Culture

ผู้คน ชุมชน เมือง: เมื่อทุนนิยมกลืนบ้าน คายออกมาเป็นตึกสูง และแปะป้ายมันว่า Gentrification

ย้อนกลับไปเมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2020 แฮชแท็ก #saveศาลเจ้าแม่ทับทิม คงจะเป็นที่รู้จักสำหรับใครหลายๆ คน โดยเฉพาะนิสิต และบุคลากรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ต้องสัญจรผ่านไซต์ก่อสร้างตรงจุฬาฯ ซอย 9 แทบทุกวัน หากมองผ่านแผงกั้นเข้าไปก็จะเห็นศาลเจ้าทรงจีนโบราณถูกล้อมไว้ด้วยซากไม้ แท่งเหล็ก และรถเครน เนื่องจากพื้นที่นั้นจะถูกนำไป 'ใช้สอยเพื่อผลประโยชน์' ในภายภาคหน้า ซึ่งเป็นอันรู้กันว่า ‘ผลประโยชน์’ ณ ที่นี้ ไม่ใช่สำหรับชุมชนที่อาศัยบริเวณสามย่านแน่นอน

Photo Credit: สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

คงต้องขอเท้าความก่อนว่า ‘ศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลือง’ คือศาลของเจ้าแม่มาจู่ (妈祖) เทวีแห่งท้องทะเลองค์แรกของชาวจีนฮกเกี้ยน ความเชื่อที่ว่าเจ้าแม่องค์นี้จะปกปักรักษาผู้คนที่ออกเดินเรือ ทำให้ท่านเป็นที่พึ่งพาทางจิตใจ และ ‘บ้าน’ ของชาวจีนโพ้นทะเลทั่วโลก โดยเฉพาะในสามย่านอันเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของชาวไทยเชื้อสายจีนมาเนิ่นนาน แม้ว่าร้านรวงโดยรอบที่เคยถูกเรียกว่าชุมชนเซียงกงจะหายไปและแทนที่ด้วยตึกอาคาร ศาลเจ้าแม่ก็ยังคงอยู่ จนถึงปัจจุบันที่ผู้ดูแลศาลกำลังสู้คดีกับสำนักงานจัดการทรัพย์สินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อให้ศาลไม่เหลือเพียงชื่อ และรักษากลิ่นอายอันเจือจางของชุมชนเก่าแก่เอาไว้

Photo Credit: Nippon Paint Decorative / MONOWHEEL

นั่นหมายความว่า ไม่ใช่เพียงแค่ศาลเจ้าแม่ทับทิมที่ต้องพบเจอกับสถานการณ์เช่นนี้ อัตลักษณ์ของชุมชนสามย่านนั้นค่อยๆ ถูกลบเลือนให้หายไปทีละเล็กทีละน้อย จนเราอาจไม่ทันได้สังเกต แต่หนึ่งในการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่และสูงตระหง่านก็คือบล็อก 21-22 ตรงหัวมุมพระราม 4 ที่ถูกทุบทำลาย แทนที่ด้วยห้าง ‘สามย่านมิตรทาวน์’ ถึงแม้ว่าในบริเวณใกล้กันจะมีทั้งอาณาจักรสยามและ MBK Center แล้วก็ตาม บล็อก 28 ที่อยู่ตรงซอยติดกันก็ถูกสร้างเป็น ‘Creative & Startup Village’ ยังไม่รวมถึงบล็อก 34 ติดถนนบรรทัดทองที่ตึกพาณิชย์ของชาวบ้านได้กลายเป็นสนามโกคาร์ทไฟฟ้า ‘E-Gokart by MONOWHEEL’ หากไม่มีร้านเก่าร้านแก่ที่มักจะขึ้นต้นด้วย ‘เจ๊’ สามย่านก็แทบไม่เหลือเค้าโครงเดิมเลย

Photo Credit: ICONSIAM

นอกจากนี้แล้ว ถิ่นคลองสาน-เจริญนครอันเป็นสถานที่ตั้งของศูนย์การค้ายักษ์ใหญ่ ‘ICONSIAM’ ซึ่งพ่วงมาด้วยรถไฟฟ้าสายสีทอง เมื่อก่อนก็เคยเป็นชุมชน และแหล่งค้าขายริมน้ำที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน ก่อให้เกิดความหลากหลายทางวัฒนธรรม ไม่ว่าจะวัดไทย ศาลเจ้าจีน หรือมัสยิด แต่ทุกวันนี้ความเป็นกลุ่มก้อนของผู้คนกลับจางหาย เนื่องจากอัตราค่าเช่าที่ และราคาประเมินที่ดินซึ่งดีดตัวขึ้นเป็นเท่าตัว โดยปัจจุบันอยู่ที่ 135,000-250,000 บาท/ตร.ว. (ข้อมูลนี้อัปเดตล่าสุดเมื่อเดือนมกราคม 2023) ถือว่าสูงมากหากเทียบกับราคาเมื่อ 15 ปีก่อน ซึ่งเคยอยู่ที่ 85,000-130,000 บาท/ตร.ว. เท่านั้น ทำให้ผู้คนในชุมชนพากันแยกย้ายไปหาบ้านหลังใหม่ และพื้นที่เดิมก็ตกอยู่ในมือของผู้มีทุนทรัพย์

Photo Credit: Matichon

ที่เล่ามาทั้งหมดนี้คือตัวอย่างของกระบวนการ ‘Gentrification’ หรือก็คือการปรับเปลี่ยนพื้นที่ในชุมชนให้มี 'ความเจริญและทันสมัย' อย่างการที่ร้านค้าท้องถิ่นกับตลาดถูกแทนที่ด้วยห้างหรู เขตโรงเรียนในความทรงจำกลายเป็นหมู่บ้านจัดสรรทำเลทอง และอื่นๆ อันนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงของผู้อยู่อาศัยด้วยสภาพแวดล้อมที่ต่างจากเดิม และค่าครองชีพที่พุ่งขึ้นสูง สังคมท้องถิ่นจำต้องกระจายตัวออก หลีกทางให้ศูนย์รวมความสะดวกสบายของชนชั้นกลาง-สูงอย่างไม่เต็มใจ ทั้งชุมชน และวัฒนธรรมเฉพาะกลุ่มจึงล่มสลายหายไป ไม่มีทางกู้คืนกลับมาได้อีก

Gentrification มีความหมายใกล้เคียงกับคำว่า ‘Displacement’ ซึ่งแปลได้ว่า การบีบบังคับให้ผู้คนออกไปจากที่อยู่อาศัย แน่นอนว่าการบังคับที่ว่านี้ไม่ใช่การไล่ออกไปโต้งๆ หากแต่เป็นอะไรที่แยบยลกว่านั้น นายทุนหรือเจ้าของที่ดินมักจะยกเลิกการต่อสัญญาเช่า ทำให้ผู้เช่าไม่มีทางเลือกนอกจากย้ายออกหรือสู้คดี คล้ายกับกรณีศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลืองที่สำนักงานจัดการทรัพย์สินฯ ส่งหนังสือขอให้มีการย้าย แล้วจึงประกาศว่าจะรื้อถอนในเวลาต่อมา โดยส่วนมาก ผู้เช่าจะยอมหาที่อยู่ใหม่ เนื่องจากการฟ้องร้องอาจไม่เป็นผล หนำซ้ำยังเสียทั้งเงินและเวลา เรียกได้ว่าไม่คุ้มค่า เทียบกับการยินยอมอย่างว่าง่ายและผละออกจากถิ่นเดิม

นอกจากนี้ ผู้อยู่อาศัยโดยรอบบริเวณที่ถูกทุบเพื่อสร้างใหม่ก็จะได้รับผลกระทบไปด้วย จนอาจทำให้ย้ายออกตามกันไปในที่สุด หนึ่งในผลกระทบที่สำคัญก็คืออัตราค่าเช่าที่ ซึ่งไม่ว่าอย่างไรก็จะสูงขึ้นตามสิ่งอำนวยความสะดวกรอบข้าง อีกอย่างก็คือความหนาแน่นของประชากรที่ตามมากับความเจริญ อันก่อให้เกิดการจราจรติดขัด โดยเฉพาะในช่วงก่อสร้างที่ต้องมีการปิดถนนอยู่บ่อยครั้ง ประกอบกับเสียงของเครื่องจักร ฝุ่นละอองและมลพิษที่ลอยมากับลม การขุดเจาะท่อน้ำที่อาจส่งผลต่อบ้านเรือนใกล้เคียง ฯลฯ ทั้งหมดนี้ที่กินเวลาเป็นปีๆ ก็มีส่วนทำให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน จนมีบ้างที่ไม่เช่าต่อหรือปล่อยขายที่ดินของตนทิ้งเพราะทนไม่ไหว

Photo Credit: Nikkei Asia

ส่วนในแง่ของชนชั้น คงไม่มีใครสามารถปฏิเสธได้ว่า Gentrification ยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเลือกปฏิบัติทางเศรษฐกิจ (Economic Discrimination) และความเหลื่อมล้ำอีกด้วย สำหรับผู้ที่มีรายได้ต่ำ การย้ายบ้านไปอยู่ในสถานที่ที่ราคาที่ดินต่ำกว่า ซึ่งเท่ากับห่างไกลความเจริญมากกว่า ทำให้ยิ่งยากต่อการหลุดพ้นจากความยากจน เพราะหลายๆ ครั้ง ความยากจนก็ไม่ใช่เรื่องปัจเจก แต่เป็นเรื่องของระบบกับการเมืองที่ยังไม่เปิดช่องให้ประชาชนซึ่งอยู่ตรงฐานของพีระมิดได้ลืมตาอ้าปากเท่าที่ควร

ลองจินตนาการดูว่า ครอบครัวหนึ่งต้องย้ายจากกรุงเทพฯ ไปอยู่ต่างจังหวัดเพราะไม่สามารถจ่ายค่าเช่าบ้านที่จู่ๆ ก็ราคาแพงขึ้นได้ ผู้ปกครองต้องหางานใหม่ที่โอกาสมีไม่มากเท่าในเมือง ลูกเองก็ต้องเข้าโรงเรียนใหม่ที่คุณภาพการศึกษาอาจไม่สามารถเทียบได้กับโรงเรียนชื่อดัง ไหนจะการเข้าถึงคมนาคมและสุขภาวะที่ดีซึ่งเป็นไปได้ยาก แม้จะพอมีสวัสดิการและทุนที่สนับสนุนโดยรัฐบาลอยู่บ้าง โอกาสที่คนกลุ่มนี้จะได้รับก็ไม่สามารถเทียบเท่ากับผู้ที่อาศัยท่ามกลางสิ่งอำนวยต่างๆ ในตัวเมือง – พ้องกับความเป็นจริงที่ว่า ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ประชาชนชาวไทยจากต่างจังหวัดยังคงหลั่งไหลเข้ามาในเมืองหลวงเพื่อหางานเป็นจำนวนมาก

Photo Credit: Nikkei Asia

ขณะเดียวกัน ผู้ที่ยังอาศัยอยู่ในเขตที่ผ่านการ Gentrified มาแล้วก็ต้องเผชิญหน้ากับความกดดันเรื่องค่าใช้จ่าย ทั้งค่าเช่าที่และค่าครองชีพที่สูงขึ้นถนัดตา สวนทางกับรายรับที่ยังคงเท่าเดิมหรืออาจเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ผลงานวิจัย 'Impact of Gentrification on Adult Mental Health' ระบุว่า ผู้ที่ใช้ชีวิตอยู่ในชุมชนเป็นเวลา 15 ปีหรือมากกว่ากำลังประสบปัญหาความเครียดจากการรู้สึกว่าพื้นที่ที่ Gentrified แล้วไม่ใช่ 'บ้าน' ของตัวเอง เพราะวัฒนธรรมและคุณค่าซึ่งถูกทดแทนโดยอย่างอื่น ทำให้รู้สึกโดดเดี่ยว ถูกกีดกัน หรือคิดว่าตนอยู่ผิดที่ผิดทาง ทั้งที่อยู่ในบริเวณบ้านของตัวเอง พวกเขาจึงเสี่ยงต่อความทุกข์ทางจิตใจ โดยเฉพาะผู้ที่มีรายได้น้อย เพราะคนกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะรู้สึกว่าตนด้อยค่า ท่ามกลางสภาพแวดล้อมและผู้อยู่อาศัยใหม่ซึ่งมักจะเพียบพร้อมทางด้านการศึกษาและรายได้ที่สูงกว่า

อย่างไรก็ตาม หากจะบอกว่า Gentrification คือธรรมชาติของกลไกตลาดก็คงไม่ผิดนัก ทุกพื้นที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ไม่มากก็น้อย และเป็นความจริงที่ว่ากระบวนการนี้ไม่ได้เลวร้ายไปเสียทั้งหมด เพราะมันช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ดึงดูดนักท่องเที่ยว แถมยังดีต่อการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ จากหลายๆ เคสที่มีการสัมภาษณ์ผู้คนในชุมชนที่ยังคงอาศัยอยู่ บางเสียงกล่าวว่าการเข้ามาของห้าง โรงแรม และคอนโดมิเนียม ทำให้พื้นที่นั้นคึกคักกว่าเดิม เพราะความโมเดิร์นและสะดวกสบายที่เพิ่มเข้ามา บางจุดก็มีการปรับปรุงซ่อมแซมให้พร้อมรับนักท่องเที่ยวได้มากขึ้น เช่น ฟุตบาทที่เรียบกว่าเดิม มีแสงไฟเข้าถึงในตอนกลางคืน มีการติดกล้องวงจรปิดเพิ่ม ทำให้ผู้ที่ยังไม่ย้ายไปไหนพลอยได้รับผลประโยชน์ไปด้วย

Photo Credit: South China Morning Post

แต่ทุกอย่างที่ว่ามานี้ ล้วนเอื้อเพียงผู้ที่ร่ำรวยมากพอจะหาประโยชน์จากมันได้ ถ้าเราไม่มีเงินพอจ่ายค่าเช่าแพงหูฉี่ในทุกๆ เดือน ไม่มีทุนทรัพย์หรือไอเดียมากพอจะใช้งัดกับธุรกิจใหม่ที่เข้ามาเป็นคู่แข่ง ทางเลือกเดียวที่มีก็คือการเก็บข้าวของย้ายออกไปเท่านั้น และเมื่อชุมชนร่อยหรอ นักลงทุนและชนชั้นสร้างสรรค์ก็จะเข้ามากว้านซื้อ รีโนเวท สร้างสังคม High class เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ที่มีกำลังสนับสนุนต่อไป โดยที่ปิดหูปิดตา มองข้ามวัฒนธรรมซึ่งกลายเป็นเพียงเรื่องเล่าบนแผ่นป้ายข้างศิลปะจัดวางสุดจะ Instagrammable

จากที่ได้ส่องดูกรณีศึกษาและลองชั่งข้อดี-ข้อเสียของ Gentrification แล้ว เราคงจะเห็นชัดว่าข้อเสียนั้นยังมีเยอะกว่าข้อดีอยู่มาก และข้อดีเหล่านั้นก็สามารถสร้างได้โดยรัฐบาล ไม่ต้องรอให้ถึงมือทุนใหญ่แต่อย่างใด ที่สำคัญคือ ในความเป็นจริง ชุมชนท้องถิ่นไม่จำเป็นต้องเสียสละเพื่อกรุยทางให้ความเจริญเข้ามาปรับปรุงพื้นที่ วัฒนธรรมกับนวัตกรรมสามารถอยู่ร่วมกันได้ หากมีการประนีประนอมที่ทั้งเจ้าถิ่นและนายทุนสามารถเห็นพ้องกันว่าจะไม่มีใครเสียประโยชน์ ในอนาคต คนรุ่นใหม่เองก็จะได้มีบ้านเป็นของตัวเอง ย้ายเมื่ออยากจะย้าย ไม่ใช่ย้ายเพราะไม่มีทางเลือก

อ้างอิง

ศิลปวัฒนธรรม
Genie

Marketeer

DDproperty

Smart Cities Dive

Urban Displacement Project

Tran, Linda Diem et al. “Impact of gentrification on adult mental health.” Health services research vol. 55,3 (2020): 432-444. doi:10.1111/1475-6773.13264