‘Bomb at Track’ ถ่ายทอดปัญหาสังคมผ่านเสียงดนตรี

สังคมไทยช่วงที่ผ่านมามีเหตุการณ์เกิดขึ้นมากมาย บางคนอาจไม่ได้ใส่ใจและมองว่าเรื่องเหล่านี้เป็นปกติ แต่ก็มีอีกหลายคนที่ออกมาส่งเสียงเพื่อสะท้อนเรื่องราวที่เกิดขึ้น การส่งเสียงแต่ละครั้งไม่ใช่เป็นแค่การสะท้อนปัญหาสังคมเท่านั้น แต่เป็นการสร้างความตระหนักรู้ให้แก่คนในสังคม เมื่อเราพูดถึงศิลปินที่ถ่ายทอดเรื่องราวในสังคมผ่านบทเพลง Bomb at Track อาจเป็นหนึ่งในลิสต์ศิลปินของใครหลายๆ คน ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเนื้อหาของเพลงส่วนใหญ่ตีแผ่เรื่องราวในสังคมไทยออกมาอย่างเจ็บแสบ และด้วยแนวดนตรีของวงสร้างความรู้สึกร่วมให้แก่ผู้ฟังเป็นอย่างมาก 

Bomb at Track วงดนตรีแนว Rap - Metal สมาชิกประกอบด้วย 5 คน คือ เต้ (ร้องนำ), เมษ (มือกีตาร์), ปุ้ย (มือกีตาร์), ข้น (มือเบส) และนิล (มือกลอง) กลุ่มเพื่อนที่รวมตัวกันจากความชอบแนวดนตรีเดียวกัน จนระเบิดความมันส์แก่คนฟังและแฟนเพลง ครั้งนี้เรามาทำความรู้จักเรามาทำความรู้จัก Bomb at Track ให้มากขึ้นกว่าเดิม

กว่าจะเป็น BOMB at TRACK

Bomb at Track เริ่มต้นมาจาก เมษ นิล ข้น รวมตัวกันในนาม The Clone เป็นวงที่เกิดขึ้นจากวิชารวมวงของคณะดุริยางคศิลป์ โดยเต้ เมษ นิล และข้น เป็นเพื่อนร่วมรั้วมหิดล ส่วนปุ้ย จบจากรั้วศิลปาการ และเริ่มเล่นในฐานะ Bomb at Track ครั้งแรกที่งาน NU METAL ALL STARS #2 ที่ The Rock Pub 

ความหมายของชื่อ Bomb at Track เต้ตอบว่า “Bomb at Track มันเหมือนระเบิดที่แทร็กดนตรี ช่วงแรกที่ทำกันคอนเซ็ปต์ก็คือ วงเป็นคนติดเพลงมันส์ช่วงแรกๆ ชอบทำเพลงที่สนุกมันส์ๆ กัน”

การเริ่มต้นและแรงบันดาลใจในการทำเพลง

ข้น: บางทีก็เริ่มจากเนื้อมาก่อนว่าอยากจะเล่าอะไร ช่วงแรกแจมกันในห้องซ้อม ลองทำเพลง ลองด้นสด แล้วก็ดูว่าใครชอบอะไร แต่พื้นฐานก็เป็นดนตรีร็อคกันหมด จะทำให้มันหนักแล้วก็มันส์เป็นหลัก อยากทำเพลงเร็วหรือเพลงช้าก็เติมๆ ผสมกันดู ว่าแต่ละคนชอบอะไรอยากเล่นอะไร ด้านเนื้อเพลงส่วนใหญ่ก็จะเป็นเต้คิด บางทีก็เตรียมมา บางทีก็คิดออกในห้องซ้อม

เมษ: บางทีข้นลองเบสเล่นๆ เจอลูกเบสน่าเอามาใส่ หรือบางทีนิลไปจิตนาการมาจากบ้านพอมารวมวงก็แบบมีไอเดียนี้ แล้วก็เอามาหาจุดลงตัว ส่วนใหญ่จะเริ่มพร้อมๆ กัน ต่างคนจะรู้หน้าที่ของตัวเองว่าจุดไหนเป็นส่วนประกอบของดนตรี แต่บางเพลงก็เกิดจากฝัน เช่น เพลงฆาตกรคีย์บอร์ด ฝันถึงท่อนฮุค แล้วก็รีบตื่นมาจด ส่วนใหญ่เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ เต้แต่งเนื้อแต่ก็ช่วยกันเกลา ช่วยกันทำทั้งวง

ศิลปินในฐานะกระบอกเสียง

เต้: ผมรู้สึกว่าศิลปินมีความได้เปรียบ อย่างน้อยก็เป็นกลุ่มคนที่มีฐานแฟนเพลงหรือจุดสนใจมากกว่าคนปกติ ซึ่งการออกมาพูดถึงหรือแสดงจุดยืนอะไรสักอย่างมันก็มีผลกับแฟนเพลงและคนที่สนใจเขา มากกว่าคนๆ นึงที่ออกมาพูด ซึ่งมันช่วยได้มากกว่า อยากจะเรียกร้องหรือเปลี่ยนแปลงอะไร คนกลุ่มนี้มีพลังมากกว่า

เมษ: สมมติเป็นเพลงรักก็ได้ เพลงนึงมันมีผลต่อจิตใจคน มีพลังมาก ผมรู้สึกว่าเพลงๆ นึงอาจเปลี่ยนความคิดคนได้ไม่มากก็น้อย

“เสียงของศิลปินมีพลังมากกว่า สมมติทำเพลงออกมามีคนคิดเหมือนเราเลย รู้สึกร่วม จนกลายเป็นกลุ่มก้อนทางความคิดขึ้นมาได้ เอ้ยมันก็มีพวกคนที่คิดแบบนี้อยู่ มันก็จะรู้สึกว่ามีเพื่อน มีคนเห็นด้วยกับสิ่งที่เราคิด”

- ข้น -

ศิลปินกับการเมือง

เต้: วงไม่ได้เจาะจงเรื่องการเมือง แต่วงสะท้อนสังคมมาโดยตลอด สุดท้ายแล้ว Bomb at Track คือวงพูดถึงการเมือง มันเป็นเพราะว่าการกระทำที่พูดออกไปมันดันไปตรงกับคนประเภทนั้น ผมไม่ได้นั่งเจาะแต่ละคน แต่ละระบบ มันเป็นการตีความของคนฟังมากกว่า ซึ่งผมคิดว่าเป็นมิติของเพลงที่ดี ผมอยากทำให้ผู้คนทั้งสองยุคเข้าใจกันได้ ทั้งเด็กและผู้ใหญ่สามารถคุยกันได้ อย่างน้อยผู้ใหญ่สามารถเปิดรับความเห็นและมุมมองใหม่ๆ ที่ตัวเองไม่ได้โดนปลูกฝังมา หรือว่าเด็กสามารถรับฟังสิ่งที่ผู้ใหญ่ถูกปลูกฝังมาโดยไม่อคติ

ข้น: เรื่องการเมือง คือพวกเราดูข่าว เรารู้ว่าช่วงนี้เกิดอะไรขึ้นบ้าง บางสิ่งบางอย่างที่เราไม่ได้เจาะจงมาก บางทีเราก็ไม่แน่ใจว่าความจริงที่เราเห็นใช้ความจริงร้อยเปอร์เซ็นหรือเปล่า ส่วนใหญ่วงจึงพูดเรื่องสังคมมากกว่านั้น มันอยู่ในมิติเดียวกัน ใช้การเปรียบเทียบมากกกว่า

กลัวบ้างไหมกับการแต่งเนื้อหาที่คนทั่วไปไม่กล้าพูด?

เมษ: ปกติเต้จะแต่งเนื้อสามารถตีความได้หลายอย่าง

เต้: ถามว่ากลัวไหม คือ ณ ตอนที่ทำตอนนั้นมันไม่ได้กลัว ผมรู้สึกว่าผมไม่ได้โจมตีเขาแบบตรงๆ วงไม่ได้เจาะจงการด่าใครสักคน แค่สะท้อนเรื่องที่มันเกิดขึ้นเลยไม่รู้สึกว่าจำเป็นต้องกลัวอะไร เราแค่สะท้อนเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสังคมแค่นั้นเอง สุดท้ายเนื้อเพลงเหล่านั้น พวกคำเหล่านั้นเราไม่ได้ประดิษฐ์มันขึ้นมา มันเป็นความจริง ไม่ใช่สิ่งที่พูดไม่ได้

ข้น: อย่างเพลงอำนาจเจริญ ที่เต้แต่งเพลงแรกสุดของวง ช่วงนั้นก็มีข่าววัยรุ่นรุมทำร้ายคนพิการไม่มีทางสู้ แล้วก็เป็นลูกหลานของผู้มีอิทธิพล สิ่งเหล่านี้แค่มองไม่ว่าจะมุมไหน ก็รู้สึกว่าสิ่งนี้มันไม่ถูกต้อง มันเป็นความไม่ยุติธรรมกับคนบางคน ก็เลยหยิบเรื่องนี้มาพูด วงก็รู้สึกว่ามันก็เป็นเรื่องจริง เรื่องใกล้ตัวที่เห็นกันทุกวัน มันเป็นความเหลื่อมล้ำ

“จริงๆ มันคือ ความเป็นมนุษย์ มนุษย์ 2 ชนชั้น ผมไม่ได้ไปเจาะจงเรื่องระบบ สุดท้ายแล้วมันคือความเป็นมนุษย์ ก็แค่คนที่มีโอกาสกับคนที่ไม่มีโอกาสมาเจอกันเฉยๆ เวลาพูดถึงสังคมก็จะย้อนไประบบภาพรวมอยู่ดี”

- เต้ -

อยากเห็นอะไรในสังคมเปลี่ยนแปลงในทิศทางไหน?

นิล: ผมคิดว่าผมอยากให้สังคมคุยกันได้ วงพูดถึงเรื่องนี้ทำให้คนหลายๆ คนคิดได้ว่าเรื่องแบบนี้เป็นเรื่องจริงในสังคม คนที่ไม่เห็นด้วยก็จะมาฟังแล้วรู้สึกว่าตรงนี้ฉันไม่เห็นด้วยนะ อยากให้เกิดการคุยกันทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ไม่อยากให้มีการทำร้ายกันหรือว่าอะไรที่มันไม่ดี ไม่แฟร์ อยากให้ทุกอย่างดูยุติธรรมที่สุด

เต้: อยากเอาสองยุคสมัยมาเชื่อมกันให้ได้

อยากให้คนที่ฟังเพลงของเรารู้สึกอย่างไร?

เต้: อยากให้รู้สึกสนุกไปกับเรา

ปุ้ย: ในมุมมองของผม ผมไม่ได้อยากให้เขารู้สึกอะไร ผมว่าเพลงทำหน้าที่ของมันได้ดีอยู่แล้ว คนที่ฟังก็คงได้รู้สึกอย่างที่เพลงได้เล่าไป

เมษ: แต่ละเพลงอย่างที่ปุ้ยบอก มันก็จะมีการทำงานของมัน มันขึ้นอยู่กับว่าคนฟังเป็นใคร สมมติอย่างเพลงจด คนที่เขากำลังมีปัญหาชีวิตแล้วเขาฟังสามารถช่วยชีวิตเขาได้ หรือแม้กระทั่งหลายๆ เพลงที่ตัวคนแต่งเองฟังก็อาจจะช่วยตัวเขา หรือบางเพลงที่ฟังทำให้เราฉุกคิดได้ ทำให้เราต้องไม่ทำเรื่องไม่ดีนะ หรืออยากที่จะเป็นกระบอกเสียง ถ้าเริ่มต้นอยากให้คนฟังรู้สึกชอบ แต่ถ้าเขาไม่ชอบและไม่ฟังก็ไม่เป็นไร เพลงจะทำงานยังไงก็อยู่ที่เขา

ผลกระทบช่วงโควิดและการปรับตัวของวง 

Bomb at Track เป็นวงดนตรีที่เล่นกับคนดูและแฟนเพลงค่อนข้างเยอะ นอกจากนี้วงยังมีวัฒนธรรมฝรั่งค่อนข้างเยอะ ทั้งการ Mosh Pit และ Crowd surfing หลายๆ เพลงจะมีการดีไซน์สำหรับกิจกรรมเหล่านี้อีกด้วย สถานการณ์โควิดจึงสร้างผลกระทบแก่วงมาก นอกจากไม่สามารถเล่นดนตรีได้แล้ว การทำเพลงก็มีความยากลำบาก ทำให้วงต้องมีการปรับตัว

นิล: ช่วงที่ไม่มีโควิดวงก็จะเจอกันไปซ้อม แชร์ไอเดียกันในห้องซ้อม แต่หลังจากที่มีโควิดเราก็หาวิธีการทำเพลงใหม่ที่ต้องหากัน มีการทำเพลงที่แปลกขึ้น ใหม่ขึ้นแบบที่วงไม่เคยทำ ซึ่งถ้าแฟนเพลงฟังเพลงตลอดก็จะรู้ว่า Bomb at Track ไม่ได้ปล่อยเพลงมานาน ช่วงโควิดปล่อยแค่ 1-2 เพลง เราหาวิธีใหม่ในการทำเพลง การทำเพลงแบบใหม่มันน่าลุ้นมาก เพราะเรากว่าจะเจอการทำเพลงแบบใหม่ วิธีคิดแบบใหม่ๆ ใช้ระยะเวลานานถึง 1-2 ปี 

เมษ: มันคือเคมีใหม่ของวง เราทำผ่าน Zoom และ Discord เป็นหลัก เพราะสามารถ Live โปรเจคคุยด้วยกัน ฟังด้วยกันได้

ข้น: วิธีการทำ ขึ้นเดโม่ ทำโครงเพลงต่างคนต่างอยู่คนละที่ แล้วก็ส่งไฟล์กันไปมา แต่สุดท้ายตอนจบเดโม่ต้องมารวมกันอยู่ดี ต่างจากที่ผ่านมาคือไปเจอกันห้องซ้อมแล้วคิดตรงนู้น 

“ตอนที่รวมกันความรู้สึกของเราก็จะรวมกันด้วย แต่พอเราต้องมาอยู่หน้าจอของแต่ละคนเราความรู้สึกก็จะแยกกัน จินตนาการของแต่ละคนมันก็จะต่างกันไป สุดท้ายเราต้องแก้ปัญหาอยู่ดีว่าสถานการณ์แบบนี้ต้องทำยังไง”

- เต้ -

เมื่อเราว่า “คิดถึงการเล่นสดมากไหม” ทุกคนในวงตอบด้วยน้ำเสียงที่โหยหาว่าคิดถึงการเล่นสดมากๆ แม้ช่วงโควิดจะมีการเล่นคอนเสิร์ตออนไลน์ แต่สำหรับวงมันอาจทดแทนได้เพียงบางส่วนเท่านั้น และเมื่อเราถามอีกว่า “หมดโควิดอยากทำอะไรที่สุด” ทุกคนเหมือนกันว่า อยากเล่นคอนเสิร์ต

การเดินทางครั้งใหม่ 

หลังจากปล่อยเพลง “แค่เรื่องเล่า” เมื่อปลายปีที่แล้ว เร็วๆ นี้ Bomb at Track กำลังจะมีผลงานใหม่ที่สร้างเซอร์ไพรส์ให้แก่แฟนเพลงที่ได้ฟัง 

เต้: ผมรู้สึกว่าเพลงนี้มีซาวด์ที่แปลกใหม่สำหรับวงมาก ด้วยเนื้อหาที่ผมเขียน ลูกเล่นที่ผมร้องมันเพิ่มขึ้นมาก มันหลากหลาย ไม่ได้จำเจ หลากหลายและพัฒนามากขึ้น

เมษ: รวมๆ เป็นอะไรที่ทุกคนกล้าหลุดกรอบเดิม มันก็เลยไปเจออะไรใหม่ๆ ที่ไม่คาดคิดและโคตรมันส์ มันสนุกที่จะได้กล้าทำอะไร คนที่ได้ฟังก็จะรู้สึกชอบแบบที่เราชอบ

ข้น: เพลงใหม่และอัลบั้มใหม่จะมีอะไรที่ลึกกว่านั้น และแนวดนตรีอาจไม่ได้จำกัดอยู่ที่ Rap - Rock หรือ Rap - Metal อัลบั้มใหม่แนวดนตรีจะกว้าง ก่อนที่จะทำเพลงต่างคนก็ไปเจอวัตถุดิบของแต่ละคน อันนี้แหละจะเป็นจุดรวมที่คนเอามารวมกัน ไม่ว่าจะด้านเนื้อเพลง ลิทึมของแต่ละพาร์ท การันตรีว่าจะมีอะไรที่เซอร์ไพร์สเยอะ

นิล: ก่อนจะมาเป็นเพลงที่กำลังจะปล่อย เราก็ทำมาหลายรอบ เรารู้สึกว่าเพลงนี้มันถูกบ่มมานาน มันกลายเป็นของที่มีค่าสำหรับพวกเรา เพราะใช้เวลาในการทำและใช้ความคิดสร้างสรรค์ค่อนข้างจะนาน มันค่อนข้างตื่นเต้น อยากให้คนได้รับฟัง

“อัลบั้มหรือเพลงใหม่มีอะไรที่ทุกคนน่าจะคิดไม่ถึงว่าบอมบ์จะเป็นแบบนี้ อยากให้ทุกคนได้ฟังเร็วๆ ทุกคน และทุกคนน่าจะมีรีแอคที่แตกต่างกัน”

- ปุ้ย -

ติดตามผลงานและอัพเดทข่าวของวงได้ที่ Bomb at Track