Culture

เดบูตองส์: งานเลี้ยงสุดหรูของคุณหนูไฮโซ และความเจ็บปวดของผู้หญิงที่ซ่อนอยู่ใต้ชุดราตรีแสนสวย

หากใครได้ดูซีรีส์โรแมนติกสุดร้อนแรงอย่างเรื่อง Bridgerton ทาง Netflix ก็คงจะคุ้นเคยกันดีกับงานเลี้ยงสุดหรูหราของเหล่าชนชั้นสูงในอังกฤษ ที่ถือเป็น 'งานสำคัญ' ของเหล่าหญิงสาวจากตระกูลดัง และครอบครัวก็ต้อง 'เตรียม' สาวน้อยเหล่านี้ให้พร้อมในทุกมิติเพื่อเข้าร่วมงานเลี้ยงโดยหวังว่าจะได้พบกับ 'คนรัก' ที่เหมาะสมกับพวกเธอ

งานเลี้ยงสุดหรูนี้มีชื่อเรียกว่า 'เดบูตองส์' (Debutante) มาจากคำภาษาฝรั่งเศส มีความหมายว่า 'เริ่มต้น' โดยเดบูตองส์ไม่เพียงแต่เป็นงานเลี้ยงเปิดตัวหญิงสาวชนชั้นสูงสู่วงสังคมไฮโซโบว์ใหญ่ และมีโอกาสได้พบเจอ พูดคุย รวมถึงเต้นรำกับ 'ชายหนุ่ม' ผู้มั่งคั่งเท่านั้น แต่เดบูตองส์ยังถือเป็นงานเลี้ยงที่เชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์อย่างน่าสนใจ EQ จึงจะพาทุกคนไปทำความรู้จัก 'เดบูตองส์' งานเลี้ยงสุดหรูของคุณหนูไฮโซ ที่ครั้งหนึ่งเคยถูกขนานนามว่าเป็น 'ตลาดหาคู่' ของหญิงสาวชนชั้นสูง

Photo Credit: British Vogue

งานเปิดตัวลูกสาวไฮโซ

'เดบูตองส์' ถือเป็นงานเลี้ยงเปิดตัวลูกสาวจากตระกูลขุนนาง หรือชนชั้นสูง ที่เมื่อพวกเธอมีอายุครบกำหนดที่จะแต่งงานได้ ครอบครัวก็จะจัดงานเลี้ยงเต้นรำ หรือพาไปร่วมงานเลี้ยงเต้นรำ เพื่อเป็นการแนะนำลูกสาวกับแวดวงสังคมไฮโซอย่างเป็นทางการ เปิดโอกาสให้หญิงสาววัยแรกแย้มได้ทำความรู้จักกับ 'ชายหนุ่ม' จากตระกูลผู้ดี ที่เพียบพร้อมและเหมาะสม โดยมีเป้าหมายคือ 'การแต่งงาน'

ประเพณีการเปิดตัวเด็กสาวหรือหญิงสาววัยแรกรุ่นเข้าสู่วงสังคมนั้น ต้องย้อนกลับไปในศตวรรษที่ 18 ของอังกฤษ โดยในช่วงเวลานั้น ผู้หญิงไม่สามารถประกอบอาชีพอะไรได้มากนัก และอาชีพที่ผู้หญิงจะทำได้ก็มีแค่ซักรีด หรือเป็นแม่บ้านเท่านั้น ซึ่งแน่นอนว่าย่อมไม่เหมาะสมกับเหล่าหญิงสาวชนชั้นสูง ยิ่งไปกว่านั้น 'กฎหมายมรดก' ในตอนนั้นก็ไม่ให้สิทธิ์ใดๆ กับผู้หญิงเลย จึงทำให้เหล่าหญิงสาวต้องพึ่งพาพ่อหรือญาติผู้ชายในการเลี้ยงดู จนกว่าพวกเธอจะได้แต่งงานออกเรือน และไปพึ่งพาสามีหรือลูกชายของพวกเธอแทน

Photo Credit: History Hit

การปฏิรูปศาสนา และสถานะของผู้หญิง

เหตุผลที่สิทธิและโอกาสของผู้หญิงในยุคสมัยนั้นถูกจำกัด เป็นผลลัพธ์มาจาก 'การปฏิรูปศาสนาฝ่ายโปรเตสแตนต์' (Protestant Reformation) ในช่วงศตวรรษที่ 16 ซึ่งกลายเป็นเรื่องยากสำหรับเหล่าคุณพ่อ เพราะไม่สามารถส่งลูกสาว 'ที่ยังไม่แต่งงาน' เข้าสู่คอนแวนต์คาทอลิกได้ ซึ่งนั่นทำให้ 'การหาคู่' ให้กับลูกสาวกลายเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับตัวลูกสาวและพ่อของพวกเธอ นอกจากนี้ การแต่งงานยังเป็นโอกาสให้ครอบครัวสามารถรักษาสถานะของตัวเองไว้ได้ หรือดีกว่านั้นก็เป็นการขยับฐานะให้กับครอบครัว

อาจกล่าวได้ว่า การปฏิรูปศาสนาที่เกิดขึ้นทำให้ชนชั้นสูงในอังกฤษที่มีลูกสาว จำเป็นต้องพิจารณาหาคู่ครองที่เหมาะสมที่สุดให้กับลูกสาวของตัวเอง เพราะในทางกฎหมายแล้ว หญิงสาวเหล่านี้ไม่สามารถสืบทอดมรดกของพ่อได้ เดบูตองส์จึงกลายเป็น 'ตลาดหาคู่' ที่เหล่าพ่อแม่ชนชั้นสูงให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะถือเป็นการดูตัวที่พ่อแม่ฝ่ายหญิงจะได้คัดชายหนุ่มที่คุณสมบัติครบถ้วน และป้องกันไม่ให้เกิดการแต่งงานที่อาจจะบั่นทอนชื่อเสียงหรือสถานะของครอบครัวตัวเอง

Photo Credit: Kate Tattersall Adventures

เดบูตองส์ครั้งแรกจัดขึ้นในสมัยพระเจ้าจอร์จที่ 3

เดบูตองส์ครั้งแรกสุดอาจเกิดขึ้นในปี ค.ศ.1780 เมื่อสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร ได้ทรงจัดงานเลี้ยงวันเกิดให้กับควีนชาร์ล็อต พร้อมบริจาคเงินเพื่อระดมทุนสร้างโรงพยาบาลแห่งใหม่ ซึ่งตอนนั้นเหล่าชนชั้นสูงมักจะเดินทางไปอยู่ตามบ้านพักตากอากาศของตัวเองในต่างเมือง แต่ถ้ากษัตริย์เสด็จเข้ากรุงลอนดอน ชนชั้นสูงเหล่านี้ก็จะย้ายกลับมาอยู่ที่กรุงลอนดอนตามกษัตริย์ ซึ่งงานเลี้ยงของควีนชาร์ล็อตก็ได้กลายมาเป็น 'งานเลี้ยงประจำปี' และเป็นหมุดหมายของช่วงเวลาสำหรับชนชั้นสูงจะออกมาสังสรรค์ โดยในช่วงระยะเวลาประมาณ 6 เดือนนั้นจะมีการจัดงานเลี้ยงเต้นรำ งานดื่มน้ำชา หรือการจัดแข่งม้าตามที่ต่างๆ จนเรียกว่าเป็น 'ฤดูกาล'

แน่นอนว่างานสำคัญของฤดูกาลก็คืองานเลี้ยงของควีนชาร์ล็อต ซึ่งหญิงสาววัยแรกรุ่นจะถูกนำมา 'เสนอตัว' ต่อกษัตริย์และพระราชินี พ่อแม่ของพวกเธอก็จะต้องขอ 'จดหมายเชิญ' จากสมุหพระราชวัง (Lord Chamberlain of the Household) ซึ่งจะได้รับคำเชิญหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของสมุหพระราชวังคนนี้นี่เอง

Photo Credit: Kate Tattersall Adventures

สหรัฐอเมริกาก็จัดเดบูตองส์

สหรัฐอเมริกาก็ได้การจัดงานเลี้ยงเดบูตองส์เช่นกัน โดยในปี ค.ศ.1817 มีการจัดเดบูตองส์ขึ้นที่เมืองซาวานนาห์ รัฐจอร์เจีย รวมไปถึงตามหัวเมืองใหญ่ทั่วประเทศสหรัฐฯ รวมถึงนครนิวยอร์กที่จัดเดบูตองส์สำหรับชนชั้นสูง ต่อมาในช่วงศตวรรษที่ 19 เดบูตองส์ได้กลายเป็นงานเต้นรำและดื่มน้ำชายามบ่าย มากกว่าจะเป็นงานยิ่งใหญ่ที่ชนชั้นสูงมาอวดยศถาบรรยาศักดิ์

ควีนเอลิซาเบธที่ 2 ยกเลิกเดบูตองส์

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร คือผู้ยกเลิกประเพณีงานเลี้ยงเดบูตองส์ของราชวงศ์อังกฤษ เมื่อปี ค.ศ.1958 โดยช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ส่งผลให้ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว การใช้เงินเพื่องานปาร์ตี้ฟุ่มเฟือยถูกลดน้อยลง เช่นเดียวกับในสังคมอังกฤษเริ่มมีความเท่าเทียมมากขึ้น และแนวคิดแบบเฟมินิสต์ก็เข้ามามีบทบาทเรื่องการแต่งงานของผู้หญิง

เมื่อสมุหพระราชวังประกาศยกเลิกประเพณีเดบูตองส์ของราชวงศ์ ในปีนั้นเองมีเด็กสาวมากกว่า 1,400 คน เดินทางมาเสนอตัวและถอนสายบัวต่อหน้าควีนเอลิซาเบธที่ 2 ซึ่งกินเวลานานกว่า 3 วัน

Photo Credit: Aesthetic Images Photography

เดบูตองส์ในยุคปัจจุบัน

แม้พระราชวังจะยกเลิกงานเดบูตองส์ไปแล้ว แต่เดบูตองส์ก็ยังถูกจัดขึ้นในอังกฤษและประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยสิ่งที่ปฏิบัติคล้ายกันในทุกเดบูตองส์ คือหญิงสาวต้องสวมชุดราตรีสีขาว พร้อมกับถุงมือยาวสีขาว ซึ่งเหล่าคุณพ่อจะเป็นคนควงแขนลูกสาวของตัวเองเข้างานเพื่อทำการเปิดตัว การเต้นรำถือเป็นกิจกรรมหลักของเดบูตองส์ ดังนั้น หญิงสาวต้องเรียนรู้วิธีการเต้นรำที่ถูกต้องและสง่างามก่อนมาร่วมงาน เช่นเดียวกับเรียนรู้มารยาทต่างๆ ก่อนเข้าสังคม

อย่างไรก็ตาม เดบูตองส์ในปัจจุบันนี้เป็นเหมือนงานสังคม ไม่ใช่งานจับคู่เหมือนในอดีต และเหล่าคุณหนูไฮโซจากทั่วโลกก็มักจะบินไปร่วมงานเดบูตองส์ที่นิวยอร์ก ลอนดอน หรือปารีส ซึ่งมีการจัดงานที่ยิ่งใหญ่ทุกปี แต่ละปีสาวน้อยไฮโซก็จะสวมใส่เสื้อผ้าแบรนด์หรู พร้อมเครื่องประดับราคาแพงระยับมาอวดโฉมในงาน โดยต้องซื้อบัตรเข้างานที่มีราคาสูงมาก ทั้งนี้ งานเดบูตองส์ส่วนใหญ่มักจะเป็นงานระดมทุนเพื่อการกุศล

อ้างอิง

History Hit

Britannica

Time

abc News

Shondaland

Insider