Culture

Sips of Eternity: การเดินทางสุดแปลกประหลาด บนประวัติศาสตร์ของการดื่มเลือด

ถ้าพูดถึงการดื่มเครื่องดื่ม รอบๆ ตัวของเราคงมีวัฒนธรรมการดื่มที่แตกต่างหลากหลาย ซึ่งผ่านการเวลา และค่านิยมหลากหลายแบบของสังคมมา บ้างก็ดื่มเพื่อเฉลิมฉลอง บ้างก็ดื่มเพื่อสุขภาพ บ้างก็ดื่มเพื่อความอมตะ หรือชีวิตที่เป็นนิรันดร์ และ ‘การดื่มเลือด’ คือหนึ่งในวัฒนธรรมนั้น มันคือเครื่องดื่มที่เป็นสัญลักษณ์ของพิธีกรรม การเฉลิมฉลอง และความอ่อนเยาว์ ซึ่งเราอยากพาทุกคนไปเดินทางผ่านหน้าประวัติศาสตร์ของการดื่มเลือดด้วยกัน

Photo Credit: Quora

ความเชื่อเรื่องการดื่มเลือดเพื่อรักษาโรค และความอ่อนเยาว์มีมานานบนหน้าประวัติศาสตร์ ซึ่งจริงๆ อาจจะต้องเริ่มย้อนกลับไปในยุคกรีกโบราณ ในยุคนั้นมีความเชื่อว่าเลือดนั้นเป็นเสมือนยาวิเศษ ซึ่งนักประวัติศาสตร์ชาวโรมันจากยุคศตวรรษที่ 1 อย่าง Pliny the Elder เคยอธิบายถึงความบ้าคลั่งของคนดูที่วิ่งเข้าไปดื่มเลือดของกลาดิเอเตอร์ที่พ่ายแพ้ในการแข่งขัน ซึ่งตามความเชื่อในยุคนั้น เลือดของกลาดิเอเตอร์คือ ยารักษาอาการลมชัก ซึ่งนักประวัติศาสตร์สมัยใหม่หลายๆ คน เชื่อว่า การดื่มเลือดกลาดิเอเตอร์ของชาวโรมันนั้น น่าจะเป็นความเชื่อที่ได้รับอิทธิพลต่อมาจากชาวอิทรุสคัน (Etruscan) หรืออารยธรรมโบราณในแถบอิตาลีตอนกลางที่มีชีวิตอยู่ในช่วงก่อนการรุ่งเรืองของจักรวรรดิโรมัน

Photo Credit: National Geographic

อีกหนึ่งบุคคลบนหน้าประวัติศาสตร์โลกที่ถูกพูดเกี่ยวกับวีรกรรมการดื่ม และอาบเลือดมนุษย์ คงหนีไม่พ้นเคาน์เตสแห่งเลือดในช่วงศตวรรษที่ 16 อย่าง เอลิซาเบธ บาโธรี่ (Elizabeth Báthory) หรืออีกนัยหนึ่งเธอคือฆาตกรต่อเนื่องที่โหดเหี้ยมที่สุดคนหนึ่งบนหน้าประวัติศาสตร์ กับพฤติกรรมการดื่ม และอาบเลือดจากสาวบริสุทธิ์เพื่อที่จะคงความงามของตัวเองเอาไว้ ชื่อเสียงความกระหายเลือดของเธอถูกกล่าวขวัญในแถบยุโรปเป็นจำนวนมากจนสามารถเรียกได้ว่า นี่คือตำนานที่เขย่าขวัญคนไปทั่วทั้งยุโรปเลยก็ว่าได้

Photo Credit: Atlas Obscura

แต่ไม่เพียงเท่านั้น ในยุคศตวรรษที่ 17 เอ็ดเวิร์ด เทย์เลอร์ (Edward Taylor) รัฐมนตรีโปรเตสแตนต์ของ New England มีการสั่งจ่ายยาแปลกๆ เพื่อรักษาโรคลมชัก โดยระบุว่า “เลือดมนุษย์, ดื่มสดๆ และอุ่นๆ จะช่วยให้หายดีได้” ซึ่งจากพ็อดแคสต์ของ Marissa Rhodes และ Sarah Handley-Cousins ได้มีการพูดถึงตำรับยารักษาโรคที่ใช้เลือด และการฆ่าล้างผู้คนว่า น่าแปลกที่มันเป็นที่นิยมมากในหมู่ชาวโปรเตสแตนต์โซนยุโรป และอเมริกา ซึ่งการค้นพบนี้มันเป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะมันเป็นความเชื่อที่ขัดกับคำสอนของศาสนาเรื่องการแปรสาร ที่ชาวคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์คัดค้านอย่างมาก

Thomas DeLoughery นักโลหิตวิทยาจาก Oregon Health & Science University อธิบายว่า วัฒนธรรมทางประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่จะยึดโยงเรื่องของเลือด และความมีชีวิตชีวาเอาไว้ด้วยกัน ผ่านการสังเกตผลจากการสูญเสียเลือด “คุณจะเหนื่อยอ่อน ตัวซีด และไร้เรี่ยวแรง และถ้าคุณเสียเลือดมากไปคุณจะตาย” เขากล่าวก่อนสรุปว่า “มันก็เป็นเหตุเป็นผลดีที่การกินเลือดเข้าไปจะทำให้คนๆ หนึ่งแข็งแรงขึ้น”

ภาพเภสัชกรชาวฝรั่งเศสในศตวรรษที่ 17
Photo Credit: Alamy

ความเชื่อเรื่องการใช้วิธีการรักษาด้วยการกินสิ่งที่ใกล้เคียงกับอาการป่วยนั้นมีอยู่มาช้านาน และเป็นความเชื่ออย่างกว้างๆ ที่แพร่หลายไปทั่วมหาทวีปยูเรเซีย หรือในเชิงทฤษฎีมันถูกเรียกว่า ‘Sympathetic Medicine Theory’ ยกตัวอย่างเช่น การกินสมองสัตว์ และอวัยวะเพศของสัตว์ ด้วยความเชื่อเรื่องการบำรุงสมองและสมรรถภาพทางเพศ นั่นจึงไม่แปลกนักถ้าคนที่มีความเชื่อเช่นเดียวกันนี้จะมองว่า เลือดมนุษย์คือยาอายุวัฒนะที่ดีที่สุด หรืออาจจะต้องพูดว่า นี่คงเป็นความเชื่อเรื่องซูเปอร์ฟู้ดความเชื่อแรกๆ ของโลกเลยทีเดียว

Photo Credit: Rotten Tomatoes

แต่ความเชื่อเหล่านี้ไม่ได้แพร่หลายอยู่แค่ในตำรับยาเท่านั้น เมื่อเรามองให้ลึกเข้าสู่โลกของวรรณกรรม และตำนานพื้นเมือง เราจะพบกับสิ่งมีชีวิตแปลกประหลาดมากมายที่คอยสูบกินเลือดเนื้อของมนุษย์ เพื่อให้ตัวเองดำรงอยู่ต่อไป แน่นอนว่าที่เราเห็นได้ชัดเจนและง่ายที่สุดก็คงหนีไม่พ้นเหล่า ‘ผีดูดเลือด’ ไม่ว่าจะเป็น ‘เคานต์แดรกคูล่า’ ต้นตำรับของแวมไพร์จากนวนิยายสยองขวัญกอทิกของ Bram Stoker จนทำให้เหล่าแวมไพร์ถูกนำมาตีความและเล่าใหม่อย่างแพร่หลาย จากตัวละครสุดสยอง กลายเป็นเทพบุตรขวัญใจสาวๆ ก็เคยมาแล้ว และไม่เพียงแต่ในวรรณกรรมยุโรปเท่านั้น ในแถบเอเชียเองก็มีตัวละคร หรือความเชื่อของสิ่งเหนือธรรมชาติที่ต้องคอยดูดกินเลือดเนื้อของผู้คนเพื่อให้ตนเองอยู่รอดเช่นกัน แต่สิ่งหนึ่งที่เราเห็นได้เลยคือ สุดท้ายแล้ว เลือดก็ยังคงถูกยึดโยงไว้กับการฟื้นฟู การมอบพลังชีวิต หรือการเสริมสมรรถภาพของร่างกายอยู่ดี

Photo Credit: Psychology Today

เดินทางมาจนถึงทุกวันนี้ ก็ยังคงมีกลุ่มคนที่เลือกอธิบายตัวตนของตัวเองว่าเป็นแวมไพร์ในโลกความจริง ซึ่งถูกมองในแง่ลบ และภาพความสยดสยองจากสังคม ทำให้คอมมูนิตี้นี้ต้องอยู่กันอย่างเงียบๆ และปกปิดตัวตน และยังคงมีกลุ่ม Sub-culture ที่เรียกว่า Sanguinarian หรือ ‘Sangs’ กลุ่มคนที่อธิบายตัวเองว่าพวกเขาได้รับพลังงาน และพลังชีวิตจากการดื่มเลือด แต่บ้างก็ว่าพวกเขาไม่ได้ต้องการดื่มเลือด เพราะถูกดึงดูด จูงใจให้อยากดื่มเลือด แต่เป็นเพราะสัญชาตญาณที่ทำให้พวกเขาต้องดื่มเลือด แต่ถึงอย่างนั้นคนในคอมมูนิตี้ก็ยังมีกฎในการใช้ชีวิต และคำนึงถึงสุขภาพ และ Consent ของคนรอบตัวเสมอ

Photo Credit: VOGUE Thailand

นอกจากการดื่มเลือดจะเป็น Sub-culture ในโลกปัจจุบันแล้ว ยังคงมีการนำเลือดไปใช้เพื่อยึดโยงอยู่กับความงาม และความเยาว์วัยเช่นเดิม แต่ไม่ได้อยู่ในวิธีการดื่ม นั่นก็คือ การใช้เลือดในเชิง Wellness และความงามอยู่ อย่างเช่นการสกัดสเต็มเซลล์จากเลือด เพื่อนำมาฟื้นฟูร่างกาย และความอ่อนเยาว์

แต่สุดท้ายแล้วทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นบนหน้าประวัติศาสตร์มันเปลี่ยนแปลงไปตามบริบทของสังคม ค่านิยม ศาสนา และวัฒนธรรม ณ ช่วงเวลานั้นๆ ในขณะที่ทุกวันนี้การนำเลือดมาใช้ประโยชน์ หรือบริโภคนั้นถูกเสื่อมความนิยมลงด้วยเหตุผลทางสุขภาวะต่างๆ แต่หากพูดในมุมของคุณธรรม หรือจริยธรรมแล้ว มันคงเป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับการประกอบกันของบรรทัดฐานของสังคม และมุมมองส่วนบุคคล ที่จะทำให้การตีความประเด็นออกมาในมุมมองที่ต่างกันออกไป

อ้างอิง

Scientific American

Ancient Origins

Atlas Obscura

Wine-is

Hektoen International A Journal of Medical Humanities

BBC

BBC Thai