ท่ามกลางสถานการณ์ความร้อนระอุทางการเมืองของประเทศไทย ยังมีกลุ่มคนที่หยิบเอาเสียงหัวเราะใช้เป็นซอฟต์พาวเวอร์ เพื่อกร่อนเซาะอำนาจเผด็จการ โดย 5 คอมเมเดี่ยน โนะ พิจารณ์ วราหะ, คังโป้ย เสฎฐวุฒิ จันทร์เพ็ญสุข, แฟกซ์ คณิตกรณ์ ศรีมากรณ์, ตั้ม ชวัลวัฒน์ หมวกแก้ว, บีเบนซ์ พงศธร ธิติศรัณย์ ที่ช่วยกันขับเคลื่อนเมืองด้วยเสียงหัวเราะ
กำเนิด Comedy Against Dictatorship
“จากที่ทำแสตนอัพคอมเมดี้ ‘ยืนเดี่ยว’ อยู่แล้ว เกิดการชักชวนกันของกลุ่มฟรีอาร์ต ให้มายืนเดี่ยวในม็อบดู มีการเขียนมุกเพื่อมาเล่นที่ม็อบโดยเฉพาะ เลยมีการตั้งกลุ่มขึ้นมา หลังจากนั้นก็ยาวมาจนเป็นกลุ่ม CAD นี่แหละครับ”
CAD เป็นกลุ่มอิสระ ไม่มีการอิงกับสปอนเซอร์ ทุกคนเป็นคอมเมเดี่ยนที่มีมุกไว้ปล่อยสำหรับที่ม็อบโดยเฉพาะ มีการร่วมงานกับกลุ่มอื่นๆ เพื่อขับเคลื่อนทางการเมืองอย่างเช่น RAD (Rap Against Dictatorship) สลับบทบาทกันแร๊ปและแสตนอัพคอมเมดี้
“เราเชื่อว่าการเมืองคือทุกเรื่องของชีวิต ไม่ควรมีขอบเขตอะไรมากั้น”
ตลกต่อต้านเผด็จการก็เหมือนกับคนๆ หนึ่ง ที่มองว่าตลกก็ได้ แต่อีกมุมหนึ่งความตลกคือความเจ็บปวด ทุกๆ ความขบขันมันคือโศกนาฏกรรม พอเรื่องราวแย่ๆ มันผ่านกาลเวลาไปแล้ว มันก็กลายเป็นเรื่องตลก และพอเรานั่งคลี่คลายเรื่องตลกทั้งหลายที่เล่ากัน ทุกเรื่องมันเชื่อมโยงการเมืองหมด เราจะเห็นว่าทุกความผิดพลาด เกิดขึ้นจากระบบการเมืองไม่ทางใดก็ทางหนึ่งเสมอ
เสียงหัวเราะ ต้านเผด็จการได้อย่างไร?
“จริงๆ แล้ว ซอฟต์พาวเวอร์มีผลต่อการเลือกตั้ง การเมืองในหลายประเทศ เช่น บางประเทศที่ผู้นำประเทศเป็นคนที่มาจากอาชีพแสตนอัพคอมเมดี้แล้ว เพราะคนที่เป็นคอมเมเดี่ยนมีวาทศิลป์ โน้มน้ามจิตใจคนได้ รู้จักการเลือกใช้คำ มันทำให้เกิดแรงกระเพื่อมขึ้นมา และสามารถเปลี่ยนคนที่มาฟังให้คล้อยตามได้”
เสียงหัวเราะมีพลังมากกว่าที่คิด ต้องเคยมีสักครั้งที่เราได้ฟังใครบางคนเล่าเรื่องในวงสนทนา และทำให้ทุกคนในวงขำจนออกรสออกชาติ และทำให้รู้สึกคล้อยตามอยากจะฟังต่อว่าเขาคนนั้นจะเล่าอะไรให้เราฟังอีก นี่คือผลลัพธ์เล็กๆ ที่เรียกว่า “ซอฟต์พาวเวอร์” เพียงแค่สามารถโน้มน้าวใจคนกลุ่มเล็กๆ ได้ ก็สามารถกระจายวงกว้างเป็นคนกลุ่มใหญ่ขึ้นๆ ได้เช่นกัน
เรื่องที่เอามาแสตนอัพคอมเมดี้เป็นแบบไหน?
“ทุกเรื่อง เพราะทุกเรื่องเกี่ยวกับการเมืองทั้งหมด”
ลองนึกภาพของเด็กคนหนึ่งที่ต้องยืนตากแดดหน้าเสาตอนเช้า ใส่ยูนิฟอร์ม ต้องยืนร้องเพลง ต้องรักนั่นนี่เต็มไปหมด ต้องก้มหัวไหว้ ต้องพนมมือแบบไหน เรื่องพวกนี้มันสะท้อนออกมาจากระบบการเมืองทั้งนั้น การเมืองจึงเป็นทุกเรื่องในชีวิตของทุกๆ คน ที่สามารถจะขุดลงไปลึกถึงราก แล้วนำขึ้นมาเล่าให้ฟังแบบขบขันให้ทุกคนฟังได้
แล้วแบบนี้มีหมดมุกบ้างไหม?
“ถ้ารัฐบาลชุดนี้ผมได้เรื่อยๆ นะ ผมพูดได้ยัน 70-80 นะ ยาวเลยครับ เยอะ เคยมีคนถามคำถามนี้เหมือนกัน บอกเลยว่า โห! คุยได้ยันเช้าอะครับ เปลืองเหล้าเปลืองเบียร์ครับ บอกเลย”
บทบาทของ CAD กับความรุนแรงทางการเมืองที่เพิ่มขึ้น แสตนอัพคอมเมดี้ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไป แต่เป็นการต่อยอดโปรเจ็คของ “ยืนเดี่ยว” โดยการดึงเอาคนที่มีอิทธิพล และประชาชนทั่วไปมาเป็นกระบอกเสียงที่ออกมา Call Out ได้มีเวทีใช้ความคิดเห็นเล่าเรื่องขำขันเพื่อเสียดสีทางการเมือง ในชื่อว่า “สภาพูดแทนราษฎร” หยิบเอาปัญหาจริงที่ทุกคนได้รับผลกระทบทางการเมือง มาเล่าถึงโซลูชั่นแบบขบขันที่แต่ละคนได้ประสบในอาชีพต่างๆ โดยยึดหลักของการเป็นซอฟต์พาวเวอร์
ถ้าวันหนึ่งที่เผด็จการโค่นล้มไป CAD จะเป็นยังไง?
“เป็นนายกครับ”
“ไม่ต้องคิดอะไรเลยครับ จะมีตำแหน่งแน่ๆ ครับ ซึ่งถ้าเผด็จการนี้ไป ก็น่าจะเป็นทางของเราแล้วครับ ตอนนี้จะเห็นความเคลื่อนไหวของคนรุ่นเรา มันกำลังเป็นยุคของเรา”
ฟังแล้วอดนึกถึงวันที่เผด็จการล่มสลายไม่ได้ คนกลุ่มใหม่ที่เข้ามาขับเคลื่อนประเทศเป็นคนแห่งยุคสมัยโดยแท้ การเมืองคงพลิกหน้ามือเป็นหลังมือแบบที่เราก็เดาไม่ถูก แต่รู้แค่ว่าในวันที่ความคร่ำครึถูกถอนรากถอนโคนออกไป สิ่งใหม่ที่เข้ามาทดแทน มันคงตื่นเต้นเพราะมันคงกลายเป็นระบบการเมืองใหม่ เราไม่เคยเห็นมาก่อนในระบบการเมืองไทยก็เป็นได้
ติดตามและอัพเดทข่าสารกลุ่มขบขันต้นเผด็จการได้ที่ ยืนเดี่ยว, Comedy Against Dictatorship