจของผู้ชม

The Soundtrack of ‘อรุณใต้’ ซาวด์เสียงเสริมประสบการณ์ ‘Living Cinema’ ให้อยู่ยาว ไม่ได้จบลงแค่ในพื้นที่ แต่ยังทิ้งท่วงทำนองจากตัวบท ให้ตกตะกอนในใจของผู้ชมอย่างเราๆ ต่อไปอีกเนิ่นนาน

หลังจากจบโชว์ ‘อรุณใต้’ ที่กำกับโดย โรส-พวงสร้อย อักษรสว่าง นำแสดงโดย อัด-อวัช รัตนปิณฑะ, เอม-ภูมิภัทร ถาวรศิริ และณัฏฐ์ กิจจริต ในย่านเมืองเก่าสงขลา วันที่ 17 สิงหาคมที่ผ่านมา เราได้กลับมานั่งฟัง Soundtrack ของแต่ละเรื่องที่ทำร่วมกันกับ 22 Nakhonnok Bar และทำ final mix โดยทีม Mellow Tunes แล้วรู้สึกว่ามันคือการแสดงสดที่ในพื้นที่จริง ที่ทิ้ง after taste ไว้ให้เราได้ยินเสียงเย็นวันนั้นอีกครั้ง แต่เป็นเสียงที่ลุ่มลึก ดำดิ่งในเรื่องราว และพื้นที่ ‘สงขลาเมืองเก่า’ ยิ่งขึ้นกว่าเดิม

“การแสดงสดมันเล่นไปแล้วก็จบลง และมันก็มีรอบเดียว เลยคิดว่าจะทำยังไงให้โชว์นี้มันเป็น ‘Living Cinema’ ที่อยู่ต่อไปเรื่อยๆ ให้ทั้งคนที่ได้มีโอกาสไปดูสดและคนที่ไม่ได้ไปดู ยังได้ยินบรรยากาศบางอย่าง เราจะสร้างเรื่องราวยังไงด้วยเสียงได้บ้าง?” โรสกล่าว

‘อรุณใต้’ คือเรื่องราวของ ‘อรุณ’ ชายสามคนที่ตามหาความทรงจำที่เกี่ยวโยงกับเมืองเก่าสงขลา ทั้งลานในศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ศาลาวัดยางทอง และโรงสีแดง หับ โห้ หิ้น ต่างคนต่างมีความทรงจำที่ทั้งผูกพัน และไม่คุ้นเคยกับที่นี่ แต่สถานที่เหล่านี้ก็ได้สะท้อนบางอย่างในชีวิตที่พวกเขาอาจลืมไปแล้ว หรือยังหลงเหลืออยู่

EQ อยากชวนทุกคนมาเปิดโสตสัมผัส ดื่มด่ำสุ้มเสียงของ ‘อรุณใต้’ ไปด้วยกัน

Track 1: Soundtrack of Grandson

เพลง

不了情 - 顧媚 

Gotta Go - Onra 

เสียงการแสดงงิ้วพร้อมเสียงปรบมือดังขึ้นมาทันทีที่เรากด play ทำให้เราย้อนนึกไปถึงบรรยากาศที่ลานในศาลเจ้าพ่อหลักเมือง กับเรื่องราวของ ‘อรุณ’ หลานชายที่กลับมาย้อนถึงวัยเด็กกับอากงที่ลานศาลเจ้า ที่ที่จุดประกายให้เขาตามฝันในฐานะ ‘นักแสดง’ แล้วอรุณก็เริ่มพูดกับเราอีกครั้ง

“อากงที่พาผมไปดูงิ้ว อาจเป็นจุดเริ่มต้น ที่ทำให้ผมมีความฝัน ในฐานะ ‘นักแสดง’ แต่ผมเองก็ต้องเดินต่อไป เพื่อทำความฝันผมให้เป็นจริง โดยที่ผมก็ไม่รู้หรอกว่ามันจะเป็นจริงรึเปล่า แต่ผมจะทำมันต่อไป ผมจะลบหน้าทุกวัน เพื่อเติมหน้าใหม่ทุกวัน ผมจะทำต่อไป”

เพลงจีนคลาสสิกเสียงเศร้า เสียงซอ และเสียงก่อสร้าง เสริมให้เราเห็นภาพวัยเด็กที่ซึมซับมวลความสุขที่โรงงิ้ว ตัวเพลงที่มีเสียงเปียโน และเสียงร้องเอื้อนๆ ยิ่งทำให้เราเข้าใจความรู้สึกแสนหนักอึ้งในทุกคำพูดของอรุณในปัจจุบันมากขึ้น ในฐานะอีกคนที่ต้องไกลบ้านไปเดินตามฝัน ทางเดินของเราไม่ได้เรียบเชียบ เงียบสงบเหมือนที่คิด เราเองก็คงเหมือนกับอรุณ ไม่มีใครสามารถเลี่ยงการลบหน้าเดิม เติมหน้าใหม่ ในทุกๆ วันของการใช้ชีวิตได้ เราแค่ต้องทำไปเรื่อยๆ เพื่อรอให้เราได้พบกับบทบาทที่เราใฝ่ฝันจริงๆ 

Track 2: Soundtrack of Spirit

เพลง

หลาลุงแสง - จักรพันธ์ รวิพันธุ์

Saxo Planetariel - Ariel Kalma

‘วังเวง เวิ้งว้าง ว่างเปล่า’ คือความรู้สึกแรกที่เราได้รับหลังจากเสียงเคาท์ดาวน์จบลงในช่วง 15 วินาทีแรกของ Soundtrack นี้ เรียกว่าเป็นครั้งแรกๆ ที่รู้สึกถึงความเงียบที่ดังกังวาล พาให้เรานึกถึงศาลาที่วัดยางทองอีกครั้ง ที่ที่วิญญาณตนหนึ่ง กำลังพยายามสวมบทบาทเป็น ‘อรุณ’ เพื่อหาความทรงจำและตัวตนที่สูญหาย จากนั้นเราก็ได้ยินเสียงแว่วจากวิญญาณดวงนั้น ที่ยังวนเวียนอยู่ที่ศาลาวัดไม่ไปไหน

“ผมยืมชื่ออรุณมาเพื่อสร้างแสงสว่าง ผมมองหาแสง แสงที่มาพร้อมกับบาดแผล พร้อมกับความแผดเผา แต่วันนี้เราไ้ด้หายใจเข้า หายใจออก แบบมีชื่อ แบบที่มีคนมองเห็น แบบที่ได้หัวเราะไปกับเรื่องราวที่สร้าง เศร้ากับเสียงที่เคยได้ยิน แต่ตอนนี้ไม่ได้ยิน”

โรสกล่าวกับทีม EQ ว่าได้ลองนำเพลง ‘หลาลุงแสง’ และ ‘Saxo Planetariel’ มาซ้อนทับกันดู แล้วมันดันกลายเป็นสองเพลงที่ถักทอจนเป็นเพลงเดียวอย่างลงตัว ทวีคูณความ ‘ว่างเปล่า’ ของเสียงกระซิบข้างหูเบาๆ ทำให้เราขนลุกซู่ เสียงฉิ่ง และ ambient รอบๆ ที่เพิ่มเข้ามา ปลุกมวลบรรยากาศบางอย่างที่ยิ่งทำให้คำพูดของวิญญาณตนนั้น แทงลึกไปถึงตัวตนของเราเอง ว่าหรือจริงๆ แล้วเราก็เป็นเศษเสี้ยววิญญาณที่กำลังตามหาตัวตนในโลกที่มันวังเวงนี้อยู่เหมือนกัน

Track 3: Soundtrack of Actor

ตอนเราดูการแสดงสดที่โรงสีแดง หับ โห้ หิ้น โชว์เปิดด้วย ‘อรุณ’ ออกมาพูดหยอกล้อกับคนดูอย่างสนุก แต่เมื่อกดฟัง Soundtrack สิ่งแรกที่เราได้ยินกลับเป็นเสียงร้องไห้สะอื้นของชายคนหนึ่ง ชวนให้เราคิดต่อว่านี่คือเสียงนักแสดงที่กำลังร้องไห้ สร้างน้ำตาเพื่อตัวบท หรือเป็นเสียงร้องไห้จริงๆ จากตัวนักแสดงเองกันแน่? ต่อด้วยเสียงประกาศรางวัลออสการ์ สะท้อนเรื่องราวของ ‘การเป็นนักแสดง’ ที่ผ่านการสรรเสริญ และการแตกดับ ต้องแบกรับความเจ็บปวดของความไม่แน่นอนในสายอาชีพที่ใฝ่ฝัน

“สรุปแล้วอรุณจะหาเงินมาสร้างหนังเองเหรอ หาได้แล้วอรุณก็จะเล่นเองเหรอ พอเล่นแล้ว อรุณถึงจะนับตัวเองเป็นนักแสดงถูกมั้ย ฟังดูเหนื่อยหน่อย แต่ทำไงได้ ก็ในเมื่อไม่มีใครอยากดูอรุณเล่น”

การปูด้วยเสียงปรบมือ เสียงโห่ร้อง เสียงหัวเราะเยาะชอบใจ ทำให้บทเพลง ‘ล่องใต้’ ที่สรรเสริญความงามของภาคใต้ กลายเป็นเพลงเศร้าเคล้าน้ำตานักแสดง ปล่อยพลังงานบางอย่างให้คนฟังอย่างเรา เห็นภาพความรู้สึกที่อัดแน่นของอรุณ แม้เราจะไม่ได้ทำงานสายอาชีพนี้ แต่ก็สามารถเข้าถึงความเจ็บปวดได้ ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง

โดยทั้ง 3 soundtrack มีวิธีคิดและขั้นตอนในการทำที่แตกต่างกันออกไป โดยยึดโยงกับทั้งตัวบท สถานที่ ตัวนักแสดง และการตีความของทั้งโรสเอง, 22 Nakhonnok Bar และ Mellow Tunes

“เราอยากทำ Soundtrack ประกอบ ตอนมาลงพื้นที่ไปเจอยูโกะกับพี่ปอ เลยคิดว่างั้นเราให้เค้าลองคิวเรทเพลงมาให้ช็อตละ 2 เพลง เราก็คุยเรื่องความรู้สึกและบรรยากาศกัน พอเค้าส่งมาเราว่ามันก็เข้ากันดี” โรสเสริม

หลังจากได้เพลงมาแล้วโรสก็ได้ลองลงมือ edit sound ทั้งหมดดูเอง ทั้งคลิปจากยูทูป ซาวด์หนังผี เสียงมอเตอร์ไซค์ หรือคลิปประกาศรางวัล และเสียงก่อสร้าง แล้วลองดูว่าเราจะเอามันมาประกอบกันยังไง โดยได้ทีม Mellow Tunes มาช่วยทำ final mix ดันสิ่งที่ต้องการให้ชัดเจนขึ้น