“ชอบคนแก่กว่ามากๆ ตลอดนี่ถือว่าขาดความอบอุ่น มี Daddy issues ไหมคะ”
“อกหักรักคนแก่อีกละ อยากเลิกชอบพวกทรงแด๊ด แต่แก้ Daddy issues ไม่ได้”
“เห็นกี่ทีก็คบแต่ผู้หญิงแก่กว่าเนอะ มี Mommy issues เหรอ?”
“พี่สาวสุดแซ่บชอบมาเล่นกับใจ พวกมีปมเรื่องแม่มันใจไม่ดี”
‘Daddy Issues’ หรือ ‘Mommy issues’ – ไม่ว่าใครก็ต้องเคยได้ยินคำนี้ผ่านหูหรือเห็นผ่านตาตามโซเชียลมีเดียมาบ้าง หรืออย่างน้อยก็เคยได้ยินเรื่องปมที่มีกับพ่อแม่ เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะมีสัมพันธภาพที่ดีกับผู้ปกครอง ประกอบกับประเด็นโครงสร้างสังคมไทยที่ปัจจุบันครอบครัวมีขนาดเล็กลง และอัตราการหย่าร้างก็สูงขึ้นกว่า 10% องค์กร UNICEF เองก็เผยว่า มีเด็กจำนวนถึง 3 ล้านคนที่ไม่ได้รับการเลี้ยงดูจากพ่อแม่อย่างใกล้ชิด มีทั้งเด็กที่โตด้วยมือของปู่ ย่า ตา ยาย พี่เลี้ยง หรือถูกเลี้ยงแบบปล่อยปละละเลย ซึ่งการขาดความรักความอบอุ่นนี้ต่างหาก ที่ทำให้บุคคลมีปมเรื่องพ่อแม่ ไม่ใช่การชื่นชอบหรือมีสเปคเป็นหนุ่มสาวรุ่นใหญ่แต่อย่างใด
เป็นความจริงที่ว่าเราทุกคนมีลักษณะนิสัยและพฤติกรรมการใช้ชีวิตต่างกัน สิ่งที่เรียกว่า ‘ตัวตน’ ล้วนมาจากสภาพแวดล้อมที่บุคคลเติบโตกับมันมาทั้งนั้น สำหรับหลายๆ คน สภาพแวดล้อมแรกที่ได้พบเจอก็คือบ้านที่มีพ่อ แม่ หรือญาติสนิทเป็นผู้คอยดูแล ดังนั้น ผู้ดูแลคนแรกของชีวิตจะสำคัญมากต่อการทำหน้าที่เป็น ‘แม่พิมพ์’ คอยหล่อหลอมให้มนุษย์คนหนึ่งเติบโตมามี ‘รูปทรง’ ที่แตกต่างกันออกไป
อ้างอิงจาก ‘ทฤษฎีความรักใคร่ผูกพัน’ (Attachment Theory) ของนักจิตวิทยาชาวอังกฤษ John Bowlby ที่ได้ถูกขยายความต่อโดย Mary Ainsworth พวกเขาได้สรุปเอาไว้ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างเด็กและผู้ปกครองนั้นมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะมันสามารถทำนายได้ว่าเด็กจะมีความสัมพันธ์แบบใดกับคนรักเมื่อเติบโตขึ้น หากเด็กได้รับความรักและความใส่ใจจากผู้ปกครองเป็นอย่างดี ได้รับการตอบสนองต่อความต้องการพื้นฐาน เช่น ได้ทานอาหารเมื่อหิว ได้เปลี่ยนผ้าอ้อมเมื่อร้องไห้ไม่สบายตัว ฯลฯ ความสัมพันธ์ก็จะพัฒนาไปในทิศทางที่ดี และตัวเด็กจะมีรูปแบบความผูกพันที่มั่นคง (Secure attachment) เพราะเมื่อเด็กรับรู้ว่าตนได้รับการเอาใจใส่ จิตใจของเขาก็จะมั่นคง แข็งแรง ส่งผลให้พัฒนาการด้านความสัมพันธ์กับผู้อื่นดีตามไปด้วย
แต่หากไม่เป็นเช่นนั้น เด็กอาจจะมีรูปแบบความผูกพันที่ไม่มั่นคง (Insecure attachment) ซึ่งแบ่งออกเป็นลักษณะย่อย นั่นก็คือ
- ความผูกพันแบบไม่แน่นอน (Ambivalent attachment) : ความสัมพันธ์รูปแบบนี้สามารถเกิดขึ้นได้ หากผู้ปกครองตอบสนองความต้องการของเด็กอย่างไม่สม่ำเสมอหรือคาดเดาไม่ได้ จนเด็กเรียนรู้ที่จะเรียกร้องเพื่อให้ได้สิ่งที่ตนต้องการ เช่น ร้องไห้ กรีดร้อง อ้อนวอน หรือกระทั่งข่มขู่ แต่เมื่อความต้องการได้รับการตอบสนอง เด็กก็จะสับสนและเกิดการไม่เชื่อใจ อาจทำให้เด็กโตมาเป็นคนที่กลัวว่าตนจะไม่ถูกรัก มีความมั่นใจในตนเองต่ำ หรืออาจมีบุคลิกที่คาดเดาไม่ได้ อารมณ์แปรปรวนอยู่บ่อยครั้ง
- ความผูกพันแบบหลีกเลี่ยงถอยหนี (Avoidant attachment) : หากผู้ปกครองปฏิเสธความต้องการของเด็กบ่อยเกินพอดี ไม่มีการตอบสนอง หรือควบคุมดูแลเด็กมากจนเกินไป เช่น ใช้การลงโทษที่รุนแรง หรือคอยบอกให้เด็กทำในสิ่งที่ไม่อยากทำ เด็กมักเรียนรู้ที่จะเก็บซ่อนความรู้สึก ไม่แสดงความต้องการของตนเองต่อผู้อื่น อาจทำให้มีปัญหาด้านอารมณ์และความสัมพันธ์ได้ในระยะยาว เช่น เมื่อโตขึ้น เด็กอาจรู้สึกว่าคู่รักของตนแสดงออกถึงความรักและใช้อารมณ์มากเกินไป หรือมีปัญหาในการแสดงออกถึงความรักต่อคนรอบข้าง
- ความผูกพันแบบสับสน (Disorganized attachment) : หากผู้ปกครองละเลยหรือใช้ความรุนแรงกับเด็ก ทำให้เด็กถูกทำร้าย ไม่ว่าจะทางร่างกายหรือจิตใจ เด็กก็จะไม่ได้เรียนรู้เกี่ยวกับความรักและความปลอดภัยอย่างที่ควร ส่งผลให้มีความระแวงต่อผู้คนรอบข้าง หลีกเลี่ยงหรือกลัวการเข้าสังคม ไม่คิดว่าตนสมควรได้รับความรัก และมองตัวเองในแง่ร้าย
เมื่อนำทฤษฎีนี้มาเชื่อมโยงกับการมี Daddy Issues หรือ Mommy issues ก็จะพบได้ว่ามันมีส่วนที่เกี่ยวข้องกันมากเลยทีเดียว นั่นก็เพราะว่า บ่อยครั้ง ผู้ที่มีปมเรื่องพ่อแม่มักจะขาดการดูแลจากผู้ปกครองคนใดคนหนึ่ง (หรือทั้งคู่) เคยถูกผู้ปกครองทำร้ายร่างกายและจิตใจ ล่วงละเมิดทางเพศ หรือแม้กระทั่งประคบประหงมจนเผลอควบคุมเด็กมากจนเกินไป โดยตัวอย่างที่พบเห็นได้บ่อยในสังคมก็คือ พ่อหรือแม่ทำงานอย่างหนักจนไม่ได้ใช้เวลาอยู่กับลูกเท่าที่ควร มักจะปล่อยให้ลูกอยู่กับพี่เลี้ยง แม่บ้าน หรือสถานรับเลี้ยงที่ไม่มีเวลาเอาใจใส่เด็กทุกคน อีกกรณีที่มีมากไม่แพ้กันก็คือผู้ปกครองมีลักษณะที่ไม่มั่นคง เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย ตอนที่อารมณ์ดีจะแสดงความรักกับเด็กอย่างเต็มที่ แต่เมื่ออารมณ์ไม่ดีหรือโกรธเด็กก็จะทำโทษด้วยการตี ด่าทอ หรือใช้ Silent treatment ซึ่งก็คือการไม่พูดคุยเพื่อหาวิธีการแก้ปัญหาร่วมกันเลย
การกระทำเหล่านี้จากผู้ที่ควรรักและใส่ใจเด็กมากที่สุด จะส่งผลให้เด็กเสี่ยงต่อการเติบโตไปเป็นคนที่มีความสัมพันธ์อันเป็นพิษ (Toxic relationship) กับผู้อื่น หรือแสดงพฤติกรรมที่ส่อถึงการมี Daddy Issues หรือ Mommy issues นั่นเอง ซึ่งผู้ที่เผชิญกับปัญหานี้อาจเป็นได้ทั้งเหยื่อและผู้กระทำในความสัมพันธ์ หรืออาจปิดกั้นความรู้สึกจากผู้อื่นจนเป็นการทำร้ายตนเองเสียเอง
เมื่ออ่านมาจนถึงตรงนี้แล้ว หลายๆ คนอาจจะสงสัยว่าสิ่งนี้สามารถสำรวจหรือสังเกตได้ด้วยตนเองหรือไม่ คำตอบก็คือ ได้ในระดับหนึ่ง เพราะมีหลากหลายพฤติกรรมที่แสดงให้เห็นว่าบุคคลนั้นๆ อาจกำลังเผชิญกับปัญหาดังกล่าวอยู่ เช่น
- คบหาหรือมีความรู้สึกดึงดูดต่อผู้ที่มีอายุเยอะกว่ามากๆ อยู่บ่อยครั้ง เพื่อตามหาคนที่สามารถทดแทนสิ่งที่พ่อหรือแม่ไม่สามารถให้ตนได้
- กลัวการถูกทอดทิ้งเป็นอย่างมาก เพราะมีบาดแผลจากการถูกพ่อหรือแม่ละเลย/ทอดทิ้งอยู่ก่อนแล้ว
- ต้องการที่จะมั่นใจอยู่ตลอดเวลาว่าตนได้รับความรัก โดยจะทำให้ตัวเองมั่นใจด้วยการแสดงออกถึงความใส่ใจต่อคนรักอยู่เสมอ เพื่อให้ได้ความรักตอบ หรืออาจใช้วิธีการถามย้ำบ่อยๆ ว่ายังรักกันอยู่ไหม
- หึงหวงหรือมีพฤติกรรมควบคุมคนรักมากจนเกินไป บางคนอาจมีพฤติกรรมตรวจเช็กโทรศัพท์ของคนรักเป็นประจำ หรือไม่ชอบให้คนรักสนใจใครมากกว่าตนเอง
- ยอมทนอยู่กับความสัมพันธ์ที่ตนถูกทำร้าย หรือตกอยู่ในความสัมพันธ์ที่เป็นพิษอยู่เสมอ เพราะเคยชินกับรูปแบบของความรักที่มีความรุนแรง บุคคลจะยอมถูกทำร้ายทั้งทางกายและทางใจ บ้างก็เชื่อว่าตนจะสามารถเปลี่ยนคนรักให้ดีขึ้นได้
อย่างไรก็ตาม การแปะป้ายใคร (หรือแม้กระทั่งตนเอง) ว่ามีปมเรื่องพ่อแม่หรือไม่ก็เป็นสิ่งที่ไม่ยุติธรรม บทความนี้มีเพียงจุดประสงค์ที่จะเพิ่มความเข้าใจเรื่อง Daddy Issues และ Mommy issues เท่านั้น เพื่อที่หากสังเกตได้ว่าตัวเราหรือคนรอบข้างอาจกำลังเผชิญกับปัญหานี้ และมีความต้องการที่จะแก้ไข เราก็สามารถตระหนัก คอยเป็นกำลังใจ หรือตามหาวิธีการช่วยเหลือที่เหมาะสมได้
หากรู้สึกว่าตนกำลังต้องการความช่วยเหลือ โปรดอย่าลืมที่จะหันมาใส่ใจตนเอง และมองหาผู้ที่สามารถให้คำแนะนำได้อย่างเหมาะสม การเข้าพบนักจิตวิทยาหรือร่วมคอร์สจิตบำบัดก็เป็นอีกทางเลือกที่สามารถทำได้เช่นกัน ทางเราขอเป็นหนึ่งในกำลังใจเล็กๆ ให้คุณอยู่เสมอ
อ้างอิง