Club Patongko คู่หูดีเจแผ่นเสียงที่จะพาทุกคนไปพบกับประสบการณ์ดุ๊กดิ๊ก

ยิ่งเข้าใกล้เทศกาลปีใหม่ทีไร บรรยากาศของการสังสรรค์มันยิ่งเร้าใจของเรามากขึ้นทุกที เชื่อว่าหลายคนตอนนี้คงกำลังโหยหาช่วงเวลาของเฉลิมฉลอง ความสนุกสนานในงานปาร์ตี้ที่มาพร้อมเสียงดนตรีจากบูทดีเจ ขยับจังหวะความสนุกในปาร์ตี้ให้ถึงขีดสุด วันนี้ EQ พาคู่หู ฮอลล์ - ศาสตรา เฟื่องเกษม และ เบส - เมธาสิทธิ์ กิตติกุลยุทธ์ สองดีเจคู่หูแห่ง Club Patongko ที่จะว่าเหมือนกันก็เหมือนอยู่ ทั้งรสนิยมการฟังเพลง การแต่งตัว แต่จะว่าไม่เหมือนก็ได้ มาพูดคุยกับพวกเขาทั้งสองให้พอหายคิดถึงบรรยากาศปาร์ตี้กันเสียหน่อย 

ปาท่องโก๋เหมือนแป้งทอดสองอันรวมกัน กินคู่กันหรือจะฉีกกินก็ได้ เอาไปจิ้มนมหรือช็อคโกแลตก็ได้ เปรียบเหมือนเราสามารถเปิดเพลงได้หลากหลายแนว แล้วเราก็สามารถเปิดได้ทั้งแผ่นเสียงและดิจิทัล

เมื่อแป้งทอดสองชิ้นมาเจอกัน

การเจอคู่หูสักคนที่มีทั้งสไตล์การฟังเพลงและการแต่งตัวใกล้เคียงกัน แล้วยังมาได้ทำงานร่วมกันเรียกได้ว่าเป็นเรื่องยากมาก คุณฮอลล์และคุณเบสบอกเล่าตอนที่เริ่มรู้จักกันว่า

ฮอลล์: เริ่มแรกทำ Olympic Digger แล้วผมได้ไปเปิดเพลงประจำที่ The Commons ทองหล่อ เบสเป็นเพื่อนของเพื่อนเราจึงได้รู้จักกันที่นั่น หลังจากนั้นรู้ว่าเบสก็สะสมแผ่นเสียงเหมือนกัน ก็เลยชวนเบสมาเปิดเพลง ก่อนจะมี Club Patongko เวลาเจอกัน ด้วยความที่แนวเพลงและแต่งตัวใกล้เคียงกัน คนก็จะรู้ว่ามันจะมีสองคนคล้ายๆ กัน เขาจะไม่ได้จำชื่อ แต่จำว่าสองคนนี้มันมาเปิดเพลงด้วยกัน

เบส: อยู่คู่กันตลอด เปิดเพลงก็จะเปิดเพลงใกล้ๆ กัน แต่งตัวเหมือนกัน 

แนวเพลงที่พวกเราฟังและเปิด เราเรียกกันว่า แนวเพลงดุ๊กดิ๊ก สามารถเต้นหรือขยับตามได้ ฟังแล้วอยากจะดุ๊กดิ๊กตาม

ความหลงใหลในแผ่นเสียง

เบส: ผมชอบแผ่นเสียงก็ประมาณเกือบ 10 ปีแล้วครับ ในช่วงนั้น MP3 กำลังบูมมาก แต่ผมอยากฟังเพลงที่ไม่ได้อยู่ในฟอร์แมตของ MP3 เป็นจุดเริ่มต้นในการเก็บเงินซื้อแผ่นเสียง ก็เริ่มศึกษาเครื่อง ลองซื้อแผ่นทีละแผ่นๆ จากนั้นก็สะสมมาเรื่อยๆ และชอบมาถึงปัจจุบัน ชอบที่ได้เห็นหน้าปก เห็นกระดาษของอัลบั้ม 

ฮอลล์: ผมเริ่มสะสมมาช่วงเรียนจบใหม่ๆ น่าจะ 10 กว่าปีแล้ว ใกล้ๆ กับเบส ผมเริ่มชอบสะสมของวินเทจมาก่อน พวกแว่นตา กล้อง จนมาได้เจอกับแผ่นเสียง มันแตกต่างจากของชิ้นอื่น ยิ่งถ้าเรามีเยอะ เราก็จะมีเพลงเยอะ และรู้สึกว่าเป็นฟอร์แมตนี้ มันเป็นสิ่งหนึ่งที่แฟนเพลงจะครอบครองได้ด้วยรูปลักษณ์ที่ใหญ่ เมื่อเห็นก็ชื่นใจแล้ว

ตั้งแต่รู้จักและเริ่มสะสมแผ่นเสียงมาก็แห้งครับ ทุกวันนี้ก็ซื้อเรื่อยๆ เขาเลยบอกว่าถ้าเกลียดใคร ให้แนะนำให้มันสะสมแผ่นเสียงแล้วมันก็จะจน

เสน่ห์ของดีเจแผ่นเสียง

ยุคสมัยที่ก้าวหน้าเครื่องเล่นเปลี่ยนมาเป็นแบบดิจิทัลที่มีความสะดวกมากยิ่งขึ้น แต่ทั้งสองดีเจก็ยังคงเล่นเครื่องเล่นที่เป็นแผ่นเสียงควบคู่ไปกับดิจิทัลด้วย เราจึงถามถึงเสน่ห์ของการเป็นดีเจแผ่นเสียง ทั้งคู่ตอบว่า

ฮอลล์: เสน่ห์ของดีเจแผ่นเสียงคือ การที่มันไม่เพอร์เฟค มันมีเรื่องราวที่ทำให้ผิดพลาดเสมอ ถึงแม้ว่าเราจะซ้อมมาแล้วเป็นร้อยครั้ง เพราะมันมีเรื่องของเข็มที่มันเด้งออก แต่ถ้าเราทำได้ก็จะรู้สึกสนุกและภูมิใจกับมัน ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นบ้างก็คือเสน่ห์ของมัน

เบส: เสน่ห์อีกอย่างของดีเจแผ่นเสียงคือ Selection แผ่นของแต่ละคนไม่เหมือนกัน มันไม่ใช่ใครเปิดเพลงอะไรก็ได้ เพราะว่าอย่างน้อยเราซื้อแผ่นเสียง เราต้องคิดไว้แล้ว ซึ่งมันเป็นเสน่ห์เฉพาะตัวของแต่ละคน มันก็จะรู้เลยว่าดีเจคนนี้เขาชอบอะไรจริงๆ 

คามยากของดีเจแผ่นเสียง

เบส: มีทั้งเทคนิคและความแตกต่าง Selection ของดีเจ ไม่ใช่ว่าใครจะมีแผ่นอะไรเปิดได้ ต้องเป็นแผ่นที่เรามีจริงๆ อย่างน้อยคนฟังก็จะคาดหวังแล้วว่าเป็นเพลงของเราจริงๆ เพราะรู้ว่าฟอร์แมตนี้ไม่สามารถเปิดเพลงอะไรก็ได้ ซึ่งมันเป็นความยากและเป็นเสน่ห์ไปด้วย

ฮอลล์: สำหรับผมไม่ได้ยากแต่มันลำบากกว่านิดหน่อย กระบวนการมันเยอะกว่า เราต้องเตรียมทั้งเข็ม เตรียมหูฟัง เตรียมแผ่นรอง (Slipmat) และเตรียมแผ่นไป เราอาจต้องทำงานมากขึ้นนิดนึง เช่น เราเปิดที่นี่อารมณ์ประมาณนี้ เราจะต้องเอาแผ่นอะไรไป มันอาจจะต้องทำการบ้านก่อน แต่พอเราชอบเสน่ห์ของมันก็จะรู้สึกว่าอยากเปิดแผ่นเสียง

เมื่อก่อนคิดว่าจะเปิดแผ่นเสียงอย่างเดียว พอทำมาสักพักนึงเรารู้สึกว่าความสนุกมันไม่เหมือนกันในการเปิด แบบดิจิทัลจะเปิดตามใจได้มากกว่า สุดท้ายก็เลยชอบทั้งสองแบบ

สถานที่เล่นแล้วรู้สึกประทับใจที่สุด

เบส: สำหรับผมเป็นสถานที่ที่เปิดประจำคือ The Commons เพราะเป็นที่ที่เราได้เปิดเพลงในแนวเพลงที่เราอยากเปิดจริงๆ คนฟังและบรรยากาศก็ดี 

ฮอลล์: The Commons เหมือนกันครับ เราสามารถนำเสนอเพลงได้ เราอาจทำให้เขาสนุกได้ แต่ไม่เลยป้ายมาก ถ้าเพลงไหนเพราะเขาก็เดินมาถามว่าเพลงนี้เพลงอะไร ในมุมดีเจถ้าวันไหนมีคนพูดกับเราสักคนนึงก็แฮปปี้มากแล้ว อีกที่คือ The key ที่ Josh hotel เราสามารถดีไซน์เพลงที่เป็นดิสโก้เฮาส์ได้ จริงๆ แต่ละที่พอเปิดแล้วอารมณ์มันไม่เหมือนกัน ซึ่งมันก็เป็นความสนุกอีกแบบ

เหตุการณ์สุด EXOTIC ที่เคยเจอมา

เหตุการณ์ที่ 1 

เบส: วันนั้นเราเปิดที่ The Commons มีชาวต่างชาติเป็นคนอินเดีย เขาขอเพลงอินเดีย ผมก็เหวอเลย มันไม่ใช่ว่าเราเปิดไม่ได้ แต่พอเปิดแล้วมันมีคนหลายคนที่นั่งฟังเราอยู่ ถ้าเราเปิดแล้วเขาจะงงเราไหม หรือทำไมเปิดเพลงอย่างนี้ คือเราต้องดูส่วนรวมด้วย เราก็เลยบอกเขาว่าเปิดไม่ได้นะ ปฏิเสธเขาไปแบบนิ่มๆ แล้วเราบอกเขาไปว่าเดี๋ยวเราหาเพลงที่มันใกล้เคียงให้ เราก็เลยเปิดเพลงที่มีความอินเดียหน่อย แต่ไม่ได้อินเดียจ๋า สุดท้ายแล้วเขาชอบ 

เหตุการณ์ที่ 2

ฮอลล์: วันนั้นเปิดที่ The Commons น่าจะเป็นผู้ชายชาวสเปนอายุประมาณ 60 ปี แล้วเราก็เปิดเพลงที่เป็นวงสเปนชื่อวง Guts แล้วเขาชอบมาก เดินมาถือเบียร์ แล้วเบียร์ก็หกใส่เครื่อง หลังจากนั้นทุกๆ อย่างมันค่อยดับลง ตอนนั้นเราก็พึ่งจะเป็นดีเจได้ไม่นาน ไม่รู้ว่าจะต้องทำยังไง โชคดีที่เครื่องไม่เป็นอะไร

เหตุการณ์ที่ 3 

ฮอลล์: มีบริษัทนึงมาจ้างเปิดงานปาร์ตี้ เขาเคยมาฟังเราที่ The Commons ชอบมาก แล้วอยากให้เราไปเปิดเพลง ซึ่งเมื่อก่อนเราไม่กล้าเปิดปาร์ตี้เพราะมันยากที่สุดและใช้พลังเยอะ ตอนแรกเราก็ไม่รับ แต่เขาบอกว่าให้เราเปิดเพลงแบบเราได้เลย เปิดแค่ประมาณหนึ่งชั่วโมง เป็นงานเลี้ยงสาขา เราก็คิดว่าโอเคสาขานึงน่าจะประมาณ 20 - 30 คน แล้วเราก็ผิดที่ไม่ได้ถามชัดๆ ว่ากี่คนแน่ พอไปถึงเจอคนประมาณ 500 คน แล้วเป็นพนักงานออฟฟิศผู้หญิง เค้าน่าจะอยากสนุกกันซึ่งไม่ใช่เพลงที่เราเตรียมมาแน่ๆ ตอนนั้นเครียดและเหงื่อแตกเลย (หัวเราะ) เราต้องเปลี่ยนเพลย์ลิสต์ตอนนั้นเลย หาเพลงฮิตที่คิดว่าตอบโจทย์มาเปิด สุดท้ายก็ตลกดี สนุกไปอีกแบบ จังหวะที่ลงไปแล้วเจอคนประมาณ 500 คนคือช็อคมาก

โควิดผ่านไปอยากทำอะไรมากที่สุด

ฮอลล์: อยากไปเที่ยวที่ไหนก็ได้ ไปเจอเพื่อน ไปเปิดเพลง และเดินหาแผ่นเสียง

เบส: อยากออกไปข้างนอกโดยไม่ใส่แมส

ติดตามคู่หูปาท่องโก๋และอัปเดตตารางานทั้งหมดได้ที่

Facebook: Club Patongko

Instagram: clubpatongko