Culture

บุฟเฟ่ต์ชาบู หมูกระทะอิ่มใจแต่สร้าง ‘ขยะอาหาร’ จำนวนมหาศาลในไทย ทานต่อหรือเลิกทาน ปัญหานี้ต้องแก้ที่ไหน จบที่ผู้บริโภค ร้านหรือต้องแก้โครงสร้าง

ชาบู บุฟเฟ่ต์ หมูกระทะ คือเทรนด์การกินที่กำลังเติบโตเป็นอย่างมากตั้งแต่ปี 2004 ถึงปัจจุบันที่วัดได้จากยอดคำค้นหาใน Google Search ที่เพิ่มมากขึ้นและเราสามารถเห็นร้านอาหารบุฟเฟ่ต์ได้เยอะขึ้นแทบทั่วประเทศไทย ไม่ว่าจะไปที่ไหนก็สามารถหาร้านเหล่านี้ทานได้ง่ายๆ ทำให้มันกลายเป็นเทรนด์การบริโภคอาหารที่คนไทยชินกันไปแล้วเพราะไม่ว่าจะโอกาสอะไรคนไทยก็มักไปจบที่ชาบู หมูกระทะ ออกงานและวัยรุ่นไทยก็จะชอบใช้วลีปลอบใจว่า หมูกระทะจะเยียวยาเราได้ดีที่สุดแต่หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่าแม้หมูกระทะ ชาบูจะฮีลใจคนแต่มันกำลังสร้างวิกฤติปัญหาขยะอาหารเหลือทิ้งที่ทำลายสิ่งแวดล้อมและชีวิตเราโดยที่เราไม่รู้ตัว ในบทความนี้เราอยากจะพาทุกคนไปสำรวจกันว่าบุฟเฟ่ต์ชาบูมันสร้างขยะอาหารอย่างไรบ้าง ควรเลิกกินหรือไปต่อ ทำไมเราต้องแคร์เรื่องปัญหาขยะอาหาร ประเทศไทยกำลังทำอะไรอยู่และเราทำอะไรได้บ้างเพื่อช่วยลดวิกฤติอาหารขยะในไทย

Photo Credit: Just Food

อาหารขยะมีผลต่อภาวะโลกร้อนที่ทำให้ในอนาคตเราจะผลิตอาหารได้ยากขึ้น

ปัญหาอาหารเหลือทิ้งเป็นปัญหาใหญ่ เพราะปริมาณครึ่งหนึ่งของขยะทั่วประเทศคือ ขยะจากอาหารเหลือทิ้งที่มีมากถึง 17 ล้านตันในปี 2022 อาหารขยะเหล่านี้ยังเป็นสาเหตุก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกถึง 6.7% และประเทศไทยสามารถถูกจัดอันดับที่ 3 ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดของโลกรองมาจาก สหรัฐอเมริกา และประเทศจีน ขยะอาหารไม่ใช่ปัญหาที่เกิดขึ้นแต่เพียงในห้องขยะ แต่มันกำลังส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของพวกเราที่ใช้ชีวิตในเมืองและอนาคตของทุกคน เพราะว่ายิ่งสภาพอากาศมีการเปลี่ยนแปลงยิ่งทำให้ในอนาคตอุตสาหกรรมผลิตอาหารจะต้องปรับเปลี่ยนเป็นอย่างมาก ทรัพยากรอาหารจะหายากขึ้นในอนาคตเนื่องจากการเพาะปลูกที่ยากขึ้นที่มาจากผลภาวะโลกร้อนด้วย

Photo Credit: Ryoii

ธุรกิจอาหารแบบบุฟเฟต์ ห่วงโซ่วิกฤติการกิน คนกินอยากกินเยอะให้คุ้ม ร้านต้องเตรียมเยอะ เหลือขยะอาหารเยอะจากการเตรียมอาหารเยอะเกินทุกครั้ง

สองสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดปัญหาอาหารขยะเหลือทิ้งเยอะในไทยคือ ผู้ผลิตเตรียมอาหารมากจนเกินไป (Overprepare) ที่ทำให้เกิดปัญหาอาหารเหลือทิ้งจำนวนมาก โดยเฉพาะในธุรกิจอาหารบุฟเฟ่ต์ที่จำเป็นจะต้องเตรียมอาหารเผื่อไว้เยอะเพื่อรองรับลูกค้าที่ต้องอาศัยความเสี่ยงในการจัดการอาหารสูง ยิ่งมีร้านเหล่านี้มากขึ้นปัญหาอาหารขยะเหลือทิ้งก็จะเพิ่มขึ้นอย่างเลี่ยงได้ยาก

ปัจจัยที่สองคือผู้บริโภคที่ต้องการจะซื้ออาหารตุนให้มากที่สุด อาหารเหลือที่ทานไม่ทันก่อนวันหมดอายุ การไปทานบุฟเฟ่ต์ที่หวังจะคุ้มให้สุดด้วยการตักมาให้เยอะแต่ทานไม่หมด

ร้านและผู้บริโภคต้องปรับตัวยังไงกันบ้างเพื่อช่วยลดวิกฤติอาหารขยะในไทย

แต่เราจะมองเพียงแค่ให้ร้านอาหารปรับตัวและเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคอย่างเดียวก็คงจะไม่เพียงพอที่จะช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้ ถ้าทุกอย่างมันจบด้วยทางออกว่าก็ขอให้คนกินเปลี่ยนพฤติกรรมสิ ขอให้ร้านอาหารทำอาหารให้เพียงพอ สร้างจานให้เล็กลงเพื่อทำให้คนทานน้อยลง การจัดทำระบบสต๊อกวัตถุดิบให้ดี อบรมพนักงานให้คำนึงถึงเรื่องขยะอาหารเหลือ สร้างกฎข้อตกลงระหว่างผู้บริโภค ปรับเงินถ้าทานเหลือหรือเตรียมอาหารให้เพียงพอ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่หลายร้านกำลังทำอยู่แล้วเพื่อช่วยลดวิกฤติแต่ท้ายที่สุดการจะผลักภาระว่าให้ทุกคนแก้ไขที่ปลายเหตุ ปรับตัวเอง ปรับพฤติกรรมมันไม่ใช่ทางออกที่ยั่งยืน พวกเราอาจจะต้องมองย้อนกลับไปที่ต้นสายห่วงโซ่อาหารของปัญหามากขึ้นด้วยตั้งแต่การเริ่มซื้ออาหาร การผลิตอาหาร การดูแลอาหารให้อยู่นานที่สุด การหาทางนำอาหารเหลือไปทำประโยชน์ต่อและแยกขยะให้ถูกต้อง

Photo Credit: Thai Packaging Newsletter

ประเทศไทยกำลังทำอะไรบ้างเพื่อลดวิกฤติขยะอาหาร

มาดูกันต่อว่าข้อเสนอทางออกที่ยั่งยืนที่ถูกเสนอในเดือนมิถุนายน เดือนสิ่งแวดล้อมโดยอาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (SCI-TU) ‘ดร.รชา เทพษร’ ที่เขาได้กล่าวถึงแนวทางสำหรับการกำจัด ‘ขยะอาหาร’ 4 ข้อสำคัญนั้นมีดังนี้

“1. ลดความยาวของห่วงโซ่อาหารเริ่มจากการตั้งกฎเหล็กของการซื้ออาหาร สร้างวินัยการซื้ออาหารใหม่ให้ผู้บริโภค ซื้อทานตามที่จำเป็น สนับสนุนให้คนไม่ตกเป็นทาสการตลาดอย่างการซื้อเพื่ออย่างโปรโมชั่นซื้อหนึ่งแถมหนึ่งที่ท้ายที่สุดก็อาจจะบริโภคไม่หมด 2. แปรรูปอาหารเพื่อยืดอายุอาหารอย่างการอบแห้ง หมักดอง 3. การนำขยะอาหารไปใช้ให้เกิดมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างการไปทำก๊าซชีวภาพเพื่อให้ไม่เป็นภาระต่อสิ่งแวดล้อม 4. กำจัดอาหารให้ถูกวิธีที่ต้องไม่ใช่แค่จัดการขยะด้วยการฝังกลบ ทั้งสี่ข้อเสนอนี้คือสิ่งที่ทั้งผู้บริโภคและร้านอาหารสามารถนำไปปฏิบัติตามได้”

ถ้ามองในภาพใหญ่ขึ้นมาในเชิงโครงสร้างของประเทศไทย ในตอนนี้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกำลังจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะของประเทศ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2565-2570) ที่ได้บรรจุแนวทางการลดปริมาณขยะอาหาร การส่งเสริมการแบ่งปันอาหารส่วนเกิน และการให้ความรู้เพื่อลดการเกิดขยะอาหารในส่วนของผู้บริโภคและกระทรวงพาณิชย์เองก็มีนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการลดโอกาสการเกิดขยะอาหาร ทั้งต้นน้ำและกลางน้ำของห่วงโซ่อุปทานอาหาร เช่น นโยบายเกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด ใช้แนวคิดตลาดนำการผลิต เพื่อบริหารจัดการผลผลิตทางการเกษตรให้มีความสมดุลที่กำลังร่วมมือกับภาคธุรกิจเพื่อแก้ไขปัญหาจากต้นสายของห่วงโซ่ผลิตอาหารมากขึ้นอยู่แต่พวกเราก็ต้องรอติดตามว่าการวางแผนปฏิบัติการ นโยบายเหล่านั้นจะออกมาเป็นรูปธรรมอย่างไรบ้างและมันจะช่วยลดวิกฤติได้อย่างไร

Photo Credit: Food & Wine

ต่างประเทศทำอะไรกันบ้างเพื่อจัดการปัญหาขยะอาหาร

ในต่างประเทศขอยกตัวอย่างสองประเทศได้แก่ ‘ฝรั่งเศส’ และ ‘สิงคโปร์’ ที่มีกฎหมายการจัดการอาหารส่วนเกินจากกระบวนการการค้าปลีก มีมาตรการกฎหมายสร้างแรงจูงใจทางภาษี เช่น ลดภาษีถ้าผู้ผลิตสามารถลดปริมาณขยะอาหาร และสามารถควบคุมมาตรการความปลอดภัยอาหารบริจาคหรือการนำอาหารป้ายเหลืองไปแจกในชุมชนที่อยู่อาศัยในประเทศสิงคโปร์ ซึ่งช่วยให้ผู้คนเข้าถึงวัตถุดิบที่ตกมาตรฐานร้านค้าพรีเมียมหรือภัตตาคารหรู ซึ่งยังเป็นอาหารที่สะอาด ประกอบอาหารได้ และยังช่วยลดภาระของรัฐในการจัดการกับขยะอาหารด้วย

เราทำอะไรกันได้บ้างในฐานะผู้บริโภคเพื่อช่วยลดขยะอาหาร

สิ่งเล็กๆ ที่เราทำได้แต่สร้างผลกระทบที่ยิ่งใหญ่คือการเริ่มนำอาหารที่ซื้อไว้เกินมาคิดค้นเมนู ปรุงใหม่อย่างสร้างสรรค์ วิธีนี้ถูกเรียกว่า ‘ครีเอทีฟเมนู’ ที่เป็นแคมเปญในโลกออนไลน์ญี่ปุ่นที่ทุกคนมาแชร์การนำอาหารที่ซื้อมาแล้วทานไม่หมด อาหารที่ซื้อมาเกิน อาหารที่เหลือใกล้วันหมดอายุมาปรุงทานในเมนูใหม่  นอกจากนี้เรายังสามารถแยกขยะอาหารออกจากขยะประเภทอื่นแล้วนำมันไปใช้เป็นปุ๋ยให้กับต้นไม้อยู่ใกล้ตัวเราได้ด้วยสำหรับคนที่เลี้ยงต้นไม้ และอีกวิธีหนึ่งที่คิดว่าหลายๆ คนอาจจะยังไม่รู้จักก็คือเราอยากแนะนำให้ทุกคนได้รู้จักแพลตฟอร์มสั่งอาหารคุณภาพดีที่เหลือจากการขายหน้าร้านอาหาร โรงแรมและซูเปอร์มาร์เกตในราคาที่ถูกกว่าราคาจริงกว่า 50% จากแอปพลิเคชันไทยอย่าง Yindii หรือ Oho ที่เหมาะสำหรับผู้เริ่มต้นอยากเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยลดขยะอาหารที่ทำได้ง่ายๆ เพียงใช้บริการเหล่านี้สั่งอาหารเพื่อช่วยไม่ให้เกิดอาหารเหลือทิ้ง

Photo Credit: Hungry Hub

ท้ายที่สุดแล้วปัญหาหลายอย่างในวิกฤติขยะอาหารนั้นมีที่มาอันซับซ้อน และมันไม่ได้จำเป็นจะต้องจบด้วยการบอกให้ทุกคนเปลี่ยนพฤติกรรม เลิกทานบุฟเฟ่ต์ชาบูหรือร้านอาหารเหล่านี้ต้องมีน้อยลงแล้วจะแก้ไขปัญหาได้ การแก้ไขปัญหานี้คือความร่วมมือของทุกคนทุกภาคส่วนในสังคมที่ต้องค่อยๆ เปลี่ยนตั้งแต่โครงสร้างทางสังคม ห่วงโซ่การผลิตบริโภคอาหารและในช่วงเวลาที่โครงสร้างกำลังถูกปรับเปลี่ยนแก้ไขอยู่พวกเราสามารถเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค ปรับเปลี่ยนวิธีคิด มุมมองที่เรามีต่อการบริโภคอาหาร คำนึงถึงว่าปัญหาเรื่องขยะอาหารไม่ได้จบลงที่ห้องขยะหรือร้านอาหาร ปัญหาขยะอาหารกำลังส่งผลต่อโลกทั้งใบและอนาคตของพวกเราทุกคนด้วย

อ้างอิง

Work Point Today

Bangkokbiznews

Green Network Thailand

MRGOnline

Business Hungryhub