“Did you hear my covert narcissism I disguise as altruism Like some kind of congressman?”
ประโยคนี้มาจากเนื้อหาท่อน Pre-chorus เพลง ‘Anti-Hero’ ของ Taylor Swift ที่เราหลายคนเคยได้ยินกันมาก่อน เชื่อว่าบางคนอาจจะเคยสังเกตเนื้อเพลงดูชัดๆ และเกิดความสงสัยขึ้นมาว่า ‘Covert Narcissism’ คืออะไรกันแน่
‘Narcissism’ แปลว่า ‘ความหลงใหลในตัวเอง’ คำนี้มาจากชื่อของเทพปกรณัมกรีก ‘นาร์ซิสซัส’ (Narcissus) ผู้หลงตนเองจนถึงแก่ความตาย ตำนานได้กล่าวขานว่า นาร์ซิสซัสเป็นเทพหนุ่มผู้มีรูปโฉมงดงาม เหล่าทวยเทพและนางอัปสรจึงชอบพอในตัวเขา แต่เขาก็ไม่เคยตกลงปลงใจกับผู้ใด เพราะต้องการสิ่งที่ดีที่สุดให้กับตนเท่านั้น จนกระทั่งวันหนึ่ง นาร์ซิสซัสบังเอิญพบกับ ‘เอ็คโค’ (Echo) นางไม้ผู้เคยขัดขวางเทพีเฮร่าไม่ให้อาละวาดใส่นางอัปสรที่เป็นชู้ของเทพซุส จึงถูกสาปให้ทำได้เพียงทวนเสียงที่ผู้อื่นพูดเท่านั้น นาร์ซิสซัสรำคาญที่เอ็คโคเอาแต่พูดตามเขา และไล่ให้เธอไปไกลๆ เทพีอะโฟรไดท์ที่ได้ยินทุกอย่างก็โมโหมาก เธอจึงสาปให้เขาหลงรักแต่ตัวเอง เมื่อนาร์ซิสซัสเห็นเงาของตนขณะดื่มน้ำในบ่อกลางป่า เขาก็ตกหลุมรักมันเข้าอย่างจัง ทั้งที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่านั่นคือตัวเอง เขาพยายามจะคว้าเงาสะท้อน แต่ก็ไม่ได้ผล ในที่สุดนาร์ซิสซัสก็ผ่ายผอมจนตายข้างบ่อที่มีเงาของตน กลายเป็นดอกนาร์ซิสซัสที่เรารู้จักกันทุกวันนี้
ความหลงใหลรักใคร่ในตนเองนี้ทำให้ Havelock Ellis แพทย์และนักเพศวิทยาได้ไอเดียของคำว่า Narcissism ขึ้นมาในปี 1899 โดยให้ความหมายไว้ว่าเป็นการหลงต่อการยกยอตนเอง โดยไม่มีการดึงดูดใดต่อผู้อื่น และเขายังใช้คำนี้เรียกการสำเร็จความใคร่ด้วยตนเองที่เกินพอดี (Excessive masturbation) อีกด้วย ต่อมา Sigmund Freud เจ้าของทฤษฎีจิตวิเคราะห์ชื่อดัง ได้นำคำนี้มาปรับปรุงความหมายพร้อมเพิ่มมุมมองเข้าไปว่า การหลงตัวเองนั้นมีทั้งด้านดี และด้านที่ไม่ดี การมีอีโก้สูงก็อาจจะช่วยให้จิตใจแข็งแรงขึ้นได้ อีกอย่างคือ การที่คนเราจะมีความมั่นใจในตัวเองได้ก็ต้องอาศัยความหลงตัวเองในระดับหนึ่งเช่นกัน
แต่การหลงตัวเองและกระหายความรักความชื่นชมจากผู้อื่นมากจนเกินไป คือการป่วยเป็นโรคหลงตัวเอง (Narcissistic Personality Disorder) สำหรับ Freud
โดยทั่วไป เรามักจะคุ้นชินกับภาพของคนที่หลงตัวเองอย่างเปิดเผย ชอบเป็นจุดศูนย์กลางของความสนใจ มีความมั่นใจในตนเองสูง ชอบใช้อำนาจ เห็นแก่ตัว ขาดความเห็นอกเห็นใจ คิดว่าตนเหนือกว่าคนอื่น บ้างก็ก้าวร้าว บ้างก็เจ้าเสน่ห์ คนที่มีบุคลิกนี้จะถูกเรียกว่า Overt narcissist หรือ Grandiose narcissist
แต่ที่เราจะกล่าวถึงในวันนี้ก็คือ Covert narcissist หรือ Vulnerable narcissist ซึ่งมีลักษณะนิสัยที่แตกต่างกันออกไป เพียงแต่สังเกตยากกว่า และอาจอันตรายได้ หากคนประเภทนี้เป็นคนใกล้ชิดและกำลัง Gaslight เราโดยไม่รู้ตัว
Covert นั้นหมายถึง ‘หลบซ่อน’ และ ‘แอบแฝง’ ดังนั้น Covert narcissist จึงแปลแบบตรงตามตัวว่า ‘บุคคลที่หลงตัวเองแบบแอบแฝง’ บุคลิกภายนอกของคนประเภทนี้มักจะดูน่าสงสาร ขาดความมั่นใจในตัวเอง ด้วยเรื่องเล่าจากปากของเขาที่ทุกอย่างฟังดูเลวร้ายไปเสียหมด จนแทบจะไม่พบกับความสุขในชีวิต ทำให้ผู้ฟังรู้สึกเห็นใจและอยากช่วยเหลือ แต่เมื่อรู้จักกันจริงๆ แล้ว เราจะสังเกตได้ว่าคนๆ นี้ติดอยู่ในมุมมองที่ตัวเองเป็นเหยื่อ คิดเสมอว่าโลกและโชคชะตาคือสิ่งที่ขัดขวางตัวเองจากสิ่งดีๆ ที่ควรจะได้รับ หรือถ้าตนได้รับโอกาสก็จะทำได้ดีกว่าใครอย่างแน่นอน หากเรียกว่ายึดเอาตัวเองเป็นจุดศูนย์กลางของจักรวาลก็คงไม่ผิดนัก
ชุดความคิดนี้ส่งผลให้ Covert narcissist ลดทอนคุณค่าและความพยายามของผู้อื่น ไม่สามารถยินดีกับใครได้อย่างจริงใจ และไม่สามารถรับแม้แต่คำวิจารณ์เชิงสร้างสรรค์ (Constructive criticism) แต่ที่ร้ายแรงยิ่งไปกว่านั้นก็คือ คนประเภทนี้จะทำร้ายจิตใจผู้อื่นด้วยการทำให้อีกฝ่ายรู้สึกผิด (Guilt trip) ทั้งที่คนๆ นั้นไม่ได้ทำผิด นอกจากนี้ยังมีการใช้คำพูดประชดประชัน ในขณะที่ตั้งตนเป็นเหยื่อไปด้วย หากรู้ไม่เท่าทัน ผู้ที่ถูกกล่าวหาก็จะคิดว่าตนเป็นฝ่ายผิดจริง และอาจถูกควบคุมหรือเปลี่ยนแปลงความคิดอื่นๆ ไปด้วยโดยไม่รู้ตัว
จากที่ได้อธิบายไปข้างต้น เราจะขอสรุปเอาไว้ว่า Covert narcissist มีลักษณะนิสัยดังนี้:
- Passive aggressive: เวลาที่โกรธหรือโมโหก็จะไม่พูดตรงๆ แต่แสดงออกด้วยการประชดประชัน เอาคืน หรือลงแรงกับข้าวของเล็กน้อยให้รู้ว่าไม่พอใจ เช่น ปิดประตูเสียงดังขึ้น
- Manipulative: บุคคลจะทำหรือพูดอะไรบางอย่างเพื่อให้ได้ในสิ่งที่ตัวเองต้องการ ไม่ว่าจะเป็นการชื่นชม บิดเบือนคำพูดของตน หรือทำให้อีกฝ่ายรู้สึกผิด
- Insecure: มีความไม่มั่นคงและหวาดกลัวในหลายๆ สิ่ง เช่น กลัวว่าจะคนรักจะนอกใจ กลัวการถูกปฏิเสธ กลัวการถูกทอดทิ้ง กังวลมากว่าคนอื่นจะคิดอย่างไรกับตัวเอง
- มีความอ่อนไหวต่อคำตำหนิสูง แม้จะเป็นคำวิจารณ์เชิงสร้างสรรค์ก็ตาม ผู้ที่มีบุคลิกนี้จะรู้สึกอับอาย โมโห หรือวูบโหวงในใจเป็นอย่างมากเมื่อถูกติ
- โหยหาการชื่นชมจากผู้อื่นตลอดเวลา จนบางครั้งก็อาจจะโกหกหรือเอ่ยชมโดยหวังว่าจะได้รับคำชมบ้าง
- บุคลิกดูลึกลับ เก็บตัว เพราะไม่ไว้ใจผู้อื่นและไม่ต้องการให้ใครเห็นข้อบกพร่องของตัวเอง
- คบหาผู้อื่นเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง หากอีกฝ่ายไม่สามารถทำผลกำไรให้ได้ ความสนใจก็จะลดน้อยลง
- ขี้อิจฉา ต้องการในสิ่งที่ผู้อื่นมี และไม่สามารถยินดีกับใครได้จากใจจริง
- มีความเห็นอกเห็นใจต่ำ อาจจะมีการช่วยเหลือผู้อื่นบ้าง แต่ก็เป็นการทำโดยหวังสิ่งตอบแทน ไม่เช่นนั้นจะรู้สึกว่าตนถูกฉกฉวยผลประโยชน์
- มักจะคิดว่าคนอื่นๆ อ่อนไหวง่าย หรือแสดงอารมณ์มากเกินไป
- ติดการโทษผู้อื่นเวลาที่ทะเลาะ หรือมีอะไรไม่ได้ดั่งใจ โดยมองว่าตนเองเป็นเหยื่อที่ถูกกระทำอยู่เสมอ
ถ้าหากยังคงนึกภาพไม่ค่อยออกว่า Covert narcissist ในชีวิตจริงเป็นอย่างไร ให้ลองจินตนาการว่า A และ B ได้ทำความรู้จักกันเป็นครั้งแรก A เล่าเรื่องราวชีวิตให้ฟังหลายอย่าง เช่น ครอบครัวมีแต่คนที่ไม่รักและไม่ใส่ใจเขา ถูกเพื่อนแบนออกจากกลุ่ม คนรักเก่าทิ้งไปแบบไม่มีเหตุผล ฯลฯ ทำให้ B รู้สึกสงสารและอยากจะเป็นกำลังใจให้ จึงเริ่มพูดคุยกันบ่อยขึ้น เกิดเป็นความรัก จนตกลงเป็นแฟนกัน แต่เมื่อคบหากันไปเรื่อยๆ B ก็รู้สึกไม่ดีกับพฤติกรรมบางอย่างของ A อย่างเวลาที่ B ได้รับความสนใจ มีแต่ผู้คนห้อมล้อม A ก็จะพูดประชดว่า “คนอย่างเธอนี่ถ้าขาดความสนใจก็คงอยู่ไม่ได้สินะ” และ “อยู่กับคนพวกนั้นน่าจะสนุกกว่าอยู่กับคนแบบฉัน” ทำให้ B รู้สึกผิดที่ละเลยและกลับมาแยกตัวอยู่กับ A พอเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นบ่อยเข้า B ก็กลายเป็นคนที่ไม่เข้าสังคมไปโดยปริยาย เพราะไม่อยากปล่อยให้ A อยู่คนเดียว นอกจากนี้ A ยังมีนิสัยชอบควบคุมการกระทำหลายๆ อย่างของ B และแทบทุกครั้งที่ทะเลาะกัน A ก็จะพูดว่า B อ่อนไหวมากเกินไป จน B เชื่อว่าตนเป็นคนอ่อนไหวง่ายจริงๆ – นี่คือตัวอย่างของความสัมพันธ์ Toxic ที่ Covert narcissist เป็นคนสร้างขึ้น โดยทำลายสภาวะจิตใจของคนรักทีละนิด ในแบบที่ทั้งผู้กระทำและผู้ถูกกระทำอาจไม่รู้ตัวเลยด้วยซ้ำ
Otto F. Kernberg เคยกล่าวเอาไว้ว่า ความหลงตนเองนั้นมาจากการที่บุคคลถูกเลี้ยงดูอย่างละเลยในวัยเด็ก ไม่ค่อยได้รับความผูกพันทางอารมณ์กับผู้เลี้ยงดู ส่งผลให้ขาดความรัก ความอบอุ่น บุคคลจึงจะรู้สึกว่าตนถูกปฏิเสธ ดังนั้น เขาจึงพัฒนาบุคลิกนี้ขึ้นเพื่อปกป้องตนเองจากความรู้สึกสูญเสีย การถูกทอดทิ้ง และการมีความสัมพันธ์ทางอารมณ์กับผู้อื่นอย่างลึกซึ้ง นอกจากนี้ ผู้ที่มีบุคลิกหลงตัวเองจะไม่ไว้ใจใครนอกจากตนเอง และคอยหาสิ่งต่างๆ มาเพิ่มความรู้สึกว่าตนมีคุณค่า เพื่ออุดช่องโหว่ที่กว้างขวางเพราะความหวาดกลัวให้เติมเต็ม
เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้แล้ว หลายๆ คนคงจะสังเกตได้ว่า Covert narcissist คือคนที่ไม่มีความสุข ซึ่งเป็นจริงดังนั้น หลายครั้ง ผู้ที่มีบุคลิกหลงตัวเองก็มีอาการของโรคซึมเศร้าหรือโรควิตกกังวลร่วมด้วย
ถึงอย่างนั้น หากเราสังเกตได้ว่ากำลังถูกคนหลงตัวเองเอาเปรียบ เราก็ควรบอกกับตัวเองว่า “ความสุขของเขาไม่ใช่ความรับผิดชอบของเรา” และถอยออกมาจากความสัมพันธ์ แต่แน่นอนว่าการตีตัวออกหากก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นกัน สิ่งหนึ่งที่ควรจะระมัดระวังก็คือ เราไม่ควรจะประจันหน้ากับเขาและบอกว่า “เธอมันหลงตัวเอง” โดยตรง เพราะ Covert narcissist อ่อนไหวต่อคำตำหนิเป็นอย่างมาก พูดไปก็มีแต่จะผลักให้ทุกอย่างแย่ลง และอาจทำให้การสวมหน้ากากนั้นแนบเนียนกว่าที่เคยเป็นมา
ถ้าหากว่าอยู่ในสถานการณ์ที่ยังจำเป็นต้องคงความสัมพันธ์เอาไว้ สิ่งที่สามารถทำได้ก็คือ ‘สื่อสารออกไปอย่างใจเย็น’ ด้วยการพยายามไม่แสดงอารมณ์ตอนที่พูดคุยหรือต้องการชี้ว่าฝั่งคนหลงตัวเองทำผิดอย่างไร ควรใช้ประโยคที่มีลักษณะ “ฉันรู้สึกว่า…” แทนการพูดว่า “เธอผิด” เช่น “ฉันรู้สึกเสียใจนะ ที่เธอพูดคำนั้นออกมา” หรือในกรณีที่รู้สึกว่าต้องแยกตัวออกจากคนๆ นี้แล้ว การค่อยๆ ลดเวลาที่ใช้ร่วมกันและโต้ตอบพูดคุยเฉพาะเรื่องที่จำเป็นก็สามารถช่วยได้ เพียงแค่ต้องใช้อารมณ์ให้น้อยที่สุด เพื่อไม่ให้ถูกอีกฝ่ายจับจุดอ่อนและนำตรงนี้มาใช้ประโยชน์ได้ในภายหลัง
สุดท้ายนี้ หากให้สรุปทั้งบทความเป็นหนึ่งประโยคสั้นๆ ก็คงได้ความว่า “คนหลงตัวเอง อาจจะไม่ใช่คนที่เอาแต่ส่องกระจกและชื่นชมตัวเองว่าเหนือกว่าใคร แต่อาจเป็นคนที่เราไม่คาดคิดมากที่สุดก็ได้” ไม่ใช่เพื่อให้รู้สึกหวาดระแวงคนที่อาจจะดูน่าเห็นใจ หรือเพื่อให้ชี้นิ้วบอกว่าใครเป็น Covert narcissist แต่เพื่อให้ตระหนักและรู้จักกับบุคลิกนี้มากขึ้น จะได้มีแนวทางในการหาวิธีรับมือที่เหมาะสม หรือถ้าใครรู้สึกว่าได้รับผลกระทบจากคำพูดและการกระทำของคนประเภทนี้มากจนเกินไป การเข้าพบจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาจะสามารถช่วยได้ อย่างน้อยก็เพื่อให้เรารักตนเองและผู้อื่นอย่างถูกวิธี Healthy แถมยังไม่เป็นพิษ
อ้างอิง
Croot, V., Griffiths, E., Hansen, W., Miles, G., Powell, B. B., & Segal, R. A. (2012). Narcissism. In S. Deacy (Ed.), 30-Second Mythology (pp. 140–141). essay, The IVY Press.
สุธาสินี ใจสมิทธ์. (2010). อิทธิพลของความหลงตนเอง รูปแบบความรักแบบเล่นเกม และการกระตุ้นลักษณะเน้นความสัมพันธ์ต่อการผูกมัดในความสัมพันธ์, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.