Culture

บาร์สูง บาร์ต่ำ เพราะอะไร? การ Speak Up เพื่อคอมมูฯ ของนักแสดงซีรีส์วายฝั่งยุโรป และเอเชียที่ไม่เท่ากัน

ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร เป็นสาววายหรือไม่ คุณคิดว่านักแสดงซีรีส์วายสนับสนุนสิทธิของ LGBTQ+ มากพอหรือยัง? บางเสียงอาจจะตอบว่า

“สนับสนุนอย่างไร งานไพรด์ปีนี้ยังไม่เห็นนักแสดงซีรีส์วายสักคน”

“ถ้าออกมาโพสต์แค่ ‘Love is love’ หรือ ‘Happy Pride’ ขอไม่นับว่า Speak up แล้วได้ไหม บาร์ต่ำเกิน”

หรือ

“ทำไมนักแสดงวายต้องเรียกร้องสมรสเท่าเทียมด้วย วายก็คือวาย เกย์ก็คือเกย์ ไม่ใช่อย่างเดียวกันมาตั้งแต่แรกแล้ว”

ตราบใดที่ประเทศไทยยังไม่รับรองแม้แต่สิทธิพื้นฐานสำหรับชาวเพศหลากหลาย ความเห็นเหล่านี้มักจะเวียนมาทุกครั้งที่หัวข้อเรื่องการขับเคลื่อนความเท่าเทียมทางเพศกลับมาเป็นประเด็นร้อนบนโลกโซเชียล ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ บนแพลตฟอร์ม X (Twitter) ก็ได้เกิดการถกเถียงในลักษณะคล้ายๆ กันขึ้นมาระหว่างแอ็กเคานต์จากหลากหลายประเทศ โดยเริ่มจากโพสต์ที่เปิดประเด็นขึ้นมาว่า “ฉันอยากให้แฟนๆ ของ Heartstopper อธิบายจังว่าทำไมเรื่องนั้นถึงดีกว่า Tiān Guān Cì Fú (สวรรค์ประทานพร)

Photo Credit: @Orchestrativ

หากแต่นั่นไม่ใช่จุดเริ่มต้นเสียทีเดียว คงต้องอธิบายกันก่อนว่า ‘Heartstopper’ ซีรีส์ที่ดัดแปลงมาจากหนังสือภาพของ ‘อลิซ โอสแมน’ (Alice Oseman) ได้รับคำชื่นชมอย่างล้นหลามตั้งแต่เปิดตัวซีรีส์ซีซั่นแรก จนกระทั่งซีซั่น 2 ที่เพิ่งจะปล่อยฉายบน Netflix ทั่วโลกเมื่อวันที่ 3 สิงหาคมนี้ เสียงตอบรับเชิงบวกจำนวนมากเน้นหนักไปที่ความหัวก้าวหน้าของพล็อต ตั้งแต่การนำเสนออัตลักษณ์ทางเพศของตัวละครอันหลากหลาย ทั้งเกย์ เลสเบี้ยน ไบเซ็กชวล ทรานส์เจนเดอร์ เอเซ็กชวล ฯลฯ และเนื้อเรื่องที่หยิบยกเอาช่วง Coming of Age ของ LGBTQ+ มาเล่าได้อย่างเป็นธรรมชาติ และยังเป็นตัวช่วยในการเพิ่มความเข้าใจต่อ LGBTQ+ แก่คนอื่นๆ อีกด้วย

เมื่อเกิดการยกย่องสรรเสริญก็ย่อมมีการเปรียบเทียบ บ่อยครั้งที่แฟนคลับผู้ติดตาม Heartstopper จะเคลมขึ้นมาว่าซีรีส์ที่ตนชื่นชอบนั้นดีกว่าสื่อวาย (Yaoi) ซึ่งมักจะนำเสนอความสัมพันธ์ที่เป็นพิษระหว่างตัวละครเควียร์ และสร้างภาพจำอันผิดแผกเกี่ยวกับความรักโรแมนติกระหว่างผู้ชาย โดยเฉพาะฉากเซ็กซ์ที่เห็นได้ชัดว่าทำเพื่อตอบสนองเฟติชของกลุ่มสาววายเท่านั้น

สำหรับโพสต์ที่เราได้กล่าวถึงในบทความนี้ แฟนคลับ Heartstopper คนหนึ่งก็ตอบกับเจ้าของโพสต์ว่า “คำตอบมันง่ายมาก บนโลกนี้ที่ยังมีความเกลียดกลัวเพศหลากหลาย มีการแบนหนังสือ มีกฎหมายต่อต้าน LGBTQ+ ที่รุนแรง Heartstopper ก็ยังยืนหยัดท่ามกลางสิ่งเหล่านั้น นิค ชาร์ลี และ อลิซ โอสแมน คือประกายแห่งความหวังของเควียร์ แบบที่วายและ Dānměi (สื่อวายของจีน) ไม่สามารถเป็นได้” และยังเสริมอีกด้วยว่า “เหล่านักแสดง Heartstopper สู้พวกที่เกลียดกลัวเพศหลากหลายกับคนข้ามเพศในงาน Pride แต่ฉันไม่เคยเห็นผู้แต่งวายหรือ Dānměi ที่งานนี้สักคน”

ถึงแม้ว่า Heartstopper จะไม่ใช่ซีรีส์วาย และมีความแตกต่างจากสื่อวายฝั่งเอเชียตะวันออกอยู่มาก ประเด็นนี้ก็ก่อให้เกิดความสงสัยที่ว่า อะไรคือจุดที่ทำให้นักแสดงของประเทศแถบตะวันตกแสดงออกถึงการสนับสนุนได้อย่างไม่มีการอ้อมค้อม ขณะที่ผู้แต่งและนักแสดงซีรีส์วายส่วนใหญ่ในเอเชียกลับเงียบ แม้กระทั่งในเดือนแห่งความหลากหลายที่ผู้คนทั่วโลกต่างพากันเฉลิมฉลอง ซึ่งพอมองจากภาพรวมแล้ว จะเห็นได้ว่าเหตุผลนั้นก็คือ ‘ความต่างทางบริบทสังคม’ นั่นเอง

ความเท่าเทียมทางเพศและกฎหมายด้านสิทธิของ LGBTQ+ ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรเลยสำหรับชาวยุโรป ในเมื่อมูฟเมนต์แรกเพื่อกลุ่มเควียร์เกิดขึ้นเมื่อช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ปี 1897 คณะกรรมการ Scientific-Humanitarian Committee ได้ก่อตั้งขึ้นในเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี โดยกิจกรรมแรกที่ทำในนามของคณะก็คือการยื่นคำร้องยกเลิกมาตรา 175 ซึ่งเคยถูกใช้เพื่อคุมขังชายที่มีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับผู้ชายด้วยกัน หลังจากการทำแคมเปญต่างๆ ไปจนถึงตีพิมพ์หนังสือเรื่องการปลดแอกและอิสรภาพ ทั้งยังเผยแพร่สู่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างเนเธอร์แลนด์กับออสเตรีย ในที่สุด มาตราที่ลิดรอนสิทธิของคนรักร่วมเพศก็ถูกยกเลิกอย่างสมบูรณ์ในปี 1994

แน่นอนว่าหนทางการต่อสู้เพื่อความเสมอภาคนั้นไม่เคยเป็นเรื่องง่าย โดยเฉพาะในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่มูฟเมนต์ของเควียร์แทบจะอยู่ในลักษณะก้าวไปข้างหน้า 1 ก้าว ถอยหลังกลับมาอีก 10 ก้าว แต่ต่อให้หนทางสู่อิสรภาพจะเต็มไปด้วยความรุนแรงและคำเหยียดหยามด่าทอ มูฟเมนต์นับร้อยพันก็ไม่สูญเปล่า ทั้ง Stonewall Riots ที่ก่อให้เกิดเดือน Pride การลบล้างความเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคเอดส์และเกย์ การเรียกร้องเพื่อสิทธิสมรสระหว่างเพศเดียวกัน รวมถึงการเข้าถึงการแปลงเพศ และอีกมากมายที่ใช้เวลาเล่าทั้งวันก็ไม่หมด มาจนถึงปัจจุบันที่ประเทศฝั่งตะวันตกมีความเจริญก้าวหน้าด้านสิทธิทางเพศค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับฝั่งตะวันออกที่กำลังค่อยๆ สร้างความเปลี่ยนแปลงไปตามชุดความคิดของผู้คน

ความตระหนักรู้ที่มาควบคู่กับข้อกฎหมายที่เอื้อต่อความเท่าเทียมในยุคสมัยใหม่ (ขอย้ำว่าในบางรัฐ และบางประเทศเท่านั้น) เป็นเหตุผลหลักที่ทำให้การออกตัวสนับสนุน LGBTQ+ หรือแสดงออกทางเพศนั้นง่ายกว่ามาก มีนักแสดงไม่น้อยเลยที่เปิดเผยอัตลักษณ์ทางเพศของตนต่อสาธารณชน นั่นไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะไม่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ แต่อย่างน้อยที่สุด พวกเขาก็ไม่ถูกกฎหมายกลั่นแกล้งหรือโดนประณามจากผู้คนหมู่มาก เนื่องจากสังคมตะวันตกปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะแบนโฮโมโฟบ (คนที่เกลียดกลัวคนรักร่วมเพศ) มากกว่าเสียอีก

อย่างที่เห็นได้ในขบวน Pride ของเมืองลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อปี 2022 เหล่านักแสดงเรื่อง Heartstopper เองก็ไปเข้าร่วม ทั้ง ‘โจ ล็อค’ (Joe Locke), ‘เซบาสเตียน ครอฟต์’ (Sebastian Croft) และ ‘คิท คอนเนอร์’ (Kit Conner) ต่างพากันเต้นเพลง ‘I Wanna Dance with Somebody’ พร้อมชูนิ้วกลางใส่ผู้ประท้วงที่ต่อต้านความหลากหลายทางเพศอย่างสนุกสนาน จากการสำรวจบนโซเชียลมีเดียแล้ว คอมเมนต์ส่วนใหญ่นั้นเป็นไปในเชิงบวกมากกว่า พูดได้ว่าหลายๆ คนสนับสนุนการกระทำของทั้งสามคนด้วยความสะใจที่โฮโมโฟบถูกโต้ตอบเสียบ้าง แม้จะมีผู้คนบางส่วนวิจารณ์ว่าก้าวร้าว แต่ก็ไม่ได้บอกว่ากลุ่มผู้ประท้วงนั้นทำถูกต้องเช่นกัน

เมื่อตัดภาพมาทางประเทศแถบเอเชียตะวันออก สถานการณ์นั้นทำให้ยากที่จะปักใจเชื่อว่าเราอยู่ในยุคสมัยเดียวกัน โดยเฉพาะประเทศจีนที่กฎการเซนเซอร์สื่อบันเทิงมีความเข้มงวดสูง และความรักโรแมนติกระหว่างเพศเดียวกันถือเป็นเรื่องต้องห้าม จะอนุญาตก็เพียงแต่ ‘มิตรภาพลูกผู้ชาย’ ที่ชายหนุ่มสามารถแสดงความรักต่อกันได้ในรูปแบบ ‘ชายแท้แมนทั้งแท่ง’ เราจึงได้แต่พยักหน้าและลงความเห็นว่า เกาหลีใต้ไม่มีเกย์ฉันใด จีนก็ไม่มีซีรีส์วายฉันนั้น

Photo Credit: IMDb

หนึ่งในตัวอย่างที่โด่งดังก็คือ ‘ปรมาจารย์ลัทธิมาร’ (The Untamed) ซีรีส์จีนแนวแฟนตาซีย้อนยุคดัดแปลงจากนิยายของ ‘โม่เซียงถงซิ่ว’ (Mò Xiāng Tóng Xiù) หากเทียบระหว่างเนื้อหาของซีรีส์และนิยายนั้น เรียกได้ว่าแตกต่างกัน โดยที่เส้นเรื่องของซีรีส์ยังคงเหมือนกับนิยายต้นฉบับ แต่ความสัมพันธ์ระหว่างสองตัวละครหลักถูกบิดให้ดูเหมือนไม่มีอะไรในกอไผ่ เป็นเพียงเพื่อนที่สนิทสนมกันมากๆ จนชวนให้จิ้นเพียงเท่านั้น ขณะที่นิยายตอนพิเศษได้มีการบรรยายถึงฉากอัศจรรย์อย่างชัดเจน ซึ่งทางการจีนไม่นิ่งเฉย นิยายเรื่องนี้ถูกเว็บไซต์จิ้นเจียงเหวินเสวียเฉิง (jjwxc.net) ปิดกั้นเนื้อหา จึงต้องมีการปรับให้ ‘เหมาะสม’ ถูกต้องตามกฎหมายต่อไป และเมื่อปี 2019 โม่ก็ได้หายตัวไปโดยไม่มีการอัปเดตข่าวสารอันใดเป็นเวลา 2 ปี เป็นที่ร่ำลือกันในหมู่แฟนคลับนิยายว่าเธออาจจะถูกจำคุก หรือถูกสั่งไม่ให้เขียนนิยายชายรักชายสักพักก็เป็นได้

หากโม่เคยต้องเข้าคุกด้วยสาเหตุนี้ มันก็ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่สำหรับประเทศจีน นั่นก็เพราะในปี 2018 นักเขียนนิยายวายเรื่อง ‘กงจ้าน’ (Gōng Zhàn) นามสมมติ ‘หลิว’ (Liu) ถูกจับกุมและตัดสินจำคุกเป็นเวลา 10 ปีด้วยข้อหา “บรรยายฉากลามกอนาจารของชายและหญิงรักร่วมเพศ มีความรุนแรง หยาบคาย ไปจนถึงพฤติกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับกามวิปริต” ทำให้นิยายเรื่องอื่นที่มีการบรรยายในลักษณะคล้ายกันจำต้องหลีกหนีจากการสอดส่องของรัฐบาลจีนด้วยการลงไปอยู่ในเว็บไซต์ใต้ดิน และหากเป็นม่านฮวา (การ์ตูน/มังงะในภาษาจีน) ฉากเซ็กซ์นั้นจะต้องดาวน์โหลดกันอย่างลับๆ โดยที่ท่อนล่างของตัวละครจะถูกเซนเซอร์ทั้งหมด เหลือให้เห็นเพียงแค่สีหน้าและท่าทาง คล้ายกับมังงะวายญี่ปุ่นยุคบุกเบิกที่ยังไม่สามารถเปิดเผยกันมากนัก

เพราะฉะนั้น ไม่ต้องพูดถึงการที่ผู้แต่งหรือนักแสดงจะออกมาเรียกร้องเพื่อสิทธิของ LGBTQ+ เลย เพราะผู้แต่งเพียงเขียนถึงมิตรภาพลูกผู้ชาย และนักแสดงก็แค่รับบทเพื่อนรักในละคร ไม่สามารถทำอะไรไปได้มากกว่านี้ ภายในประเทศที่แม้แต่ผู้ชายลักษณะอ่อนหวานก็ยังถูกหลีกเลี่ยงไม่ให้ปรากฎบนสื่อบันเทิง และความรักระหว่างเพศเดียวกันยังถูกกองเซนเซอร์ของรัฐบาลจับตามอง

สำหรับประเทศญี่ปุ่น และเกาหลีนั้นถือว่าสถานการณ์คล้ายกันอยู่มาก เนื่องจากทั้งสองประเทศกำลังอยู่ในช่วงบุกตลาด BL (Boys Love) หลังจากที่ซีรีส์วายสัญชาติไทยอย่าง ‘พี่ว้ากตัวร้ายกับนายปีหนึ่ง’ (SOTUS The Series) และ ‘เพราะเราคู่กัน’ (2gether) ได้สร้างชื่อเสียงเอาไว้ ในเมื่อมีผู้เสพก็ต้องมีผู้ผลิต ซีรีส์วายญี่ปุ่น และเกาหลีจึงได้ถูกสร้างขึ้นมาเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะดัดแปลงมาจากมังงะ เว็บตูน นิยาย หรือเป็นออริจินัล ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างสูงสำหรับซีรีส์ทำเงินอย่าง ‘Where Your Eyes Linger’ ของประเทศเกาหลี และ ‘Cherry Magic! Thirty Years of Virginity Can Make You a Wizard?!’ ของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งกำลังจะมีเวอร์ชั่นไทยในเร็วๆ นี้

อย่างไรก็ตาม การเหยียดเพศในทั้งสองประเทศนี้ยังคงเข้มข้นและรุนแรง สำหรับเกาหลีใต้ เป็นอันรู้กันดีว่าการชุมนุมต่อต้านเพศหลากหลายถูกจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยกลุ่มคนเคร่งศาสนา แต่นั่นก็ไม่น่าเป็นห่วงเท่ากับทัศนคติของผู้คนในสภา เช่น ‘โอ เซฮุน’ (Oh Se-Hoon) นายกเทศมนตรีคนปัจจุบันของกรุงโซลเคยกล่าวถึงงาน Pride ปี 2021 ว่าเป็น ‘สิ่งไม่พึงประสงค์’ และเปิดเผยอย่างชัดเจนว่าตนต่อต้านคนรักร่วมเพศ ไม่เพียงเท่านั้น ‘ฮง จุนพโย’ (Hong Joon-Pyo) นายกเทศมนตรีของแดกูเองก็เคยพูดคล้ายกันถึงงาน Pride ในจังหวัดที่ดูแลว่ามันจะปลูกฝังความเชื่อผิดๆ ให้กับเด็ก และตนก็รู้สึก ‘รังเกียจ’

ในประเทศญี่ปุ่นเมื่อเดือนที่ผ่านมาก็เพิ่งมีข่าวน่าสลดใจ เมื่อ ‘ริวเจรุ’ (Ryuchell) หรือ ‘ริวจิ ฮิงะ’ (Ryuji Higa) พิธีกรชื่อดังได้เสียชีวิตลง แม้จะไม่มีการยืนยันถึงสาเหตุการตาย และริวเจรุก็ไม่เคยพูดว่าอัตลักษณ์ทางเพศของตนคืออะไร แต่ในช่วงที่เขาหย่าร้างกับภรรยา ‘เปโกะ’ (Peco) และเริ่มแต่งตัวคล้ายผู้หญิงมากขึ้น ริวเจรุถูกกลั่นแกล้งทางอินเทอร์เน็ตอย่างหนักหน่วงด้วยคำพูดอันเหยียดหยาม คล้ายกับที่คนมีชื่อเสียงชาวญี่ปุ่นคนอื่นๆ ต้องรับมือเมื่อ Come Out ให้ผู้คนได้รับรู้ทั่วกัน

กระแสการต่อต้านเพศหลากหลายในสังคมเกาหลีและญี่ปุ่นจะยังคงไม่หายไปในเร็วๆ นี้ ด้วยทัศนคติกับความเชื่อชุดเก่าที่ยังไม่ถูกลบล้าง แต่ที่น่าตกใจก็คือ แม้กระทั่งกลุ่มคนที่ชื่นชอบ BL เองก็อาจจะไม่ได้สนับสนุน LGBTQ+ ด้วยชุดความคิดที่ว่าแฟนตาซีกับความเป็นจริงแยกออกจากกัน และตนก็สนใจเฉพาะภาพมายาของชายหนุ่มหน้าตาดีที่ตกอยู่ในห้วงความรัก ทำให้เสียงสนับสนุนยังคงแผ่วเบา นักแสดงซีรีส์วายเหล่านั้นก็นิ่งเงียบเพื่อปกป้องตัวเองจากคำวิจารณ์ไปตามระเบียบ

พออ่านมาถึงตรงนี้แล้ว คุณอาจจะคิดว่า “แล้วประเทศไทยล่ะ?” – ประเทศไทย ประเทศที่ส่งออกซีรีส์วายเป็นอันดับต้นๆ ของโลกจนถูกเอ่ยถึงว่าอาจเทียบเคียงได้กับกระแสไอดอล K-Pop และประเทศเดียวกันนี้เองที่ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมยังคงถูกแช่แข็ง เมื่อลองนึกถึงการเติบโตของมันในตลาดสื่อบันเทิงระดับ Global แล้วนำมาเทียบกับสภาพความเป็นจริงของคอมมูนิตี้ LGBTQ+ ก็ถือว่าสวนทางกันจนน่าใจหาย

สังคมไทยในสายตาชาวต่างชาติถูกมองว่ายอมรับ LGBTQ+ มาเป็นเวลานานแล้ว แต่กลับไม่ใช่อย่างนั้นเลย คำอธิบายที่ใกล้เคียงที่สุดคงจะเป็นการ ‘ยอมรับเป็นหย่อมๆ’ เสียมากกว่า ไม่ว่าจะเกย์ กะเทย เลสเบี้ยน ทอม หรือเพศอะไรก็ตาม มักจะถูกยอมรับก็ต่อเมื่อมีเงื่อนไขอะไรบางอย่าง อาจจะเป็นหน้าตาที่ตรงกับมาตรฐานความงาม สถานะทางสังคม สกิลการชงมุกตลก หรือจริตที่เฟียส ทำให้กลุ่มคนผู้ไม่ตรงต่อความคาดหวังเหล่านั้นถูกผลักออกไป ยิ่งซีรีส์วายหยิบเอาสเตรทเข้ามาฉายภาพเกย์ผู้เพียบพร้อม โดยเฉพาะในด้านของรูปลักษณ์ ความคาดหวังที่มีต่อเพศหลากหลายในชีวิตจริงก็ยิ่งสูง ไหนจะมีการนำเสนออัตลักษณ์ทางเพศที่ไม่สมจริงและสร้างความเข้าใจผิด แต่อย่างน้อยที่สุด สิ่งหนึ่งที่นักแสดงซีรีส์วายไทยสามารถทำได้โดยไม่เดือดร้อนและเป็นประโยชน์ คือการเป็นกระบอกเสียงให้แก่คนในคอมมูนิตี้

ช่วงที่มีนักแสดงซีรีส์วายออกมาผลักดันความเสมอภาคทางเพศมากที่สุด เห็นจะเป็นปี 2020 ที่พรรคก้าวไกลเสนอการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการสมรสของคู่รักเพศเดียวกัน เกิดเป็นแฮชแท็ก #สมรสเท่าเทียม ซึ่งถูกกล่าวถึงจนติดอันดับท็อปของหลายๆ โซเชียลมีเดียในระยะเวลาอันสั้น ทำให้เหล่านักแสดงซีรีส์วายจำนวนหนึ่งอย่าง มิกซ์ – สหภาพ วงศ์ราษฎร์, วอร์ – วนรัตน์ รัศมีรัตน์, วิน – เมธวิน โอภาสเอี่ยมขจร, กัน – อรรถพันธ์ พูลสวัสดิ์, เต – ตะวัน วิหครัตน์ และอีกมากมายออกมาโพสต์ติดแท็ก แสดงความเห็นของตนเอง หรือแชร์อินโฟกราฟิกเพื่อกระจายข้อมูลต่อในวงกว้าง ซึ่งมีทั้งคนที่ออกมาพูดด้วยตนเอง และคนที่ถูกแฟนคลับเรียกร้องให้พูดจึงจะลงมือโพสต์

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าในปัจจุบัน การเรียกร้องเพื่อให้สิทธิกระจายถึงผู้มีความหลากหลายทางเพศยังไม่ใช่สิ่งที่นักแสดงซีรีส์วายไทยทุกคนทำ ทั้งที่พวกเขาทำได้โดยไม่ต้องสูญเสียอะไรเลย แถมยังมีแฟนคลับคอยชื่นชม คนทั่วไปอย่างเราๆ จึงยังไม่สามารถเข้าใจได้ว่า ทำไมถึงไม่ ‘บาร์สูง’ เหมือนกับนักแสดงฝั่งตะวันตก แต่ยังคง ‘บาร์ต่ำ’ ราวกับอยู่ในประเทศที่ถ้าเปิดปากพูดแล้วจะมีปัญหาตามมาเสียอย่างนั้น

อ้างอิง

Britannica
NPR

BBC

Anime News Network

Nikkei Asia

The Asahi Shimbun

MGR Online