‘บาร์บี้’ – บาร์บาร่า มิลลิเซนท์ โรเบิร์ตส์ (Barbaria Millicent Robets) สาวน้อยมหัศจรรย์ที่เป็นความทรงจำวัยเด็กของใครหลายๆ คน ด้วยใบหน้าที่สะสวย ผมสีบลอนด์สุดไอคอนิค รวมไปถึงการปรากฎตัวในสื่ออยู่เสมอทั้งในของเล่น อนิเมชั่น หรือแม้แต่เกมส์ จึงไม่แปลกเลยที่เธอจะเป็นที่จดจำโดยผู้คนทั่วโลก บาร์บี้ปรากฏตัวครั้งแรกในงานเทศกาลของเล่นเมื่อปี 1959 โดยผู้ที่ออกแบบเธอคือ รูธ แฮนด์เลอร์ (Ruth Handler) เจ้าของบริษัทแมทเทล (Mattel, Inc.) และรูธเคยพูดเอาไว้ว่า เธอมองบาร์บี้เป็น ‘ภาพสะท้อนของช่วงเวลา’ (Barbie is A Reflection of The Times) เพราะฉะนั้นหากเรามาไล่เรียงกันดู ก็จะพบว่า สาวน้อยมหัศจรรย์คนนี้มีรูปร่างลักษณะ และบทบาทที่แตกต่างกันไปตามช่วงปีจริงๆ บทความนี้จึงอยากจะพาทุกคนมาสำรวจความเป็นบาร์บี้ และทำไมเธอถึงยังคงเป็นไอค่อนของแต่ละยุคอยู่เสมอแม้จะผ่านมานานกว่า 60 ปีแล้ว
60s - 70s: The American’s Beauty
รูธได้แรงบันดาลใจในการสร้างบาร์บี้มาจากลูกสาวของเธอ (ที่ชื่อบาร์บาร่าเช่นกัน) โดยในยุคนั้น รูธเห็นว่า ในขณะที่เด็กผู้ชายมีของเล่นสำหรับต่อเติมจินตนาการเต็มไปหมด ไม่ว่าจะเป็นรถยนตร์ เครื่องบิน จรวด และอื่นๆ อีกมากมาย ของเล่นของเด็กผู้หญิงนั้นมักจะวนเวียนอยู่กับบทบาทของการเป็นแม่ ทั้งตุ๊กตาเด็กทารกพร้อมรถเข็นเด็กเอย เซ็ตสำหรับดูแลเด็กทารกเอย แทบจะไม่มีของเล่นไหนเลยที่สามารถส่งเสริมให้พวกเธอรู้สึกว่าพวกเธอจะทำอะไรก็ได้ รูธจึงสร้างตุ๊กตาหญิงสาววัยรุ่นนี้ขึ้นมา และแรงบันดาลใจของหน้าตาบาร์บี้ก็มาจากดาราหญิงที่โด่งดังในยุคนั้นไม่ว่าจะเป็น เอลิซาเบธ เทย์เลอร์ (Elizabeth Taylor) หรือ มาริลีน มอนโร (Marilyn Monroe)
อีกทั้งในปี 1962 ได้มีการเปิดตัว ‘บ้านในฝันของบาร์บี้ (Barbie Dreamhouse)’ ซึ่งเป็นบ้านส่วนตัวของบาร์บี้ ในช่วงเวลาที่ผู้หญิงยังไม่มีสิทธิ์แม้แต่ที่จะเปิดบัญชีธนาคารของตัวเอง นั่นเองก็จุดประกายให้เด็กสาวหลายคนรู้ว่า พวกเธอเองก็มีสิทธิ์มีบ้านของตัวเองเช่นเดียวกับบาร์บี้ จินตนาการของพวกเธอนั้นเป็นจริงได้ นับว่าเป็นหนึ่งในการขับเคลื่อนที่สำคัญมากๆ
แม้ว่าบาร์บี้จะได้รับความนิยมมากในหมู่เด็กๆ และนักสะสม แต่ก็มีข้อครหาที่เกิดขึ้นตามมาว่า เธอเป็นเพียงตัวแทนของสัญลักษณ์ทางเพศเท่านั้น และเพื่อตอบโต้กับคำวิจารณ์เหล่านั้น ทางแมทเทลก็ได้สร้างครอบครัว และเพื่อนๆ ของบาร์บี้ออกมา โดยเพื่อนรักคนแรกของบาร์บี้คือ มิดจ์ แฮดลีย์ (Midge Hadley) และถัดมาเป็นน้องสาวที่ชื่อ สคิปเปอร์ โรเบิร์ตส์ (Skipper Roberts) รวมไปถึงคริสตี้ (Christie) หนึ่งในเพื่อนรักของบาร์บี้ที่ถือเป็นหนึ่งในตุ๊กตาผิวดำตัวแรกที่มีการวางขายตามท้องตลาด การมาของคริสตี้ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในตัวผลักดันเรื่องความหลากหลายทางเชื้อชาติของเด็กผู้หญิงรอบโลกที่ไม่ได้มีเพียงเด็กหญิงผิวขาว ผมบลอนด์ และในยุคที่การเหยียดสีผิวยังเป็นเรื่องปกติ นับว่าเป็นเรื่องที่หัวก้าวหน้ามากๆ ที่มีตุ๊กตาผิวดำออกวางขายท่ามกลางตุ๊กตาที่ถูกออกแบบมาให้เหมือนคนขาว
80s - 90s: Everyone Can Be a ‘Barbie’
ข้อครหาที่ตามมาหลังจากนั้นคือ ถึงแม้ว่าจะมีการผลิตเพื่อนๆ ของบาร์บี้ที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติออกมา แต่พวกเธอก็ยังเป็น ‘คนอื่น’ ที่ไม่ใช่บาร์บี้อยู่ดี ในปี 1980s ทางแมทเทลจึงผลิตตุ๊กตาที่เป็นตัวแทนของคนดำ และตัวแทนของชาวฮิสปานิค และเรียกตุ๊กตาเหล่านั้นว่า ‘บาร์บี้’ นั่นคือจุดเริ่มต้นที่บาร์บี้กลายเป็นตัวแทนของคนจากหลากหลายเชื้อชาติอย่างแท้จริง
นอกจากนี้ บาร์บี้ยังปรากฎตัวในรูปแบบของอาชีพต่างๆ มากกว่า 200 อาชีพ นั่นรวมถึงอาชีพนักบินอวกาศหญิง (ที่ถูกวางขายในรูปแบบที่เธอได้ไปเหยียบดวงจันทร์ ก่อนหน้าที่นีล อาร์มสตรองจะได้ไปเหยียบดวงจันทร์ถึงสี่ปี) และประธานาธิบดีหญิง ซึ่งเธอก็ได้ลงสมัครเป็นประธานาธิบดีจริงๆ และก็ได้ลงสมัครมาตลอดตั้งแต่ปี 1992 เพื่อแสดงให้ทั้งสหรัฐอเมริกา และทั่วโลกได้รู้ว่า ผู้หญิงก็เป็นผู้นำได้เช่นกัน
2000s - ปัจจุบัน: Modern Women’s Reflection
สิ่งหนึ่งที่กลายมาเป็นจุดที่ใครหลายๆ คนกังวลเกี่ยวกับบาร์บี้มากกว่าสีผิว หรือสีตา นั่นคือรูปร่างของเธอที่จะผอม มีเอว แขนขาเล็ก ไม่ว่าจะเป็นบาร์บี้สีผิวอะไรก็ตาม ตัวอย่างเช่น ย้อนกลับไปเมื่อหลายสิบปีก่อน ตุ๊กตาบาร์บี้คอลเล็กชั่น Sleepover Barbie (1965) นั้นได้ขายตัวตุ๊กตาบาร์บี้ร่างเล็กที่มาพร้อมกับเครื่องชั่งน้ำหนักที่เขียนเลขเอาไว้ว่าสามารถรับน้ำหนักได้ถึงเพียง 110 ปอนด์ (ประมาณ 50 กิโลกรัม) พร้อมกับคู่มือที่เขียนบอกเด็กสาวว่า ‘อย่ากิน’ นั่นทำให้บาร์บี้เองถูกวิจารณ์ว่า ได้สร้างมุมมองต่อความเป็นผู้หญิงที่คับแคบ โฟกัสไปที่บิวตี้สแตนดาร์ดแบบยุโรป ทั้งยังส่งเสริมความเข้าใจและความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับสรีระร่างกาย และความผอม จนกระทั่งในปี 2016 ทางแมทเทลก็ได้ปล่อยคอลเล็กชั่น Project Dawn ออกมา ซึ่งเป็นคอลเล็กชั่นของบาร์บี้ที่มีให้เลือกถึง 7 เฉดสีผิว, ทรงผม 24 แบบ, สีตา 22 สี และสรีระแบบใหม่ถึงสามแบบ (ท้วม, สูง, ตัวเล็ก) ซึ่งคิม คัลโมน (Kim Culmone) รองประธานในการดีไซน์บาร์บี้ได้ให้สัมภาษณ์กับนิตยสารโว้ก (Vogue) ไว้ว่า “เรามองถึงความหลากหลายในทุกแง่มุม – เชื้อชาติ, สรีระร่างกาย, แฟชั่นที่เธอสวมใส่ เพื่อที่เด็กๆ จะได้เห็นตัวเองสะท้อนอยู่ในแบรนด์ของเรา” ซึ่งผลที่ตามมาคือ ยอดขายบาร์บี้ที่พุ่งขึ้นถึง 7% จากก่อนหน้า
ตั้งแต่ช่วงต้น 2000s มาจนถึงปัจจุบัน บาร์บี้เองก็ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในแรงผลักดันให้กับความเคลื่อนไหวทางด้านความเท่าเทียมทางเพศ (หรือเฟมินิสต์) และก็ได้ผลิตตุ๊กตาที่เป็นตัวแทนของหญิงสาวที่ประสบความสำเร็จ เช่น ในปี 2018 แมทเทลได้ปล่อยคอลเล็กชั่น ‘Inspiring Women’ ออกมา ซึ่งเป็นคอลเล็กชั่นที่รวมผู้หญิงที่ประสบความสำเร็จ และสร้างประวัติศาสตร์ถึงสามคน ได้แก่ Amelia Earhart (นักขับเครื่องบินหญิงผู้บินเดี่ยวข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก), Frida Kahlo (จิตรกรหญิง และนักขับเคลื่อนสังคม) และ Katherine Johnson (นักฟิสิกส์ และนักวิทยาศาสตร์หญิงในนาซ่า)
‘She’s Everything’
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า บาร์บี้นั้นไม่เคยหายไปจากเทรนด์ของโลกใบนี้ นั่นก็เพราะความเข้าใจบริบทของสังคม และพยายามเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาของทางบริษัท ที่ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น บาร์บี้ก็จะยังคงเป็นตัวแทนของหญิงสาวทุกคนบนโลกใบนี้ ในปัจจุบันนี้ไม่ใช่แค่ตุ๊กตา แต่บาร์บี้เองก็ยังปรากฎตัวในอนิเมชั่น ทำ Vlog ในยูทูป เล่น TikTok รวมไปถึงกำลังจะมีภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์เป็นของตัวเองอีกด้วย ความเป็นบาร์บี้นี้จะทำให้ทุกๆ คนไม่ว่าจะรูปร่างแบบไหน เชื้อชาติใด เชื่อในฝันของตัวเอง เชื่อว่าตัวเองสามารถเป็นอะไรก็ได้ที่อยากเป็น เพราะในท้ายที่สุดแล้ว บาร์บี้นั้นก็ได้แสดงให้เห็นแล้วว่าเธอเป็นได้ ‘ทุกอย่าง’ จริงๆ
อ้างอิง