Culture

‘แนนนี่ – เนย’ สองนักกีฬาทีมชาติ ที่ทำให้เรารู้จักโบว์ลิ่งมากขึ้น และค้นพบข้อดีของการมีพี่น้องเล่นกีฬาเดียวกัน

(จากซ้ายไปขวา: แนนนี่ กิ่งกมล - เนย รมิตา)

จำได้ว่าเมื่อประมาณสี่ปีก่อน เราได้รู้จักกับ ‘แนนนี่ - กิ่งกมล สารทอง’ หนึ่งในนักกีฬาโบว์ลิ่งดาวรุ่งของทีมชาติไทย และไม่นานหลังจากนั้นเราก็ได้รู้จักกับ ‘เนย - รมิตา สารทอง’ ผู้เป็นน้องสาวเพิ่มมาอีกคน ในฐานะนักกีฬาดาวรุ่งเยาวชนทีมชาติไทย จึงทำให้ไม่กี่ปีนี้ นามสกุล ‘สารทอง’ กลายเป็นที่คุ้นชินในแวดวงกีฬาไปโดยปริยาย

‘โบว์ลิ่ง’ เป็นหนึ่งในกีฬาที่แมสในบ้านเรามานานหลายสิบปี จะเห็นว่ามีลานโยนโบว์ฯ ในแทบทุกห้างดัง แต่เอาเข้าจริง คนที่จะเล่นจริงจังถึงขั้นล่าเหรียญรางวัล โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ในยุคศตวรรษที่ 21 แบบนี้ กลับค่อนข้างหายาก เพราะมันอาจไม่ได้ตื่นเต้น เร้าใจเหมือนกีฬาเอ็กซ์ตรีม แต่ทั้งแนนนี่และเนยเป็นเศษหนึ่งส่วนน้อยที่คิดต่างออกไป

ด้วยเหตุผลนี้ เลยทำให้เย็นวันจันทร์เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา เราพาตัวเองมายังลานโบว์ลิ่งที่นักกีฬาทีมชาติกำลังซ้อมเพื่อไปแข่งรายการ ‘Singapore International Open 2022’ เพื่อพูดคุยกับ 2 พี่น้องบ้านสารทองโดยเฉพาะ

จุดแรกเริ่มของการโยนโบว์ฯ มาจากไหน

แนนนี่: จุดเริ่มต้นคือเมื่อก่อนที่โรงเรียนน้องสาวกับน้องชายมีโบว์ลิ่งการกุศล เราก็ไปโยนด้วย แล้วรู้สึกชอบที่มันไม่ได้ใช้แรงหนักมากเหมือนกีฬาอื่น พอจบงานนั้นก็เลยลองมาโยนเล่นกันเองที่ห้างแถวบ้าน ซึ่งทางคุณพ่อคุณแม่เห็นว่าพวกเราน่าจะไปต่อด้านนี้ได้ เลยหาโค้ชมาช่วยฝึกให้จริงจังเลยค่ะ

ขณะที่คนอื่นสนใจโบว์ลิ่งเป็นกิจกรรมสันทนาการ ทำไมทั้งคู่ถึงอยากเป็นนักกีฬาอาชีพ

แนนนี่: ก่อนหน้านี้เราไม่เคยเล่นกีฬามาก่อน ถ้าให้ไปเล่นกีฬาที่ใช้แรงมากคงไม่ถนัด เลยรู้สึกชอบโบว์ลิ่ง แต่ไม่ได้หมายความว่าโบว์ลิ่งไม่ต้องใช้แรงนะ มันใช้แรงครึ่งหนึ่งและใช้ความคิดอีกครึ่งหนึ่ง ไม่ได้หนักมากเหมือนกีฬาอื่น

เนย: โบว์ลิ่งเป็นกีฬาที่ท้าทายดีค่ะ มันดึงดูดให้เราอยากเปลี่ยนตัวเองจากการโยนตกราง มาโยนสไตรค์ (Strike) ให้ได้ อยากโยนให้เป็นมืออาชีพมากขึ้น เลยต้องพัฒนาตัวเองต่อไป

จากการพัฒนาตัวเองมาหลายปีมีเทคนิคทำสไตรค์ที่อยากแชร์ไหม

เนย: บางคนอาจจะคิดว่าถ้าโยนให้สไตรค์ต้องใช้แรงทั้งตัวใช่ไหมคะ แต่จริงๆ แล้วมันไม่ต้องใช้แรงขนาดนั้น แค่พยายามโยนให้ไปตรงกลางก็พอค่ะ

จริงไหมที่โบว์ลิ่งเป็นกีฬาลูกคุณ (หนู)

แนนนี่: เคยได้ยินเรื่องนี้มาตลอดเหมือนกัน แต่ไม่จริงเลย มันอาจต้องจ่ายค่าสนาม ค่าอุปกรณ์ที่แพงนิดหนึ่ง แต่ถ้ามาดูในลานโบว์ลิ่งจะเห็นว่านักเรียน นักศึกษาทั่วไปก็เล่นกันได้ มีคนหลากหลายที่มาเล่นกัน ผู้สูงอายุก็มี

ปกติในการแข่งขันใช้เวลานานมากน้อยแค่ไหน

แนนนี่: ส่วนใหญ่ครึ่งชั่วโมงก็จบเกมแล้วค่ะ แต่ถ้าวันหนึ่งต้องแข่งหลายเกม ก็เคยมากสุดเกินครึ่งวัน เริ่ม 9 โมงเช้า เสร็จอีกทีเที่ยงคืน แต่ไม่ได้น่าเบื่อหรือเหนื่อยเลยนะ มันเพลินมากๆ รู้ตัวอีกทีก็โยนจนฟ้ามืดแล้ว

พอผันตัวมาเป็นนักกีฬาแล้วมีอะไรที่ได้เรียนรู้มากขึ้นบ้าง

เนย: คนที่จะเล่นโบว์ลิ่งได้ดีต้องสุขภาพจิตดี รู้จักควบคุมอารมณ์ เพราะนักกีฬาบางคนเวลาโยนได้ไม่ดี หรือเจอแรงกดดันมากๆ ก็จะหลุดไปเลยค่ะ ซึ่งมันจะทำให้ตัวเองเล่นต่อไม่ได้ มันมีช่วงหนึ่งที่เราเคยเป็นแบบนั้นเหมือนกัน

จากวันนั้นจนวันนี้ คิดว่าอะไรคือสิ่งสำคัญที่ทำให้ทั้งคู่ผันตัวมาเป็นนักกีฬาได้สำเร็จ

เนย: การขยันซ้อม พากันไปซ้อมทุกวัน และการมีเป้าหมายในชีวิตที่อยากชนะ ไม่ย่อท้อค่ะ

แสดงว่าการมีพี่น้องที่เล่นกีฬาเดียวกันก็มีผลต่อความสำเร็จ?

แนนนี่: ก็มีส่วนค่ะ เพราะเวลาที่เราโยนโบว์ลิ่งด้วยกัน เราจะดูกันและกัน จะมองเห็นความผิดพลาด ก็จะนำมาคุยกันในช่วงที่ซ้อมเสร็จแล้ว หรืออย่างเวลาแข่งที่น้องเริ่มอารมณ์ไม่ดี โยนไม่ได้อย่างที่เขาตั้งใจ เราก็จะรู้ดีกว่าคนอื่นว่าต้องเข้าไปพูดคุยยังไงให้เขาสบายใจขึ้น

เนย: เหมือนมีที่ปรึกษาที่เข้าใจกันและกัน

เคยทะเลาะกันบ้างไหม

แนนนี่: ถ้าเป็นเรื่องโบว์ลิ่ง เราไม่เคยทะเลาะกันเลย แต่ถ้านอกเหนือจากนั้นก็มีบ้างค่ะ (หัวเราะ) ตามประสาพี่น้อง

พูดได้ไหมว่าโบว์ลิ่งทำให้เราสนิทกันมากขึ้น

แนนนี่: ได้ค่ะ เพราะถ้าเราไม่ได้เล่นกีฬานี้ด้วยกัน อาจจะทำให้ไม่ได้เจอหน้ากัน หรือขับรถมาซ้อมพร้อมกันอย่างทุกวันนี้

คิดอย่างไรกับ ‘การถูกเปรียบเทียบ’ ที่คนอื่นชอบมอบให้ครอบครัวนักกีฬา

เนย: การถูกเปรียบเทียบจากคนภายนอกก็คงมีบ้าง แต่มันไม่ได้ทำให้พวกเรากดดัน อาจเพราะเราไม่ได้สนใจคำพูดของคนอื่นสักเท่าไหร่ แค่สนใจเป้าหมายของตัวเอง และพยายามซ้อม พยายามทำผลงานของตัวเองให้ออกมาดีที่สุด

‘เป้าหมาย’ ที่พูดถึงบ่อยๆ นั้นคืออะไร

เนย: การได้ไปขึ้นไปอยู่ใน PWBA (Professional Women’s Bowling Association) ได้ไปแข่งกับกับนักกีฬาอาชีพ และได้รางวัลกลับมา น่าจะเป็นเรื่องที่ดีใจที่สุดแล้ว ก็จะพยายามทำให้เป็นจริงได้เร็วที่สุด เพราะช่วงนี้รู้สึกว่าฟอร์มการเล่นของตัวเองค่อนข้างจะดี

แนนนี่: เหรียญทองเอเชียนเกมส์ค่ะ แต่ตอนนี้คิดว่าตัวเองยังต้องซ้อมให้เยอะกว่านี้ก่อน ทั้งฟิตเนสและเทคนิคการเล่นเลย

นี่คือบทสนทนาทั้งหมดระหว่างเราและสองพี่น้องจากบ้านสารทอง ที่ทำให้คนภายนอกได้ทราบถึงมุมมองคนรุ่นใหม่ที่ชื่นชอบในกีฬาโบว์ลิ่งได้อย่างชัดเจนมากขึ้น และมองเห็นข้อดีของการมีพี่น้องที่ชื่นชอบอะไรเหมือนกัน อย่างไรก็ตาม ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่มีความกังวลเรื่องการถูกเปรียบเทียบกับพี่หรือน้องของตัวเอง จนต้องล้มเลิกอะไรบางอย่างไปโดยไม่เต็มใจ เราหวังว่าบทสนทนานี้จะเป็นแรงผลักดันเล็กๆ ให้คุณปรับมายด์เซต และกล้าที่จะทำสิ่งที่ชอบไปพร้อมกับพวกเขา

ติดตาม ‘แนนนี่’ และ ‘เนย’ ได้ที่

Instagram: knnanny (แนนนี่) noey_ramita (เนย)

ขอขอบคุณ

สมาคมกีฬาโบว์ลิ่งแห่งประเทศไทย

Blu-o เมเจอร์รัชโยธิน