Culture

‘โต๊ะจีน’ การจัดเลี้ยงที่สะท้อนวิถีชีวิต ความเป็นไทยแบบจีนๆ

นึกถึงสมัยผมยังเด็ก ภูมิหลังของครอบครัวเป็นคนไทยที่มีเชื้อสายจีน รุ่นอากงเป็นกลุ่มคนที่ใช้แนวคิด ‘เสื่อผืนหมอนใบ’ ในการนั่งเรือออกจากจีนเพื่ออพยพมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ประเทศไทย แถวบริเวณจังหวัดนครปฐมที่มีความเป็นไทยเชื้อสายจีนอย่างแน่นหนา

ทุกครั้งที่มีงานเลี้ยง งานฉลองใดๆ การเลือกอาหารที่จะจัดเลี้ยงแทบจะเป็นเรื่องที่ไม่ต้องคิด เพราะมันจะจบที่ ‘โต๊ะจีน’ อย่างแน่นอน การเสิร์ฟอาหารที่มาทีละอย่าง ในมุมมองของเด็กคนหนึ่งตื่นเต้นมากที่จะได้กินหมู่แผ่นและกระเพาะปลา ย้อนกลับไปวันวานในตอนนั้นก็ไม่เคยคิดสงสัยว่า ทำไมบ้านเราถึงนิยมโต๊ะจีน

วันนี้เราจะนำเรื่องราวของโต๊ะจีนมานำเสนอให้ผู้อ่านทุกคนได้เปิดโลกแห่งการจัดเลี้ยงไปพร้อมกัน แต่ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจกับ ‘วัฒนธรรมไทยแบบจีน’ กันก่อนดีกว่า

Photo Credit: ศิลปวัฒนธรรม

วัฒนธรรมไทยแบบจีน?

ถ้าผู้อ่านเคยเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องราวของสิ่งที่เรียกว่าวัฒนธรรม คงจะเข้าใจแนวคิดของมันอยู่บ้าง แต่วันนี้เราจะไม่ได้พูดถึงแนวคิดว่าด้วยวัฒนธรรมแต่อย่างใด เราจะมาพูดคุยกันถึงเรื่องของ วัฒนธรรมไทยแบบจีน ทำไมวัฒนธรรมที่ควรเป็นเอกลักษณ์ ถึงมีการรวมกันของ 2 ประเทศได้

ในแนวคิดของการเรียนด้านวัฒนธรรมจะมีแนวคิดที่เรียกว่า ‘Salad Bowl’ หรือ ‘Cultural Mosaic’ เป็นแนวคิดที่ว่าด้วยความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่อยู่ร่วมกันแต่สามารถรักษาความเป็นตัวเอง ความเป็นเอกลักษณ์ภายใต้ความแตกต่างนั้นได้ และในบางครั้งก็มีการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรม เกิดเป็นวัฒนธรรมร่วม มักเกิดขึ้นในแง่ของศิลปะ วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ เป็นต้น

วัฒนธรรมของคนไทยเชื้อสายจีน ก็มีความเป็น Salad Bowl จากการอพยพย้ายถิ่นฐานมาเช่นกัน ในปัจจุบันวัฒนธรรมที่ว่านี้ก็เป็นที่รู้จักมากมายของคนไทย

ลักษณะของวัฒนธรรมของคนไทยที่มีเชื้อสายจีน จะสะท้อนให้เห็นถึงการผสมผสานของวัฒนธรรมโดยเห็นได้มากจากชุมชนจีนในประเทศไทย ลักษณะเฉพาะตัวของมันจะเห็นได้ชัดจากประเพณี ศิลปะ วิถีชีวิตประจำวัน และการแสดง เช่น เทศกาลตรุษจีน วันไหว้เจ้า การกินเจ การแสดงงิ้ว และการเลี้ยงอาหารแบบโต๊ะจีน เป็นต้น

Photo Credit: The Telegraph

การเลี้ยงอาหารแบบโต๊ะจีนในไทยสามารถสะท้อนลักษณะของวัฒนธรรมได้

ความเป็นมาของโต๊ะจีนไม่ปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนในหน้าประวัติศาสตร์ แต่มีทฤษฎีที่น่าเชื่อถือ ว่ากันว่า ความเป็นมาของโต๊ะจีนเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยาที่คนจีนเริ่มอพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทย ตั้งรกรากถิ่นฐานริมแม่น้ำ (ที่ในปัจจุบันคือจังหวัดนครปฐม) เริ่มจับกลุ่มกันอยู่เป็นหมู่คณะถ้อยทีถ้อยอาศัยกันเหมือนกับคนไทยที่ช่วยเหลือกัน ด้วยความที่อยู่กันหลายครอบครัว วิถีชีวิตจากจีนยังไม่หายไปไหน การรับประทานอาหารพร้อมหน้ากันเป็นสิ่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของผู้ที่ต้องอพยพจากบ้านเกิดมา

การรับประทานอาหารแบบจีนจะไม่เหมือนกับประเทศไทยในสมัยนั้นที่ยังมีการนั่งพื้นบ้านด้วยความเรียบง่าย ผู้อพยพชาวจีนจะนั่งทานข้าวล้อมวงกันโดยวางอาหารไว้บนโต๊ะ เมื่อคนไทยมาเห็นก็เรียกสิ่งนี้ว่า ‘โต๊ะจีน’

นี่เป็นหนึ่งในที่มาที่ค่อนข้างสอดคล้องกับวิถีชีวิตในอดีต และอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเผยแพร่วัฒนธรรมการทานอาหารบนโต๊ะในบริเวณนั้นอีกด้วย เพราะว่าการออกแบบโต๊ะของจีนก็ถือว่าเป็นศิลปะอย่างหนึ่งที่โด่งดังเช่นกัน

กาลเวลาที่เปลี่ยนผ่านไป โต๊ะจีน ถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่องจากตอนแรกที่เป็นวัฒนธรรมวิถีชีวิตการรับประทานอาหารประจำวัน เริ่มถูกใช้งานในการเฉลิมฉลองงานมงคลมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง งานมงคลสมรส และงานบวช

Photo Credit: East Meets Dress

ลักษณะของโต๊ะจีนที่คนส่วนมากรู้จักกันคือ การเสิร์ฟอาหารเรียงลำดับขั้นตอน

  1. ออเดิร์ฟ อาหารเรียกน้ำย่อย จะเป็นถาดหลุมที่ประกอบด้วยอาหารทานเล่นจำพวก ข้าวเกรียบกุ้ง ฮ่อยจ๊อ ไข่เยี่ยวม้า เป็นต้น
  2. อาหารจานร้อน จะเป็นอาหารที่เริ่มมีเนื้อสัตว์เป็นส่วนผสมหลักแล้ว
  3. อาหารจานหลัก ส่วนมากจะเป็นกระเพาะปลา หรือ ข้าวต้ม
  4. อาหารอิ่มท้อง ส่วนมากจะเป็นเส้นหรือไม่ก็ข้าว หมี่ผัด ข้าวผัดปู เป็นเมนูยอดนิยม
  5. ของหวาน ผลไม้ อาหารที่สามารถช่วยล้างปากได้ก่อนจบงานเลี้ยง

รูปแบบข้างบนนี้ผ่านการปรับปรุงพัฒนาให้เข้าปากกับคนไทยมากขึ้นแล้ว แต่ก่อนโต๊ะจีนจะมีอาหาร 8 อย่าง เพราะเป็นความเชื่อว่าเลข 8 คือเลขมงคล นอกจากนี้เนื้อสัตว์แต่ละชนิดก็มีความเชื่อแตกต่างกันด้วย หมูคือความอุดมสมบูรณ์ ไก่คือความก้าวหน้าในชีวิต เป็ดคือความร่มเย็นเป็นสุข ปลาคือการมีเงินเหลือกินเหลือใช้ และปูคือ โชคลาภ (ที่บ้านผมมักจะเป็นปลากับปูสงสัยจะต้องการโชคลาภ และเงินตราเป็นสิ่งสำคัญ)

จุดเปลี่ยนผันของโต๊ะจีน

จากอดีตความนิยมของโต๊ะจีนนั้นโด่งดังมาก อาหารเข้าถึงง่าย เจ้าภาพงานสบายใจกับการใช้บริการโต๊ะจีนไม่ต้องกลัวแขกไม่พอใจ แต่เหตุการณ์โควิด-19 ก็เป็นจุดพลิกผันของธุรกิจโต๊ะจีนในประเทศไทย จากผู้ค้ารายใหญ่ในจังหวัดนครปฐมกล่าวว่าได้รับผลกระทบอย่างมากในช่วงเวลากว่า 2 ปีที่ประเทศอยู่ภายใต้โควิด งานการจัดงานเลี้ยงไม่มีเลยเจ้าเล็กเจ้าน้อยล้มหายออกจากอุตสาหกรรมไปหมด เจ้าใหญ่ก็ไม่สามารถอยู่ได้เช่นกัน ต้องปรับเปลี่ยนโมเดลการทำธุรกิจให้เหมาะสมกับยุคสมัยมากยิ่งขึ้น

ถึงแม้โต๊ะจีนจะเป็นภาพจำของการจัดงานเลี้ยงอย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไปการเปลี่ยนแปลงย่อมเกิดขึ้น เราไม่สามารถโทษว่าจุดเปลี่ยนของโต๊ะจีนเกิดจากโควิดได้เพียงอย่างเดียว ความนิยมของคนก็เป็นปัจจัยสำคัญ คนรุ่นใหม่ไม่ชอบโต๊ะจีน การสังสรรค์ของคนรุ่นใหม่เปลี่ยนแปลงไป การรวมตัวกันของครอบครัวใหญ่อาจไม่ตอบโจทย์การใช้ชีวิต ทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นสาเหตุที่ทำให้ยุคเฟื่องฟูของโต๊ะจีนถดถอยลงไป

Photo Credit: Damien and Catherine are finally married!

อนาคตของโต๊ะจีน

ถ้ายังไม่สามารถดึงดูดกลุ่มเป้าหมายใหม่ๆ ได้อาจจะยากต่อการอยู่รอดในสังคม ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะเป็นสังคมผู้สูงอายุ แต่การจัดงานเลี้ยงในหมู่ผู้สูงอายุเองก็ไม่สามารถทำให้โต๊ะจีนกลับมาเป็นเบอร์หนึ่งของการจัดเลี้ยงได้

น่าเสียดายที่วัฒนธรรมที่สวยงามนี้จะต้องหายไปตามกาลเวลา ความเป็นจีนที่ปรากฏให้เห็นในวัฒนธรรมไทยมีหลากหลาย แต่โต๊ะจีนก็เป็นภาพความทรงจำของใครหลายๆ คน ถ้าอยากจะจับกระแสคนรุ่นใหม่ การขายความเชื่อ หรือ สายมู ต่างๆ อาจจะตอบโจทย์ หยิบยกประเด็นอย่างเลข 8 มาเล่นกับการตลาดเพื่อดึงดูดผู้คน จะช่วยให้เข้าถึงและน่าสนใจได้มากยิ่งขึ้น

หรือไม่ก็จับเทรนด์การดูแลสุขภาพจัดอาหารในโต๊ะจีนให้เหมาะสมกับความต้องการด้านการดูแลสุขภาพก็มีแนวโน้มที่จะช่วยให้โต๊ะจีนอยู่รอดไปได้

อย่างไรก็ตามส่วนตัวที่เป็นคนไทยเชื้อสายจีน ที่บ้านก็ไม่ได้จัดงานเลี้ยงโดยการใช้โต๊ะจีนมาหลายปีแล้วก่อนโควิดเสียอีก อาจจะเป็นเพราะความต้องการของครอบครัวที่เปลี่ยนแปลงไป แต่ก็ยังคิดถึงบรรยากาศที่ได้รับอย่างเป็นเอกลักษณ์ของการกินโต๊ะจีนร่วมกับครอบครัวในงานมงคลต่างๆ อยู่

อ้างอิง

ไทยศึกษา

ภัทรภร สุวรรณจินดา

Ocean Dragon

About You