“FASHION [N] สิ่งที่กำลังเป็นที่นิยมกันทั่วไปชั่วระยะเวลาหนึ่ง”
ถ้าว่ากันโดยทั่วไปแล้ว แฟชั่นก็เปรียบเหมือนสัญลักษณ์แห่งการพัฒนาสิ่งใหม่ๆ ในสังคม การเกิดขึ้นของมันทำให้เรารู้ว่าความคิดสร้างสรรค์ไม่เคยหายไปจากมนุษย์เลยสักยุคสมัย แต่ในขณะเดียวกัน เมื่อเทรนด์ Green Consumers เริ่มขยายสู่คนรุ่นใหม่มากขึ้น แฟชั่นกลับเริ่มถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำลายสิ่งแวดล้อม เพราะทำให้เกิดสินค้าตามกระแสที่ด้อยคุณภาพ มาไวไปไว เน้นใส่ไม่กี่ครั้งก็พังแล้ว ซึ่งเพิ่มปริมาณขยะให้โลกอย่างมหาศาล
“การจะไปบอกให้คนเปลี่ยนความคิดหรือลดการใช้สินค้า Fast Fashion เป็นเรื่องยากและต้องใช้เวลามากๆ แต่โบคิดว่าสิ่งที่โบสามารถทำได้ คือ พยายามทำให้พวกเขามองว่าสินค้า Upcycling มันสวยและมีประโยชน์”
นั่นคือสิ่งที่ทำให้ 2 – 3 ปีมานี้ เราเห็นคุณโบเป หรือ โบ - เปมิกา สุตีคา และคุณตื้อ - ศุภฤกษ์ ทาราศรี พาแบรนด์ BOPE (โบเป) เข้าสู่วงการแฟชั่น เดินหน้า Collabs กับแบรนด์เสื้อผ้าเล็กใหญ่มากมายจากทั้งในไทยและญี่ปุ่น โดย Upcycling ขยะพลาสติกเป็นกระดุม หัวเข็มขัด และส้นรองเท้า ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้าสายแฟทุกช่วงวัย เพราะหน้าตาสินค้าที่โดดเด่น เป็นเอกลักษณ์ มีเพียงชิ้นเดียวในโลก
Fashioner [N] นักออกแบบ
สำหรับขาช็อปสินค้ารักษ์โลกคงรู้จัก BOPE แห่งจังหวัดเชียงใหม่กันเป็นอย่างดีอยู่แล้ว แต่สำหรับสายแฟนั้นก็อาจจะแปลกหูแปลกตากันอยู่บ้าง เพราะต้องบอกเลยว่าแรกเริ่มไม่ใช่แบรนด์ที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อทำสินค้าแฟชั่นเป็นหลัก แค่ตั้งใจเอาความถนัดด้านดีไซน์มาสร้างมูลค่าให้ขยะพลาสติกที่โดนคัดทิ้งก็เท่านั้น
“โบเปเริ่มมาจากความชอบค่ะ เดิมทีแฟนโบเขาสนใจเกี่ยวกับธุรกิจซื้อของเก่า ซื้อมาขายไป แต่ว่าช่วงหลังเจอปัญหาขยะพลาสติกปนเปื้อนที่ไม่สามารถนำเข้าไปสู่ระบบอุตสาหกรรมหรือว่านำไปรีไซเคิลได้อีกแล้ว ทำให้เหลือทิ้งในปริมาณที่เยอะมาก เราสองคนเลยอยากลองเอาความรู้ความสามารถด้านศิลปะดีไซน์มาสร้างมูลค่าให้ขยะเหล่านี้ ก็หาข้อมูลไปเรื่อยๆ จนเมื่อปี 2015 ได้เจอกับคุณ Dave Hakkens ชาวเนเธอร์แลนด์ที่ก่อตั้งคอมมูนิตี้ Precious Plastic ซึ่งกำลังทำโปรเจกต์ผลิตเครื่องรีไซเคิลขนาดเล็กสำหรับคนทั่วไปอยู่และยินดีให้ Blueprint มา เราก็เอามาแกะแบบ ทำขึ้นมาเองทั้งหมด เป็นเครื่องฉีดพลาสติกขนาดย่อมตัวแรกของโบเป”
Fashion [VT] ทำให้เป็นลวดลาย
คุณโบเล่าให้ฟังว่าเมื่อเครื่องมือประกอบร่างเสร็จแล้ว เธอและแฟนใช้เวลาถึงหนึ่งปีเต็มในการหาตลาดและทดลองผลิตสินค้า
“โบอยู่เชียงใหม่ ลูกค้าส่วนใหญ่จะมุ่งไปที่นักท่องเที่ยวต่างชาติ สินค้าเลยต้องดีไซน์ให้เป็นชิ้นเล็ก พกพาง่าย น้ำหนักเบา เอากลับไปเป็นของฝากได้ เราเริ่มด้วยการนำขยะพลาสติกที่มี คือ HDPE (ฝาขวดน้ำ ขวดแชมพู ฯลฯ) PP (เช่น ถัง กะละมัง ฯลฯ) มาทำเป็นจานรองแก้วแบบง่ายๆ รูทรงสี่เหลี่ยม หกเหลี่ยม วงกลม แล้วผสมพลาสติกสีนั้นสีนี้เข้าไป เพื่อทำเป็นลวดลายและ Texture ที่แปลกตา พอปี 2016 ก็วางขายตามถนนคนเดินหรือสถานที่ท่องเที่ยว ซึ่งผลตอบรับดี นักท่องเที่ยวชอบกันมาก โดยเฉพาะ สิงคโปร์และญี่ปุ่น เราจึงเริ่มผลิตชิ้นงานที่หลากหลายมากขึ้นและทำต่อเนื่องมาถึงทุกวันนี้ เช่น แจกัน ของแต่งบ้าน และอย่างที่หลายคนเห็นเป็นพวกกระดุม หัวเข็มขัด ส้นรองเท้า แบบ Customize ได้ตามสั่ง แต่ยังคงเน้นโชว์ Texture ตามสไตล์โบเป หรือสินค้าล่าสุดก็มีกระเป๋าจากถุงพลาสติก LDPE”
Fashion-cycling School [N] อีกบทบาทของโบเป
ลำพังการนำขยะเหลือใช้มาสร้างมูลค่าให้คนทั่วไปกล้าเปิดใจลองใช้นั้นอาจไม่เพียงพอที่จะทำให้เกิดความยั่งยืนด้านการรักษ์โลก รักษ์สิ่งแวดล้อม BOPE จึงทำให้ตัวเองเป็นมากกว่าแบรนด์สินค้า คือเป็นสถานที่ที่แบ่งปันความรู้ให้กับผู้อื่น ทั้งในรูปแบบเปิดให้คนข้างนอกเข้ามาเรียนรู้การ Upcycling การออกแบบชิ้นงาน และเยี่ยมชมการสตูดิโอ รวมถึงไปเวิร์กชอปตามสถานศึกษาหรือหน่วยงานต่าง ๆ ด้วย ซึ่งคนที่มาเรียนกับ BOPE ส่วนใหญ่เป็นวัยนักศึกษาไปจนถึงวัย First jobber ไม่เฉพาะแค่กลุ่มที่รักษ์สิ่งแวดล้อม ยิ่งช่วง 2-3 ปีมานี้ก็จะมี Young designer ที่กำลังมองหา Material ใหม่ๆ ในการทำงานเข้ามาเรียนรู้เพิ่มมากขึ้น เพื่อต่อยอดงานแฟชั่น อินทีเรีย และสถาปนิก
Fast Fashion [N] สินค้าเน้นตามกระแส ไม่เน้นคุณภาพ
“ในมุมมองของคนที่ทำธุรกิจ Upcycling โบคิดว่าตอนนี้คนไทยให้ความสนใจเรื่องการรักษ์สิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น ยิ่งพอเริ่มมีเทรนแฟชั่นเข้ามาเกี่ยวด้วย ก็ทำให้กลุ่มคนที่มีไอเดียอยู่แล้วยิ่งสนใจใน Material จากขยะพลาสติกมากขึ้น เหมือนเป็นทางเลือกเสริม เลยกลายเป็นว่าคนจากหลากหลายกลุ่มสนใจเรื่องนี้มากขึ้น แต่การจะไปหวังให้คนเลิกใช้พลาสติกหรือเลิกใช้สินค้า Fast fashion ไปเลยยังยากอยู่ เพราะเขาเคยชินกันไปแล้ว อย่างตอนนี้คนรุ่นเราก็เริ่มรู้แล้วว่าจะทำยังไงให้ใช้พลาสติกน้อยลง แต่ถ้าถามว่าเราจะเลิกใช้มันได้ 100% ไหม ก็ยังคงไม่ แต่เชื่อว่าในอนาคต Generation Y Z ที่กำลังจะเติบโตขึ้นมาเนี่ยจะทำได้มากขึ้น”
สำหรับคนที่อยากลองเปลี่ยนตัวเอง ก็อยากให้ลองเริ่มจากเรื่องง่ายๆ ใกล้ตัวก่อน อาจไม่ต้องถึงขนาดรีไซเคิลหรืออัพไซคลิงแบบโบก็ได้ แค่ Reuse - Reduce ใช้ซ้ำ ใช้น้อย เอากลับมาใช้ให้เยอะที่สุด ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีแล้ว
5 Years [N.P.] การเดินทางของ BOPE
กว่าจะมาเป็นแบรนด์ที่ได้การตอบรับดีเหมือนทุกวันนี้ ช่วงแรก BOPE ก็ต้องเจอกับอุปสรรคอยู่บ้าง เพราะมีคนอีกมากที่ไม่ได้อินกับเทรนด์รักษ์โลก ยังขาดความเข้าใจในตัวสินค้า กระบวนการผลิต และราคาขาย จำเป็นต้องอธิบายค่อนข้างเยอะ
“การทำงานของเราจะมีทั้งเครื่องฉีด เครื่องรีด เตารีดรีดความร้อน และกว่าจะนำขยะพลาสติกมาใช้ได้ก็ต้องใช้ระยะเวลาและขั้นตอนในการทำความสะอาดเยอะ รวมแล้วนานเป็นเดือน ทุกอย่างต้องใช้งบประมาณ เวลา และความชำนาญพอสมควร เพราะถึงแม้จะมีเครื่องจักรคอยทุ่นแรง แต่สินค้าของเราเป็น Handmade ต้องทำมือ ส่วนใครที่สนใจและอยากเริ่มทำธุรกิจแบบนี้ โบอยากให้ศึกษาดูก่อนว่านอกจากความชอบแล้ว ในแง่ของการผลิตที่ต้องใช้ความอดทนสูงมาก และการเข้าสู่ตลาดที่ต้องสร้างความแตกต่างที่ชัดเจนเนี่ย เราไหวไหม”
อนาคตของโบเปและ BOPE
โบอยากให้คนนึกถึง BOPE เป็นแบรนด์สินค้ารักษ์โลกที่มีความยูนีค ถ้าเขาอยากได้สินค้าอัพไซคลิงเขาต้องนึกถึงเรา ซึ่งก็พยายามพัฒนาตัวเองในทุกๆ ด้านให้ตอบโจทย์กับทุกลูกค้าทุกกลุ่ม อย่างตอนนี้กำลังพัฒนาสินค้าใหม่อยู่ เป็นสินค้าชิ้นใหญ่ขึ้น คาดว่าจะได้วางขายในปีหน้าค่ะ
ไม่ว่าคำว่า FASHION ในความคิดแต่ละคนคืออะไร แต่เราเชื่อว่า BOPE จะเป็นอีกหนึ่งมุมมองที่ทำให้ใครหลายคนมองวงการแฟชั่นต่างไปจากเดิม เพราะมันก็ GO Green ได้เหมือนกัน
ติดตามและสัมผัสกับความ Eco-friendly ได้ที่ Bope Shop