Culture

'อีสไก่ทอดฉ่ำมัน ดื่มด่ำรสชาติเบียร์' – 'ซิแม็ก' ขุมพลังวัฒนธรรมเกาหลีสุดป๊อป!

“มนต์เสน่ห์หน้าหนาว ถ้าได้กินไก่ทอด กับ เบียร์จะดีที่สุดเลย”

แล้วลมหนาวปีนี้จะกี่โมง? คนไทยจดจ่อรอลุ้นลมหนาว ที่แม้ทุกปีจะพัดผ่านมาไว ไปไว มาแบบแทบไม่ทันได้ตั้งตัวก็ตาม แต่เราก็ต้องรีบกอบโกยไวบ์เฉลิมฉลอง ช่วงเทศกาลสิ้นปีสุดอบอุ่นพร้อมฮีลใจ หลังสู้ชีวิต แต่ชีวิตสู้กลับมาเกือบตลอดทั้งปี ขอแค่พื้นที่เซฟโซนนั่งดื่มเครื่องดื่ม 'เบียร์' ไม่ให้ขาดแกล้ม 'ไก่ทอด' กินคู่กันได้ฟีลเกาหลีเกาใจที่สุดแล้ว

Photo: Delicious

วันนี้ EQ จะพาไปรู้จักการกิน 'เบียร์' คู่กับ 'ไก่ทอด' วัฒนธรรมเกาหลีสุดป๊อป ที่เรียกว่า 'ซิ-แม็ก' (치맥 – Chimaek) จากดินแดนตัวแด๊ด-ตัวมัมของซอฟต์เพาเวอร์ เห็นได้ตามซีนพระนางซีรีส์ (K-Series) กินไก่ทอดกับเบียร์สู้อากาศอันหนาวเหน็บ ทำเอาคนดูที่เผลอเปิดดูกลางดึก ต้านไม่ไหวต้องสั่งมากินไปตามกันให้ควั่ก จนตอนกลายเป็นกระแสแพร่หลาย กินกันแบบไม่เล่น กินกันจริงจังไปทั่วบ้านทั่วเมืองแล้ว

แม้ว่าวัฒนธรรมมการดื่มของชาวเกาหลี จะมีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กันเป็นพื้นฐาน ควบคู่กับการเข้าสังคมมาอย่างยาวนาน สังสรรค์กันม่วนจอยกันหลากหลายวาระโอกาส แต่ก็เพิ่งผุดคำว่า 'ชิแม็ก' มาได้ไม่นานนี้เอง โดย 'ซีแม็ก' (치맥 ) มาจากคำาว่า ‘Chi’ คือ 치킨/ชีคิน/Chicken แปลว่า ไก่ทอด และ ‘Maek’ จาก 맥주 /แม็ก-จู/Maekju แปลว่า เบียร์ในภาษาเกาหลี

พอจับมารวมๆกันเป็นคู่แล้วมีเสน่ห์เกินต้าน ซึ่งมีจุดเปลี่ยนสำคัญกลายมาเป็นเครื่องดื่มและอาหารคู่ขวัญ จัดเป็นคู่ใหม่ของวงการ 'ตี้' และ 'ซอฟต์เพาเวอร์' ที่เผยแพร่วัฒนธรรมผ่านซีรีส์ครองใจผู้ชมไปทั่วโลก!

Photo Credit: Korea.net

ซีนโน้มน้าวแนบเนียนเกินห้ามใจ ยั่วน้ำลายไหลผ่านหน้าจอ

“ในวันหิมะตกแบบนี้ ได้กินไก่ทอดกับเบียร์จะดีที่สุดเลย” - บทพูดสุดเรียบง่ายแต่เรียกน้ำย่อยของ 'ชอนซงอี' จากซีรีส์สุดปังดังเป็พลุแตกทั่วเอเชียและทั่วโลก เรื่อง 'You who came from the star (2013)' รับบทโดย จอน จีฮยอน นางเอกสุดชิคของเรื่องพูดประโยคนี้ขึ้นมา ก็ได้ทำให้เกิดกระแสการกินไก่ทอดกับเบียร์ หรือ ชีแม็ก (치맥 ) ตามตัวละครนี้ว้าวุ่นกันใหญ่เลยทีเดียว

โดย ปราณปริยา กำจัดภัย ผู้ศึกษาเรื่องลิขิตรักข้ามดวงดาว ระบุว่า "ความโด่งดังของ ไก่ทอด กับ เบียร์ ณ ขณะนั้นถึงขนาดมีข้อมูลจากสำนักข่าว Xinhua ประเทศจีนรายงานว่า เพราะการกิน ไก่ทอดกับเบียร์นี่เอง ทำให้กิจการฟาร์มไก่ในประเทศจีนที่ประสบปัญหาจากการระบาดของเชื้อโรค ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ H7N9 หรือ ไข้หวัดนกในช่วงก่อนหน้า กลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง"

นอกจากปรากฏการณ์ดังกล่าว เราก็จะพบว่าในซีรีส์เกาหลีอีกต่อหลายเรื่อง จะปรากฎฉากกินไก่ทอดอยู่ในนั้นด้วย เพื่อสะท้อนที่วัฒนธรรมการกินที่เป็นเอกลัษณ์ของเกาหลีใต้ เอาอะไรมาไม่เลิศตัวละครดื่มกันสนั่น มุ่งผลักดันไม่มีเซ็นเซอร์

อย่างซีรีส์ ‘It’s okay to not be okay’ (2020) จากสื่อสตรีมมิ่งบ้านใหญ่ 'Netflix' ที่เราจะเห็นตัวละคร 'โจแจซู' เพื่อนรักพระเอกสุดหล่อมุนคังแท คอยตามคังแทและซังแทมาเปิดร้านไก่ทอดเสมอ พร้อมกับนำเสนอฉากกินไก่ทอด กับ เบียร์ แบบอิ่มหนำฉ่ำมันตลอดทั้งเรื่อง จนเห็นความตั้งใจของการพยายามดันวัฒนธรรม การดื่มเบียร์กับไก่ทอดอย่างต่อเนื่อง ไม่หยุดหย่อนมากว่า 10 ปี

Photo Credit: Korea Tourism Organization

ไม่เพียงเท่านั้น! ยังมักจะมีจัดเทศกาลเอาใจสายเมาแบบจัดเต็มอยู่เนืองๆ อย่างช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มีการจัดเทศกาล 'Daegu Chimac Festival' ณ เมืองแทกู เรียกได้ว่า สวรรค์ของสายเมาที่แท้ทรู ชูโรงด้วยคอมโบที่ผสานกันสุดลงตัวที่เรารู้จักกันดี ฟินกับเบียร์และไก่ทอดแบบเน้นๆ เดินเลือกซื้อไก่ทอดจากร้านดังทั่วสารทิศ ที่มาตั้งบูธขายแบบจุกๆ พร้อมนั่งชิวจิบเบียร์เย็นชื่นใจ ฟังดนตรีสด สังสรรค์สร้างสัมพันธ์กับคนหลากหลาย แต่หัวใจยกให้เบียร์กับไก่ทอด

โทษแรงจนสะดุ้ง! คุมเข้มนักดื่มตื่นตัว-รับผิดชอบสังคม

ชะงักก่อน! ถึงจุดงวยงงสงสัย ทำไมเกิดการผลักดันการดื่มอย่างเสรีโจ่งแจ้งแบบนี้ ต้องยอมรับว่ามันเป็นสิ่งบ้านเราไม่คุ้นชินนัก เพราะแม้แต่การโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บนสื่อก็เป็นเรื่องผิดกฎหมาย แถมการดื่มแอลกอฮอล์ยังยึดโยงไปถึงกรอบศีลธรรมทางศาสนาอีก แล้วเขารับมือผลกระทบจากการมึนเมาของผู้คนได้อย่างไร ทั้งความปลอดภัยและอุบัติเหตุ?

แรงกระเพื่อมสำคัญ คือ การตื่นตัวของผู้คนในสังคม ชาวเกาหลีหลายคนคิดว่า 'การเมาแล้วขับเท่ากับอาชญากรรม' ซึ่งเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ในสังคมเกาหลี ไม่ว่าคุณจะเป็นคนมีชื่อเสียง หรือว่าเป็นคนธรรมดา แต่หากมีประวัติถูกจับในข้อหาเมาแล้วขับ อาจจะส่งผลกระทบต่อหน้าที่การงาน และการเข้าสังคมอีกด้วย

หนักไปกว่านั้นมักมีกรณีของผู้ที่มีชื่อเสียง ไอดอลของเกาหลี ถูกจับกุมด้วยข้อหาเมาแล้วขับ จะเป็นจุดด่างพร้อยไปตลอดชีวิต จนทางค่ายต้นสังกัดต้องส่ายหน้าหนี จึงเห็นภาพหลายคนเลือกที่จะเดินออกจากวงการ

Photo Credit: allkpop

อย่างกรณี คิมแซรน นักแสดงสาวดาวรุ่ง เมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว เธอได้ขับรถชนแนวกั้นถนนและต้นไม้ บริเวณแยกฮักดง ในเขตคังนัม กรุงโซล จากการตรวจพบว่ามีแอลกอฮอล์ในเลือด 0.2% ซึ่งอัยการได้สั่งฟ้อง เรียกค่าปรับเป็นจำนวนเงินสูงถึง 20 ล้านวอน

จนทำให้ชีวิตพลิกผันครั้งใหญ่ ก้มหน้ายอมรับชะตากรรม โอบรับความยากลำบาก ที่ต้นสังกัดไม่ต่อสัญญากับเธอ จนต้องทำงานพาร์ทไทม์เพื่อหาเงินชดใช้ค่าเสียหาย ต่างจากบ้านเราที่เมื่อเกิดเหตุคนมีชื่อเสียง เกิดอุบัติเหตุส่อแววเมาแล้วขับ กลับมักเต็มไปด้วยกรณีที่เกิดความคลางแคลงใจในสังคม รอดพ้นผิดจนได้!

รวมถึง พลเมืองมีการถอดบทเรียน จากกรณีโศกนาฎกรรรม เช่น เมื่อปี 2562 เกิดเหตุเมาแล้วขับ ชนเด็กชาย 9 ขวบเสียชีวิต ขณะเดินข้ามทางม้าลาย จากเหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความสะเทือนใจต่อผู้คนเป็นอย่างมาก จนเกิดการล่ารายชื่อรณรงค์ ให้มีการพิจารณากฎหมายเกี่ยวกับความปลอดภัยของเด็ก โดยเรียกว่า 'กฎหมายมินซิก' ที่ตั้งตามชื่อของผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ครั้งนั้น จนออกมาเป็นร่างกฎหมายออกมาบังคับใช้ปี 2563 โดยกำหนดโทษสูงสุด จำคุก 15 ปี หรือปรับ 30 ล้านวอน (ประมาณ 800,000 บาท) เลยทีเดียว

ทั้งนี้ เราจะเห็นได้ว่ากฎหมายดังกล่าว นอกจากกฎหมายที่ออกมาคุ้มครองเด็กแล้ว สิ่งที่ควรตระหนักอีกหนึ่งอย่างคือการไม่ประมาท และดื่มไม่ขับของผู้ขับขี่ ซึ่งโจทย์ที่เราต้องมอง ไม่ใช่เพียงแค่การควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านสื่อเท่านั้น มันจึงรวมไปถึงความเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมาย การสร้างจิตสำนึก และความรับผิดชอบต่อสังคม สำหรับการดื่มสายดื่มอีกด้วย

Photo Credit: allkpop

แจกโจทย์ว้าวุ่น ลงทุนกับซอฟต์เพาเวอร์แบบใด?

ล่าสุด ชาวเน็ตฝากโจทย์ใหญ่ที่ผุดยกขึ้นมาโลกทวิตภพ (ทวิตเตอร์) หรือเปลี่ยนมาใช้เป็นเอ็กซ์แล้วก็ตาม เกิดการตั้งคำถามท่ามกลางกระแสผลักดันนโยบายซอฟต์เพาเวอร์ ที่รัฐบาลพูดเช้าพูดเย็น ถูกชาวเน็ตตั้งโจทย์ผูกโยงไปถึงซีรีส์เรื่อง Work Later, Drink Now 2 (2022) ได้ยกตัวอย่าง โพสต์ฉากการสังสรรค์ของตัวละครแก๊งเพื่อนสาวที่เมามายกันผ่านหน้าจอ พร้อมไก่ทอดให้เราเชยชม ทำเอาคนดูคอแห้งไปตามกัน พร้อมระบุข้อความว่า “Soft Power เกาหลีมีตัวเลข GDP เป็นอันดับ1ของโลก”

“คุณยังไม่มีอะไรที่ดังระดับโลกเลย ที่จะมีอิทธิพลพอที่จะให้คนๆ นั้น มาชักจูงให้คนทั้งโลกทำตามคุณ ฉะนั้นก่อนจะทำ Soft Power ให้สร้างมูลค่าของบุคคลก่อน ถ้ายังไม่ลงทุนกับมูลค่าของบุคคลอีกไม่นาน Soft Power ก็จะกลายเป็นแค่ 1 ตำบล 1ผลิตภัณฑ์” โพสต์ดังกล่าวทำเอาว้าวุ่นกันทั้งไทม์ไลน์ เกิดการถกเถียงอย่างวงกว้าง ถึงมูลเหตุที่ว่าทำไมละครไทย ไม่สามารถทำได้สำเร็จบ้าง ทั้งที่ประเทศไทยถูกขนานนามว่าเป็น ‘ครัวโลก

มันกลายมาเป็นภาพสะท้อน กำแพงหนาตึ๊บ! ปิดประตูล็อกกลอนเรียบร้อย เห็นได้ชัดจากวงการสื่อและภาพยนตร์ ที่รัฐพยายามคุมเข้ม เซ็นเซอร์ด้วยศีลธรรมอันดีงามตามท้องเรื่องอย่างหนัก ด้วยสายตาของรัฐ เราแทบจะไม่เคยเห็นตัวละครเอก มีอาชีพที่หลากหลาย หรือเรื่องสะท้อนเลวร้ายอันสะท้อนมุมมืดของสังคม ได้อย่างตรงไปตรงมา ซึ่งมันไม่ได้เป็นเป็นการสนับสนุนมุมมืดนั้น แต่อีกด้านมันกลับคือการถอดบทเรียน อย่างที่เกาหลีสามารถนำเสนอ เรื่องราวดาร์กไซด์ สาวไส้กระบวนการยุติธรรมได้แบบไม่ยั้งมือ เปิดกว้างทะลุกรอบอันดีของสังคม จนแตกกระจาย

โจทย์ใหญ่ของเราที่ยังคงวนเวียน โหยหาความสร้างสรรค์ และหลากหลายมากพอ นอกเหนือจากพล็อตเรื่องวนเวียนอยู่กับกระแสหลัก รักใคร่ที่ไม่ยอมก้าวไปไหน สิ่งนี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องทำการบ้านกันอย่างหนัก

หากอยากจะเป็นผู้นำใช้พลังอันแยบยลนี้ ดึงคนเข้ามามีส่วนร่วม โน้มนำมาเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมเรา หรือ เพียงป่าวประกาศตะโกนจนกู่ก้อง ว่าจะมุ่งสร้างปั้นพลังอันอ่อนนุ่มปวกเปียกเสียแล้ว?