Culture

SOS! ‘เชฟพลอย’ ชวนปิดสวิตช์ของค้างตู้ กู้อาหารส่วนเกินถึงคนที่ยังต้องการ ภารกิจส่งต่ออาหารก่อนหมดอายุ!

“SOS ชุบชีวิตอาหารใกล้ถูกทิ้งด่วน! กอบกู้อาหารส่วนเกิน เพื่อส่งถึงมือกลุ่มคนเปราะบาง ให้ได้ทันท่วงที นับว่าเป็นภารกิจฉุกเฉินด้านอาหารยามค่ำคืน หลังจากซูเปอร์มาร์เก็ตปิดลง”

วันนี้ EQ ชวนคุยกับ 'พลอย’ – นันทพร ตีระพงศ์ไพบูลย์ เชฟอาหารบำบัดสาววัย 30 ปี ไม่ได้แค่หยิบจับวัตถุดิบมาเพื่อรังสรรค์อาหาร ให้เกิดรสชาติความอร่อยเท่านั้น แต่ยังแบกหน้าที่อันหนักอึ้ง กับ 'ภารกิจหน่วยกู้ภัยทางอาหาร’ ในฐานะผู้จัดการพัฒนาเครือข่ายองค์กรอาวุโส มูลนิธิ SOS (Scholars of Sustenance) มูลนิธิกู้ภัยอาหารแห่งแรกในประเทศไทย ที่รับอาหารส่วนเกินจากภาคธุรกิจส่งต่อให้ถึงมือคนในชุมชน

ผู้คนยังคงอดอยาก แต่อาหารกลับถูกเททิ้งทุกวัน? คำถามที่จะชวนไปเปิดมุมมอง อันเป็นจุดเริ่มต้นสู่การเป็นนักขับเคลื่อนการกิน ที่มองอาหารอย่างลึกลงไปถึงระบบการผลิต จนตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ไกลตัวเราออกไป เป็นแนวคิดที่ซึมซับจากประเทศโลกที่1 ที่มุ่งจัดการอาหารส่วนเกินที่ยังกินได้ แต่ต้องถูกเททิ้งเนื่องจากตลาดไม่ต้องการมันอีกต่อไป แต่เราสามารถชุบชีวิตให้มีประโยชน์อีกครั้ง เพื่อแบ่งปันไปถึงมือคนอีกมุมเมืองที่เขายังต้องการได้

'กินอย่างมีสติ' การตระหนักเรื่องอาหารการกิน ไม่ใช่ปัญหาระดับโลกที่ไกลตัวอย่างที่เราคิด พลอย นันทพร ได้แชร์ไอเดียการเริ่มต้นของการดูแลอาหารขั้นบีกินเนอร์ ไม่ต้องแตกตื่นไปจนถึงขั้นสุดโต่งตาแตก ก็สามารถเซฟโลกนี้ได้ เพราะโลกตกอย่าในกำมือเรา ง่ายๆเพียงแค่จัดสรรวัตถุดิบติดตู้เย็นอย่างเป็นระบบ หรือ หยิบจับอาหารเข้าปากแบบสปาร์กจอย อย่างที่ชาวเมืองเองก็ทำได้ จากการใส่ใจเลือกซื้อ 'สินค้าป้ายเหลือง' เรียกได้ว่า อิ่มท้อง สบายกระเป๋า เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ฉบับสไตล์คนยุคใหม่ที่แท้ทรู!

'เชฟอาหารบำบัด' ที่ไม่ได้สนใจแค่ความอร่อย!

"เชฟอาหารบำบัด เป็นการเรียนเกี่ยวกับอนาโตมีร่างกายคน และเรื่องโภชนาการว่าควรกินอย่างไรให้สุขภาพดีขึ้น กินอย่างไรให้บรรเทาอาการป่วยบางอย่างของคนนั้น ไม่ใช่ทำให้อาหารอร่อยอย่างเดียว แต่เป็นการรักษา บำรุงร่างกายด้วย โดยสามารถทำงานร่วมกับนักโภชนาการ และแพทย์ทางเลือกได้อีกด้วย" พลอย นันทพร เล่าถึงการเรียนเชฟอาหารบำบัดที่หลายคนอาจไม่คุ้นหู

อาสา 'กู้ภัยทางอาหาร' ประสบการณ์ตื่นรู้จากโลกที่ 1

เมื่อมองจุดเริ่มต้นของการมองเห็นถึงปัญหา 'ขยะอาหาร' ตอนแรกไม่ได้คิดว่าเป็นปัญหาอะไร อยู่เมืองไทยก็ไม่ได้รู้สึกว่ามีปัญหาอะไร พอได้ไปเรียนต่างประเทศก็ได้มีโอกาสไปทำงานอาสาสมัคร กับมูลนิธิใกล้มหาลัย เป็นมูลนิธิที่ช่วยคนไร้บ้าน

ตอนที่ลงทะเบียนไปทำอาสา ก็ไม่รู้ว่าเขาให้ไปทำอะไร แต่นัดให้เราไปเจอที่หน้าซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งหนึ่ง แล้วเขาก็บอกให้ไปที่หลังร้าน เหมือนแวร์เฮ้าส์ซูเปอร์มาร์เก็ต ให้ไปเอาอาหารออกมา เอาอาหารที่ไม่ได้ขายแล้ว เราก็เลยไปเห็นว่า วันๆ หนึ่งที่เห็นร้านซูเปอร์มาร์เก็ตเล็กๆ ก็ทิ้งขนมปังเยอะมากเลย ทิ้งกล้วย เรารู้สึกว่ามีผักผลไม้บางอย่าง ที่ปลูกไม่ได้จากแถวนั้นอาจจะต้องเดินทางมาจากเอเชีย ก็เลยรู้สึกว่ามีปัญหาที่ใหญ่มาก และน่าจะเป็นปัญหากันทั่วโลก เราเลยอ่านข้อมูลเกี่ยวกับปัญหานี้เยอะขึ้น ตั้งแต่ตอนนั้นเลย ผ่านมาหลายนานแล้ว ตั้งแต่ปี 2017

เราอ่านเยอะขึ้น และอยู่ในประเทศที่เขาสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมานานแล้ว เหมือนได้เอาตัวเองไปทำอาสาสมัครกับองค์กรหลายๆแห่ง ไปร่วมงานกับบริษัทอาหารที่ทำเรื่องการลดปัญหาอาหารขยะ มันทำให้เรายิ่งเห็นปัญหาเยอะขึ้น ยิ่งอินเยอะขึ้น เข้าใจว่าการเดินทางของอาหาร อาหารที่ถูกผลิตขึ้นมามันใช่ทรัพยากรเยอะมากเลย แล้วเราต้องเสียไป เราเลยรู้สึกว่าจะทำอย่างไรให้สื่อสารปัญหานี้ได้เยอะขึ้น หรือ ทำอย่างไรดีให้แก้ปัญหานี้ได้

ตอนนั้นหลังจากเรียนจบป.โทใหม่ๆ เลยพยายามหางานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหานี้ ยังไม่ได้กลับมาไทย เลยหาประเทศแถบยุโรปว่ามีที่ไหนทำเรื่องนี้เป็นรูปธรรมบ้าง เพราะเบื้องหลังจริงๆเราจบมาร์เก็ตติ้ง ก็รู้สึกว่าการสื่อสารและสร้างการเอนเกจกับคนน่าจะดี เลยไปสมัครร้านอาหารที่เนเธอร์แลนด์ชื่อ 'Instock'

ร้านอาหารที่เอาอาหารส่วนเกินจากซูเปอร์มาร์เก็ต และผลผลิตส่วนเกินจากเกษตรกรมาทำอาหารสไตล์แคชชวล ไฟน์ไดนิ่ง ตอนนั้นเลยไปสมัครเป็นลูกมือเชฟอยู่หนึ่งปี ไปช่วยเชฟเขาทำอาหารจากพวกอาหารส่วนเกินตอนนั้น พอได้ทำอาหารจากเชฟตรงนั้น เลยมีโอกาสได้แปรรูปอาหารที่มีส่วนเกิน ที่มาวันหนึ่งหลายๆกิโล ไม่ซ้ำกัน ต้องเปลี่ยนเมนูทุกวัน สองวัน

มีโอกาสได้คุยกับลูกค้าที่มาทาน ว่าเออเรามีปัญหาตรงนี้นะ เพราะอะไร ช่วงนี้แอปเปิ้ลมีแต่ลูกเล็กๆไม่ตรงมาตรฐาน ช่วงที่มีฟักทองจากเทศกาลฮาโลวีนเยอะมาก ที่มันกำลังจะถูกทิ้งแล้ว รู้สึกว่าได้เล่าเรื่อง ได้ทำให้ลูกค้าเห็น ว่ามันมีวิธีการหลายๆแบบนะที่ช่วยลด Food Waste ได้

เช่น การใช้เทคนิคทำอาหารหลากหลาย นอกจากทอด ย่าง จะบอกเขาว่าจะมีวิธีการตุ๋นน้ำมัน ที่ทำให้อาหารบางชนิดอยู่ได้นานขึ้นและรสชาติดีขึ้น อย่าง ผักดองที่ทำด้วยวิธีการพิเศษ หรือ การทำที่ยืดอายุแครอท เลยรู้สึกว่าสนุกดีที่ได้ทำ ได้สื่อสารออกไปกับเพื่อนๆ ก็พยายามในส่วนของเรา

พอเป็นลูกค้าชาวยุโรปเขาตกใจ เพราะเขารู้เรื่องปัญหาขยะอยู่บ้างแล้ว แต่ถ้าเป็นกลุ่มลูกค้านักท่องเที่ยว เขาก็จะตกใจอยู่นิดหนึ่ง ว่าแค่เนื้อสัตว์ชนิดหนึ่งติดฉลากผิด มันก็ต้องทิ้งแล้วเหรอ มันไม่ได้มีความรู้สึกว่าเอาของเหลือมาให้เขากิน มันเป็นเรื่องของวัฒนธรรมฝั่งนู้น เขาตกใจกับระบบอาหารมากกว่า ว่ามันมีอาหารที่ต้องทิ้งเยอะขนาดนี้เลยเหรอ

"ช่วงฮาโลวีนฟักทองเยอะ เขาฉลองกันแล้วมันมีฟักทองเยอะมาก เราก็เลยพยายามสื่อสารว่า เราไม่ควรจะเอาฟักทองมาแกะสลักแล้ววางไว้หน้าบ้าน แล้วก็ทิ้งไว้อย่างเดียว มันควรเอามาทำอาหารกินด้วย"

หยิบจับอาหารแล้วสปาร์กจอย จนกลายเป็นนักขับเคลื่อนการกิน?

จุดเริ่มต้นคงมาจากการเริ่มกิน ที่หันมาสนใจเรื่องฟู้ดและสิ่งแวดล้อมพร้อมๆกัน น่าจะเริ่มต้นมาจากที่บ้าน ก็จะมีคุณพ่อที่กินเจ แต่ตอนนั้นเราก็ไม่ค่อยได้สนใจอะไร แต่เราก็เคยได้ยินมาตอนแรกเปลี่ยนว่า กินผักช่วยลดโลกร้อน เช่น แคมเปญ Green Monday มาคุยกับนักศึกษาในมหาลัย

“ถ้าเธองดเนื้อสัตว์ทุกวันจันทร์ จะลดคาร์บอนฟุตปริ้นต์ได้เท่าไร ตั้งแต่ 10 กว่าปีที่แล้ว เราเลยรู้สึกว่า เฮ้ย มันเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมด้วยเหรอ เราเลยสนใจตั้งแต่ตอนนั้นเป็นต้นมา”

ประกอบกับตอนนั้นทำกิจกรรมเยอะ เราป่วย แล้วหมอบอกว่าสิ่งที่เราป่วย มันมาจากการกินของเราทั้งนั้น เลยกินแต่ของที่มีประโยชน์ของที่มันเป็นฟาสต์ฟู้ด จานด่วน หรือเบเกอรี่ว่ามันจะใส่สารปรุงแต่งอะไรไหม จนเราหันมากินสมุนไพร พอเราหาย พอมาก็เลยชอบเรื่องนี้ด้วยขึ้นมา

อาหารมันก็ทำงานกับร่างกายเรา ถ้าเราเลือกดีๆมันก็ดี ถ้าเราเลือกดีๆจากต้นทาง โลกมันก็จะดีด้วยหรือเปล่า ถ้าเรากินแล้วไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ก็จะเป็นเรื่องที่ดีด้วย ก็เลยอินขึ้นมาแบบงงๆ มันไม่ได้รู้ตัวขนาดนั้น ก็เอนจอยมาเรื่อยๆ

หากปัญหาอาหารระดับโลก (ไกลตัว) ลองขยับมามอง 'ไหว้เจ้า' บ้านเรา

เทศกาลบ้านเรา อย่างพลอยเป็นคนเชื้อสายจีน เราจะเห็นแพทเทิร์นของที่บ้าน ว่าถ้าพอซื้อมาไหว้เยอะๆก็กินไม่ทันอยู่ดี เลยใช้วิธีไหว้แบบมินิมอลแทน แบบชุดเดียวพอแล้ว พอกินกันทั้งบ้าน และเอาไปแจกจ่ายคนอื่นให้กินด้วย แต่ช่วงหลังมาเราก็จะเห็นเพจทำอาหารหลายคน ที่พยายามบอกว่าขนมเข่ง ที่กินไม่ทันแล้วเราแปลงไปทำเมนูอะไรได้อีกบ้าง ดูว่ามีแนวโน้มที่ดีมากขึ้น

“ส่วนใหญ่ถ้าคุยกับที่บ้านให้ซื้อให้น้อยลง ทำความเข้าใจว่าซื้อมาไหว้เยอะ แล้วใช่ว่าจะได้บุญเยอะหรือบรรพบุรุษจะได้บุญเยอะ ก็น่าจะดี”

เพิ่มคิวเช็กลิสต์ ปิดสวิตช์ของค้างตู้! บอกลา 'ซื้อแล้ว ซื้ออยู่ ซื้อต่อ'

ของในตู้เย็นที่เราซื้อทิ้งไว้แต่กินไม่ทัน เช่น ซอส ที่เราซื้อไว้ติดตู้ อาจจะกินไม่ทันจนหมดอายุไปตามตู้เย็นก็มี จริงๆวิถีคนเมืองก็แอบยากนิดหนึ่ง ไม่ได้มีเวลาทำอาหารทุกเย็นขนาดนั้น ขนาดตัวเราเองยังไม่ได้ทำอาหารบ่อยๆเลย อาจจะทำได้แค่วันเสาร์ อาทิตย์ด้วยซ้ำ แต่วันธรรมดาก็ยังดีที่อยู่กับครอบครัว คุณแม่ก็ทำบ้าง

“คิดว่าหลายคนก็ควรที่จะคอยเช็ก ว่าเรามีของอะไรอยู่ที่บ้านอยู่แล้วบ้าง มีซอสอยู่แล้วไหม มีอะไรที่อาทิตย์หน้าเราอาจจะต้องใช้มัน เพื่อให้เราใช้มันให้หมด ก่อนที่เราจะไปซื้อซ้ำ บางที่เราเผลอซื้อน้ำมันหอยมาซ้ำหลายขวด”

รู้สึกว่าหลายคนก็อาจจะลองเอาของเหล่านั้น มาลองทำอาหารเมนูใหม่ๆได้ คือ ทุกคนควรจะมีความรู้มากขึ้นด้วย ว่าอาหารแบบไหนเป็นอย่างไร อาหารแบบไหนที่มันขึ้นราแบบนี้ แล้วก็ไม่ควรกินจริงๆ แล้วเอาไปทำประโยชน์อะไรต่อได้ไหม คิดว่าในส่วนนี้ถ้ามันมีการพูดคุยมากขึ้น ก็น่าจะดี เช่น หลายคนอาจจะไม่รู้ว่า ถ้าเราวางผลไม้สุกที่สุกเร็ว ที่มันมีกลิ่นหอมๆออกมา อย่างแอปเปิ้ล กับ กล้วย วางด้วยกันแล้วมันสุกเร็วขึ้น มันอาจจะมีคนไม่รู้ก็ได้

คิดว่าการที่มีการส่งต่อข้อมูลแบบนี้กันเยอะขึ้น ก็น่าจะลด Food Waste ที่บ้านได้เหมือนกัน คิดว่าคนสมัยก่อนรู้เยอะกว่าเรามาก เรานี่จะต้องเปิดเว็บ เปิดเน็ตกันว่าเป็นอย่างไร แต่คนสมัยก่อนเขาจะรู้ว่า วิธีการเก็บผักสมุนไพรไทย ผักชีอย่างนี้ เขาก็จะไม่ได้ซื้อมาจากซูเปอร์มาร์เก็ต แล้วเอาไปแช่ตู้เย็นทันที แต่เขาแช่รากกับน้ำอยู่ให้มันไม่เฉา ซึ่งมีอีกหลากหลายวิธี

ชาวเมืองขั้นบีกินเนอร์ มองมุมใหม่เข้าใจสินค้า 'ป้ายเหลือง'

เริ่มจากขั้นตอนง่ายๆ ถ้าเป็นชาวเมืองที่ไม่มีเวลาเลย คิดว่าถ้าเราไปซื้ออะไรมากิน กินแค่พอประมาณ ถ้ามันมีเก็บเหลือก็พยายามโน้ตไว้ว่ามีสิ่งเหล่านี้ในตู้เย็น ควรจะกินให้หมดภายใน 3 วัน  ไม่งั้นมันก็จะเสียแล้ว เวลาจะซื้อของเข้าบ้าน เราก็ควรจะเช็กก่อน อาจจะเซ็ตสักหนึ่งวันก็ได้

เช่น ทุกวันอาทิตย์แทรกตารางเช็ก ว่าเรายังมีของอะไรอยู่ในตู้เย็นบ้าง เพื่อที่จะจดบันทึกไว้ให้รู้ว่า ครั้งต่อไปที่เราจะไปซื้อของ จะได้รู้ว่าควรซื้ออะไรมาเพิ่ม เพื่อที่จะใช้ของที่มีอยู่ให้หมด อย่างแครอท จากอาทิตย์ที่แล้วมันยังไม่เสีย มันเก็บได้นาน อาทิตย์นี้เราจดไว้แล้วว่าเรามีแครอท ตอนที่เราจะซื้อของครั้งต่อไป ก็เลือกของที่เอามาทำอาหารกับแครอทได้ด้วย

ทุกคนสามารถเป็นนักเคลื่อนไหวในด้านนี้ได้ เอาจริงผู้บริโภคลงมือแล้วมันไม่ยากเลยนะ มันก็มีแค่หลักง่ายๆ คือ กินพอดี ซื้อพอประมาณ กินให้หมด แยกขยะ แต่อาหารส่วนเกินที่เกิดมาจากภาคร้านอาหาร การเกษตร เป็นส่วนที่ผู้บริโภคเข้าไปไม่ถึง แต่ในส่วนนั้นที่เป็นก้อนใหญ่ ผู้บริโภคสามารถช่วยเลือกผักผลไม้ที่ตกเกรดหน่อยไหม

“มันมีบางทีที่เราคุยกับแม่ค้า ว่าเงาะโรงเรียนเซ็ตนี้ ที่มันอาจจะลูกเล็กกว่าเซ็ตอื่น แต่รสชาติเหมือนกัน เราพอจะซื้อพวกมันขึ้นมาได้บ้างไหม หรือ ถ้าเราไปซูเปอร์มาร์เก็ตก็ลองดูว่า อาหารบางอย่างที่พร้อมทาน ที่มันหมดเร็ว แล้วคิดว่าจะกินภายในพรุ่งนี้อยู่แล้ว มันจะเป็นไปได้ไหม ที่เราจะเลือกอาหารที่มันใกล้จะหมดอายุก่อน”

มันอาจจะรับไม่ได้ใช่ไหม? ที่จะซื้อของราคา 'ป้ายเหลือง' อาจจะเริ่มต้นจากคิดว่า เออ เราคงจะกินนมหมดภายใน 2 วันนี้แหละ ก็เลือกนมที่จะหมดอายุเหมาะกับช่วงที่เราจะกินหมด แทนที่จะไปเลือกขวดด้านหลัง ที่จะหมดอายุอาทิตย์หน้า เพราะเวลาซูเปอร์มาร์เก็ตเขาสต๊อกของ เขาก็เตรียมของที่มาก่อน ไปก่อน เพราะบางทีเราไปคุ้ยซะข้างหลังเลย บางทีเราจะกินหมดภายในพรุ่งนี้อยู่แล้ว มันจะทำให้โอกาสของอาหารที่มันผลิตมาแล้ว จะถูกทิ้งเยอะขึ้น

ตื่นตัวกับทุกอย่างที่เข้าปาก จะกลายเป็นคนสุดโต่งหรือเปล่า?

"ไม่ต้องขนาดนั้น คือ เอาจริง มันเป็นเหมือนพลังผู้บริโภคอย่างหนึ่ง แต่เมื่อเรากินอะไร ซื้ออะไรหลากหลายอย่าง ซื้อเสร็จแล้ว กินเสร็จแล้ว เราทำอะไรต่อมันขึ้นอยู่กับมือเราทั้งนั้นเลย เราก็เป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาได้"

ยกตัวอย่าง ถ้าเราไปกินข้าวที่โรงอาหาร แล้วทุกคนในโรงอาหารกินข้าวหมดเกลี้ยงกันหมดเลย แสดงว่าวันนั้นไม่มีขยะอาหารในถังทิ้งเศษอาหารเลย เราอยากทำให้เห็นภาพว่า เออ ไม่ใช่ว่าถ้าเราทำคนเดียวจะไม่เกิดผลอะไรเลย ถ้าคนทำเหมือนกัน ทุกๆคน มันก็เปลี่ยนได้เยอะมากๆ

ผู้คนยังคงอดอยาก แต่อาหารกลับถูกเททิ้งทุกวัน?

มันเป็นสิ่งที่ทำให้เห็นว่าระบบอาหารทั้งโลก มันกำลังพังอยู่ มันเป็นเรื่องที่น่าเศร้าเลยเป็นเรื่องที่ทำให้ SOS เกิดขึ้น ส่วนใหญ่มันขาดในเรื่องของโลจิสติกส์ ส่วนใหญ่เวลาที่บริษัทเขาผลิตออกมา เขาก็คงไม่ได้มีเรื่องของการไปแจกจ่ายต่อ หรือการใช้ประโยชน์ต่อ แค่งานฝั่งธุรกิจเองก็คงแน่นอยู่แล้ว จึงกลายมาเป็นหน้าที่ของภาคสังคม NGOs ที่เข้ามาช่วยในส่วนนี้

“แต่ถ้ามันสามารถสร้างระบบแจกจ่ายของภาคธุรกิจถึงชุมชนได้ง่ายกว่านี้ มันก็คงจะดี เช่น ถ้าเชียงใหม่มีอะไร หากสามารถแจกจ่ายให้คนในพื้นที่เลยจะง่ายกว่า”

อาหารยังดี แต่เป็นส่วนเกินจากท้องตลาด สู่ การส่งต่อถึงมือคนที่ต้องการ!

อาหารส่วนเกิน คือ 'อาหารที่ยังดีอยู่ แต่มันขายไม่ได้แล้ว' ยกตัวอย่างเช่น ในห้างบางทีเขาก็แปะป้ายว่าแตงโมลูกนี้ ถ้าภายในวันที่ 25 ก็ไม่สามารถวางบนเชลฟ์ได้แล้ว ซึ่งเอาจริงแตงโมมันก็ไม่ได้มีวันหมดอายุใช่ไหม แต่ว่าบางทีเกษตรกร หรือ ผู้ผลิตที่เขาดูแลในเรื่องของมาตรฐาน เขาก็จะบอกว่า เฮ้ย หลังวันที่ 25 มันไม่หวานเท่าเดิมแล้วนะ มันก็จะขายไม่ได้ มันเป็นแบบนี้ แต่อาหารก็ยังมีสารอาหารเหมือนเดิม มีคุณภาพเหมือนเดิม แค่มันสุกมากขึ้น หรือน้ำตาลมากขึ้น มันก็เป็นธรรมชาติของมัน

“มันก็เป็นการเอาอาหารที่ยังดีอยู่ แต่มันเกินมาจากท้องตลาด ขายไม่ได้แล้ว มันแค่ไม่ถูกสเปกของร้านค้า มาส่งต่อให้กับคนที่ต้องการ”

ด่วน! 'ภารกิจSOS' เร่งประสานส่งต่ออาหารถึงชุมชน

ปกติที่ SOS ทำ จะมีรถเย็นไปรับอาหารจากพวกบริษัทต่างๆ อย่างซูเปอร์มาร์เก็ต โรงแรม อุตสาหกรรม แล้วก็ส่งให้ชุมชนในเย็นวันนั้นเลย ปกติแล้ว SOS ก็จะมีหัวหน้าชุมชนประสานกับ SOS ในการดูว่าจะเอาไปให้บ้านไหน และมีการเก็บข้อมูลอย่างชัดเจนว่า โอเคบ้านนี้มีกลุ่มเปราะบางกี่คน เช่น เด็ก ผู้พิการ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง ก็จะไปช่วยเขาก่อน เพราะพวกเขาก็จะมีรายได้น้อยด้วย เป็นการทำงานที่ใช้ดาต้าเป็นหลักด้วย  

ตอนนี้ทำงานกับประมาณ 3,000 กว่าชุมชนแล้ว เรามีโมเดลหลายแบบ ทั้งแบบที่รับอาหารแล้วไปส่งให้ชุมชนในวันเดียวกันเลย  คือมันคงส่งไม่ได้เลยทั้ง 3,000 ชุมชน แต่ว่าเราก็จะมีการทำงานกับอาสาสมัครชุมชนด้วย อพม.ชุดสีชมพู ที่อยู่ตามชุมชนต่างๆ แล้วเขาจะติดต่อกับ SOS เช่น ถ้าเรามีซีเรียลทั้งหมดเท่านี้ มีผัก 100 กิโลกรัม ก็ให้เขาช่วยมารับ แล้วก็ไปกระจายต่อให้

เป็นทั้งโมเดลที่เราขับรถตู้เย็นที่เราไปส่งเอง และ มีทั้งให้ที่มีหน่วยกู้ภัย หรือ อาสาสมัคร แม้กระทั่งกองทัพบกเอง เวลามีน้ำท่วมก็จะมารับของไปแจกต่อเหมือนกัน

“หลายคนก็ขอบคุณที่ SOS เอาของไปให้ พอหลังจากช่วงโควิดมาเขากลับไปทำงานกัน แต่หลายๆบ้าน ยังรายได้ไม่เท่าเดิม ก็เจอภาวะเงินเฟ้อ อาหารเฟ้อด้วย พวกเขาก็ยังเข้าไม่ถึงอาหารแบบเดิม หรือมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อครอบครัวตัวเอง พอได้อาหารจาก SOS ก็อิ่มได้ไปอีก 1 มื้อ หรือ 2 มื้อ ให้กับครอบครัวตัวเอง

ภาคประชาชนอยากมีส่วนร่วมตรงนี้จะทำอย่างไรได้บ้าง?

ถ้าทำร้านอาหารแล้วมีอาหารส่วนเกิน ก็ติดต่อมาที่ SOS ได้ คุยกันเบื้องต้นก่อนว่าเราจะทำอะไรได้บ้าง เข้าใจว่าหลายธุรกิจเขาไม่สามารถทำสิ่งนี้ได้ด้วยตัวเอง เพราะมันเป็นงานที่ละเอียดอ่อน เป็นการทำงานแข่งกับเวลาด้วย ไม่งั้นมันจะเสียไหม ต้องส่งภายใน 1 วันไหม ต้องส่งลงในชุมชนไหน ต้องมีการประสานงานกับชุมชนตลอด

“วันนี้มีอาหารชนิดนี้ แล้วชุมชนไหนล่ะ ที่เหมาะกับสารอาหารประเภทนี้ เช่น ถ้าได้ต้มเล้งมาเยอะมากๆ มันก็ไม่เหมาะกับชุมชนที่มีเด็กเยอะๆรึเปล่า เด็กน่าจะไม่ชอบเล้งกันอะไรแบบนี้ คือ มันต้องมีการประสานงานตลอดเวลา เบื้องต้นก็มาคุยกับเราได้ มันก็มีบางบริษัทเหมือนกันที่ทำงานกับ SOS ไปสักพักแล้ว ก็เลยทำโลจิสติกส์ระบบของตัวเอง รวมไปที่แวร์เฮ้าส์ที่เดียว เพื่อที่จะให้ SOS ไปรับได้ง่ายก็มี ก็มีหลายที่ที่ช่วยให้เรามีงานน้อยลง”

คนทั่วไปสามารถมาเป็นอาสาทำงานกับ SOS ได้ เพื่อออกไปกู้อาหารจากภาคธุรกิจ ก็นั่งไปเลยกับคนขับรถ 30-40 จุด แล้วเราจะไม่เรียกคนขับรถว่า ‘คนขับรถ’ แต่เราจะเรียกว่า ‘ผู้พิทักษ์รักษ์อาหาร’ ก็นั่งไปด้วยกันไปกู้อาหารจากผู้บริจาคแล้วก็ลงชุมชน แต่ถ้านานๆทีก็จะมีอาสาให้ไปทำครัวกับชุมชน ก็คือทำอาหารจากอาหารส่วนเกิน แต่เป็นสเกลใหญ่ที่ทำแจกชุมชน หรือจะบริจาคอาหารเข้ามาก็ได้ หรือบริจาคเงินก็ได้

บทสรุป 'กินอยู่กับปาก อยากอยู่แบบอีโค่'

จริงๆอยากให้ทุกคนได้ตระหนักถึงอาหารที่เราทาน เออ เราเลือกอะไรที่มันดีต่อตัวเราไหม มันเป็นอาหารจากแหล่งที่ดีหรือเปล่า ใช้สารเคมีหรือเปล่า เพราะทุกอย่างที่เราเลือกกินเข้าไป มันมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นการใช้ทรัพยากร หรือว่าถ้าเรากินไปแล้วอาจจะเหลือทิ้ง แล้วถ้าเรากำจัดไม่ถูกวิธีมันก็จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอยู่ดี เพราะเราเหลือเป็นขยะไว้

“อยากให้เราตระหนักว่า ทั้งอาหารส่งผลไม่ใช่แค่ตัวเรา แต่ส่งผลถึงสิ่งแวดล้อมและก็ชุมชนด้วย เวลาไปกินหมูกระทะ กินบุฟเฟต์ก็กินให้หมด ไม่ตักมาเยอะเกิน ก็เป็นเรื่องใกล้ตัวที่เราทำได้แล้ว”

สามารถติดตามความเคลื่อนไหวของ SOS ได้ที่  

Facebook: Scholars of Sustenance Thailand - SOS Thailand

โทร. 062 675 0004

ติดตามเชฟพลอยได้ที่

Facebook: Deliconscious - อร่อยอย่างมีสติ