“CHAKSARN” แปรรูปหัตถกรรมพื้นบ้านไทยสู่แฟชั่นไอเทม

ถ้าต้องเลือกแฟชันไอเทมหนึ่งชิ้นคู่ใจที่ขาดไม่ได้เวลาออกไปข้างนอก อยากรู้ว่าชาว EQ กำลังคิดถึงไอเทมชิ้นโปรดไหนชิ้นไหนกันอยู่ เครื่องประดับอย่างสร้อยต่างหู เครื่องหัวอย่างเฮดแบรนด์ หรือที่คาดผม ส่วนสุดท้ายบางคนก็อาจจะเลือกสะพายกระเป๋าเก๋ๆ สักใบเพื่อจบ Total Look ก็เป็นได้

สำหรับใครก็ตามที่เลือกกระเป๋าเป็นหนึ่งไอเทมคู่ใจ และกำลังชายตามองกระเป๋าเก๋ๆ ที่จะกลายมาเป็นลูกรักใบใหม่ EQ จึงพาทุกคนมาชมกระเป๋าภายใต้แบรนด์ CHAKSARN (จักสาน) กระเป๋าสัญชาติไทยที่ใช้วัสดุของไทย และถูกออกแบบด้วยคนไทย ล้วนแล้วแต่เป็นผลงานชิ้นโบว์แดงจาก ‘ตั้ม - จิราวัฒน์ มหาสาร’ ผู้ที่ถ่ายทอดเรื่องราวหัตถกรรมพื้นบ้านได้อย่างสร้างสรรค์ที่สุด โดยจับวัสดุเสื่อกกมาแปรรูปให้เป็นกระเป๋าได้อย่างลงตัว

หอบความฝันจากกรุงเทพกลับสู่มหาสารคาม

หากจะเล่าเท้าความตั้งแต่กว่าจะเป็นแบรนด์ CHAKSARN ก็นับว่ามีเรื่องราวเกิดขึ้นมากมายกับคุณตั้ม กว่าจะมีแบรนด์ของตัวเองได้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย กว่าคนจะได้ยลโฉมกระเป๋าใบแรก กว่ากรรมวิธีขั้นตอนแรกจนถึงขั้นตอนสุดท้ายจะลงตัวและเป็นสูตรสำเร็จอย่างทุกวันนี้ ก็ถูกดัดแปลงและลงแรงใจเป็นอย่างมาก ตั้งแต่การหาวัสดุ การเรียนรู้เรื่องทอเสื่อ การตัดเย็บกระเป๋า การวางแผนการตลาด รวมถึงการดีไซน์รูปแบบและแพทเทิร์นกระเป๋า ทั้งหมดที่กล่าวมาคือ การที่คุณตั้มเริ่มลงแรง ลงมือฝ่าฟันอุปสรรคทุกอย่างมาด้วยตัวเองตั้งแต่ต้นจนจบ เพราะสิ่งนี้ถือเป็นสิ่งที่ประกอบรวมทั้งความฝัน ความหวัง และเป็นการตัดสินใจครั้งยิ่งใหญ่ในชีวิตของคุณตั้มเลยก็ว่าได้

“ตั้มเป็นคนบ้านเกิดที่มหาสารคาม เป็นเด็กบ้านนอกที่เรียนจบมหา’ลัยแล้วไปทำงานต่อที่กรุงเทพฯครับ ก็ออกไปหาเงินเหมือนคนทั่วไป แต่สุดท้ายการทำงานประจำไม่ใช่ตัวตั้มเลย เหมือนเราไม่ได้ทำอะไรที่มีแพชชั่นของเราเองจริงๆ เราชอบงานฝีมือ อยากทำงานที่มันสร้างสรรค์”

หลังจากที่คุณตั้มตัดสินใจลาออกจากงานที่กรุงเทพ กลับมาใช้ชีวิตอยู่ที่มหาสารคาม คุณตั้มหอบความฝันอันยิ่งใหญ่กลับมาด้วยแรงใจที่เต็มเปี่ยม และนี่เป็นการพลิกบทบาทที่สำคัญในชีวิต จากมนุษย์เอกภาษาอังกฤษที่ทำงานเป็นเพื่อแลกเงินเดือน สู่ดีไซเนอร์ในวงการแฟชันที่เป็นเจ้าของแบรนด์ CHAKSARN 

“ณ ตอนที่ตั้มตัดสินใจจะทำแบรนด์ CHAKSARN ตอนนั้นไฟมันแรงมาก เรามั่นใจในตัวเอง แล้วเราก็บอกตัวเองตลอดว่าเราทำได้ เรารู้สึกว่าภาพในหัวของเรามันชัดเจนอยู่แล้วว่าเราต้องการแปรรูปจากสิ่งนี้ให้เป็นอีกสิ่งหนึ่ง ทำให้มันดูแตกต่างไปเลย ซึ่งในหัวของเรา ภาพทุกอย่างมันชัดเจนมาก”

โดยปกติคุณตั้มเริ่มมีความสนใจในศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านอยู่แล้ว เพราะตั้งใจที่จะยกระดับภูมิปัญญาของไทยให้สามารถไปได้ไกลกว่าแค่อยู่ในชุมชน ดังนั้น คุณตั้มจึงเริ่มมองหาความแตกต่างเพื่อสร้างเอกลักษณ์ให้กับแบรนด์ และทำให้ผลงานมีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น โดยพยายามสอดส่องวัตถุดิบที่จะมาเป็นหัวใจสำคัญ สำรวจตั้งแต่ตั้งแต่ผ้าไหม ไม้ไผ่ ผักตบชวา แต่ก็พบว่าสิ่งเหล่านี้มีคนนำไปแปรรูปหมดแล้ว จนกระทั่งเริ่มชายตามองเห็น “เสื่อกก” ซึ่งเป็นสิ่งที่ใช้อยู่ในชีวิตประจำ และคนอีสานต่างก็คุ้นชิน จึงหยิบยกเสื่อกกให้เป็นหัวใจสำคัญของแบรนด์ CHAKSARN

ถึงแม้จะมีแรงใจที่เต็มเปี่ยม แต่ก็ยังมีสิ่งที่ยากลำบากเกิดขึ้น หลังจากที่คุณตั้มเริ่มมองหาวัสดุที่น่าสนใจแล้วก็ต้องหาวิธีที่จะมาแปรรูปให้ “เสื่อกก” กลายมาเป็นแฟชั่นไอเทมอย่างกระเป๋าได้ เพราะอย่างที่รู้กันดีว่า “เสื่อกก” มีสภาพผิวที่แข็งกรอบ เปราะบาง แตกง่าย จะนำเข้ามาควบรวมกับวัสดุสำคัญอย่างหนังที่มีลักษณะนิ่มก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ทั้ง 2 วัสดุที่มีความแตกต่างกันอย่างมาก ดังนั้น คุณตั้มก็ต้องเฟ้นหาวิธีมัดรวมให้ทั้งคู่สามารถอยู่ด้วยกันได้อย่างลงตัว 

คุณตั้มเล่าว่ากว่าจะมาเป็น CHAKSARN อย่างทุกวันนี้ ในครั้งแรกถูกลองผิดลองถูกมาโดยตลอด เพราะเป็นสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นในวงการกระเป๋า เดินเข้าไปหาโรงงานที่ไหน พร้อมกับวัสดุ “เสื่อกก” ก็ไม่มีใครคิดที่จะรับทำเลยสักคน จนกระทั่งได้ทีมช่างที่มาร่วมหัวจมท้ายไปด้วยกัน และดำเนินการกระเป๋าเสื่อกกของเราต่อ สุดท้ายก็ได้เปิดตัวกระเป๋ารุ่น Original ในวันที่ 1 เมษายน 2561 นับว่าเป็นการเปิดตัวครั้งแรกของแบรนด์ที่ทำให้ความฝันของคุณตั้มค่อยๆ เริ่มก่อตัวขึ้น ทุกอย่างที่เคยมีความหวั่นใจก็เริ่มคลี่คลาย

ผลงานชิ้นโบว์แดง

ตั้งแต่เปิดตัวมา 3 ปีและกำลังจะก้าวเข้าสู่ปีที่ 4 นั้นมีเรื่องราวเกิดขึ้นมากมาย แบรนด์ CHAKSARN เองก็เติบโตขึ้นจากแต่ก่อนมาก ทั้งผลผลิตที่ถูกใจผู้อุปโภค และดีไซน์ที่สามารถทำให้ทุกคนรู้สึกว้าว…ไปในคราวเดียวกัน คุณตั้มเริ่มทำกระเป๋าหลายรุ่นออกมาสู่สายตาคนมากยิ่งขึ้น ตั้งแต่รุ่น Daily,Mini,Candy,Krathip ทุกรุ่นถูกดำเนินการมาอย่างประณีตและพิถีพิถันที่สุด

“สินค้าแต่ละรุ่น แต่ละล็อต แต่ละคอลเลคชันที่ผลิตมา จะต้องมี  Wow Factor อยู่ในนั้น เห็นปุ๊ป ว้าวปั๊ป สวยจริง จนน่าจับต้อง น่าจับจองเป็นเจ้าของ เห็นปุ๊ปก็ต้องบอกต่อ นี่คือสิ่งที่ตั้มพยายามใส่เขาไปในงาน”

“ถ้ามันออกแบบมาปุ๊ป แล้วมันยังเหมือนเดิมอยู่ ไม่มีคำว่าว้าว คนก็จะเห็น CHAKSARN ในรูปแบบเดิมๆ ตั้มก็เลยพยามยามทำอะไรมาที่มันแปลกใหม่ไปเรื่อยๆ ทุกอย่างมันพึ่งโซเชียลมีเดีย ถ้าคนเห็นแล้วคนชอบ เขาจะแชร์ ซึ่งมันเป็นการตลาดไปในตัว มันค่อนข้างสำคัญ ตั้มก็เลยจะไม่ชอบทำอะไรที่เก่าๆ ซ้ำๆ ถ้ารุ่นไหนที่นานแล้วก็จะเลิกผลิต”

ส่วนรุ่นที่เป็นตัวชูโรงของทางแบรนด์ ไม่ว่าจะผลิตมาอย่างไรก็เป็นที่ต้องการของคนอยู่ตลอด ได้แก่ รุ่น Candy และ รุ่น Krathip ซึ่งทั้ง 2 รุ่นนี้จะมีความแตกต่างกันในเรื่องของการทำแพทเทิร์นกระเป๋าอีกด้วย

Candy รุ่นที่ถือเป็น No.1 ของแบรนด์เสมอมา จะเป็นกระเป๋าที่ออกแนวโมเดิร์น มีความวัยรุ่น ไม่ว่าคนช่วงอายุเท่าไรถือก็สามารถเข้ากันได้เป็นอย่างดี โดยการใช้แพทเทิร์นที่มีความโมเดิร์นและประสมโรงด้วยสีสันที่สดใส ทำให้กระเป๋าดูน่ารักสมวัยมากยิ่งขึ้น

ต่อมารุ่นที่คุณตั้มภูมิใจนำเสนอมากที่สุดคือรุ่น Krathip เพราะเป็นรุ่นที่คุณตั้มได้นำความรู้จากที่ไปร่ำเรียนจากมิลาน ประเทศอิตาลี เข้ามาประยุกต์และใช้ในการทำแพทเทิร์นกระเป๋ามากขึ้น ถึงแม้จะถูกอิมพอร์ทวิธีการต่างๆในการทำกระเป๋ามาจากต่างประเทศ แต่ CHAKSARN ก็ไม่ได้ทิ้งความเป็นไทย หรือลดความเป็นไทยให้น้อยลงไป เพราะคุณตั้มเพียงนำวิธีการมาผนึกกำลังให้สินค้าแข็งแรงมากยิ่งขึ้น โดยการผูกแพทเทิร์นกระเป๋ารุ่น Krathip ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากกระติบข้าวเหนียวของภาคอีสาน และนำมาผูกเรื่องราว ผูกแพทเทิร์นกระเป๋าให้สมบูรณ์ตามสไตล์ของแบรนด์

ตอนนี้แบรนด์เน้นการขายแบบปลีกเสียส่วนใหญ่ เนื่องจากสินค้าเป็นงานแฮนด์เมด และทุกอย่างยังอาศัยการทอมืออยู่ ทำให้ขั้นตอนการผลิตค่อนข้างใช้เวลาในการดำเนินการนาน อาทิ เสื่อกก 1 ผืน บางรุ่นทำได้เพียง 1-2 ใบเท่านั้น ซึ่งทุกขั้นตอนกว่าจะมาเป็นกระเป๋า 1 ใบ ต้องควบคุมคุณภาพไปตั้งแต่การเก็บเสื่อกก การทอเสื่อ การย้อมสี รวมถึงการทำแพทเทิร์นกระเป๋า ดังนั้นในแต่ละล็อตกระเป๋าจะมีสีที่แตกต่างขึ้นอยู่กับต้นกก หรือสีของการย้อม ทำให้ลูกค้ามั่นใจได้ว่ากระเป๋าที่ได้ไปในแต่ละล็อตจะมีความพิเศษเฉพาะตัวแน่นอน ซึ่งถือเป็นลิมิเต็ดไปโดยปริยาย 

“ช่วงแรกเราต้องไปลงพื้นที่ด้วยตัวเอง เพื่อเข้าไปปรับคุณภาพของเสื่อกับชาวบ้าน อย่างเส้นกกที่นำมาทอจะต้องเป็นเส้นกกที่ปลูกใหม่ เมื่อโตเต็มที่แล้วจะต้องตัดมาเพื่อทอเสื่อเลย ทางแบรนด์ไม่ได้ซื้อเส้นกกที่มีอยู่แล้วเพราะอาจส่งผลต่อคุณภาพของการทอเสื่อ เราจึงต้องพิถีพิถันเพื่อให้ได้การทอเสื่อที่ละเอียด ซึ่งปกติชาวบ้านจะใช้การสะบักตามใจไม่ได้มีการพลิกกกให้อยู่ในด้านที่สวยงาม ดังนั้น เราก็จะช่วยเขาในการคอยดูเรื่องนี้ อีกทั้งเรื่องแพทเทิร์นของลายเสื่อ และการเลือกใช้สี เราจะเป็นคนจับคู่สีให้ชาวบ้าน ทำให้เสื่อกกที่นำมาทำกระเป๋าในแบรนด์จะไม่ใช้เสื่อกกที่ปูรองพื้นทั่วไป แต่เป็นเสื่อที่เราควบคุมคุณภาพเพื่อแบรนด์โดยเฉพาะ”

ซึ่งทางแบรนด์จะมีช่างทอประจำแบรนด์กระจายอยู่ในภาคอีสานถึง 5 จังหวัดด้วยกัน ได้แก่ มหาสารคาม อุบลราชธานี อุดรธานี บุรีรัมย์ และขอนแก่น ซึ่งแต่ละจังหวัดต่างก็มีเอกลักษณ์ของลายเสื่อที่แตกต่างกันออกไปเพื่อให้ทางแบรนด์ได้เสื่อที่คงความเป็นเอกลักษณ์อยู่ โดยที่การกระจายรายได้ของแบรนด์เข้าไปสู่ชุมชนนั้น คุณตั้มจะเปิดหาช่างทอเสื่อที่พร้อมจะปรับคุณภาพให้กับแบรนด์ และมีงานส่ทางแบรนด์คอนส่งให้พวกเขาตลอด รวมถึงให้ราคาที่สูงกว่าราคาขายเสื่อปกติด้วยซ้ำ ทำให้ทางแบรนด์เหมือนเป็นการยกตลาดไปหาชุมชนแทนที่ชุมชนจะรอไปวิ่งหาตลาดในการขาย เช่น การรอขายตามงาน OTOP ดังนั้น นี่ถือเป็นการกระจายรายได้ให้กับชาวบ้านอีกช่องทางหนึ่ง

ความฝันสูงสุดของแบรนด์

ปฏิเสธไม่ได้ว่าพอปั้นแบรนด์ขึ้นมา มีทั้งลูกค้าคนไทยและต่างชาติเข้ามามากมาย ดังนั้นความฝันสูงสุดก็คงอยากที่จะเห็น CHAKSARN เป็นแบรนด์ที่ไปได้ไกลถึงระดับ Global Brand อยากให้พูดถึงออกไปในแวดวงที่กว้างขวาง “มันคงยังอีกไกล แต่คนเรามีสิทธิ์ฝันก็ฝันไป และเชื่อมั่นในเส้นทางของมัน ถ้าเราคิดว่ามันไปได้ ยังไงมันก็มีเส้นทางของมันรออยู่แน่นนอน”

“ตอนที่ตั้มทำแรกๆ ก็ไม่มีใครคิดเลยว่าตั้มจะมาถึงจุดนี้ได้ จุดที่แบรนด์ของเราไปออก TV หรือออกไปอยู่ตามนิตยสารแฟชั่นต่างๆ  มันฉีกกฎและเหนือความคาดหมายไปเลย ทำให้คนอื่นที่เขาเคยมองภาพไม่ออก คนที่เขาเคยดูถูกเรามาก่อน สิ่งนี้เป็นเครื่องพิสูจน์ไปในตัวว่าทุกสิ่งทุกอย่างถ้าเราตั้งใจ เราทำได้แน่นอน”

ตั้มเล่าถึงบทพิสูจน์ที่สำคัญคือการทุ่มเททั้งแรงกายและแรงใจอย่างหนัก วางแผนทุกอย่างและมองภาพของแบรนด์ตั้งแต่ต้น ก่อนที่จะลงมือทำ ทั้งยังมองแผนระยะยาวไปจนถึง 10 ปีข้างหน้าด้วยซ้ำว่าควรทำอะไรกับแบรนด์ต่อเพื่อให้สิ่งเหล่านั้นใกล้เคียงกับความฝันของตัวเองมากที่สุด

“ก่อนอื่นตั้มต้องตั้ง Position ของแบรนด์ก่อนว่าเราจะอยู่ตรงไหน ต้องการขายให้ใคร พอมันชัดมีภาพในหัว ทุกอย่างถึงจะตามมาที่หลัง อย่างตั้มเองตั้งใจไว้แล้วว่าสินค้าจะขายให้คนกลุ่มอายุ 30-40 ปี มีกำลังในการซื้อสูง พอเรารู้แล้วว่าสินค้าของเราจะราคาสูง ดังนั้น คุณภาพก็ต้องสูงตามราคาไปด้วย ส่วนการออกแบบก็อยากให้ไปในทาง Luxury ซึ่งพอเรามองภาพอีก 10 ปี หรือ 20 ปีข้างหน้า ถ้าเราอยากให้เป็นแบรนด์ไทยที่โด่งดัง ตอนนั้นเราก็คิดเผื่อไว้แล้วว่าเราต้องมีเว็บไซต์ของทางแบรนด์ ต้องมีการจดเครื่องหมายการค้า เราวางแผนทั้งหมดนี้ไว้ตั้งแต่ตอนแรกก่อนที่จะเริ่มไปดำเนินการทำกระเป๋า” จากที่เราได้พูดคุยกับคุณตั้มมา ถึงแม้ว่ายังไม่ได้เกิดแบรนด์ขึ้นมาอย่างจริงจัง แต่ทุกอย่างถูกวางแผนมาเพื่อรอการดำเนินการต่อ และหาทางไปให้ถึงปลายฝัน ทำให้เราได้เห็นถึงกระบวนการหนึ่งที่น่าสนใจว่าการจะทำธุรกิจได้ ต้องอาศัยความรอบคอบและเดินหมากให้ถูกต้อง เพื่อให้ได้ผลพลอยที่น่าประทับใจอย่างที่ CHAKSARN เป็นอยู่ทุกวันนี้

TikTok: @Chaksarn

“สิ่งที่อยากฝากถึงคนที่มีความฝันว่าอยากมีแบรนด์เป็นของตัวเอง สิ่งแรกคือเราต้องหาความแตกต่างหาจุดขายของตัวเองให้ได้ อย่าพยายามทำตามคนอื่นเขา เราต้องพยายามแตกต่างจากคนอื่นให้ได้มากที่สุด พอเราแตกต่างเราจะไม่มีคู่แข่งเลย เราก็จะเป็นผู้นำ ใครที่ทำตามหลังเรา เขาก็ได้เป็นแค่ผู้ตาม” 

“สุดท้ายสูตรสำคัญ ความรักและการทุ่มเทกับสิ่งที่ทำ ให