Culture

Avatar ตีแผ่เรื่องบาดแผลจากการล่าอาณานิคม หรือว่ากำลังกระทืบซ้ำกันแน่?

ตั้งแต่ปี 2009 ที่ภาพยนตร์เรื่อง ‘Avatar’ (อวตาร) ภาคแรกได้ถูกฉายในโรง มันก็ได้กลายเป็นอันดับหนึ่งหนังทำเงินสูงสุดตลอดกาล โดยปัจจุบันรวมรายได้อยู่ที่ $2,923,706,026 ดอลล่าร์สหรัฐฯ และภาคใหม่ล่าสุดที่ยังคงฉายอย่างต่อเนื่อง ‘Avatar: The Way of Water’ ก็ขึ้นแท่นเป็นอันดับ 4 แล้วเรียบร้อย แสดงให้เห็นว่ามีผู้คนจำนวนมหาศาลที่ชื่นชอบและรอคอย แม้จะมีข้อวิพากย์ที่ดังขึ้นท่ามกลางเสียงสรรเสริญ และไม่สามารถเมินได้ก็ตาม

ภาพยนตร์เรื่องนี้มีธีมหลักที่ชัดเจนมาตั้งแต่ภาคแรก นั่นก็คือเรื่องของการล่าอาณานิคม (Colonization) โดยที่ผู้กำกับ ‘เจมส์ คาเมรอน’ (James Cameron) ได้รับแรงบันดาลใจมาจากการที่ชาวยุโรปแย่งชิงดินแดนและทรัพยากรของกลุ่มชนพื้นเมืองในทวีปอเมริกา ในช่วงปี 1492-1800 เขานำเรื่องนี้มาถ่ายทอดใน Avatar โดยให้มนุษย์โลกเป็นตัวแทนของชาวยุโรป และชาว ‘นาวี’ (Na’vi) เป็นตัวแทนของชนพื้นเมือง นอกจากนี้ ธีมรองอย่างเช่นการอนุรักษ์ธรรมชาติกับวัฒนธรรมก็ยังยึดโยงกับธีมหลักอีกด้วย ชี้ให้เห็นว่าคาเมรอนตั้งใจหยิบประเด็นนี้มาเล่นโดยเฉพาะ

Photo credit: Avatar Wiki

แน่นอนว่าในเมื่อนำเรื่องอ่อนไหวมาผลิตซ้ำในรูปแบบของสื่อ ซึ่งปรับแต่งพล็อตโดยฝีมือของผู้ที่ไม่ได้รับผลกระทบจากประวัติศาสตร์นี้โดยตรง มันก็ย่อมนำมาซึ่งคำวิจารณ์ต่างๆ นานา มีฝั่งที่บอกว่า Avatar ถ่ายทอดเรื่องราวออกมาได้ดี ทำให้เข้าใจความรู้สึกของชาวเผ่าที่ถูกรุกรานได้มากขึ้น ในทางกลับกันก็มีชนกลุ่มน้อยที่ไม่พอใจกับการเอาภาพอันเจ็บปวดในอดีตมาฉายซ้ำ โดยเฉพาะเมื่อมันถ่ายทอดผ่านเลนส์ของคนขาว และถึงแม้จะมีชาวอเมริกันพื้นเมืองในหมู่ทีมงาน มันก็ยังคงเป็นความจริงที่ว่าตัวละครหลักอย่าง ‘เจค ซัลลี่’ (Jake Sully) ก็ถูกวางบทบาทให้เป็น ‘ฮีโร่คนขาว’ ของชาวนาวี ที่ช่วยกอบกู้สถานการณ์ไว้ได้หลายต่อหลายครั้ง ขัดกับภาพในประวัติศาสตร์บนโลกแห่งความจริงเสียเหลือเกิน

Photo credit: Cine Dope

นอกจากเจคแล้ว ผู้กำกับอย่างคาเมรอนเองก็ดูเหมือนว่าจะมีความคิดแบบ ‘white saviour’ อยู่กลายๆ มันก็คือการที่คนขาวอย่างเขาถือตนเป็น ‘ผู้กอบกู้’ ที่จะช่วยเหลือคนต่างชาติพันธุ์ หรือเรียกง่ายๆ ก็คือมองว่าตนอยู่เหนือกว่า จึงจำเป็นต้องช่วยเหลือผู้ด้อยกว่านั่นเอง แน่นอนว่าการช่วยเหลือย่อมเป็นเรื่องดี แต่ไม่เสมอไป ในกรณีที่ผู้ช่วยเหลือยกตนให้ดูเหมือนเป็นพระเจ้าที่กำลังโปรดสัตว์

ในกรณีของคาเมรอน เขาเคยให้สัมภาษณ์กับ The Guardian ในปี 2010 ว่า การที่เขาได้รับรู้ว่าชนเผ่า ‘ลาโกต้า ซู’ (Lakota Sioux) ในอเมริกาเหนือถูกไล่ออกไปจากพื้นที่ ถูกฆ่า และถูกหยิบยื่นข้อเสนอกับสิ่งชดเชยต่างๆ ทั้งหมดนั้นเป็นตัวจุดชนวนให้เขียนเรื่อง Avatar ขึ้นมา — “ผมอดคิดไม่ได้ว่าหากพวกเขา (ลาโกต้า ซู) มีหน้าต่างกาลเวลาและสามารถมองเห็นอนาคตได้ ถ้าเห็นว่าลูกหลานของพวกเขามีอัตราการฆ่าตัวตายสูงสุดในประเทศ เพราะกำลังสิ้นหวังและเป็นกลุ่มสังคมที่ติดอยู่ในทางตัน (…) พวกเขาคงจะต่อสู้กันหนักกว่านี้”

Photo credit: Koimoi

ประโยคสุดท้ายทำให้เหล่าชนพื้นเมืองไม่พอใจเป็นอย่างมาก เพราะมันดูเหมือนกับว่าคาเมรอนกำลังบอกว่าบรรพบุรุษของพวกเขาไม่พยายามมากพอเพื่อปกป้องพวกพ้องและดินแดนเอาไว้ ทั้งที่ผู้ร้ายที่ทำให้พวกเขาต้องอยู่อย่างแร้นแค้นก็คือชาวยุโรปผมทองตาฟ้าต่างหาก และการที่ผู้พูดได้สร้างหนังเกี่ยวกับการล่าอาณานิคม แถมยังให้คนขาวอย่างเจคเป็นตัวเอกที่ต่อสู้เพื่อช่วยชาวนาวี ก็ยิ่งทำให้ประโยคนั้นฟังดูตลกร้ายเข้าไปใหญ่ ทัศนคติที่แสดงออกมาผ่านคำพูดนั้นทำให้คนบางกลุ่มมองว่าคาเมรอนดูถูกชนพื้นเมือง ว่าพวกเขาจะชนะไม่ได้เลย ถ้าไม่พยายามกว่านี้หรือได้รับการช่วยเหลือจากคนขาว

Photo credit: Avatar Wiki

นอกจากประเด็นนี้แล้ว ยังมีเรื่องของการฉกฉวยวัฒนธรรม (Cultural Appropriation) ที่ทำให้มีกระแสต่อต้านขึ้นมาอีกครั้ง สำหรับภาคล่าสุดที่มีการนำเสนอชนเผ่าแถบทะเล ‘เม็ตคายีน่า’ (Metkayina) จะเห็นได้ว่าดีไซน์ของตัวละครเผ่านี้รับแรงบันดาลใจมาจากชาว ‘เมารี’ (Māori) ชนเผ่าพื้นเมืองของประเทศนิวซีแลนด์ ด้วยการเต้น ‘ฮากา’ (Haka) สร้างความฮึกเหิมก่อนการต่อสู้ และที่เด่นที่สุดก็คือ เครื่องแต่งกายกับรอยสัก ‘ทา โมโก’ (Tā Moko) อันเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งตรงนี้เองที่เป็นปัญหา เพราะโดยปกติแล้ว ทา โมโกจะมีความหมายในลวดลายของมัน เช่น ลายโค้งเป็นก้นหอย (Koru) สื่อถึงการเกิดใหม่  แต่ชาวเมารีตัวจริงก็ได้ออกมาบอกว่ารอยสักเหล่านั้นบนตัวละครไม่มีความหมายอะไรเลย ดูเหมือนเป็นเพียงลายที่สร้างขึ้นเพื่อความสวยงามและเพิ่มกลิ่นอายของความเป็นชนเผ่าเท่านั้น มันจึงน่าผิดหวังสำหรับพวกเขา

TheWrap Magazine ได้นำเรื่องของการฉกฉวยวัฒนธรรมนี้มาพูดคุยกับเจมส์ คาเมรอนในการสัมภาษณ์ด้วย เขาตอบกลับมาว่า “พวกเราได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันเยอะมากในเรื่องของการฉกฉวยวัฒนธรรม ต้องมากเท่าไหร่ถึงจะเรียกว่ามากเกินไป? ต้องถึงจุดไหนที่มันจะไม่ใช่การเคารพนับถือและเฉลิมฉลอง แต่กลับเป็นการฉกฉวยและเอารัดเอาเปรียบ?” หลังจากนั้นก็เป็นการอธิบายว่าไม่ได้นิ่งนอนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้แต่อย่างใด เขาได้ทำการค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับวัฒนธรรมแถบโพลีนีเซียและปรึกษากับศิลปินในทีม ทั้งในเรื่องของรอยสักและเครื่องแต่งกายด้วย

Photo credit: Pursue News

โดยรวมแล้ว คาเมรอนรับรู้ว่าตัวเองมีอภิสิทธิ์ของคนขาวและมีเจตนาดี จึงได้จ้างทีมงานบางส่วนที่เป็นคนจากชนเผ่านั้นๆ รวมถึงศึกษาอะไรหลายอย่าง เช่น ภาษาและสำเนียงเมารี สไตล์งานศิลปะของชาวเผ่า ฯลฯ ถึงอย่างนั้นก็ยังมีช่องโหว่ในด้านของการนำเสนอวัฒนธรรมอยู่บ้าง มันจึงอาจเป็นการหยิบมาใช้อย่างฉาบฉวย จนนำมาสู่ข้อวิพากย์วิจารณ์ต่างๆ และการคว่ำบาตรในหมู่ชนพื้นเมือง

ทั้งนี้ ตัวบทความไม่ได้มีเจตนาจะกล่าวร้าย Avatar หรือเจมส์ คาเมรอน เพียงแต่ยกประเด็นนี้ขึ้นมาชวนให้ขบคิดว่ายังมีอีกด้านหนึ่งที่เราอาจไม่ได้นึกถึง นั่นก็คือเสียงของผู้ที่ถูกขโมยเอาวัฒนธรรมไปปั้นเป็นผลงานชิ้นเอก ทำให้มันถูกเสพในฐานะ ‘สิ่งบันเทิง’ มากกว่า ‘ประเพณีอันมีเกียรติ’ อย่างที่ไม่ควรจะเป็น

อ้างอิง

Box Office Mojo

Insider

Outlook

TheWrap

Washington Post