Culture

‘FATHERS’ หนังครอบครัวจาก ‘บูม พลัฏฐ์พล’ กับ 7 ปี ที่หนังเข้าฉาย และกฎหมายที่ยังไม่เท่าเทียม

7 ปี นับเป็นช่วงเวลาที่ยาวนานพอให้สิ่งใหม่ๆ ก่อเกิดขึ้นได้ แน่นอนว่าในระยะเวลานั้น สังคมของเราก็มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอยู่เสมอ ผู้คนส่วนหนึ่งเริ่มตระหนักรู้ โดยเฉพาะในเรื่องของความหลากหลาย และความเท่าเทียมทางเพศ หากแต่กฎหมายนั้นยังไม่ก้าวหน้าตามคนยุคใหม่ ทำให้ตลอดช่วงอายุ 7 ปีของภาพยนตร์เรื่อง ‘Fathers’ สิ่งที่ตัวละครคู่พ่อ-พ่อคาดหวังว่าจะได้จดทะเบียนสมรสร่วมกัน ยังไม่เกิดขึ้นจริง

ในฐานะประชาชนคนหนึ่งที่คาดหวังจะเห็นความเปลี่ยนแปลง และเคยได้รับชมภาพยนตร์นี้ เราจึงหาโอกาสมาทักทาย และพูดคุยกับ ‘บูม’ – พลัฏฐ์พล มิ่งพรพิชิต ผู้กำกับ นักเขียนบท และผู้อำนวยการสร้างเรื่อง Fathers ตั้งแต่จุดเริ่มต้นของการสร้างหนังครอบครัว ชูประเด็นสมรสเท่าเทียม มาจนถึงปัจจุบันที่สารของเรื่องยังไม่เก่าลง ซึ่งบูมกล่าวกับเราว่า “น่าเศร้ามากจริงๆ”

แรงบันดาลใจในการสร้างภาพยนตร์เรื่อง FATHERS

“จริงๆ แล้วได้แรงบันดาลใจมาจากตัวเองครับ เหตุผลที่ผมทำหนังเรื่องนี้ขึ้นมา หลักๆ มีอยู่ 3 อย่าง หนึ่งคือ ผมคิดมาเสมอว่าคู่รักเพศเดียวกันก็ไม่ต่างจากคู่รักทั่วไป จึงอยากจะเอาตรงนี้มานำเสนอว่า พวกเราก็มีสุข เศร้า เหงา รัก มีความต้องการพื้นฐานเหมือนคนอื่นๆ ไม่ต่างจากใคร อีกอย่างคือ ผมอยากจะลบความเข้าใจผิดๆ ที่ว่า หนังเกย์เป็นหนังโป๊ เพราะหนังเกย์ในยุคสมัยนั้นค่อนข้างที่จะ Sexual เหมือนต้องขายฉากวาบหวาม หรือไม่ก็ทำให้เกย์กับกะเทยกลายเป็นตัวตลกที่ชอบลวนลามผู้ชาย มันสร้างภาพจำแบบนั้นให้สังคมมานานเลยครับ” บูมเล่า

“อีกเหตุผลคือ ตัวผมเองก็อยากมีลูก จะพูดว่าเอาความอยากมาลงกับหนังก็ได้ (หัวเราะ) ถึงอย่างนั้นก็ไม่คิดจะทำในชีวิตจริง เพราะการเลี้ยงเด็กคนหนึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เหมือนที่รัตติยา ตัวละครในเรื่อง Fathers พูดว่า “การเลี้ยงลูกไม่มีวิธีที่ถูกหรือผิดหรอก แต่ไม่มีวิธีที่ง่ายอย่างแน่นอน” ความคิดและความอยากตรงนี้จุดประกายให้ผมเริ่ม แต่ก็ไม่ได้ใส่ความเป็นตัวเองลงไปเท่าไรครับ ผู้กำกับหลายคนคงไม่อยากให้ใครคิดว่า ผลงานคือการเอาชีวิตเขามาเล่า ส่วนตัวผมแค่คิดว่า จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าในช่วงยุคนั้นมีคู่รักผู้ชายรับเด็กหนึ่งคนมาเลี้ยง จะสามารถพาครอบครัวข้ามผ่านอุปสรรคไปได้ไหม ตอนคิดจะเริ่มต้นมีเท่านี้ และค่อยๆ งอกประเด็นอื่นที่ใส่เข้ามาในเรื่องด้วยครับ”

‘ยุกต์’ กับ ‘ฝุ่น’: สองตัวละครที่ทั้งเหมือนและต่างกัน

หากได้รับชมหนังเรื่องนี้กันมาก่อนก็คงจะเห็นได้ว่าสองตัวละครหลัก ‘ยุกต์’ และ ‘ฝุ่น’ มีทัศนคติในการเลี้ยงลูกที่ต่างกันอย่างชัดเจน ยุกต์ไม่คิดว่าครอบครัวจำเป็นต้องมีแม่ ในขณะที่ฝุ่นกลัวว่าลูกจะกลายเป็นเหมือนตัวเอง จึงได้ส่ง ‘บุตร’ ไปอยู่กับแม่ผู้ให้กำเนิด เรายกจุดนี้ขึ้นมาถามกับคุณบูมว่า อะไรทำให้เขาสร้างตัวละครขึ้นมาคอนทราสต์ความคิดกันเช่นนี้

“ทั้งสองคนเป็นคู่รักธรรมดาที่มีสิ่งที่เหมือน และไม่เหมือนกัน มันมีคำพูดที่ว่า การที่คนเราคบกันแล้วจะไปรอด อย่างน้อยก็ต้องมี 2-3 อย่างที่เสมอกัน อาจจะศีลเสมอกัน ฐานะเสมอกัน ปัญญาเสมอกัน หรือรูปร่างหน้าตาเสมอกัน ยุกต์กับฝุ่นฐานะเสมอกัน ปัญญาเสมอกัน ศีลก็เสมอกัน แต่มันยังมีบางอย่างที่ไม่สามารถจับต้องได้อยู่ เช่น ปมในวัยเด็ก ประสบการณ์ชีวิต เพราะฉะนั้น การที่ฝุ่นกลัวว่าลูกจะเป็นเกย์เหมือนตัวเอง มันก็เป็นปมของเขาที่มีผลกระทบต่อการแสดงออก และการตัดสินใจ ต่างจากยุกต์ ผมคิดว่าเป็นเพราะความต่างของช่วงวัยด้วย ในยุคที่ฝุ่นเติบโตมา คนรักเพศเดียวกันมักจะถูกสังคมรังเกียจ ส่วนยุกต์อยู่ในช่วงที่คนพอจะรับได้บ้างแล้ว สภาพแวดล้อมต่างกัน ก็เลยคิด และแสดงออกไม่เหมือนกัน”

“ยุกต์เองก็มีความกลัวที่ว่า สิทธิ์ในการเลี้ยงดูบุตรไม่ใช่ของเขา เพราะในตอนนั้นร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิตยังไม่ผ่าน ฝุ่นเป็นพ่อทางกฎหมายเพียงคนเดียว ถึงแม้ว่าบุตรจะเป็นลูกของทั้งสองคนก็ตาม มันก็เลยเกิดเป็นความกลัวขึ้นมา”

“ถ้ากฎหมายมองคนเท่ากันจริงๆ ก็คงไม่มีความกังวลนี้เลย”

เมื่อพูดถึงตัวละครแล้ว ก็คงไม่พูดถึงนักแสดงไม่ได้ เราถามต่อไปว่า เพราะอะไรบูมถึงได้เลือก ‘อั๊ต’ – อัษฎา พานิชกุล มารับบทฝุ่น และ ‘ณัฐ ศักดาทร’ สำหรับบทยุกต์

“พูดถึงอั๊ตก่อนก็แล้วกัน เขายิ่งมีอายุยิ่งดูดี ดู Charming มีเสน่ห์สมวัย ส่วนณัฐ เรารู้สึกว่า เขาเป็นคนที่มีความตั้งใจเวลาจะทำอะไร ทำการบ้านเยอะ พอมีโอกาสได้คุยกับทั้งสองคนก็รู้ว่า พวกเขาอยากจะช่วยกันสื่อสาร Message นี้ด้วย จึงได้ร่วมงานกันครับ” บูมกล่าว

ความรักระหว่างเพศเดียวกันกำลังถูกสื่อทำให้เป็นอื่นด้วยการจัดหมวดหมู่

ในระหว่างที่กำลังถกประเด็นเกี่ยวกับเรื่องเพศ และสื่อด้วยกันนั้น คุณบูมได้ยกมุมมองที่น่าสนใจขึ้นมาว่า การแบ่งหมวดหมู่สื่อโรแมนซ์ด้วยอัตลักษณ์ทางเพศของตัวละครหลักไม่ควรมีอยู่ตั้งแต่แรก เพราะหากทุกเพศเป็นคนเท่ากัน ก็ไม่มีเหตุจำเป็นให้ต้องแยกความรักเพศเดียวกันออกจากรักระหว่างชายหญิง

“มีช่วงหนึ่งที่คนมีอคติกับคำว่าหนังเกย์ หนังเลสฯ หนัง LGBTQ+ ซึ่งสำหรับผม มันไม่ควรจะเป็น genre ด้วยซ้ำ อย่างที่ผมบอกว่า ต่อให้เป็นเพศอะไร เราทุกคนก็คือมนุษย์เหมือนกัน มีความต้องการเหมือนกัน อย่าง Fathers ก็คือหนังครอบครัว โรแมนติกดราม่า ไม่ควรถูกจัดเป็นหนังเกย์ เพราะว่าอัตลักษณ์ทางเพศไม่ควรจะเป็นประเภทของหนัง สมมติถ้าตัวละครของ Avengers อย่างไอรอนแมนกับกัปตันอเมริการักกัน มันจะยังเป็นหนังแอ็กชั่นไซไฟ หรือว่าเป็นหนังเกย์ ผมมองว่ามันควรจะจัดตามเนื้อเรื่องมากกว่า ไม่ใช่เอาเพศของตัวละครมาเป็นตัวตัดสิน และแบ่งแยกแบบนี้ กลายเป็นว่า มองมนุษย์ไม่เท่ากันไปอีก”

“เรื่อง Fathers ผมมองแค่ว่าเป็นเรื่องราวของคู่รักคู่หนึ่งที่สร้างครอบครัวด้วยกันเท่านั้น เป็นแค่โรแมนติกดราม่าเรื่องหนึ่ง ไม่ใช่หนังเกย์”

การสนับสนุนความเท่าเทียมที่กลายเป็นเรื่องของธุรกิจ

“ที่ผ่านมามีหลายธุรกิจที่เอาความรักของกลุ่มคนเพศหลากหลายมาใช้โปรโมตตัวเอง ไม่ว่าจะคู่จิ้นชาย-ชาย หรืออะไรก็ตาม แต่ถ้าในแง่ของการรณรงค์ หรือแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งที่สร้างรายได้ให้กับพวกเขา หลายๆ คนกลับเงียบครับ จะผู้จัด ผู้กำกับ หรือนักแสดงก็ดี คนเหล่านี้ยังไม่ได้ Drive สังคมเท่าที่ควร ผมคิดว่า ในเมื่อพวกเขาเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากอัตลักษณ์ทางเพศไปเยอะ เขาก็ยิ่งควรออกมาผลักดันให้เกิดความเท่าเทียม บางอุตสาหกรรมก็เหมือนกัน ผลิตคอนเทนต์เกี่ยวกับคู่รักเพศเดียวกันเป็นหลัก แต่ไม่มาเดิน Pride Parade ด้วยซ้ำ น่าผิดหวังแต่ก็ไม่แปลกใจครับ”

“ในฐานะที่ผมเป็นคนหนึ่งที่ทำงานในวงการสื่อ เจอพี่ๆ น้องๆ นักแสดงเยอะ มีทั้งคนที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ และคนที่รู้สึกว่าไม่ใช่เรื่องของฉัน ซึ่งก็มีบางคนที่ไม่ซื่อสัตย์ต่อสิ่งที่ตัวเองทำ มีชื่อเสียงขึ้นมาได้เพราะซีรีส์วาย แต่เกลียดการจูบกับคนเพศเดียวกัน เกลียดการมีคู่จิ้น หรือบางทีรู้ว่า คนที่จะมาเล่นคู่กับตัวเองเป็น LGBTQ+ ก็จะปฏิบัติแตกต่างออกไป มันกลายเป็นว่า เขาไม่จริงใจกับงานและแฟนคลับ หลายคนเคยยอมทำทุกอย่างเพียงเพื่อให้มีชื่อเสียง แฟนคลับ เงินทอง ไต่เต้าเข้าวงการจนสำเร็จ แต่ลับหลังก็ไม่โอเคกับบริบทวาย ทุกวันนี้มีซีรีส์วายผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ด และมีคนที่ดัง มีชื่อเสียง มีเงินทอง มีแฟนคลับเยอะแยะเพราะบริบทวาย แต่เราแทบไม่รู้สึกถึงการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนสังคม จากกลุ่มคนที่ใช้บริบทเหล่านี้หากินเลย ซึ่งถ้าเขาเข้าใจงาน และเข้าใจอิทธิพลของผลงานตัวเอง ก็คงจะรู้ว่า ผลงาน ชื่อเสียง และโซเชียลมีเดียของตัวเองมีอิทธิพลในการขับเคลื่อนสังคม”

นอกจากบุคคลที่อยู่ในวงการแล้ว อุตสาหกรรมเองก็ไม่ได้แสดงออกถึงการสนับสนุนเท่าที่ควร และในจำนวนผลงานนับร้อยพันที่ขึ้นชื่อว่าเป็นหนัง หรือซีรีส์วาย น้อยมากที่จะสร้างความตระหนักรู้ หรือส่งเสริมทัศนคติที่ไม่ผิดเพี้ยนต่อกลุ่มเพศหลากหลาย บูมเสริม

“ผมมองว่าถ้าสื่อไทยผลิตคอนเทนต์มุมมองอื่นนอกเหนือจากความรักของเด็กผู้ชายวัยมัธยม หรือการเน้นขายเลิฟซีนก็คงจะดีกว่านี้ เพราะจริงๆ แล้วชีวิตของคนที่รักเพศเดียวกัน ก็มีหน้าที่การงาน มีความฝัน มีแก๊งเพื่อน มีครอบครัว มีความรัก มีมิติชีวิตหลากมุมไม่ต่างจากชีวิตคนที่รักต่างเพศเลย ถ้าสื่อ และภาครัฐซึ่งมีอำนาจต่อสังคม สามารถสะท้อน และแสดงออกถึงการมีอยู่ของ LGBTQ+ ให้เป็นเรื่องปกติ ไม่จัดวางให้ดูแตกต่างจากคนอื่นๆ สังคมของเราก็คงก้าวหน้าจนไม่จำเป็นต้องมาถกกันกับแค่เรื่องสมรสเท่าเทียม เพราะทุกคนจะรับรู้ และเข้าใจว่า มนุษย์ทุกคนเท่ากัน”

“ตอนที่ได้รับการติดต่อสัมภาษณ์เรื่องนี้ ผมรู้สึกเศร้านะ เพราะว่าหนังเรื่อง Fathers ฉายไปตั้งแต่ปี 2016 มันผ่านมา 7 ปีแล้ว แต่ทุกอย่างยังคงเหมือนเดิม ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมยังไม่ผ่าน เรื่องที่ผมเคยพูดก็ยังต้องพูดอยู่ ซึ่งยังไม่มีหนัง หรือซีรีส์ไหนที่พูดเรื่องนี้อย่างจริงจัง สังคมมันไม่ไปถึงไหนเลย”

การเฉลิมฉลอง PRIDE ควรจะเป็นเรื่องของทุกคน

ในเมื่อได้พูดถึงงานไพรด์ที่ได้จัดขึ้นเมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมานี้ ก็อยากทราบถึงด้านของบูมที่เป็นคนในคอมมูฯ ว่า คิดเห็นอย่างไรกับอีเวนต์ที่เกิดขึ้น? เขาให้ความเห็นกลับมาว่า คนหมู่มากยังไม่เห็นว่าเป็นเรื่องของตัวเอง เมื่อเทียบกับกัญชาเสรี หรือสุราก้าวหน้า

“จากความรู้สึกผมคือ มันยังเป็นเรื่องของคนกลุ่มหนึ่งอยู่เลย เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะมองว่าเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับตัวเอง ต่างจากประเด็นกัญชาเสรี กับสุราก้าวหน้า ที่ทุกคนรู้สึกว่าเป็นเรื่องของตัวเอง มีทั้งที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย เพราะคิดว่ามันมีผลกระทบกับตัวเองไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง ต่อให้สูบ หรือไม่สูบ ดื่ม หรือไม่ดื่ม ทุกคนก็พูดถึงกันเป็นวงกว้าง แต่ไพรด์ยังเป็นเรื่องของคนบางกลุ่ม เป็นอีเวนต์หนึ่ง เหมือนงานเปิดตัวหนัง หรือมอเตอร์โชว์ที่ค่อนข้างเฉพาะกลุ่ม น่าเศร้าที่หลายๆ คนยังมองว่า ความหลากหลายทางเพศเป็นอากาศธาตุ วี้ดว้ายกระตู้วู้ในสื่อได้ แต่อย่าเรียกร้องอะไรไปมากกว่านั้น”

“น่าเศร้าด้วยที่ดารานักแสดง บริษัทที่แจ้งเกิด หรือหากินกับบริบทวายจนโด่งดัง มีชื่อเสียง มีหน้ามีตา กลับไม่ค่อยออกมามีส่วนร่วมในการแสดงจุดยืนสนับสนุน หรือเป็นกระบอกเสียงเรียกร้องให้กับงาน Pride ครั้งนี้นัก เอาจริง ถ้างาน Pride ไม่มีบุคคลทางการเมืองที่เพิ่งเลือกตั้งเสร็จมาร่วมงาน ก็อาจจะไม่ได้เป็นข่าวขนาดนี้ พองานจบ สารัตถะของงานก็จบไป ราวกับเป็นแค่อีเวนต์หนึ่งเท่านั้น แต่ก็แอบหวังว่า บุคคลทางการเมืองเหล่านี้จะสามารถผลักดันกฎหมายที่ให้คุณค่ามนุษย์ทุกคนเท่ากันได้จริง แต่ถามว่ามันดู Commercial ไหม ก็คงเห็นได้ชัดจากการออกมาหาแสง หาซีนในงาน Pride ของพรรคการเมืองที่โหวตไม่รับร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม”

ความหวังที่ปรารถนาให้เป็นจริง: สักวันคนเราจะเท่ากัน

ก่อนที่จะปิดบทสนทนากันไป คำถามสุดท้ายก็คือ ณ ตอนนี้ที่อีก 3 ปีก็จะครบรอบ 10 ปีแล้วที่ Fathers ได้ฉายในโรงภาพยนตร์ บูมมีความคาดหวังเกี่ยวกับการขับเคลื่อนเพื่อสิทธิเท่าเทียมในประเทศไทยอย่างไร และมีอะไรบ้าง

“ส่วนตัวผมอยู่ในมุม Hope ก็คือมีความหวังว่ามันจะดีขึ้น ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนผ่านไป คงต้องมีการพูดถึงมิติอื่นๆ นอกจากความหลากหลายทางเพศ เช่น การเคารพสิทธิระหว่างครูกับนักเรียน ค่ายทหาร ประชาชนกับตำรวจ ไม่มีทางเลยที่ทุกอย่างจะก้าวไปข้างหน้า และอย่างใดอย่างหนึ่งยังรั้งท้าย ถึงมันจะมีความลักลั่นว่าบางคนที่มีพริวิเลจมากๆ ไม่อยากให้คนอื่นมีเทียบเท่าตัวเอง ผมก็หวังว่ามันจะดีขึ้นกว่าที่ผ่านมาครับ”

“เมื่อยุคสมัยผ่านไป คนที่เข้ามามีบทบาทในการตัดสินใจก็ต้องเปลี่ยนมือ คนเจนฯ ใหม่กับชุดความคิดใหม่ๆ ก็จะเข้ามาขับเคลื่อนสังคม เหมือนอย่างที่อาจารย์ ‘วีระ ธีรภัทร’ เคยพูดประมาณว่า คนยุคเบบี้บูมเมอร์กับเจนฯ X ไม่มีสิทธิ์ดูถูกเจนฯ Y กับ Z แล้ว ในเมื่อตอนที่พวกเขายังมีโอกาสก็ทำประเทศเละเทะ ไม่ก้าวหน้าในหลายๆ ด้าน จะมีหน้ามาดูแคลนคนยุคใหม่ได้อย่างไร ถึงเวลาแล้วที่จะต้องให้พวกเขามาทำหน้าที่แทน”

ส่งท้ายถึงทุกคู่ ทุกครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นคนเพศไหนก็ตาม

“ผมฝากรวมๆ แล้วกันครับ ถึงพ่อแม่ทุกยุคทุกสมัย ไม่ว่าคุณจะเป็นคนเจนฯ ไหน หรือจะถูกเลี้ยงดูมาอย่างไร เชื่อเถอะว่า การเลี้ยงลูกไม่มีวิธีที่ถูกหรือผิดหรอกครับ แต่มันไม่มีวิธีที่ง่ายอย่างแน่นอน เพราะฉะนั้น มันไม่มีสูตรสำเร็จตายตัวว่า เลี้ยงลูกแล้วจะโตไปเป็นแบบไหน หรือต้องเป็นอย่างไร ผมว่ามันขึ้นอยู่กับความเข้าใจ และการซัพพอร์ตกันมากกว่า เมื่อเป็นคำว่า ‘ครอบครัว’ ต่างคนก็ต่างบทบาท ถ้ารักกันก็ต้องรู้จักบาลานซ์ และเรียนรู้กันไป โดยไม่เอาตัวเอง หรือความต้องการของตัวเองเป็นที่ตั้ง เหมือนคำโปรยหนัง Fathers ที่บอกว่า “คำว่ารักเริ่มต้นจากคนสองคน แต่คำว่าครอบครัวไม่ใช่แค่สองคนอีกต่อไป” กับคู่รักก็เหมือนกัน มันไม่มีสูตรสำเร็จว่า ต้องทำอย่างไรถึงจะคบกันยืดยาว คนเรารักกันได้เพราะชอบในข้อดี แต่ก็ต้องยอมรับข้อเสียของกันและกันด้วย เพราะชีวิตคือการเรียนรัก ไม่ว่าจะคู่รักชายหญิง ชายชาย หญิงหญิง แต่ละคู่ต่างก็มีเหตุผลในการจด หรือไม่จดทะเบียนสมรสกัน สิ่งที่ทุกควรเข้าใจคือ ถึงแม้มันอาจจะไม่ใช่เรื่องจำเป็นสำหรับทุกคน แต่มันควรเป็นสิทธิ์พื้นฐานที่ทุกคน ทุกคู่ ควรเลือกได้เองว่าจะทำ หรือไม่ทำ”