เวลาที่เราบังเอิญเดินผ่านศาสนสถานสักแห่งหนึ่ง เราจะใช้อะไรในการตัดสินว่าที่นั่นเป็นวัดพุทธ โบสถ์คริสต์ มัสยิดอิสลาม หรือเทวาลัยฮินดู แน่นอนว่า เราต้องใช้สิ่งที่ตาเห็นถูกไหม เห็นอะไรก็คาดเดาไปแบบนั้น ซึ่งตามปกติแล้ว วิธีนี้ถือเป็นวิธีที่ง่าย และได้ผลที่สุดในการจะช่วยให้เราคาดเดาได้แบบคร่าวๆ ว่าสถานที่นั้นคืออะไร ซึ่งโดยทั่วไปก็จะได้ผลตามนั้น
แต่ถ้าศาสนสถานแห่งนั้นไปหยิบยืมรูปแบบของศาสนสถานในศาสนาอื่นมาใช้ล่ะ จะเกิดอะไรขึ้น แน่นอนว่า โอกาสที่เราจะคาดการณ์ผิดก็มีเพิ่มขึ้นในทันที แล้วมันจะมีสถานที่แบบนั้นในบ้านเราหรือ? บอกเลยว่ามี แล้วมีทั้งที่เรายืมเขา และที่เขายืมเราเลย
เริ่มกันด้วยงานออกแบบที่ ‘เรายืมเขา’ กันก่อน กับวัดที่หลายคนเรียกขานกันว่า ‘วัดไทยสไตล์ฝรั่ง’ ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา อย่าง ‘วัดนิเวศธรรมประวัติ’ วัดที่สร้างขึ้นโดยพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และทรงโปรดให้นำ ‘สถาปัตยกรรมแบบโบสถ์ฝรั่ง’ มาใช้ มีจุดประสงค์ ‘ให้ผู้คนได้ชมเพราะเป็นของแปลก ไม่มีที่ไหนมาก่อน โดยไม่ได้มีพระราชประสงค์ที่จะเปลี่ยนศาสนาไปนับถือศาสนาอื่นนอกจากพุทธแต่อย่างใด’ ด้วยความปรารถนานี้ของในหลวงรัชกาลที่ 5 ทำให้เกิดหนึ่งในพระอุโบสถที่มีรูปทรงแปลกประหลาดที่สุดในยุคนั้น และจวบจนปัจจุบันก็ยังไม่มีวัดไหนที่อาจหาญหยิบเอารูปแบบสถาปัตยกรรมตะวันตกมาใช้กับวัดไทยแบบ 100% เหมือนวัดนี้มาก่อน
จากสถาปัตยกรรมภายนอกที่เห็นชัดเจนว่า เหมือนเปี๊ยบ ตั้งแต่อาคารสีเหลืองที่มีช่องหน้าต่างยอดแหลม พร้อมหอคอยสูงข้างหน้า แถมด้านบนยังมีของรูปทรงคล้ายไม้กางเขนอีก ไม่ว่าจะมองมุมไหนก็เป็นโบสถ์คริสต์ และต่อให้เราเดินเข้าไปข้างใน บรรยากาศก็เหมือนกับโบสถ์คริสต์แบบสุดๆ ไม่ว่าจะเป็นซุ้มใหญ่ด้านใน บัลลังก์ทรงอาร์มแชร์ การประดับประดาไปด้วยกระจกสี ที่พบเจอได้ทั่วไปตามโบสถ์คริสต์
แต่สิ่งที่ยืนยันความเป็นวัดเนื่องในศาสนาพุทธของวัดนิเวศธรรมประวัติก็คือ ‘รูปเคารพหลักของอาคาร’ เพราะบนซุ้มใหญ่สไตล์ฝรั่งมีพระประธานขนาดเล็กที่ประดิษฐานอยู่ร่วมกับพระสาวกคู่หนึ่ง และพระนิรันตราย ยืนยันความเป็นวัดพุทธ เน้นเข้าไปอีกด้วยประติมากรรมพระสาวกยืนพนมมือตามเสาทั้งซ้ายขวา เป็นเครื่องการันตีว่า วัดแห่งนี้เป็นวัดไทย เพียงแค่เปลือกนอกเป็นโบสถ์คริสต์เท่านั้น
ขยับไปงานดีไซน์ที่ ‘เขายืมเรา’ กันบ้าง กรณีนี้จริงๆ มีทั้ง ‘คริสต์ยืมพุทธ’ และ ‘อิสลามยืมพุทธ’ แต่ถ้าจะเอาให้ชัดก็คงต้องยกให้ ‘มัสยิดบางหลวง’ กรุงเทพมหานคร เจ้าของสมญา ‘มัสยิดทรงไทย’
มัสยิดบางหลวง หรือ ‘กุฎีขาว’ นี้เป็นมัสยิดในศาสนาอิสลามนิกายซุนนี ตั้งอยู่ริมคลองบางหลวงอันเป็นที่มาของชื่อมัสยิด โดยมัสยิดหลังที่เห็นในปัจจุบันเป็นมัสยิดหลังที่ 2 สร้างขึ้นแทนหลังเดิมจากรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และด้วยหลายเหตุผล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความต้องการให้กลมกลืนกับชุมชนโดยรอบที่มีชุมชนพุทธทั้งด้านหน้าและด้านข้าง หรือปัจจัยเรื่องช่างก่อสร้างที่น่าจะมีการนำช่างไทยมาช่วยในการสร้างมัสยิดหลังนี้ ทำให้เกิดมัสยิดทรงไทยสีขาว (อันเป็นที่มาของชื่อ มัสยิดกุฎีขาว) หลังนี้ขึ้นมา ซึ่งในปัจจุบันถือเป็นมัสยิดทรงไทยเพียงหลังเดียวในกรุงเทพมหานคร
จริงๆ แล้วในอดีตกรุงเทพฯ ยังมีมัสยิดหลังอื่นที่หยิบยืมรูปแบบสถาปัตยกรรมไทยมาใช้ด้วยเช่นกัน เช่น มัสยิดต้นสน และ มัสยิดหลวงอันซอริซซุนนะห์ แต่ทั้งสองหลังผ่านการรื้อแล้วสร้างใหม่ไปนานแล้ว ทำให้หลักฐานของมัสยิดทรงไทยหลังอื่นคงเหลือเพียงในภาพถ่ายเก่า และคำบอกเล่าของผู้คนที่เล่าสืบต่อกันมาเท่านั้น ในขณะที่มัสยิดบางหลวงแห่งนี้แม้จะผ่านการปฏิสังขรณ์มาหลายครั้ง แต่ก็เป็นเพียงการซ่อมบำรุงให้อยู่ในสภาพดีเท่านั้น ไม่ได้มีการรื้อถอน ก็เลยเป็นโชคดีของเราที่ยังเหลือหลักฐานงานศิลปกรรมชิ้นเยี่ยมนี้ข้ามผ่านกาลเวลามาจนถึงยุคปัจจุบันให้เราได้เห็น และชื่นชม
มัสยิดหลังนี้ให้ความรู้สึกเดียวกับวัดนิเวศธรรมประวัติเลย เพราะไม่ว่าจะมองมุมไหนก็เป็นวัดพุทธ ไม่ว่าจะการเป็นอาคารทรงไทยหลังคามุงกระเบื้อง หน้าบันปูนปั้นประดับลายดอกโบตั๋น ดอกไม้ยอดฮิตความหมายดี เสาสี่เหลี่ยมที่รับหลังคาพาไลที่ไม่มีการตกแต่งหัวเสา ซุ้มประตูหน้าต่างที่ตกแต่งด้วยลายดอกไม้พันธุ์พฤกษาอย่างจีน ทั้งหมดล้วนแต่เป็นสิ่งที่สามารถพบได้ทั่วไปตามวัดวาอารามที่สร้างขึ้นตามแบบพระราชนิยม รัชกาลที่ 3
แต่มีอยู่อย่างหนึ่งที่สะดุดตาจากข้างนอกเลย นั่นก็คือ สีของกระเบื้องมุงหลังคาที่เป็นสีเขียว แทนที่จะเป็นสีส้มแบบที่เรามักจะพบตามวัดไทย ถึงแม้จะไม่ได้เป็นสีประจำศาสนาอิสลาม แต่ก็เป็นสีที่พบได้บ่อยตามมัสยิด แต่ถ้าเราเพ่งดีๆ ก็จะเห็นว่า บนหน้าบันตรงกลางแทนที่จะประดับด้วยชามกระเบื้องเคลือบ มัสยิดนี้มีอักษรภาษาอาหรับเป็นคำว่า ‘อัลลอฮฺ’ เป็นสิ่งยืนยันว่า แม้จะดูเหมือนวัดไทยแต่ที่นี่คือมัสยิด
ส่วนข้างใน สิ่งที่สะดุดตาก่อนคือ ซุ้มมิห์รอบทรงปราสาท 3 ยอด เด่นสะดุดตาอยู่ติดผนังด้านหลังของมัสยิด ซึ่งมิห์รอบถือเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทุกมัสยิดจะต้องมี แต่ที่นี่ถือเป็นไม่กี่ที่ที่มีการหยิบยืมรูปแบบศิลปะไทยมาใช้กับมัสยิด แต่คนออกแบบก็ไม่ได้ลืมว่า ซุ้มนี้สร้างขึ้นเพี่ออะไร จึงมีการนำเอาอักษรอาหรับมาประดับด้วยเช่นกัน ดังนั้น แม้ว่าซุ้มนี้จะไม่ได้สร้างขึ้นพร้อมกับมัสยิด เพราะเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นใหม่แทนของเดิมที่ชำรุดในสมัยรัชกาลที่ 6 โดยเจ้าสัวพุกนำแรงบันดาลใจจากวัดอนงคารามที่อยู่ไม่ไกลมาใช้ แต่ก็เป็นสิ่งที่ช่วยสนับสนุนให้มัสยิดหลังนี้ดูเหมือนวัดไทยมากขึ้น
ทั้งวัดนิเวศธรรมประวัติ ทั้งมัสยิดบางหลวง เลยถือเป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นการหยิบยืม การผสมผสานระหว่างศิลปะจากโลกฝั่งหนึ่ง กับโลกอีกฝั่งหนึ่งเข้าด้วยกันอย่างกลมกลืน โดยแทนที่มันจะแย่งกันเด่น แต่กลับส่งเสริมให้เข้ากันได้อย่างไม่น่าเชื่อ แม้จะชวนให้เข้าใจผิดบ้างก็ตาม ถ้าเราไม่ระวังให้ดี แต่ก็ถือเป็นหลักฐานสำคัญทั้งในมุมของงานศิลปกรรมที่ผสมผสาน รวมถึงเรื่องของสภาพสังคมไทยที่มีความสังคมพหุวัฒนธรรม ผู้คนจากต่างที่หลายทางมาอาศัยอยู่ร่วมกันมาตั้งแต่สมัยอดีต เป็นอะไรที่น่าค้นหา และน่าตั้งคำถามมากว่า ถ้ามีการผสมผสานแบบนี้เกิดขึ้นอีก มันจะออกมาหน้าตาเป็นอย่างไร?