เวลานึกถึง 'ดาราศาสตร์' จะนึกถึงอะไรกันบ้าง บางคนอาจจะนึกถึงสิ่งที่ปรากฏบนท้องฟ้าในเวลากลางคืน บางคนอาจจะนึกถึงกล้องดูดาว บางคนอาจจะนึกถึงระบบสุริยจักรวาล แต่รู้กันหรือเปล่าว่า ก่อนที่คนไทยเราจะรู้จักคำว่า 'ดาราศาสตร์' ในแบบที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน คนไทยในอดีตไม่ได้มองท้องฟ้าด้วยสายตาแบบเราเลย หรือถ้าพูดให้ถูกก็คือ ไม่ได้ใกล้เคียงกับสิ่งที่เราจะนึกออกเลย
คนไทยในอดีตกับท้องฟ้าที่ไร้วิทยาศาสตร์
เวลาคนไทยสมัยก่อนมองขึ้นไปบนท้องฟ้า เขาไม่ได้มองขึ้นด้วยความคิดอะไรที่ซับซ้อนมากเท่าในปัจจุบัน เพราะการดูดาวของคนไทยสมัยก่อนนั้นมักจะเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตในอดีต เช่น สังเกตดวงดาวบนท้องฟ้าเพื่อให้รู้ช่วงเวลาเริ่มต้นของฤดูทำนา หรือใช้ในการทำนายดวงชะตาต่างๆ ผ่านตำแหน่ง และการเคลื่อนที่ของดวงดาว ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ได้ต่างอะไรกับผู้คนในส่วนอื่นๆ ของโลก
ดังนั้น องค์ความรู้ในด้านดวงดาวในระยะแรกๆ จึงไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องดาราศาสตร์โดยตรง แต่มักจะไปเกี่ยวข้องกับเรื่องศาสนา และความเชื่อมากกว่า อย่างเช่นพระอาทิตย์ หรือพระจันทร์ที่พบมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์บนกลองมโหระทึกที่อาจเกี่ยวข้องกับแนวคิดเรื่องการบูชาพระอาทิตย์ และพระจันทร์ หรือบนเหรียญในสมัยทวารวดีที่อาจเกี่ยวข้องกับแนวคิดเรื่องความเป็นสัญลักษณ์มงคล ก็ล้วนแล้วแต่สะท้อนเรื่องราวในทางความเชื่อทั้งสิ้น
จนเมื่อเข้าสู่สมัยอยุธยา ก็เริ่มปรากฏแนวคิดเรื่องของจักรวาลวิทยาขึ้นมา แต่ก็ยังเป็นจักรวาลวิทยาในทางความเชื่อที่มีโลกเป็นศูนย์กลางจักรวาล ไม่ใช่ดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางจักรวาล และโลกที่ว่าก็ยังไม่ใช่โลกทรงกลม แต่เป็นโลกทรงแบน โลกที่ประกอบด้วยเขาพระสุเมรุ เขาสัตตบริภัณฑ์ มหานทีสีทันดรอยู่เลย โดยมีพระอาทิตย์และพระจันทร์กำลังโคจรรอบโลก บางที่เพื่อให้เห็นภาพจะมีการวาดวงโคจรของดวงอาทิตย์และดวงจันทร์เอาไว้ด้วย หรือถ้าบางที่จะใส่รายละเอียดเพิ่มเติมก็จะมีการวาดภาพพระสุริยะ และพระจันทร์ในรูปของเทพเจ้าประทับอยู่ในราชรถที่เทียมด้วยสัตว์ หรือภาพนกยูง และกระต่าย สัญลักษณ์ของพระอาทิตย์ และพระจันทร์เอาไว้ข้างใน
นอกจากนี้ ยังเริ่มปรากฏแนวคิดเรื่องของกลุ่มดาวฤกษ์ในช่วงท้ายๆ ของกรุงศรีอยุธยาด้วย โดยภาพกลุ่มดาวฤกษ์ปรากฏขึ้นครั้งแรกบนฝาผนังของวัดเกาะแก้วสุทธาราม จังหวัดเพชรบุรี โดยถูกวาดกลุ่มดาว 22 กลุ่มอยู่ล้อมรอบภาพจักรวาลแบบไทยประเพณี โดยบางกลุ่มที่การระบุชื่อ และตัวเลขกำกับเอาไว้ด้วย ซึ่งกลุ่มดาวเหล่านี้ถูกจัดเรียงอยู่ในผังจักรราศีแบบเดียวกับที่ปรากฏในคัมภีร์ดาวสมัยโบราณ โดยแต่ละกลุ่มจะวาดดาวเป็นรูปทรงกลมที่เกาะกลุ่มตามตำแหน่ง
แนวคิดทั้งสองนี้ยังส่งต่อมายังสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นด้วย โดยพบอยู่ทั้งบนฝาผนังของอุโบสถและวิหาร เช่น วัดสุวรรณาราม กรุงเทพมหานคร หรือ วัดไชยทิศ กรุงเทพมหานคร แต่ส่วนใหญ่จะเป็นภาพพระอาทิตย์ และพระจันทร์ที่พบร่วมกับภาพจักรวาลแบบไทยประเพณี ในขณะที่ภาพกลุ่มดาวนั้นพบเพียงแห่งเดียวคือ ในหอไตรข้างพระตำหนักวาสุกรี ในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือ วัดโพธิ์ ซึ่งที่นี่วาดทั้งกลุ่มดาว 12 นักษัตร กลุ่มดาวฤกษ์ 27 กลุ่ม โดยมีการลากเส้นเชื่อมต่อดาวแต่ละดวงเข้าด้วยกันจนเกิดเป็นรูปร่างต่างๆ ตามกลุ่มดาวนั้นๆ ด้วย
จากโหราศาสตร์สู่ดาราศาสตร์
ส่วนดาราศาสตร์แบบตะวันตกเริ่มเข้ามาในประเทศไทยจริงๆ ก็สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเลย ซึ่งดาราศาสตร์ถือเป็นหนึ่งในสิ่งที่พระองค์ทรงสนพระทัยเป็นพิเศษ ความสนใจของพระองค์ในศาสตร์นี้มีมาตั้งแต่สมัยที่พระองค์ยังทรงผนวชอยู่ ในบันทึกของหมอเหา หรือหมอเฮาส์ได้เล่าถึงห้องของพระองค์เมื่อครั้งยังทรงผนวชอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหารเอาไว้ว่า
“ข้าพเจ้าได้เหลียวมองไปรอบๆ ห้อง และเห็นพระคัมภีร์ไบเบิลของสมาคม เอ.บี. และพจนานุกรมเวบสเตอร์ตั้งเคียงบนชั้นบนโต๊ะเขียนหนังสือ นอกจากนั้นยังมีหนังสือดาราศาสตร์ และการเดินเรือวางไว้ด้วย ส่วนข้างบนอีกโต๊ะมีแผนผังอุปราคาที่จะเกิดขึ้นครั้งต่อไป มีรายการคำนวณเขียนไว้ด้วยดินสอ นอกจากนั้นยังมีแบบลอกแผนที่ของนายชานเดลอร์วางอยู่ด้วย”
ไม่เพียงเท่านั้น พระองค์ยังเคยทั้งเข้าร่วมฟังปาฐกถา อ่านทั้งหนังสือ และบทความด้านดาราศาสตร์ต่างๆ ที่จัดโดยมิชชันนารี โดยหนึ่งในเล่มที่พระองค์ทรงโปรดปรานมากเป็นพิเศษคือ The Almanac and Astronomy (ปูมดาวและดาราศาสตร์) ของศาสตราจารย์เจสซี่ แคสแวส ซึ่งหมอบรัดเลย์ได้แปลไว้เมื่อ พ.ศ. 2386 รวมถึงทรงสั่งซื้อทั้งกล้องโทรทรรศน์ และแผนที่ดวงดาวจากต่างประเทศ ซึ่งกล้องโทรทรรศน์ที่พระองค์สั่งซื้อมานั้นมีคุณภาพสูงกว่ากล้องโทรทรรศน์ที่สมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธแห่งสหราชอาณาจักรถวายให้พระองค์ผ่านเซอร์จอห์น เบาว์ริ่งเสียอีก เหล่านี้ส่งให้พระองค์ทรงมีพระปรีชาสามารถในด้านดาราศาสตร์เป็นอย่างมาก โดยมีผลงานชิ้นเยี่ยมที่สุดก็คือ การคำนวณการเกิดสุริยุปราคาเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2411 ที่ตำบลหว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ หรือที่ประชาคมดาราศาสตร์สากลเรียกว่า 'King of Siam’s Eclipse' หรือ 'อุปราคาของพระเจ้ากรุงสยาม' ซึ่งพระองค์ไม่เพียงใช้ตำราจากอังกฤษ และอเมริกันเท่านั้น พระองค์ยังทรงใช้ตำราโหราศาสตร์ สารัมภ์ทั้งของไทย และของมอญ ซึ่งการคำนวณของพระองค์นั้นแม่นยำยิ่งกว่านักดาราศาสตร์ชาวตะวันตก แม้เหตุการณ์การทอดพระเนตรสุริยุปราคาในครั้งนั้นจะทำให้พระองค์ทรงสวรรคตหลังจากพระองค์เสด็จกลับมายังพระนครก็ตาม
เหตุการณ์นี้สำคัญขนาดไหน? สำคัญขนาดที่มีการบันทึกเหตุการณ์นี้ลงในจิตรกรรมฝาผนังวัดถึง 3 แห่ง โดย 2 แห่ง คือ วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพมหานคร และวัดเสนาสนาราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ถึงกับเขียนฉากที่พระองค์กำลังยกกล้องดูดาวส่องดูสุริยุปราคาเอาไว้ โดยถึงแม้จะเปลี่ยนฉากหลังจากที่ควรจะเป็นที่ประทับในป่าที่อำเภอหว้ากอกลายเป็นพระที่นั่งดุสิตาภิรมย์ใกล้กับพระที่นั่งอิศราวินิจฉัยภายในพระบรมมหาราชวังแทน ซึ่งอาจเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระองค์ และเพื่อให้สอดคล้องกับจิตรกรรมฝาผนังในส่วนอื่นๆ ทว่าภาพนี้ก็เป็นสิ่งยืนยันให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมว่า เหตุการณ์นี้ไม่สำคัญแค่เฉพาะชาวต่างชาติเท่านั้นแต่รวมไปถึงคนสยามด้วย
นอกจากนี้ ในจิตรกรรมฝาผนังยังมีระบบจักรวาลวิทยาแบบใหม่ จากที่ในอดีตจากเป็นจักรวาลวิทยาแบบพุทธที่ประกอบด้วยเขาพระสุเมรุ เขาสัตตบริภัณฑ์ กำแพงจักรวาลที่บางครั้งอาจมาพร้อมกับพระอาทิตย์กับพระจันทร์ไปสู่จักรวาลแนวใหม่ที่ผสมผสานระหว่างกลุ่มดาวตามความเชื่อแบบนพเคราะห์ตามแนวโหราศาสตร์ไทยผสมผสานกับดาวในระบบสุริยะแบบตะวันตก โดยหลักฐานสำคัญอยู่ที่วัดบรมนิวาส กรุงเทพมหานคร ซึ่งเขียนภาพพระอาทิตย์และพระจันทร์แบบใหม่ที่ไม่มีรูปพระสุริยะ และพระจันทร์อยู่ข้างในอีกต่อไป แถมพระจันทร์ยังมีทั้งพระจันทร์เต็มดวง จันทรคราส และพระจันทร์ดับด้วย นอกจากนี้ยังมีดาวอื่นๆ ด้วย เช่น ดาวพฤหัสบดีที่มาพร้อมดวงจันทร์บริวาร 4 ดวง และดาวเสาร์ที่มีวงแหวน
ส่วนกลุ่มดาวแบบดั้งเดิมก็ใช่ว่าจะเลิกไปหมด เพราะยังคงพบอยู่บ้างโดยยังคงเป็นกลุ่มดาวแบบไทยเหมือนเดิม แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปก็คือ รูปร่างหน้าตาของกลุ่มดาว จากที่แต่เดิมจะเป็นวงกลมที่มีเส้นเชื่อมต่อดาวแต่ละดวงเข้าด้วยกันกลายเป็นกลุ่มดาวที่มีแฉกประกายคล้ายกับเวลาเรามองเห็นกลุ่มดาวเหล่านั้นด้วยตาอย่างเช่นที่วัดปทุมวนาราม กรุงเทพมหานคร หรือกลุ่มเทวดาที่เรียงตัวเป็นกลุ่มดาวพร้อมชื่อกลุ่มดาวกำกับไว้ที่วัดราชนัดดาราม กรุงเทพมหานคร
เหล่านี้ล้วนแสดงให้เห็นว่า แนวคิดเรื่องจักรวาลแบบเก่า และจักรวาลแบบใหม่ยังคงอยู่ร่วมกันได้ในสังคมไทย และเป็นเช่นนั้นเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ดูได้จากการที่แม้ในบทเรียนในระดับชั้นประถม – มัธยม จะมีวิชาดาราศาสตร์แทรกอยู่ในวิชาวิทยาศาสตร์ที่เราต้องเรียนเรื่องดาวเคราะห์ ดาวฤกษ์ กลุ่มดาว แต่ในเรื่องเกี่ยวกับโหราศาสตร์ทั้งบนหน้าจอทีวี และในอินเทอร์เน็ตก็ยังคงพูดถึงการโคจรของกลุ่มดาวที่เข้า และออกดวงชะตาของคนในราศีต่างๆ อยู่เลย
โหราศาสตร์ – ดาราศาสตร์ ความต่างที่ผสมกันอย่างลงตัว
จะเห็นว่า ไม่ว่าจะเป็นโหราศาสตร์แบบดั้งเดิมของไทย หรือดาราศาสตร์อย่างใหม่จากโลกตะวันตกก็ล้วนแล้วแต่เป็นความสนใจที่ผู้คนในประเทศนี้มีต่อบางสิ่งบางอย่างที่อยู่บนท้องฟ้าซึ่งทั้งมองเห็นด้วยตา และที่มองไม่เห็น ไม่ว่าจะการมองนั้นจะเป็นการมองผ่านความเชื่อ หรือการมองความเป็นจริงก็ไม่ได้ทำให้ความสนใจเหล่านั้นลดลงไปเลยแม้แต่น้อย