Culture

เปลี่ยน 'คุณค่า' สู่ 'มูลค่า' กับ 'Chiang Mai Learning City' นิเวศแห่งการเรียนรู้ เพื่อก้าวสู่ 'การพัฒนาเมืองแบบพลวัตที่ยั่งยืน'

'เชียงใหม่' อีก 1 จังหวัดที่เป็นหมุดหมายของใครหลายๆ คน ทั้งภาคการท่องเที่ยว เศรษฐกิจ ประเพณี และวัฒนธรรม จึงทำให้นักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติหลั่งไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง จากศักยภาพของตัวเมืองที่ทำให้เลื่องชื่อและขับเคลื่อนด้วยตัวของมันเอง จากรุ่นสู่รุ่น มาจนถึง ณ ตอนนี้ จึงก่อให้เกิด 'Chiang Mai Learning City' หรือ นิเวศแห่งการเรียนรู้ โดยนำ 'ความเก่า' ที่ยังคงรักษาอัตลักษณ์ ความเป็นล้านนา วัฒนธรรม และชาติพันธุ์ไว้ ผสมผสานกับ 'ความใหม่' จากการศึกษาและการทำงานวิจัยเพื่อการพัฒนาเมือง โดยมี อาจารย์สันต์ สุวัจฉราภินันท์ นักวิจัยที่พ่วงด้วยบทบาทรองศาสตราจารย์ สาขาสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมทีมงาน ที่ช่วยกันผลักดัน สรรค์สร้างโครงการดีๆ จึงก่อให้เกิดความร่วมมือของทุกๆ ภาคส่วนในการทำงาน จนถึง ณ ตอนนี้ก็เข้าสู่ Phase ที่ 3 ของการทำงานแล้ว

จุดเริ่มต้นของการเป็นอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ของอาจารย์สันต์คือ หลังจากเรียนจบที่มหาวิทยาลัยศิลปากร ปี 2539 ก็ได้มีโอกาสทำงานที่ A49 | ARCHITECTS 49 LIMITED 1 ปีที่กรุงเทพฯ ซึ่งช่วงนั้นเป็นช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง (ช่วง ปี 2540) จากความตั้งใจของตนที่จะไปเรียนต่อเมืองนอก ก็ต้องพับฝันนั้นลงชั่วคราว เพราะทางบ้านประสบปัญหาเรื่องการเงิน แต่ในขณะเดียวกัน เพื่อนของอาจารย์สันต์ก็ได้แนะนำทุนพัฒนาอาจารย์ที่เชียงใหม่ ซึ่งช่วงนั้นคณะสถาปัตยกรรมกำลังขาดแคลนอาจารย์อยู่พอดี ตนเองเลยลองขึ้นไปสอบแข่งขันและได้บรรจุที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในปี 2541 โดยทุนที่ได้รับเป็นทุนปริญญาโทและปริญญาเอก ทำให้อาจารย์ต้องใช้ทุนด้วยการทำงานสอนก่อน 1 ปี ในช่วงปี 2542 และปี 2543 ตนเองก็ได้เดินทางไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกาอีก 2 ปี และไปเรียนที่อังกฤษต่ออีก 5 ปี  และกลับมาที่ไทยในปี 2548 โดยเริ่มบรรจุและเริ่มสอนอีกครั้งจนถึงปัจจุบัน รวมระยะเวลาการเป็นอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ 24 ปี และปัจจุบันดำรงตำแหน่ง รองศาสตราจารย์ สาขาสถาปัตยกรรม 6 ปี

แรงบันดาลใจที่ทำให้เกิดโครงการ 'Chiang Mai Learning City'

ต้องเท้าความย้อนกลับไปถึงปีแรกที่เราได้ทุน คือปี 2564 ผมขออนุญาตเรียกว่า 'Learning City 1' ส่วน ปี 2565 ผมเรียกว่า 'Learning City 2' ในปี 1ตอนนั้นเราไม่รู้อะไรที่เกี่ยวข้องกับ Learning City รู้แค่ว่า มันเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเมือง เป็นคอนเซ็ปต์หนึ่งของ UNESCO ซึ่งตอนนั้นเชียงใหม่มีความตื่นเต้นกับแนวคิดมรดกโลก และเราก็ได้รู้จักมรดกโลกผ่าน UNESCO โปรเจกต์นั้น ซึ่งในช่วงเวลาของมรดกโลกเราได้เรียนรู้อะไรหลายอย่าง เช่น วิธีการทำ หรือ แนวคิด ว่าทำไมช่วงก่อนหน้านั้น ทีมอาจารย์ที่ตั้งใจจะทำเรื่องมรดกโลกสนใจที่จะ Apply กับเชียงใหม่ ซึ่งครั้งนั้นเราฟังก็งงเพราะรู้สึกว่าเชียงใหม่ยังไม่ค่อยมรดกโลก ความมรดกโลกที่เราเข้าใจคือ ภาพเมืองเก่าโบราณ แต่พอไปคุยเหมือนมีไอเดียที่ซ่อนอยู่ภายใต้วิธีการทำงาน คือ เขาตั้งใจจะเอาสิ่งเหล่านี้ไปเป็นเครื่องมือกระตุ้นเพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงของหน่วยงานภาครัฐ แล้วหันกลับมาใช้กับแนวคิดและกลไกหรือวิธีการทำงานเพื่อพัฒนาเมือง จะได้หรือไม่ได้ก็อีกเรื่องหนึ่ง ผมเลยพอเข้าใจแนวคิดของ UNESCO ที่ว่าด้วยเรื่อง Learning City ว่าหมายถึงอะไร

“เรามองว่าน่าจะใช้องค์ความรู้ด้านสถาปัตยกรรม การเข้าใจเมือง หรือ การทำงานร่วมกับชุมชน และรูปแบบของเครื่องมือต่างๆ ที่อยู่ในสายสถาปัตย์ ทั้งการวาด ตัวผัง ตัวเมือง หรือ สถาปัตยกรรม หรือ มุมมองต่างๆ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการทำงาน”

ฟอร์มทีมขึ้นมาทำงาน เพื่อสร้าง 'Chiang Mai Learning City'

เลยคุยกับเพื่อนๆ ในทีมและฟอร์มทีมกันขึ้นมา ตอนนั้นมีคนทำงานหลักๆ อยู่ 5 คน เรียกว่า Learning City ปี 1 (สถาปัตยกรรม) แต่ในขณะเดียวกันทุนนี้เปิดกว้างให้ใครก็ได้ที่ลงสมัครตามสถาบัน ในปีแรกก็จะมีอีกทีมที่ส่ง Learning City Chiang Mai เหมือนกัน ซึ่งมาจากสถาบันวิจัยสังคม (เป็นทีมของพี่อร) เขามองประเด็นเชียงใหม่ มองเรื่อง Learning City เหมือนกันและส่งไป 2 ทุน ทาง บพท. หรือ เจ้าของทุน เขาตัดสินใจว่าไม่ตัดทั้ง 2 ทุน และให้ 2 ทุนนี้ทำงานร่วมกัน ในปีแรกเราเลยคุยกันว่า เราและเขามองแบบไหน แล้วสรุปประเด็นว่าจะทำอะไรบ้าง ซึ่งปีแรก ฝั่งทีมพี่อร หรือ Learning City ฝั่งวิจัยทางสังคมทำประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ 'เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม' เขาจะทำงานกับเครือข่ายที่เขามี ลงชุมชน เน้นการปรับปรุงพื้นที่ 'สวนน้ำปิง' ที่อยู่บริเวณริมแม่น้ำปิง ปัจจุบันเทศบาลกำลังอยู่ในขั้นตอนการประมูลและปรับปรุงเพื่อสร้างเป็นพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ

ส่วนทีมเราสนใจเรื่อง 'เด็กและเยาวชน' สนใจเรื่องการเข้าสู่พื้นที่ชุมชน เรามองเรื่องราวสิ่งที่เกิดขึ้นในเมืองเก่า ว่ามันเป็นเหมือนหนังสือเล่มใหญ่ที่ไม่ค่อยมีคนเปิด คนที่เปิดส่วนใหญ่เป็นฝรั่งและฝังตัวใช้ศักยภาพของเมืองเก่าโดยเด็กและเยาวชนของเราไม่รู้จักเลยว่า ปัจจุบันเมืองเก่าเราคืออะไร ประวัติศาสตร์ของเราเป็นอย่างไร และที่เพิ่งตระหนักได้คือ มหาดไทยได้ตัดเนื้อหาการเรียนรู้ท้องถิ่นศึกษาออกไป พูดง่ายๆ คือ เด็กเชียงใหม่ไม่ได้เรียนรู้เรื่องของจังหวัดเชียงใหม่ ที่เขาตัดออกเพราะเขาจะปรับให้เป็นเรื่องพลเมืองโลก ซึ่งเป็นนโยบายที่มาจากฝั่งมหาดไทยและกระทรวงศึกษาธิการ ที่เปลี่ยนให้เด็กและเยาวชน Register ตัวเองกับศตวรรษที่ 21 Global Citizen เป็นพลเมืองโลก ทำให้ภาพลักษณ์ความเป็นล้านนาหรือเชียงใหม่ หรือ วัฒนธรรมบ้านเราถูกปรับให้ไม่ได้อยู่ในหลักสูตร ถ้าสนใจก็ต้องไปหาเรียนเอง

จากจุดนั้นจึงเกิดการดำเนินงานของ Learning City ที่ไม่ทับไลน์กันระหว่างพี่อรและผม ที่เป็นสถาปัตย์กับสถาบันวิจัยสังคม เนื่องจากการทำงานที่มองไม่ตรงกันและไม่ทับไลน์กัน การดำเนินงานเลยเป็นแบบคู่ขนาน ผลที่เกิดขึ้นก็แตกต่างกัน พอขึ้นปีที่ 2 เจ้าของทุนเขาบอกว่า ก่อนจะทำ Proposal  ยื่นมา ให้รวมทีมกัน เลยคุยกันว่าจะเอาอย่างไรต่อไปดี เพราะจุดขายและจุดเน้นของเราคนละแบบ ไม่ต่างแต่ก็ไม่ใกล้เคียงกัน วิธีการทำงานที่ไม่เหมือนกัน 100% สุดท้ายเลยให้พี่อรและทีมขึ้นเป็นหัวหน้า และทีมของพวกเราก็เข้าไปเป็นโครงการย่อยในนั้น ปีที่ 2 เลยผนึกกำลังเพื่อต่อยอดจากปี 1 ในบางส่วน เช่น ด้านเศรษฐกิจ เราก็รับไม้ต่อเอามาขยายความเรื่องการเรียนรู้ของคนในชุมชน เรื่องวัฒนธรรม ประเพณี และประวัติศาสตร์ เพื่อทำให้สิ่งเหล่านั้นทำเงินได้ ขณะเดียวกันด้านสิ่งแวดล้อมอาจลดลงเพราะมีทีมอื่นๆ ทำอยู่แล้ว เช่น เขียว สวย หอม , Chiang Mai ART for AIR , สภาลมหายใจเชียงใหม่ เราจึงลดบทบาทลง และดันประเด็นเรื่องเยาวชนกับการเรียนรู้เข้าไป เลยเป็นลูกผสมของ 2 ทีมที่เข้ามาเจอกันในปีที่ 2 และกลายเป็นจุดทำงานของ learning city ปีที่ 2 ที่ชัดเจนขึ้น ณ ปัจจุบัน ควรเป็น learning city ปี 3 แต่เกิดอุบัติเหตุทางการยื่น proposal ทำให้ต้องชะลอออกไป คิดว่าน่าจะยื่นใหม่สิ้นปีนี้

คอนเซ็ปต์โครงการ 'Chiang Mai Learning City' คืออะไร

เราได้ทำการสำรวจเมืองว่า หลังจากที่เราทำงานวิจัยมาแล้ว หรือ ทำกิจกรรมต่างๆ เราทำงานร่วมกับเทศบาลและเทศบาลต้อง Active และ Engage กับสิ่งเหล่านี้ โดยเตรียมข้อมูลเพื่อไปยื่นขอรางวัลให้เข้ากับ Learning City

Award ในการสำรวจครั้งนั้น เราได้ Finding wording ขึ้นมาชุดหนึ่ง ซึ่งมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจด้วย เป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ 'การเรียนรู้บนฐานของวัฒนธรรมเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชนละแวกบ้าน แกนของแนวคิด Learning City ที่เหมาะสมกับเมืองเชียงใหม่ ที่เกิดความชัดเจนและนำไปสู่การพัฒนา มันต้องเป็นการเรียนรู้บนฐานวัฒนธรรม เพื่อชูเรื่องการยกระดับเศรษฐกิจละแวกบ้าน'

เพราะเหตุใด จึงอยากให้เมืองเชียงใหม่ เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ ตามองค์ประกอบของ UNESCO

มันไม่ได้เกิดขึ้นจากการที่ผมอยากให้มันเป็น แต่เป็นโปรดักส์ที่เกิดจากงานวิจัยที่เราได้ เหตุผลคือ ผมอยากทำงานวิจัยชิ้นนี้ อันนี้คือจุดเริ่มต้น เกิดจากตัวผมเองกับทีมที่อยากจะทำ เพราะสิ่งที่เรามองผมว่ามันคล้ายกันกับจุดยืนของเมืองมรดกโลกที่ทีมก่อนหน้าเขาทำ คือเรามองเห็นว่า มันไม่มีทิศทาง ของการพัฒนาที่ชัดเจนที่เกิดขึ้นกับทางหน่วยงานรัฐ ทั้งอบจ. หรือ เทศบาล เขาทำงานแบบรูทีน ยิ่งเราเข้าไปวิเคราะห์ถึงจุดยืนและนโยบายที่มาที่ไปต่างๆ มันไม่ได้เกิดขึ้นจากการสำรวจปัญหา ประเด็น หรือ ความต้องการของคนในชุมชน ไม่ได้เกิดขึ้นจากการสำรวจตามความเป็นจริงว่าเชียงใหม่เป็นอย่างไร แต่เขาทำงานตามรูทีน แล้วต่อยอดจากระบบมหาดไทยส่งตรงลงมาจากยุทธศาสตร์แผน 20 ปี ซึ่งการทำแบบนั้น มันไม่ได้ทำให้เกิดประโยชน์อะไร

UNESCO เหมือนระบบเช็กมากกว่าที่เขาจะให้งบประมาณสนับสนุน มากกว่าเรื่องพลังแรงคน แต่สิ่งที่ UNESCO พยายามจะทำให้เราคือ ถ้าคุณเข้าร่วมในเครือข่ายเขาจะทำให้เราเกิดการเรียนรู้ รู้จักเมืองอื่น เรียนรู้กับเมืองอื่น รู้ว่าของเราเป็นอย่างไรของเขาเป็นอย่างไร ถ้าเราจะทำแบบเขาเราต้องใช้อะไร สิ่งของเราที่ดีที่เราอยากให้เขาดูมันควรเป็นอะไร UNESCO สร้าง Eco System ของการเรียนรู้ ในขณะที่เราเป็นผู้ปฏิบัติ

“สุดท้ายแล้วภาครัฐ ท่านนายกที่เราเลือกตั้งเข้ามา หรือ ผู้ว่าที่แต่งตั้งเข้ามา แทบจะไม่มีบทบาทในการนำชุมชน หรือ นำเมือง เราเลยมองเห็นความขาดแหว่งของส่วนต่างๆ จุดนี้เลยหนุนเข้ามาในประเด็นแรกที่เราต้องทำงานวิจัย มันเลยกลายเป็นเชื้อเพลิงที่ทำให้เราอยากทำ และมีความหวังว่าถ้าทำออกมาได้เมืองน่าจะดี UNESCO เขาไม่ได้ให้อะไรเราเลยครับ เขาสร้างวิธีการคิดและกรอบกติกาในการอธิบาย เหมือนการตรวจเช็กสภาพกลไกต่างๆ และกลไกแต่ละกลไกมีใครดูแลบ้าง มีหน้าที่อะไรบ้าง และเขารู้ตัวไหมว่าเขาทำอะไรลงไป แล้วถ้าไม่เวิร์กต้องเปลี่ยนแปลงตรงไหน”

พิสูจน์ตัวเองเพื่อทำงานร่วมกับเทศบาลกว่า 3 ปี!

ผมเป็นนักวิจัยที่ต้องทำงานร่วมกับเทศบาล เพื่อทำให้เทศบาลเห็นว่าสิ่งที่เราทำอยู่เราไม่ได้มากวนงานเขานะ แต่ที่เขาทำเป็นระบบกลไกแบบเช้าชามเย็นชาม ตามกรอบงบประมาณ หรือ ตามสิ่งที่เข้าใจ การที่เราจะปรับเปลี่ยนความคิดเขาได้ เราต้องทำให้เขาเชื่อใจก่อน แต่ที่ผ่านมาเทศบาลเขาก็กังขาซึ่งยาก เพราะเขาเชื่อในสิ่งที่เขาเคยทำ เกิดจากการที่เขาถูกตรวจสอบจากสตง.แล้วผ่าน ถ้ามันมีอะไรใหม่ๆ เกิดขึ้นเขาก็ทำไม่ได้หรือก็กลัวจะถูกตรวจสอบ เขาเลยไม่ทำและทำแบบเดิม รับรองได้ฉันไม่ผิด

ในกรณีที่เราต้องเปิดให้เขาเชื่อใจ เขาต้องเห็นว่าเราทำอะไรและต้องรับฟัง ตรงนี้ยากที่สุดในโลก ผมใช้เวลาพิสูจน์ตัวเอง 3 ปี ปีที่ 3 มันเริ่มค่อยๆ เข้าไปคุยได้ ซื้อความเชื่อใจ แต่ก็ไม่ถึง 100% เพราะมีโครงข่ายงานวิจัยร่วมกับเทศบาลด้วย แกนกลางของเทศบาลเองก็ไม่ค่อยเสถียร เนื่องจากลิงก์มาจากด้านบนและเขาไม่ได้คิดเอง คนที่จะดึงมาทางนี้เขาก็หวงว่าจะไปตีกับกลุ่มอื่นไหม กลายเป็นเลือกที่รักมักที่ชัง เป็นการสร้างศัตรูโดยไม่จำเป็น และเขาก็อยู่ตรงกลางนิ่งๆ เอาไว้ ไม่เจ็บตัวไม่ผิด งบประมาณก็ได้ ผมว่านี่คือปัญหาของเทศบาลเกือบทุกที่ ถ้าแกนกลางไม่แข็งพอก็จะเป็นแบบนี้ นักวิจัยก็จะไม่ได้อะไรเลย สุดท้ายเราก็มองหน้ากันเอง ทำเพราะอยากทำ ทำเพราะรักเมือง ทำเพื่อเด็กและเยาวชน

และพอเราวิ่งไปหาหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ผมทำงานร่วมกับ กศน. ทำงานร่วมกับห้องสมุดประชาชน เขาอยากจะทำโน่นนี่เต็มไปหมด แต่ด้วยระบบโครงข่ายของเขา เขาไม่ได้สังกัดเทศบาล เขาสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ กระบวนการตรงนี้เลยมีกฎของหน่วยงาน เทศบาลจะเอากับเราไหม เราเอาแน่แต่เทศบาลยังไม่ชัวร์ และใครจะมาทำกับเรา นี่คือปัญหา เพราะเขารู้ว่าการเคลื่อนของเขาภายใต้กระทรวงมันยากมาก ภายใต้เทศบาลก็ยาก ทุกอย่างเลยคาราคาซัง ง่อยๆ แบบนี้

ทำไมจึงมุ่งเน้นเรื่อง 'เศรษฐกิจละแวกบ้าน' กับ 'นิเวศการเรียนรู้'

'เศรษฐกิจละแวกบ้าน' จะทำเรื่องทำอย่างไรก็ได้ให้ชุมชนทำเงินได้อย่างไร จึงขยายกิจกรรมออกมาเป็น ตลาดต้นแบบ โมเดลที่ตลาดหรือชุมชนสามารถสร้างเทศกาลของตัวเอง ทำให้ตัวเองหาเงินได้ สร้างงานเฉพาะในตัวชุมชนเพื่อที่จะทำให้กลายเป็นชิ้นงานออกมาบางอย่าง ส่วนเรื่อง 'นิเวศการเรียนรู้' จะทำเรื่องการต่อเชื่อม เรื่องของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบการเรียนรู้ เรื่องการชวนให้เกิดการทำงานร่วมกันของหน่วยงานกลุ่มนี้ เราเจอคีย์ 3 บุคคล ที่สำคัญคือ 1.บรรณารักษ์ เราทำงานร่วมกับหน่วยงานมหาลัยและห้องสมุดต่างๆ 2.ครูแนะแนว 3.เยาวชนตื่นรู้ 3 กลุ่มนี้เป็น Chef Agent ที่เกิดขึ้นในระบบการเรียนรู้เมือง ถ้าทำงานร่วมกับ 3 กลุ่มนี้ได้ จะทำให้เกิดการกระจายข่าวสาร กระจายความเชื่อมโยง ความสัมพันธ์ เหมือนแผ่รังสีออกไป

ในการปักอะไรสักอย่างมันยากมากเพราะหน่วยงานต่างๆ แต่ละที่อยู่คนละระดับกัน ห้องสมุดต่างๆ และหน่วยงานต่างๆ เขาไม่คุยกันเลย เขาคุยแค่ในฐานะการดีลงานกันแต่ไม่ได้ทำงานร่วมกัน จัดกิจกรรมร่วมกันน้อยมาก เพราะไม่รู้จะทำทำไม ฉันอยู่คนละหน่วยงาน เราเลยชวนเขาให้ลองมองคอนเทนต์ที่พูดถึงงานยี่เป็ง ลอยกระทง ฝั่งเศรษฐกิจละแวกบ้านก็ไปตีความว่าชุมชนจะทำอะไร ขายอะไร โชว์อะไร จะทำเงินอย่างไร นิเวศการเรียนรู้เอายี่เป็งมาเล่นไหม เช่น จัดนิทรรศการ หรือ ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติลองเอาประวัติยี่เป็งมาเล่าไหม TCDC อาจมีการประกวดหรือออกแบบอะไรสักอย่าง โดยที่มีคอนเทนต์เดียวกันแล้วให้มันไปด้วยกันทั้งหมด ซึ่งเราพยายามทำแบบนี้และเราก็ทำ 2 ครั้ง คือ ยี่เป็ง กับ สงกรานต์ แต่ภาพลักษณ์ของสงกรานต์เชียงใหม่มันไม่ใช่นางนพมาศสวยๆ นิ่งๆ ช้าๆ แต่เป็นการสาดน้ำแรงๆ เมามัน สนุกสนาน ดังนั้น การเรียนรู้ส่วนของสงกรานต์ค่อนข้างยาก การดึงคนในชุมชนให้เข้ามาเรียนรู้ก็ยิ่งยาก แต่ยี่เป็งเวิร์กมาก เพราะเกิดกระบวนการทำงานหลายจุด รวมทั้งกิจกรรมต่างๆ ครับ

“เราเน้นเรื่องการเรียนรู้เมืองเก่า การเรียนรู้ชุมชน ในปีแรกเราทำกับ 3 ชุมชน คือ ป่าห้า ช้างม่อย ควรค่าม้า และมี 3 กลุ่มของเด็กและเยาวชน เด็กเล็ก มัธยมต้น และกลุ่มที่เข้าเรียนมหาลัยแล้ว อันนี้คือปี 1 ส่วนปี 2 จะออกมา 2 โครงการย่อย ขาหนึ่งเน้นเรื่องเศรษฐกิจละแวกบ้าน กับ นิเวศการเรียนรู้ 2 อันนี้จะทำงานคู่กันในปี 2”

โครงข่ายท้องถิ่นกับการเรียนรู้เมืองเชียงใหม่ 'Chiang Mai Local Network of Learning City'

ย้อนกลับไปที่คัมภีร์ของ UNESCO เขาพูดถึงกลไก หรือ ฟันเฟืองแต่ละอันที่มันหมุน ว่าถ้าอยากสำเร็จต้องมีกลไกหรือฟันเฟืองกี่ชิ้น ถ้าขาดชิ้นใดชิ้นหนึ่งไป กลไกพวกนี้จะไม่เวิร์ก ดังนั้น เราสามารถที่จะไปเจอว่ากลไกของเมืองเราเอง อะไรใหญ่ อะไรเล็ก อะไรวิ่งเร็ว และอะไรต้องวิ่งตาม ในเมืองเชียงใหม่มี 3 กลไกที่แข็งแรงมาก คือ

'วัฒนธรรม' ถึงแม้จะอ่อนลงไป ต่อนยอนลงไป ไม่ค่อยหวือหวาเท่าเดิม แต่มันแฝงเข้าไปอยู่ในระบบวิถีชีวิตของผู้คน ซึ่งถ้าเราสามารถกระตุ้นให้เขาคิดถึงได้ มันยังมีความสดสวยและสดใสอยู่ในนั้น

กลไกต่อมาคือ 'เยาวชน' เนื่องจากเมืองเชียงใหม่โดยเฉพาะในเขตเทศบาลเป็นเมืองมหาลัยและมีโรงเรียนสำคัญเยอะมาก ดังนั้น เยาวชนในเมืองเชียงใหม่คือ Key Person ที่เราต้องไป Grooming เพราะหลังจากเราทำกิจกรรมบางอย่างไป หรือ เวิร์กช็อปต่างๆ เด็กบางคนไม่เคยรู้เรื่องพวกนี้เลย เราพาเขาไปเดินในชุมชน มีประวัติชุมชน และให้ความสำคัญกับบุคคล เขาบอกกลับมาว่าจะกลับไปเรียนรู้ชุมชนของตัวเองบ้าง ปัจจุบันเขาแค่อยู่อาศัยไม่ได้สนใจอะไรเลย แสดงว่าการ Grooming ของเด็กและเยาวชนมันค่อยๆ ห่างออกไปเรื่อยๆ และถูกตัดในประเด็นท้องถิ่นศึกษาออกยิ่งไปกันใหญ่

สุดท้ายคือเรื่อง 'ชุมชน' เพราะถ้าเชียงใหม่ขาดสิ่งนี้ไปมันไม่เหลืออะไรเลย ถึงแม้ว่าวัดเยอะมาก แต่ถ้ามันไม่มีคน ไม่ว่าจะย่านกลางเมืองหรือเวียงเก่า มีแต่นักท่องเที่ยวแล้วเขาจะมาที่นี่ทำไม ตึกเก่าไม่มี กำแพงเมืองที่ทำขึ้นมา โบราณสถานก็ง่อยๆ เมืองเทียบกับเมืองอื่นๆ ที่ขึ้นกับ UNESCO ของโลก เชียงใหม่มีความเป็นชุมชนที่ทำให้เมืองยังมีเสน่ห์อยู่ มันยังมีคนจริงๆ ที่อยู่ ถึงแม้เราไม่ได้ใส่เหมือนเดิม เราไม่ได้แต่งตัวผ้าเมือง แต่มันยังมีความน่ารักของคนเชียงใหม่อยู่ในชุมชน ซึ่งผมมองว่าลักษณะเหล่านี้คือคาแรกเตอร์ที่มองจากสายตาคนนอกเขาเห็น แต่คนในเราไม่ค่อยเห็น เพราะมันใกล้เกินไป

ผมว่า 3 ฟันเฟืองนี้สำคัญ แต่มันกำลังแตกร้าวหรือผุกร่อนรึเปล่า ผมไม่ได้อินกับความเป็นล้านนาเพราะค่อนข้างเมืองสมัยใหม่มากๆ แต่ผมเคารพเขาและไม่รู้จักเขา เยาวชนเราต้อง Grooming เพราะเจอ Pain Point แล้ว แต่ตัวชุมชนยากมากที่จะ Grooming เพราะคนในชุมชนมีแต่ป้าๆ แม่ๆ ที่อายุมาก ที่คอยดู คอยสนับสนุน และเป็นกรรมการชุมชน วัยรุ่น เด็ก หรือ คนวัยทำงานไม่ได้สนใจ เพราะเขาออกไปทำงานหาเงินกันหมด สังเกตได้จากตอนไปประชุมมีแต่คนมีอายุ จึงทำให้ความเป็นชุมชนที่เหมือนแกนกลางในการดูแลเมืองเริ่มพังและแตกหักลง ทำให้คนในชุมชนไม่รู้จักกัน กฎกติกาในชุมชนไม่มีต้องไปอาศัยกฎหมาย

เช่น ชุมชนช้างม่อยตีกันเรื่องการเปิดผับบาร์ คนที่เปิดก็จะเปิดและคิดว่าตัวเองเปิดได้เพราะสรรพสามิตเขาให้เปิด แต่ชุมชนก็บอกตัวเองว่าอยู่ตรงนี้มานานแล้ว ส่งเสียงรบกวนพวกเขา สุดท้ายต้องมาคุยเรื่องเดซิเบล กฎหมายก็ทำอะไรไม่ได้แล้ว เพราะมันต่ำกว่าเดซิเบลแต่กวนใจพวกเขา ไม่มีผังเฉพาะหรือการวางกฎกติกาในชุมชน สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่กัดกร่อนเมืองและมันกำลังพังลงเรื่อยๆ ถ้าไม่ทำอะไรบางอย่างเจ๊งแน่ๆ มันจะกลายเป็นเมืองใหม่ เหลือแต่วัดสวยๆ เดินถ่ายรูป และสิ่งปลูกสร้างที่จำลองขึ้นมา

ทำงานร่วมกับใครบ้าง มีเครือข่ายหรือภาคีใดบ้าง?

สิ่งหนึ่งของ Learning City คือการสร้างเครือข่าย ต้องยอมรับว่า Learning City ไม่ได้มีมานาน แต่เครือข่ายที่ทำงานด้วยเขามีมาก่อนหน้านี้เยอะมาก เช่น เครือข่ายการประชุมบรรณารักษ์ ซึ่งมีมานาน แต่ปัญหาคือ เขาคุยกันเอง แต่ถ้าถามว่าเขาจะมาทำอะไรกับเด็กและเยาวชนเขาไม่ทำ เรามีหน้าที่เอาเครือข่ายนั้นมาเชื่อมกับเครือข่ายนี้แล้วทำให้มันใหญ่ขึ้น และเราพยายามจะสร้างอีกอันคือ 'เครือข่ายพื้นที่การเรียนรู้เมืองเชียงใหม่' ซึ่งยังไม่เกิด และพยายามเชื่อมโยงกับเครือข่ายเศรษฐกิจ เช่น การทำให้เมืองเชียงใหม่เป็น  MICE City การจัดประชุมท่องเที่ยว หรือ สเตปของ TCDC พวกนี้จะเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เมือง และการออกแบบ ทำให้เศรษฐกิจเมืองเดิน กรมการค้าพาณิชย์ หรือ ททท. เราพยายามเชื่อมตรงนั้นด้วย

“ผมคิดว่า Learning City เข้าไปเรียนรู้จากเครือข่ายเหล่านี้ด้วยความอ่อนน้อมพอสมควร และพยายามจะบอกว่าถ้าแต่ละเครือข่ายมาเจอกันกลไกมันเคลื่อน แต่ถ้าไม่เจอกันก็หมุนคนละที่คนละทิศทาง เราจึงพยายามไปตามหากลไกทั้งหลายหรือสิ่งอื่นๆ ที่กำลังหมุนอยู่เยอะพอสมควร”

ใช้กลไกหรือเกณฑ์ใด ในการเลือกและกำหนดทิศทางการเรียนรู้ของเมืองเชียงใหม่ ให้เหมาะสมกับความหลากหลายของผู้คน

เริ่มต้นคือ เราอาศัยเกณฑ์ UNESCO ก่อน เพราะเขาจะเขียนไว้ว่ามีกฎกติกาอะไรบ้างที่ควรจะต้องตระหนัก ซึ่งสิ่งนั้นมันไม่ได้บอกเราโดยตรงว่าเราต้องทำแบบนี้ เราจึงต้องสกัดวิธีการของเราในเมืองเชียงใหม่ ซึ่งเบสเหล่านี้เกิดจากทีมพวกผมเป็นสายเมือง สายสถาปัตย์ เราจึงมองเรื่องตำแหน่งแห่งที่ สมมุติจะสกัด Formula ตัวนี้ เปรียบเป็นน้ำมนต์แล้วกัน กระถางใบใหญ่เปรียบเหมือน UNESCO ส่วนผสมที่เราจะหยิบมาใส่ สิ่งเรียกคือความถนัดของพวกเราคือ เรื่องเมือง สถาปัตยกรรม การเปลี่ยนแปลง ใส่เข้าไป ส่วนต่อมาคือ เราพบความสำคัญของเมืองเชียงใหม่ที่เกิดขึ้นจากสแกน พูดคุย หรือ ผสมทีมในการทำงานตอนปี 1 มีการคุยกันของกลุ่มเชียงใหม่หลายๆ คน ที่เรียกว่า Chiang Mai Forum และพบเจอว่ามันมีประเด็นอะไรที่น่าสนใจ นั่นก็คือ เรื่อง เด็ก และ เยาวชน ใส่เข้าไป ส่วนที่ 3 คือ ชุมชน ใส่เข้าไป หลังจากนั้นก็ใส่วัฒนธรรมเพิ่มลงไป แสดงว่ามี 4 ก้อน เราเปรียบเหมือนตะแกรงที่คอยเขย่าเพื่อให้ได้ Formula ตัวนี้ เราเรียกสิ่งนี้ว่า 'กระบวนการสกัดวัฒนธรรม' โดยใช้ตัวนี้มองหารายละเอียดต่างๆ ในแต่ละชุมชน

เราเก็บเรื่องเมืองและประเด็นต่างๆ ที่เราเจอตอนทำ Forum และมีโครงการย่อยหลายโครงการที่อาจารย์ช่วยดู จะได้ People คน Place เมืองและสถาปัตยกรรม Objects ของที่เล่าเรื่องชุมชน Memory เรื่องประวัติศาสตร์ โดยไปหยิบจับจาก 3 ชุมชนที่เราทำงานร่วมกันคือ แล้วเอามาทำเป็นกิจกรรมการเรียนรู้ให้เด็กและเยาวชน พาเข้าไปศึกษาจริงๆ และให้เขาตีความออกมาเป็นงานศิลปะ ว่าเขาพบเจออะไร หลังจากนั้นก็ทำเป็นแพลนออกไปว่ามีอะไรบ้าง ในขณะเดียวกันเราทำคอนเทนต์ลงเฟสบุคด้วย เราเสริมกำลังการเรียนรู้เรื่อง 'ท้องถิ่นศึกษา' เข้าไปด้วย

ปี 2 รวมทีมกันเป็น 1 ภายใต้การทำงาน 3 ชุมชน ล่ามช้าง ช้องม่อย ควรค่าม้า เน้นประเด็นเรื่องเศรษฐกิจและนิเวศการเรียนรู้ โดยให้เด็กและเยาวชนเข้าไปเรียนรู้โดยทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อดึงความเป็นชุมชนเข้าไปสู่นิเวศการเรียนรู้

'กระบวนการเรียนรู้ที่ดี' ที่ช่วยส่งเสริมและผลักดันให้เมืองเชียงใหม่เป็น 'เมืองแห่งการเรียนรู้' คืออะไร

ถ้าตอบแบบไม่โลกสวยเลยคือ ความเอาจริงเอาจังของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ผมว่าอันนี้คือ Pain Point ที่ทำให้กลไกทั้งหมดมันหยุดชะงัก เทศบาลคือสิ่งที่ขับเคลื่อนตัวใหญ่และมีหลายๆ ฟันเฟืองไปปักอยู่ในนั้น ฟันเฟืองใหม่เอี่ยมนะครับทุกตัว แต่เครื่องไม่ทำงาน นักวิจัยคือน้ำมันจาระบีที่เข้าไปทำให้แต่ละอันเคลื่อนที่และหมุนเร็วหมุนลื่น แล้วถ้าข้างล่างมันอืดข้างบนมันจะวิ่งได้อย่างไร ซึ่งแก้ยากมาก

“Chiang Mai Learning City คือ กลไกหรือฟันเฟือง ที่มันวิ่งๆ กันอยู่ ถ้ากลไกใดกลไกหนึ่งมันหลุดหรือแตกไป มันจะทำให้การทำงานต่างๆ ไม่หมุนไป โดยมีจุดเด่น หรือ จุดแข็ง คือคน ชุมชน วัฒนธรรม”

ความท้าทายในการทำงานร่วมกับ 3 ชุมชน

ความท้าทายของการทำงานร่วมกับ 3 ชุมชน คือ ความล่มสลายของระบบโครงสร้างชุมชนกับความเป็นชุมชนที่เริ่มจะหายไป คือ ปัญหาหลัก เพราะหลังจากนั้นแล้ว มันจะกลายเป็นความแปลกหน้า ไม่มีระบบที่สามารถดูแลซึ่งกันและกันได้ โดยที่ไม่ต้องพึ่งพาอำนาจรัฐ มันจะกลายเป็นความอ่อนแอของผู้คนในเมืองที่ต้องพึ่งกฎหมายอย่างเดียว ซึ่งกลายเป็น Pain Point ที่สำคัญมากของฟันเฟืองที่เรียกว่าชุมชน ทางแก้คือ ความเอาจริงเอาจังของภาครัฐ ต้องมีการลงไปคุย ให้กำลัง เสริมกำลัง กระตุ้นให้เกิดความเข้าใจ และการอยากทำงานชุมชน

เทศบาลมีขาอันหนึ่งที่ยื่นออกมาคือ หอศิลป์ ซึ่งเขารับผิดชอบเรื่องการสร้างความร่วมมือของชุมชน ปีก่อนๆ เขาก็ทำงานตามระบบที่เขาเข้าใจ ออกไปทำความรู้จัก สร้างความคุ้นเคย สนับสนุนงบประมาณ กำลัง และสถานที่ แต่ปีนี้เขามีกิจกรรมที่เด่นมากและน่าตื่นตาตื่นใจ คือ เขาอยากให้แต่ละชุมชนยื่นเสนอมาว่าอยากจะทำกิจกรรมอะไร ในลักษณะที่เป็นเทศกาลชุมชนของตัวเอง เช่น ควรค่าม้า เขามีเทศกาลทุกปีช่วงเดือนธันวาคม คือ กินหอมตอมม่วน เทศบาลก็จะสนับสนุนงบและยกชูให้กลายเป็นเทศกาลของชุมชน คำถามคือชุมชนอื่นๆ ไม่อยากทำแบบนี้บ้างเหรอ? ถ้ามีก็อยากให้ส่งเพื่อไปประกวดแล้วเลือกที่เด็ดที่สุดเพื่อให้รางวัล เพื่อก่อให้เกิดการกระตุ้น ซึ่งปีนี้สิ่งนี้เกิดขึ้นแน่นอน แต่ไม่รู้ว่ารูปแบบไหน ซึ่งโปรเจกต์นี้ launch ออกไปแล้ว

เด็กและเยาวชน เรื่องท้องถิ่นศึกษา สำคัญมาก ซึ่งทำให้เขาหลุดออกจากความเป็นชุมชนและพื้นที่มากๆ ถ้าเขาไม่ได้เรียนรู้เรื่องท้องถิ่นศึกษา ซึ่งในโซเชี่ยลมีคอนเทนต์เยอะมาก แต่มี 2 ขั้ว แบบแรกคือต๊ะต่อนยอน รีเจนซี่ สวยๆ กับอีกแบบคือ ย้อนกลับไปตั้งคำถามว่าล้านนาคือประเทศ เหมือนพยายามบอกตัวเองว่าฉันเป็นประเทศเชียงใหม่ ซึ่งน่ากลัวว่าเด็กและเยาวชนจะรับรู้เรื่องท้องถิ่นศึกษารูปแบบไหน

วัฒนธรรม มันแข็งเกินไปแต่กลายเป็นจุดเด่น เช่น การฟ้อนรำ 500 คน พิธีบวงสรวง หรือไหว้ศาล มันดีนะ เพราะทำให้แกนวัฒนธรรมแข็งแรง เรามีโฮงเฮียนสืบสานล้านนาที่ต่อยอดองค์ความรู้ แต่ก็ส่งผลกระทบให้หลายคนเข้าถึงไม่ได้ มันแข็งเกร็งจนทำให้เด็กและเยาวชนไม่อยากยุ่ง จะทำอย่างไรให้มีจุดประสานร่วมกันซึ่งเป็น Pain Point และจุดท้าทาย ทำอย่างไรให้รูปแบบการสื่อสารทางวัฒนธรรมดึงดูดความสนใจ แต่ไม่บิดเบี้ยวคอนเทนต์ของมัน ผมว่ามีหลายๆ คนและหลายทีมพยายามทำเรื่องเหล่านี้อยู่ครับ

ฟีดแบ็กเป็นอย่างไรบ้าง

อยากให้ 'ภาครัฐ' เข้ามาเป็นสื่อกลางเรื่องความเข้าใจ เพราะตอนนี้เขาเข้าใจน้อยมาก เขาจะเปิดโอกาสให้เปลี่ยนระบบของการยื่นงบประมาณแผนกิจการหรือแผนโครงการ ถ้าเขาไม่เข้าใจประเด็นเหล่านี้จะไม่เกิดเลย แค่เข้าใจ รับฟัง เปิดใจ เอาจริง ถ้าไม่เอาก็บอกว่าไม่เอา และบอกด้วยว่าต้องทำอะไร ปัญหาของเทศบาลคือเขาไม่ได้พรีเซนท์ว่าอยากจะนำเสนออะไรเกี่ยวกับเมือง เขาทำให้ชีวิตของคนที่อยู่ในเมืองดีหมดทุกด้าน เลยไม่เด่นสักด้าน แต่ในขณะเดียวกันควรยกอะไรสักอย่างเพื่อให้กลายเป็นจุดเด่นของเขา เช่น ประวัติศาสตร์ พื้นที่สีเขียว แต่เขากลับเน้นทุกด้าน

'ภาคประชาชน' เขารู้ว่าต้องทำ เขาจึงให้ความสำคัญมาก เพราะ Pain Point ที่ผมพูดมาจากสิ่งที่เราไปคุยมา แต่ด้วยข้อจำกัดด้านงบประมาณ เวลา ตัวผมเป็นนักวิจัยและเป็นอาจารย์ ผมเลยทั้งสอนหนังสือและทำอันนี้ด้วย ผมจึงมองเป็น 1 ภารกิจที่จำเป็นต้องทำ ในขณะเดียวกันก็มีภารกิจอื่นเหมือนกัน อย่างน้อยต้องบาลานซ์ด้วย แต่ชาวบ้านชุมชนเขาแฮปปี้

หัวใจสำคัญของการทำโครงการนี้คืออะไร

ผมอยากให้เมืองมันดีขึ้น ง่ายๆ แค่จิ๊ดเดียวเลย เพราะผมรักเมืองเชียงใหม่ เพราะมันมีความน่ารักของมัน ซึ่งผมมองว่าปัจจุบันนี้มันค่อนข้างทรุดโทรม ทั้งในเชิงจิตวิญญาณของเมือง ความโดดเด่น ผมอยากให้เมืองแข็งแรง เพราะผมเชื่อว่า กลไกการเรียนรู้ที่กำลังทำ มันทำให้ Pain Point ที่พวกเรา Finding ลดลง มันจึงเป็น 1 ในปัจจัยที่ทำให้ฟันเฟืองมันเปลี่ยน เลยเป็นความหวังที่อยากจะทำ งานวิจัยประเภทนี้เงินน้อยมาก งานใหญ่ ต้องการคนเยอะ การจัดการเยอะ แต่งบประมาณที่ให้น้อย มันเกี่ยวกับความเปิดใจของหน่วยงาน ถ้าหน่วยงานรัฐเปิดใจ การทำงานขับเคลื่อนไปข้างหน้า สิ่งที่เกิดขึ้นคือ สภาวะลื่นไหลในการทำงาน

อีกนานไหม ที่เราจะได้เห็น 'เชียงใหม่เป็นนครแห่งการเรียนรู้แบบพลวัตที่ยั่งยืน'

ผมตอบไม่ได้เลยว่าจะได้เมื่อไร ถ้ามอง 2 มิติ คือ มิติแรกเอาการได้รางวัลมาเป็นเกณฑ์ ซึ่งเริ่มในการเตรียมข้อมูลเพื่อยื่นขอแล้ว แต่ยังไม่เดินหน้า เลยไม่รู้ว่าเมื่อไรจะยื่นได้ แต่ในขณะเดียวกันมิติของการเรียนรู้เมือง ตอนนี้ทุกคนพยายามทำอย่างมาก มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก็สร้างการเรียนรู้ออนไลน์ การเรียนรู้ต่อเนื่อง การเรียนรู้แบบเรียนเก็บเครดิตได้ เรียนใหม่ได้ ไม่มีระยะเวลากำหนด ผมรู้สึกว่าแต่ละที่พยายามทำให้มีการขับเคลื่อนของการเรียนรู้ใหม่ๆ ห้องสมุดประชาชนกศน. ที่ทำงานอยู่ด้วยเขาก็มีการปรับปรุงพื้นที่ให้สวยงาม รวมทั้งที่ต่างๆ ก็พยายามสอดแทรกสิ่งเหล่านี้ออกไป ในเรื่องการเรียนรู้ตลอดชีวิต เริ่มมีความเข้าใจมากขึ้นว่ามันไม่ใช่การนั่งเรียนตลอดชีวิต แต่เป็นการนั่งมองแต่ละอย่างว่าเราต้องเรียนรู้อะไร ผมคิดว่ามุมมองเหล่านี้กำลังเคลื่อนไป จะเคลื่อนไปจากกลไกของตัวเอง หรือ จะเคลื่อนไปด้วยการวางแผน ซึ่งแบบการวางแผนจะทำให้เร็วและกระชับตรงเป้า

“70% หมายความว่าคนเริ่มรู้จัก Learning City พอสมควร เทศบาลบางคนก็รู้จัก บางคนก็ไม่เข้าใจว่าคืออะไร ในกระบวนการขอรางวัลก็ยังไม่ขับเคลื่อนไป”

คิดว่า 'เมืองเชียงใหม่' ต่อจากนี้ไป จะเป็นอย่างไรต่อไป

เชียงใหม่เหมือนลูกบอลลูกใหญ่ที่ถูกเตะไปมา มองว่าเป็นเมืองคราฟต์แต่ก็มีบางคนที่ไม่สนใจงานฝีมือที่ชาวบ้านทำ ตอนนี้วัวลายก็เงียบ บ้านถวายก็เงียบ แล้วมันจะอย่างไร เชียงใหม่ถูกมองว่าเป็นเมืองมรดกโลก แต่อบจ.นิ่งๆ งงๆ ไม่ทำต่อ เชียงใหม่ถูกมองว่าเป็นเมือง MICE City เน้นท่องเที่ยวและประชุม แต่ศูนย์ประชุมแห่งใหม่ก็ง่อยมาก ใหญ่แต่ฟังกชั่นไม่ได้ จัดประชุมวิชาการไม่เวิร์ก ระบบเสียงมีปัญหา เชียงใหม่ถูกมองว่าเป็นเมืองที่อากาศดี ก็หันกลับไปดู ช่วงกุมภาฯ มีนาฯ เมษาฯ สิ บรรยากาศสีม่องเข้มมองไม่เห็นอะไรเลย หรือ ถูกมองว่าเป็น Smart City เชียงใหม่จึงเหมือนลูกบอลที่ถูกเตะไปมาโดยที่คนอยากจะเตะไปไหนก็ได้

เลยทำให้ความหวังว่าเชียงใหม่จะเป็นอย่างไรผมตอบไม่ได้จริงๆ มันนึกไปไกลมากไม่ได้ ทำให้รถโมโนเรลเชียงใหม่ไม่เกิด สนามบินนานาชาติแห่งที่ 2 ก็ไม่เกิด เชียงใหม่จะเป็นอะไร คนเชียงใหม่ยังไม่รู้เลย คือ เหมือนแค่ทำให้ตัวเองลืมตาอ้าปากเอาตัวรอดก็พอแล้ว แต่จะหวังเป็นเมืองอนาคต เป็นเมืองที่คนชุบมือเปิบได้ คนจีนชอบ สายการบินถึง แต่ถ้าถามว่าตัวเองอยากเป็นอะไรแต่ละคนก็ตอบไม่เหมือนกัน บางคนเขาแค่ต้องการให้เลิกเผา บางคนอยากให้เศรษฐกิจกลับมาอู้ฟู่เหมือนเดิม ณ ตอนนี้ตอบยากมากสำหรับผม มันไม่ชัดขนาดนั้น และงงว่าจะไปทางไหน เขาพูดออกมาเฉยๆ ว่าเป็นเมืองแห่งความสุข แล้วไงวะ? (หัวเราะ) ความสุขที่ว่าคืออะไร ผมคิดว่ามันทำให้คนในเมืองถูกย้อมไปด้วยวาทะกรรมแปลกๆ จนทำให้เราเบลอๆ และต้องอยู่ไปแบบนั้น ไม่ค่อยมีความหวังเท่าไร แค่ทำให้แต่ละวันดี

“ผมเองไม่มีอำนาจที่จะไปหมุนฟันเฟืองทุกอย่างพร้อมกัน เป็นเพียงกาวตราช้างที่มันปิดรอยแตกแค่นั้นเอง เพราะเราไม่ได้เป็นคนที่อยู่ในอำนาจ เราทำได้แค่บอกว่ามีรอยแตกและต้องซ่อมนะ”