Culture

ที่ไหนชายเป็นใหญ่ ที่นั่นมีความรุนแรง?: ทำไม BL อันดับท็อปถึงมักจะมีความรุนแรงในความสัมพันธ์

ย้อนเวลากลับไปเมื่อ 10 กว่าปีก่อน ที่สื่อประเภท BL (Boys Love) หรือวาย (Yaoi) เป็นที่รู้จักใหม่ๆ จนถึงยุคสมัยปัจจุบันที่มันได้กลายเป็น Genre ของสื่อที่ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลาย และมีการซื้อขายกันอย่างโจ่งแจ้ง แน่นอนว่าทิศทางของการผลิตสื่อ BL ก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาและกระแสนิยม แต่สิ่งหนึ่งที่ยังคงหยุดนิ่งอยู่กับที่ก็คือภาพการใช้ความรุนแรง ไม่ว่าจะทางร่างกาย จิตใจ หรือทางเพศ

Jinx / Painter of the Night

ความรุนแรงในความสัมพันธ์แบบคู่รัก (Dating Violence) ยังคงเป็นสิ่งที่ติดพันอยู่กับสื่อ BL อย่างเหนียวแน่น ไม่ว่าจะมีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสมอย่างไรก็ตาม การ์ตูนหรือซีรีส์ที่มีฉากการใช้ความรุนแรง โดยเฉพาะพล็อตที่นายเอก (ตัวเอกฝ่ายรับ) ถูกกระทำอย่างหนัก – ทั้งแบบที่กระทำโดยพระเอก (ตัวเอกฝ่ายรุก) หรือตัวละครอื่น – ผลงานประเภทนี้ก็ยังคงติดอันดับยอดฮิตอยู่เสมอ โดยอย่างยิ่งมันฮวาจากประเทศเกาหลี เช่น Jinx, Painter of the Night, Legs That Won’t Walk, Killing Stalking ฯลฯ หรือมังงะ/ซีรีส์ญี่ปุ่น เช่น Caste Heaven, Double Mints, Dangerous Drugs of Sex, My Beautiful Man ฯลฯ ทั้งหมดนี้คือ BL ชื่อดังที่มีผู้ติดตามทั่วโลก และอัดแน่นไปด้วยภาพความรุนแรงที่ผ่านการ Romanticize ให้ม่านหมอกของความรักบดบังพฤติกรรมชั่วร้าย ในชนิดที่ถ้าหากเกิดขึ้นในโลกแห่งความเป็นจริง เหล่าผู้กระทำคงต้องเดินต่อแถวเข้าชดใช้ความผิดในเรือนจำกันเป็นปีๆ

ว่าแต่ทำไมสื่อที่มีปัญหาถึงได้รับความนิยมและมีการผลิตซ้ำมากขนาดนี้?

เป็นที่สังเกตว่า ยิ่งประเทศไหนมีแนวคิดปิตาธิปไตยอย่างเข้มข้น ประเทศนั้นก็จะยิ่งผลิตสื่อชายรักชายที่มีฉากความรุนแรงมากขึ้น และจำนวนผู้เสพมันก็จะพุ่งขึ้นสูงตามไปด้วย อย่างเช่นในประเทศเกาหลีที่มีการล่าเฟมินิสต์ ไม่ว่าจะด้วยการทำเว็บไซต์รวบรวมรายชื่อศิลปินดาราที่อาจจะเป็นเฟมินิสต์ ใช้ปืนฉีดน้ำไล่ยิงใส่ผู้หญิงผมสั้น (เพราะการไว้ผมสั้นของผู้หญิงอาจหมายถึงการเป็นเฟมินิสต์) รวมถึงมีการตั้งขบวนการต่อต้านเฟมินิสต์อย่างจริงจัง ในขณะเดียวกัน ประเทศญี่ปุ่นไม่มีการต่อต้านความเท่าเทียมทางเพศให้เห็นเป็นกิจจะลักษณะ แต่แนวคิดชายเป็นใหญ่ก็ยังคงฝังรากลึกจนยากที่จะต่อต้าน เป็นที่รู้กันดีว่าคำบางคำ อาหารบางอย่าง งานบางประเภทนั้นยังเป็นของเฉพาะผู้ชาย หากเหล่าหญิงสาวแหกขนบไปทำตัวอย่างชายก็จะถูกวิจารณ์จากคนรอบข้างเอาได้ และอื่นๆ อีกมากที่ไม่สามารถยกมาเป็นตัวอย่างได้ทั้งหมด – ไม่อย่างนั้น บทความนี้ก็คงยาวเป็นร้อยหน้าเลยทีเดียว

Photo Credit: Roojai.com

บางคนอาจจะตั้งคำถามขึ้นมาว่า “เราจะโทษสังคมชายเป็นใหญ่กันอีกแล้วเหรอ?” แต่มันคงยากที่จะปฏิเสธว่า หลายต่อหลายครั้ง แนวคิดชายเป็นใหญ่ก็มักมาคู่กับความรุนแรง เพียงแค่จับคู่คำว่า 'ทำร้าย' กับ 'เพศ' และเสิร์ชบน Google ผลที่ขึ้นมาบนหน้าแรกก็มีคำว่า 'ผู้หญิง' ซึ่งเป็นผู้ถูกกระทำเสียส่วนใหญ่ อย่างที่เราเห็นได้ในข่าวแทบทุกวัน ทั้งเรื่องการข่มขืน พ่อลวนลามลูกสาว สามีฆ่าหรือทำร้ายภรรยาด้วยความหึงหวง หรือข่าวน่าสลดใจครั้งใหญ่อย่างการกราดยิงในห้าง Siam Paragon ที่ผ่านมา ที่คนร้ายเลือกเริ่มจากการยิงในห้องน้ำหญิง เหยื่อ 6 ใน 7 เองก็เป็นผู้หญิง ต้องยอมรับว่าเราทุกคนได้รับข่าวสารเช่นนี้เป็นประจำ โดยที่ความถี่ของมันไม่ได้ลดน้อยลงเลยแม้แต่นิดเดียว นั่นก็เพราะผู้หญิงมักมีอำนาจเป็นรอง และถูกมองว่าเป็นเพศที่อ่อนแอ จึงตกเป็นเหยื่อได้ง่ายกว่า

ถ้าหากถามต่อว่า ความรุนแรงที่ผู้หญิงเจอในโลกความเป็นจริงกับความรุนแรงใน BL เกี่ยวข้องกันอย่างไร และทำไมประเภทที่นำเสนอความรุนแรงยังขายดีเทน้ำเทท่า เราคงต้องเริ่มต้นกันตรงที่ว่า ผู้เขียนและผู้เสพ BL ส่วนมากเป็นผู้หญิง ผลผลิตที่ออกมาจึงเป็นงานที่สร้างขึ้นเพื่อให้ผู้หญิงกันเองได้ดำดิ่งและจินตนาการถึง ‘ความสัมพันธ์ที่ไม่มีเพศของตนอยู่ในสมการ’

โดยพื้นฐาน BL คือสื่อที่มีเส้นเรื่องหลักเป็นความรักโรแมนติกระหว่างผู้ชายสองคน ซึ่งไม่มีผู้หญิงเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้น มันจึงก่อให้เกิดความสบายใจในจิตใต้สำนึก เพราะเพศของตนจะไม่เสี่ยงต่อการถูกทำร้ายหรือข่มขู่ใดๆ หรืออย่างน้อยผู้ที่ถูกกระทำก็ไม่ได้มีเพศเดียวกันกับตน พูดง่ายๆ คือ เมื่อเสพสื่อ BL นักอ่านหรือผู้ชมก็จะเป็นเพียงแค่ ‘ผู้สังเกตการณ์’ ที่อาจมีความเห็นอกเห็นใจต่อตัวละครพอสมควร แต่ไม่ใช่ ‘ผู้รู้สึกร่วม’ เพราะตนไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรง ยิ่งเนื้อเรื่องและตัวละครเป็นสิ่งสมมติ ความรู้สึกผิดหรือรู้สึกเสียใจกับตัวละครที่ถูกกระทำก็ลดน้อยลง

Photo Credit: Fictionlog

จริงที่ว่า หลายๆ ครั้ง ผู้แต่งและผู้เสพ BL ก็ฉายภาพ (Projecting) การเป็นผู้หญิงทับลงไปในตัวละครที่เป็นฝ่ายรับ โดยจะพบมากในสื่อที่มีพล็อตแนว Mpreg (เอ็มเพรก: ผู้ชายสามารถท้องได้) หรือ Omegaverse (โอเมก้าเวิร์ส: แฟนตาซีที่สังคมมีลำดับชั้นอันแบ่งโดยเพศรอง ซึ่งชนชั้นโอเมก้าสามารถตั้งท้องได้ ไม่ว่าจะมีเพศหลักเป็นอะไรก็ตาม) ทำให้นักอ่านหรือผู้ชมที่เป็นเพศหญิงสามารถเข้าถึงหัวอกของตัวละครนั้นได้มากกว่า ซึ่งถ้าหากพระเอกมีนิสัยก้าวร้าวหรือนอกใจ เหล่าสาววายก็มักจะเชียร์ให้ตัวละครที่สามารถตั้งครรภ์ได้หอบท้องหนี หรือพาลูกหนี ให้พระเอกกลายเป็น 'หมาโบ้' ที่เพิ่งมารู้คุณค่าของคนรักในวันที่สูญเสียไป กรณีนี้จึงจะค่อนข้างต่างจากที่ได้อธิบายไปตอนแรก เพราะผู้เสพส่วนใหญ่มีอารมณ์ร่วมมาก ด้วยเงื่อนไขทางร่างกายที่มีความคล้ายกัน สถานะทางเพศที่ใกล้เคียงกัน แถมยังได้ความสะใจที่สุดท้ายพระเอกก็ต้องซมซานมาซบอกนายเอกอยู่ดี เหมือนกับได้แก้แค้นผู้ชายร้ายๆ ไปในตัว สังเกตได้ความคิดเห็นในแฮชแท็กของสื่อนั้นๆ ทุกครั้งที่มีการอัปเดตตอนล่าสุด ซึ่งมักจะอยู่ในลักษณะของการอยากให้นายเอกเลิกกับพระเอก และในขณะเดียวกันก็คาดหวังว่า “ไอ้หมอนั่นจะต้องกลายเป็นหมาโบ้และคลานมากราบแทบเท้าลูกฉันเท่านั้น”

Photo Credit: Yaoi Ships

หนึ่งในตัวอย่างที่โด่งดังมากจนขึ้นหิ้งเว็บตูนติดอันดับท็อป 1 ประจำแพลตฟอร์ม Lezhin ของประเทศเกาหลี และเพิ่งจะเผยแพร่ตอนจบไปเมื่อไม่นานมานี้ ‘Painter of the Night’ ผู้อ่านทุกคน (หรือกระทั่งผู้ที่ไม่อ่าน แต่รู้จักดี) ต่างก็ทราบว่า พระเอก ‘ยุน ซึงโฮ’ ได้กระทำผิดต่อนายเอก ‘แพค นาคยอม’ เอาไว้มากมายตั้งแต่ตอนแรกๆ ไม่ว่าจะเป็นการกักขังหน่วงเหนี่ยว บังคับขู่เข็ญ ล่วงเกินทางเพศ ข่มขืน ทำร้ายทั้งทางร่างกายและจิตใจ แต่สุดท้ายแล้ว ด้วยอุปสรรคต่างๆ ที่ทั้งคู่ต้องฝ่าฟันไปด้วยกัน และการทำดีที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้นทีละเล็กละน้อยของซึงโฮก็ทำให้ทั้งสองคนลงเอยกันในตอนจบ ท่ามกลางความยินดีของแฟนเว็บตูนที่ติดตามเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้น แม้ก่อนหน้านี้ซึงโฮจะถูกก่นด่าเอาไว้มากมาย ทั้งแบบที่จริงจังและไม่จริงจัง เราจึงสามารถพูดได้ว่า แฟนๆ ส่วนมากจะสามารถให้อภัยตัวละครที่กระทำผิดได้ หากมีการกลับตัวกลับใจ กลายเป็นลูกเขยที่ดีของเหล่าแม่ยายได้ในที่สุด

ตัวอย่างที่ยกมานี้มีความคล้ายคลึงกับแฟนด้อมของการ์ตูนและซีรีส์ BL เรื่องอื่นๆ ด้วย มันสะท้อนให้เห็นว่า การที่สุดท้ายแล้วผู้กระทำ (หรือก็คือพระเอก) กลับมาง้อและทำตัวดีกับผู้ถูกกระทำ มันก็เหมือนเป็นการพิสูจน์กลายๆ ว่า แม้แต่คนที่เคยทำเรื่องเลวร้ายอย่างสาหัสก็สามารถกลับใจและรู้สึกผิดได้ ทำให้ผู้อ่านไม่รู้สึกว่าหมดหวังเสียทีเดียว เพราะในเมื่อตัวละครนั้นสามารถ 'แก้ไขตนเอง' ให้กลายเป็นคนที่ดีขึ้นได้ เราก็จะเชื่อตามได้ว่า ไม่มีใครบนโลกนี้ที่ชั่วร้ายไปตลอด – แม้ไม่ใช่ทุกคนที่จะทำได้ แต่การที่ตัวละครสมมติมีความสำนึกในท้ายที่สุดก็สร้างความโล่งใจสำหรับผู้อ่านบางกลุ่มได้ไม่น้อยเลย

จากที่ได้อธิบายมาทั้งหมดนี้ ผู้เขียนไม่ได้มีเจตนาจะสื่อว่าการผลิตหรือสนับสนุนผลงานชายรักชายที่มีความรุนแรงนั้นมีความชอบธรรม เนื่องจากมันมีปัญหาไม่ต่างจากละครแนวตบจูบยุคเก่า และยังมีผลกระทบต่อภาพจำของ LGBTQ+ ในโลกแห่งความเป็นจริงอีกด้วย เพียงแค่เทรนด์ความนิยมของสื่อชนิดนี้สามารถอธิบายด้วยหลักการได้ จึงได้หยิบยกมาให้เห็นถึงแง่มุมหนึ่ง ทั้งนี้ทั้งนั้น เราก็คาดหวังว่าวงการสื่อชายรักชายทั้งในไทยและต่างประเทศจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดี และไม่ใช้ความรักลดทอนความรุนแรงในความสัมพันธ์อีกต่อไป