จริงอยู่ที่เมื่อถึงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี จะเป็นช่วงเวลาที่หันไปทางไหนก็จะเห็นสีแดงกับชมพู เหมือนถูกห้อมล้อมด้วยบรรยากาศอิ่มเอม คล้ายกับว่าได้กลิ่นความรักฟุ้งกระจายไปทั่วทั้งเมือง
ไหนๆ เดือนนี้ก็มีแต่คนพูดถึงเรื่องความรักที่สมหวัง แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเมื่อมีรักก็ต้องมีทุกข์ มีสมหวังก็ต้องมีผิดหวัง มีจุดเริ่มต้นความรักที่พบกับจุดจบที่ไม่สวยงาม ไปจนถึงความรักที่เต็มไปด้วยความเจ็บปวดรวดร้าว ซึ่งเป็นสิ่งที่ใครๆ ต่างต้องเคยสัมผัสความรู้สึกเหล่านี้อย่างน้อยสักหนึ่งครั้งในชีวิต
เช่นเดียวกับ ดาไซ โอซามุ (Dazai Osamu) ชายที่สร้างชื่อจากงานเขียนหลายเล่มทั้งเมียชายชั่ว (Villon's Wife) อาทิตย์สิ้นแสง (The Setting Sun) และสูญสิ้นความเป็นคน (No Longer Human) ผลงานส่วนใหญ่ของเขาเล่าถึงอารมณ์ความรู้สึก และชีวิตที่เต็มไปด้วยเฉดสีแบบต่างๆ ของตัวละครเอก ที่กลายเป็นว่าเมื่อมองไปยังชีวิตจริงของเขา ดาไซนำประสบการณ์ส่วนตัวมาเป็นแรงบันดาลใจในผลงานหลายเรื่อง ที่เผยให้เห็นว่าชีวิตของเขาพบกับความเจ็บปวดรวดร้าว เต็มไปด้วยความเละเทะล้มเหลวกว่าตัวละครในงานเขียนหลายเท่าตัวนัก
Photo Credit: paperyard / the momentum / maruma
‘ดาไซ’ กับ ‘โยโซ’ นั้นเหมือนจนแยกออกจากกันไม่ได้
จากการวิเคราะห์ของนักวิชาการ นักวิเคราะห์ และนักอ่านทั่วไป หลายคนมองตรงกันว่าเมื่อนำผลงานมาสเตอร์พีซอย่าง ‘สูญสิ้นความเป็นคน’ ที่ดาไซ โอซามุ เป็นผู้เขียน มาพิจารณาเข้ากับคำบอกเล่าของเพื่อนๆ ชายผู้นี้ได้สอดแทรกชีวิตจริงของตัวเองไว้ในตัวละครหลักของหนังสือสูญสิ้นความเป็นคนที่ชื่อ โอบะ โยโซ (Yozo Oba) แทบจะทุกช่วงของชีวิตเขาเลยก็ว่าได้
หลายคนอาจไม่รู้ว่า ดาไซ โอซามุ คือนามปากกา และชื่อจริงๆ ของเขาคือ ชูจิ สึชิมะ (Shuji Tsushima) ชายที่เกิดเมื่อปี 1909 จากครอบครัวชนชั้นกลางค่อนไปทางสูงในจังหวัดอาโอโมริ พ่อของเขาอยู่ในแวดวงการเมืองญี่ปุ่น ส่วนแม่ร่างกายอ่อนแอ ป่วยง่าย และมีอาการเจ็บปวดเรื้อรังหลังคลอดลูกคนที่ 11 ทำให้ชีวิตวัยเด็กส่วนใหญ่ของเขาโตมากับคนรับใช้ของตระกูล
ร่างกายของชูจิก็ไม่ค่อยแข็งแรงเหมือนผู้เป็นแม่ เขาเป็นหนอนหนังสือที่ชอบหมกตัวอยู่ในห้อง ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการอ่านหนังสือของ อะคุตะงาวะ ริวโนะสุเกะ (Akutagawa Ryunosuke) ราชาเรื่องสั้นที่มีผลงานโด่งดังอย่าง ‘ราโชมอน’
ชีวิตของโยโซก็ไม่ต่างกันเลย เพราะบุคลิกในหนังสือเขียนไว้ว่า ‘ผมเป็นคนขี้โรคตั้งแต่เด็ก’ และมีสมาชิกในครอบครัวราวสิบคนเหมือนกัน เขาเป็นเด็กหนุ่มที่เกิดมาพร้อมความเพียบพร้อมทั้งหน้าตา ความรู้ ฐานะ ทว่าจิตใจของเขาเอาแต่หมกมุ่นกับการมีอยู่และการกระทำของมนุษย์ ชอบคิดว่ามนุษย์ดีแต่ใส่หน้ากากเข้าหากัน บางครั้งมนุษย์ก็ทำบางอย่างที่ไม่อยากทำเพื่อผลประโยชน์ ตั้งคำถามถึงการกระทำต่างๆ ของผู้คน หลายครั้งเขารู้สึกรังเกียจและไม่เข้าใจการมีอยู่ของมนุษย์เอาเสียมากๆ
“แม้แต่กับคนในครอบครัว ผมก็เดาไม่ออกสักนิดว่าพวกเขามีความทุกข์แค่ไหน หรือมีชีวิตอยู่โดยคิดถึงอะไรบ้าง ผมเป็นแบบนี้มาตั้งแต่สมัยเด็ก ได้แต่หวาดกลัว ไม่อาจทนต่อบรรยากาศน่าอึดอัดในบ้าน”
แม้ในหัวจะเต็มไปด้วยความสงสัย แต่บุคลิกภายนอกของโยโซเป็นหนุ่มอารมณ์ขัน มีเสน่ห์ มีเพื่อนฝูงมากมาย เป็นที่ชื่นชอบในหมู่ผู้หญิง แต่จริงๆ แล้วการเก็บงำความไม่เข้าใจเอาไว้เพียงคนเดียวมากขึ้นเรื่อยๆ อาจคล้ายกับระเบิดเวลาที่รอให้ตัวเลขเดินถอยหลังจนถึงเลขศูนย์ และระเบิดทุกอย่างที่อยู่ตรงหน้าไปพร้อมกับตัวเขา เพราะเวลาโยโซอยู่คนเดียวจะรู้สึกเจ็บปวด ทรมาน และคิดถึงความตายอยู่บ่อยครั้ง
“ตอนนั้นผมสามารถสวมบทตัวตลกได้แนบเนียนแล้ว พูดอีกอย่างคือ รู้ตัวอีกทีผมก็กลายเป็นเด็กซึ่งไม่พูดความจริงแม้แต่คำเดียว”
“หากลองดูรูปที่ถ่ายกับครอบครัวในสมัยนั้น จะพบว่าในขณะที่คนอื่นๆ วางสีหน้าจริงจัง ผมกลับแสยะยิ้มประหลาดอยู่คนเดียวทุกครั้ง นี่คือหนึ่งในโฉมหน้าตัวตลกตัวน้อยแสนเศร้าที่ผมเคยแสดง”
กลับมาทางฝั่งของชูจิอีกครั้ง เมื่อโตขึ้นเขาได้เข้าศึกษาต่อในด้านวรรณกรรม กล่าวกันว่าชูจิมีผลงานเรื่องสั้นมากถึงสองร้อยชิ้น เพราะพยายามสร้างสรรค์ผลงานให้ได้เหมือนอย่างริวโนะสุเกะ คล้ายกับว่าตอนนั้นชูจิเต็มไปด้วยแรงบันดาลใจ มีความหวัง และมีความฝัน จนกระทั่งทุกอย่างเริ่มเปลี่ยนไปเมื่อรู้ข่าวว่าริวโนะสุเกะซึ่งนักเขียนต้นแบบของเขา จากโลกนี้ไปด้วยการทำอัตวินิบาตกรรม
ประเด็นการฆ่าตัวตายของโยโซก็ดันไปบรรจบกับช่วงชีวิตหนึ่งของชูจิ เพราะหลังทั่วประเทศลงข่าวการตายของริวโนะสุเกะ เด็กหนุ่มที่เปี่ยมด้วยพลังเปลี่ยนไปจากเดิม ไม่จับปากกาเขียนงานเหมือนก่อน ไม่เข้าเรียน ออกเที่ยวกลางคืนบ่อยขึ้น มีความสัมพันธ์กับหญิงโสเภณีและเกอิชาหลายคน สุดท้ายต้องถูกไล่ออกจากมหาวิทยาลัย และพยายามฆ่าตัวตายด้วยการกินยานอนหลับเกินขนาด แต่ไม่สำเร็จ
นักวิเคราะห์หลายคนมองว่าชูจิได้บอกเล่าเรื่องการพยายามฆ่าตัวตายครั้งแรกลงในผลงานตัวเองเช่นกัน แต่เขียนไว้สั้นๆ ในช่วงก่อนพบกับเกอิชาหญิง ทว่าข้อสันนิษฐานนี้ก็ยังไม่ได้รับการยืนยันว่าถูกต้องหรือไม่ร้อยเปอร์เซนต์ แต่มันก็ช่างเข้าเค้าเสียเหลือเกิน
“ในที่สุดผมตัดสินใจหนี แต่หนีแล้วกลับไม่รู้สึกดีขึ้น ผมจึงตกลงใจเลือกความตาย”
การพยายามฆ่าตัวตายครั้งแรกทำให้ครอบครัวเฝ้าดูเขาอย่างใกล้ชิดมากขึ้น ในปี 1930 ชูจิกลับเข้าเรียนอีกครั้งในมหาวิทยาลัยโตเกียว และมีความสัมพันธ์กับเกอิชาคนหนึ่ง ก่อนทั้งคู่ตกลงกันว่าจะฆ่าตัวตายพร้อมกันด้วยการเดินลงทะเล กลายเป็นว่าชาวประมงแถวนั้นพบเห็นและช่วยชีวิตเด็กหนุ่มได้ ทว่าเกอิชารายนั้นจมน้ำตายไปเสียแล้ว
การพยายามฆ่าตัวตายครั้งที่สองของชูจิ สอดคล้องกับเนื้อเรื่องในสูญสิ้นความเป็นคนอีกครั้ง เพราะสาวเกอิชาในหนังสือที่ชื่อซึเนะโกะ ก็มีเรื่องราวคล้ายกับสาวเกอิชาในความสัมพันธ์จริงๆ ของชูจิ
“คืนนั้นเราสองคนกระโดดลงทะเลคามากุระ ฝ่ายหญิงถอดโอบิออกมาพับวางไว้บนชะง่อนหิน โดยบอกว่าขอยืมของเพื่อนที่คาเฟ่มา ผมจึงถอดเสื้อคลุมวางไว้ด้วยกัน แล้วกระโดดลงน้ำกับเธอ… ผู้หญิงตาย ส่วนผมกลับรอด”
หลังจากนั้นชูจิได้แต่งงานครั้งแรกกับฮัตสึโยะ สาวเกอิชาคนใหม่ที่เขามีความสัมพันธ์ด้วย และเริ่มใช้ชื่อ ‘ดาไซ โอซามุ’ อย่างเป็นทางการ และกลับมาทำในสิ่งที่เขารักคือการเริ่มเขียนหนังสือ
เขาคือชายผู้ล้มเหลวในทุกความสัมพันธ์
หลังผ่านอะไรมามากพอสมควร ดาไซเขียนเรื่องสั้นได้หลายเรื่อง ผลงานของเขาเริ่มเป็นที่พูดถึงในหมู่นักอ่าน แต่ระหว่างเขียนงานเขามักดื่มไปด้วย และดื่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนมีอาการพิษสุราเรื้อรัง ควบคู่กับการพบว่าเขาไม่ได้แค่ติดเหล้า แต่ติดมอร์ฟีน ยาแก้ปวด และเจ็บป่วยเพราะวัณโรค
เช่นเดียวกับโยโซ ตัวละครนี้ก็มีนิสัยไม่ต่างจากดาไซ ตอนนั้นดาไซยังเป็นนักเขียนที่ยังไม่ประสบความสำเร็จ ส่วนโยโซก็เป็นนักวาดการ์ตูนที่ไม่อาจเรียกตัวเองว่าเป็นศิลปินได้เต็มปาก และติดมอร์ฟีนเหมือนกับดาไซ
“จากที่เคยคิดจะฉีดแค่วันละเข็มเดียว ปริมาณที่ใช้เริ่มกลายเป็นสองเข็มและสี่เข็มในที่สุด ตอนนั้นผมตกอยู่ในสภาพทำงานไม่ได้เลยถ้าขาดมอร์ฟีน”
จนกระทั่งในปี 1935 ดาไซพยายามฆ่าตัวตายครั้งที่สามด้วยการแขวนคอ แต่ก็ล้มเหลวเหมือนครั้งก่อนๆ อาการของเขาไม่สู้ดีนัก จนในปีถัดมา ดาไซถูกนำตัวส่งสถานบำบัดทางจิตเพื่อรักษาอาการติดสุราและสารเสพติด แต่พอออกมาได้ทราบข่าวร้ายว่า ในระหว่างเขารักษาตัว ภรรยาของเขาไปมีสัมพันธ์กับชายคนอื่น ดาไซจึงพยายามฆ่าตัวตายพร้อมกับภรรยา คราวนี้ทั้งคู่เลือกกินยานอนหลับเกินขนาด และก็ล้มเหลวอีกครั้ง ภรรยาของโยโซก็ไปมีสัมพันธ์กับชายอื่นเหมือนกัน ก่อนความสัมพันธ์ของทั้งสองจะจบลงด้วยการแยกทาง
“ผมรินน้ำใส่แก้วโดยระวังไม่ให้เกิดเสียง ค่อยๆ แกะกล่องแล้วเทยาทั้งหมดเข้าปาก ยกน้ำขึ้นดื่มจนหมดแก้วอย่างใจเย็น จากนั้นจึงปิดไฟเข้านอน…ผมหมดสติไปสามวัน หมอลงความเห็นว่าเป็นการกินยาเกินขนาดโดยไม่ได้ตั้งใจ จึงไม่แจ้งตำรวจ”
เหตุการณ์ช่วงที่ดาไซเข้ารับการรักษาในสถานบำบัดทางจิต ก็ถูกเอ่ยถึงในผลงานของเขา เพราะคนรอบข้างที่ทนเห็นสภาพของเขาไม่ไหว ตัดสินใจช่วยกันนำส่งเข้าสถานบำบัด โดยอ้างว่าจะพาไปรักษาวัณโรค การกระทำนี้ส่งผลต่อจิตใจของดาไซมาก เพราะในสูญสิ้นความเป็นคน ตัวละครโยโซเอื้อนเอ่ยในใจว่า
“...ขึ้นรถมากับเขาโดยไม่ลืมไตร่ตรองหรือขัดขืน จนกระทั่งถูกพามายังที่แห่งนี้แล้วถูกตัดสินว่าเป็นคนบ้า ต่อให้กลับออกไปเดี๋ยวนี้ ผมก็คงไม่พ้นถูกตอกหน้าผากประทับตราเป็นคนบ้า… ไม่สิ… เป็นเศษมนุษย์อยู่ดี ตกต่ำเกินกว่าจะเรียกตัวเองว่ามนุษย์”
“ผมสูญสิ้นความเป็นคนโดยสมบูรณ์”
นอกจากการพยายามทำอัตวินิบาตกรรมล้มเหลวซ้ำแล้วซ้ำอีก ชีวิตรักของเขาก็พังทลายอีกครั้งเมื่อฮัตสึโยะขอแยกทาง ดาไซเริ่มมีความสัมพันธ์ครั้งใหม่กับผู้หญิงอีกคนที่ชื่อว่าอิชิฮาระ มิจิโกะ (Ishihara Michiko) ก่อนจะมีลูกด้วยกัน 3 คน ที่หลายคนมองว่าชีวิตของเขาอาจเข้าที่เข้าทางมากขึ้นเมื่อมีลูกๆ อยู่รอบตัว
ทว่าดาไซยังคงมีอาการติดเหล้าเหมือนเดิม และมีความสัมพันธ์เชิงชู้สาวกับ โอตะ ชิซึโกะ (Ota Shizuko) หญิงสาวที่มีความรู้เรื่องการเขียนนิยาย ที่มักจะคอยให้คำแนะนำดีๆ กับดาไซเสมอ และเขายังมีความสัมพันธ์กับแม่หม้ายอีกคนชื่อ ยามาซากิ โทมิเอะ (Yamazaki Tomie)
โอตะ ชิซึโกะ / ยามาซากิ โทมิเอะ
Photo Credit: wikipedia / wikipedia
ใครๆ ก็บอกเป็นเสียงเดียวกันว่าดาไซหลงใหลได้ปลื้มกับเธอเอามากๆ จนยอมทิ้งภรรยาและชู้รักคนก่อนมาอยู่กินกับชู้รักคนใหม่
ช่วงเวลาที่อยู่กับโทมิเอะ ดาไซหมกมุ่นอยู่กับการเขียนหนังสือสูญสิ้นความเป็นคน แต่ระหว่างนั้นอาการของเขาทรุดหนักลงเรื่อยๆ จะคาดว่าน่าจะอยู่ได้อีกไม่นาน ซึ่งความเจ็บปวดจากโรคเรื้อรังหลายอย่างก็ปรากฏอยู่ในหนังสือเช่นกัน
“ยิ่งโหมทำงาน ผมต้องใช้ยาในปริมาณที่มากขึ้น จนกระทั่งค่ายาที่ค้างจ่ายคุณนายไว้เพิ่มจำนวนเป็นหนี้ก้อนโต เห็นหน้าผมทีไร คุณนายก็มักมีน้ำตาเอ่อคลอ ผมเองก็ร่ำไห้เช่นกัน …จนกระทั่งวันหนึ่ง ผมตัดสินใจเด็ดขาดว่าหลังฟ้ามืดจะฉีดยาทีเดียวสิบเข็ม แล้วกระโดดลงแม่น้ำให้สิ้นเรื่องสิ้นราวเสียที…”
หลังใช้เวลานานกว่าห้าเดือน สูญสิ้นความเป็นคนก็เดินทางมาถึงฉากจบ กลายเป็นนิยายเรื่องสุดท้ายที่เขาเขียนได้จนจบ
เสมือนกับว่าเขาปลดเปลื้องพันธนาการ ดาไซเริ่มหยิบกระดาษหลายแผ่นขึ้นมา จรดปากกาเขียนพินัยกรรมและเขียนจดหมายถึงครอบครัว จากนั้นจึงเดินไปริมแม่น้ำกับหญิงหม้ายที่เขาหลงรัก แล้วกระโดดลงน้ำไปพร้อมกัน
หลังความพยายามล้มเหลวมาตลอดชีวิต ในที่สุดดาไซวัย 38 ปี ผู้เจ็บป่วยทางจิตใจอย่างหนัก ก็สามารถทำอัตวินิบาตกรรมได้สำเร็จ
ชีวิตระทมของ ดาไซ โอซามุ ในมุมมองของคนรุ่นหลัง
ชีวิตของเขาถูกคนรุ่นหลังพูดถึงเป็นวงกว้าง ทั้งในมุมเห็นอกเห็นใจ ชื่นชมในการสร้างสรรค์ผลงานยอดเยี่ยมท่ามกลางสภาพแวดล้อมและสภาพจิตใจย่ำแย่ บ้างก็มองว่าเขาเป็นตัวอย่างมนุษย์ที่ไม่ควรคบหา เพราะชายคนนี้ได้คร่าชีวิตผู้หญิงใกล้ตัวถึงสองคน และยังเป็นคนที่นอกใจคนรักซ้ำๆ โดยไม่ยี่หระกับการกระทำของตัวเอง
มีความคิดเห็นน่าสนใจมองว่า ดาไซ โอซามุ มีความคิดความอ่านและมีพฤติกรรมเหมือนกับคนที่เป็น ‘โรคซึมเศร้า’ แต่ในช่วงเวลาที่เขามีชีวิตอยู่ ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคซึมเศร้ายังมีไม่มากเท่ากับปัจจุบัน เขาจึงกลาย�