เล่าเรื่องดนตรีแบบเชียงใหม่ ผ่าน Chiangmai Original

ถ้าพูดถึงเชียงใหม่ หลายคนก็คงนึกถึง ดอยสุเทพ ดอยอินทนนท์ แต่ถ้าพูดถึงแวดวงเพลงเชียงใหม่ ชา Harmonica Sunrise หรือ สุพิชา เทศดรุณ นักร้อง ศิลปิน นักแต่งเพลง และคนจัดงานดนตรี เขาคืออีกส่วนหนึ่ง ที่ช่วยขับเคลื่อนแวดวงดนตรีของ Chiangmai แบบ Original ภายใต้งาน "เชียงใหม่โฮะ ! ครั้งที่ 1" เมื่อวันที่ 12 - 14 กุมภาพันธ์ 64 ที่ผ่านมา

Chiangmai Original

"เกิดจากไอเดียร่วมกับเพื่อน ๆ ที่อยากสร้างมูลค่าให้กับศิลปินเชียงใหม่ที่มีเยอะและหลากหลายแนว สามารถดำรงอาชีพอยู่ในฐานะศิลปินได้ และอยู่ได้ด้วยเพลงของตัวเราเอง โดยมีงานดนตรีที่เล่นเพลงของตัวเองได้เรื่อย ๆ มี Festival ใหญ่ ๆ เป็นของตัวเองภายในจังหวัดเชียงใหม่ พอไอเดียมา เพจก็มาทันที เริ่มทำเพจ ออกแบบโลโก้ และเปิดเพจได้ประมาณ 3 ปี โดย 3 ปีที่แล้ว เคยจัดงานเล็ก ๆ ชื่อว่า "Chiangmai Original" และเริ่มเคลื่อนไหวและเริ่มทำกิจกรรมจริง ๆ ก็คือปีนี้"

 เชียงใหม่โฮะ ! ครั้งที่ 1

"ผมนำเงินที่ได้จากการขายกระเป๋าผ้าจากงาน Chiangmai Original มาต่อยอดทำงานดนตรีต่อ โดยทำรีเสิร์จกูเกิ้ลฟอร์มสอบถามคนที่เป็นนักร้องนักดนตรีในเชียงใหม่ว่า ถ้าจัดงานดนตรีอีกอยากจะมาเล่นกันไหม? ปรากฎว่าคนมาตอบเป็นหลักร้อยวง! พอคลายโควิดช่วงมกราฯ เลยรู้สึกว่าอยากจัดงานดนตรี จึงชวนวงเพื่อน ๆ อย่าง คูเมือง สนิมหยก เชียงใหม่บูลส์ ทุกคนอยากเล่นมาก เพราะไม่ได้เล่นดนตรีมานานมาก พอไม่มีนักท่องเที่ยวเศรษฐกิจมันก็ตกไปเลย มันนิ่งสงบไปเลย มันยังไม่เปิดเมืองเต็มที่จริง ๆ นักท่องเที่ยวต่างประเทศก็ยังไม่ได้มา เรารู้สึกว่า เรามีศิลปินอยู่เชียงใหม่เยอะมาก ทำไมเราไม่มาสนุกกันเอง"

จากงานดนตรี 10 วง 1 วัน กลายเป็น 33 วง 3 วันเต็ม ๆ   

"เห็นเพื่อน ๆ ไม่มีงานเล่นดนตรี เพราะอีเวนท์ คอนเสิร์ตงดหมด ก็เลยคิดว่า เล่นกันเองในจังหวัดเชียงใหม่ไหม เล่นให้พ่อค้าแม่ค้าดู คือ พยายามทำเสียงดนตรีให้เกิดความรื่นเริง มาสนุกกันเดี๋ยวนักดนตรีเล่นให้ฟัง ก็เลยคิดว่า จัดดีกว่า งานสักวันหนึ่งรวมวงเพื่อน ๆ ประมาณ 10 กว่าวง โดยใช้โมเดลคือ ไม่ขายบัตร ใครดู ใครชอบใจ ก็หยอดเงินใส่กล่องได้เลย แล้ววงไหนเล่นเสร็จก็นำเงินในกล่องนั้นไปทั้งหมดเลย พอวงต่อไปเล่นต่อก็ทำแบบเดิม มีพื้นที่ให้เอาซีดีและของที่ระลึกมาขาย ปรากฎว่าจาก 10 กว่าวงกลายเป็น 33 วง ที่สนใจ เลยกลายเป็น 3 วัน 33 วง เล่นวงละครึ่งชั่วโมง ซึ่งเป็นงานแรกของเชียงใหม่ที่รวมศิลปินออริจินัลที่เยอะที่สุด"

ปลุกเชียงใหม่ให้มีชีวิตด้วยความร่วมแรงร่วมใจ

"ทีมเครื่องเสียงเขาก็ไม่มีงานในช่วงนั้น เขาก็อาสามาช่วยฟรี มันเกิดจากความสามัคคีกัน ทุกวงที่มาเล่นก็ไม่ซีเรียสว่าจะได้เงินหรือไม่ได้ คือ เขาอยากมาเล่นเฉย ๆ โปสเตอร์ก็จ้างน้อง ๆ ที่รู้จักกัน เขาก็ช่วย ๆ กัน มีพี่มาช่วยไลฟ์ลงเฟสบุค ตอนไลฟ์ก็สามารถให้ผู้ชมโอนเงินเข้าบัญชีศิลปินได้โดยตรง ได้ฟุตเทจ 3 วัน มาตัดต่อเป็นวิดีโอ ทำคอนเทนต์ลงยูทูป ไว้ดูไว้ฟังย้อนหลัง  สุดท้ายพอจบงาน ก็ให้ทุกวง วงละ 500 บาท (จากการขายกระเป๋าในงานรอบที่ 2 ) โดยในช่วงครึ่งชั่วโมงที่เขาเล่นจะมีกล่องตั้งไว้ข้างหน้า เขาก็จะได้เงินจากตรงนี้ไป เราจัดงานที่ไนท์บาซา ที่ ๆ นักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติมารวมตัวกัน แต่พอโควิดมากลายเป็นเมืองร้าง ในวันงานก็เหมือนชุบชีวิตขึ้นมาอีกครั้ง พ่อค้าแม่ค้าที่อยู่แถวนั้นบอกว่า ในรอบปีที่ผ่านมา เขาเพิ่งจะเห็นผู้คน 3 วันนั้นเขาขายของได้ เขาก็ดีใจมากๆ อยากให้ไปจัดงานบ่อยๆ " 

เราจะช่วยขับเคลื่อนศิลปินต่อไป..

"อย่างน้อยศิลปินรู้จักงานเรา เขารู้แล้วว่ามันมีเราที่จะคอยขับเคลื่อนคอยช่วยอยู่ คอนเซปท์ของมันคือ เชียงใหม่ออริจินัล ตั้งขึ้นมาเพื่อสนับสนุนเชียงใหม่ที่มีเพลงของตัวเองเป็นออริจินัล มีวงหน้าใหม่ที่เราไม่รู้จักเยอะมากมาเล่น เพลงเพราะ เพลงเท่ เต็มไปหมด บางวงเป็นเพื่อนเก่าเป็น 20 ปีแล้วไม่ได้เจอกันนานในช่วงโควิด ได้กลับมาเจอกัน บรรยากาศมันเลยเหมือนงานเลี้ยงรุ่นของนักดนตรีเพื่อน ๆ ที่ได้มาเจอกัน ได้เจอน้องใหม่ ๆ ด้วย มาเจอ มาแลกเปลี่ยนกัน มารู้จักกัน กับเงินที่หมดไปหมื่นกว่าบาทสำหรับผมถือว่าคุ้มค่า"

ผลกระทบจากสถานการณ์โควิด

"กระทบเต็ม ๆ เลยครับ มันจัดงานไม่ได้ เรามีไอเดียที่อยากจะจัดงานอีกเยอะ เพื่อให้มันไปกับเชียงใหม่ออริจินัล เราคุยกับหลาย ๆ ที่ คุยกับหลาย ๆ ร้านกาแฟว่าอยากจัดงานดนตรีกลางวัน แล้วเอางานเราไปเล่นเป็นแนวอะคูสสิก เปิดหมวกและมีเงินให้ศิลปินนิดหน่อย และเราให้ศิลปินเปิดหมวกไปด้วย เล่นไปด้วย ไลฟ์ไปด้วย บันทึกมาลงยูทูปไปด้วย ทำให้มันเป็นลูทีนไปเรื่อย ๆ เก็บไปเรื่อย ๆ เป็นปี ๆ แต่ก็ต้องพักไปก่อน" 

รูปแบบงานดนตรีที่คิดไว้

"มันอาจจะเกิดงานดนตรีเล็ก ๆ แต่เยอะ หลาย ๆ งาน สมมุติว่าผมรู้จักศิลปินวงหนึ่ง มาเทียวหาผมที่บ้าน ผมก็จัดงานดนตรีในบ้านผม คนดูสักประมาณ 15 คน ทำเสียงให้ดี ๆ ต่อไปอาจจะเกิดเป็นโมเดล Life​ House คือ ศิลปินมาเล่นเพลงตัวเอง มาเล่นต่อหน้าคนดูแบบใกล้ ๆ เล็ก ๆ จ่ายเงินกันเดี๋ยวนั้นเลย ซื้อเครื่องดื่มเท่านี้ อยู่ในพื้นที่ๆ มันไม่ต้องใหญ่ มีซีดีขาย ซื้ออุดหนุนกันไปกลุ่มเล็ก ๆ อาจไม่ใช่เฟสติวัลใหญ่ๆ แล้ว"

นิยามเพลงเชียงใหม่

"ตัวเพลงมันอาจไม่ใช่ตัวแยกว่าเพลงแนวนี้คือเพลงของเชียงใหม่ หลาย ๆ คนที่แต่งเพลงคำเมืองไม่ได้มาจากเชียงใหม่ก็มี เพราะเชียงใหม่มีหมดทุกแนวเพลง แต่ถ้ามองที่ตัวบุคคล ตัวศิลปิน ตัวคนที่ทำงานเพลงในจังหวัดเชียงใหม่ อาจบอกความเป็นเชียงใหม่ได้ ด้วยสภาพสังคมที่ยังไม่ค่อยเร่งรีบ เลยทำให้ธรรมชาติของคนยังมีความสบาย ๆ อยู่ เวลาเจอกันเขาก็พูดคุยกันเป็นคำเมือง มันก็มีความเป็นธรรมชาติ เป็นภาษาเฉพาะท้องถิ่น เหมือนเป็นเพื่อนเรา เพื่อนพี่น้องเราที่อยู่ใกล้ ๆ กัน ซึ่งมันสำคัญกว่าแนวดนตรีด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้น เอกลักษณ์ของความเป็นเชียงใหม่ อยู่ที่ตัวบุคคลที่อยู่เชียงใหม่จริง ๆ" 

คิดว่าวงการเพลงอินดี้ในบ้านเราจะไปในทิศทางไหน

"ผมคิดว่าพวกเขาเริ่มมีกลุ่มของเขา และสามารถสร้างกลุ่มเองได้เยอะมาก มีงานแคมป์และงานเล็ก ๆ ทั่วประเทศไทยเต็มไปหมดเลย ศิลปินพวกนี้เลยไม่จำเป็นต้องมีค่าย บางวงอิสระ บางวงทำเป็นกลุ่มค่ายเล็ก ๆ กลายเป็นโมเดลการทำเพลง แค่มีเพลงของตัวเอง หาภาพถ่ายประกอบ โพสลงยูทูป ลงซาวด์คราวด์ มีกลุ่มคนฟัง รวมกลุ่มกันจัดงาน 20-30 วง มันก็เป็นในแนวนั้น หลังจากนี้อาจเกิดกลุ่มวงดนตรีที่หลากหลายขึ้นและมองตามกระแสโลก ทุกอย่างต้องออกจากความเป็นศูนย์กลางออกไป เป็นอิสระมากขึ้น ถ้าวงไหนอิสระและมีทุนเยอะก็สามารถสร้างงานที่มีมารตรฐานขึ้นไปเรื่อย ๆ จนถึงระดับอินเตอร์ได้โดยที่ไม่ต้องพึ่งค่ายเพลงได้ ส่วนวงเล็ก ๆ ก็เกาะกลุ่มกันไป"

ดนตรีบำบัดในความเข้าใจ

"การใช้ดนตรีและเสียงเพลง เพื่อให้เราอยู่ในสภาวะที่ดีขึ้นกว่าเดิม ไม่ว่าจะเครียด จะทุกข์กาย ทุกข์ใจ ยังไงเราใช้เสียงดนตรีเพื่อเยียวยาให้ดีขึ้น ฟังแล้วมันต้องดีขึ้นจากสภาวะที่เป็นอยู่แน่ ๆ เชื่อว่าทุกคนที่เป็นมนุษย์มีอารมณ์ และจะต้องมีอย่างน้อยบทเพลงหรือสองเพลงที่ฟังแล้วทำให้เขารู้สึกอะไรบางอย่างในแง่บวก อย่างเพลงของวงเราเราเอง เราโพสลงในยูทูป เราก็จะเจอคอมเมนท์จากคนที่เราไม่รู้จัก เพลงพี่แม่งทำให้ผมอย่างนั้นอย่างนี้ มันเกิดผลกับคนฟังจริง ๆ บางเพลงถึงขนาดกับช่วยฉุดขึ้นมา บางคนเอาเนื้อเพลงบางท่อนไปสัก ซึ่งค่อนข้างเชื่อว่า เพลงมันมีอิทธิพลต่อชีวิตคนจริง ๆ"

สร้างตัวเองให้เป็นไอดอลของตัวเอง

"ช่วงวัย 17-18 ปี เราก็จะมีไอดอลบางอย่างในเรื่องบางเรื่อง 20 หรือ 30 ปี เราก็จะมีอีกอย่างหนึ่ง แต่ตอนนี้เรา 40 แล้ว เราไม่ควรจะเอาใครมาเป็นไอดอลแล้วล่ะ จริง ๆ เราควรจะเป็นไอดอลให้ตัวเราเองได้แล้ว เราควรรู้ได้แล้วว่า ตัวเรามีมุมมองชีวิตแต่ละเรื่องอย่างไร ทางการเมืองเป็นยังไง ทางศาสนาเป็นยังไง การทำงานเป็นยังไง ความรีแลกซ์ของชีวิตควรจะเป็นยังไง เลยรู้สึกว่า สิ่งที่หล่อหลอมเรามันมาจากหลาย ๆ คน สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ เรามีคติบางอย่างและเรามีความเชื่อแบบนี้แหละเราจะมีความสุข  และสิ่งที่เราเหลือจากนั้น เวลาที่เราเหลือ เงินทองที่เราเหลือ เราก็จะแบ่งให้คนอื่น" 

ถ้าคนในเชียงใหม่เข้มแข็งกับศิลปินและเพลงของเชียงใหม่ เพิ่มความภูมิใจในศิลปินของเข้าไป มันจะเป็นเมืองที่แข็งแรงมาก ๆ แล้วเราก็จะทำเงินกับนักท่องเที่ยวร่วมกันทั้งจังหวัด นั่นคือบั่นปลายไฟนอลของเราจริง ๆ ส่วนเรื่องงานดนตรีมันต้องมีอีกแน่ ๆ แต่รูปแบบอาจจะไม่เหมือนเดิมครับ