Call Me Nabet หรือ อาร์มี่ ธนเบศร์ ผู้ที่ลงมือสร้างโมเดลจิ๋วเสมือนจริงที่ได้รับกระแสตอบรับจากโซเชียลอย่างล้นหลาม นี่ถือเป็นผลงาน Masterpiece ชิ้นแรกที่ออกสู่สายตาประชาชน และทำให้คนได้เข้ามารู้จักกับ Call Me Nabet อย่างจริงจัง หลังจากที่ทนกระแสไม่ไหว Exotic Quixotic และทีมงานก็ไม่รีรอที่จะคว้าตัวมาพูดคุยกัน
“ชื่อจริงคือ…ธนเบศร์ครับ แต่กลัวว่ามันจะยาวเกินเลยตัดให้เหลือแค่ Nabet ไม่ได้คิดว่าเป็นชื่อวงการ แต่ตอนนี้เป็นก็ได้มั้งครับ (หัวเราะ)” Nabet เล่าให้ฟังว่าเริ่มจากเป็นคนชอบศิลปะ และสนใจงานอาร์ตทุกแขนงมาตั้งแต่เด็กพอได้ทำจึงรู้สึกว่ามีความสุข จนกระทั่งช่วงหนึ่งที่ดูงานของต่างประเทศไปเรื่อยๆ ก็คิดที่จะลองสร้างอะไรที่สามารถจับต้องได้ขึ้นมาสักชิ้น จึงเลือกทำโมเดลอย่างที่เราได้เห็นนั่นเอง
ตอนนั้นที่เราได้ฟังก็อดคิดไม่ได้เลยว่า Nabet จะมีโมเดลเป็นของสะสมเยอะขนาดไหน อาจจะสัก 1 ตู้ยักษ์ หรือ 2 ตู้ยักษ์หรือเปล่านะ เขาคงหลงใหลในโมเดลมาตั้งแต่เด็กแน่เลยล่ะสิ ถึงทำให้อยากเริ่มมีโมเดลเป็นของตัวเอง
“ไม่ได้เป็นมนุษย์ที่สะสมโมเดลครับ แต่แล้วก็มาชอบการทำโมเดลเอาเสียได้”
พอ Nabet ได้ตอบกลับ เรื่องราวก็ชักยิ่งน่าสนใจ “ผมเรียน 2D Traditional Animation ทุกอย่างถูกทำผ่านหน้าคอม แต่ผมชอบอะไรที่สามารถมองเห็นได้หลายมุม หลายมิติจึงเริ่มมาสร้างโมเดลอย่างทุกวันนี้ครับ”
ความตั้งใจของ Nabet ที่เลือกทำโมเดลขึ้นมา นอกจากความเสมือนจริงอย่างที่ทุกคนได้เห็นผ่านโมเดลจิ๋วของเขาแล้ว สิ่งหนึ่งที่สะท้อนมาจากการทำงานชิ้นนี้อย่างชัดเจนไม่แพ้กัน “ผมอยากให้มันสะท้อนวิถีชีวิต และเล่าเรื่องบางอย่างที่ทุกคนคุ้นเคย สิ่งใดที่เคยเกิดขึ้นกับคน เกิดขึ้นกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป มันถูกเล่าผ่านโมเดลออกมาหมดแล้วครับ” Nabet พูดถึงรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ให้เราฟังว่าเดิมทีนั้นเขาเป็นคนชอบนั่งรถแล้วมองข้างทางไปเรื่อยๆ มองว่าผู้คนใช้ชีวิตอย่างไร มองดูบ้านเรือน หรือสถาปัตยกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะไปที่ไหนก็ตาม สิ่งเหล่านี้มีความหมายกับเขามาก และ Nabet ให้นิยามวิถีชีวิตเหล่านี้ว่า “เสน่ห์”
“ผมหลงเสน่ห์ Old-School และชอบดูวิถีชีวิตของคน”
งานทั้งสองชิ้นที่ทำออกมาไม่ว่าจะเป็นโมเดลตู้โทรศัพท์สาธารณะ หรือโมเดลห้างทองที่ Nabet ได้สรรค์สร้างขึ้นมา ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่เราพบเห็นกันมาตั้งแต่ยังเด็ก จากที่เคยมีอยู่เกลื่อนกลาด ตอนนี้ก็เริ่มค่อยๆ น้อยลงทุกวันตามยุคสมัย “ผมมีหลายอย่างที่อยากถ่ายออกมาผ่านโมเดลมากมายเลยครับ อย่างรถพุ่มพวง รถขายกับข้าว ส่วนใหญ่เน้นทำงานสถาปัตฯภายนอกครับ แต่ตอนนี้ก็แอบคิดว่าอยากลองมีงานออกแบบสถาปัตฯภายในดูบ้าง ผมอยากลองทำโมเดลห้องนอนสักชิ้นที่เล่าเรื่องของความทรงจำวัยเด็ก เป็นห้องนอนที่มี Playstation 1 วางอยู่ หรือโปสเตอร์ศิลปินที่ชอบแปะตามตู้เสื้อผ้า” ตอนที่ Nabet เล่าผู้สัมภาษณ์ก็บอกตามตรงว่าอดคิดถึงสมัยเด็กๆ ไม่ได้เลย เหมือนเราได้กลับไปย้อนความทรงจำพร้อมกับ Nabet อีกครั้ง ได้แต่หวังว่างานชิ้นนี้จะรีบออกมาประจักษ์ให้เราเห็น และคงจะเป็นเครื่องกระตุ้นความทรงจำวัยเด็กของทุกคนได้อย่างยอดเยี่ยมเลย
มาถึงจุดหนึ่งที่ผู้สัมภาษณ์เองก็เริ่มสงสัยแล้วว่าทำไมต้อง Nabet เลือกสร้างโมเดลตู้โทรศัพท์สาธารณะ และโมเดลห้างทองกันแน่ หรือจริงๆแล้ว Nabet อาจมีจุดประสงค์อะไรที่มากกว่านั้น “คนไทยที่เริ่มทำโมเดลก็จะทำโมเดลบ้านโบราณ หรือแสดงความเป็นไทยบางอย่างออกมา ส่วนหนึ่งที่ผมอยากทำโมเดลในรูปแบบของผมขึ้นมา เพราะผมเติบโตและผูกพันกับ Urban Life ผมอินกับสิ่งที่เป็นความทรงจำในแบบ Old-School มันเกิดจากการที่ผมคุ้นเคยสิ่งเหล่านั้นและอินกับมันครับมันจึงเกิดเป็นโมเดลทั้งสองชิ้นนี้ขึ้นครับ”
หลังจากที่เราได้คุยกับ Nabet ก็พบว่าเขาเป็นชายหนุ่มที่ชอบมักจะพาเรากลับไปหวนระลึกอดีตได้อีกครั้งด้วยโมเดล ใครจะรู้ว่าวันหนึ่งตู้โทรศัพท์สาธารณะที่มีอยู่ทุกซอกทุกมุมวันหนึ่งจะหายไป จนแทบไม่เหลือให้เราเห็น หรือแม้แต่ห้างทองที่ปกติถูกขึ้นโครงด้วยเหล็กดัดแบบนั้น จะเหลือเพียงไม่กี่แห่ง อาจจะด้วยยุคสมัยหรือกาลเวลาที่แปรเปลี่ยน อย่างน้อยสิ่งเหล่านี้ก็ยังถูกบันทึกไว้ให้เราได้เห็นทุกซอกทุกมุมผ่านโมเดลเสมือนจริงชิ้นนี้
เราปิดฉากการคุยกับ Nabet ด้วยคำถามสุดท้ายก่อนจากลากัน แต่กลับเป็นคำพูดสุดซึ้งที่น่าประทับใจ หากวันหนึ่ง Nabet ต้องมอบโมเดลสักชิ้นหนึ่งของตัวเองให้ใครคนนั้นควรจะต้องเป็นคนอย่างไร “เขาจะต้องเป็นคนที่อินกับมัน ผูกพันกับมัน สามารถเข้าถึงงานชิ้นนั้น และสัมผัสมุมมองของผมได้ครับ”
“และสุดท้ายถ้าผมจะต้องเปรียบโมเดลเป็นของสิ่งหนึ่ง โมเดลเป็นเหมือนภาพถ่าย เป็นความทรงจำในรูปแบบสามมิติ มีคุณค่า ทุกครั้งที่ได้มองแล้วผมรู้สึกอบอุ่นครับ”
ติดตามผลงานของ Nabet ได้ที่ Call Me Nabet