คนเราจะเข้าสู่โลกการเมืองด้วยเหตุผลใดได้บ้าง? เงิน, อำนาจ, ชื่อเสียง และความยิ่งใหญ่ หรือความหวังที่จะพัฒนาประเทศ?
ทุกคนย่อมมีคำตอบของตัวเอง ซึ่ง ‘ประสบการณ์ส่วนตัว’ คือคำตอบของหญิงชาวปากีสถานคนหนึ่งที่ก้าวเข้าสู่โลกการเมืองมาจากประสบการณ์ในชีวิตจริงที่ยิ่งกว่าบทละคร เธอเป็นลูกสาวผู้นำประเทศ เป็นเด็กสาวชนชั้นสูงอนาคตไกล ที่กลายเป็นผู้พลัดถิ่น เธอผ่านความเจ็บปวดจากการเห็นคนในครอบครัวถูกสังหารซ้ำแล้วซ้ำเล่า เมื่อพิจารณาดูแล้ว ชีวิตของเธอก็เหมือนถูกผลักเข้าสู่โลกการเมืองแบบไม่ได้ตั้งใจ
เธอคนนั้นชื่อ ‘เบนาซี บุตโต’ (Benazir Bhutto) นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของปากีสถาน และผู้นำทางการเมืองหญิงคนแรกในโลกมุสลิม
“พ่อมักจะพูดว่า ‘ลูกของฉันจะเล่นการเมือง แล้วเธอจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี’ ฉันก็ตอบพ่อไปว่า ‘ไม่ ฉันจะไม่มีวันยุ่งเกี่ยวกับการเมือง’ นี่ไม่ใช่ชีวิตที่ฉันเลือก แต่ชีวิตต่างหากที่เลือกฉัน”
องก์แรก: ชีวิตพลิกผันของลูกสาวแห่งปากีสถาน
เรื่องราวชีวิตแสนคลาสสิกของเบนาซี บุตโต เริ่มต้นด้วยการเป็นเด็กสาวจากตระกูลชนชั้นปกครอง พ่อของเธอคือ ‘ซัลฟิการ์ อาลี บุตโต’ (Zulfikar Ali Bhutto) ผู้ก่อตั้ง ‘พรรคประชาชนปากีสถาน’ (Pakistan People’s Party-PPP) ที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีปากีสถานระหว่างปี 1971-1973 ก่อนดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในช่วงปี 1973-1977
เนื่องจากการเมืองของปากีสถานมีประธานาธิบดีเป็นประมุขแห่งรัฐ ส่วนตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคือการทำงานเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร ซึ่งนายบุตโตสามารถคว้าตำแหน่งทั้งหมดที่ว่ามาครองได้ ซ้ำยังเป็นผู้ที่สามารถจัดตั้งรัฐบาลพลเรือนได้เป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปี การที่เขาได้ดำรงตำแหน่งสำคัญทั้งสองนี้ ก็แสดงถึงความนิยมที่ประชาชนมีให้เขาได้เป็นอย่างดี
เมื่อเบนาซีเป็นลูกสาวของผู้นำประเทศ เธอย่อมถูกเลี้ยงดู และได้รับการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ เธอถูกส่งไปเรียนที่ Harvard’s Radcliffe College หลังจากสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีที่แรดคลิฟฟ์ เธอได้ศึกษาต่อที่ University of Oxford และได้รับปริญญาใบที่สองในปี 1977 ก่อนจะเดินทางกลับมายังภูมิลำเนา ที่ทั้งตัวเธอ และคนอื่นๆ ไม่สามารถล่วงรู้ได้ก่อนเลยว่า ชีวิตหลังจากนี้ของเด็กสาวจะไม่เหมือนเดิมตลอดกาล
ไม่นานหลังบุตโตผู้พ่อดำรงตำแหน่งนายกฯ ปากีสถานก็ดูจะเริ่มก้าวเดินไปไกลจากอำนาจเผด็จการมากขึ้นเรื่อยๆ ทว่า ‘นายพลเซียอูลฮัก’ (Zia Ul Haq) นำกองทัพเข้าทำรัฐประหารยึดอำนาจ จับอาลี บุตโต ขังไว้พักหนึ่งก่อนสั่งแขวนคอผู้นำประเทศ
เมื่อชายที่เป็นเสาหลักของบ้าน และประเทศถูกสังหาร ตอนนี้ปากีสถานกลับเข้าสู่ระบอบเผด็จการทหารอีกครั้ง ในเวลานั้นสมาชิกคนอื่นๆ ในครอบครัวถูกสั่งจำคุก ก่อนนำตัวไปกักบริเวณนานถึง 3 ปี ในปี 1984 ทางรัฐบาลทหารตัดสินใจเนรเทศครอบครัวบุตโตออกนอกประเทศ พวกเขาจึงลี้ภัยไปอาศัยอยู่ในลอนดอน ประเทศอังกฤษ
การเสียชีวิตของนายบุตโตสร้างบาดแผล และความแค้นแก่เหล่าลูกๆ เห็นได้จากระหว่างที่เบนาซีกับพี่ชายอยู่ในต่างแดน พวกเขาพยายามรวมกลุ่มชาวปากีสถานที่ไม่พอใจต่อการรัฐประหารมากขึ้นเรื่อยๆ และเข้ามาร่วมทำงานกับพรรค PPP จากทางไกล
ทว่าการวางแผนลุกขึ้นสู้ของครอบครัวบุตโตต้องชะงักงัน เพราะในปี 1985 ‘ชาร์นาวาซ บุตโต’ (Shahnawaz Bhutto) พี่ชายของเบนาซีที่ร่วมกันทำงาน และวางแผนต่อต้านรัฐบาลทหาร เสียชีวิตอย่างปริศนาจากการถูกวางยาพิษระหว่างอยู่ในฝรั่งเศส เธอจึงทำเรื่องขอเดินทางกลับปากีสถานเพื่อฝังศพพี่ชายในแผ่นดินเกิด ระหว่างนั้นก็เข้าร่วมการประท้วงรัฐบาลเผด็จการร่วมกับประชาชนคนอื่นๆ ทำให้เธอถูกจับกุมด้วยข้อหาเข้าร่วมการชุมนุมในช่วงประกาศใช้กฎอัยการศึก ก่อนภายหลังรัฐบาลตัดสินใจปล่อยตัวเธอ และส่งเธอออกนอกประเทศอีกครั้ง
เมื่อนายพลเซียอูลฮักมองว่า สถานการณ์บ้านเมืองเริ่มดีขึ้น จึงประกาศยกเลิกกฎอัยการศึก เพราะถึงจะมีการประท้วงรัฐบาลอยู่ประปราย แต่เสียงของประชาชนที่ไร้อำนาจ ไร้กองทัพ ก็ไม่สามารถสร้างความลำบากให้กับรัฐบาลทหารได้ ขณะเดียวกัน เบนาซีต้องเลือกว่าจะหลีกหนีจากความวุ่นวาย และความเจ็บปวดที่เคยได้รับด้วยการลี้ภัยอยู่ต่างแดนตลอดไป หรือจะกลับสู่บ้านเกิดแล้วทำบางสิ่งเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมต่อการตายของบิดา และพี่ชาย รวมถึงชีวิตของเธอกับแม่ที่ต้องยากลำบากอย่างที่ไม่ควรมีใครพึงได้รับเพียงเพราะ ระบอบเผด็จการ
เดือนเมษายนปี 1986 เบนาซีตัดสินใจเดินทางกลับปากีสถาน เธอแถลงข่าวเรียกร้องให้นายพลเซียอูลฮักลาออกจากตำแหน่งผู้นำประเทศ เรียกร้องความยุติธรรมที่นายพลรายนี้สั่งแขวนคอพ่อของเธอ
จุดยืนของเธอได้รับการตอบสนองจากสาธารณชนอย่างล้นหลาม การกลับมาในครั้งนี้คล้ายเป็นแรงผลักดันทางจิตใจประชาชนว่า พวกเขาอาจรวมตัวสู้แล้วเปลี่ยนแปลงสิ่งไม่เข้าท่าที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศได้
ตอนนี้เด็กสาวชนชั้นปกครองที่เคยมีชีวิตปกติสุขในปากีสถาน จำเป็นต้องเติบโตบนเส้นทางที่เต็มไปด้วยขวากหนาม และกระโจนเข้าสู่สนามการเมืองที่เต็มไปด้วยการช่วงชิงอำนาจ
“ประชาธิปไตยคือการแก้แค้นที่ดีที่สุด” – เบนาซี บุตโต
องก์สอง: การปูรากฐานประชาธิปไตยในปากีสถาน
เมื่อการกลับมาของเบนาซี บุตโต ได้รับการสนับสนุนจากประชาชน เหล่านักการเมืองของพรรคที่พ่อเธอก่อตั้งจึงเล็งเห็นความสำคัญของหญิงสาวคนนี้ ขณะเดียวกันประธานาธิบดี อดีตนายพลผู้สั่งแขวนคอพ่อของเธอก็ประสบอุบัติเหตุเครื่องบินตกในปี 1988 ผลที่ตามมาจากการตายของเผด็จการคือ สุญญากาศทางอำนาจ ตามด้วยแสงสว่างเล็กๆ ที่ประชาชนหวังว่าจะได้มาซึ่งประชาธิปไตย
การเลือกตั้งครั้งใหม่เกิดขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ สิ่งที่พรรค PPP เลือกทำคือ การส่งเบนาซีที่กำลังเป็นจุดสนใจของผู้คนเข้าเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ที่แตกเป็นสองฝั่ง เนื่องจากช่วงแรกมีเสียงค่อนแคะไม่มั่นใจว่า ผู้หญิงคนนี้จะสามารถไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้หรือไม่
แต่หากสังเกตจากช่วงที่เธอหาเสียงด้วยการลงพื้นที่ไปยังจังหวัดต่างๆ ผู้คนจำนวนมากต่างรอต้อนรับเธอด้วยความตื่นเต้น เธอเหมือนนักแสดง หรือนักร้องชื่อดังที่ประชาชนอยากเห็นหน้า อยากจับมือ อยากพูดคุยด้วย ไม่เพียงเท่านี้ ชาวบ้านส่วนใหญ่ได้นำกลีบกุหลาบสีแดงมาโปรยไปยังทุกที่ที่เธอย่างก้าวไป แม้กระทั่งตอนเธอยืนถือโทรโข่งปราศรัยถึงความสำคัญของการเลือกตั้งอยู่หลังรถกระบะ เราก็จะได้เห็นกลีบกุหลาบแดงถูกโปรยอยู่รอบกาย พร้อมกับรอยยิ้มของผู้คนที่ฝากความหวังไว้กับเธอ
“ชีวิต ความมั่นคง และอนาคตของปากีสถานขึ้นอยู่กับการเสริมสร้างอำนาจให้ประชาชน และสถาบันทางการเมือง เป้าหมายของฉันคือ การพิสูจน์ว่าการต่อสู้ และความคิดของคนรุ่นหนึ่ง สามารถสำเร็จได้ภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตย”
สุดท้ายสิ่งที่พรรค PPP และประชาชนจำนวนมากหวังไว้ก็เป็นจริง เบนาซี บุตโต ในวัย 35 ปี ชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงล้นหลาม กลายเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกแห่งปากีสถาน และเป็นสตรีคนแรกในประวัติศาสตร์ร่วมสมัยที่ได้เป็นผู้นำรัฐมุสลิมจากการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตย
นิยามที่สำนักข่าว BBC มอบแก่เบนาซี ในช่วงแรกของการก้าวสู่โลกการเมืองคือ เธอเป็นผู้หญิงที่มีเสน่ห์ ประสบความสำเร็จล้นหลามจากการแสดงความเป็นตัวเอง เธอรู้ว่าตัวเองแตกต่าง และสร้างความแปลกใหม่ให้กับสถาบันทางการเมืองของปากีสถานที่เต็มไปด้วยปิตาธิปไตย
การทำงานหลังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของเธอค่อนข้างยากลำบาก เบนาซีมีแนวร่วมหลักที่มีความเปราะบาง เสียงสนับสนุนในสภาที่ว่า เป็นสมาชิกรัฐสภาอิสระจากจังหวัดซินด์ พวกเขากำลังเผชิญกับปัญหาชาติพันธุ์ในพื้นที่ ซึ่งถ้านักการเมืองกลุ่มดังกล่าวแยกตัวออกห่าง เธอจะไม่สามารถผ่านร่างกฎหมายสำคัญๆ ได้ดังใจ ในเวลาเดียวกัน เธอต้องเร่งแก้ปัญหาความจนของประชาชนทั่วประเทศ ท่ามกลางตัวเลขอาชญากรรมที่เพิ่มสูง การทุจริตคอร์รัปชันของเหล่านักการเมือง และการไม่ลงรอยระหว่างตัวเธอกับผู้นำทางทหาร
เบนาซี บุตโต และครอบครัว / กูลัม อิกซาน ข่าน / นาวาซ ชารีฟ
Photo Credit: Wikipedia / Chron / USA today
หลังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ประมาณสองปี ประธานาธิบดี ‘กูลัม อิกชาน ข่าน’ (Ghulam Ishaq Khan) สั่งปลดเบนาซีออกจากตำแหน่ง โดยอ้างว่า เธอประพฤติตนมิชอบ และคอร์รัปชัน เขาเรียกร้องให้จัดการเลือกตั้งใหม่อีกครั้งในเดือนตุลาคม 1990 คราวนี้พรรค PPP พบกับความพ่ายแพ้ ส่วนผู้ชนะคือ ‘นาวาซ ชารีฟ’ (Nawaz Sharif) จากพรรค ‘สันนิบาตมุสลิมปากีสถาน’ (Pakistan Muslim League: PML-N) เบนาซีจึงกลายเป็นผู้นำฝ่ายค้านในรัฐสภา ทว่าเป็นได้เพียงไม่นานก็เกิดการเลือกตั้งอีกครั้งในเดือนตุลาคม 1993
ปรากฏว่าการเลือกตั้งประจำปี 1993 เบนาซีชนะขาดลอยโดยมีคะแนนนำชารีฟเกือบทุกจังหวัด เหลือเพียงแค่นาโลจิสถานเพียงจังหวัดเดียวเท่านั้นที่เธอแพ้
สำนักข่าวต่างประเทศต่างรายงานตรงกันว่า การกลับมาอีกครั้งของเบนาซีมุ่งเน้นไปยังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เธอนำไฟฟ้าไปยังพื้นที่ชนบทห่างไกล, สร้างถนนหลายสาย, พัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย, ให้ความสำคัญกับด้านสาธารณสุข และการรักษาพยาบาล, เร่งทำให้ประเทศทันสมัยเพื่อดึงดูดนักลงทุนจากต่างชาติ และมีความสัมพันธ์ที่ดีกับประธานาธิบดีคนใหม่อย่าง ‘ฟารุค เลการี’ (Farooq Leghari)
“รัฐบาลที่ฉันเป็นผู้นำจะต้องมอบความสงบสุข ความมั่นคง ศักดิ์ศรี และโอกาสในการก้าวหน้าให้กับประชาชน”
อย่างไรก็ตาม การดำรงตำแหน่งผู้นำของเธอต้องติดขัดอีกครั้ง เนื่องจาก ‘มูร์ตาซา บุตโต’ (Murtaza Bhutto) พี่ชายอีกคนที่ไม่ได้มีความใกล้ชิดกับเบนาซี ออกมากล่าวหาว่า ‘อาซิฟ อาลี ซาร์ดารี’ (Asif Ali Zardari) สามีของเธอกระทำการทุจริตคอร์รัปชัน ทำให้สื่อมวลชนรวมถึงสาธารณชนพากันตั้งคำถามว่าจริงหรือไม่ แต่ขณะที่เบนาซีกำลังเผชิญคำครหา มูร์ตาซาก็ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจยิงตายในเมืองการาจี ยิ่งสร้างความสงสัยว่า น้องสาวที่กำลังถูกกล่าวหาเป็นผู้มีส่วนในการเสียชีวิตของพี่ชายตัวเองหรือไม่
เมื่อประเด็นดราม่าในครอบครัวบุตโตดูจะวุ่นวายขึ้นเรื่อยๆ ประธานาธิบดีใช้โอกาสนี้สั่งปลดรัฐบาลของเบนาซีในเดือนพฤศจิกายน 1996 และจัดการเลือกตั้งใหม่ในปี 1997 และผู้ชนะในครั้งนี้คือ นาวาซ ชารีฟ ที่ได้ดำรงตำแหน่งนายกฯ อีกครั้ง
จะเห็นว่าการเมืองการปกครองของปากีสถานในช่วงเวลาดังกล่าวเต็มไปด้วยความวุ่นวาย เกิดการเลือกตั้งใหญ่ เลือกตั้งน้อย และมีผู้นำหน้าเดิมสลับกันขึ้น-ลง ในการดำรงตำแหน่งนายกฯ แต่ถึงอย่างนั้นการเมืองของปากีสถานก็สะท้อนให้เห็นว่า พวกเขากำลังอยู่ในช่วงตั้งไข่ เสริมสร้างประชาธิปไตย พยายามหนีจากการผูกขาดอำนาจโดยทหาร (ที่แม้ว่ายากจะหนีให้พ้นก็ตาม)
รัฐบาลของชารีฟเดินหน้าดำเนินคดีคอร์รัปชันกับเบนาซี และสามี ในปี 1996 ศาลตัดสินว่าเธอมีความผิดจริง ทำให้สามีของอดีตนายกฯ หญิง ถูกส่งตัวเข้าเรือนจำไปก่อน ส่วนตัวของเบนาซีถูกสั่งเนรเทศออกนอกประเทศเหมือนยุคที่พ่อของเธอถูกทหารยึดอำนาจ
ในปี 1999 ‘นายพลเปอร์เวซ มูชาร์ราฟ’ (Pervez Musharraf) ก่อรัฐประหารล้มรัฐบาลชารีฟ เมื่อขั้วอำนาจทางการเมืองเปลี่ยน เบนาซีจึงขอให้นายพลมูชาร์ราฟยกฟ้องตัวเองกับสามีเนื่องจากเธอยืนยันว่า ไม่ได้รับความยุติธรรมต่อเรื่องนี้ แต่คำขอดังกล่าวถูกปฏิเสธ ระหว่างที่ถูกเนรเทศเธอเดินทางไปๆ มาๆ ระหว่างลอนดอนกับดูไบ ถูกมหาวิทยาลัยหลายแห่งเชิญไปสอน และพยายามหาหนทางกลับเข้าสู่สนามการเมืองในบ้านเกิด
แม้เบนาซีจะถูกขับออกนอกประเทศไปแล้ว แต่นักการเมือง และนายทหารระดับสูงหลายคนยังคงกังวลเรื่องเธออยู่เสมอ เห็นได้จากหลังทำรัฐประหาร นายพลมูชาร์ราฟเขียนร่างกฎหมายใหม่ ห้ามนายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งเป็นสมัยที่สาม รวมถึงร่างกฎหมายที่ระบุว่า ห้ามบุคค