Culture

5 หนังแนว ‘Cosmic Horror’ กับแนวคิด ‘Nihilism’ เมื่อมนุษย์เป็นแค่สิ่งเล็กๆ ในจักรวาล

~หลายคนคงคุ้นเคยกับสื่อบันเทิงแนว ‘Cosmic Horror’ ซึ่งมีต้นกำเนิดมาจากนักเขียนนิยาย Howard Phillips Lovecraft หรือที่หลายคนรู้จักในชื่อ H.P. Lovecraft ที่ว่าด้วยความสยองขวัญของสิ่งที่อยู่เหนือการรับรู้ของมนุษย์ โดยในช่วงหลังได้ถูกพัฒนาจนไปสู่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ด้วย Cosmic Horror ใช้คอนเซปต์ ‘Fear of the unknown’ หรือการกลัวความไม่รู้ อย่างที่ H.P. Lovecraft เคยกล่าวไว้ 

“The oldest and strongest emotion of mankind is fear, and the oldest and strongest kind of fear is fear of the unknown” (สิ่งที่อยู่คู่กับมนุษย์มาอย่างยาวนานและแนบแน่นนั้นก็คือความกลัว และสิ่งที่น่ากลัวก็คือความไม่รู้”)

~ยิ่งเวลาดูหนังที่ Zoom out ให้เห็นระบบสุริยะ กาแล็กซี่ เอกภพ หรือการสร้างสิ่งใหม่ๆ ในจักรวาลที่เหนือการรับรู้ของมนุษย์ ก็มักจะมีคำถามกับตัวเองว่า 'ฉันอยู่ตรงไหนในแมปนี้นะ ?' เพราะถ้าเรามองโลกแบบ Bird eye view หรือแบบ 'มุมมองพระเจ้ามองจักรวาล' เรามองไม่เห็นแม้แต่ดวงอาทิตย์ด้วยซ้ำ อีกทั้งโลกเราก็เล็กกว่าดวงอาทิตย์ตั้ง 109 เท่า จึงเกิดคำถามว่า ‘แล้วเราที่เป็นแค่มนุษย์ตัวเล็กๆ บนผิวโลกสำคัญเหรอวะ?’ ต้องทำอะไรเพื่อโลกจริงดิ?' การคิดแบบนี้มีชื่อเรียกในทางปรัชญาว่า ‘Nihilism’ ทำให้หลายคนมองว่าแนวคิดนี้ทำให้เรายิ่งรู้สึกว่างเปล่า เคว้งคว้างยิ่งขึ้นไปอีก - วันนี้เราจึงจะพาทุกคนไปสำรวจแนวคิด Nihilism ที่ซ่อนอยู่ในหนัง Cosmic Horror ทั้ง 5 เรื่อง แล้วมันแย่จริงอย่างที่หลายคนบอกมั้ย ?

*เนื้อหาต่อไปนี้อาจมีการสปอยล์*

The Thing (1982)

~The Thing เป็นภาพยนตร์แนวไซไฟสยองขวัญ กำกับโดย John Carpenter เจ้าพ่อหนังสยองขวัญที่หลายคนอาจคุ้นเคยกับผลงานเฟรนไชส์หนัง Slasher สุด Iconic อย่าง Halloween เรื่องราวของ The Thing เริ่มขึ้นจากเหตุการณ์แปลกประหลาดที่เกิดขึ้นใกล้ศูนย์วิจัยแถบขั้วโลกเหนือ ทั้งซากสิ่งมีชีวิตหน้าตาแปลกๆ หมากลายเป็นสัตว์ประหลาด เหล่านักวิทยาศาสตร์จึงได้ทำการศึกษาเหตุการณ์ประหลาดเหล่านี้จนค้นพบซากยานอวกาศที่ถูกแช่แข็งไว้ในก้อนน้ำแข็งหรือก็คือเหตุการณ์แปลกๆ ที่เกิดขึ้นนั้น เกิดจากสิ่งมีชีวิตที่เคยอยู่ในยานนี้นี่เอง จากเหตุการณ์หมากลายเป็นสัตว์ประหลาดนั้นทำให้นักวิจัยเหล่านี้ได้เริ่มศึกษาและพบว่า ‘เอเลียน’ ที่มาจากยานนั้น สามารถดูดกลืนและเลียนแบบสิ่งมีชีวิตได้

~สิ่งที่ทำให้หนังเรื่องนี้เป็นที่จดจำนั้นก็คือการออกแบบเอเลียนที่มีความเฉพาะตัวและไม่มีใครเคยเห็นมาก่อน อีกทั้งการเป็นภาพยนตร์ที่ถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ปี 1982 ในยุคที่เทคโนโลยีทางคอมพิวเตอร์ยังไม่ได้ถูกนำมาใช้มากนัก ทำให้การออกแบบฉาก ตัวละคร หรือพร็อปส่วนใหญ่นั้นเป็นของจริงหรือที่เรียกว่า Practical Effects 

~อย่างที่กล่าวไปว่าความพิเศษของเอเลียนในเรื่องนี้คือสามารถเลียนแบบสิ่งมีชีวิตอื่นได้ ทำให้ทั้งตัวละครและเราในฐานะคนดูไม่สามารถรู้ได้เลยว่าสิ่งที่เราเห็นนั้นเป็นมนุษย์หรือเอเลียน บวกกับสภาพแวดล้อมในหนังที่เป็นศูนย์วิจัยซึ่งอยู่โดดเดี่ยวท่ามกลางหิมะในขั้วโลกเหนือ ทำให้ตัวละครนั้นต้องต่อสู้กับทั้งความหวาดระแวงในกลุ่มผู้รอดชีวิตและต้องหาทางเอาชีวิตรอดจากสภาพอันโหดร้ายของสถานที่แห่งนี้ 

~สิ่งที่น่าสังเกตคือคนที่ตายในเหตุการณ์นี้ไม่ได้ตายเพราะโดนเอเลียนฆ่าเพียงอย่างเดียว ด้วยทั้งความกลัว ความวิตก ความหวาดระแวง จากการที่ไม่รู้ว่าใครโดนเอเลียนกลืนกินและเลียนแบบไปแล้วบ้าง ทำให้ตัวละครนั้นไม่ค่อยจะไว้ใจกันมากนัก ถึงขั้นแตกคอจนทำร้ายกันเองทั้งที่ยังไม่ได้กลายเป็นเอเลียน ฉากที่ทุกคนถูกมัดไว้กับเก้าอี้เพื่อตรวจสอบว่าใครกลายเป็นเอเลียนไปแล้วบ้าง นึกสภาพที่ทั้งคนและเอเลียนถูกกักรวมกันไว้ในห้องโดยที่แต่ละคนไม่สามารถทำอะไรได้ หากใครสักคนแปรสภาพเป็นอย่างอื่นในขณะที่มนุษย์ปกติที่เหลือถูกมัดมือไว้ก็คงจะไม่ต่างจากการฆ่าตัวตายมากนัก ในตอนจบของเรื่องที่เหลือเพียงตัวละครหลักอย่าง แมค และอีกคนคือไชลดส์ที่เพิ่งกลับมาหลังจากวิ่งตามคนที่เป็นเอเลียนไป ภาพผู้รอดชีวิตสองคนนั่งจิบเบียร์มองดูศูนย์วิจัยที่กำลังถูกเผาจากทั้งฝีมือเอเลียนมนุษย์เอง โดยที่ไม่รู้ว่าไชลดส์ยังเป็นคนอยู่หรือไม่ แต่เมื่อดูท่าทางของแมคที่ดูจะเหนื่อยล้าและว่างเปล่า ไม่ว่าจะเป็นเอเลียนหรือไม่มันก็ไม่สำคัญต่อไปแล้วเพราะยังไงเรื่องนี้ก็ต้องจบลง ณ สถานที่อันโดดเดี่ยวนี้ ไม่ว่าเขาจะมีชีวิตรอดไปหรือไม่ก็ตาม 

~เมื่อวิเคราะห์ฉากจบที่เหลือผู้รอดชีวิตเพียงสองคนซึ่งเราไม่รู้ว่าหลังจากนี้จะยังคงมีชีวิตรอดอยู่หรือไม่ อีกทั้งเหตุการณ์ทุกอย่างในเรื่องเมื่อมองดูดีๆ กลับเป็นเพียงจุดเล็กๆ ในสถานที่ไกลปืนเที่ยง ที่คนอื่นในโลกไม่ได้รับรู้เหตุการณ์นี้เลยทำให้เรารู้สึกว่างเปล่า อีกทั้งการต่อสู้กับสิ่งแปลกปลอมที่เราไม่รู้วิธีหรือแนวทางที่เอาชนะได้เลย อาจจะเป็นการเสริมย้ำแนวคิด Nihilism ทว่าการกระทำของทุกตัวละครที่พยายามต่อสู้และตามหาคำอธิบายของเหตุการณ์ประหลาดที่เกิดขึ้นกลับทำให้เราเห็นถึงศักยภาพของมนุษย์ที่แม้จะเป็นเพียงสิ่งเล็กๆ ในเอกภพแต่กลับสามารถเรียนรู้ที่จะตอบโต้เอเลียนเหล่านั้นได้

Event Horizon (1997)

~ภาพยนตร์จากผู้กำกับ Paul W.S. Anderson ที่หลายคนอาจคุ้นเคยกับผลงานเฟรนไชส์เรื่อง Resident Evil หากใครเป็นสายดูหนังแนวเลือดสาด Event Horizon ก็นับได้ว่าเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ผสานความไซไฟและสยองขวัญไว้ด้วยกันได้อย่างดี เรื่องราวเริ่มขึ้นเมื่อยานสำรวจอวกาศชื่อว่ายาน ‘Event Horizon’ ที่จู่ๆ ก็หายไปบริเวณใกล้กับดาวเนปจูน และกลับมาปรากฏให้เห็นอีกครั้งหลังจากหายไป 7 ปี จึงมีการส่งคนมาตรวจสอบสภาพยานและการกลับมาอย่างลึกลับในครั้งนี้

~เช่นเดียวกับ The Thing และหนังสยองขวัญอีกหลายเรื่อง ที่มักจะใช้สภาพแวดล้อมเป็นตัวเพิ่มความทรมานให้กับตัวละคร ท่ามกลางอวกาศอันเวิ้งว้างที่มีเพียงยานสองลำ อีกทั้งยังต้องสู้กับกฎฟิสิกส์ต่างๆ อย่างแรงดันอากาศและอุณหภูมิอันหนาวเหน็บ ทำให้คนดูอย่างเราทั้งเหนื่อย กดดัน และเอาใจช่วยตัวละครให้สู้กับสิ่งที่ไม่รู้ว่าคืออะไรกันแน่ 

~สิ่งที่น่าสนใจของยาน Event Horizon คือเป็นยานที่มี ‘เครื่องสร้างแรงโน้มถ่วง’ หรือ ‘The Gravity Drive’ ที่สามารถสร้างแรงดึงดูดจนทำให้เกิด ‘รูหนอน’ ทำให้ยานลำนี้ทะลุข้ามไปยังอีกฟากของจักรวาลได้ จึงเกิดการตั้งคำถามต่อการกลับมาของยานลำนี้ที่ทั้งมีความลึกลับและน่าสงสัย ถึงแม้หนังเรื่องนี้จะเป็นแนวสยองขวัญไซไฟอวกาศ แต่ไม่มีเอเลียนหรือสัตว์ประหลาดโผล่มาให้เห็นเป็นตัวๆ เลย ความสยองขวัญทั้งหมดในเรื่องล้วนเป็นสภาวะทางจิตใจที่ยานได้สร้างให้กับตัวละคร หากเปรียบเทียบง่ายๆ ก็อาจเรียกได้ว่าเป็นยานผีสิง เพราะในระหว่างที่ตัวละครตรวจสอบยานก็ต่างต้องพบกับเหตุการณ์แปลกชวนสะพรึง ทั้งซากศพที่พบในยาน การระเบิดที่สร้างความเสียหาย และเหตุการณ์อื่นๆ อีกมากมายที่จะค่อยๆ เพิ่มความวิตกมากขึ้นเหมือนกำลังพาเรานั่งรถไฟเหาะโดยที่เราไม่รู้เลยว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่กับยานลำนี้ เมื่อถึงจุดหนึ่งที่สภาพจิตใจของตัวละครบางตัวโดนสร้างบาดแผลจนไร้ซึ่งสำนึกแล้ว ความรุนแรงของเหตุการณ์ประหลาดในยานก็ยิ่งทวีคูณ ราวกับว่าเป็นความสำเร็จของยานผีสิงลำนี้ที่ทำให้จิตในตัวละครพังทลายอย่างสมบูรณ์

~อีกทั้งแฟนหนังหลายคนยังพูดกันอีกว่าหนังเรื่องนี้มีความคล้ายคลึงกับภาพยนตร์สุดตำนานอย่าง Hellraiser (1987) แต่เป็นเวอร์ชันไซไฟ หรือการเปรียบเทียบเครื่อง Gravity Dive เป็นเหมือนประตูสู่นรก สิ่งที่น่าเสียดายสำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้คงเป็นเรื่องการโดนตัดออกหลายฉากเนื่องจากมีความรุนแรง จึงทำให้เราไม่ได้เห็นรายละเอียดของยานลำนี้มากเท่าที่ผู้กำกับอยากนำเสนอนัก ซึ่งฉากสำคัญฉากหนึ่งที่ถูกตัดออกนั้นเป็นตอนที่ด็อกเตอร์เวียร์ ผู้สร้างยาน Event Horizon ที่ตอนนี้ไร้สิ้นซึ่งสติได้ตามทำร้ายกัปตันมิเลอร์ พร้อมกล่าวว่าจะทำให้เขาได้เห็นนรกของจริง จากนั้นภาพก็ตัดไปที่เหตุการณ์ในยาน Event Horizon เมื่อ 7 ปีก่อน ที่สภาพลูกเรือทุกคนกำลังโดนยานลำนี้ทรมานอย่างโหดเหี้ยมเต็มไปด้วยเลือดและร่างกายที่เหวอะหวะ ท้ายที่สุดแล้วทั้งตัวละครและคนดูก็ยังไม่อาจทราบได้แน่ชัดว่ายานลำนี้คืออะไรกันแน่ หลายคนก็ยังคงให้ความเห็นว่าการที่ยานลำนี้ทะลุรูหนอนไปอีกฟากของจักรวาลนั้น ก็เป็นเหมือนกับว่าเราไปยังสถานที่ที่เราไม่เคยรู้จักมาก่อน จึงทำให้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับยานนั้นเกินการรับรู้และความเข้าใจของมนุษย์

~ในบริบทของหนังเรื่องนี้สิ่งที่อยู่เหนือการรับรู้ของมนุษย์ไม่ใช่เพียงแต่เอเลียนหรือสิ่งมีชีวิตแต่ยังมีเรื่องสถานที่ พื้นที่ หรือขอบเขตที่ไกลกว่ามนุษย์เคยรับรู้ อย่างรูหนอนที่เป็นทางผ่านให้กับยาน Event Horizon และมิติที่ยานหลุดเข้าไป ซึ่งเราไม่สามารถรับรู้ได้เลยว่าเกิดอะไรขึ้นกับยานลำนี้กันแน่ รวมทั้งการผนวกเข้ากับความเป็นศาสนาที่มีการอ้างถึงนรก ทว่ากลับมีการตีความและอธิบายภาพของนรกได้แตกต่างจากศาสนา ด้วยขอบเขตอันกว้างขวางนี้เองทำให้มนุษย์อย่างเรารวมถึงลูกเรือยาน Event Horizon ไม่สามารถตอบโต้อะไรได้ จึงทำให้เราเห็นสภาพความรุนแรงและการจำนนต่อสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่ามนุษย์อย่างในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในยานลำนี้

Annihilation (2018)

~ภาพยนตร์แนวไซไฟสยองขวัญโดย Alex Garland ที่หลายคนอาจคุ้นเคยจากผลงานแนวไซไฟอย่าง Ex Machina (2014) ซึ่งทำออกมาไว้ได้อย่างดี ในส่วนของ Annihilation นั้นก็คงไม่ต่างกัน เรื่องราวเริ่มขึ้นเมื่อมีวัตถุประหลาดตกลงจากฟากฟ้ามายังประภาคารแห่งหนึ่ง วัตถุประหลาดนั้นไม่เพียงสร้างความเสียหายแต่ยังแผ่ขยายอาณาเขตที่เรียกว่า ‘ม่านรุ้ง’ หรือ ‘The Shimmer’ เพื่อไม่ให้ม่านรุ้งกินพื้นที่ไปมากกว่านี้จึงมีการส่งคนเข้าไปสำรวจแต่กลับไม่มีใครได้ออกมาเลย

~หนึ่งปมสำคัญที่ทำให้เราตั้งคำถามและเคลือบแคลงใจตลอดเวลาในการดูหนังเรื่องนี้ คือในช่วงต้นเรื่องที่ ‘เคน’ ซึ่งเป็นผู้รอดชีวิตคนเดียวจากการสำรวจในครั้งก่อน จึงทำให้ ‘ลีน่า’ นักชีววิทยาผู้เป็นภรรยาต้องเข้าไปสำรวจอีกครั้งพร้อมกับนักวิทยาศาสตร์คนอื่นๆ การกลับมาของเคนในครั้งนั้นนำพาความสงสัยมาให้กับทุกคนรวมถึงคนดูด้วย เพราะเมื่อเขาถูกถามเรื่องข้อมูลในม่านรุ้ง เคนก็ตอบเพียงว่า “I don’t know” “maybe” หรือคำตอบอื่นๆ ที่ไม่ได้คลายความฉงนของม่านรุ้งเลยแม้แต่น้อย พร้อมกับสายตาที่ดูว่างเปล่าราวกับไม่ใช่คนเดิม

~สิ่งที่ทำให้ Annihilation โดดเด่นนอกจากเรื่องฉากและภาพที่ดูสดใสเขียวชอุ่มเต็มไปด้วยธรรมชาติผิดกับความสยองขวัญ ม่านรุ้งซึ่งเป็นพื้นที่ลึกลับไร้ซึ่งข้อมูลใดๆ ก็ทำให้เราในฐานะคนดูก็ต่างคิดทฤษฎีกันไปต่างๆ นานา เมื่อเหล่านักวิทยาศาสตร์เข้าไปสำรวจเราจึงต้องคอยติดตามว่าสิ่งต่างๆ ในม่านมีการเปลี่ยนแปลงไปถึงไหนแล้ว ทั้งจระเข้กลายพันธุ์ หมีที่หลอมรวมไปกับร่างของหนึ่งในคนสำรวจจนสามารถส่งเสียงแบบมนุษย์ได้ หรือประภาคารที่เป็นจุดศูนย์กลางของม่านรุ้งมีสภาพเป็นอย่างไร เมื่อดูไปได้ประมาณหนึ่งหนังจะไม่ได้เฉลยแบบตรงๆ แต่จะเป็นเพียงการแสดงให้เห็นความเปลี่ยนแปลงในม่านรุ้ง ซึ่งทำให้เราพอจะเดาได้ว่าคุณสมบัติของม่านรุ้งนั้นก็คือสามารถ ‘เปลี่ยนแปลง’ ‘หลอมรวม’ และ ‘แบ่งตัว’ สิ่งมีชีวิตทุกอย่างภายในนั้นได้

~จุดไคลแมกซ์ของหนังคือหลังจากที่คนอื่นๆ ตาย ลีน่าและหัวหน้าหน่วยได้แยกกันไป จนในที่สุดเธอก็มาถึงประภาคารนั้น ลีน่าได้พบกับกล้องวีดีโอที่เคนถ่ายไว้ในครั้งก่อน เป็นคลิปที่เคนระเบิดตัวเองตาย แต่หลังจากนั้นก็กลับเป็นภาพเคนเดินจากหลังกล้องมายืนหน้ากล้อง ทางด้านลีน่าที่กำลังเกิดคำถามในหัวเต็มไปหมดได้เหลือบไปเห็นโพรงที่ดูน่าสงสัยและตัดสินใจเข้าไป จึงได้พบกับหัวหน้าที่แยกกันก่อนหน้านี้กำลังเปลี่ยนสภาพเป็นบางสิ่ง ต่อมาสิ่งแปลกปลอมนั้นก็ได้ ‘เลียนแบบ (Mirror)’ ลีน่า จนกระทั่งถึงช่วงท้ายที่เธอได้เผาประภาคารแล้ววิ่งออกมา ภาพจึงตัดไปที่ลีน่านั่งอยู่คล้ายกับในห้องสอบสวน ทุกคนถามเธอว่าออกมาได้ยังไง อะไรอยู่ในประภาคาร และคำถามอื่นๆ อีกมากมาย แต่สิ่งที่เธอตอบกลับนั้นแทบจะเหมือนกับเคนในครั้งก่อน “I don’t know” “maybe” หรือ “I don’t think so”

~บทสนทนาในตอนจบของเคนและลีน่าไม่ได้คลายความสงสัยของคนดูเลยทั้งสิ้น เป็นเพียงการคุยกันทั่วไปที่แต่ละประโยคเต็มไปด้วยคำถามของคนดู จนหลังจากดูจบหลายคนคงนั่งเหม่อร้อยเรียงเรื่องราวและความสมเหตุสมผลที่หนังไม่ได้เฉลยเลยแม้แต่น้อย ซึ่งยิ่งเป็นการตอกย้ำว่าเราที่เป็นมนุษย์ตัวเล็กๆ ในจักรวาลนี้ แทบจะไม่รู้อะไรสักอย่างเลย ราวกับว่าการทะนงตนในอีโก้ของมนุษย์ที่บอกว่าเรามีปัญญาแต่เอาเข้าจริงเราแทบจะไม่รู้อะไรเลย อาจกล่าวได้ว่าเป็นหนังไซไฟปรัชญาที่ชวนให้เราแสวงหาการนิยามตัวตนของมนุษย์ ทั้งยังชวนให้คนดูกลับมาคิดต่อว่า หากตัวเราเกิดการเปลี่ยนแปลง เราจะยังเป็นเราอยู่หรือไม่? 

“You are not Kane…aren’t you? ”

“I don’t think so”

“Are you Lena? ”

Color Out of Space (2019)

~ภาพยนตร์เรื่องนี้ดัดแปลงมาจากเรื่องสั้นของ H.P. Lovecraft เป็นหนังแนวสยองขวัญที่ปนกลิ่นอายความไซไฟ กำกับโดย Richard Stanley นำแสดงโดยเจ้าพ่อหนังเกรดบีอย่าง Nicholas Cage เรื่องราวของ Color Out of Space เริ่มต้นด้วยครอบครัวการ์ดเนอร์ซึ่งดูเหมือนกับครอบครัวชาวอเมริกันทั่วไปมีพ่อ แม่ และลูก 3 คน ครอบครัวนี้อาศัยในพื้นที่ห่างไกล ทำฟาร์ม เลี้ยงสัตว์ วันหนึ่งกลับมีสิ่งแปลกปลอมสีม่วงแดงหรือ ‘Magenta’ ร่วงหล่นมาจากท้องฟ้า หลังจากนั้นเรื่องราวสุดแปลกและน่าผวาก็เกิดขึ้นกับครอบครัวการ์ดเนอร์

~ความโดดเด่นของหนังเรื่องนี้คือเอเลียนนั้นมาในรูปแบบของ ‘สี Magenta’ อันเป็นเอกลักษณ์ การเลือกใช้สี Magenta ซึ่งเป็นสีที่มีความพิเศษคือเป็นสีที่ไม่มีตำแหน่งคลื่นแสง เรียกว่า “Extra-spectral colour” แต่สาเหตุที่เรามองเห็นสีนี้ได้เนื่องจากสมองเราแปรผลตำแหน่งสเปกตรัมของสีน้ำเงินที่อยู่ใกล้กับสีแดง ให้เรามองเห็นเป็น Magenta นี่เอง หรืออาจพูดได้ว่าสีนี้ไม่มีอยู่จริงแต่เป็นเพียงการรับรู้ทางสมองของมนุษย์ ความพิเศษของการใช้สีที่มีลักษณะแปลกแบบนี้ก็เพื่อเป็นภาพแทนของการเปลี่ยนแปลง การครอบงำ และการค่อยๆ คืบคลานเข้ามาของสิ่งแปลกปลอมที่มากับอุกกาบาตที่ตกในพื้นที่ของบ้านการ์ดเนอร์ ทำให้เราในฐานะคนดูจะค่อยๆ เห็นการครอบงำของสิ่งที่มาจากต่างดาวผ่านพื้นที่สีแดงม่วงที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้นในแต่ละฉาก ไม่ว่าจะเป็นตั๊กแตน ดอกไม้ พืชผัก หรือแม้กระทั่งสีของบรรยากาศที่เริ่มเปลี่ยนเป็นสีแดงม่วงขึ้นเรื่อยๆ 

~เจ้าสีที่เป็นสิ่งแปลกปลอมนั้นเริ่มคืบคลานเข้ามาเรื่อยๆ ทั้งสัญญาณอินเตอร์เน็ตและทีวีที่เริ่มขาดหาย น้ำที่เริ่มไม่ปกติ รสชาติของพืชผลที่แปลกไป ทำให้ตัวละครเริ่มที่จะสูญเสียสติ เทเรซา การ์ดเนอร์ผู้เป็นแม่ยืนเหม่อจนหั่นนิ้วตัวเอง แจ็คลูกคนสุดท้องนั่งคุยกับบ่อน้ำข้างบ้าน เสียงจากใต้ดินที่เพื่อนบ้านของครอบครัวการ์ดเนอร์ได้ยิน เอเลียนสี Magenta นั้นเริ่มครอบงำทุกสิ่ง อัลปาก้าที่ครอบครัวการ์ดเนอร์เลี้ยงไว้เริ่มกลายสภาพแปลกไป ในขณะเดียวกันเทเรซ่าและแจ็คก็ถูกสีม่วงแดงนั้นโจมตีจนแปรสภาพเป็นสิ่งที่ไม่สามารถอธิบายได้ ทั้งสองตัวติดกันและไร้ซึ่งสติอย่างสมบูรณ์ไล่ตามสมาชิกในครอบครัวคนอื่นจนนาธาน การ์ดเนอร์ผู้เป็นพ่อต้องนำทั้งสองไปขังไว้ ทว่าคนที่เหลือก็ใช่ว่าจะมีสติเต็มร้อย เราในฐานะคนดูยังคงต้องมานั่งลุ้นกับการกระทำของตัวละครที่เหลือ อีกทั้งไม่รู้ว่าคนที่ยังครองสติได้ตอนนี้จะคงอยู่ได้อีกนานเท่าไหร่ 

~เมื่อมองผ่านๆ ก็อาจคล้ายกับหนังแนว Survival ที่เราต้องคอยเอาใจช่วยตัวละครให้มีชีวิตรอดต่อไปได้ แต่สิ่งที่ต่างไปคือเราไม่รู้ว่ากำลังสู้กับอะไร จะเอาชนะหรือต่อสู้กับสิ่งนี้ได้อย่างไร จนในท้ายที่สุดก็คล้ายๆ ว่าเราจำใจยอมและคอยลุ้นให้ตัวละครที่เหลือมีชีวิตได้นานที่สุดเท่าที่ทำได้ สุดท้ายแล้วก็ราวกับว่าสีม่วงแดงเหล่านี้ดูดกลืนชีวิตรอบข้างจนหมดสิ้นทำให้เกิดการระเบิดที่เหมือนเป็นการลบล้างเอเลียนสีม่วงและพุ่งกลับไปยังท้องฟ้า เหลือไว้เพียงแค่เศษซากอันไร้ชีวิตที่สิ่งแปลกปลอมเหล่านั้นได้ทิ้งไว้ ทำให้เราเกิดคำถามกับตัวเองว่าหรือจริงๆ แล้วเราก็เป็นแค่เศษซากเล็กๆ ที่เป็นเพียงทางผ่านของเอเลียนกลุ่มหนึ่ง ไม่ได้มีความสำคัญต่อการดำรงอยู่ของจักรวาลอันยิ่งใหญ่เลย

Glorious (2022)

~หนังสยองขวัญงบน้อย ผลงานจากผู้กำกับ Rebekah Mckendry หลายคนอาจคิดว่าหนังแนวสยองขวัญจักรวาลต้องมีความไซไฟจริงจังสมจริง ไม่ก็โหดเกินจินตนาการเหมือนอย่าง Event Horizon แต่สำหรับ Glorious แล้วดูจะแตกต่างออกไปหน่อยเพราะความ comedy ที่ใส่เข้ามารวมกับความน่ากลัวได้อย่างลงตัว ตัวเอกของเรื่องอย่าง ‘เวส’ ชายหนุ่มที่เพิ่งอกหักจากแฟนสาว ขับรถมาเรื่อยๆ จนกระทั่งหยุดจอดเพื่อเข้าห้องน้ำที่จุดพักรถแห่งหนึ่งและได้พบกับสิ่งลึกลับที่เรียกตนเองว่า ‘พระเจ้า’ อีกทั้งยังบอกอีกว่าอยากได้บางอย่างจากเวส

~ใครจะไปคิดว่าเรื่องราวทั้งหมดในเรื่องจะเกิดในห้องน้ำ ตัวหนังให้เรานั่งดูพระเอกคุยกับพระเจ้าในห้องน้ำตั้งแต่ต้นจนจบเรื่อง ทว่าความสนุก ความน่ากลัวและความฮาของหนังนั้นมาจากบทสนทนาระหว่างเวสและพระเจ้านี่แหละ 

~ช่วงหนึ่งที่เวสถามชื่อของสิ่งลึกลับในห้องน้ำ เจ้าสิ่งนั้นไม่ได้บอกชื่อในทันที แต่กลับให้เวสเอามือจับลิ้นแล้วพูดว่า “Got another one” และเป็นไปตามคาด เวสพูดไม่ได้ (เพราะจับลิ้นตัวเองอยู่) เจ้าสิ่งนั้นจึงบอกว่านั่นแหละคือชื่อของมัน ทำเอาทั้งเวสและคนดูงงอ้าปากค้างไปตามกัน แต่เมื่อวิเคราะห์กันตามจริง หากเรามองตามเรื่องราวที่เกิดขึ้น พระเจ้าในห้องน้ำก็คือสิ่งแปลกประหลาดชนิดหนึ่งหรือไม่ก็อาจเรียกได้ว่าเป็นเอเลียนที่เราไม่รู้จัก จึงไม่แปลกใจที่จะมีระบบการออกเสียงที่เราไม่สามารถออกเสียงได้ สุดท้ายแล้วคำในภาษามนุษย์ที่ใกล้เคียงกับชื่อนั้นก็คงจะเป็น ‘Ghatanothoa’ ซึ่งเป็นชื่อที่มาจากตำนานสมมติในจักรวาลของ Lovecraft ที่เรียกกันว่า ‘Cthulhu Mythos’

~ในระหว่างที่เรื่องดำเนินไปเวสพยายามที่จะออกจากห้องน้ำแต่ก็โดนขัดขวางตลอด ทั้งพยายามที่จะต่อรองกับ Ghatanothoa ทั้งพยายามไปส่องดูห้องน้ำที่เจ้าสิ่งนั้นสิงอยู่ แต่สุดท้ายก็ไม่เป็นผล ทว่าในที่สุดก็กลับเคลียกันได้ง่ายๆ โดยสิ่งที่พระเจ้านั้นต้องการก็คือตับของเวสเพื่อให้เขาได้กลับสู่ ethereal form พร้อมบอกกับเวสว่านี่คือภารกิจกอบกู้จักรวาล โดยที่คนดูก็ก็อดแซวไม่ได้ว่าถ้าคุยกันดีๆ ตั้งแต่แรกป่านนี้ก็น่าจะออกจากห้องน้ำได้แล้ว 

~ทว่าฉากนึงที่ฉายแนวคิด Nihilism อย่างชัดเจนและเจ๋งขั้นสุด คือหนังเซ็ตฉากที่เวสสะบักสะบอมปางตายจากการกรีดตับตัวเองให้กับเอเลียนในห้องน้ำแต่มุมกล้องกลับ Zoom Out เรื่อยๆ จนทำให้เห็นภาพจักรวาลโดยรวมที่ดูนิ่งสงบ ราวกับไม่มีเรื่องเลวร้ายเกิดขึ้นในขณะที่เวสกำลังนอนจมกองเลือดในห้องน้ำ นอกจากนี้เวสยังถามต่อว่าเขาได้เป็นฮีโร่ช่วยรักษาจักรวาลนี้ไว้ใช่มั้ย แต่ Ghatanothoa ตอบกลับมาว่า “นายไม่ใช่ฮีโร่ ฮีโร่จะเป็นที่จดจำ แต่นายจะถูกลืม” เรื่องราวการกอบกู้จักรวาลที่เวสมองว่าคือสิ่งที่ยิ่งใหญ่ ใช้ความกล้า และความกลัวมหาศาล กลับไม่สำคัญอะไรเลย ไม่ว่าเขาจะกรีดตับในห้องน้ำจุดพักรถโทรมๆ หรือในห้องน้ำโรงแรมหรู 5 ดาว สุดท้ายแล้วสิ่งที่เขาทำก็เป็นเหมือนเม็ดทรายเพียงเม็ดเดียวบนผืนชายหาดอันกว้างใหญ่ไม่มีที่สิ้นสุด

~ถึงแม้พลอตจะดูถอดสมองและไร้สาระ แต่หากนั่งวิเคราะห์ดีๆ กลับพบเรื่องราวอภิปรัชญา จุดจบของจักรวาล จุดกำเนิดของมนุษยชาติ เรื่องราวความเชื่อของมนุษย์ รวมทั้งบทสนทนาแปลกๆ อีกมากมาย แต่กลับทำให้เราคิดตาม หากใครเคยดู Before Sunrise (1995) ก็คงจะคุ้นกับหนังแนวนี้ที่ให้ตัวละครทั้งสองนั่งคุยกันไปเรื่อยๆ แล้วแต่คนดูจะรู้สึกรีเลทหรืออยากสร้างความรู้สึกร่วมกับบทสนทนาไหนราวกับกับกำลังคุยกับเพื่อน จนเมื่อดูจบสิ่งที่ค้นพบคือนอกจากเราจะไม่รู้ว่าอะไรอยู่ในห้องน้ำแล้ว เรายังไม่รู้ด้วยว่าคนดูได้อะไรจากหนังเรื่องนี้ถ้าเราไม่เลือกหัวข้อที่เราอยากใส่ใจสนทนาด้วย

~เราจะสามารถเห็นแนวคิด Nihilism ได้ในหนัง Cosmic Horror เหล่านี้จากการนำเสนอสิ่งที่อยู่เหนือการรับรู้ของมนุษย์ ทั้งเอเลียนรูปแบบใหม่ๆ หรือมิติอันไกลโพ้นของจักรวาล ยิ่งทำให้มนุษย์กลายเป็นสิ่งเล็กๆ ที่ไม่มีอำนาจพอที่จะสู้กับอะไรที่ใหม่กว่าสิ่งที่เคยรู้

~แต่หากมองในอีกมุม Cosmic Horror กลับเป็นการขยายขอบเขตความคิดความเชื่อของมนุษย์ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดหลังสมัยใหม่ (Post-modernism) ที่ว่าด้วยการทำลายหรือปรับเปลี่ยนโครงสร้างของแนวความคิดเดิม เห็นได้จากการคิดค้นและจินตนาการองค์ประกอบทางศาสนาไปในรูปแบบใหม่ เช่น พระเจ้า นรก สวรรค์ หรือสิ่งมีชีวิตที่พระเจ้าเป็นคนสร้าง อย่างที่ปรากฎในหนังแนว Cosmic Horror หลายเรื่องทั้ง เช่น พระเจ้าในเรื่อง Glorious (2022) นรกในเรื่อง Event Horizon (1997) หรือแม้กระทั่งเอเลียนในรูปแบบใหม่ๆ ที่ไม่ใช่แค่ตัวเขียวตาโตอย่างที่เราเคยรับรู้ ด้วยเหตุผลนี้ทำให้เราเห็นว่า Cosmic Horror ไม่ได้ทำให้มนุษย์ดูไร้ค่าและไร้อำนาจอย่างที่ Nihilism พยายามบอก แต่เป็นการปลดปล่อยเราจากความเชื่อเดิมๆ ที่เคยมีมาอย่างยาวนานทั้งความเชื่อเกี่ยวกับศาสนาและจักรวาล เราสามารถกำหนดชีวิตหรือจินตนาการโลกในแบบที่เราต้องการได้โดยไม่ต้องอยู่ภายใต้ความเชื่อแบบเดิม 

~เมื่อดูหนังจบแล้วอาจจะคิดว่าตัวเองเป็นแค่ก้อนอะตอมเล็กๆ ที่ไม่มีพลัง ไม่มีอำนาจ ในจักรวาลอันกว้างใหญ่ไร้ของเขต แต่หากมองในมุมกลับกัน ความไร้ที่สิ้นสุดของจักรวาลก็ทำให้เราเห็นถึงความเป็นไปได้ในทุกอย่าง เหมือนการที่เราพยายามตามหาคำตอบหรือคิดค้นทฤษฎีใหม่ๆ ที่ออกจากกรอบเดิมๆ เพื่อหาคำตอบให้กับเหตุการณ์ที่ไม่คุ้นเคย สุดท้ายสิ่งที่ทำให้มนุษย์ดำรงอยู่ได้จนถึงวันนี้นั่นก็เพราะเรามีสิ่งเล็กๆ ที่เรียกว่า ‘จินตนาการ’