เมื่อ "ผ้าเช็ดตัว" ไม่ใช่แค่ผ้าขนหนูสำหรับเช็ดหลังอาบน้ำเสร็จ แต่ผ้าเช็ดตัวของกลุ่มศิลปิน Bangkok Wet Dream มีไว้เช็ด "ฝันที่เปียกปอน" จากจินตนาการสุดเซ็กซี่เกินต้านทาน พร้อมตอบสนองความต้องการแด่ คนช่างฝัน (เปียก) ทั้งหลาย ด้วยดีไซน์ที่ผสานระหว่างความป็อปคัลเจอร์น่ารักสดใส เครื่องแบบและอำนาจประเพณีนิยม คละคลุ้งไปกับเรื่องยั่วเพศหยอกเย้าอย่างลงตัว
อดิศักดิ์ จิราศักดิ์เกษม (บีม) และ หฤษฎ์ ศรีขาว (เพิร์ธ) 2 ผู้ก่อตั้งแบรนด์ผ้าเช็ดตัวสุดจี๊ด Bangkok Wet Dream ที่ร่วมกับ I WANNA BANGKOK ที่ต้องบอกว่าโปรดักส์นี้ถือเป็นเรื่องที่ท้าทาย ชวนฝัน สุด Kink จริงๆ
Bangkok Wet Dream มีใครบ้าง แล้วเป็นอะไรกับ I WANNA BANGKOK
บีม: Bangkok Wet Dream เป็นโปรเจ็คแยกที่ร่วมงานกันระหว่างศิลปิน คือ เพิร์ธเป็นช่างภาพ เขาก็ทักมาชวนทำโปรเจคจึงมีไอเดียร่วมกัน เราก็โอเคทำงานต่อด้วยกันโดยร่วมโปรเจคกับ I WANNA BANGKOK ซึ่งเกิดจากไอเดียของผม เพิร์ธ และแฟนผม ทั้ง 3 คนมารวมกัน
เพิร์ธ: ผมเริ่มจากช่างภาพสายสารคดี และเริ่มสนใจภาพถ่ายที่เป็นงานศิลปะมากขึ้น รู้จักกับ I WANNA BANGKOK ช่วงไปเรียนต่อที่มิลาน เริ่มสนใจอยากทำงานแฟชั่น I WANNA BANGKOK เหมือนเป็นกลุ่มเด็กรุ่นใหม่ ที่รู้สึกว่าไปในแนวทางเดียวกัน เราเริ่มจากแสดงงานกับพี่บีมก่อน เขาเคยจัดเอ็กซ์ซิบิชั่น ความเจ๋งคือ เป็นศิลปินที่พูดภาษาเดียวกัน พอมาเจอแก๊งค์พี่บีมเลยรู้สึกว่า จริงๆ แล้ว ศิลปะมันสนุกได้
พูดถึงผ้าเช็ดตัว homoerotic ที่ทำ มันคืออะไร เกิดขึ้นมาได้ยังไง
บีม: ผ้าขนหนูเป็นไอเดียจาก เห็นคนในทวิตเตอร์เป็นผู้ชายหุ่นล่ำปริ้นท์รูปตัวเองบนผ้าขนหนู เราคิดว่ามันเซ็กซี่และสามารถนำเสนอเรื่องราวที่เราอยากจะพูดได้ คนน่าจะเข้าถึงได้มากขึ้น น่าจะเป็นโปรดักส์ที่นาสนใจ บวกกับชื่อของ Bangkok Wet Dream เราอยากให้มันมีความเปียก เลยสื่อไปถึงผ้าขนหนูก่อน รวมทั้งของในห้องน้ำทุกอย่างด้วย ส่วน Dream ก็อาจเป็นเรื่องของบนเตียง ผ้าปูเตียง ผ้าห่ม ปลอกหมอน จริงๆ เรามีไอเดียเยอะ แต่ยังทำได้ไม่หมด 'ที่ทาจั๊กแร้' ก็เป็นอีกไอเดียที่อยากทำ สบู่ ก็คิดๆ ไว้และดีไซน์กันเยอะ แต่อยู่ในช่วงหาแพคเก็จอยู่ เลยออกมาเป็นคอนเซปท์ก่อนครับ
เรื่องเพศที่อยากพูด
บีม: มันเป็นเรื่องที่เราคุยกันตั้งแต่แรกว่าเราอยากถ่ายแบบ homoerotic คือไอเดียแรก อีโรติกคือ ไอเดียแรกที่เราอยากจะทำ
เพิร์ธ: ผมเคยคุยกับเพื่อนที่ยุโรป เรื่องยูนิฟอร์มทหารตำรวจยุโรปกับยูนิฟอร์มทหารตำรวจไทย ผมเลยพูดกับพวกเขาว่า ยูนิฟอร์มทหารและตำรวจไทยมีความเซ็กชวลมาก มันต้องรัดและเน้นสัดส่วนมาก เขาอาจมีพุงด้วย ซึ่งเป็นยูนิฟอร์มที่ประหลาดดี คนยุโรปเขามองว่ามันเอ็กโซติคมาก ด้วยสีกากี มีนัยยะทางการเมืองใต้อาณานิคม เซ็กซี่แบบที่ไม่ได้มองว่าเขาเหนือกว่า ซึ่งเป็นแฟนตาซีที่น่าสนใจ
“ถ้าเราสามารถรวมแฟชั่นและความเป็นยูนิฟอร์มของคนมีอำนาจรวมกับเรื่อง homoerotic เข้ามา ผมรู้สึกว่ามันกวนตีนดี ถ้าตำรวจไทยมาเห็นก็คงหงุดหงิดเหมือนกัน แต่ผมชอบความหงุดหงิด เพราะมันแสดงให้เห็นงานแฟชั่นงานภาพถ่ายที่เป็นของเด็กรุ่นใหม่ มันจะกวนใจแหล่งอำนาจนี้ได้ ด้วยภาษาของแฟชั่นที่สนุกขึ้น”
ยูนิฟอร์ม อำนาจนิยม กับ “ความเสียว” เกี่ยวข้องกันยังไง
บีม: ยูนิฟอร์ม ความเสียว และอำนาจนิยมมันอยู่ในกลุ่มเดียวกันอยู่แล้ว ยูนิฟอร์มกับอำนาจนิยมอาจจะเห็นชัด แต่ความเสียวมันอยู่เบื้องหลัง ถ้าเป็นคนที่ชอบมันจะเห็นและรู้สึกในสิ่งๆ นั้น
เรามองยูนิฟอร์มไทยว่ามีอำนาจเยอะไป เช่น ยูนิฟอร์มครู ตำรวจ ทหาร ถ้าเทียบกับต่างประเทศ เราถูกปลูกฝังเกี่ยวกับยูนิฟอร์มมากเกินไป ผมอยากเอามาเล่นเพื่อลดอำนาจของมันลง เราจับต้องได้และไม่กลัว ซึ่งจริง ๆ แล้วทุกคนเท่ากัน
สิ่งที่เราพรีเซ็นท์ ฟีดแบคเป็นยังไงบ้าง
บีม: เจอคนอายุประมาณ 40 เกือบ 50 ปี เขาเป็นเกย์และก็เขาชอบมาก ผมยังไม่เคยเจอตำรวจหรือทหารจริงๆ มาเห็น อันนี้ยังไม่เคยเจอ ถ้าเราโดนจริงๆ ก็คงยิ้มหรือไม่ก็เงียบไปเลย เราคงต้องเข้าใจเขาและพยายามอย่าให้เขาเข้าใจเรา ไม่มีใครผิดถูก มันต้องอยู่ระหว่างกลางกัน อีกเหตุการณ์หนึ่งคือ เราทำสติ๊กเกอร์อันเล็กไปแปะรอบๆ นอกตามถนน แถวอารีย์ที่แฟนผมไปติด มีผู้ชายอายุประมาณ 60-70 ปี มองอยู่ พอเราออกไปจากตรงนั้น เขาก็รีบวิ่งมาดึงออกทันที
เพิร์ธ: ผมเคยเจอที่ต่างประเทศ เป็นคนเยอรมันอนุรักษ์นิยมอายุประมาณ 60 ปี เขาเดินเข้ามาในสตูดิโอผมและมีผ้าขนหนูแขวนไว้ เขาบอกผมว่า มันยากสำหรับเขามากในการเห็นผู้ชาย 2 คนจูบกัน มันทำให้เห็นว่า ยังมีกำแพงบางอย่างของความเป็นชาย พอเขาพูดแบบนั้น ผมก็ชวนเขาคุยจนสุดท้ายคุยกันรู้เรื่อง จริงๆ งานลักษณะนี้มันต้องปะทะหน้าคนอยู่แล้ว
“ผมว่าคนมีโอกาสที่จะทำความเข้าใจสิ่งเหล่านี้ ซึ่งมันมีดีกว่าไม่มี อย่างน้อยมันทำให้คนเข้ามาคุยกัน แม้ไม่ได้เป็นเกย์ ไม่ได้เข้าใจ LGBT เหมือนกับผมแต่งานทุกงาน ทุกเพศ ทุกวัย ควรดูได้”
เรื่องเดียวกันแต่คุยกันคนละภาษา
เพิร์ธ: เวลาทำงานเกี่ยวกับเรื่องเพศ สิ่งที่จำเป็นตอนนี้คือ การให้ความรู้เรื่องเพศ สมมุติว่ารุ่นพ่อแม่ผมยังวัยรุ่น เขาก็จะรับรู้ความรักแบบ LGBT จากคลับฟรายเดย์ วิธีการที่เขานำเสนอความสัมพันธ์ระหว่างชาย-ชาย ในคลับฟรายเดย์ อาจไม่ใช่ความจริงในปัจจุบัน เหมือนคุยเรื่องเดียวกันแต่คนละภาษา มันไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะเรื่องเพศ มันจะเกิดหลายๆ เรื่อง เช่น การเมือง เทคโนโลยี การเงิน ระยะห่างระหว่างวัยมันยิ่งห่าง
เซ็กส์แฟนตาซีของไทยต่างจากต่างประเทศอย่างไร?
บีม: ต่างประเทศมันมี Practice เยอะนะ dominatrix พวกใต้ดิน ญี่ปุ่น ชิบาริ เขาทำออกมามีเรื่องวัฒนธรรม ต้องเรียน ต้องศึกษา พอกลับมาคิดถึงประเทศไทยผมคิดไม่ออก sexual culture ในไทย ไม่ค่อยครีเอทีฟหรือเปิดกว้าง ถ้าเทียบกับอัมสเตอดัม การขายตัวที่นั่นเขามีการเสียภาษีอย่างถูกกฎหมาย แค่เรื่อง 2 ประเทศที่มีเหมือนกัน ภาพและความคิดมันไม่เหมือนกัน แต่เราเลือกที่จะไม่พูดไม่สนใจ มันอยู่ที่วัฒนธรรมด้วย ถ้าคนไทยเปิดมากกว่านี้ ทุกอย่างจะมาแบบออแกนิค เรื่องเพศสัมพันธ์และอารมณ์ทางเพศคือเรื่องปกติ แต่ในสื่อคนไทยต้องเรียบร้อย
เพิร์ธ: ผมว่าปัญหาหลัก ๆ ของไทยอยู่ที่โครงสร้างของคนที่จะเข้าใจสิ่งนี้ อาชีพขายบริการ ทุกคนรู้ว่ามี แต่มันไม่ถูกกฎหมาย เหมือนเป็นเมืองพุทธ เหตุผลมันตีกันไปมา เหมือนประเทศไทยหาตัวเองไม่เจอ ไม่รู้จะเอาอะไรเป็นจุดเด่น
“วัฒนธรรมของเราค่อนข้างเหมือนญี่ปุ่นเกาหลี ผมรู้สึกเรื่องเซ็กส์มันเป็นสากลนะ แฟนตาซีมันก็เป็นสากล มันขึ้นอยู่กับว่า คนที่มีอำนาจในการเปิดพื้นที่ธุรกิจ เขาจะเข้าใจมันหรือเปล่า”
ตัวแทนคนรุ่นใหม่
บีม: Bangkok Wet Dream เกิดระหว่างที่มีมูฟเมนท์แบบเด็กนักเรียนออกมาประท้วง มันอิน แล้วเซ็ทที่ทำกับชุดนักเรียน เราเอาชุดลูกเสือมาทำ มันก็อยู่ในระยะเวลาเดียวกับที่เด็กนักเรียนออกมาประท้วง เรารู้สึกเขาพูดในสิ่งที่ผมไม่ได้นึกถึงเลย ผมรู้สึกพอใจกับสิ่งที่เขาประท้วง เลยอินแล้วเอามาเป็นแรงใน Bangkok Wet Dream
ขีดจำกัดและความท้าทายทางเพศของเราอยู่ตรงไหน อยากทำโป๊ไปเลยไหม
บีม: ความโป๊มันไม่ใช่เป้าหมาย มันขึ้นอยู่กับธีมที่เรานำเสนอ เราเน้นอีโรติกแบบน่ารัก ผู้หญิงดูก็น่ารัก คนที่ไม่ใช่เกย์ดูแล้วรู้สึกว่าน่ารักดี ถ้าโป๊แล้วน่ากลัว อาจจะเกินลิมิตที่ Bangkok Wet Dream จะเป็น เราอยากให้เป็นดรีมมี่ๆ มีความเป็นซีรีย์วาย เฟรนด์ลี่กับทุกคน เราเอาไอเดียของออร่าจากเซนท์เซย่า มีความเป็นการ์ตูนเข้ามานิดหนึ่ง การเมืองหน่อยๆ เอาหลายๆ อย่างมารวมกัน
คิดยังไงกับความเข้าใจเรื่อง Fetish ในวงการเกย์ไทย
เพิร์ธ: ภาพลักษณ์ของเกย์ไทยในยุค 90 มันต่างจากความเข้าใจของเกย์เด็กอายุต่ำกว่า 35 ปี เขามีกรอบคิดเรื่องเพศที่แตกต่างออกไป เช่น เด็กผู้ชายที่ชอบผู้หญิงสามารถใส่กระโปรงได้แบบไม่รู้สึกเขิน มันมาจากธรรมชาติและเกิดจากสื่อที่เขาเสพ แนวโน้มของ LGBTQ+ ทั่วโลกมันเชื่อมต่อกันหมด เขาจะไม่แคร์แล้วว่าจะเป็นอะไร ในขณะเดียวกันเกย์ที่อายุ 40-50 ปี เขายังตีกรอบอะไรบางอย่างอยู่ เช่น เกย์ต้องมีกล้ามรึเปล่า ซึ่งสแตนดาร์ดบิวตี้ไม่มีใครสนใจกันแล้ว
Bangkok Wet Dream สำหรับเราคืออะไร คาดหวังอะไรกับมัน
บีม: ทำไปเรื่อย ๆ ตามสถานการณ์โลกและข่าวเพื่อเอามาเป็นแรงบันดาลใจ ให้เป็นแบบ ศิลปิน homoerotic อื่นๆ จนกว่าจะประสบความสำเร็จในระดับที่วางไว้ อยากให้ Bangkok Wet Dream เป็น 1 ในซิกเนเจอร์ของกรุงเทพฯ เหมือนที่เขาพยายามทำให้ I WANNA BANGKOK เป็น 1 ในซิกเนเจอร์ใหม่ของคนกรุงเทพฯ อยากให้คนมีภาพใหม่ๆ เพิ่มเข้าไปในภาพกรุงเทพฯที่มีอยู่แล้ว
เพิร์ธ: อยากให้แบรนด์มีจุดเด่นเป็นของตัวเอง อย่างนักท่องเที่ยวมาเที่ยวที่ไทย ซื้อของฝากไปฝาก ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย ผมรู้สึกว่า พระอินทร์แก้ผ้าอยู่บนผ้าขนหนูหรือแก้วกาแฟมันคงเป็นโปรดักส์ที่สนุก และพยายามที่จะ Rethink ความเป็นไทยใหม่ ๆ ในขณะเดียวกัน เราทำไปเรื่อย ๆ จะเป็น Bangkok Wet Dream ที่่เป็นตัวของมันเองมากที่สุด
ขอคำนิยาม Bangkok Wet Dream
บีม: น่ารักแต่เสียว
เพิร์ธ: จริง ๆ ผมคิดชื่อไทยออกแนวลิเกหน่อย ชื่อ 'ฝันเปียกในนครทวยเทพ' เพราะประเทศไทยมีผีและเทพเยอะ ถ้าเราสร้างอีโรติกผีกับเทพมารักกันได้ มันคงเป็นอีโรติกที่เป็นกรุงเทพฯ