“มะพร้าว” หนึ่งในพืชพันธุ์ที่คนไทยคุ้นเคยที่สุด พืชที่ใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วนราวกับเป็นของขวัญอันล้ำค่าจากธรรมชาติ ลองจินตนาการดูว่าถ้าติดเกาะแล้วเจอดงมะพร้าวพร้อมพร้าสักเล่มก็เรียกว่ารอดตายได้ล่ะ นอกจากน้ำและเนื้อของมันจะอุดมไปด้วยสารอาหารแล้ว ทุกส่วนของมะพร้าวสามารถนำมาใช้ทำประโยชน์ได้หมด ลำต้นทำเฟอร์นิเจอร์ง่ายๆ ได้ อยู่ไปนานๆ อาจเพิ่มทักษะขึ้นมาจนประดิษฐ์ของใช้จากกะลาและทางมะพร้าว หรือถ้าเหงาขึ้นมาก็ลงมือวาดหน้าตาให้ลูกมะพร้าวเพื่อสมมติว่าเป็นเพื่อนแบบใน Castaway เลยยังได้!
ที่พูดมาทั้งหมดนี้ยังไม่เท่ากับที่ชาวบ้านพะงันให้ความสำคัญกับมะพร้าวแม้แต่นิดเดียว ในขณะที่พวกเราคุ้นเคยกับมันจากอาหารไทยและขนมไทยแทบทุกชนิด แต่ชาวบ้านที่พะงันนั้นให้คุณค่าและความสำคัญกับมันเทียบเท่าชีวิตๆ หนึ่งเลย คำว่ามะพร้าวคือชีวิตนี้ คนที่นี่เขาไม่ได้พูดกันเล่นๆ แต่ถึงขนาดมีประเพณีที่เรียกกันว่า “มะพร้าวฝังรก” ที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยที่โรงพยาบาลและระบบสาธารณสุขยังเข้าไม่ถึง หากบ้านไหนคลอดลูก หมอตำแยจะนำรกเด็กที่เพิ่งเกิดไปฝังไว้ที่ใต้ต้นมะพร้าวที่เพิ่งแตกหน่อไม่นาน ราวกับเป็นการฝากฝังรกรากของทารกน้อยไว้กับมะพร้าวต้นนั้น เมื่อเติบโตขึ้นไม่ว่าเจ้าตัวจะต้องเดินทางไปทำงานหรือเรียนต่อที่ไหนไกลๆ สุดท้ายแล้วเขาจะต้องกลับมายังที่ๆ รกของเขาได้ถูกฝังไว้จนเกิดเป็นราก
นอกจากนี้ “มะพร้าวฝังรก” ยังบ่งชี้ถึงชีวิตของเจ้าของรกอีกด้วยว่ามีความสุขอย่างไรจากผลผลิตของมัน หากต้นได้รับการดูแลเป็นอย่างดีและมีผลผลิตเป็นลูกมะพร้าวได้ทุกปี เป็นอันเชื่อใจได้ว่า ชีวิตของเจ้าของต้นมะพร้าวต้นนั้นคงจะเต็มไปด้วยสุขภาพพลานามัยที่ดี แต่หากมะพร้าวฝังรกต้นใดไม่ออกดอกออกผลตามที่ควรจะเป็น เจ้าของมะพร้าวต้นนั้นมักจะคอยใส่ใจดูแลใส่ปุ๋ยหมั่นรดน้ำพรวนดินเพื่อชุบชีวิตของมันขึ้นมาใหม่ ไม่ต่างกับความพยายามในการพลิกฟื้นโชคชะตาของตัวเองสำหรับมนุษย์คนหนึ่ง
เรื่องนี้ช่างบังเอิญไปสอดคล้องกับวิถีชีวิตของชาวปกาเกอะญอและ “ต้นสะดือ” ที่มีประเพณีความเชื่อคล้ายคลึงกันในกรณีที่มีเด็กเกิดใหม่ พวกเขาเองก็จะนำรกของเด็กคนนั้นไปไว้ในกระบอกไม้ไผ่แล้วผูกไว้กับต้นสะดือ เมื่อครบสามวันจึงจะนำรกไปฝังไว้ใต้ไม้ต้นนั้น และเมื่อเติบใหญ่ เด็กน้อยผู้นั้นจะคอยดูแลและปกป้องต้นไม้ต้นนั้นกับชีวิตของเขาเอง ชาวปกาเกอะเญอจะไม่มีใครกล้าตัดต้นสะดือเลยเพราะเชื่อว่าจะทำให้เกิดอาเพศแก่เจ้าของต้นสะดือต้นนั้นและถือว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการลบหลู่เกียรติกันและกันอย่างร้ายแรง ประเพณีดั้งเดิมอันงดงามนี้กำลังถูกสั่นคลอนด้วยค่านิยมสมัยใหม่ เช่น การคลอดลูกในโรงพยาบาลที่บางครั้งคุณแม่อาจจะไม่กล้าขอรกเด็กกลับบ้าน หรือป่าถูกบุกรุกจากการหันมาปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นอย่างบ้าคลั่ง ทำให้ทุกวันนี้พื้นที่ของ “ป่าสะดือ” กำลังค่อยๆ เลือนหาย
แล้วสถานการณ์ของดงมะพร้าวที่เกาะพะงันที่มีประเพณีที่ใกล้เคียงกันกับชาวปกาเกอะญอล่ะเป็นอย่างไรบ้างในปัจจุบัน?
คุณตาสฤษดิ์ โชติช่วง วัย 70 ปี ชาวพะงันโดยกำเนิด คือผู้ที่พาเราไปชมต้นมะพร้าวคู่บารมีที่รกของแกได้ถูกฝังเอาไว้และยังคงแผ่กิ่งก้านสาขาออกลูกอยู่ทุกปี คุณตาชี้ให้ดูป่ามะพร้าวอันอุดมสมบูรณ์ที่อยู่รอบๆ วิสาหกิจชุมชนชาวสวนมะพร้าวเกาะพะงันแล้วเล่าว่าป่าบริเวณนี้มีต้น “มะพร้าวฝังรก” ของเพื่อนคุณตาอยู่มากมาย โดยส่วนใหญ่ยังผลิดอกออกผลอยู่แม้จะมีเวลาจะล่วงเลยมาถึงบั้นปลายของชีวิตคน คุณตาชี้ให้ดูหลายต้นที่มีอายุร่วมร้อยปีแต่น่าทึ่งที่มันยังให้ผลผลิตอยู่ คุณตาสฤษดิ์เล่าว่า ด้วยภูมิประเทศที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของมะพร้าว ทำให้มะพร้าวจากเกาะพะงันมีคุณสมบัติพิเศษไม่เหมือนใคร นั่นคือรสชาติหวานหอมและเนื้อที่หนาสองชั้นทำให้ได้กะทิข้นมันเต็มไปด้วยสารอาหาร พอได้คุยไปเรื่อยๆ ถึงได้รู้ว่าคุณตานั่นเองได้ต่อสู้เพื่อให้ “มะพร้าวพะงัน” หรือ “Koh Phangan Coconut” ผงาดมีที่ยืนในฐานะเป็นมะพร้าวที่โดดเด่นเป็นลำดับต้นๆ ของประเทศโดยการจดทะเบียนขึ้นเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ผ่านกรมทรัพย์สินทางปัญญา
มะพร้าวพะงันขึ้นชื่อตั้งแต่สมัยก่อนที่พ่อค้าชาวจีนจะนำมะพร้าวลูกหรือมะพร้าวแห้งขึ้นเรือกลไฟหรือเรือสำเภาขนเข้าไปขายในกรุงเทพฯ ด้วยรสชาติข้นหอมมันของกะทิที่ได้จากเนื้อสองชั้นทำให้มะพร้าวพะงันมีชื่อเสียงเลื่องลือในตลาดกรุงเทพและขยายความนิยมไปถึงจังหวัดนครราชสีมาและจังหวัดอื่นๆ
เมื่อลองสำรวจภูมิศาสตร์ของเกาะก็ทำให้เข้าใจได้ถึงที่มาของความพิเศษของมะพร้าวที่นี่ เนื่องด้วยความที่เป็นเกาะมันจึงถูกรายล้อมไปด้วยน้ำทะเล แต่พื้นที่ตรงกลางเกาะซึ่งเป็นป่าสงวนแห่งชาตินั้นเต็มไปด้วยภูเขาสูงและป่าดิบชื้นอันอุดมสมบูรณ์ ที่มาของตาน้ำที่ก่อกำเนิดลำคลองสายสั้นๆ 19 สายไหลลงจากภูเขาซึมผ่านผืนดินร่วนปนทรายและพื้นที่ลาดชันเชิงซ้อน ไหนจะชั้นหินแร่แหล่งที่มาของแร่ธาตุใต้ดินและอุณหภูมิพอเหมาะอันเกิดจากลมมรสุมทั้งฤดูฝนและฤดูร้อนในแต่ละช่วงปี ถือว่าเป็นภูมิศาสตร์ที่เป็นเอกลักษณ์และสมบูรณ์แบบต่อการเจริญเติบโตของมะพร้าวที่ไม่ใช่จะหาได้ง่ายๆ
ด้วยภูมิศาสตร์ที่เอื้ออำนวยเช่นนี้จึงทำให้ “มะพร้าวพะงัน” เป็นมะพร้าวอินทรีย์อย่างแท้จริง ซึ่งกว่าจะได้รับการยอมรับในวันนี้แน่นอนว่าต้องฝ่าฟันอุปสรรคมามากมาย แต่ด้วยความรักและหวงแหนในทรัพยาการของชาวบ้านในวิสาหกิจชุมชนแห่งนี้ ในที่สุดความฝันที่จะทำให้มะพร้าวพะงันเป็นที่ยอมรับในระดับสากลก็ได้เป็นจริงขึ้นมาจากการร่วมมือร่วมใจของทุกคน คุณตาสฤษดิ์ชี้ให้ดูลักษณะของรูปทรงของลูกมะพร้าวแต่ละแบบว่าแบบไหนเหมาะกับปลูกในพื้นที่แบบใดพลางถอนหายใจยาวก่อนจะกล่าวว่า ภูมิปัญญาต่างๆ เหล่านี้น่ากลัวว่าจะหายไปกับกระแสของสังคมสมัยใหม่ที่ดูจะหาคนมาสืบสานต่อยากเหลือเกิน ความพยายามของคนรุ่นเก่าที่นับวันจะโรยราลงไปตามอายุขัยจะถูกสืบทอดไปยังคนรุ่นหลังได้อีกไหม
เพื่อเป็นการพิสูจน์ให้คุณตารู้ว่า สิ่งที่คนรุ่นก่อนได้สร้างไว้จะไม่มีวันหายไปไหน เราจึงได้ลองไปสำรวจพื้นที่ๆ ใช้สอยประโยชน์จากต้นมะพร้าวโดยสืบสานภูมิปัญญาในอดีตให้เข้ากับงานออกแบบในรูปแบบสมัยใหม่ได้อย่างลงตัวอย่าง Siam Healing Center ที่มักจะมีเวิร์คช็อปที่นำมะพร้าวมาใช้ไอเดียสร้างสรรค์ในรูปแบบต่างๆ อยู่เสมอ
วันนี้ พี่เจี๊ยบ - อนงค์ คำจีน ได้พาเราสำรวจทั้งตัวบ้านและงานเฟอร์นิเจอร์ที่สอดแทรกรายละเอียดจากลำต้นมะพร้าวได้อย่างสวยงามมีรสนิยม ไม่ว่าจะเป็นผนังห้องรายริ้วเป็นชั้นๆ ที่ดูแปลกตาไม่เหมือนใคร บันไดและชั้นวางของสุดเก๋ไก๋รวมถึงเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ล้วนถูกรังสรรค์ขึ้นมาจากต้นมะพร้าว ซึ่งนอกจากจะสวยงามและหาง่ายแล้วยังมีราคาไม่สูงเลยเมื่อเทียบกับไม้อื่นๆ ที่นิยมนำมาทำเฟอร์นิเจอร์หรือสร้างบ้าน พี่เจี๊ยบเจ้าของไอเดียกล่าวขำๆ ว่า “ช่วงนั้นเพิ่งแต่งงานใหม่ๆ ยังไม่มีเงินมากมายอะไร ก็ต้องคิดหาวิธีที่จะทำยังไงก็ได้ให้บ้านออกมาสวยแต่ประหยัดที่สุด สุดท้ายก็จบตรงมะพร้าวนี่แหละ”
พี่เจี๊ยบกล่าวต่อไปว่า มะพร้าวยังเป็นสิ่งหล่อเลี้ยงชีวิตของเธอมาโดยตลอด ว่าแล้วก็ชี้ให้เราดูเวิร์คช็อปที่กำลังถูกจัดขึ้น นักเดินทางกลุ่มหนึ่งกำลังขะมักขะเม้นโชว์ฝีไม้ลายมือวาดรูปอันเกิดแรงบันดาลใจจากต้นมะพร้าว และหากใครได้มีโอกาสมาชื่นชมสถานที่แห่งนี้ก็จะได้พบเห็นผลงานศิลปะบนกาบมะพร้าวอันเกิดจากการร่วมแรงร่วมใจของชาวชุมชนเกาะพะงันทั้งไทยและเทศคอยเรียกรอยยิ้มจากทุกคนที่ผ่านมาเห็น แต่ผลงานชิ้นที่เตะตาทีมงาน EQ มากที่สุดคงจะเป็นชิ้นที่นำหอยกลมซึ่งเป็นหอยท้องถิ่นมาแปะเป็นลูกกะตารอบๆ ลูกมะพร้าวจนออกมาเป็นงานศิลปะสไตล์เอเลี่ยน เรียกว่าไปไกลกว่าเจ้าวิลสัน ลูกวอลเลย์บอลที่ตัวเอกของเรื่อง Castaway ใช้เป็นเพื่อนคอยระบายแก้เหงาหลายขุม