การทำเสื้อผ้าสักแบรนด์หลายคนอาจจะเริ่มด้วยศึกษาตลาด ออกแบบ และทำข้อตกลงกับผู้ผลิต แต่แบรนด์ที่เราจะพาทุกคนมารู้จักวันนี้คือ “ภูคราม (Bhukram)” ของ เหมี่ยว-ปิลันธน์ ไทยสรวง แบรนด์ผ้าฝ้ายย้อมสีทอและปักมือที่เริ่มต้นการทำแบรนด์ด้วยวิธีการทำงานเช่นเดียวกับนักประวัติศาสตร์ชุมชน
จุดเริ่มต้นของแบรนด์เริ่มต้นจาก คุณเหมี่ยวเป็นนักประวัติศาสตร์ชุมชนและออกจากงานประจำที่กรุงเทพฯ จึงเดินทางกลับบ้าน ณ อำเภอภูพาน จังหวัดสกลนคร คุณเหมี่ยวได้เห็นโอกาสในการทำงานชุมชน จึงทักษะเดิมที่ได้จากทำงานมาใช้ในกระบวนการที่ทำงานที่ชุมชนบ้านเกิด การศึกษาคุณเหมี่ยวเริ่มต้นศึกษาว่า ในพื้นที่มีคุณค่าอะไรบ้าง มีความดั้งเดิมหรือประวัติศาสตร์อย่างไร หลังจากนั้นค่อยๆ พัฒนาแบรนด์ขึ้นมาจากสิ่งที่มีอยู่เดิม จน ณ ปัจจุบันแบรนด์ภูครามก้าวเข้าสู่ปีที่ 8 แล้ว
แรงบันดาลใจ
คุณเหมี่ยวเล่าให้เราฟังว่าแรงบันดาลใจการทำแบรนด์คือ การค้นหาคุณค่าพื้นที่ภูพานและต้องการถ่ายทอดพื้นถิ่นเพื่อให้คนเห็นคุณค่าด้วยว่าความงามของรูปแบบคนที่อยู่ในพื้นที่
“การหาคุณค่าของพื้นที่ เราต้องมาดูว่าในพื้นที่เรามีอะไรบ้าง มีทรัพยากรธรรมชาติและมรดกวัฒนธรรมอะไรบ้างที่เป็นมรดกของพื้นถิ่นของเราที่ตกทอดมาให้เราได้ใช้ เราก็จะดึงออกมาใช้ และนำมาประยุกต์ สร้างอาชีพขึ้นใหม่ เช่น งานปัก แต่เดิมไม่มีวัฒนธรรมเรื่องงานปักในท้องถิ่นแถบนี้ นอกจากนี้เราอยากถ่ายทอดสิ่งรอบตัวในมุมมองของคนพื้นที่ ถ่ายทอดให้คนข้างนอกเห็นคุณค่า ไม่ว่าจะเป็นธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิต”
กระบวนการทำงานร่วมกับชุมชน
วิธีการศึกษาหนึ่งของนักประวัติศาสตร์ชุมชนคือ กระบวนการทำงานร่วมกับชุมชน และการที่คุณเหมี่ยวเป็นนักประวัติศาสตร์ชุมชนมาก่อน การทำงานร่วมกับชุมชนจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของการทำแบรนด์ภูคราม
“การทำร่วมกับชุมชนเหมือนเป็นเนเจอร์ในการทำงานของเราด้วย ภูครามค่อนข้างเปิด ถือเป็นกระบวนการเรียนรู้ด้วยตัวเองเยอะ เราตั้งธงเพียงแค่ว่าเราอยากถ่ายทอดวิถีชีวิต ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมออกไป และให้เป็นเรื่องของการอนุรักษ์ร่วมด้วย การทำงานของภูครามชาวบ้านมีส่วนร่วมในกระบวนการต่างๆ ด้วย เช่น มีส่วนร่วมในการออกแบบ ซึ่งเป็นกระบวนการที่ทำให้เขามีวิธีคิด เราอยากให้ช่างเรียนรู้เกี่ยวกับการออกแบบเพื่อเอาไปทำต่อได้ และภูครามเองจะเน้นเรื่องกระบวนการความคิด แนวคิด แล้วก็วิธีการออกแบบดีไซน์ งานของตัวเองรวมทั้งการอนุรักษ์แทรกเข้าไปด้วย”
“การทำงานกับชาวบ้านค่อนข้างมีความหลากหลาย แต่ละชุมชนก็ไม่เหมือนกัน มันค่อยๆ เรียนรู้ว่าศักยภาพการทำงานของเราและชาวบ้านได้แค่ไหน แล้วเราสามารถทำงานร่วมกับคนอื่นได้แค่ไหนบ้าง”
ภูครามคือกระบวนการเรียนรู้
“ภูครามเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่เราเรียนรู้สิ่งรอบตัว พัฒนาตัวเอง และพัฒนาจากด้านในของช่างที่ทำงานด้วยกัน เรารู้สึกว่าการทำงานชุมชนยากและซับซ้อน ต้องอาศัยเวลาและความเข้าใจชุมชน โดยเฉพาะเมื่อเราให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในหลายๆ ส่วน การทำงานจึงต้องมีทั้งความชัดเจนและอะลุ่มอล่วย เช่น วิธีการให้ค่าแรงของเราค่อนข้างชัดเจน ช่างทอของเรามีการกำหนดราคาที่ไม่ใช่ราคากลางทั่วไป แต่เป็นราคาที่ช่างทอมาประเมินราคาต้นทุนร่วมกัน แล้วมาดูส่วนของกำไรว่าเราอยู่ได้มากน้อยแค่ไหน ประเมินจากคุณภาพชีวิตตัวเองว่าทอแบบนี้ เราควรได้ค่าทอเท่าไหร่ การใช้ชีวิตของเราจะเป็นอย่างไร มันเลยเหมือนกับเราเป็นหุ้นส่วนกัน ไม่ได้เป็นแค่นายจ้างหรือลูกจ้างเท่านั้น และช่างสามารถดีไซน์งานได้ด้วยตัวเอง เขาจึงผูกพันกับผลงานมากแล้วก็เห็นคุณค่าของงาน สิ่งเหล่านี้จึงเป็นเหมือนกระบวนการเรียนรู้”
“กระบวนการที่เราใช้ในการทำงานชุมชน คือการฟื้นฟูวิถีชีวิตดั้งเดิมให้งานเหล่านี้มีคุณค่ามากขึ้น นอกจากเป็นงานที่ทุกคนมองว่าเป็นงานท้องถิ่นหรืองานชาวบ้านที่ควรราคาถูก”
เฟซบุ๊กคือพื้นที่ทำงานชุมชน
“เฟซบุ๊กเองเป็นพื้นที่ทำงานชุมชนของเราเช่นกัน การขายหรือการเล่าเรื่องในเพจ ช่างจะเข้าไปดูตลอดว่างานของเขาขายได้ไหม ตอนนี้คนพูดถึงเขายังไง ผลลัพธ์ดีก็เกิดความภูมิใจ แล้วอยากพัฒนาตัวเองและพัฒนาฝีมือขึ้นมา คนอาจจะมองว่าภูครามเหมือนขายของหรือทำการตลาดด้วยหรือเปล่า ซึ่งตอนแรกเราไม่ได้นึกถึงเรื่องนี้เลย แต่เรามารู้ที่หลังว่าวิธีการคล้ายการทำการตลาดซึ่งก็ดี ได้เรียนรู้ไปเรื่อยๆ บางคนชอบผลงานแต่เขาอาจจะไม่รู้ว่านี่คือกระบวนการทำงานชุมชน แต่ชาวบ้านสังเกตอยู่ว่ามีคนกดไลก์เขาแค่ไหน การกดไลก์ผลงานหนึ่งเป็นเหมือนการให้กำลังใจชาวบ้านที่ทำ”
“คนส่วนใหญ่กดไลก์แค่ผลงานที่สวยๆ แต่ในประเด็นที่เกี่ยวกับคุณค่าการทำงานและเล่าเรื่องกระบวนการ คนจะกดไลก์น้อย อยากให้คนให้กำลังใจช่างที่เป็นชาวบ้านด้วยการกดไลก์เยอะๆ”
จดหมายจากบรรพบุรุษ (A letter from ancestors)
กว่าจะได้คอลเลกชัน A letter from ancestors ใช้เวลาถึง 2 ปี! คุณเหมี่ยวเล่าให้เราฟังว่า ช่วงเริ่มแรกคิดคอนเซ็ปต์ก่อนว่าอย่างอยากถ่ายทอดสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตอะไรในภูพาน จนสุดท้ายเลือกถ่ายทอดภาพสลักฝาผนังถ้ำในยุคก่อนประวัติศาสตร์บริเวณเทือกเขาภูพาน เมื่อได้คอนเซ็ปต์แล้ว คุณเหมี่ยวได้พาช่างไปดูงานและเที่ยวด้วยกัน หลังจากนั้นค่อยๆ ฝึกฝีเข็ม ว่าการเล่าเรื่องแบบนี้ควรใช้ฝีเข็มแบบไหน ลองถูกลองผิดหลายครั้งจนออกมาเป็นคอลเลกชันนี้
สิ่งที่เรียนรู้จากการทำงานร่วมกับชุมชน
“ตอนทำงานชุมชนได้เรียนรู้เยอะ การทำงานกับชุมชนการวางแผนจะไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็น การวางแผนเหมือนกับแค่ว่าทำให้มีเป้าหมายในบางช่วงบางตอน ส่วนใหญ่เป็นการแก้ปัญหาเยอะมากกว่า เพราะว่ามันมีความหลากหลาย การทำงานไม่ใช่แค่เรื่องของการจ้างเขาแล้วจบ แต่ที่เราทำงานอยู่ในปัจจุบันนี้คือการฟื้นฟูและบูรณาการ ก็เลยต้องทำความเข้าใจกับชาวบ้านใหม่หมด เหมือนได้มาเรียนใหม่เยอะมาก ชาวบ้านมีความหลากหลาย ไม่ได้มีเป้าหมายเดียวกันเราทุกคน พอเราทำเรื่องแบบนี้มันก็จะคัดคนไปเรื่อยๆ มากกว่า”
เป้าหมายของภูคราม
“เป้าหมายของภูครามคือ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิต มันเป็นเป้าหมายใหญ่และค่อนข้างเป็นนามธรรมมาก ก็เลยค่อยเป็นค่อยไป ทำงานในชุมชนระยะยาวในแง่ของการอนุรักษ์ ตอนนี้คิดว่ายังไม่ถึง 20 เปอร์เซ็น เหมี่ยวอยากให้ถึงคนเห็นคุณค่าของพื้นที่ในเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติ ประเด็นในชุมชนเป็นประเด็นเย็นมาก เพราะเราอยู่แบบนี้มานาน การเสียหายของต้นไม้ 2-3 ต้น ไปจนถึง 100 ต้น มันไม่มีผลต่อคนในปัจจุบัน ดังนั้นเราต้องใช้เวลาในการปลูกฝังกับชาวบ้านและคนที่ทำงานกับเรา เราเชื่อว่าในอนาคตมีการเปลี่ยนแปลงแน่นอน อย่างภูพานเป็นป่าผืนใหญ่เพียงไม่กี่ฝืนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เราแค่อยากให้คนตระหนักและรักษาผืนป่าผืนนี้ไว้ ดังนั้นมันเป็นเป้าหมายที่ไกลพอสมควร ค่อยๆ ทำและแทรกเข้าไป”
ติดตามภูครามและชมกระบวนการทำงานของผู้คนในชุมชนได้ที่ ภูคราม Bhukram, bhukram.thailand