Culture

ย้อนรอยรายการชิงช้าสวรรค์ ก่อนจะรู้ว่าใครได้เป็นแชมป์ในปี 2022

คงจะพอทราบกันมาแล้วกับผลรางวัล ‘ชิงช้าสวรรค์ 2022’ ที่กลับมาออกอากาศอีกครั้งหลังหายไปนานกว่า 5 ปี ที่ในปีนี้เป็นการขับเคี่ยวกันอย่างดุเดือดของ ‘ยุพราชวิทยาลัย’ ‘ประโคนชัยพิทยาคม’ และ ‘เชียงกลมวิทยา’ เรามาย้อนดูสถิติกันหน่อยดีกว่าว่า แต่ละโรงเรียนได้สร้างตำนานอะไรไว้บ้าง

ชิงช้าสวรรค์ เป็นรายการประกวดแข่งขันวงดนตรีลูกทุ่งระดับมัธยมศึกษา ซึ่งมีมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 โดยช่วงแรกออกอากาศทางช่อง 9 โมเดิร์นไนน์ทีวี ก่อนจะย้ายไปออกอากาศทางช่องเวิร์คพอยท์ ในปี พ.ศ. 2558 และจบการประกวดในปีที่ 9 ในเวลาต่อมา

การแข่งขันจะแบ่งออกเป็นฤดูกาล มีทั้งหมด 3 ฤดู ได้แก่ ฤดูหนาว ฤดูฝน และฤดูร้อน โดยจะมีการประกวดหาแชมป์ประจำแต่ละฤดูก่อน จากนั้นก็จะเป็นการประกวดในรอบแชมป์ออฟเดอะแชมป์ โดยนำเอาแชมป์และรองแชมป์ประจำฤดูทั้ง 3 ฤดู มาประกวดร่วมกันอีกครั้งหนึ่ง

ซึ่งจะมีการแข่งขันกันด้วยเพลง 3 ประเภท คือ เพลงช้า เพลงเร็ว และเพลงถนัด และทีมที่มีคะแนนรวมทุกประเภทเพลงสูงสุดก็จะเป็นผู้ชนะ ได้เป็นแชมป์ออฟเดอะแชมป์ในปีนั้น ซึ่งหากไม่นับการประกวดในปีนี้ (2022) ชิงช้าสวรรค์ก็มีการประกวดมาแล้วทั้งหมด 9 ปีด้วยกัน

ทำไมชิงช้าสวรรค์ถึงยังหมุนได้อย่างต่อเนื่อง?

ปฏิเสธไม่ได้ว่าชิงช้าสวรรค์เป็นอีกหนึ่งรายการระดับตำนานของเมืองไทย ด้วยการประกวดวงดนตรีลูกทุ่งระดับมัธยมศึกษาในแบบฟูลสเกลมาไว้ในสตูดิโอ ทั้งการร้อง การเต้น ดนตรี ฉาก แสง สี เสียง ที่ยิ่งกว่าเวทีคณะลูกทุ่งเวลาไปทัวร์เสียอีก

ทั้งวันและเวลาออกอากาศ ที่เป็นช่วงวันพักผ่อนของครอบครัว บวกกับการที่เพลงลูกทุ่งคือสิ่งที่ได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศไทย เจาะกลุ่มทุกเจเนอเรชั่น ไม่ว่าจะเด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่ หรือผู้สูงอายุ แถมยังไม่เลือกว่าจะเป็นคนไทยภาคไหน เหนือ กลาง อีสาน ใต้ ต่างก็มีวัฒนธรรมเพลงลูกทุ่งเป็นของตนเองทั้งนั้น ทั้งหมดนี้จึงทำให้รายการชิงช้าสวรรค์ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว

ประกอบกับความที่เป็นรายการแข่งขัน ชิงช้าสวรรค์ก็มีอายุยืนยาว และรักษาความนิยมไว้ได้อย่างต่อเนื่อง เหมือนกับรายการประกวดต่างๆ และที่มากไปกว่านั้นก็คือ ชิงช้าสวรรค์เหมือนเป็นการรวบรวมแขนงการแสดงต่างๆ ของรายการประกวดต่างๆ มาไว้ด้วยกันในการแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็นการร้อง ซึ่งตอนนี้ก็มีรายการประกวดร้องเพลงที่ได้รับความนิยมเต็มไปหมด ไม่ว่าจะเป็น The Voice หรือแม้กระทั่งไมค์ทองคำ

อีกอย่างหนึ่งก็คือการเต้น แม้ประเทศไทยจะยังไม่มีรายการประกวดเต้นที่โดดเด่น แต่ในระดับก็มีทั้ง So You Think You Can Dance หรือ Dancing With The Star นอกจากนี้ การทำโชว์ ออกแบบรูปแบบโชว์ ก็เหมือนกับการนำเอารายการพวก Got Talent ทั้งหลาย หรืองานแสดงแบบมิวสิคัล บรอดเวย์ มารวมไว้บนการโชว์ครั้งเดียวในการแข่งขัน ชิงช้าสวรรค์จึงกลายเป็นรายการแข่งขันที่มีความครบเครื่อง แค่อาจจะจำกัดไว้เพียงเพลงลูกทุ่งเท่านั้นเอง

ย้อนดูสถิติ 9 ปีที่ผ่านมา โรงเรียนไหนคือตำนาน?

จากข้อมูลผลการแข่งขัน 9 ปีที่ผ่านมาจะพบว่าโรงเรียนที่ได้ตำแหน่งแชมป์ออฟเดอะแชมป์มากที่สุดก็คือ ‘โรงเรียนจ่านกร้อง’ จ.พิษณุโลก โดยได้ไปในปีที่ 1, 2 และ 7 ไม่เพียงแค่นั้น โรงเรียนจ่านกร้องยังเป็นโรงเรียนที่ได้แชมป์ประจำฤดูมากที่สุดถึง 4 ครั้งเลยทีเดียว โดยมีเพียงในปีที่ 4 เท่านั้น ที่โรงเรียนจ่านกร้อง จ.พิษณุโลก พลาดรางวัลแชมป์ออฟเดอะแชมป์ ปีที่เหลือรางวัลแชมป์ออฟเดอะแชมป์ก็จะกระจายไป โรงเรียนละหนึ่งแชมป์

https://www.youtube.com/watch?v=vvJLoTaEBaQ

ส่วนโรงเรียนที่ได้ตำแหน่งแชมป์ประจำฤดูกาลมากที่สุดรองลงมาก็คือ ‘โรงเรียนบัวใหญ่’ จ.นครราชสีมา ซึ่งเคยได้แชมป์ประจำฤดูกาลถึง 3 ครั้ง แต่น่าเสียดายที่ไม่เคยได้ตำแหน่งแชมป์ออฟเดอะแชมป์เลย อันดับ 3 คือ ‘โรงเรียนมัธยมด่านขุนทด’ จ.นครราชสีมา และ ‘โรงเรียนวินิตศึกษาในพระราชูปถัมภ์’ จ.ลพบุรี ที่เคยได้แชมป์ประจำฤดู 2 ครั้งเท่ากัน และโรงเรียนวินิตศึกษาในพระราชูปถัมภ์ จ.ลพบุรี ก็ยังเคยได้แชมป์ออฟเดอะแชมป์ในปีที่ 9 อีกด้วย

(โรงเรียนบัวใหญ่ การแข่งขันชิงช้าสววรค์ปีที่ 6) Photo credit: Postjung
(โรงเรียนมัธยมด่านขุนทด การแข่งขันชิงช้าสวรรค์ 2022)
(โรงเรียนวินิตศึกษาในพระราชูปถัมภ์ การแข่งขันชิงช้าสววรค์รอบฤดูฝน ปี พ.ศ. 2557) Photo credit: เรารัก”ลพบุรี”

อีกหนึ่งสถิติที่น่าสนใจก็คือ มี 2 ปีที่แชมป์ประจำฤดูไม่ได้ตำแหน่งแชมป์ออฟเดอะแชมป์ แต่กลับเป็นรองแชมป์ที่คว้ารางวัลไปได้ นั่นก็คือในปีที่ 3 ที่ ‘โรงเรียนทุ่งเสลี่ยมชนูปถัมภ์’ จ.สุโขทัย ซึ่งเป็นรองแชมป์ฤดูหนาวคว้ารางวัลแชมป์ออฟเดอะแชมป์ปีนั้นไปครอง และในปีที่ 5 ‘โรงเรียนอุตรดิตถ์’ จ.อุตรดิตถ์ ซึ่งเป็นรองแชมป์ฤดูร้อน และคว้ารางวัลแชมป์ออฟเดอะแชมป์ในปีนั้นไปได้เช่นเดียวกัน

https://www.youtube.com/watch?v=T_7uiFJTBhI

https://www.youtube.com/watch?v=tNpONUORsYo

การแข่งขันกับดราม่าเป็นของคู่กัน

ใช่ว่าชิงช้าสวรรค์ปี 2022 เท่านั้นที่จะมีประเด็นดราม่า การแข่งขันในยุคแรกเองก็มีดราม่าแทบทุกปี โดยในปีแรกๆ นั้นยังไม่ค่อยมีประเด็นร้อนแรงเท่าไหร่ ขณะที่ในการแข่งขันในปีที่ 3 ก็มีดราม่าว่าโรงเรียนแห่งหนึ่งใช้นักร้องที่เป็นนักศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยมาเป็นนักร้องนำของวง ในขณะที่ปีที่ 4 ก็เป็นดราม่าระหว่างตัวเต็งทั้งสองโรงเรียน คือ โรงเรียนจ่านกร้อง จ.พิษณุโลก และ โรงเรียนทุ่งเสลี่ยมชนูปถัมภ์ จ.สุโขทัย

ในปีถัดมาก็มีข้อครหาว่าผลการตัดสินขัดสายตาคนดู เช่นเดียวกับในปีที่ 6 และ 7 ที่ประเด็นนี้เริ่มลุกลามมากขึ้น จนมาถึงปีที่ 9 ซึ่งกลายเป็นประเด็นข่าวใหญ่โต เมื่อโรงเรียนบัวใหญ่ จ.นครราชสีมา ออกมาร้องเรียนสื่อและส่งหนังสือถึงบริษัทเวิร์คพ้อยท์ ให้ตรวจสอบผลการให้คะแนนในรายการชิงช้าสวรรค์ เนื่องจากโรงเรียนบัวใหญ่นั้นคิดว่าตัดสินไม่โปร่งใส

การประกวดรายการชิงช้าสวรรค์ในปี 2022 นี้ก็มีดราม่าไม่น้อย เริ่มจากประเด็นเรื่องท่าเต้นของโรงเรียนหนึ่ง ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่านำมาจากท่าเต้นของเพลงเคป๊อปแบบแทบจะก๊อบฯ เป๊ะเลยทีเดียว แต่นั่นก็ยังไม่ร้อนแรงเท่ากับประเด็นตัวเต็งของปีนี้ นั่นคือการแสดงของโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย ที่ถูกตั้งคำถามว่าเป็น ‘ลูกทุ่งแท้’ หรือไม่ ก่อนที่จะมีการถกเถียงกันอย่างหนักถึงนิยามของคำว่าลูกทุ่งแท้

(โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย การแข่งขันชิงช้าสวรรค์ 2022)

ยิ่งไปกว่านั้นคือการถูกจับมาเปรียบเทียบกับตัวเต็งอีกหนึ่งโรงเรียนคู่แข่ง อย่างโรงเรียนประโคนชัยพิทยาคม จะเห็นได้ว่าทั้งโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย และ โรงเรียนประโคนชัยพิทยาคม มาด้วยการนำเสนอที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง โรงเรียนยุพราชวิทยาลัยมาในแบบลูกทุ่งสมัยนิยม ที่ผสมผสานการโชว์ในแบบปัจจุบันที่มีทั้งกลิ่นอายมิวสิคัล แฟนตาซี เห็นได้ชัดจากไลน์เต้นที่ดูแข็งแรง สนุกสนาน การออกแบบโชว์ที่มีสีสันแปลกใหม่ และที่สำคัญคือ การเลือกเพลงที่มีความเป็นปัจจุบันสูง อย่างเพลง ‘วิลิศมาหรา’ ในวีคล่าสุด

ในส่วนของโรงเรียนประโคนชัยพิทยาคม เรียกได้ว่าเป็นสายวัฒนธรรม โดยเอาความโดดเด่นของวัฒนธรรมอีสานมาประยุกต์ใช้ในการแสดงโชว์ นำเสนออัตลักษณ์ของชาวบุรีรัมย์โดยตลอด ทั้งชุด ท่ารำ หรือการใช้ภาษา มาพร้อมการเล่าเรื่อง การรำที่งดงามอ่อนช้อย บวกกับโชว์ที่ดูอลังการ แต่ทว่าเต็มไปด้วยความละเมียดละไม

แม้ดราม่าระหว่างโรงเรียนยุพราชวิทยาลัยและโรงเรียนประโคนชัยพิทยาคม จะทำให้ดูเหมือนว่าคนโฟกัสอยู่กับสองโรงเรียนนี้ แต่ก็อย่าลืมว่ายังมีโรงเรียนเชียงกลมวิทยาอีกหนึ่งทีม ในฐานะลูกทุ่งอินดี้อีสาน ที่อาจจะกลายเป็นม้ามืดในปีนี้ก็ได้ แต่หยุดค่ะ!!! เขามาคนละทางตั้งแต่แรกแล้ว โรงเรียนประโคนชัยพิทยาคมขาย cultural performance แล้วปฏิเสธไม่ได้ด้วยว่าโชว์ของเขาก็ได้กลายเป็น soft power ส่วนโรงเรียนยุพราชวิทยาลัยขายความลูกทุ่งโมเดิร์น ลายดนตรีที่จัดจ้าน ไม่ว่าจะเพลงเร็วหรือช้า เธอเข้าใจไหมว่า ลายเต้นที่แข็งแรงกับลายรำที่อ่อนช้อยไม่ควรถูกนำมาเทียบกัน

สุดท้ายแล้ว ผลรางวัลแชมป์ชิงช้าสวรรค์ 2022 ก็ตกเป็นของ ‘โรงเรียนประโคนชัยพิทยาคม’ พร้อมทุนการศึกษา 1 ล้านบาท แม้ว่าภายหลังการตัดสินจะมีการพูดถึงบนโลกโซเชียลกันอย่างกว้างขวาง ทั้งยินดีกับผู้ชนะอย่างประโคนชัยฯ และให้กำลังใจกับยุพราชฯ ที่แม้จะได้ที่ 2 แต่หลักฐานความสำเร็จของยุพราชฯ นั้นอยู่ที่ยอดวิว การพูดถึงในวงกว้าง หรือแม้แต่เทรนด์ที่ขับรถผ่านหน้าโรงเรียนยุพราชฯ แล้วร้องเพลงประกวด เรียกได้ว่า ถึงแม้จะไม่ได้ครองแชมป์ แต่ก็เป็นวงดนตรีลูกทุ่งยุคใหม่ที่ครองใจมหาชน

ขอขอบคุณรูปภาพจาก ชิงช้าสวรรค์

ติดตามรายการ ‘ชิงช้าสวรรค์’ ได้ที่

YouTube: WorkpointOfficial

Facebook: ชิงช้าสวรรค์

Instagram: workpoint