Culture

วัฒนธรรมกาแฟ: ระบบนิเวศแห่งการส่งต่อความคิดสร้างสรรค์

สำหรับคนยุคใหม่ การใช้เวลาละเลียดกาแฟ และพูดคุยกับเพื่อนฝูง น่าจะเป็นกิจกรรมที่หลายคนคุ้นเคย ยิ่งสำหรับคนที่ทำงานในแวดวงสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นศิลปิน นักดนตรี หรือนักเขียน การคิดงาน หรือสร้างสรรค์ผลงานท่ามกลางกลิ่นเมล็ดกาแฟคั่วบด เสียงอื้ออึงของผู้คนเคล้าไปกับเสียงเครื่องชงกาแฟเอสเปรสโซ พร้อมกาแฟหอมอุ่น น่าจะเป็นบรรยากาศที่ยากจะถอนตัว เพราะไม่เพียงแต่จะสะดวกสบาย มีกาแฟรสชาติดีไว้ให้แก้ง่วง กาแฟยังช่วยเสริมให้ความคิดสร้างสรรค์ได้โลดแล่นไปอย่างอิสระ

กาแฟแพร่กระจายจากทวีปแอฟริกาไปยังเอเชีย ตะวันออกกลาง และยุโรป ก่อนจะแทรกซึมไปทั่วโลก และอยู่คู่กับสังคมมนุษย์มานานหลายร้อยปี กลายเป็นสินค้าที่ส่งออกมากที่สุดเป็นอันดับสองของโลก รองจากปิโตรเลียม แต่สิ่งที่มากกว่าการเป็นเครื่องดื่ม คือการวิวัฒนาการตัวเองจนกลายเป็นวัฒนธรรม ที่ไม่ใช่แค่กรรมวิธีการชงและดื่ม แต่ยังเต็มไปด้วยองค์ประกอบมากมายที่เชื่อมโยงกับวิถีชีวิตมนุษย์ในหลายมิติ อย่างไรก็ตาม ในแง่ของความคิดสร้างสรรค์ ยังไม่มีงานวิจัยใดที่ชี้ชัดได้ว่า เจ้าสารกระตุ้นระบบประสาทที่มีการบริโภคอย่างกว้างขวางนี้ ส่งผลต่อความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างไร

Photo Credit: EDO Barista

ร้านกาแฟ พื้นที่แห่งความคิดสร้างสรรค์

ร้านกาแฟ (Coffeehouse) ถือกำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรกในโลกอิสลาม เมื่อราวศตวรรษที่ 15 โดยปรากฏในเมืองดามัสกัส ประเทศซีเรีย และยังปรากฏอยู่ในกรุงเมกกะ ประเทศซาอุดีอาระเบีย ก่อนจะแพร่กระจายสู่กรุงอิสตันบูล เมืองหลวงของอาณาจักรออตโตมัน ในศตวรรษที่ 16 โดยเป็นสถานที่ที่ผู้คนมารวมตัวกันเพื่อดื่มกาแฟ เล่นหมากรุก ฟังเรื่องเล่า และดนตรี รวมทั้งถกเถียงเรื่องการเมือง จนอาจเรียกได้ว่าเป็น 'สำนักแห่งปัญญา' (Schools of wisdom) จนกระทั่งถูกแบนโดยรัฐ ทว่าการสั่งแบนกลับไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากกาแฟได้แทรกตัวอยู่ในวิถีชีวิตของประชาชนไปแล้ว

ร้านกาแฟแพร่ขยายจากอาณาจักรออตโตมันสู่ยุโรปในราวศตวรรษที่ 17 ที่ประเทศอิตาลี และได้รับความนิยมในหมู่ศิลปิน และนักเขียนในช่วงศตวรรษที่ 19 - 20 นอกจากนี้ ช่วงศตวรรษที่ 19 ได้เกิดคาเฟ่ (Café) ที่มีพื้นที่เปิดกว้างให้ผู้คนหลากหลายเข้ามาใช้เวลาดื่มกาแฟ และรับประทานอาหาร โดยไม่แบ่งแยกเพศและชนชั้น ขณะที่ร้านกาแฟจะเน้นขายเฉพาะกาแฟ และเมนูเครื่องดื่มพิเศษ รวมทั้งเป็นพื้นที่ที่ยึดครองโดยลูกค้าผู้ชาย

ศิลปินชาวโบฮีเมียนในช่วงศตวรรษที่ 19 มักจะพบปะกันในคาเฟ่ หรือบาร์ ซึ่งแตกต่างจากศิลปินในศตวรรษก่อนหน้า ซึ่งมักจะนัดพบกันในสตูดิโอ หรือโอกาสทางการต่างๆ อาจเป็นเพราะว่าศิลปิน และนักสร้างสรรค์ในยุคนี้ต้องการที่จะสร้างพื้นที่ และการเคลื่อนไหวของตัวเอง ซึ่งห่างจากรูปแบบดั้งเดิมที่ต้องทำงานแบบเดิมภายใต้ผู้อุปถัมภ์ การพบปะกับศิลปินคนอื่นๆ ในพื้นที่สาธารณะ ช่วยให้เกิดบทสนทนาที่ประเทืองปัญญา มีการแบ่งปันความคิดเห็น และแรงบันดาลใจซึ่งกันและกัน

ความสำคัญอย่างหนึ่งของคาเฟ่ ในฐานะพื้นที่แลกเปลี่ยนข้อมูล และติดต่อสื่อสาร ถูกขับเน้นอย่างชัดเจนในช่วงทศวรรษ 1990 จากการเป็นอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ ซึ่งกระจายตัวทั้งในเขตเมืองและเขตชนบท พร้อมๆ กับความนิยมใช้คอมพิวเตอร์พกพา หรือแล็ปท็อป นอกจากนี้ พื้นที่ร่วมสมัยที่มีคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต ยังก่อให้เกิดสถานที่สมัยใหม่ที่เหมาะกับคนรุ่นใหม่ ขึ้นมาแทนที่ผับ หรือร้านอาหารแบบดั้งเดิม

อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้ ร้านกาแฟ และคาเฟ่ได้พัฒนาตัวเองไปมากกว่าสถานที่ดื่มกาแฟ และพบปะผู้คน หลายแห่งมีฟังก์ชันเสริมเป็นแกลเลอรี หรือสถานที่จัดแสดงดนตรีสด และงานเสวนา ในบรรยากาศที่เป็นกันเอง

Photo Credit: Classical-Music

ศิลปินกับกาแฟ

Nina Simone ศิลปินแจ๊ซชาวอเมริกันชื่อดัง เคยกล่าวไว้ว่า 'ไม่มีศิลปินคนไหนไม่ดื่มกาแฟ'

เราไม่อาจฟันธงได้ว่าสิ่งที่ราชินีแห่งแจ๊ซได้กล่าวไว้เป็นเรื่องจริงหรือไม่ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าภาพจำของเราที่มีต่อศิลปิน ล้วนมีกาแฟประกอบอยู่ด้วยเสมอ และคงไม่ผิดนักหากจะบอกว่ากาแฟเป็นเครื่องดื่มที่เหล่าศิลปิน นักเขียน และนักดนตรีนิยมดื่ม เพื่อให้ตื่นตัวและมีสมาธิในการสร้างสรรค์ผลงานที่ต่อเนื่องยาวนาน

Photo Credit: eBay

นักดนตรีจำนวนไม่น้อยสร้างแรงบันดาลใจจากเสียงบรรยากาศในร้านกาแฟ ซึ่งสะท้อนในผลงานของพวกเขา และหลายคนก็เขียนเพลงเกี่ยวกับกาแฟ ไม่ว่าจะเป็น 'One Cup of Coffee' ของ Bob Marley หรือ 'The Coffee Song' ของ Frank Sinatra

Ludwig van Beethoven นักประพันธ์เพลงชาวเยอรมัน ดื่มกาแฟวันละ 60 ถ้วย เขาเคยกล่าวว่า "หากผมไม่ได้เป็นนักดนตรี ผมอยากเป็นหมอ เพราะจะได้ช่วยเหลือผู้อื่น แต่หากไม่ได้เป็นทั้งสองอย่าง ผมก็ยังมีเรื่องที่ต้องทำกับกาแฟอยู่ดี เพราะมันดีมาก"

Johann Sebastian Bach หนึ่งในนักประพันธ์เพลงที่มีชื่อเสียงที่สุดตลอดกาล ก็เป็นอีกหนึ่งศิลปินที่หลงใหลในการดื่มกาแฟ เขามักจะดื่มกาแฟขณะที่แต่งเพลง หรือแม้กระทั่งแต่งเพลงสรรเสริญเครื่องดื่มชนิดนี้เมื่อช่วงทศวรรษ 1730 ในชื่อว่า 'Schweigt stille, plaudert nicht' (Be still, stop chattering) หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า 'Coffee Cantata'

Photo Credit: Foo Fighters

เช่นเดียวกับศิลปินในยุคปัจจุบันอย่าง Dave Grohl ฟรอนต์แมนของ Foo Fighters ขณะทำเพลงในนามวง Them Crooked Vultures เมื่อปี 2009 เขามักจะตะโกนว่า 'Fresh pot!' เพื่อเรียกหากาแฟอยู่ตลอดเวลา จนสมาชิกในวงถ่ายคลิปตอนตะโกน และนำมาเรียงเป็นคลิปเปิดอัลบั้มของ Them Crooked Vultures

Dave Grohl เคยเปิดเผยว่า ขณะที่เขาอายุ 40 ปี เขาวุ่นวายอยู่กับการทำอัลบั้มของ Them Crooked Vultures และทำเพลงกับ Foo Fighters อีกทั้งยังต้องดูแลลูกสาวที่เพิ่งเกิด ช่วงนั้นเขาได้นอนวันละ 4 ชั่วโมง ดื่มกาแฟวันละ 3 กา จนเริ่มรู้สึกเจ็บหน้าอก และหมอต้องสั่งให้ลดกาแฟ เล่นกลองได้สัปดาห์ละ 3 - 4 ครั้ง และจิบไวน์ก่อนนอน

Still Life with Coffee Pot, 1888 by Vincent Van Gogh
Photo Credit: Vincent van Gogh

ด้านจิตรกรอย่าง Vincent Van Gogh ก็เป็นอีกผู้หนึ่งที่หลงรักเครื่องดื่มรสขมเข้มชนิดนี้ เขาร้อยเรียงความหลงใหลที่มีต่อกาแฟลงในจดหมายถึง Theo น้องชายผู้เป็นที่รัก เมื่อปี 1888 ว่า "ฉันมีความตั้งใจที่จะเติมพลังให้กับจิตวิญญาณของตัวเอง และฉันค้นพบความสงบจากการประคองถ้วยกาแฟอุ่นๆ" นอกจากนี้ เขาได้ถักทอเรื่องราวอันซับซ้อนเกี่ยวกับการหลีกหนี ที่ขับเคลื่อนด้วยกาแฟ ในคาเฟ่อันมีมนต์ขลังของปารีส ที่ซึ่งเขาใช้เวลาหลายชั่วโมง ดำดิ่งไปกับการสเก็ตช์ภาพ และจับเศษเสี้ยวของชีวิตที่หมุนวนอยู่รอบตัวเขา

Pablo Picasso, Nature morte "la cafetière" (Still Life "The Coffee Pot"), 1944
Photo Credit: San Francisco Museum of Modern Art

ส่วน Pablo Picasso หนึ่งในศิลปินที่ทรงอิทธิพล และมีชื่อเสียงที่สุดในศตวรรษที่ 20 ก็เป็นที่ร่ำลือกันว่า เขาหลงใหลในกาแฟอย่างลึกซึ้ง โดยเป็นผู้อุปถัมภ์ของคาเฟ่ และร้านกาแฟในปารีสหลายแห่ง ที่เขาใช้เป็นที่รับรองเพื่อนศิลปิน และปัญญาชนต่างๆ และขณะที่เขาอยู่ท่ามกลางวงสนทนาเกี่ยวกับศิลปะและการเมือง Picasso ก็สร้างสรรค์ผลงานบนผืนผ้าใบไปด้วย

การร่อนเร่ไปตามร้านกาแฟ และคาเฟ่ในปารีสเหล่านี้ได้ก่อร่างสร้างโลกทัศน์ของ Picasso รวมทั้งให้แรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงาน ภาพวาดที่มีกาแฟเป็นส่วนประกอบสะท้อนได้ดีถึงบทบาทของกาแฟที่มีต่อกระบวนการสร้างสรรค์ผลงานของเขา

Photo Credit: Trees Organic Coffee

เพลงร้านกาแฟ: ความสร้างสรรค์ที่สร้างแรงบันดาลใจ

สำหรับร้านกาแฟ หรือคาเฟ่ยุคใหม่ นอกเหนือจากเมล็ดกาแฟคุณภาพดี รสชาติกาแฟ บาริสตาที่มีฝีมือ หรือเครื่องไม้เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพแล้ว บรรยากาศก็เป็นสิ่งสำคัญที่ไม่อาจมองข้าม เพราะร้านกาแฟไม่ได้ทำหน้าที่เพียงเสิร์ฟกาแฟเท่านั้น แต่ยังสร้างบรรยากาศการสนทนา และประสบการณ์ให้กับผู้บริโภค อีกทั้งยังเป็นปัจจัยหนึ่งที่ลูกค้าจะใช้ในการตัดสินใจว่าจะกลับมาใช้บริการอีกหรือไม่ด้วย

วัฒนธรรมกาแฟที่เฟื่องฟูอยู่ทั่วทุกมุมโลก นำไปสู่การสร้างสรรค์ 'ดนตรีร้านกาแฟ' ซึ่งเป็นฟังสบาย และสร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลาย อาจจะติดหูเล็กน้อย และดึงดูดให้ลูกค้าตัดสินใจดื่มกาแฟอีกสักแก้ว หรือสั่งขนมเพิ่มอีกสักชิ้น โดยทั่วไป แนวเพลงที่ร้านกาแฟมักจะเปิด ได้แก่ โมเดิร์นโฟล์ก (อเมริกานาและอะคูสติก ไปจนถึงโฟล์กร็อก), อัลเทอร์เนทีฟร็อก, อิเล็กโทรนิกา / ชิลล์เวฟ, คลาสสิก, คลาสสิกร็อก และแจ๊ซ ซึ่งมักจะแตกต่างกันไปตามสไตล์ของร้าน

เมื่อเพลงเป็นองค์ประกอบสำคัญของการสร้างบรรยากาศในร้านกาแฟ จึงส่งผลต่อสไตล์ของลูกค้าที่เข้ามาในร้าน รวมถึงส่งผลต่อการตลาดของร้านกาแฟด้วย เช่น หากร้านเปิดเพลงฟังสบาย จะดึงดูดลูกค้าที่เป็นวัยผู้ใหญ่ หากเปิดเพลงอินดีร็อก หรือฮิปฮอป ลูกค้าที่เป็นกลุ่มวัยรุ่นจะมองว่าร้านของคุณเป็นร้านที่เท่และทันสมัย ขณะที่เพลงบรรเลง จะดึงดูดลูกค้าที่ต้องการนั่งทำงานในร้านกาแฟ

Photo Credit: Find the Best Local Coffee Shops Near You

นอกจากนี้ ร้านกาแฟสามารถเลือกเปิดเพลงตามประสบการณ์ที่อยากถ่ายทอดให้ลูกค้าได้ด้วย เช่น การเปิดเพลงคลาสสิกร็อกที่มีจังหวะเร็วจะทำให้ลูกค้าเคลื่อนตัวเร็วขณะเข้าคิว ส่วนเพลงแจ๊ซนุ่มๆ จะกระตุ้นให้ลูกค้าซื้อสินค้าที่มีความภูมิฐาน เพลงอินดีป๊อปจะสร้างบรรยากาศที่เชื้อเชิญและผ่อนคลาย หรือถ้าต้องการให้ลูกค้าลุกออกจากโต๊ะเร็วๆ เพื่อรับลูกค้าใหม่ อาจจะเปิดเพลงที่มีจังหวะเร็วอย่างฮิปฮอป หรือป๊อป อย่างไรก็ตาม คนส่วนใหญ่มาร้านกาแฟเพื่อพักผ่อน ทำงาน หรือพบปะเพื่อนฝูง จึงควรเปิดเพลงที่สร้างบรรยากาศ แต่ไม่กระทบกับรสนิยมการฟังเพลงส่วนบุคคล และไม่ทำลายสมาธิ ซึ่งแนวเพลงที่น่าจะเหมาะสมที่สุดคือแจ๊ซ

และไม่ว่าจะเป็นศิลปิน นักเขียน นักธุรกิจ เป็นคนทั่วไปที่รักในรสชาติกาแฟ และบรรยากาศในร้านกาแฟ เป็นเจ้าของร้านกาแฟ หรือเป็นบาริสตา ทุกคนล้วนเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศที่เรียกว่า 'วัฒนธรรมกาแฟ' ที่ไม่ใช่แค่การซื้อขายเครื่องดื่มเท่านั้น แต่ยังเป็นการ 'ส่งต่อความคิดสร้างสรรค์' ให้งอกงามในสังคมด้วย