Culture

อนิเมชั่นญี่ปุ่นยุคใหม่ กับมุมมองความงามที่เปลี่ยนไป

Warning: บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาเรื่อง Howl’s Moving Castle, Yuri!!! On ICE, Naruto และ My Hero Academia ตั้งแต่ภาค 4 ขึ้นไป

Photo credit: What’s on Netflix

เรามักจะมีคำพูดติดปากกันว่า “ทุกคนล้วนมีความสวยในแบบของตัวเอง” หากแต่ในความเป็นจริงแล้ว ผู้คนยังคงยึดติดกับกรอบที่สื่อต่างๆ สร้างไว้ และตัดสินคนอื่นด้วยมาตรฐานความงามที่ไม่ใช่ของตัวเอง วันนี้เราจึงจะอยากนำเสนออีกด้านหนึ่งของมุมมองด้วยการพาไปชมการ์ตูนญี่ปุ่น ในฐานะสื่อบันเทิงและ soft power ที่อาจเปลี่ยนแปลงความคิดเรื่องความงามของคุณไปตลอดกาล 

ความเยาว์วัย 

Photo credit: Anime X Feminist

สังคมหมกมุ่นกับความเยาว์วัยมาช้านาน จนแม้แต่ในปัจจุบัน นิยามความงามก็ยังผูกติดอยู่กับคำนี้ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจต่างๆ ที่สร้างผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีชะลอวัยอย่างต่อเนื่อง หรือสื่ออย่างนิตยสารส่วนใหญ่ที่หลีกเลี่ยงการถ่ายรูปคนมีอายุขึ้นปก ต่างก็สะท้อนให้เห็นถึงกรอบความงามดังกล่าว หากแต่สตูดิโอจิบลิ (Studio Ghibli) เลือกที่จะฉีกกรอบที่ว่านั้นผ่าน ‘Howl’s Moving Castle’ ซึ่งดัดแปลงจากนิยายชื่อเดียวกันของ ‘ไดอาน่า วินน์ โจนส์’ (Diana Wynne Jones) ที่เป็นเรื่องราวของ ‘โซฟี’ (Sophie) หญิงสาววัย 18 ปีผู้ขาดความมั่นใจในรูปลักษณ์ของตัวเอง แต่หลังจากพ่อมดรูปงาม ‘ฮาวล์’ (Howl) ช่วยโซฟีไว้ เธอก็ถูก ‘แม่มดแห่งทุ่งร้าง’ มองว่าเป็นศัตรูหัวใจ และสาปให้กลายเป็นหญิงชรา ซึ่งในช่วงแรก โซฟีทำใจรับรูปร่างหน้าตาที่เปลี่ยนไปของตัวเองไม่ได้ และพยายามปิดซ่อนมันจากคนในครอบครัว 

Photo credit: Wiki Fandom

แม่มดแห่งทุ่งร้างเองก็เป็นหนึ่งในเหยื่อของวาทกรรมความงาม ที่ให้คุณค่าแก่ความเยาว์วัย ในแง่มุมหนึ่ง แม่มดแห่งทุ่งร้างเป็นบุคคลที่โหดเหี้ยมและขี้อิจฉา แต่เบื้องหลังทั้งหมดนั้นกลับมีเพียงความหวาดกลัวต่ออายุของตน ทำให้เธอต้องพึ่งพาเวทมนตร์ในการคงรูปลักษณ์ที่อ่อนวัยอยู่เสมอ ทั้งที่การแก่ตัวลงเป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์

จากซ้ายไปขวา: โซฟี - แม่มดแห่งทุ่งร้าง | Photo credit: Anime X Feminist

นอกจากเรื่องของความงามแล้ว ‘Howl’s Moving Castle’ ยังตีแผ่ความจริงอันเจ็บปวดที่สังคมมักมองว่าความงามกับความชราไม่สามารถอยู่คู่กันได้ ซึ่งเห็นได้ชัดเจนจากทั้งตัวละครโซฟีและแม่มดแห่งทุ่งร้างตอนต้นเรื่อง ในความเป็นจริงแล้ว ทุกคนต่างกังวลเมื่อตระหนักถึงอายุที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน หากแต่หนังเรื่องนี้นำเสนอผ่านโซฟีซึ่งเรียนรู้ที่จะยอมรับตัวเองหลังถูกสาปว่า ความชราคือสิ่งสวยงามที่ไม่จำเป็นต้องปกปิด และความชราก็ไม่ได้ขึ้นอยู่กับรูปลักษณ์หรืออายุ

เชื้อชาติ

แถวบน: ไลท์จากมังงะ Death Note เล่ม 3 แถวล่าง: ไลท์ที่ถูกวาดใหม่ให้มีลักษณะเฉพาะของชาวญี่ปุ่น | Photo credit: Quora

ด้านบน จากซ้ายไปขวา: คนญี่ปุ่น - คนขาว ด้านล่าง: คาแรคเตอร์จากอนิเมะ | Photo credit: Wattpad

ด้านบน จากซ้ายไปขวา: คนขาว - คนญี่ปุ่น ด้านล่าง จากซ้ายไปขวา: คาแรคเตอร์กับโครงหน้าเดิม - คาแรคเตอร์กับโครงหน้าที่ถูกปรับให้มีความเป็นญี่ปุ่น | Photo credit: Lipstick Alley

คงมีบ่อยครั้งที่เราดูอนิเมชั่นญี่ปุ่น แล้วก็ได้แต่สงสัยว่าทำไมคนที่ดูเหมือนชาวยุโรปผิวขาวถึงได้มีชื่อญี่ปุ่น จนบางครั้งก็สังเกตได้เลยว่า แม้อนิเมะส่วนใหญ่จะถ่ายทอดเรื่องราวของคนญี่ปุ่น มันก็แฝงด้วยแนวคิดบูชาคนขาว (White Supremacy) ในการวาดตัวละคร เพราะโมเดลของนักวาดมักจะเป็นคนขาว (Caucasian) ซึ่งเน้นย้ำมาตรฐานความงามที่ให้ความสำคัญกับลักษณะอย่างผิวสีซีด จมูกโด่ง ใบหน้าเรียว และตาสองชั้น

Photo credit: The New York Times

กรณีหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ การย้อมสีผิวตัวละครให้ดูขาวผิดจากเป็นความจริง (whitewash) โดยในโฆษณาที่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ‘นิชชิน’ (Nissin) เป็นสปอนเซอร์เมื่อปี ค.ศ. 2019 นักเทนนิสสาวลูกครึ่งญี่ปุ่น-เฮติ ‘นาโอมิ โอซากะ’ (Naomi Osaka) ถูกวางให้เป็นตัวละครเอกที่จับคู่กับ ‘เคอิ นิชิโคริ’ (Kei Nishikori) นักเทนนิสฝ่ายชายอีกคน เพื่อแข่งขันกับตัวละครจากเรื่อง ‘Prince of Tennis’ ทว่าทางทีมงานกลับเปลี่ยนสีผิวของนาโอมิเป็นขาวสว่าง ให้ตรงกับกรอบความงามของสังคม ซึ่งขัดกับรูปลักษณ์และเชื้อชาติของเธอที่เป็นลูกครึ่งคนดำ นอกจากตัวอย่างที่ว่ามาแล้ว เรายังสามารถเห็นการย้อมสีผิวเช่นนี้ได้ทั่วไปในสื่อต่างๆ เช่น ปกนิตยสาร ภาพยนตร์ รายการโทรทัศน์ และมิวสิกวิดีโอ

Photo credit: Online Station

อย่างไรก็ตาม ในปีถัดมา ‘คามิคิตะ จิทสึนะ และ คิสึนะ’ (Kamikita Jitsuna and Kizuna) คู่แฝดที่เป็นที่รู้จักในฐานะนักวาดภาพประกอบมังงะ ‘Pretty Cure’ ได้ผลิตผลงานแนว sci-fi ‘Unrivaled NAOMI Tenkaichi’ ซึ่งบอกเล่าเส้นทางสู่การเป็นนักเทนนิสอันดับหนึ่งแห่งจักรวาลของนาโอมิ โอซากะ และการลงสีตัวละครก็ออกมาตรงกับต้นแบบ ถือเป็นพัฒนาการก้าวหนึ่งในการสร้างความหลากหลายในการนำเสนอความงามอย่างแท้จริง

ลักษณะร่างกาย

Photo credit: Tumblr

ตั้งแต่อดีตมาจนถึงทุกวันนี้ สังคมทุนนิยมและบริโภคนิยมได้สร้างความเชื่อที่ว่า ความอ้วนเป็นลักษณะของคนที่เกียจคร้าน ทานแต่อาหารฟาสต์ฟู้ด หรือสุขภาพไม่ดี ส่งผลให้ผู้คนไม่พอใจในรูปร่างของตัวเอง และมักจะมองหาวิธีการลดน้ำหนักอยู่ตลอดเวลา นอกจากนี้ ความกดดันยังแผ่ไปสู่คนรอบข้างจนเกิดการเหยียดความอ้วน (fat-shaming) อนิเมชั่นเรื่อง ‘Yuri!!! on ICE’ เริ่มดำเนินเรื่องด้วย ‘คัตสึกิ ยูริ’ (Katsuki Yuri) นักสเก็ตลีลาที่มีขนาดตัวค่อนข้างอวบ เพราะเสียใจจากความพ่ายแพ้ในการแข่งขันกรังด์ปรีซ์ไฟนอล (Grand Prix of Figure Skating Final) เป็นครั้งแรกและเลือกเยียวยาตัวเองด้วยการกิน หลังกลับไปบ้านเกิดที่ญี่ปุ่นก็ยังโดนคนรอบตัวล้อเลียนเรื่องหุ่น และยิ่งสูญเสียความมั่นใจ โดยการเหยียดความอ้วนเหล่านี้ถูกสื่อสารให้คนดูรู้สึกว่าเป็นมุกตลก แทนที่จะเสริมสร้างความเห็นใจแก่ตัวละคร

Photo credit: Anime X Feminist

หากแต่พอเวลาผ่านไป ทัศนคติที่มีต่อความอ้วนเองก็เริ่มเปลี่ยนแปลงเช่นกัน อนิเมชั่นแนวต่อสู้ในยุคร่วมสมัยอย่าง ‘My Hero Academia’ มีตัวละครฮีโร่ ‘แฟตกัม’ (Fat Gum) ผู้สามารถใช้ความอ้วนของตัวเองเป็นอาวุธ ซึ่งแตกต่างจาก ‘อาคิมิจิ โจจิ’ (Akimichi Choji) จากเรื่อง ‘Naruto’ ที่แม้จะมีพลังคล้ายคลึงกัน เขาก็ยังรู้สึกอ่อนไหวในเรื่องน้ำหนัก ในทางกลับกัน แฟตกัมไม่คิดว่าขนาดตัวที่ใหญ่โตของเขาเป็นข้อด้อยเลยแม้แต่น้อย แถมยังเป็นจุดที่คนรอบข้างต่างชื่นชมและสนับสนุน

Photo credit: aniDB

ทั้งนี้ ไม่ใช่ทุกวัฒนธรรมจะมองว่าความอ้วนเป็นสิ่งไม่ดี เพราะประเทศญี่ปุ่นมีการแข่งกีฬาซูโม่ ซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมทางเกษตรกรรมของลัทธิชินโต และหยั่งรากลึกในวัฒนธรรมญี่ปุ่นมานานกว่า 1,500 ปี ทำให้ร่างกายใหญ่โตของนักกีฬาซูโม่ถูกมองว่าเป็นผลจากความพยายามในการควบคุมอาหารการกินและการปฏิบัติตนด้านอื่นๆ อย่างเคร่งครัด ดังนั้น หากเปรียบเทียบกันแล้ว ญี่ปุ่นจึงเป็นประเทศที่มีอัตราการเหยียดเรื่องความอ้วนต่ำกว่าฝั่งตะวันตกหลายประเทศมาก  

Photo credit: Medium

ในปัจจุบัน สังคมทั่วโลกกำลังผลักดันให้เกิดการยอมรับความงามในแบบที่ไม่ตรงกรอบเดิมมากขึ้น แม้แต่สื่ออย่างอนิเมะและมังงะก็มีส่วนร่วมในการสร้างการตระหนักรู้ถึงปัญหาจากค่านิยมที่ว่า ความสวยเท่ากับความอ่อนวัย หน้าฝรั่งผิวขาว และความผอมเพรียว สุดท้ายแล้ว ถ้าทุกคนยอมรับได้ว่าความแตกต่างคือความสวยงาม ก็จะสามารถมั่นใจและเห็นคุณค่าของการเป็นตัวเองได้จริง  

อ้างอิง

Anime X Feminist - Spell of Self-Assurance

Anime X Feminist - Body Positivity

The New York Times

CBR

Thai PBS